xs
xsm
sm
md
lg

“ความผูกพันของผมกับป๋าคือเสียงเพลง” ชีวิตนักดนตรีสายเลือด “ติณสูลานนท์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ชีวิตที่เหลือมีอยู่ 2 อย่างคือ พระเจ้าอยู่หัวและดนตรี” คำรำพึงของทหารกล้าขุนศึกคู่บัลลังก์ผู้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ประโยคที่กลั่นจากความรักต่อเสียงเพลงและความรักในสถาบันยิ่งชีพของรัฐบุรุษผู้นี้ ความสามารถด้านดนตรีส่งผ่านสายเลือดสู่หลานชายผู้หลงใหลในดนตรีคลาสสิก

ดนตรี…สื่อกลางความผูกพัน

“ความผูกพันระหว่างผมกับป๋าคือ “ดนตรี” ท่านเป็นผู้สนับสนุนหลักที่ทำให้ผมเรียนดนตรี ผมเรียนจบดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เพราะท่าน”

ต้อม-จตุรวิทย์ ติณสูลานนท์ หลานชายวัย 24 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี เล่าถึงคุณปู่ด้วยความซาบซึ้งใจผู้มอบโอกาสด้านดนตรีให้เขา

“ผมพูดจริงๆ ผมจบได้เพราะท่าน เป็นบุญคุณอันสูงสุดของผม”

ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยท่านเดินมาถามว่า จะจบ ม.6 แล้ว เห็นชอบดนตรี จะเรียนที่ไหน เพราะผมก็เล่นเครื่องเป่า “เฟรนช์ฮอร์น” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ค่อยมีคนเล่น แต่ท่านก็สนับสนุนตลอดจนจบการศึกษา

สำหรับผม “โอกาส” สำคัญมาก ตั้งแต่เด็กยันโต ท่านก็เป็นคนสนับสนุนโอกาสผมมาตลอด ผมเลยคิดว่า พอโตขึ้นผมก็ต้องให้โอกาสคนอื่นบ้าง วันหนึ่งเรามีโอกาสเยอะ ก็ต้องแบ่งให้คนอื่นบ้าง ความคิดแบบนี้คือสิ่งที่ผมได้จากท่าน”
ปัจจุบันนี้เขาเรียนระดับปริญญาโทด้านดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า พร้อมมอบโอกาสให้แก่คนที่สนใจดนตรีเช่นเดียวกับเขา

“ทุกวันนี้ผมทำบุญนะ ผมทำการศึกษา ผมเชื่อว่าท่านก็ทำเพื่อการศึกษา เพราะท่านไม่ได้ให้ “ปลา” แต่ท่านให้ “เบ็ด” ไปตกปลาเอาเอง ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมเลยรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านให้ผมทุกวันนื้คือการศึกษา ดังนั้น หากผมมีโอกาสผมจะให้การศึกษา นี่คือสิ่งที่ผมได้


ผมเริ่มสนใจดนตรีตอนชั้นประถม 4 ผมเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ ผมไปสมัครวงโยธวาทิต มาสเตอร์ก็ถามผมว่า อยากเล่นอะไร ผมก็บอกไม่รู้ อะไรก็ได้ที่เป่าๆ เขาก็ให้เรายิงฟัน จากนั้นก็บอกว่า งั้นไปเล่นฮอร์น ที่ชอบเครื่องเป่า เพราะรู้สึกว่า มันเท่ดี

กระทั่งอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 ผมเคยคิดอยากจะเลิกเป่าฮอร์นไปเรียนคอนดักเตอร์ กะว่าเรียนจบแล้วไปต่อโทคอนดักติ้ง แต่สุดท้ายสักพักผมไปเจอเรคคอร์ดิ้งของอาจารย์ชาวสวิสฯ ท่านหนึ่งที่เคยมาเมืองไทย เพราะมาก อยากเรียนกับเขา จึงกลับมาโฟกัสที่ฮอร์นตามเดิม และก็ตั้งใจไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์เพราะอาจารย์ท่านนี้ อยากเป็นอาจารย์สอนดนตรี”

พรของป๋า “รักษาเกียรติ” ให้มั่น

“คือท่านเป็นน้องชายของปู่ผม ถ้าเรียกไทยๆก็ประมาณปู่เล็ก ความทรงจำในวัยเด็กของผมที่มีต่อท่านนั้น มักจะเจอท่านทุกปีใหม่ หรือวันเกิด อย่างสงกรานต์ก็จะมีการทำบุญกระดูกของตระกูลติณสูลานนท์ ที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เราก็จะเจอป๋า” ความทรงจำในวัยเด็กของเขาที่มีต่อคุณปู่เปรมฉายชัดขึ้น

“จะเป็นการมีทติ้งรวมญาติประจำปี ทว่า หลังๆ มานี้ก็จะเปลี่ยนมาทำบุญกันที่กรุงเทพฯ และตามธรรมเนียมที่บ้านเวลาไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับเสร็จแล้ว ก็จะไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์กัน แต่ละครอบครัวก็จะนำพวงมาลัยมอบให้ป๋าและญาติผู้ใหญ่ ท่านก็จะถาม เรียนไหน ทำอะไรอยู่ จากนั้นก็ให้พรลูกหลาน

ใจความสำคัญของพรนั้น ผมจำได้ว่าทุกครั้งที่ท่านพูด จะมีประโยคที่เป็นเหมือนคีย์เวิร์ด คือคำว่า “รักษาเกียรติ” ผมว่าท่านเน้นคำนี้มาก รักษาเกียรติของตนเอง รักษาเกียรติของครอบครัว รักษาเกียรติของวงศ์ตระกูล รักษาเกียรติของประเทศ ท่านจะโฟกัสเรื่องนี้มาก

ก่อนผมจะไปเรียนต่างประเทศ 2 ปีที่แล้วผมจะเข้าไปกราบขอพรก่อนไปเรียน แต่ท่านไม่สะดวก และฝากข้อความมาว่า “ให้ทำตัวเป็นคนดี วางตัวให้ดี รักษาเกียรติของตน ของตระกูล ของประเทศไทย ตั้งใจเรียน ไม่ใช่ไปเที่ยว” ผมรู้สึกว่าท่านจะเน้นคำว่าเกียรติมาก

สำหรับลักษณะนิสัยคาแรกเตอร์ของท่านก็จะเป็นคนสุขุม นิ่ง ใจเย็น หากเราพูดอะไรอยู่สักอย่าง ท่านจะไม่ใช่คนที่พูดพรวดออกมาเลย ท่านจะคิดแล้วก็พูด และคำพูดที่ออกมาเราฟังก็รู้ว่าออกมาจากกระบวนการไตร่ตรองแล้ว ผมรู้สึกว่าท่านเป็นคนที่ พอคิดถึงแล้ว “เย็น” มองท่านแล้วรู้สึกเย็น

ผมคิดว่าท่านมีบางอย่างที่คล้าย เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ในบางมุม วิธีการคิด นิ่ง ไม่เยอะ สุขุม ละเอียดมาก

สิ่งที่ผมพยายามจะทำให้เหมือนท่านได้คือความนิ่ง ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรที่เกินควบคุมท่านก็จะนิ่ง สุขุม”

สุภาพบุรุษ ผู้รักเสียงเพลง

“ดนตรีทำให้ผมมีความสุข แต่ผมจะสุขที่สุด ถ้าดนตรีสามารถส่งผลดีต่อแผ่นดิน” เป็นประโยคที่รัฐบุรุษของชาติได้เคยพูดถึงความสุขที่ได้รับจากดนตรี

“ท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการดนตรีเมืองไทยมาก ทำให้ดนตรีค่อนข้างเฟื่องฟูในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านรักดนตรีมาก หลังท่านเสีย วงการดนตรีสั่นสะเทือนนะ

เป็นความสูญเสียของวงการดนตรีเลย เพราะดนตรี และศิลปะ ในเมืองไทยยังมีการ Support ไม่เยอะ ผมรู้สึกซาบซึ้งมาก ที่ท่านในฐานะผู้ใหญ่ของประเทศให้การสนับสนุนดนตรีขนาดนี้” ต้อมพูดผ่านความรู้สึกของนักดนตรี

พล.อ.เปรม มีความสนใจด้านดนตรีมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่วงบั้นปลายชีวิตตั้งแต่วัย 80 ปี จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นดนตรีและแต่งเพลง เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง

ความหลงใหลในเสียงเพลงเห็นได้จากการประพันธ์เพลงไว้เป็นจำนวนมากกว่า 150 เพลง โดยมีผลงาน 157 เพลง ถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือ “บทประพันธ์เพลง รัฐบุรุษศิลปิน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” และท่านยังเคยร้องเพลงออกอัลบั้มมาแล้วด้วย

นอกจากความสามารถด้านการประพันธ์เพลงแล้วท่านยังสามารถเล่นเปียโน จนสามารถเล่นเดี่ยวเปียโน กับวงออร์เคสตร้าบนเวทีคอนเสิร์ตได้อย่างไหลลื่น

“ผมเคยเล่นดนตรีให้ท่านฟัง ไปเล่นกันเป็นวงเลย เป็นเครื่องดนตรีฮอร์นหมดเลย แต่ท่านก็ยังติดตลกนะ ว่ายังไงก็ชอบเปียโน

ท่านเริ่มมาเรียนดนตรีตอนอายุเยอะแล้ว เรียนเปียโน ท่านชื่นชอบด้านดนตรีมานานแล้ว แต่ด้วยภาระ การงาน จึงทำให้ท่านเพิ่งเริ่มมาฝึกจริงจังในวัยนี้”หลานชาย เล่าถึงความรักเสียงเพลงของคุณปู่

ป๋าไปดูคอนเสิร์ตบ่อย อ.สุกรี เจริญสุข อดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มักจะเชิญท่านไป เพราะท่านรู้ว่าป๋าชอบเปียโน เวลามีคอนเสิร์ตที่เป็นวงโซโล่ แล้วก็มีโซโล่เป็นเปียโน ป๋าก็จะขึ้นไปเล่น”

ดั่งเช่นข้อความไว้อาลัยของ อ.สุกรี ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการจากไปของสุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลง ที่มีความสุขเหลือล้นเมื่อได้แต่งเพลง และยิ่งมีผู้นำเพลงของท่านไปแสดงยิ่งสุขทวีคูณ

“บทเพลงของท่าน ถูกนำไปเล่นโดยศิลปินอื่น วงดนตรีอื่นๆ และตัวท่านเองก็หันมาร้องเพลงของตัวเองมากขึ้น ดูเหมือนว่าความสุขที่ได้แต่งเพลง ความสุขที่ได้ร้องเพลงของตัวเอง เป็นความสุขเท่าทวีคูณ การที่วงดนตรีกองดุริยางค์ทหารนำบทเพลงของท่านไปแสดง ศิลปินหลายคนได้นำเพลงของท่านไปแสดง นำบทเพลงไปเผยแพร่ ทำให้ผู้แต่งเพลงมีความสุขมาก วันหนึ่งท่านได้รำพึงว่า

“ชีวิตที่เหลือมีอยู่ 2 อย่างคือ พระเจ้าอยู่หัวและดนตรี”

ใช้ชีวิตให้มันง่าย….ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ

ตระกูล “ติณสูลานนท์” รักสถาบันเหนือสิ่งอื่นใด ปลื้มปีติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ดนตรี

“ตอนอยู่สวิตเซอร์แลนด์ผมก็ไปเที่ยวเมืองโลซานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ อยู่ ท่านทรงอยู่เมื่อครั้งพระเยาว์ ผมเคยเอาวิดีโอที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านพูดภาษาฝรั่งเศส ให้เพื่อนฝรั่งดู เขาก็ตกใจกันว่า ทำไมท่านพูดได้ พูดได้ดีด้วย 

เสียดายที่เกิดไม่ทันตอนที่ท่านทรงดนตรีกับ วง อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.เป็นประจำทุกวันศุกร์ ทรงจัดรายการเพลง และทรงเลือกแผ่นเสียงเอง บางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังโทรศัพท์ขอเพลงจากวงดนตรีที่กำลังบรรเลงได้ด้วยตอนท่านขอเพลงที่ อส. แล้วท่านก็เล่นเพลง"

ภูมิใจที่เกิดมาในตระกูล“ติณสูลานนท์” เพราะปู่เป็นคนดี สอนให้ลูกหลานให้เกียรติคนทุกระดับ

“สิ่งหนึ่งที่ป๋าสอนมาเสมอ นอกจากเราต้องมีเกียรติในตัวเองแล้ว เราต้องให้เกียรติคนอื่นด้วย ไม่ให้อวด เบ่ง ใคร ท่านสอนผมว่า “ใช้ชีวิตให้มันง่าย”

ผมไม่ชอบให้ใครมาทรีทผม เพราะมันจะไม่ทัชกับคน ไม่เคยใช้เส้น ทำไม่เป็นด้วย ผมมีเพื่อนทุกระดับ รู้จักคนมากมายตั้งแต่คนกวาดถนน ยันคนใหญ่คนโต

ผมต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองได้ เป็นการทำให้ท่านเห็นด้วย ว่าดนตรีมันอยู่ได้ด้วยตัวมันเองด้วย ผมจึงขอรับการสนับสนุนจำนวนหนึ่งในการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศช่วงเดือนแรกๆ

หลังจากนั้นผมก็หารายได้พิเศษ ไปเล่นดนตรีกับวงคนนั้นคนนี้บ้าง ขาดคนเล่น ผมก็ไปเล่น ก็ได้เงินบ้าง บางส่วนจากที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ด้วย บางส่วนผมก็จ่ายเอง สลับกันไป ไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหรา นี่คือชีวิตจริง

“เราต้องเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ของประเทศ ถ้าจะให้ตอบแทนด้วยเงินผมไม่มีหรอก ผมจึงต้องเอาความรู้ที่เล่าเรียนมาตอบแทนแผ่นดิน”

โดย MGR Live

เรื่อง สวิชญา ชมพูพัชร
ภาพ ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Jaturavit Tinsulanonda


 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น