“ลดการตัดต้นไม้ไปได้ถึง 220,000 ต้น, ลดการใช้น้ำไปได้ 292 ล้านลิตร, ลดการใช้ไฟ 1,000 ล้านวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 299,200 กิโลกรัม”
นี่แหละคือตัวอย่างความสำเร็จของ “ธุรกิจทิชชู่หัวใจสีเขียว” ที่เกิดขึ้นภายในปีเดียว กับการเจาะเบื้องหลังที่จะทำให้รู้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากต้นไม้ ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับธรรมชาติเสมอไป!!
เจาะแบรนด์ทิชชู่รายแรก ที่ใช้ไม้แบบรักษ์โลก
[ชมัยพร เอื้อไพโรจน์กิจ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย และผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค โปรเฟสชันแนล]
“จากการรีไซเคิลวัตถุดิบที่เรานำมาผลิตกระดาษทิชชู่ แค่เฉพาะปี 2018 ที่ผ่านมา เราสามารถลดการตัดไม้ไปได้ถึง 220,000 ต้น, ลดการใช้น้ำไปได้เกือบ 300 ล้านลิตร (292 ล้านลิตร), ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้เกือบ 300,000 กิโลกรัม (299,200 กก.) และสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้ถึง 1,000 ล้านวัตต์
ถ้าจะให้เห็นภาพจริงๆ ก็คือ ลดการใช้ไฟได้เทียบเท่ากับ การเปิดแอร์ไซส์ขนาด 12,000 บีทียู เป็นจำนวน 9 แสนเครื่อง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เทียบเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 1 ล้าน 5 แสนกิโลเมตร ซึ่งถือว่าลดเยอะมากนะคะ
และนี่ก็คือสถิติเพียงส่วนเสี้ยวเดียวในปี 2018 ที่บริษัทในไทยเราจะช่วยได้ ในการลดวัตถุดิบธรรมชาติให้น้อยลง เพราะถ้ารวมกับสถิติของบริษัทแม่ในระดับ global จะมียอดสูงกว่านี้เยอะ”
ชมัยพร เอื้อไพโรจน์กิจ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย และผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค โปรเฟสชันแนล เจาะเบื้องหลังแนวคิดสีเขียวของธุรกิจให้ฟัง ในฐานะผู้นำแบรนด์ผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชู่เจ้าแรกของไทย ที่ได้การรองรับมาตรฐานระดับสากลจาก “สภาพิทักษ์ป่า Forest Stewardship Council™” หรือที่เรียกว่า มาตรฐาน “FSC™”
ทุกวันนี้ สถิติการใช้กระดาษทิชชู่ของคนไทย 70 ล้านคน ตกอยู่ที่ปีละประมาณ “4 กก.” เมื่อนำมาเทียบกับปริมาณต้นไม้ 1 ต้น ที่ผลิตเป็นเยื่อสำหรับทำกระดาษ ซึ่งใช้อยู่ราวๆ “50 กก.” แล้ว หมายความว่าจำนวนการใช้ต้นไม้ เพื่อนำมาทำทิชชู่ของคนไทยทั้งประเทศต่อปี ตกอยู่ที่ “5 ล้าน 6 แสนต้น” เป็นอย่างน้อย!!
และเพื่อไม่ให้ “พื้นที่สีเขียวบนผืนป่าธรรมชาติ” ต้องค่อยๆ หมดไป จากการตอบสนองพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค ธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง “สก็อตต์” และ “คลีเน็กซ์” จึงวางจุดยืนของตัวเองเอาไว้ชัดเจนว่า จะใช้เยื่อไม้จากป่าปลูกที่ได้รับมาตรฐาน FSC™ ซึ่งระบุว่าเป็นไม้จาก “ป่าปลูกที่ได้รับการดูแลอย่างยั่งยืน” เท่านั้น
[กอบรัตน์ สวัสดิวร ผู้ประสานงานโครงการ FSC™ ในลุ่มน้ำโขง]
กอบรัตน์ สวัสดิวร ผู้ประสานงานโครงการ FSC™ ในลุ่มน้ำโขง คือกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ธุรกิจสีเขียวจากแบรนด์รักษ์โลกรายนี้ ให้ความสำคัญและความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมในไทยมานานขนาดไหน อย่างน้อยๆ ก็ตลอดระยะเวลา 53 ปีที่ตั้งรกรากในไทย
“ใครก็ตามที่ทำตามหลักการ 10 ข้อ เกี่ยวกับการปลูกป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานของ FSC™ และผ่านการตรวจสอบแล้ว ก็จะได้โลโก้ไป ถือเป็นกลไกของการให้รางวัลคนทำดี ซึ่งคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ ก็เป็นหนึ่งในผู้ค้า ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำตามกฎเกณฑ์เหล่านี้
ถามว่ากฎเกณฑ์การวัดมาตรฐานตรงนี้ตั้งมาจากไหน ก็มาจาก NGO ต่างๆ รวมถึง WWF (World Wildlife Fund : องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล), Greenpeace, สมาคมชนเผ่า, คนซื้อ-คนขายไม้ ฯลฯ มาจากสมาชิกทั่วโลกเลยค่ะ ที่ทำงานด้านสังคม-สิ่งแวดล้อม
FSC™ เริ่มตั้งขึ้นประมาณสัก 30 กว่าปีที่แล้ว กระทั่งทุกวันนี้ ระดับสากลก็ยังยืนยันว่า เป็นมาตรฐานการจัดการป่าไม้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองและยอมรับว่า สามารถบริหารจัดการให้มันเกิดความหลากหลายในแปลงป่าปลูกได้
คือทุกอย่างที่เป็นส่วนประกอบในแปลง ทั้งคน, สิ่งแวดล้อม, ดิน, น้ำ ฯลฯ เราดูแลหมด ไปจนถึงการใช้ปุ๋ย, การใช้สารเคมี ก็ต้องมีการคุยกันว่า จะสามารถใช้ได้เท่าไหร่ จะลดปริมาณลงได้ไหม ต้องรู้ว่าในแปลงเรามีอะไรอยู่บ้าง และจะบริหารจัดการยังไง ให้มีผลกระทบต่อเพื่อนบ้านน้อยที่สุด
[โลโก้ FSC™ การันตีว่าสินค้านั้นๆ ผลิตจาก “ป่าปลูกที่ได้รับการดูแลอย่างยั่งยืน”]
และจริงๆ แล้วในระดับของ partnership เอง ทางคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ ก็เป็น global partnership ของ FSC™ ด้วยนะคะ คือไม่ใช่แค่บริษัทในประเทศไทยที่ร่วมมือกัน แต่ทำมาแล้วทั่วโลก ซึ่งบริษัทที่ตกลงในระดับโลกแบบนี้ จะมีให้เห็นไม่เยอะ เพราะส่วนมากจะเป็นระดับประเทศมากกว่า
ถามว่ากลุ่มธุรกิจที่ลงมือมาช่วยเรื่องอนุรักษ์ และเข้าร่วมกับ FSC™ จะได้อะไร? คำตอบก็คือนอกจากจะช่วย “ลดความเสี่ยง” แล้ว ยังถือเป็นการ “เพิ่มคุณค่า” ให้ตัวสินค้าด้วย
ถามว่าเป็นการ “ลดความเสี่ยง” ยังไง การที่จะ maintain supply chain ให้มันยั่งยืนได้ ก็คือการที่เราจัดการให้สามารถมีเยื่อไม้ เข้ามาผลิตกระดาษได้ในทุกวันๆ เพราะถ้าไม่สามารถจัดการพื้นที่ป่าปลูกที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดเสถียรภาพได้ สุดท้ายธุรกิจนั้นก็จะตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยง
และจากการที่ FSC™ มีมาตรฐานกำหนดเอาไว้ ยังทำให้มั่นใจได้อีกว่า ป่าปลูกนั้นๆ ต้องไม่มีความขัดแย้งกับชุมชน ต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่อาจจะใช้วิธีต่างๆ นานา เพื่อให้ได้ไม้มา เช่น ยึดพื้นที่-ขับไล่ชาวบ้านออกไป สุดท้ายเมื่อคนในชุมชนไม่ยอมรับ ธุรกิจนั้นๆ ก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ในส่วนของการ “เพิ่มคุณค่า” ให้กับตัวสินค้านั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแล้วค่ะว่า เราจะสื่อสารยังไงให้ผู้บริโภคตระหนักว่า เราลดความเสี่ยงทุกๆ ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อมมาไว้ให้คุณแล้ว”
จับมือคู่ค้า “เก็บแต้ม-แลกพอยต์-บริจาค-ปลูกป่า”
“จากการสำรวจของ World Resources Institute (ในปี 2013) พบว่า ขณะที่เรานั่งคุยๆ กันอยู่ รู้ไหมคะว่าทุกๆ 1.2 วินาที พื้นที่ป่ากำลังหายไป “1 สนามฟุตบอล” คุยๆ กันอยู่นี่คือหายไปแล้ว ถูกเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นหมด ที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า”
นี่คือข้อมูลที่ ผู้ประสานงานโครงการ FSC™ ในลุ่มน้ำโขง ขอฝากทิ้งท้ายเอาไว้ เพื่อชักจูงให้เจ้าของอุตสาหกรรมที่ใช้ป่าไม้ทำผลิตภัณฑ์ หันมาเห็นความจำเป็นของการเข้าร่วมกับองค์กร และเพื่อเตือนใจให้เหล่าคู่ค้าและผู้บริโภค หันมาเลือกสินค้าจาก “ฉลากที่มีโลโก้ FSC™”
“ยกตัวอย่างสินค้าที่ทุกคนต้องซื้อใช้กันอยู่แล้วอย่าง “กระดาษทิชชู่” ก็จะมีเพียงแค่ไม่กี่แบรนด์หรอกค่ะ ที่มีโลโก้นี้ คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ เป็นแบรนด์ใหญ่แบรนด์หลักเลย ที่ลงทุนในการที่จะไปคุยกับชาวบ้านและเกษตรกรว่า ให้ช่วยกันลดสารเคมี ให้เขาจัดการให้ดี ให้ดูแลพื้นที่ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ
อยากบอกว่าส่วนยากๆ ที่เรากำลังพูดถึง ขั้นตอนเรื่องการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม วัดความชันของดิน ดูความสะอาดของน้ำ ฯลฯ เขาทำมาให้หมดแล้ว เหลือแค่ผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่แหละค่ะ ที่ต้องเดินไปที่ shelf แล้วพลิกดูสินค้าเหล่านั้นว่า มีโลโก้ FSC™ หรือเปล่า”
[โปรเจกต์ “Easy Choice To Save The World” ผุดไอเดีย เก็บพอยต์แปลงเป็นการบริจาค ปลูกป่าอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน]
เพื่อแทนคำขอบคุณและคำชื่นชม ที่ต้องการมอบให้แก่ “คู่ค้า” ผู้ร่วมสนับสนุน “สินค้า FSC™” ทางธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ จึงคอยนับแต้มจากยอดซื้อตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แล้วนำมาคำนวณให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า แต่ละบริษัทช่วยลดโลกร้อนไปได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งยังมอบ “เกียรติบัตรรับรอง” ให้ได้รู้สึกภาคภูมิใจกันทั้งองค์กร
โดยเฉพาะโปรเจกต์ “Easy Choice To Save The World” ที่เพิ่งผุดไอเดียใหม่ขึ้นมา ให้เริ่มใช้และวัดผลกันได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีนี้ โดยเซตระบบเอาไว้ชัดเจนเลยว่า จะนับ “1 พอยต์” จากยอดซื้อในทุกๆ “100 ลัง” เพื่อผันไปเป็น “ป่าอุตสาหกรรม 1 ต้น” ที่ทางคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ จะบริจาคเงินช่วยเหลือให้ “องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)” เอาไปปลูกภายใต้มาตรฐาน FSC™
“จากแบบเดิมที่เอาหยิบตัวเลข มาผันเป็นค่าพลังงานที่คู่ค้าแต่ละรายมองเห็นว่า พวกเขาช่วยลดโลกร้อนไปได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี จากนั้นก็แจกเกียรติบัตรรับรองให้ แล้วจบเพียงเท่านั้น
แต่ปีนี้เราเพิ่มเติมเรื่องการนับพอยต์เข้าไปด้วยค่ะ หยิบยอดขายมาแปลงเป็นคะแนน ที่เรียกว่า “Sustainable Forest Point” เพื่อต่อยอดให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
สมมติว่าทางบริษัทของคุณเก็บพอยต์ได้ทั้งหมด แปลงเป็นการบริจาคเท่ากับการปลูก 20,000 ต้น หรือได้จำนวนเยอะๆ ทาง ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เขาก็จะทำเป็นแปลงแยกเอาไว้ให้เลย
จะได้เห็นว่าบริษัทไหนปลูกได้กี่ต้น สูงเท่าไหร่แล้ว ให้ออกซิเจนออกมาเทียบเป็นพลังงานเท่าไหร่ อีกกี่ปีถึงจะตัด ฯลฯ ทุกอย่างสามารถดูความคืบหน้าผ่านแอปฯ ได้เลย
พอขั้นตอนดูจับต้องได้ขึ้นมาแบบนี้ คนก็จะรู้สึกว่ามันใกล้ตัว ซึ่งจะทำให้แต่ละองค์กรเกิดความภาคภูมิใจในกระบวนการนี้ ไม่ใช่ว่าออกเงินให้ไปรณรงค์ปลูกป่าเสร็จ แต่ผลออกมากลับวัดอะไรไม่ได้เลย และทางเราเองก็จะได้รู้สึกว่าเรามีส่วนช่วยสนับสนุนแล้วจริงๆ โดยที่อาจจะไม่ต้องลงไปทำเอง แต่มีหน่วยงานมืออาชีพลงไปดูแลให้
โดยครั้งนี้เป็นงานระหว่าง B2B (Business To Business) ที่เราชวนคู่ค้ามาหารือร่วมกัน แต่ยังไม่กล้าบอกค่ะว่า จำนวนต้นไม้ที่บริจาคปีนี้ จะได้ยอดเท่าไหร่ คงต้องดูผลตอบรับจากวันนี้เป็นต้นไป
แต่เราก็มีความหวังค่ะว่า วันนี้คู่ค้าของเราจะช่วยเป็นกระบอกเสียง ให้กับธุรกิจข้างเคียง หรือธุรกิจลูกโซ่ของเขา ได้ตระหนักรู้ร่วมกัน พอร่วมไม้ร่วมมือกันหลายๆ แรง มันจะมี multiplier effect ขึ้นมาเอง”
ส่วนที่มาของชื่อโปรเจกต์ “Easy Choice To Save The World” นั้น ก็มีต้นคิดมาจากการมองว่า การช่วยสนับสนุนสินค้า FSC™ นั้นเป็นเรื่องที่ “เลือกทำได้ง่ายๆ” คือแค่พลิกอ่านฉลากสินค้า และมองหาโลโก้ FSC™ ก็เท่ากับได้ช่วยรักษาป่าธรรมชาติเอาไว้แล้ว
“ทุกคนไม่ต้องไปทำขั้นตอนยากๆ หรือไม่ต้องถึงกับต้องออกไปปลูกป่าเลยค่ะ ถ้าคิดจะอนุรักษ์ เพียงแค่ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์-ซื้อสินค้า ช่วยหงายฉลากดูนิดนึง แค่สนับสนุนสินค้าที่มีโลโก้ FSC™ ซึ่งเขามีกระบวนการการกลั่นกรอง ช่วยเหลือธรรมชาติกันอยู่แล้ว
เราแค่สนับสนุนการใช้สินค้าพวกนั้น ก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญ ในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยที่ไม่ต้องไปถึงต้นน้ำ เพราะต้นน้ำเราทำต่อเนื่องเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้บริโภคแค่ดูโลโก้ FSC™ ก็ถือว่าช่วยได้เยอะแล้วค่ะ”
ถ้าเราไม่นำ แล้วใครจะทำ
แรงกระเพื่อมจากการรณรงค์ให้ผู้บริโภคร่วมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยการพลิกดูโลโก้ FSC™ ที่ฉลากสินค้าทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อนั้น ไม่ได้ให้ผลบวกต่อ “พื้นที่สีเขียว” ให้ถูกใช้อย่างยั่งยืนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลพวงมาถึงตลาดอุตสาหกรรมทั้งระบบ ให้กลายเป็น “อุตสาหกรรมสีเขียว” ได้ในระยะยาวด้วยในอนาคต
“ถ้าทุกคนเริ่มตระหนักว่า ก่อนจะซื้อสินค้า ควรพลิกดูฉลากสักนิดนึงว่ามีโลโก้ FSC™ ไหม ก็จะถือเป็นการกดดันผู้ค้ารายอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในครรลองนี้ได้เหมือนกัน เป็นการกดดันกลุ่มที่เล่นนอกเกม หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการแบบนี้แล้วนะ
เพราะฉะนั้น คุณจะใช้วิธีฉาบฉวย เอาถูก เอาง่ายเข้าว่าไม่ได้ เหมือนเป็นการบีบทางอ้อมว่า ถ้าผู้บริโภคต้องการ green product ผู้ผลิตก็ต้องทำตาม สุดท้ายก็จะถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นด้วย
[นอกจากจะเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองจาก FSC™ แล้ว ที่นี่ยังใช้เยื่อไม้รีไซเคิล ย่อยสลายได้ด้วย]
จากการสำรวจของ FSC™ เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลออกมาว่ามีถึง 83 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า ฝากความหวังไว้ให้ผู้ผลิตเป็นคนไปจัดการมาให้เสร็จสรรพ แล้วให้ผู้บริโภคมีหน้าที่ซื้ออย่างเดียว
คำถามที่ตามมาก็คือ คุณพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับ green product ไหม? คำตอบจากการสำรวจก็คือ เหลืออยู่ 66 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อม มองในแง่ดี เราก็คิดกันว่าอย่างน้อยก็มีคนสนใจเกินครึ่ง ซึ่งยังถือเป็นสัญญาณที่ดีอยู่
และผลตอบรับตรงนี้ก็ทำให้เรามองเห็นชัดขึ้นว่า เราจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยังไงได้บ้าง และในฐานะที่เป็น market leader เราจะทำยังไงได้บ้าง ที่จะกระตุ้นกระแสเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าต้องช่วยกันรับผิดชอบ”
[แผนการจัดการอย่างยั่งยืน 2022 (Sustainability 2022) ที่ทางธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ ตั้งเป้าเอาไว้]
ตลอดเส้นทางที่พยายามกรุยทางให้แก่ “อุตสาหกรรมสีเขียว” ได้มีรากฐานที่มั่นคง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย ธุรกิจคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ บอกตรงๆ ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยท้อถอยกับภาวะที่เป็นอยู่ ด้วยฐานะผู้นำแบรนด์ผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชู่รายแรกของไทยที่ได้การรับรองมาตรฐาน FSC™ ที่ทำให้รำลึกไว้เสมอว่า จำเป็นต้องทำเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
“ถ้าธุรกิจเราจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ โลกต้องอยู่ได้ เพราะถ้าเราคิดแต่จะใช้ธรรมชาติ ทำลายป่าหมด จนโลกใบนี้อยู่ไม่ได้ ถามว่าสุดท้ายแล้ว ธุรกิจของเราจะอยู่รอดได้ยังไง มันก็ไปต่อไม่ได้จริงไหมคะ เพราะทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ที่ต้องเกื้อกูลกัน
ด้วยความที่เราเป็นบริษัท market leader เราก็ต้องเลือกที่จะทำ แม้จะต้องเจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราไม่เป็นคนกรุยทางในเส้นทางนี้ มันก็ไม่มีใครวิ่งตามมาได้
ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเป็นผู้นำ ทำให้ดูก่อน และสามารถชักชวนคู่ค้าเรามาร่วมด้วยได้ ทุกคนไปในกระแสนี้ ท้ายที่สุดกลไกการตลาดก็จะสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเอง
โครงการรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองไทย หลายๆ ครั้งเราจะเห็นทำกันในระยะสั้นๆ แล้วจบไป ซึ่งมันก็อาจจะไม่ค่อยได้ผลนัก เราเลยเน้น “ความยั่งยืน” เป็นหลักค่ะ ต้องทำในระยะยาว
เพราะเขาบอกว่าเวลาเราจะสร้างสุขนิสัยอะไรขึ้นมาใหม่สักอย่างนึง เราต้องทำติดต่อกันเป็นเวลา 21 วันเป็นอย่างน้อย มันถึงจะติดเป็นนิสัย แล้ววันที่ 22 เราจะทำมันได้อย่างอัตโนมัติเลย เช่นเดียวกัน การรงค์พวกนี้ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องเหมือนกันค่ะ
จากการที่เราเป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยได้ 50 กว่าปีแล้ว ซึ่งเราก็คิดว่าเราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ และในเมื่อเราได้กำไรจากประเทศที่เรามาอยู่ เราก็ต้องคืนสังคม และถือเป็นการต่อยอดให้แก่อนาคตด้วย เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานเรายังมีธรรมชาติเอาไว้พึ่งพิงได้
ต้องยอมรับว่าบางอย่างก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนทางธุรกิจ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ความตระหนักรู้ เราจึงต้องเจียดต้นทุนส่วนนี้ลงไป ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครยอมทำเลย เพราะทุกคนลงทุนแล้วก็ต้องการผลตอบแทนทั้งนั้น แต่เรามองว่าบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องคืนทุนเป็นจำนวนเงิน แต่ให้ผลมาในเชิงความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราต้องทำควบคู่กันไป
และเราก็คิดว่ามันคุ้มนะคะ ถ้าผลที่พยายามทำไป ทำให้ประชากรของเรามีความรู้ที่เพิ่มขึ้น มันคุ้มในระยะยาว แต่มันอาจจะไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ถ้าเราคิดแบบสั้นๆ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีอะไรที่ยั่งยืน
อยากให้หลายๆ ภาคส่วนเข้าใจตรงกันว่า จริงๆ แล้วการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติหรือต้นไม้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หรือไม่ใช่เรื่องผิดเลย ถ้ามาจากการจัดการต้นไม้เหล่านั้นอย่างถูกต้อง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องการรักษาป่า การปลูกป่า และการใช้ป่าอย่างยั่งยืน นั่นต่างหากค่ะถึงเป็นเรื่องร้ายแรงมากต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าใจค่ะว่า “ไม่ได้ผิดเลย ถ้าจะใช้ป่า” แค่ต้องใช้ให้ถูกต้อง และรู้จักการดูแลเพื่อคืนกลับ ให้ใช้ไปได้อย่างยั่งยืน นั่นแหละค่ะที่เรื่องที่สำคัญ”
“แพงกว่า” แต่ “คุ้มกว่า” ท้าให้ลอง!! เท่าที่ได้คุยกับคู่ค้าที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะซื้อสินค้าเรา เขาก็บอกว่าเขารู้นะคะว่าสินค้าของ คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคฯ ดี และได้มาตรฐาน แต่เขาจะต้องประหยัด ซึ่งเราก็เข้าใจได้ แต่เราก็บอกเขาว่า ลองคิด total cost ดู จริงๆ แล้วราคาสินค้าเราต่อม้วนอาจจะแพงกว่า แต่ถ้าดูรายละเอียดจริงๆ จะเห็นว่า จำนวนการใช้ต่อแผ่นของเราน้อยกว่า อย่างทิชชู่ในห้องน้ำ เราใช้แค่ 1 มือสาวก็จบแล้ว แต่ของคู่แข่งรายอื่นๆ อาจจะต้องหมุนอีกไม่รู้กี่สาวเพราะมันบาง เราก็บอกเขาว่า คุณอาจจะเห็นราคาต่อม้วนอาจจะถูก แต่ถ้าลองใช้สินค้าเราสัก 1 เดือน เทียบกับทิชชู่อีกยี่ห้อที่เคยใช้ แล้วจะเห็นว่าจำนวนม้วนต่อเดือนของเราใช้น้อยกว่า แล้วก็ประหยัดกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในระหว่างนั้น เราก็ต้องรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรมด้วยนะคะ เพราะไม่อย่างนั้น คนใช้ก็จะสาวเท่าเดิม เพราะเขาคิดว่าทิชชู่บางเท่าเดิม และถ้าเทียบกันจริงๆ แล้ว การที่คู่ค้าไม่เลือกใช้สินค้า FSC™ เขาอาจจะประหยัดกว่าเดิมไปได้นิดนึง คืออาจจะถูกลง 10 บาทต่อกล่อง แต่เบื้องหลังของบริษัทที่เขาไปช่วยซื้อเหล่านั้น เขาไม่รู้หรอกค่ะว่า บริษัทนั้นไปตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตเท่าไหร่ เพราะเขาไม่ได้ใช้ป่าปลูก หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างยั่งยืน แน่นอนค่ะว่าเรื่องต้นทุนที่มาจากกระบวนการตรงนี้ มันก็มีส่วนที่ต้องใช้อยู่ จึงทำให้ราคาของเราอาจจะแพงกว่าตามท้องตลาดนิดนึง แต่ก็อยากให้เข้าใจนะคะ เพราะถ้าเราไม่ช่วยกัน ต่อไปในวันข้างหน้า ป่าก็คงจะไม่เหลือ |
[คู่ค้าที่เห็นความสำคัญของ "ธุรกิจสีเขียว"]
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Kimberly-Clark Professional Thailand"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **