xs
xsm
sm
md
lg

เจาะพื้นที่ “สำเพ็ง” เจ๊งไม่เป็นท่า ออนไลน์รุกตลาด จีนยึดทำเลขายของตัดราคา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดใจแม่ค้าพ่อค้าตลาดสำเพ็ง กับวันที่ตลาดซบเซาในรอบ 50 ปี จากที่เคยขายได้วันละ 5,000 บาท เหลือวันละ 200 บาท เจอศึกหนักเมื่อตลาดออนไลน์รุกพื้นที่ คนมาเดินไม่ลดแต่กำลังซื้อลดลง ซ้ำหนักนายทุนจีนยึดพื้นที่เกินครึ่ง ขายของตัดราคา เจ๊งหนักไม่เป็นท่า ทยอยปิดกิจการ

ขายของตัดราคา ขาดทุนหนัก!!

หลังจากมีกระแสข่าวว่าตลาดค้าปลีกส่งชื่อดังอย่าง “สำเพ็ง” ที่เป็นดินแดนขายของยอดนิยมที่ฮิตที่สุด เกิดการซบเซาลงอย่างมากในรอบ 50 ปี ทำให้พ่อค้าแม่ค้าโอดโอยกัน โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี และส่วนหนึ่งมาจากนายทุนจีนที่เข้ามายึดทำเลพื้นที่ในการค้าขาย อีกทั้งตลาดออนไลน์ก็มีส่วนทำให้สำเพ็งซบเซาลง
ทีมข่าว MGR Live ลงพื้นที่ไปสำรวจบรรยากาศโดยรอบตลาดพบว่า ก็ยังมีผู้คนมาเดินจับจ่ายซื้อของอยู่บ้าง พร้อมกับสังเกตเห็นว่าบางร้านมีการติดป้ายปิดกิจการ เมื่อเข้าไปสอบถามบางรายบอกว่าเพราะขายไม่ได้ และอยากย้ายออกไปขายที่อื่น




ด้าน ช่อทิพย์ แซ่ตั้ง แม่ค้าขายกิ๊บ วัย 72 ปี ที่ทำการค้าขายมากว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้สำเพ็งถือว่าซบเซาลงมาก จนบางรายถึงขั้นเลิกกิจการไปแล้วก็มี


“ถือว่าซบเซา ขนาดของกินยังเงียบ แต่ของป้าถือว่าขายได้ปกติค่ะ ก็ไปได้เรื่อยๆ แต่ถามรอบๆ เขาบอกว่าเงียบกัน ตลาดสำเพ็งเดี๋ยวนี้คนจีนเข้ามาเยอะ เขามีทุนเขาก็มาเช่าตึกขายของกัน ป้าขายที่สำเพ็งมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ปี 32 ตั้งแต่สำเพ็งเป็นตลาดผ้า


เมื่อก่อนขายได้วันละ 1,000 บาท ถ้าเทียบกับตอนนี้เทียบกันไม่ติด ยิ่งวันอาทิตย์ยิ่งขายดี แต่เดี๋ยวนี้อย่าไปพูดถึงเลยถ้าคนมีหนี้สินเยอะก็ได้เลิกกิจการไปเลย สำหรับช่วงนั้นกับช่วงนี้ก็ถือว่าผิดกันเยอะ จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ว่าได้ แต่จะมาเทียบเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้ค่ะ ถ้าตอนนี้ก็เอาพอผ่านไปได้ เดี๋ยวนี้ยิ่งเจริญอะไรก็ยิ่งเปลี่ยนไป”




แม่ค้ารายเดิมยังบอกอีกว่า คนซื้อของมีทางเลือกที่มากขึ้น ตลาดออนไลน์ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญให้ตลาดซบเซาลง เพราะคนส่วนใหญ่ชอบความสะดวกสบาย ไม่ต้องออกมาซื้อของเอง ก็มีคนไปส่งได้ถึงที่บ้าน


“มีคนปิดกิจการไปก็เยอะ ไม่ใช่แค่ที่สำเพ็งขนาดแถวโบ๊เบ๊ก็มีปิดไปเยอะ อีกอย่างคนขายของออนไลน์ก็เยอะ เขาก็ไม่ต้องใช้หน้าร้าน ในร้านขายของก็ไม่มีคนเข้าไปซื้อ แต่คนมาเดินคือเยอะมาก เหมือนเขาไม่ได้ตั้งใจมาซื้อของ แค่มาเดินดูของแค่นั้น เหมือนกับมาเดินเที่ยวเล่นกัน แต่ก่อนคนก็เดินเยอะนะ แต่ว่าก็ซื้อของด้วย”


นอกจากนี้ แม่ค้าขายกระเป๋า วัย 52 ปี ให้สัมภาษณ์กับเราอีกเช่นกันว่า ยอมรับว่าตลาดสำเพ็งซบเซาจากเมื่อก่อนมาก พ่อค้าแม่ค้ารับผลกระทบไปอย่างหนัก และปัญหาสำคัญที่ค้าขายไม่ได้เป็นเพราะจีนเข้ามาค้าขายมากขึ้น มีการขายตัดราคากันมากขึ้นทำให้คนไทยเองอยู่ลำบาก


“เดือนนี้ถือว่าหนักมาก ไม่เหมือนแต่ก่อน เดือนที่แล้วก็ยังพอขายได้ จันทร์-ศุกร์ขายได้ยากมาก จะขายได้แต่ละครั้งก็ตั้งแต่เที่ยง บางทีก็บ่าย บางวันมาขายตั้งแต่ห้าทุ่มก็ยังไม่ได้ขาย แต่ถ้าเป็นวันเสาร์ก็อาจจะได้ขายแต่เช้าหน่อยเพราะคนจะเยอะหน่อย ส่วนใหญ่มาเดินดูของแต่ไม่ซื้อ ของพี่เองช่วงนี้ก็ขายได้ประมาณวันละ 600-700 บาท เงิน 1,000 บาทเดี๋ยวนี้หายากมาก



อีกอย่างเกี่ยวกับตลาดออนไลน์ด้วย เพราะว่าซื้อทางออนไลน์ก็เยอะ ของออนไลน์ก็บวกเพิ่มอีกไม่กี่บาท และอีกอย่างคนจีนก็เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นจีนทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ร้านขายผ้าไม่มีแล้ว มีแต่คนจีนเข้ามาขายแทนทั้งนั้น พอเขาเข้ามา เราก็ไม่ขายของจีน เพราะว่าถ้าขายของเขาแล้วเราขายแพง แต่เขาขายถูกกว่า เขาก็มาตัดราคาเรา เราก็ขายไม่ได้ เขาขายให้เราแพง แล้วเราจะมาขายเท่าต้นทุนก็ไม่ได้อีก เราก็ต้องหาช่องทางเลือกสินค้าของคนไทยเราเย็บเอง หรือหาสิ่งที่แปลกกว่าคนอื่นมาขาย”


แม่ค้าขายกระเป๋ารายเดิมยังย้ำอีกว่า เมื่อเทียบเมื่อก่อนกับตอนนี้ค่าเช่าถือว่าแพงมาก เพราะเมื่อก่อนยังขายของได้ก็สามารถจ่ายได้ แต่เมื่อขายของไม่ได้ทำให้เป็นปัจจัยหลักอีกอย่างที่ได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย


“ค่าเช่าก็แพง เดือนหนึ่งก็ตกเดือนละ 6,300 บาท สำหรับร้านใหญ่ๆ ค่าเช่าก็เป็นแสน ห้าแสนก็มีต่อเดือน ถ้าอยู่ในสภาวะอย่างนี้ก็ถือว่าแพง แต่เมื่อก่อนถือว่าไม่แพงธรรมดามาก แต่ตอนนี้ต้องซีเรียสเพราะค่าเช่าทีก็ครึ่งหมื่นแล้ว เดือนนี้คือหนักจริงๆ อย่างของเราทำเองเย็บเอง ขายได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปแย่งกับคนจีน”
ไม่เพียงเท่านี้ แม้ค้าขายต่างหู วัย 63 ปี ที่ทำอาชีพค้าขายมาตั้งแต่เด็ก และค้าขายอยู่ที่สำเพ็งมานานนับหลายปี ยอมรับว่าตอนนี้ลำบากพอสมควร เมื่อก่อนหยิบจับอะไรก็เป็นเงิน ยิ่งเจอกับตลาดออนไลน์ยิ่งเหมือนเจอศึกหนักเข้าไป



“เมื่อก่อนเงิน 5,000 บาท ง่ายนิดเดียวไม่เกินเที่ยงก็ได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้เงิน 500 บาท ยังยากเลย วันนี้เพิ่งได้ไป 160 บาทเองจนบ่ายแล้ว บางวันก็ได้วันละ 200 บาท คือต้องประหยัดสุดๆ นะถึงจะอยู่ได้ แต่ก่อนต่างหูเทลงยังไม่ทันหมด คนรีบจับไปแล้ว เอาอะไรมาวางก็เป็นเงินเป็นทองหมด ตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปแล้ว เดือนที่ผ่านมาก็พอขายได้แต่ไม่เท่าไหร่ พอใช้ พอกิน พอเดือนนี้คือตายเลย


พูดตรงๆ ว่าอยู่สำเพ็งมาหลายพันปีแล้ว ไม่ใช่ซบเซาธรรมดา แต่ซบเซาที่สุด ตอนนี้จีนครองโลก ของที่เราเคยขายคือเขาเอามาหมดแล้วไง เราจะขายกิ๊บ เขาก็มีขายร้านใหญ่ๆ ไปแล้ว เราจะวางอะไรขายได้ ใครก็ว่าเลือกตั้งแล้วจะดีขึ้น แล้วเป็นไงล่ะ เมื่อไหร่จะดีขึ้น ก็ยังไม่ดี ยิ่งลงกว่าเก่า คงดีเฉพาะแค่ทุนใหญ่ๆ โรงงานหุ้นส่วนใหญ่ๆ มั้ง แต่รากหญ้าตายกันหมด”

ต้นทุนสูง ทยอยปิดกิจการ!!

ขณะที่พ่อค้าขายของกิฟต์ชอป วัย 59 ปี อย่าง เฉลิมชัย ธุวดารา ค้าขายมานานกว่า 10 ปี สะท้อนว่าส่วนมากที่ตลาดซบเซาเพราะว่าภาวะเศรษฐกิจมากกว่า อย่างอื่นก็ไม่มีอะไร เพราะว่าในเมื่อซื้อไปแล้วขายไม่ได้คนจึงไม่ซื้อกัน ด้านออนไลน์ก็ถือว่ามีส่วนน้อยที่ทำให้ตลาดซบเซาลง


“เงียบสุดๆ เลย วันนี้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายเพิ่งได้ร้อยกว่าบาทเอง ปกติได้เป็นพันแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ได้แค่ร้อยกว่าบาท คนไม่มีกำลังซื้อ คนจะซื้อไปขายก็ไม่มีกำลังซื้อ ซื้อไปแล้วก็ขายไม่ออกก็เลยเป็นแบบนี้ ขนาด 5-10 บาทนะ ยังเงียบแบบนี้ ถ้าคนที่เขาขายในราคาที่สูงกว่านี้ก็คงเงียบมากกว่านี้ เงียบมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะว่ากำลังซื้อไม่มี อีกอย่างคนซื้อไปก็ขายไม่ได้


เมื่อก่อนขายได้ประมาณวันละ 2,000-3,000 บาท ตอนนี้เหลืออยู่วันละ 100-200 บาท เมื่อก่อนพอกินพอใช้ตอนนี้ตายอย่างเดียว คนขายของก็ปิดร้านลงไปเยอะ เพราะว่าเศรษฐกิจ ไหนจะค่าเช่า ค่าลูกน้อง ค่าไฟ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็จ่ายไม่ได้ เงินก็ไม่พอ คนไทยส่วนมากจะปิดหนีกันหมด อันนี้ดีว่าเราไม่ต้องกู้เงินเขามาลงทุน อาศัยซื้อของที่ลดล้างสต๊อกเราก็มาขายถูกลง



ออนไลน์ก็มีส่วนน้อย เพราะว่าเวลาสั่งซื้อของออนไลน์เขาก็จะมาซื้อที่สำเพ็งอยู่ดี หาของไปให้ลูกค้า ส่วนมากจะไม่เกี่ยว เกี่ยวกับการเงินในประเทศมากกว่า ออนไลน์ไม่มีส่วนกระทบมาก เพราะยังไงออนไลน์ก็จะมาเดินหาซื้อของในสำเพ็งไปส่ง”


อีกเรื่องที่พ่อค้ากิฟต์ชอปรายนี้ย้ำกับเราคือ การที่ปล่อยให้คนจีนเข้ามาค้าขายในประเทศอย่างเสรีมากเกินไป อีกทั้งยังมาขายของตัดราคา ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นมานานหลายปีแล้ว เพราะจีนมีต้นทุนที่สูง สำหรับคนไม่มีทุนหรือทุนน้อยก็สู้ไม่ได้


“ปล่อยให้คนจีนเข้ามาค้าขายเยอะเกินไป อย่างมาขายส่งไม่เป็นไร แต่อันนี้คือปล่อยลงมาขายเองเลย อีกอย่างขายของตัดราคา อย่างเขานำมาส่งเราในราคา 10 บาท แล้วเขาก็มาขายเองในราคาปลีก 10 บาท แล้วเราจะขายได้ไหมทีนี้ ลักษณะแบบนี้ก็เป็นมาหลายปีแล้ว คนไม่มีทุนหรือทุนน้อยก็สู้ไม่ได้ สังเกตได้เลยส่วนใหญ่คนจีนทั้งนั้น เพียงแต่หน้าร้านมีคนไทยมาบังหน้า ส่วนมากเจ้าของจริงๆ เป็นคนจีนทั้งนั้น


จีนเข้ามาทำการค้าได้อย่างเสรี คนไทยไม่มีทุน มีทุนก็ไม่กล้าลงทุนเพราะว่าคนจีนเอาไปกินหมด ยังไงก็สั่งของจากคนจีนมาขาย เราก็โดนแย่งการค้า ตำรวจเข้ามาจับเรื่องลิขสิทธิ์ ก็เสียเงินไป อีกอย่างถ้ามีเงินเสียคนเหล่านั้นก็ไม่กลัว”


เช่นเดียวกันกับ ทัศนีย์ สุวรรณฤกษ์ แม่ค้าวัย 75 ปี ร้านขายของเล่นเด็ก ทำการค้าขายอยู่สำเพ็งมานานกว่า 10 ปี ย้ำว่าการที่ตลาดออนไลน์เข้ามามีพื้นที่มากยิ่งขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดซบเซาลง


“ไม่แค่เดือนนี้ที่ขายไม่ได้เป็นแบบนี้มา 2 เดือนแล้ว คนจีนมีส่วนเกี่ยวมากเลยเพราะว่าแรกๆ เขาก็มาส่งให้พวกเราขาย พอเราขายไป เขาก็ส่งมาเต็มตลาดแล้วเขาก็ขายเอง แล้วก็หักราคาลง แล้วคนไทยจะไปขายอะไร ไปดูได้เลยคนเข็นผลไม้ขายส่วนใหญ่ไม่มีคนไทย คนไทยตายหมดแล้ว ต่างชาติมาคุมประเทศแล้ว



ทุกวันนี้ขายของได้วันละประมาณ 400 บาท ตอนนี้คือขอให้ได้ขายกำไรไม่มีไม่เป็นไร ขอให้ขายได้อย่างเดียว จะได้มีกิน อีกอย่างขายของแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ขายตั้งแต่เขารวย จนเขาล่มจมกันไปตั้งหลายรอบแล้ว ขายหมดทุกอย่าง วนเวียนตั้งแต่แรกๆ เลย เมื่อก่อนลูกสาวขายของรวยเพราะหน้ากากโทรศัพท์มือถือโนเกีย วันหนึ่งขายได้หลายๆ แสน ส่งทั่วประเทศไทย จากนั้นก็วนขายของอย่างอื่นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็ขายของเล่นเด็ก”


นอกจากนี้ แม่ค้าขายของเล่นยังทิ้งท้ายอีกว่า การที่ตลาดออนไลน์มีบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับการทำให้ตลาดสำเพ็งซบเซาลง แต่เพราะเศรษฐกิจประเทศเป็นแบบนี้ และด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างประกอบกันทำให้ซบเซาลง




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น