น้ำจิ้มซีฟูด-เครื่องต้มยำพร้อม! แชร์สนั่น นักตกปลาชำแหละ “ปลาช่อนอเมซอน” เตรียมทำอาหาร หวังลดจำนวนเอเลียนสปีชีส์ ตัวการทำลายระบบนิเวศ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด เผยแต่ละปีพบปลาต่างถิ่นถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นพันล้านตัว แนะเจอเมื่อไหร่จับกินให้เรียบ ส่วนคนปล่อยเสี่ยงโทษทั้งจำทั้งปรับ!!
ชวนเปิบเมนูเอเลียนสปีชีส์ #RIP ปลาช่อนอเมซอน
“ปลาช่อนอเมซอนตัวใหญ่ๆ แนะนำว่าถ้าเจอและจับได้ก็เอามาบริโภคได้เลยครับ ส่วนปลาช่อนอเมซอนตัวเล็กๆ สามารถเอามาเลี้ยงสวยงามได้เหมือนกัน”
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live จากกรณีที่โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพที่โพสต์โดยเพจ “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” เผยให้เห็นการขอดเกล็ดและชำแหละ “ปลาช่อนอเมซอน” อย่างขะมักเขม้น จากกลุ่มนักตกปลากลุ่มหนึ่ง เพื่อเตรียมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ต่างถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “เอเลียนสปีชีส์” ที่ทำลายระบบนิเวศของประเทศไทย
ในโพสต์ดังกล่าวระบุได้ข้อความ “ชื่นชมค่ะ ไม่ได้ประชดนะ ชื่นชมจริงๆ อิชั้นแฝงตัวเงียบๆ ในกลุ่มตกปลา และพบว่าช่วงหลังๆ คนตกปลามีแนวคิด ถ้าตกได้เอเลียนสปีชีส์ไม่ปล่อยคืน และถ้าตัวไหนทำอะไรอร่อยก็จะแนะนำกันเต็มที่ ตรงนี้เป็นการส่งเสริมที่ดี และจะดีกว่านี้ถ้าคนเลี้ยงการุณยฆาต หรือดูแลจนจบอายุขัย ไม่ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ที่น่าเศร้าคือ เหล่านักตกปลาตกได้เอเลียนฯ จากแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้นมากๆ”
เช่นเดียวกับทางด้านของ ดร.ชวลิต ที่กล่าวว่า การกระทำของนักตกปลากลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากปลาช่อนอเมซอนเป็นปลาต่างถิ่นที่มีอุปนิสัยเป็นนักล่า เมื่อเจอตามแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นนี้ ย่อมเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่างแน่นอน
ดร.ชวลิต วิทยานนท์
“ปลาช่อนอเมซอนจะมีรูปร่างคล้ายปลาช่อน แต่ไม่ได้เป็นพวกปลาช่อนครับ มันเป็นปลาของทางอเมริกาใต้ เข้ามาในบ้านเราจากการที่มีคนเอามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเป็น 10 ปีแล้วครับ เมื่อก่อนมันเป็นปลาราคาแพง แต่ว่าอาจจะมีช่วงน้ำท่วม หรือว่าคนอาจจะเลี้ยงแล้วเบื่อ เลยปล่อยลงแหล่งน้ำไป
เรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศนี้ มีแน่นอนครับ เพราะมันเป็นปลาที่อายุยืน และตำแหน่งในห่วงโซ่อาหารจะอยู่ด้านบนสุดเลยครับ เป็นพวกนักล่าหรือผู้ล่า มันจะไปกินปลาพื้นเมือง ปลาท้องถิ่นของเราที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งจะทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลง หรือเสียสมดุลไปครับ แต่จุดหนึ่งก็คือมันมีไม่เยอะและมีขนาดใหญ่ จึงถูกจับได้ง่าย และถ้าจับได้ก็เอามากินก็ไม่ผิดอะไรครับ”
ทั้งนี้ ด้านความคิดเห็นบนโลกโซเชียลก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับโพสต์ต้นทาง นอกจากนี้ หลายความคิดเห็นได้ร่วมแชร์เมนูอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลาช่อนอเมซอนย่างเกลือ ต้มยำปลาช่อนอเมซอน ผัดเผ็ดปลาช่อนอเมซอน ฯลฯ พร้อมกับทิ้งท้ายถึงเหล่าเอเลียนสปีชีส์อีกด้วยว่า พลาดแล้วที่หลงเข้ามาในดินแดนที่มีน้ำจิ้มซีฟูด เครื่องต้มยำ และพริกแกงนานาชนิดอย่างประเทศไทย
สำหรับสัตว์เอเลียนสปีชีส์ชนิดนี้นั้น เมื่อช่วงต้นปีทีผ่านมาก็พูดถึงบนโลกโซเชียลจากคลิปเหตุการณ์ การปล่อยปลาช่อนอเมซอนตัวเขื่องลงหนองน้ำ ในสวนสาธารณะหนองกระทิง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะและเป็นที่ขยายเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดของจังหวัดลำปาง โดยผู้ปล่อยอ้างว่า “เป็นการทำบุญ” ขณะนั้นคลิปดังกล่าวก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเป็นอย่างมาก
ร้อนไปถึงประมงจังหวัดลำปาง ต้องจัดเจ้าหน้าที่มาจับปลาตัวดังกล่าวออกไป พร้อมกับขึ้นป้ายเตือนระบุข้อความ “ห้ามนำเอเลียนสปีชีส์ หรือปลาต่างถิ่น เช่น ปลาช่อนอเมซอน ปลาดุกแอฟริกา หรือปลาดุกรัสเซีย ปลาซัคเกอร์ ปลากดเกราะ หรือปลาเทศบาล ปลาหมอสีคางดำ กุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครฟิช ปล่อยลงในแหล่งน้ำหนองกระทิง” ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศและกินสัตว์น้ำธรรมชาติที่มีอยู่จนหมด
ปล่อยเอเลียนสปีชีส์ “หวิดคุก-ปรับเป็นล้าน”!!
