ในเมืองไทยหากจะกล่าวถึงผู้สูงวัยที่ประกาศตนชัดเจนในภารกิจพิชิตอายุ 120 ปี ภาพของ “หมอเฉก” จะเข้ามาจุติในความคิดทันที ปัจจุบันนี้ปณิธานของเขาไม่เคยแปรเปลี่ยน แถมความฝันนี้ยังคงฉายชัดในทุกลมหายใจ!
เส้นทางอายุวัฒนะ
“เมื่อประมาณ 30 ปีก่อนกระทรวงสาธารณสุขเคยสำรวจผู้สูงอายุที่อายุมากที่สุดในเมืองไทย มีอายุถึง 120 ปี เป็นผู้ชายมุสลิมอยู่ที่ปัตตานี และผู้หญิงอายุ 122 ปี อยู่บนดอยที่เชียงราย”
ความคิดที่ว่า “แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ” ของชาย 5 แผ่นดิน นพ.เฉก ธนะสิริ วัย 94 ปี ผุดขึ้นมาทันทีในช่วงที่เขาอายุเพียงแค่ 30 กว่าปี และในฐานะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ผู้ก่อตั้งชมรมอยู่ 100 ปี-ชีวีเป็นสุข เจ้าของหนังสือเคล็ดลับการมีอายุทะลุร้อยปี ผู้นำพาชาวไทยไปสู่เส้นทาง “สุขภาพดี” ยิ่งต้องทำให้เห็นว่า อายุ 120 ปี เป็นไปได้
หมอเฉก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายของรัชกาลที่ ๖ จนบัดนี้นับว่ามีชีวิตอยู่มานานตามปรารถนาถึงห้าแผ่นดินแล้ว
“ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับการศึกษา ในช่วงวัยเด็กผมจึงได้รับอาหารต่างๆ ที่ถูกต้อง สมัยเป็นนักเรียนช่วงมัธยม ก็เล่นกีฬา ผมเป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลรุ่นเล็ก โรงเรียนสวนกุหลาบ พอเราเรียนแพทย์ จบแพทย์แล้วทำงานด้านสาธารณสุข จากนั้นและไปประจำการอยู่ที่โคราชราวๆ 10 ปี แล้วค่อยย้ายเข้ามาอยู่ใน กทม.เมื่ออายุราวๆ 50 ปี
ผมเป็นเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดกว้างใหญ่กว่ากรุงเทพฯมากมาย ภารกิจของเราต้องไปตรวจตามสถานีอนามัย ให้บริการ ฉีดวัคซีน มีคลินิกเป็นสุขศาลา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข
เราทำงานทางด้านแพทย์สาธารณสุข ก็ต้องพยายามให้ไม่มีโรค ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนเกิดมาแล้วไม่ป่วย ไม่เจ็บ หรือ ป่วย เจ็บ ให้น้อยที่สุด ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกาย การกินอาหาร การทำจิตใจให้สงบ ถ้าทำได้อย่างนี้ ป่วย เจ็บ มันก็ไม่ค่อยมี
นอกจากนี้ เราอยู่ในสายตาประชาชน ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติตัวของเราให้ดี เราอยู่ในความสังเกตของสังคม ดังนั้นคุณจะมาหาผมทำไมเดี๋ยวทางโน้นมาทางนี้มาไต่ถาม มาสัมภาษณ์ ฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ”
นั่นจึงทำให้หมอเฉกต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับประชาชนในด้านการใช้ชีวิตและรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง
ปัจจุบันนี้หมอเฉกในวัย 94 ปี แต่สภาพร่างกายและหน้าตายังดูสดใส ไม่โรยราตามอายุ ท่วงท่ากระชับกระเฉงจนคนอายุน้อยกว่าหลายรอบยังต้องอาย
“ผมไม่สูบบุหรี่ เหล้าไม่ดื่ม ชีวิตนี้เคยอาเจียนเพราะเหล้าเพียงครั้งเดียวสมัยหนุ่มๆ”
คัมภีร์อายุยืน! กินแบบ “ช้างม้าวัวควาย” ตายยาก
สำหรับอาหารการกินหมอเฉกย้ำว่า “ผมระมัดระวังมาก” ไม่เน้นเนื้อสัตว์ เน้นพืชผัก ผลไม้
“ผมกินเหมือน “ช้างม้าวัวควาย” ผมไม่ได้กินเหมือนสิงโต เสือ หมา แมว เพราะฉะนั้นผมจะกินเนื้อสัตว์น้อยมาก ถ้าจะกินเนื้อสัตว์จะกินสัตว์น้ำ ปลา กุ้ง เพราะบาปน้อยกว่า ย่อยง่ายกว่า
พวกสัตว์บก หมู เป็ด ไก่ ผมไม่สนใจ เพราะฉะนั้นสังเกตให้ดี ช้าง ม้า วัว ควาย กินแต่ผักแต่หญ้า แต่ตัวเบ้อเร้อเลย เห็นไหม ยีราฟกินใบไม้ ตัวเบ้อเร้อไหม ฉะนั้นเราจะกินแต่พืชพรรณธัญญาหาร
เราก็ไม่ได้ขาดโปรตีนนะ คุณคิดดูยีราฟมันขาดโปรตีนไหม มันกินใบไม้ โปรตีนมันอยู่ในผัก ช้างกินต้นกล้วยทั้งต้น ตัวเบ้อเร้อเลย ไอ้พวกกินเนื้อสัตว์มากๆ เช่น สิงโต เสือ ยังเตี้ยกว่ายีราฟเยอะแยะ คนเข้าใจผิดต้องกินเนื้อ นม ไข่ เขาจะขายของไง
คุณลองคิดดู “สัตว์กินพืชออกลูกทีละตัว สัตว์กินเนื้อออกทีละครอก” ถูกไหม แล้วเราจะเลือกกินอะไร เนื้อสัตว์ หรือพืชผัก แล้วมนุษย์เราออกลูกทีละเท่าไหร่ หมาแมวออกลูกทีละ 5-6 ตัว ช้างออกทีละตัว ยีราฟออกทีละตัว หมีออกทีละตัว หมีกินพืชทั้งนั้น อาจจะกินเนื้อบ้าง แต่กินพืชเป็นหลัก
ส่วน ชา กาแฟ อยู่บ้านจะไม่ทาน ถ้าออกนอกบ้านอาจจะมีกาแฟอะไรนิดหน่อย เป็นของที่ไม่จำเป็น ตอนเช้าผมไม่กินกาแฟเลย แต่ถ้าไปนอกบ้านหรืออะไร ก็อาจจะเป็นคาปูชิโน่นิดหน่อย”
นอกจากนี้ หมอเฉกยังแนะนำเคล็ดลับอายุวัฒนะ “กินน้อยตายยาก กินมากตายเร็ว” นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด
“ใกล้จะอิ่มก็หยุด ไม่ต้องถึงกับอิ่ม บางคนอร่อยกินเพลิน เลยอ้วนเผละ กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน อย่างมื้อเช้านี้ผมก็ทานขนมปังครึ่งแผ่น ภรรยาก็ทานอีกครึ่งนึง ดูสิ ภรรยาผมก็อายุ 96 แล้ว ชอบทานพวกผักผลไม้
ขณะกินข้าวก็ไม่ต้องกินน้ำ เพราะจะไปละลายน้ำย่อย ไม่มีประโยชน์ ในอาหารก็มีน้ำแกง น้ำซุป อยู่แล้ว ไม่ต้องไปกินน้ำตาม บางคนกินเหล้ากินเบียร์ กินข้าวคำกินเบียร์ไปครึ่งแก้วแล้วอะไรอย่างนี้ ไม่ดีต่อสุขภาพ”
และหมั่นสร้างแต่กรรมดี สร้างบุญสร้างกุศล ละเว้นความชั่วทุกชนิด โดยพิจารณาให้เห็นชัดว่าร่างกาย คือฮาร์ดแวร์ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่จะต้องดูแลระมัดระวังให้ทำหน้าที่อย่างดีอยู่เสมอ ส่วนโปรแกรมที่จะป้อนเข้าไป เพื่อให้ได้ข้อมูลนั้นก็คือ "จิต" ของเรานั้นเอง
การจะตั้งใจให้ผลออกมาดีนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าให้ใช้หลัก อิทธิบาท 4 หมายถึง สิ่งที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จ 4 อย่าง คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
ว่ายน้ำเกือบหมื่นกิโลฯ ดีกรีเหรียญทองแชมป์โลก
สำหรับการออกกำลังกายนั้น หมอเฉกรักการว่ายน้ำมาตั้งแต่วัยหนุ่ม แถมไม่ได้ว่ายน้ำอย่างเดียว ยังมีการกำหนดจิตภาวนาหรือที่คุณหมอเฉกเรียกว่า “ว่ายน้ำจงกรม” นอกจากนี้ ยังโยคะ วิ่ง ปั่นจักรยาน อีกด้วย
“ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมต้องมีกางเกงว่ายน้ำ แว่นตา สน็อกเกิล ในกระเป๋าติดตัวตลอด
ผมว่ายน้ำเป็นหลัก ว่ายทีครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมง ว่ายแบบไม่หยุด และตอนหนุ่มๆก็เคยไปฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน
เราต้องฝึกสมาธิ มันจะช่วยให้เรื่องระบบจิตใจระบบความคิด ผมเป็นลูกศิษย์คุณพี่กรินชัย หรือที่รู้จักกันว่า คุณแม่สิริ กรินชัย ผม ภรรยา และลูกๆ ทุกคน ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานนะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เราก็เลยเอาวิชาต่างๆเหล่านั้น มาใช้กับชีวิตของเรา
เวลาว่ายน้ำเรามีสมาธิมากกว่าบนบกอีก ขณะว่ายน้ำเราก็ภาวนาไป ตั้งจิตว่าอยากทำอะไร ผมมักประสบความสำเร็จสมหวังตามที่ภาวนาในทุกเรื่องเลยนะ
อย่างทุกวันนี้เวลาผมไปพักผ่อนหัวหิน ผมเดินมาที่เขาตะเกียบแล้วก็ว่ายน้ำในทะเลไปแถวโรงแรมรถไฟ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ผมยังว่ายได้”
ทุกวันนี้หมอเฉกจะเก็บเชือกผูกเอวจากกางเกงว่ายน้ำทุกตัวที่เคยใส่มาแต่ขาดแล้วทั้งหมดในชีวิต จวบจนปัจจุบันนี้เก็บได้ทั้งหมด 69 เชือก พร้อมจดสถิติระยะทางสะสมในการว่ายน้ำแต่ละครั้ง ถึงบัดนี้กว่า 9,000 กิโลเมตรแล้ว
“ตอนเป็นตอนหนุ่มๆก็ว่ายน้ำ 10 กิโลฯ แบบไม่หยุด ไม่เคยเกิด Accident หรือตะคริวนะ หากเราว่ายน้ำสม่ำเสมอ ตะคริวไม่เคยเป็นเลย”
กิจวัตรประจำวันส่วนมากหลังจากทานอาหารเช้าแล้ว ก็ขับรถไปสปอร์ตคลับตรงสนามม้านางเลิ้ง เพราะเราเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับมาตั้งแต่หนุ่มๆ ที่นั่นจะมีสระว่ายน้ำ 2 สระ หรือวันไหนอยากไปว่ายน้ำใกล้ๆแถวบ้านก็ขับรถไปคอนโดมีสระว่ายน้ำ แต่มันเล็ก 50 เมตรเอง
เห็นไหมกางเกงว่ายน้ำที่ผมใช้ พอกางเกงขาดผมก็เอาเชือกมาแขวนไว้ตอนนี้ 69 ตัวแล้ว
ผมเคยไปแข่งโอลิมปิกสำหรับแพทย์ผู้สูงอายุจากทั่วโลกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผมลงแข่งว่ายน้ำ 100 เมตร วิ่ง 100 เมตร ว่ายน้ำ 1,500 เมตร เราก็ไปได้เหรียญมาหมด
ได้เหรียญทองว่ายน้ำ 100 เมตร เหรียญเงินวิ่ง 100 เมตร เหรียญทองแดงว่ายน้ำ 1,500 เมตร ไปแข่งตอนอายุ 65 ปีที่ประเทศแคนาดา สาเหตุที่ไปแข่งก็อยากสนุก ไปเที่ยวด้วย ไปแข่งด้วย”
ตั้งเป้า “เกิด แก่ (ไม่)เจ็บ ตาย!
“เราอยากอายุยืนแล้วไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีความสุข อายุยืนแล้วก็เป็นหนี้เป็นสิน มีโรคภัยไข้เจ็บ ลูกหลานมันแทบดิ้นตายเลย ต้องหาเงินมาเลี้ยงปู่ยาตายายพ่อแม่ ของเราลูกหลานไม่ต้อง เพราะเราดูแลสุขภาพดี ไม่ป่วยไม่เจ็บ ลูกหลานก็ทำมาหากินได้เต็มที่ ไม่ต้องห่วง
“ทุกวันนี้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย หาหมอครั้งสุดท้าย คือ โรคน้ำกัดเท้า เมื่อประมาณเกือบปีมาแล้วช่วงฝนตกน้ำขังที่สวนในบ้านไปเดินเอาเท้าลุยน้ำ เกิดมาไม่เคยได้เข้าโรงพยาบาล นึกว่าจะเป็นโรคตับไตไส้พุง เปล่าเลย”
หมอเฉกเล่าว่า 40 ปีที่ผ่านมา เคยเป็นไข้หวัดแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และก็ไม่ได้กินยา หรือไม่ได้ไปหาหมอด้วย เพราะว่าเมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานสูง เชื้อโรคมันก็มาทำอะไรไม่ได้
“ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำก็ไม่มีโรคอะไรเลย ภรรยาผมวัย 96 ปี ก็เหมือนกันไม่มีโรค ตอนนี้ใช้ยาหยอดตา เป็นต้อหินกับต้อกระจก ต้อกระจกผ่าไปแล้ว ส่วนต้อหินก่อนนอนหยอดข้างเดียวไม่ให้ความดันลูกตาสูง นอกนั้นไม่มียาอะไรเลย
ส่วนเรื่องนอนไม่หลับผมกับภรรยาก็ไม่มีปัญหาเลยเช่นกัน เพราะเราฝึกสมาธิ”
นอกจากนี้ ส่วนสูง และน้ำหนัก ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สูงวัยไม่ควรปล่อยให้เพิ่ม เพราะสำหรับหมอเฉกสัดส่วนไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่อายุ 35
“น้ำหนักของผมเป๊ะเลย ไม่เคยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่อายุ 35 ผมสูงประมาณ 170 เซ็นติเมตร น้ำหนักราวๆ 67 กิโลกรัม พูดง่ายๆ สูง 170 เซ็นติเมตร น้ำหนักก็อย่าเกิน 70 กิโลฯ จะดีมาก”
อีกหนึ่งโรคภัยที่มาคู่กับผู้สูงอายุอย่าง “อัลไซเมอร์” และ “ซึมเศร้า” นั้น คุณหมอมีเคล็ดลับด้วยท่า Head Stand พร้อมทำท่าให้ดูอย่างคล่องแคล่ว แข็งแรง จนทีม MGR Live เราทึ่งกับสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้าเพราะเชื่อว่าขนาดวัยหนุ่มสาวยังทำไม่ได้!
“เอาหัวปักพื้นเท้าชี้ฟ้า ค้างไว้ประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงหัว และอีกอย่างผู้สูงอายุควรยืนเพื่อให้หลังตึงตัวตรง ผมไม่เคยต้องใช้ไม้เท้าเลย
การอ่านหนังสือสำหรับผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่ควรทำ แก้โรคอัลไซเมอร์ได้ ผมชอบอ่านหนังสือ เพราะสมองเราต้องฝึก คุณอ่านหนังสือก็เหมือนคุณลับมีดนะเหมือนคุณมีมีด แต่ถ้าหากคุณไม่ลับ มันก็ไม่คม
ถ้ามีสมองแล้วไม่สนใจอะไรเลยไม่อ่านหนังสือ ไม่หาความรู้ใส่ตัว มันก็สู้กับคนที่เขาลับมีดไม่ได้ เพราะมีดเขาคมกว่า
สำหรับบางคนอาจจะเล่นไพ่แก้อัลไซเมอร์ ผมก็ไม่ได้ห้ามอะไร แต่ถ้าเล่นการพนันแล้วเสียเงินเสียทองก็เกิดปัญหา ถ้าเล่นสนุกสนานก็โอเค แต่ผมไม่ได้สนใจ แต่ไม่ได้หวงห้าม ทำได้ แต่ผมใช้หนังสือเป็นหลัก ผมอ่านหนังสือ เยอะเราได้ความรู้ ดูโทรทัศน์ ฟังข่าว เรียกว่าเราทันสมัย
ส่วนภาวะซึมเศร้าก็แล้วแต่คน พอเราแก่ไม่ได้ทำอะไรก็เกิดภาวะซึมเศร้า แต่ผมไม่เป็น ผมอ่านหนังสือ เราดูโทรทัศน์ ทุกวันนี้เดี๋ยวก็มีคนนั้นมาหาคนนี้มาพบ มาพูดคุยตลอดเวลา
ทว่า ปัญหาของผู้ชายสูงวัยบางท่าน ที่ต้องพึ่งยาเสริมสมรรถภาพทางเพศนั้น คุณหมอชี้ว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นแล้วในวัยนี้ แนะรักษาศีล ชี้ปัจจุบันนี้กับภรรยาอยู่ด้วยกันเหมือนเพื่อนที่เข้าใจกัน อีกทั้ง สุขภาพของภรรยาก็แข็งแรงเช่นเดียวกับหมอเฉกแม้จะอายุมากกว่า เพราะพฤติกรรมวิธีการกินเหมือนกันนั่นเอง
“ตัวผมเองไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ไม่ต้องมียาไม่มีอะไร ไม่ต้องกิน ไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าเรารักษาศีล เราก็ไม่ควรปฏิบัติ เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็น พออายุมากขึ้น ความรู้สึกทางนี้มันก็น้อยลง และก็ไม่จำเป็น”
ความมีวินัยในการออกกำลังกาย และการกินนั้นเป็นสิ่งที่หมอเฉกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทว่า สำหรับผู้สูงวัยส่วนใหญ่ “ความขี้เกียจ” และความคิดที่ว่า “อยู่เฉยๆสบายกว่า” ก็มาครอบงำจิตใจ จะมีวิธีสลัดความคิดเหล่านี้ไปได้อย่างหมดสิ้น
“ก็แล้วแต่คน ส่วนมากมันรู้แต่มันขี้เกียจทำ ทำไมมันต้องมาทำทุกวัน มันขี้เกียจทำ มันอยู่เฉยๆ สบายกว่า แต่เราไม่ขี้เกียจนี่ เพราะเราตั้งเป้าว่าเราทำอย่างนี้แล้ว มันจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มันจะอายุยืนยาวแข็งแรง เราตั้งเป้าเอาไว้ เราก็เลยทำตามเป้า
ถามว่าเคยมีขี้เกียจบ้างไหม ก็มีบ้าง แต่แล้วไอ้ความคิดขี้เกียจนั้นมันก็แพ้ ถ้ามันชนะเราก็จะไม่ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เราจึงทำตลอดมาจนทุกวันนี้
ถ้าจะแนะนำให้เขาลุกขึ้นมาทำแบบเราไม่ได้หรอก เขาจะต้องเริ่มเห็นด้วยตัวของเขาเอง ไปแนะนำก็ครับๆ แต่ไม่ทำ”
แนะผู้สูงวัยไร้ลูกหลานต้องสตรอง!
