xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส “โจทย์คณิตโคนันชั้นประถม” ผ่านปากคำต้นตำรับ “ผอ.สสวท.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
นี่แก้โจทย์คณิตเด็ก ป.4 หรือไขปริศนาโคนันกันแน่!? สังคมออนไลน์พากันพูดถึงภาพแบบฝึกหัดระดับประถม จาก สสวท. “ซับซ้อน-ซ่อนเงื่อน-ไม่ธรรมดา” ถึงกับ งง ว่าวิชาอะไรกันแน่!! ด้าน ผอ.สสวท. เปิดใจ อยากล้างภาพวิชาเลขน่าเบื่อ โดยสร้างกิมมิกเล็กๆ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์เด็กไทยซะเลย!

ล้างภาพ “วิชาเลข” น่าเบื่อ!

“เราพยายามทำให้วิชาคณิตศาสตร์มันไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่แค่เรื่องของตำราอย่างเดียว อย่างผู้ใหญ่สมัยก่อนจบมาจะมองว่าเรียนเลข เรียนฟิสิกส์ไปทำไม เราเลยอยากสอดแทรกความสนุกเข้าไป ที่สำคัญคือให้เด็กนำสิ่งที่เรียนไปใช้ต่อได้ ไม่ใช่แค่สอบเสร็จก็ลืมมันไป”

“ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังมีกระแสการถ่ายภาพแบบฝึกหัดในหนังสือวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถม 4 และแชร์ไปทั่วสังคมออนไลน์กว่า 4 หมื่นแชร์!!

โดยภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในแบบฝึกหัดของหนังสือวิชาคณิตศาสตร์ เล่ม 1 จาก สสวท. ซึ่งไม่เพียงมีโจทย์คณิตศาสตร์มาให้คำนวณเท่านั้น แต่ยังมีช่องสำหรับใส่คำศัพท์ภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลอีกด้วย ซึ่ง ผอ.คนดังกล่าวตอบข้อสงสัยถึงไอเดียในการทำแบบฝึกหัดลักษณะนี้ว่า ต้องการปลูกฝังแนวคิดสร้างสรรค์ให้เด็กไทย

“จริงๆ การสอนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ มักสอนให้เป็นพื้นฐานเพื่อให้เด็กนำไปใช้เป็น ส่วนเรื่องของการบูรณาการให้เด็กรู้จักใช้คณิตศาสตร์ให้เหมือนใช้กับเรื่องอื่นๆ ทางเราก็คิดกันมานานแล้ว แต่เวลาที่จะใช้จริงในห้องเรียนมันยาก เราก็เลยค่อยๆ ปลูกฝังแนวคิดสร้างสรรค์ให้เด็กมากกว่า

อย่างเวลาที่เด็กเรียนคณิตศาสตร์แล้วได้ผลลัพธ์ออกมา เราก็สอดแทรกกิมมิกเล็กๆ ให้เด็กสนุก ให้ลองอ่านเป็นตัวอักษร เป็นคำศัพท์ นี่คือหนึ่งในหลายๆ อย่างที่พยายามทำว่าคณิตศาสตร์มันไม่ได้น่าเบื่อ ไม่ใช่เรื่องของตำราที่เรียนเฉพาะเรื่องๆ อย่างเดียว

ภาพ FB: Suradech Wongkuan
 
ต้องบอกว่าเด็กยุคใหม่เวลาเรียนมักจะเชื่อมต่อไม่ได้ เวลาเรียนคณิตศาสตร์จะบอกว่ามีแต่เรื่องของการทำคะแนนในเรื่องที่ตัวเองเรียนและจบในชั้นแค่นั้น แต่ถึงเวลาไปเจอโลกจริงๆ เจอเรื่องที่ต้องใช้กลายเป็นหยิบมาใช้ไม่เป็น จริงๆ เป้าหมายเราคืออยากให้เด็กเอาเรื่องที่เขาเรียนไปใช้ต่อได้

ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เราเองก็พยายามกระตุ้นแนวคิดให้เขานำไปคิดต่อ หรือมองเห็นว่าเรื่องหนึ่งมันสำคัญกับเรื่องอื่นด้วยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่ในกรอบของเนื้อหาที่เรียนอย่างเดียว ไม่ใช่สอบเสร็จก็ลืมมันไป

จริงๆ ต้องยอมรับว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเด็กต้องใช้เครื่องคิดเลข ดังนั้น ตั้งแต่ประถมก็เลยหัดให้ใช้เครื่องคิดเลขกัน ซึ่งตัวเลขที่ออกมามันมีลักษณะคล้ายตัวอักษรภาษาอังกฤษบางตัว นักวิชาการก็เคยไปเห็นกิจกรรมคล้ายๆ กันนี้ที่ต่างประเทศด้วย เลยมองว่าน่าจะนำมาใส่เป็นกิมมิกเล็กๆ ให้เด็กเรียนไปด้วย สนุกไปด้วยดีกว่า”

แน่นอนว่าทันทีที่ภาพแบบฝึกหัดดังกล่าวถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์ ย่อมตามมาซึ่งกระแสทั้งด้านบวกและลบ โดยมีทั้งแสดงความเห็นว่าอาจยากเกินไปสำหรับเด็กหรือไม่ บ้างก็เห็นด้วยกับการบูรณาการ ขณะที่ ดร.ชูกิจ กลับมองว่า กระแสที่เกิดขึ้นเป็นด้านดี

“ผมมองว่าเป็นกระแสด้านดีนะ จริงๆ แล้ว ผมเคยไปคุยกับนักภาษา เขาบอกว่าตำราเรียนภาษาไทยของเราเวลาที่มีรูป มีคำบรรยาย บางคำบรรยายที่ไม่ยากเกินไปให้ทำเป็น Pop-up ภาษาอังกฤษด้วยได้ไหม เด็กจะได้รู้ศัพท์ไปพร้อมกัน ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ

ส่วนแบบฝึกหัดตัวนี้ ผมคิดว่าจะมีเด็กที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะมีแอนตี้บ้างว่าเรียนคณิตศาสตร์ต้องรู้ภาษาอังกฤษด้วยเหรอ ซึ่งตรงนี้ที่ทำเนื้อหาหลักคือการฝึกใช้เครื่องคิดเลขเป็น และนำคำตอบมา แต่ถ้าเด็กๆ คนไหนคิดเลขผิด แน่นอนตัวเลขที่ออกมามันจะเป็นคำศัพท์ไม่ได้

ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่ทำให้วิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่อ ผมว่าทุกคนน่าจะมองเป็นบวกครับ ซึ่งผมว่าในแต่ละโรงเรียนเองก็อาจมีเทคนิคที่ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่อในระดับหนึ่งอยู่แล้ว”

 
หยุด “ตีกรอบ” เด็กไทยต้องเชื่อมโยงเป็น!

“คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จริงๆ แล้วสำหรับเด็กที่เข้ามาเรียนไม่ควรถูกตีกรอบว่า เรียนเล่มนี้จะต้องมีแต่คณิตศาสตร์ หรือเรียนเล่มนี้ต้องมีแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้นนะ จริงๆ มันคือเรื่องเดียวกันหมด มันเป็นสิ่งที่เขาต้องเจอในชีวิตประจำวัน”

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือค่านิยมการเรียนที่แข่งขันกันเพื่อให้ได้คะแนนสูงสุด ทว่า ดร.ชูกิจ กลับมองว่าเป้าหมายของการเรียนไม่ใช่เพื่อทำข้อสอบได้ แต่คือทักษะ ประสบการณ์ และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นี่มากกว่าคือสิ่งเด็กไทยควรมีในที่ศตวรรษที่ 21

“ตอนนี้ต้องบอกว่าเวลาที่เราปรับเปลี่ยนแนวคิดกัน เราต้องมองว่ามีเด็กบางคนก็เน้นเรียนเพื่อที่จะทำคะแนนสูงๆ หรือต้องตีกรอบว่าข้อสอบต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ตามกรอบ แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของการเรียน ไม่ใช่เพื่อไปทำข้อสอบได้ แต่เป้าหมายของการเรียนเพื่อให้รู้มากขึ้น เก่งขึ้น มีทักษะขึ้น

ปัจจุบันนี้ความสำคัญที่สุดของการเรียน ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เนื้อหามากๆ แต่เป็นการเรียนที่จะให้เรียนเป็น เพราะความรู้ใหม่ๆ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปการันตีได้ยังไงว่าจบ ม.6 แล้ว ความรู้ที่เรียนจากโรงเรียนมาจะเพียงพอให้เขาใช้งานต่อได้

จริงๆ แล้วทันทีที่เขาจบ ม.6 ความรู้ของเขาก็เริ่มล้าสมัย หรือแม้แต่เราเองทันทีที่ทำหนังสือเสร็จ ความรู้ก็เริ่มล้าสมัยแล้ว และใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าที่หนังสือจะไปถึงมือเด็กๆ บางเรื่องใหม่มากๆ ครูก็อาจสอนผิดๆ ได้เหมือนกัน

 
สำหรับศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องเรียนรู้ที่จะเรียนเองเป็น พอความรู้ใหม่ๆ ออกมา เขาก็ศึกษาต่อได้ ดังนั้น เรื่องหนังสือเรียนที่พยายามกระตุ้นความคิดเด็กให้เด็กเชื่อมโยงได้ หรือการเรียนที่ไม่ได้ตีอยู่ในกรอบว่าแค่เอาไปสอบอย่างเดียว

แต่ผมก็มองว่าหลักสูตรมีความสามารถทำได้แค่ระดับหนึ่ง ส่วนหลักสูตรแบบเดิมๆ ที่ไปตีกรอบเราก็พยายามทลายกำแพงลง ผมเชื่อว่าตัวอย่างนี้แม้จะเป็นแค่กิมมิกเล็กๆ แต่มันจะจุดประกายครูหลายๆ คนที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่นั้น หรือมีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เด็กคิดต่อได้ เรียนแล้วสนุกก็น่าจะเป็นไอเดียให้คุณครูทำต่อได้”

อย่างไรก็ดี ผอ.ชูกิจ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษาด้วยว่า โจทย์คณิตศาสตร์ในหนังสือแบบฝึกหัดตัวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างแนวคิดสร้างสรรค์ให้เด็กไทย ทว่า ความสำคัญคือตัวผู้สอนเองที่จะมีส่วนช่วยสร้างฐานที่แข็งแรงให้เด็กไทยในอนาคตได้

“ผมอยากให้ทางคุณครู หรือผู้ปกครองมองว่า การใส่กิมมิกใหม่ๆ เข้าไปเป็นความพยายามเบื้องต้นที่จะให้เด็กสนุกกับการเรียน และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงว่าจริงๆ แล้วในวิชาต่างๆ มันมีความเกี่ยวข้องกันได้นะ ไม่ใช่เรียนวิชาใครวิชามันแค่นั้น ผมก็อยากฝากให้คุณครูมองในเรื่องการเรียนการสอนให้เป็นองค์รวมมากขึ้นครับ”

ข่าวโดย MGR Live



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น