สำหรับสถานการณ์ปัญหาปลาสายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามารุกรานนั้น ดร.ชวลิต กล่าวต่อไปว่า ไม่เพียงแค่ปลาช่อนอเมซอนเท่านั้น ยังมีปลาและสัตว์น้ำต่างถิ่นอีกมากมาย อย่างกุ้งน้ำจืดจากออสเตรเลีย หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกแอฟริกา ฯลฯ
ที่ผ่านมา แม้จะมีการกำจัดและรณรงค์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่วายมีคนมักง่ายผลักภาระตัวเองพอให้พ้นๆ ตัว ประกอบกับความเชื่อเรื่องการทำบุญปล่อยปลาที่ผิดๆ จึงทำให้เอเลียนสปีชีส์กลายเป็นการสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจในเรื่องของราคาตลาดอย่างมากในตอนนี้
หอยเชอรี่และปลาซัคเกอร์ ศัตรูตัวฉกาจของระบบนิเวศ
“ปัจจุบัน เราพบเอเลียนสปีชีส์หลายชนิดมากขึ้นครับ เพราะมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์สวยงามกันเยอะขึ้น อย่างกุ้งบางชนิดของทางออสเตรเลีย ที่บอกว่าเป็นล็อบสเตอร์น้ำจืดเลย ถูกนำเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม ทั้งเป็นกุ้งสวยงามด้วย และก็เลี้ยงเป็นอาหารด้วย ว่ากันว่าเป็นกุ้งราคาดีอะไรพวกนี้ เลยมาทำตลาดกัน
แต่ไปๆ มาๆ กุ้งน้ำจืดชนิดนี้ราคามันตก เขาก็เลยทิ้งลงแหล่งน้ำครับ เราก็พบว่ามันป็นเอเลียน เพราะเริ่มไปแย่งที่ของกุ้งพื้นเมือง ปูพื้นเมืองของเรา แต่ว่าผลกระทบมันยังไม่ชัดเจนเท่าหอยเชอรี่นะ ซึ่งหอยเชอรี่กับปลาซัคเกอร์เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศบ้านเราที่สุด
ปลาหมอสีคางดำ
สัตว์ต่างถิ่นหลายๆ ชนิด ที่เข้ามาเมืองไทยด้วยสาเหตุหลักๆ คือ คนนำมาเลี้ยง พอลดความนิยมก็นำมาปล่อย อย่างปลาซัคเกอร์จะถูกนำมาปล่อยโดยอ้างว่าสะเดาะเคราะห์ เป็นปลาราหูแบบนั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดมาก และมันก็ไม่เป็นผลดีครับ อาจจะผิดกฎหมายด้วย
และยังมีปลาดุกลูกผสม ปลาดุกแอฟริกัน มีคนเอามาเลี้ยงเพื่อบริโภค แต่ว่าเนื้อมันไม่อร่อยเท่าปลาดุกพันธุ์พื้นเมืองของเรา แถมยังเพาะง่าย เลี้ยงโตเร็ว ราคาถูก คนก็เลยชอบนำปลาดุกลูกผสมนี้มาปล่อยแทนการปล่อยปลาดุกและปลาช่อนอย่างเมื่อก่อน เพราะราคาถูกกว่า ในปีๆ หนึ่งก็พบปลาเหล่านี้หลายพันล้านตัวที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้มันมาแทนที่ แย่งที่อยู่ แย่งอาหารปลาดุกพื้นเมืองที่คุณภาพดีและราคาดีกว่า อย่างปลาดุกด้าน และปลาดุกอุย และมันก็จะหายากมากขึ้นครับ”
ที่มา : กรมประมง
ทั้งนี้ กรมประมง ได้ขอความร่วมมือหากใครครอบครองสัตว์ต่างถิ่นที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงต่อ ให้นําส่งมอบให้หน่วยงานของกรมประมง อย่าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย ตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง 2558 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืน ลักลอบนำปลาต่างถิ่น อย่าง ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“เอเลียนสปีชีส์หลายชนิดถ้าจับแล้วสามารถนำมากินได้ กรณีของปลาซัคเกอร์ เนื้อมันอาจจะมีน้อยหรือว่าคนอาจจะไม่ชอบกิน ก็นำมาทำปุ๋ยได้ และข้อแนะนำของกรมประมงอยู่นะครับ ถ้าจะปล่อยปลาทำบุญ ก็ควรปล่อยปลาไทยแท้ๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาดุกอุยพื้นเมือง หรือสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์พื้นเมือง เพราะสามารถปล่อยลงแหล่งน้ำได้โดยที่ไม่มีผลกระทบครับ” ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดทิ้งท้าย
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” , “Chavalit Vidthayanon” และ wikipedia
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **