ละเมิดสิทธิเกินไปไหม!? โรงเรียนดังฝึกวินัยในการดื่มน้ำ ด้านนักเรียนเปิดใจมีการห้ามพกน้ำจริง แม้กระทรวงศึกษาฯ มาถาม ครูยังเดินตามจึงพูดไม่ได้มาก ฝั่งนักวิชาการชี้จำกัดเวลาดื่มน้ำไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย
ห้ามเอาน้ำขึ้นอาคาร! อยากดื่มต้องรอเวลาพัก
“โรงเรียนห้ามนำน้ำเปล่า กระติกน้ำ ขวดน้ำ เข้ามาในโรงเรียนเลย ละเมิดสิทธิไปไหม?”
หัวข้อกระทู้พันทิปสั้นๆ โดยสมาชิกหมายเลข 5386184 กลายเป็นอีกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งกำลังถูกพูดถึงในโลกโซเชียลฯ เมื่อโรงเรียนได้มีกฎเพิ่มขึ้นมาว่า ห้ามนักเรียนนำขวด หรือกระติกน้ำ รวมไปถึงน้ำเปล่าเข้ามาภายในโรงเรียน
“ทางโรงเรียนมีน้ำขายให้ แต่หากซื้อดื่มแล้ว ต้องดื่มให้หมดภายในช่วงพัก ห้ามนำขึ้นไปเด็ดขาด แล้วชั้นเรียนมีถึงชั้น 4 คนเป็นโรคหอบ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ที่ต้องดื่มน้ำเยอะๆ หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็ห้ามนำน้ำขึ้นมาดื่มอย่างนั้นเหรอ
สงสารน้องๆ ที่เรียนชั้น 4 ครับ และทางโรงเรียนได้ดำเนินมาตรการนี้อย่างเข้มงวด โดยตรวจกระเป๋านักเรียนทุกเช้าว่าคนไหนมีกระติกน้ำหรือขวดน้ำเข้ามาหรือไม่ หากมีจะทำการริบไว้ทันที ขึ้นมาชั้น 4 หลังจากพักเหนื่อยๆ ดื่มน้ำก็ไม่ได้ ต้องนั่งทนคอแห้ง ไปจนกว่าจะถึงอีกเวลาพัก พักทั้งหมดมีเพียง 3 พักเท่านั้น คือ เช้า กลางวัน บ่าย นักเรียนจะได้กินน้ำแค่ 3 พักนี้เท่านั้น
เหตุผลของการกระทำนี้คือเพื่อ “ฝึกวินัยในการดื่มน้ำ” การกระทำนี้มันเกินไปจริงๆ นักเรียนไม่เห็นด้วยหลายคนมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย สรุปโรงเรียนใช้อำนาจเกินขอบเขต ตั้งกฎตามอำเภอใจ ไม่สนใจสวัสดิภาพของนักเรียน มันเกินไปไหม ละเมิดเกินไปหรือเปล่า
ขณะเดียวกัน กระทู้ดังกล่าวมีความคิดเห็นในโลกโซเชียลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ หากมีการจำกัดเวลาดื่มแบบนี้ก็ทำเกินไปกับเด็กนักเรียน เพราะน้ำต้องจิบระหว่างวัน และยังมีคนแนะนำว่าควรอัดคลิป เก็บหลักฐานต่างๆ ที่เป็นประกาศว่าห้ามเอาน้ำเข้าโรงเรียนเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน แต่มีการตอบกลับจากสมาชิกอีกรายว่า โรงเรียนดังกล่าวมีการเก็บโทรศัพท์ ไม่สามารถถ่ายได้
“เดี๋ยวนี้โรงเรียนเอกชนเป็นกันแบบนี้เยอะ ผลิตน้ำขวดยี่ห้อโรงเรียนขายเอง นึกดูโรงเรียนใหญ่ๆ เด็กนักเรียน 1-2 พันคน น้ำขวดละ 7 บาท วันหนึ่งได้เท่าไร แถมมีจัดที่ไว้สำหรับให้ทิ้งขวดน้ำโดยเฉพาะ เพื่อนำขวดไปขาย”
“จ้องแต่จะขายน้ำอย่างเดียว เห็นผลประโยชน์มาก่อนสุขภาพเด็ก เดี๋ยวนี้เขารณรงค์ให้พกกระติกน้ำแทนขวดน้ำใช้แล้วทิ้งกัน ไปอยู่ซอกหลืบไหนมา”
ทั้งนี้ ครูในโรงเรียนมีการชี้แจงผ่านสื่อว่า ไม่ได้มีกฎระเบียบห้ามพกกระติกน้ำเข้าโรงเรียนตามกระทู้ แต่มีคำสั่งห้ามนำกระป๋องน้ำขึ้นชั้นเรียน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด เพราะเคยมีบางกลุ่มนำยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม ลักษณะคล้ายกับน้ำกระท่อม แอบขึ้นไปดื่ม ซึ่งสังเกตยาก และไม่มีการบังคับซื้อน้ำที่โรงเรียนขายและมีตู้กดน้ำทุกตึก แต่อนุญาตให้เติมน้ำเข้าไปดื่มเฉพาะช่วงหมดคาบเรียนเท่านั้น
ทว่า การออกมาชี้แจงเหตุผลของโรงเรียนดังกล่าว มีความขัดแย้งกับทางนักเรียน ซึ่งมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางเพจดังอย่าง “กระโหลกแดง” ที่มีนักเรียนมายืนยันว่ามีการห้ามนำกระติกน้ำเข้ามาจริงๆ
“สวัสดีค่ะ หนูเป็นเด็กจากโรงเรียนนี้นะคะ หนูยืนยันว่าเป็นจริงทุกประการค่ะ ห้ามนำกระติกน้ำเปล่ารวมถึงใส่น้ำมาจริงค่ะ แต่ทางโรงเรียนน่าจะไหวตัวทัน เลยทำการตั้งรับ ประถมมีการให้นำกระติกน้ำมาได้ แต่มัธยมห้ามเลยค่ะ หนูขอเป็นพยานค่ะว่ามันจริงทุกประการค่ะ ตอนนี้กลัวกันไปหมดเลย นักเรียนไม่กล้าให้ข้อมูลค่ะ”
ไม่เพียงแค่นี้ นักเรียนยังเปิดเผยหลังเลิกเรียนเนื่องจากไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ก่อนหน้านั้นอีกว่า อยากให้นักข่าวมาดูที่ตึกมัธยม และห้องปกครองว่ามีของโดนยึดเยอะมาก ทั้งขวดน้ำ ขนม ที่โรงเรียนนำมากิน และยังมีการสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนลงจากตึก เพราะกลัวนักข่าวจะมาถามจึงสั่งให้ปล่อยช้า เมื่อมีกระทรวงศึกษาฯ มาสอบถาม ก็มีอาจารย์คอยเดินตามทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มาก
“ดื่มน้ำ” ให้ดี ไม่ควรจำกัดเวลา!
“การดื่มน้ำ มันไม่จำกัดเวลาหรอก ทำไมเขาห้ามไม่ให้เด็กนำน้ำมาจากบ้าน เป็นเพราะเหตุผลอะไร ก็อาจจะมองได้ 2 มุม อย่างแรก มองในมุมบวกคือ น้ำที่เด็กเอามาอาจจะเป็นน้ำที่ไม่สะอาดพอ เป็นน้ำที่สกปรก เลยอยากให้เด็กกินน้ำที่ดีของโรงเรียนนั่นก็เป็นเหตุผลครับ
แต่ถ้ามองในมุมลบ โรงเรียนอยากจะขายน้ำโรงเรียนหรือเปล่า แล้วน้ำโรงเรียนมันสะอาดพอหรือไม่ อันนี้เป็นการตั้งข้อสังเกต แล้วถ้ามาดื่มน้ำในโรงเรียน เป็นน้ำที่สะอาดปลอดภัยจริงหรือไม่ หรือโรงเรียนจะขายน้ำอัดลม หรือน้ำหวานอื่นๆ เพื่อจะเป็นรายได้ของโรงเรียนหรือเปล่าอันนี้ตั้งข้อสังเกต”
อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการชื่อดัง ในฐานะที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว MGR Live ผ่านปลายสาย ถึงการดื่มน้ำที่ไม่ควรมีการจำกัดเวลา และไม่ได้มองว่าสิ่งที่โรงเรียนทำจะเป็นการฝึกวินัยให้เด็ก
ประเด็นต่อมา เรื่องการฝึกวินัยการดื่มน้ำ อ.สง่า มองว่า การดื่มน้ำถ้าจะฝึกวินัยอาจเป็นเรื่องของมารยาทในการดื่มน้ำ ไม่ใช่การฝึกวินัยการจำกัดเวลา ว่าต้องดื่มน้ำเวลานี้ เวลานั้น เนื่องจากการดื่มน้ำไม่จำเป็นต้องมาจำกัดเวลาเหมือนกับการกินอาหาร การกินอาหาร 3 มื้อ ฝึกระเบียบวินัยได้ว่ากินอาหาร มื้อเช้า กลางวัน เย็น ให้ตรงเวลา นั่นจึงเป็นการฝึกวินัย
“การดื่มน้ำมันไม่ใช่อาหาร ดื่มน้ำเราจะดื่มเมื่อเราเกิดความหิว ดื่มน้ำเมื่อตอนที่เราไปออกกำลังกายเสียเหงื่อ เด็กเล่นมาก เด็กต้องดื่ม การดื่มน้ำอาจจะดื่มเมื่อร่างกายหิวขึ้นมา อาจเป็นช่วงที่ไม่ได้เล่นกีฬาหรือช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้ เพราะฉะนั้น การสร้างระเบียบในการดื่มน้ำ ในความรู้สึกมองว่าไม่จำเป็น เพราะร่างกายของมนุษย์ต้องการน้ำดื่มตลอด ขาดไม่ได้
การดื่มน้ำน้อยเกินไปก็ทำให้เลือดข้น แล้วดื่มน้อยเกินไปก็ทำให้ปริมาณน้ำที่อยู่ในร่างกายขาดหายไป บกพร่องไป แล้วในที่สุดมันก็จะเกิดการขาดน้ำ แต่อันนี้ต้องขาดนานติดต่อกันจริงๆ มันก็จะทำให้น้ำลายเหนียว ทำให้เลือดข้นขึ้น แล้วก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
หลังจากนั้น อาจจะมีผลต่อการเรียน มันก็ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะฉะนั้น ก็ควรจะดื่มน้ำทุกครั้งที่คุณมีความรู้สึกว่าหิว
แต่ถ้าโรงเรียนต้องการฝึกวินัยจริงๆ ตามวัตถุประสงค์ของเขา เขาก็อาจจะจัดน้ำดื่มไว้ที่ชั้นบนให้เด็กได้ดื่ม ถ้าไม่ให้เด็กเอาน้ำมาจากบ้าน แล้วยังไม่ให้เด็กเอาน้ำขึ้นไปบนอาคารชั้น 3 ชั้น 4 แต่ต้องมีน้ำส่วนกลางวางไว้ให้เด็กได้ดื่ม เวลาที่เด็กหิว ไม่ใช่ไม่มีน้ำอยู่บนชั้น 3 ชั้น 4 เลย”
ไม่เพียงเท่านี้ การดื่มน้ำมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี และไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย โดยคำว่าดื่มน้ำยิ่งมากยิ่งดี จะต้องมาตีความว่ามากเท่าไหร่ ถ้าโดยเฉลี่ยดื่มระหว่าง 8-10 แก้ว นั่นคือความพอดี
ขณะเดียวกัน นักโภชนาการรายเดิม ยังอธิบายถึงคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ หากถูกจำกัดการดื่มน้ำให้เป็นเวลา ส่งผลต่อสุขภาพแน่นอน เพราะโรคบางโรคต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมาจำกัดอย่างนี้แล้ว ก็อาจจะทำให้โรคนั้นกำเริบขึ้นได้ โดยเฉพาะโรคที่เป็นไข้หวัด จำเป็นจะต้องดื่มน้ำอุ่นอย่างสม่ำเสมอ การดื่มน้ำน้อยโอกาสที่จะไปล้างเชื้อโรค โอกาสที่ลำไส้จะสะสมเชื้อโรคก็มีสูง
“การฝึกวินัยเพื่อให้ดื่มน้ำเป็นเวลา มันไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเกี่ยวกับด้านสุขภาพ และก็ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรที่ให้เด็กรู้จักระเบียบการดื่มน้ำ คุณฝึกให้เด็กดื่มน้ำอย่างที่โรงเรียนฝึก แล้วพอเด็กออกจากโรงเรียนนี้ไป เด็กเขาจะจำระเบียบวินัยนี้ไปแบบนั้นได้จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่ค่อยเห็นด้วย ผมว่าการจำกัดแบบนี้มันไม่ใช่การสร้างวินัย”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **