xs
xsm
sm
md
lg

โคม่า-ความจำหาย!! เจาะคนไทยรายแรก ป่วย “โรคลายม์” เชื้อเห็บสู่คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหตุเกิดเพราะเห็บกัด! เปิดใจหมอเจ้าของไข้ผู้ป่วย “โรคลายม์” รายแรกของไทย ที่ทรุดหนักหลังกลับจากตุรกี “สมองอักเสบ - ชัก - หัวใจเต้นช้า - ความทรงจำหาย” หวิดดับแต่รอดราวปาฏิหาริย์เพราะรักษาถูกทาง แม้ตอนแรกไม่รู้โรค เตือนไม่ต้องตื่นตระหนก เป็นโรคต่างแดน หายขาดได้ ไม่ติดต่อจากคนสู่คน!

เกือบไม่รอด “ผู้ป่วยลายม์” รายแรกของไทย

“ตอนนั้นคิดว่ายังไงก็ไม่รอดแน่ๆ เพราะผู้ป่วยมาแบบหมดสติเลย หมดสติไม่พอ ยังชัก เกร็ง กระตุกอีก หัวใจก็เต้นช้า หายใจเองไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีไข้สูง เราก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่ดีที่ให้ยาคุมอาการไปก่อน แล้วบังเอิญว่าให้ยาคุมได้ถูกต้องกับโรคเป๊ะ เขาก็เลยค่อยๆ ฟื้น จนกระทั่งถอดเครื่องช่วยหายใจได้ ก็คิดตลอดว่าฟื้นขึ้นมาจะกลับมาเป็นปกติได้เหรอ แต่ก็กลับมาเป็นปกติได้ ไม่น่าเชื่อ เป็นผู้ป่วยโรคลายม์ (Lyme disease) คนแรกของไทยครับ”

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยแก่ทีมข่าว MGR Live หลังจากที่คุณหมอได้มีโอกาสเป็นเจ้าของไข้ผู้ป่วยหญิงวัย 47 ปีคนหนึ่ง ที่มีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับมาจากการไปท่องเที่ยวในประเทศตุรกีนาน 8 วัน

แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยได้ 17 วัน จู่ๆ หญิงคนนี้ก็มีอาการป่วยอย่างหนักโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ คุณหมอจึงนำเรื่องราวนี้มาโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” จนประเด็นโรคดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียลฯ



“พอกลับจากตุรกีมาประมาณ 17 วัน ก็เริ่มมีอาการมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ไอ ก็ให้อยู่โรงพยาบาล ช่วงแรกเราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ตรวจก็ไม่เจอไข้หวัดใหญ่ ไม่เจอไข้เลือดออก แต่ระหว่างนั้นก็มีชัก หมดสติ กระตุกที่หน้าและแขน-ขาข้างขวาครับ แล้วก็หายใจไม่ได้ ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หัวใจก็เต้นช้า

เราก็ให้ยากันชักและให้ยาปฏิชีวนะไป โชคดีที่ให้ยาตรงกับโรคนี้ ตอนนั้นเราก็ไม่คิดถึงโรคนี้ ก็ให้ยาทั้ง Ceftriaxone และ Doxycycline ระหว่างนั้นก็ตรวจหาเชื้อทุกอย่างที่ตรวจได้ ก็ไม่เจออะไรเลย รักษาแบบประคับประคองไป ค่อยๆ ดูไป รักษาตามอาการ เขาก็ดีขึ้นๆ ต่อมา ก็ถอดเครื่องช่วยหายใจได้ แล้วเราก็ส่งเลือดไปตรวจ ประมาณ 40 วันหลังจากกลับจากตุรกี ก็เจอว่า antibody ต่อเชื้อ Borrellia มันเป็นบวก มันเข้าได้กับโรคลายม์ (Lyme disease)

ในที่สุดเขาก็ออกจากโรงพยาบาลได้ หลังจากที่นอนโรงพยาบาล 2 เดือน และหลังจากนั้น 5 เดือน เขาก็กลับไปทำงานได้ปกติ หมอก็ได้เจอเขาเมื่อไม่กี่วันก่อน ผ่านมาเกือบปีแล้ว เขาก็จำเหตุการณ์ที่ไปเที่ยวกับตอนอยู่โรงพยาบาลไม่ได้เลย แต่ความจำอย่างอื่นก็ดีหมด ตอนที่นอนโรงพยาบาล 2 เดือนนั้นหนักมาก แต่ตอนนี้กลับมาเหมือนคนปกติแล้ว ทำงานได้ พูดรู้เรื่องทุกอย่าง ไม่ใช่ความจำเสื่อม แต่ความจำเหตุการณ์ช่วงนั้นหายไป”


นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชื่อ โรคลายม์ (Lyme disease) เท่าไรนัก เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เกิดในบ้านเราและแถบเอเชีย หากแต่เกิดอีกฝั่งของโลก โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและโซนยุโรป โดยมี “เห็บ” เป็นพาหะนำโรคจากสัตว์ที่ติดเชื้อมาสู่คน

“โรคนี้ถูกพบมาเมื่อ 39 ปีที่แล้ว คนไข้อยู่ในเมือง ลายม์ (Lymp) รัฐคอนเนกติคัต ชื่อโรคนี้จึงตั้งชื่อตามเมือง เขาก็รู้ว่ามันเกิดจากเห็บไปกัดสัตว์ที่เป็นโรค ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ กวาง หนู สัตว์เล็กๆ และสัตว์อื่นทั้ง ม้า วัว ควาย สุนัข แล้วเห็บนั้นก็มากัดคน เอาเชื้อจากสัตว์มาให้คน ระยะฟักตัวในคนก็ประมาณ 1-4 สัปดาห์ บางคนก็เป็นเร็ว บางคนก็ช้า อย่างผู้ป่วยคนนี้ก็เกือบ 15 วัน

แต่ส่วนใหญ่ถ้าถูกกัดมันก็จะมีรอยเป็นวงกลมแดงคล้ายเป้ายิงปืนในบริเวณที่ถูกกัด เชื้อมันเข้าสู่ร่างกายทางนั้น หลังจากนั้น ก็จะมีอาการหนักขึ้น บางคนก็เข้าไปเยื่อหุ้มสมอง บางคนก็เข้าไปที่ประสาท ใบหน้าเบี้ยวไปเลยก็มี แต่บางคนก็เข้าไปที่หัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้า ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งคนนี้ก็เป็น บางคนก็เข้าไปในข้อ ทำให้ข้ออักเสบเรื้อรัง อาการมันเป็นได้หลายแบบ

เราไม่เคยเจอเลย โรคนี้ไม่มีในประเทศไทย เห็บสายพันธุ์พวกนี้ไม่มีในประเทศไทย สัตว์ที่เป็นโรคนี้ก็ไม่มีในประเทศไทย ของเรามีพวกไรอ่อน เห็บ หมัด เหา แมลงพวกนี้ แต่มันก็มีโรคอย่างอื่นแทน อย่างโรคไข้รากสาดใหญ่ อาการมันจะเป็นไข้หลังจากถูกกัดเหมือนกัน ถ้าเทียบความอันตรายของโรคที่เกิดจากสัตว์เหล่านี้ทั้งบ้านเขาและบ้านเราก็อันตรายเหมือนกัน แต่ว่าก็พบไม่ได้บ่อย ยกเว้นพวกที่เข้าป่าทำสวนครับ”

ไม่ต้องตกใจ ลายม์ได้ก็หายได้!

เหตุการณ์นี้อาจจะเรียกได้ว่า “คราวซวย” ของผู้ป่วยหญิงไทยวัย 47 ปีคนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากถูกกัดแล้วกลับไม่ปรากฏอาการของโรคแม้แต่น้อย ซึ่งในวันที่มาถึงมือหมอ เชื้อก็ฟักตัวและแพร่กระจายในร่างกายเธอจนทำให้อาการทรุดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในความโชคร้ายของผู้ป่วยรายนี้ ก็ยังมีความโชคดีที่ได้รับการรักษาอย่างถูกทาง แม้คุณหมอจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าป่วยด้วยโรคอะไร

“โรคนี้ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันตก ตุรกีก็อยู่ในเขตนั้นด้วย เขาเจอเป็นเรื่องปกติ แล้วเขาก็เตือนคนของเขา ในหน้าร้อน ฤดูใบไม้ผลิ เวลาไปเดินป่าเดินตามทุ่งตามสวนให้ระวังถูกเห็บกัด แต่ถ้าเห็บกัดเขาก็แนะนำให้ไปหาหมอ หมอจะให้ยากิน 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ถึงระยะฟักตัว แล้วก็แนะนำว่าถ้าเห็บกัด อย่าไปเอามือดึง ให้เอาคีมคีบมันออกมา ไม่อย่างนั้นหัวมันจะจมอยู่ในผิวหนัง ไม่ใช่โรคใหม่ แต่ว่าบ้านเราไม่มี ฝั่งใต้จากเราก็ไม่มี ประเทศรอบๆ บ้านเราก็ไม่มีครับ



คณะที่ไปกับผู้ป่วยรายนี้ก็ไม่มีใครป่วย คนไทยที่เดินทางกลับมาจากอเมริกา ยุโรปเยอะแยะไม่มีใครป่วยเลย โอกาสที่จะได้รับเชื้อคือน้อยมากๆ ก็เป็นอุทาหรณ์ได้ว่าอาจจะเจอ อย่างรายนี้อาการหนักมากจริงๆ ทั้งที่เป็นคนสุขภาพแข็งแรงมากและไม่มีโรคประจำตัว ปกติจุดสังเกตของโรคนี้คือรอยกัดคล้ายเป้ายิงปืน คนนี้ก็ไม่มี ไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกกัด และไม่ใช่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่เป็นสมองอักเสบเลย ซึ่งก็พบได้น้อย

การวินิจฉัยโรคนี้มันยาก ต้องเจาะเลือดไปตรวจ ไม่ได้เพาะเชื้อได้ ไม่เหมือนแบคทีเรียธรรมดา ต้องตรวจหา antibody ซึ่งบ้านเราก็มีที่ตรวจไม่กี่แห่ง ซึ่งโชคดีอยู่ที่ตรวจเจอ แต่ตอนนั้นอาการเขาก็เริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะให้ยาถูกตั้งแต่ต้น สมมติถ้าไม่ได้เจาะเลือดไปตรวจ ก็รักษาหายแต่จะไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เพราะถ้าไม่เจาะเลือดเราจะไม่รู้เลยว่าโรคนี้คือโรคอะไร ตอนนี้ก็กลับไปทำงานได้ปกติแล้ว ผ่านมาประมาณ 1 ปี หมอติดตามอาการเขาเรื่อยๆ ทุกอย่างเรียบร้อยดีครับ”

แม้จะฟังดูอันตราย แต่คุณหมอเจ้าของไข้ผู้ป่วยโรคลายม์คนแรกของไทย ก็อยากฝากไว้ว่า ทุกคนก็อย่าเพิ่งหวาดวิตกไป เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคนี้มีน้อยมาก อีกทั้งยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อเป็นไปแล้วยิ่งรู้ตัวเร็ว ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษา



“โรคนี้เป็นได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่คนที่แข็งแรงก็เป็น แต่ถ้าถามว่าป้องกันล่วงหน้าก่อนไปได้มั้ย ผมว่ามันป้องกันไม่ได้หรอก อย่างเราไปเที่ยวเราก็ไปตามที่ธรรมชาติ โอกาสจะถูกเห็บกัดมันน้อยมากครับ หลายคนเคยไปเที่ยวอเมริกา ไปเที่ยวยุโรป ก็ไม่เป็น โอกาสที่โรคนี้จะข้ามมาฝั่งเอเชีย คงไม่มาครับ ถ้ามามันคงมาไปนานแล้ว สายพันธุ์มันอาจจะไม่ชอบอากาศของเรา พวกนี้ชอบอยู่ในสัตว์ที่อยู่ในเมืองหนาว มันอยู่บนดินไม่ได้เพราะจะตาย

ตอนนี้คนไทยที่จะไปเที่ยวแถวประเทศที่มีโรคนี้กลัวกันใหญ่ ไม่ต้องกลัวครับ โอกาสเป็นน้อยมาก ถ้าไปในถิ่นที่มีโรคลายม์ อย่างอเมริกาเหนือหรือยุโรป แล้วกลับมาภายใน 1-4 สัปดาห์ มีอาการไม่ดี มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้น ก็ควรจะรีบมาพบแพทย์ และควรบอกด้วยว่าได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อที่จะวินิจฉัยโรคได้

และถึงเป็นก็รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่มีในบ้านเรา ยาราคาไม่แพง ถ้าให้ยาถูกต้อง ก็สามารถกำจัดโรคนี้ สามารถรักษาให้หายขาดได้ แล้วโรคนี้ก็ไม่ติดต่อจากคนสู่คน อย่างรายนี้ก็หายขาดแล้ว ไม่มีเชื้อแล้วในตัว คนที่เป็นไปแล้วส่วนใหญ่ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกครับ”


ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น