“เมื่อรู้แล้วกินให้ถูกต้อง บางคนทั้งๆที่รู้ว่ามีประโยชน์แต่ก็ไม่ชอบ ทั้งๆที่รู้ว่ากินผักกินพืชดี แต่ไม่ชอบ ก็ไปกินสเต๊ก เป็ดย่าง ไก่ย่าง หมูแฮม มันขึ้นอยู่กับว่ารู้หรือเปล่า รู้แล้วปฏิบัติตัวหรือเปล่า อะไรถูกอะไรผิด ถ้าปฏิบัติตัวถูกต้องก็ดี รู้อะไรถูกอะไรผิดต้องทำตามที่ถูก ถ้าทำผิดผลมันก็ไม่ดีต่อร่างกายของเรา
ผมดูแลอาหารการกินลูกหลานด้วย เขาจะกินคล้ายๆกับเรา จากที่เราปฏิบัติตัวเขาก็เห็น เขาก็พยายายามจะปฏิบัติ แต่บางทีคนหนุ่มคนสาวก็จะชอบไปกินอะไรแปลกๆ ก็อาจจะเพี้ยนไปบ้างก็มี ก็ไม่เสียหายอะไร ไม่ได้กินเป็นประจำ
ผมไม่ได้ทานมังสวิรัติแต่กินเนื้อสัตว์น้อย กินสัตว์น้ำ ย่อยง่าย บาปน้อยกว่า คุณรู้ไหมเวลาเขาฆ่าหมูเขาเอามีดแทงคอ เลือดย้อย เอาทำเลือดหมูขาย ฆ่าวัวฆ่าควายก็ใช้ไม้ทุบ ทารุณมาก ผมทำงาน กทม. ควบคุมดูแลการฆ่าสัตว์ เห็นวิธีการฆ่าวัว หมู ควาย มันทารุณ เนื้อหมูก็เคยกิน แต่กินน้อย ไม่ได้สนใจ ว่าต้องเป็นสเต๊ก ไม่ได้ยึดติดกับรูปรสกลิ่นเสียง
อาหารที่แนะนำให้ผู้สูงวัยทาน ทานพืชพรรณธัญญาหาร ผลไม้เป็นของที่จำเป็น ผลไม้ที่หวานให้ทานน้อย เดี๋ยวจะอ้วน เป็นเบาหวาน อะไรที่หวานๆก็กินให้น้อยลง ส่วนมากผมกินส้ม มะละกอ แตงโม องุ่น แอปเปิล คนใส่กระเช้ามาให้เราก็กิน แต่ไม่ซื้อกิน
ดูอย่างประเทศญี่ปุ่นเขาพัฒนามากกว่าเรา ฉะนั้นสถิติคนสูงอายุเขามากกว่าเรา เหมือนกับว่า คนเขารู้เรื่องมากกว่า เขาปฏิบัติตัวดีกว่า ของเราปฏิบัติตัวอย่างผมน้อยกว่า เพราะคนไทยยังสนใจเรื่องนี้น้อยกว่าประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว อย่างประเทศยุโรป ในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย แต่ประเทศญี่ปุ่นนี่เขาพัฒนาใกล้เคียงทางยุโรป เพราะเขาเจริญมากกว่าเรา
นอกจากนี้ แนวโน้มในอนาคตผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกมีหลานเยอะขึ้นหมอเฉกแนะ “สุขภาพแข็งแรงเพื่อช่วยเหลือตัวเอง” สำคัญสุด
“เราต้องกินอาหารถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตให้สงบ ก็เท่านั้นเอง ไม่ต้องมีตัวช่วยอะไร เรื่องเงิน ต้องคิดว่าเท่าไหร่จะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต มีเท่าไหร่บอกไม่ได้ ตัวเขาเองที่จะรู้ ว่าจะมีกินมีใช้ต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วแต่ฐานะ
ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดปัญหาสามารถจะช่วยตัวเองได้นานที่สุด
…..ในวัย 94 ปีที่ใกล้จะแตะร้อยของเขา ดูจะไปต่อได้อีกยาวไกลตามใจปรารถนาและอาจจะทะลุเป้าด้วยซ้ำ เพราะใจที่มุ่งมั่น และวินัยที่แน่วแน่นั่นเอง
สัมภาษณ์โดย MGR LIve
เรื่อง: สวิชญา ชมพูพัชร
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **