xs
xsm
sm
md
lg

“ผมเบื่อ การเมืองจำเจซ้ำซาก” เจาะใจ “ชัย ราชวัตร” ในวันที่การ์ตูนล้อการเมืองหมดอายุ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ผมอยากหยุด เพราะว่ามันเบื่อ มันล้าแล้ว การเมืองเองก็จำเจซ้ำซาก แย่กว่านั้นก็ตรงที่ว่า ไอ้นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามา มันก็ทำเหมือนคนรุ่นเก่านั่นแหละ

เปิดทุกมิติความคิดเจ้าของนามปากกา “ชัย ราชวัตร” การ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองชื่อดัง ผ่านประสบการณ์ด้านน้ำหมึกนาน 40 ปี ไปกับบทสัมภาษณ์ที่พูดถึง “นักการเมือง” แต่ละยุคอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แบบไม่หวั่นว่าจะถูกส่งตัวไปปรับทัศนคติ ในวัย 78 แม้แต่นิดเดียว!!
 



มุกการ์ตูนตีบตัน เพราะเบื่อ “เกมการเมืองน้ำเน่า”

[คอลัมน์อำลา ปิดฉากมุกเสียดสี 40 ปี]
ใจหาย... คืออาการที่แฟนคอลัมน์ “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” เป็นเหมือนๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อได้ทราบข่าวว่า “สมชัย กตัญญุตานันท์” การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา “ชัย ราชวัตร” จะขอโบกมือลาวงการน้ำหมึก เพื่อออกไปตักตวงความสุขในอีกมิติของชีวิต

ยิ่งได้เห็น “คอลัมน์อำลา” ที่ฝากเอาไว้เป็นชิ้นสุดท้าย ในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์หัวเขียว ฉบับวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการให้ได้รับรู้โดยทั่วกันว่า ถึงเวลาปิดฉาก 40 ปีแห่งการเสียดสีการเมือง ผ่านตัวละครหลักอย่าง “ผู้ใหญ่มา” และ “ไอ้จ่อย” ประจำ “ทุ่งหมาเมิน” แห่งนี้เสียที

"ชีวิตคือการเดินทาง การลงสถานีใดสถานีหนึ่ง หาใช่สิ้นสุดการเดินทาง หากเพียงแค่เป็นการแยกทาง เพื่อค้นหามิติใหม่ของโลกใบกว้าง อาจอ้างว้างแต่ท้าทาย...

ผู้ใหญ่มาและผองเพื่อนในทุ่งหมาเมิน ขอกราบลาและจะไม่มีวันลืมทุกน้ำใจ ที่เคยมีต่อกัน ลาทีแต่มิใช่ลาก่อน..."

คือตัวอักษรแทนใจที่เจ้าของมุกล้อการเมืองคมๆ วัย 78 รายนี้ได้ฝากเอาไว้ ลงวันที่ “31 พ.ค.62” บ่งบอกวันที่จรดลายเส้นผ่านคอลัมน์คู่ชีวิตเป็นวันสุดท้าย พร้อมฝากบทเพลงแฝงนัยทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า

“...จากไปสวีวี่วี จากไปสวีวี่วี หากบุญเฮามีคงจะได้เจอกัน หากบุญเฮามีคงจะได้เจอกัน...”



หลายคนสงสัยว่า อะไรทำให้เจ้าของลายเส้นที่อัดแน่นไปด้วยเอกลักษณ์คนนี้ ตัดสินใจนั่งรถไฟไปลง “จุดหมายใหม่” และเลือกใช้ชีวิตแบบ “อ้างว้างแต่ท้าทาย” มากกว่าวิถี “เสียดสีแบบเดิมๆ” คำถามนี้เจ้าตัวได้เปิดใจแบบหมดเปลือก ผ่านบทสนทนาในครั้งนี้เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

“ใหม่ๆ มันก็โอเคแหละ แต่พอเขียนจำเจทุกวันๆ ปีนึง 365 วัน นั่งเขียนแต่ผู้ใหญ่มากับไอ้จ่อย นี่ก็ 40 ปีเข้าไปแล้ว มันเบื่อ (น้ำเสียงบ่งบอกอารมณ์) ผมอยากหยุด เพราะว่ามันล้าแล้ว มันเหนื่อยกับการต้องมานั่งเค้นมุกทุกวันๆ ซ้ำๆ อยู่แค่นั้น”

แค่ปิดเล่มการ์ตูนคอลัมน์เดียว ที่มีอยู่ไม่กี่ช่องให้วาดใน 1 วัน มันจะไปยากเย็นตรงไหน? คนไม่เคยทำงานด้านนี้อาจจะวิจารณ์กันไป แต่ถ้าได้รู้เบื้องหลังการผลิตแต่ละชิ้นงานของเขาจริงๆ จะรู้ว่า กว่าแต่ละมุกจะถูกกลั่นกรองให้ออกมาโดนใจได้ ต้องอาศัยความทุ่มเทและทุ่มเวลาขนาดไหน

ไอ้ที่เขียนช่องล่างไม่กี่เส้นตรงนั้นน่ะ ผมต้องเริ่มทำงานแต่เช้าเลย เดี๋ยวนี้มีออนไลน์ ตื่นมาก็หยิบขึ้นมาดูกระแส กินไปดูไป เช็กหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แล้วก็ดูในเฟซบุ๊กด้วย เพราะมันทำให้เราได้ความคิดหลากหลายจากในคอมเมนต์ ยิ่งบางคนคอมเมนต์คมๆ บางทีเราหยิบมาเป็นมุกได้เลย

แล้วกว่าจะเช็กหมดนี่ มันก็หมดไปแล้วครึ่งวันนะ พอช่วงบ่ายก็เริ่มเช็กในไลน์เพิ่มอีก เพราะเพื่อนในนั้นมีเยอะ ก็จะมีพวกอาสาส่งข่าว-ส่งมุกมาให้ดูเรื่อยๆ เสร็จแล้วพอได้ประเด็นข่าว ผมก็จะไปนั่งคิดมุก แล้วก็เขียนต่อที่ไทยรัฐ สรุปเช้าถึงเย็น ก็หมดไปแล้ววันนึง

“อยากเหลือเวลาส่วนตัวให้ตัวเอง” คือเหตุผลข้อสำคัญที่ทำให้นักเขียนมากประสบการณ์คนนี้ ยอมตัดสินใจ “วางปากกา” ลงอย่างจริงๆ จังๆ ในปีที่ 40 ของการสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่มีอิทธิพลไม่แพ้กันก็คือ อาการเบื่อ “การเมืองน้ำเน่า” แบบเดิมๆ ในสังคมไทย

“การเมืองเองก็จำเจซ้ำซาก ปฏิวัติเสร็จ หยุดไป 5 ปี พอเปิดเลือกตั้ง มีประชุมสภา ทุกอย่างเหมือนเดิม ที่แย่กว่านั้นมันก็ตรงที่ว่า ไอ้นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามา มันก็ทำเหมือนคนรุ่นเก่านั่นแหละ

สุดท้ายก็วนอยู่อย่างนั้น จนเรารู้สึกว่าการเมืองไทย มันไม่รู้จะแก้ปัญหาตรงไหนแล้ว เป็นเผด็จการก็ใช้ความรุนแรงไม่ได้ ต่างชาติไม่ยอมรับ กลัวไม่เป็นสากล แต่พออะลุ่มอล่วย นักการเมืองก็แย่ ไม่ได้มีการพัฒนาเลย

และจะโทษนักการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะประชาชนก็แย่ เพียงแต่ไม่มีใครกล้าพูด คือประชาชนเคยขายเสียงยังไง ก็ยังขายเสียงอย่างนั้น มีเงินก้อนนึงจะซื้อได้กี่เสียง มันก็ยังเป็นแบบนั้น ต่างตรงที่ค่าตัวอาจจะมากขึ้นแค่นั้นเอง



[ลายเส้นมีเอกลักษณ์ บวกมุกคมๆ จากการ์ตูนนิสต์นาม “ชัย ราชวัตร”]
ประชาชนเนี่ย เข้าใจว่าประชาธิปไตยก็คือการไปหย่อนบัตร แล้วก็มีหัวคะแนนมาซื้อเสียง ก็แค่นั้นเลย เทียบกับสมัยก่อนที่ผมเคยไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เขาซื้อเสียงกัน 20-30 บาท หรือ 50 บาทก็ว่าแพงแล้วนะ แต่เดี๋ยวนี้ หนักข้อไปถึง 500 บาท 1,000 หรือ 1,500 ก็มี

ฝ่ายทหารเองเข้ามาทีนึงก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะคนไทยเบื่อง่าย หาเรื่องไล่ พอไล่เสร็จ นักการเมืองเข้ามา แย่กว่าเก่า ทหารก็เข้ามาอีก มันก็วนกันอยู่แค่นั้น ปัญหามันก็ซ้ำซาก

ทั้งปัญหาโกงกิน คอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเนี่ย ปัญหาเยอะ เข้ามาแล้วนักการเมืองก็ไม่กล้าแตะ เพราะต้องอาศัยกำลังตำรวจค้ำชูตัวเอง พอทหารเข้ามา ทหารก็แตะไม่ลงอีก เพราะแตะตรงไหนก็เจอแต่ตอ

พอตั้งกรรมการขึ้นมา เพื่อจะมาปฏิรูปตำรวจ แต่ 5 ปีก็ไปได้ไม่ถึงไหน เพราะกรรมการที่ตั้งเข้ามาครึ่งนึงเป็นตำรวจ มันก็เลยทำอะไรไม่ได้”

สุดท้าย คนที่ทนดู “วัฏจักรน้ำเน่า” ของการเมืองไทยต่อไปไม่ไหวคนนี้ จึงตัดสินใจขอพักความน่าเบื่อหน่ายเอาไว้ตรงนี้ แต่ยังย้ำชัดว่าแค่ “พักไว้” ไม่ใช่ “จากไป” ตลอดกาล

“ผมไม่กล้ารับปากว่า จะกลับมาหรือไม่กลับมานะ เพียงแต่ให้สัมภาษณ์ไปว่าถ้าสถานการณ์มันชวนให้อยากกลับมา ถ้าสถานการณ์มันเหมาะสม ก็อาจจะกลับมาก็ได้

ถ้าจะกลับมาก็หมายความว่า บ้านเมืองมันวิกฤตแล้ว เราติดตามข่าวจนทนไม่ไหวแล้ว ก็ขอออกมามีส่วนร่วมบ้าง”



ขอพัก “งานแซะ” ไปสานต่อ “งานศิลป์”

ว่าจะออกมาเขียนรูป คือผมชอบเขียนสีน้ำ แล้วก็ทิ้งไปหลายปีเลย ไม่ค่อยได้เขียน นานๆ เขียนที ที่ต้องทิ้งไปเพราะไม่มีเวลา แล้วก็ไม่มีอารมณ์ด้วย

เขียนรูปมันต้องมีอารมณ์นะ จิตใจต้องสงบ ถ้าหงุดหงิดๆ ดูข่าวประชุมสภา (หัวเราะ) ก็ไม่มีอารมณ์เขียนแล้ว เลยคิดว่าช่วงนี้หยุดมาเขียนรูปเล่น ให้ผ่อนคลายความเครียดของตัวเองดีกว่า”

ในขณะที่หลายคนกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้ อาจเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ “ศิลปินสีน้ำ” นาม “ชัย ราชวัตร” กำลังสะบัดปลายพู่กันด้วยรอยยิ้ม อยู่ในมุมสบายๆ มุมใดมุมนึงบนโลกใบนี้ที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้ เพื่อสานต่อความฝันสุดท้ายเรื่อง “จัดนิทรรศการภาพวิวทิวทัศน์สีน้ำ” ให้สำเร็จสักครั้งนึงในชีวิต

อยากวาดรูปปริมาณสัก 40-50 รูป แล้วก็จัดนิทรรศการสักครั้งนึง แค่นั้นก็จบแล้ว ความหวังในชีวิตของผม ไม่มีอะไรอีกแล้ว เพราะผมชอบสีน้ำมานานแล้ว เพียงแต่มันไม่มีเวลา

คือสีน้ำมันต้องซ้อมอยู่ตลอดเวลา มันเป็นวัสดุทำงานศิลปะที่มีเทคนิคเยอะมากให้ค้นคว้าได้ตลอดเลย แล้วก็ต้องเขียนตลอด เพราะว่ามันต้องอาศัยความชุ่มของสี ถ้ามันแห้งไป มันก็ไม่ได้ความรู้สึกอย่างที่เราต้องการ

มันมีเทคนิคเยอะมาก ไม่เหมือนสีน้ำมัน สีน้ำเป็นสีที่ copy ไม่ได้ ใครเขียนสวยๆ ไป copy ไม่ได้เลย เพราะมันจะมี effect ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ที่เรา control ไม่ได้

บางทีเขียนไป สีมันซึมเข้าหากัน มันก็จะเป็นความงามอีกแบบนึง ซึ่งไปเรียน ไป copy ไม่ได้ แต่สีน้ำมันจะก๊อบฯ ได้เลย ที่เขาก๊อบฯ รูปคนดังๆ มาขายกัน แล้วคนดูไม่ออก แต่สีน้ำจะดูออกเลย”



[โชว์ฝีแปรงพระบรมสาทิสลักษณ์ “ในหลวง ร.๙”]
เชื่อแล้วว่าเขาหลงใหลในการระบายพู่กัน ผ่านสีสันสบายตาเหล่านี้แค่ไหน เพราะแม้แต่ภาพที่แขวนอยู่ตามส่วนต่างๆ ของบ้าน ก็ยังเป็น “งานศิลป์จากสีน้ำ” แถมยังมีอยู่ถึง “2 ชิ้นงาน” ที่เกิดจากการประพรมลงบนผืนกระดาษ ด้วยฝีแปรงของตัวเอง

โดยเฉพาะภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ในความทรงจำ ที่เคยจรดปากกาเอาไว้ในปี 56 เพื่อย้อนรอยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ตามที่ได้รับมอบหมายผ่านโปรเจกต์ของทาง ม.ศิลปากร

“ตอนนั้น ม.ศิลปากร เขามีโปรเจกต์ที่จะทำงานถ่ายทอดใน 9 รัชกาล โดยให้เขียนถึงพระราชกรณียกิจแต่ละยุคสมัยที่เด่นๆ ของแต่ละพระองค์ที่เราอยากเขียนถึง

มีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 20 กว่าคน ผมเป็นหนึ่งในคนที่เขาทาบทามมาให้เขียน ซึ่งเป็นเรื่องดี ถือเป็นการบังคับตัวเองไปในตัวให้เราต้องเจียดเวลามาวาดรูป

ผมเลยเลือกเอาช่วง 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษาถูกตำรวจล้อมปราบหน้าสวนสัตว์ดุสิต แล้วนักศึกษาก็หนีเข้าวัง ในหลวงก็ทรงพาบริวารลงมาที่สวนจิตรลดา มาดูแลพวกนักศึกษา



ส่วนอีกหนึ่งฝีแปรงที่ใส่กรอบประดับเอาไว้เหนือจอทีวี คือภาพค่ำคืนแห่งแสงสีที่ “เยาวราช” ซึ่งเขาถูกชักชวนให้ร่วมเขียนในนิทรรศการหัวข้อ “กรุงเทพฯ ที่รักของเรา” หลังเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในปี 53 ใจกลางเมือง

“ภาพนั้นเป็นโปรเจกต์ที่ Louis Vuitton เป็นคนจัด เพราะตอนนั้นมีกลุ่มการเมืองเผากรุงเทพฯ ในสายตาฝรั่งเขาก็มองว่า กรุงเทพฯ เมืองสวยๆ ขัดแย้งเรื่องการเมือง ทำไมต้องมาเผาเมือง เขาก็เลยจัดนิทรรศการให้ศิลปิน 9 คนร่วมกันเขียน

ให้เลือกเอามุมไหนที่สวยของกรุงเทพฯ ผมเลือก 2 มุมคือ “เยาวราช” และ “ภูเขาทอง” แล้วก็เอาไปประมูล เงินทั้งหมดถวายมูลนิธิชัยพัฒนา”

น่าเสียดายที่เงื่อนไขของเวลาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา บีบบังคับให้ศิลปินสีน้ำมือดีคนนี้ ไม่เหลือเวลาส่วนตัวเพียงพอ ที่จะสร้างสรรค์สีสันฝากเอาไว้บนผืนกระดาษ แม้แต่แฟนพันธุ์แท้ของ “ชัย ราชวัตร” จึงมีโอกาสได้เห็นเขาแสดงฝีมือผ่านฝีแปรงแทบนับครั้งได้

แต่หลังจากเป็นอิสระจากคอลัมน์ประจำ และได้กลับมาใช้ชีวิตแบบไร้กรอบครอบชีวิตเอาไว้ ทุกคนอาจมีโอกาสได้เห็นผลงานการแต่งแต้มสีสันของเขามากขึ้นเรื่อยๆ “เพราะต่อไปมีเวลาแล้ว ไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาแล้ว” ต่างกับช่วงก่อนหน้าที่ต้องแบกความรับผิดชอบไปกับตัวด้วยทุกที่

“ถ้าเป็นสมัยยังหนุ่ม สมองเรายัง bright อยู่ วันนึงก็เขียนได้หลายชิ้น ยิ่งยุค พล.อ.ชวลิต เป็นนายกฯ ยุคบรรหารเป็นนายกฯ ยิ่งมีมุกเยอะ เวลาเพื่อนชวนไปเที่ยวต่างประเทศ 10 วันบอกมาเลย พรุ่งนี้ส่งต้นฉบับล่วงหน้าไว้ได้

แต่ทุกวันนี้จะทำชิ้นนึงยังลำบากเลย จะไปต่างจังหวัดสัก 3-4 วัน ไม่รู้แล้วว่าจะเขียนอะไร เพราะอายุเรามาก มันเริ่มเฉื่อย เริ่มช้า แล้วก็อาจจะไม่คมเหมือนก่อนแล้ว


[อีกหนึ่งผลงานสีน้ำ “เยาวราช” ยามค่ำคืน]

ถึงตอนนี้ที่เขียนคอลัมน์เป็นวันสุดท้าย ก็รู้สึกโล่งอกเลย เพราะได้ปลดเปลื้องภาระออกจากอก และจะได้ทำอะไรในสิ่งที่เราอยากจะทำ โดยเฉพาะเรื่องวาดรูป เวลาที่จะไปเข้าเน็ต ดูข่าวออนไลน์ก็ไม่จำเป็นแล้ว เพราะเราไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวแบบลึกซึ้งอะไรแล้ว

ต่อไปนี้ 24 ชั่วโมงเป็นของเราคนเดียวเลย ไม่ต้องแบ่งใคร ก็กะว่าเวลาที่เหลืออยู่ ผมจะเดินทางท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องห่วงอะไร

ถ้าเป็นสมัยก่อนจะไปต่างประเทศที กลับมาฝันเลยนะว่างานที่เราส่งมันหมดแล้ว แต่เรายังติดลม ไม่ได้กลับ (หัวเราะ) ด้วยความที่ห่วงงาน แต่ทีนี้ไม่ต้องห่วงแล้ว จะไปกี่วันก็ได้ ไปเที่ยวต่อที่ไหนก็ได้


ถึงตอนนี้ นักวาดและนักเขียนมือทองรายนี้ ก็ได้แต่หวังว่าแฟนๆ คอลัมน์การเมืองในตำนานจะเข้าใจว่า ถึงเวลาที่ผู้ชายวัยเกษียณคนนึงต้องขอเอ่ยคำว่า “พอ” เพื่อออกไปใช้ชีวิตของตัวเองเสียที

“ที่ผมอยู่ในวงการนี้มาได้ทุกวันนี้ ส่วนสำคัญก็คือคนอ่าน ถ้าไม่มีคนอ่านสนับสนุนผม ผมก็คงไม่อาจจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้น คนอ่านจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมอยู่มาได้จนถึงบั้นปลาย

ก็ถือโอกาสนี้อำลาแฟนๆ ว่า ชีวิตเนี่ยมันต้องรู้จัก “พอเพียง” ผมก็คิดว่ามันถึงเวลาที่ผมจะเอ่ยคำว่า “พอแล้ว” แล้วก็ขอเวลาเพื่อจะดูแลตัวเอง หาความสุขให้กับตัวเองในบั้นปลายชีวิต ดูแลสุขภาพต่างๆ

แต่ว่าไปแล้วก็ไม่ได้ไปลับอะนะ เพราะมันก็ยังสื่อสารกันได้ทางเฟซบุ๊ก “Chai Rachawat” หรือถ้าสนิทหน่อยก็สื่อสารทางไลน์”




“ยิ่งลักษณ์-บรรหาร-ชวลิต” ยุคที่เสียดสีได้มันที่สุด!!

ไหนๆ ก็จะวางมือจากหน้าที่จิกกัด “คนการเมือง” แล้ว จึงอยากขอให้ย้อนรอยความทรงจำในแต่ละยุคสมัย เป็นการทิ้งทวนกันอีกสักที โดยเริ่มที่การถามถึง “จุดยืน” จริงๆ ของคอลัมนิสต์ล้อการเมืองรายนี้ว่าอยู่ที่จุดไหน บางรายก็วิเคราะห์ว่าเขาฝักใฝ่ในพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนบางรายก็มองในภาพรวมว่า “ชัย ราชวัตร” แค่เลือกยืนฝั่งตรงข้ามรัฐบาล และบรรทัดต่อจากนี้คือความจริงจากปากเจ้าตัวเอง

“ผมเลือกยืนข้าง “ความถูกต้อง” นะ เพราะรัฐบาลก็ไม่ใช่เลวไปหมด มีหลายยุคที่แทบเขียนไม่ได้เลย อย่างยุค “คุณชวน (หลีกภัย)” เป็นนายกฯ เราก็ไม่รู้จะไปโจมตีอะไรแก เพราะแกไม่เคยแปดเปื้อนเรื่องโกงกินคอร์รัปชันอะไร แกเป็นคนสะอาด เป็นคนคลีน

อาจจะมีทำงานไม่ถูกใจเราบ้างเป็นบางเรื่อง แต่เราก็มีความรู้สึกว่าถ้าเราไปตี มันก็จะเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการจะล้มอยู่แล้ว เราก็เลยต้องพยุงเอาไว้ก่อน

หรืออย่างยุค “ท่านอานันท์ ปันยารชุน” การมีนายกฯ แบบนี้ ผมบอกได้เลยว่าเราไม่อายต่างชาตินะ ตระกูลดี การศึกษาดี บริหารราชการก็ดี มีโปรเจกต์ดีๆ ออกมาตลอด ในยุคท่าน ผมก็ไม่เคยไปเขียนโจมตีอะไรท่านเลย”

แล้วยุคไหนเขียนเสียดสีได้มันที่สุด ยุค “ทักษิณ” หรือเปล่า? คำตอบที่ได้กลับมาจากผู้ชายตรงหน้าก็คือ รอยยิ้มบางๆ ก่อนบอกว่า “ไม่เสมอไปหรอก” แต่ถ้าจะให้แขวะจริงๆ แล้ว ก็ถือว่ามีประเด็นไม่น้อยอยู่เหมือนกัน



“พูดถึงยุค “ทักษิณ (ชินวัตร)” เนี่ย เกลียดตรงที่ว่าคอร์รัปชันมาก คอร์รัปชันทุกหย่อมหญ้าเลย แตะตรงไหนก็มีแต่เรื่องคอร์รัปชัน

แต่ยุคบิ๊กจิ๋ว ยุค “ชวลิต (ยงใจยุทธ)” คอร์รัปชันก็มี แต่แกจะเป็นคนพร่ำเพ้อไปเรื่อย พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ชอบทำเป็นอวดฉลาด อวดทฤษฎีนั่นนี่ เขาถึงเรียกแกว่า “จิ๋วหวานเจี๊ยบ”


แล้วก็มายุค “บรรหาร (ศิลปอาชา)” ที่ไม่ว่าจะมาเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ผมก็เขียนด่าอยู่เรื่อยเลย (หัวเราะ) เพราะแกเป็นคนเฉิ่มมากไง แต่พรรคแกได้คะแนนเสียงเยอะ แกก็มีสิทธิได้เป็นนายกฯ

เมืองไทยก็เป็นอย่างนี้ ใครได้เป็นนายกฯ จะวัดจากคะแนนเสียงของพรรค และคะแนนเสียงก็ได้มาจากการซื้อเสียง ไม่ใช่ว่าชาวบ้านศรัทธาอะไร

อย่างบรรหารก็ยอมรับว่า แกสร้างความเจริญให้สุพรรณฯ มาก ไปสุพรรณฯ นี่งงเลย ถนนเขาอย่างดี คันนาแทบจะสร้างด้วยคอนกรีต แกทุ่มงบพัฒนา ยังไงคนสุพรรณฯ ก็ต้องเลือกแก

ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่า ช่วง “บิ๊กจิ๋ว” กับช่วง “บรรหาร” เป็นนายกฯ คนจะมีอารมณ์ร่วมกับเราเยอะ ส่งมุกมาระบายความคิดเห็นทางจดหมายก็มี และช่วงอย่างนั้น การ์ตูนเราคนจะชอบ เพราะเขียนไปแล้วจะสะใจเขา แต่ถ้าสถานการณ์ปกติ จะไม่ค่อยมี feedback อะไรเท่าไหร่

แต่ในยุคนี้ที่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างทุกวันนี้ เราสามารถอ่านเรตติ้งได้ง่ายมากๆ เลย พอโพสต์การ์ตูนขึ้นเฟซบุ๊ก ยอดไลค์ก็เข้ามาเยอะเลย ดูได้ตามนั้นเลย

ยิ่งกดแชร์เท่าไหร่ คนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มของเขาก็จะแชร์ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งช่วงที่ผมเขียนโจมตี “ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร)” เนี่ย โห..ยอดแชร์หลาย 1,000 เลย




ผ่านชีวิตมา 78 ฝน 78 หนาว เห็น “นักโกงเมือง” มาทุกยุคทุกสมัย ลองให้มองทางออกของปัญหานี้ดูว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน คนถูกถามได้แต่ยิ้มบางๆ แล้วส่ายหน้าเนือยๆ กลับมา ก่อนให้คำตอบว่า “การคอร์รัปชัน” มันหยั่งรากลึกลงไปในระบบการเมืองไทย เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยมีแนวโน้มจะลดลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

“สมัยก่อนเวลาทำถนน สร้างนู่นสร้างนี้ เขาจะกิน 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกวันนี้มีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จนทุกวันนี้ 30-40 เปอร์เซ็นต์เลยก็มี คิดดูว่างบประมาณก้อนนึง เอาไป 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากเอาเข้ากระเป๋าแล้ว ก็มีเอาไปเข้าพรรคบ้าง เพราะต้องสะสมเงินเอาไว้เลือกตั้งครั้งต่อไป

หรืออย่างยุค “ทักษิณ” ที่ไม่ได้กินกันแค่ในพรรค แต่มีเครือญาติเขามาแบ่งด้วย งบมันก็เลยบานไปเรื่อย อย่างโปรเจกต์ข้าว G2G (Government to Government) มันถึงได้ขาดทุน 5-6 แสนล้าน ไหนจะกลุ่มอื่นๆ ที่มาร่วมโปรเจกต์อีก ทุกคนได้กินกันถ้วนหน้า ถามว่าแล้วอย่างนี้ บ้านเมืองไม่บักโกรกได้ยังไง

สมัยก่อนเขาจะมีคำว่า “กินจอบกินเสียม” “กินอิฐกินทราย” นั่นคือวิธีหากินของนักการเมือง คำว่า “กินจอบกินเสียม” ก็คือ มีนักการเมืองคิดโปรเจกต์ขึ้นมา ช่วยชาวนาชาวไร่ด้วยการซื้อจอบซื้อเสียม ไปแจกชาวบ้าน แต่เจตนาจริงๆ คือการไปซื้อปริมาณเยอะๆ แล้วกินเปอร์เซ็นต์จากโรงงาน

ส่วนที่กินถนัดมากก็คือ “กินอิฐกินทราย” ตัดถนนไปเรื่อย เพราะความเจริญของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ ใครมาเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ก็มีโปรเจกต์ให้ตัดถนนจากเส้นนี้ไปเส้นนั้น กินค่าถนน กินค่าอิฐค่าทราย

แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เพราะบ้านเมืองเจริญ เทคโนโลยีไปไกล ก็หันมากินสัมปทานมือถือ สัญญาณต่างๆ เอย ช่องทางหากินมันเยอะขึ้น เพราะสมัยก่อนกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงเล็กๆ มีแต่สร้างถนน แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นกระทรวงเกรดเอไปเลย มีทั้งสัมปทานมือถือ ครอบคลุมไปหมด



ให้ลองวิเคราะห์ “รัฐบาลยุคปัจจุบัน” กับปัญหา “คอร์รัปชัน” ดูบ้างว่า น่าเป็นห่วงต่างจากรัฐบาลอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เจ้าของมุกคมผ่านปลายปากกาตอบได้ทันทีเลยว่า รัฐบาลนี้ก็มีเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะทำแบบไม่โจ่งแจ้งเท่านั้นเอง

บริวารรอบข้างมันก็มีประเภทกินเล็กกินน้อย คนเคยกิน อาจจะกินไม่ประเจิดประเจ้อ แต่ก็มีบ้าง ทุกวันนี้ยังมีจับกันอยู่เรื่อย พวกที่ไปหาเศษหาเลย เพียงแต่ว่ามันไม่มากมาย ไม่โจ่งแจ้ง และตัวนายกฯ เองก็ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเรื่องนี้ ถ้ามีก็โดนขุดคุ้ยไปไม่เหลือแล้ว

ยุคนี้ทหารมีอำนาจ มันก็มีคนในเครื่องแบบมาหากิน คุมบ่อนบ้าง คุมสถานบันเทิงบ้าง มันก็มีเพียงแต่ไม่มากมายเหมือนสมัยก่อน

ที่หนักหน่อยก็คงเป็นเรื่องซื้ออาวุธ ซึ่งผมเชื่อแล้วว่ามันมี แต่กินแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ต้องมี มันคล้ายๆ เป็นประเพณีไปแล้วว่า ใครเป็นคนอนุมัติงบก็ต้องได้อยู่แล้ว นี่ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย”
 



“ถูกขู่” มาหลายยุค เสี่ยงชีวิตเพราะ “แขวะการเมือง”

“โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ” คือประโยคเด็ดจากผู้ชายคนนี้ ที่คอการเมืองไม่มีวันลืม

โดยเฉพาะ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่สนองตอบโพสต์บนเฟซบุ๊ก “Chai Rachawat” เมื่อวันที่ 30 เม.ย.56 ด้วยการยกพลไปบุกสำนักพิมพ์ไทยรัฐในอีก 2 วันให้หลัง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 1 กองร้อย

“เสื้อแดงบุกไทยรัฐ วางพวงหรีดประท้วง ชัย ราชวัตร” คือพาดหัวข่าวสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองอีกหน้านึง ที่ยังคงเสิร์ชเจอให้สามารถย้อนรอยกลับไปอ่านได้ และจากต้นเหตุในครั้งนั้นเองที่สร้าง “ช่วงชีวิตเสี่ยงภัยการเมือง” ให้เกิดขึ้นกับคอลัมนิสต์นักแขวะรายนี้

ผมเคยโดนขู่มาทุกทาง มีทั้งโทรศัพท์ที่โทร.มาทางไทยรัฐ ยิ่งยุคยิ่งลักษณ์ฟ้องผม ตอนผมไปเขียนในเฟซบุ๊ก จากกรณีที่ยิ่งลักษณ์ไปพูดว่า พี่ชายเขาต้องหนีออกนอกประเทศเพราะถูกทหารปฏิวัติ ผมก็เขียนลงไปว่า คุณไปพูดอย่างนี้ เป็นการไปประจานประเทศไทย

โดยที่ข้อเท็จจริงคือ พี่ชายคุณหนีคดีคอร์รัปชัน ทหารเนี่ยปฏิวัติแล้ว แต่เขาไม่ได้จับ ทักษิณเป็นคนขอทหารว่า จะไปโอลิมปิกที่ปักกิ่ง เสร็จแล้วก็หนีไปเลย เป็นผู้ร้ายหนีคดี ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ต่างชาติฟัง ซึ่งมันเป็นการขายชาติ แล้วเขาก็เลยฟ้องผม

แล้วไม่ได้ฟ้องเปล่า หลังจากนั้นก็มีเสื้อแดงมาประท้วงที่หน้าไทยรัฐด้วย มาทุกอาทิตย์เลยนะ ไม่ใช่มาครั้งเดียวแล้วจบ มาอยู่เป็นเดือนๆ เพื่อกดดันให้ไทยรัฐให้ปลดผมออก แต่ไทยรัฐก็บอกว่าไทยรัฐไม่เกี่ยว เพราะสิ่งที่ผมเขียน ไม่ได้เขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่เขียนลงในเฟซบุ๊ก

จากนั้น วันดีคืนดีก็มีมือมืดเอาลูกเหล็กเท่าที่เล่นเปตอง มาปาใส่ป้อมยามไทยรัฐ ซึ่งป้อมยามเขาก็แพงด้วยเพราะเป็นตู้กระจกหมด


[กองทัพเสื้อแดง บุกไล่ “ชัย ราชวัตร”]

แม้แต่ที่บ้านผมเองก็เคยโดน เพราะซอยนี้ทั้งซอยคือเสื้อแดง วันไหนเสื้อแดงชุมนุม เขาก็จะใส่เสื้อแดง ผูกผ้าพันคอเดินกร่างกัน และเขาก็รู้ว่าผมอยู่บ้านหลังนี้ เพราะแม่บ้านผมชอบไปคุยอวดในซอยว่า อยู่บ้านคุณชัย ราชวัตร ทำให้มีคนมาข่มขู่ จะเผาบ้านผม

ผมเลยต้องย้ายที่นอนอยู่ 2-3 เดือน ไปอยู่ที่อื่น จนเหตุการณ์สงบค่อยเข้ามา แต่ช่วงนั้นผมก็กลัวเหมือนกัน ก็ต้องอาศัยพรรคพวกที่มีเส้นสายทหาร ให้เขามานอนรักษาบ้าน เผื่อใครเกิดบ้าเลือดขึ้นมา

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ชีวิตลูกผู้ชายนาม “สมชัย” ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพราะการแสดงจุดยืนทางการเมือง ย้อนกลับไปในช่วงหลังเหตุจลาจลนองเลือด ล้อมปราบนักศึกษาผู้ประท้วง ณ ม.ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และท้องสนามหลวง ในวันที่ “6 ต.ค.2519” คืออีกช่วงของชีวิตที่ทำให้เขาต้อง “ลี้ภัยทางการเมือง”

“ตอนนั้น หลังเขาปฏิวัติเสร็จ 6 ตุลา “สมัคร สุนทรเวช” ก็มาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เขาก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ให้มาขอหัวใหม่ถึงให้ออก และยื่นเงื่อนไขว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ต้องไม่มีคนนี้ๆ นะ รวมผมด้วย ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลทหาร รัฐบาลขวาจัด

ตอนนั้นผมก็คิดว่า อยู่ไปก็ไม่ปลอดภัยแล้วล่ะ เพราะ 6 ตุลาฯ นักศึกษาถูกฆ่าตายจำนวนเท่าไหร่ไม่รู้ ที่เอาลูกเสือชาวบ้านไปล้อมธรรมศาสตร์ แล้วก็บุกเข้าไปจับนักศึกษา



ตอนเกิดเหตุการณ์ก็ไม่รู้หรอกว่าตายไปเท่าไหร่ แต่พอไปอยู่เมืองนอก เราได้เห็นรูปถ่ายที่มันหลุดออกไป คือนักศึกษาตายอย่างทารุณเลย บางคนก็โดนลิ่มตอกอก

ช่วงนั้นก็เป็นระยะนึงที่คิดว่า อยู่ไม่ได้แล้วเมืองไทย เพราะมันไม่มีกฎหมาย พอเลยไปอยู่อเมริกา ไปอยู่ LA โชคดีที่ผมมีพี่น้องอยู่ที่นั่น ที่เขาไปเรียนหนังสือ แล้วก็ปักหลักมีครอบครัวอยู่ที่นั่นเลย

ผมเลยได้ขอไปอยู่ด้วยเป็นการชั่วคราว ไปเป็นบาร์เทนเดอร์ ล้างถ้วย-ล้างชามอยู่ที่นั่น 2 ปี ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะที่จะไปอยู่แบบเป็นพลเมืองชั้น 2 ของเขา พอเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว สักช่วงต้นปี 2522 ถึงได้กลับมา

หันกลับมามองรัฐบาลชุดล่าสุด ที่กุมอำนาจปกครองโดยทหารเหมือนกัน สงสัยว่าเคยเจอคำขู่หรือต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางใจจากอำนาจมืดบ้างไหม คนถูกถามสบตาคู่สนทนาผ่านเลนส์แว่นหนา แล้วให้คำตอบทันทีว่า “ไม่มี” เทียบกันไม่ได้เลยกับรัฐบาลทหารสมัยก่อน ที่มักตอบโต้ด้วยวิธีการเดียวคือ “ขังลืม”



“อย่างทุกวันนี้ อย่างเก่งรัฐบาลก็แค่จับไปปรับทัศนคติ นั่งอบรมชั่วโมง 2 ชั่วโมง อย่างมากก็วัน 2 วัน แล้วก็ปล่อยออกมา ถ้าเป็นสมัยก่อนไม่ได้หรอก ขังลืมเลย”

เพราะฉะนั้น คนจะทำงานด้านนี้ให้อยู่รอดได้ในทุกยุคทุกสมัย จึงต้องรู้จักอ่านสถานการณ์ให้ออกว่า ควรเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรกในช่วงเวลาไหน

“ไม่มีใครมาสั่งเราหรอกว่า เขียนแบบไหนได้-ไม่ได้ เพียงแต่เราต้องดู mood เอาเอง คือต้องอ่านสถานการณ์ให้ออกว่า ตอนไหนเขียนได้แรงแค่ไหน เราต้องรู้จักประเมินสถานการณ์เอาเอง



“การ์ตูนนิสต์การเมือง” สิ้นสุดลงพร้อม “ยุคหนังสือพิมพ์”

บอกตามตรง ไม่เคยคิดว่าเรื่องราวจิกกัดผ่านลายเส้นของตัวเอง จะไปช่วยสั่นคลอนหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นไปอะไรในการเมืองไทยได้ เพราะเจ้าของคาแร็กเตอร์ “ผู้ใหญ่มา” ประจำทุ่งหมาเมินคนนี้ ไม่ได้เขียนโดยหวังผลอะไร นอกจากเพื่อตอบสนองความต้องการ ในการปลดปล่อยความคิดเห็นของตัวเอง

ผมมีความรู้สึกว่า ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนเอาใจคนอ่านน่ะนะ แต่ผมเขียนการ์ตูนเพื่อ serve ในสิ่งที่ผมเชื่อ ในสิ่งที่ผมคิดว่ามันใช่ มันต้องเป็นอย่างนี้ หรือเพื่อบอกว่ามันไม่ใช่ยังไงบ้าง

เพียงแต่ว่าผมมีคนอ่านประเภท “แฟนคลับ” ที่เสมอต้นเสมอปลาย เพราะเผอิญความคิดผมไปตรงกับคนอ่าน ซึ่งคนกลุ่มนึงตรงกับใจเขา แต่ผมไม่ได้เขียนเพื่อเอาใจเขา

นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่ไปไม่รอดเนี่ย ข้อผิดพลาดสิ่งนึงที่เห็นชัดก็คือ “เอาใจคนอ่าน” จนกลายเป็นว่า วันนี้ฟังคนนี้ เขาด่าฝ่ายนู้นว่าอย่างนี้ แล้วเราก็ด่าตามเขา แต่พอมีคนมาให้ข้อมูลอีกอย่าง เราก็ด่าอีกฝ่ายนึงอีก ซึ่งคนเขียนการ์ตูนแบบนี้ จะไม่มีแฟนคลับ เพราะความคิดเปลี่ยนไปเรื่อย

ในขณะที่ความคิดของคนอ่านเขาไม่ได้เปลี่ยนตาม เขาเคยเชียร์พรรคไหน เชียร์นักการเมืองคนไหน เขาก็เชียร์ของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเดี๋ยวคุณเชียร์คนนี้ ด่าคนโน้น แล้วเปลี่ยนมาเชียร์คนโน้น ด่าคนนี้ ในที่สุดคุณก็จะไม่มีแฟนคลับ

มันเหมือนคนทำอาหารน่ะ อาหารของคุณ คุณทำรสชาติอย่างนี้ คุณก็ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ถ้ามีคนมาติหวานไป คุณก็ลดหวาน-เติมเค็ม พอมีคนบอกว่าเค็มไป คุณก็ลดนั่นลดนี่ตามเขา สุดท้ายคุณก็จะไม่มีแฟนประจำ



ไม่ว่าจะให้ลองย้อนทบทวนดูอีกสักกี่ที มุมมองของเขาที่มีต่อเส้นทางชีวิตก็ยังคงเหมือนเดิม คือมองว่าตัวเองเป็นคน “โชคดี” ที่สุดคนนึง ที่อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางวิกฤตคอลัมนิสต์-นักเขียนที่แทบไม่เหลือที่ยืนให้เผยตัว

ผมว่าผมโชคดีแล้ว ที่อยู่มาจนถึงยุคนี้ ยุคที่หนังสือพิมพ์จะต่อลมหายใจไปได้อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้แล้ว ปีนี้ก็ไม่รู้ว่าบุคคลในวงการสื่อต้องตกงานอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะปีนี้ก็ไปหลายฉบับแล้ว

ทุกวันนี้ก็เห็นใจนะ เป็นห่วงรุ่นน้องๆ ในวงการสื่อว่า เขาจะรับมือกับสถานการณ์ได้ยังไง บางคนมาทำงานไม่กี่ปี ยังไม่มีเงินเก็บ ก็ต้องโดนกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคาดคิด เฉพาะที่ทำงานแล้วยังไม่เท่าไหร่ แต่ที่เรียนอยู่สิ เพราะ 4 ปีที่เรียนมา แต่กลับเป็นสาขาที่ไม่มีตลาดแรงงานรองรับแล้ว

มีคนถามผมว่า มีฝึกคนไว้แทนบ้างไหม ผมก็ตอบเลยว่าถ้าผมไปฝึกคนมาเขียนการ์ตูนเนี่ย ถือว่าผมทำบาปเลยนะ (หัวเราะ) เพราะว่าเขาจะไม่มีงานทำ ต่อไปนักเขียนการ์ตูนจะทำอะไรยังไม่รู้เลย

เพราะ “นักเขียนการ์ตูนการเมือง” มันอยู่ได้ด้วยหนังสือพิมพ์ ถ้าไม่มีหนังสือพิมพ์รองรับ เขาก็ไม่มีเวที ครั้นจะไปทำทีวี มันก็ไม่เหมือนกัน ผมเคยทำแล้ว ตอนนั้นทางช่อง 3 เคยติดต่อมาให้ทำ “การ์ตูนล้อการเมือง 2 นาทีหลังข่าว” แต่ผลที่ได้คือมันไม่เวิร์กเลย

เพราะคนอ่านข่าวจากทีวี กับที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ มันไม่เหมือนกันเลยนะ คนอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านเสร็จเขามีเวลาวางหนังสือพิมพ์ แล้วคิดว่ามันเขียนเรื่องอะไร มุกมันอยู่ตรงไหน ทำไมมันตลก บางทีใช้เวลานาที 2 นาทีถึงคิดได้ แล้วจากนั้นถึงขำ

แต่คนดูทีวีไม่ใช่แบบนั้นเลย พอจบปั๊บ ภาพอื่นก็แทรกเข้ามาแล้ว สมองคนดูก็ไป concentrate ที่ภาพอื่นแล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่เวิร์กเลยสำหรับทีวี”



ต่อให้ทุกวันนี้มีสื่อโซเชียลฯ ช่วยหนุนให้ศิลปินไร้ชื่อเติบโตด้วยตัวเองได้ แต่การจะปั้นให้เพจของตัวเองมีจำนวนคนติดตามมหาศาล ถึงขนาดสามารถเรียกโฆษณาเข้ามาหาได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แตกต่างจากการมีพื้นที่คอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชายคนนี้ได้เดือนละเกือบแสน

ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่หมดไปกับยุค แล้วก็หมดไปกับหนังสือพิมพ์ด้วย นอกจากคุณจะอาศัยเทคนิคไปทำอย่างอื่น เช่น ที่ตอนนี้ฮิตมากและเป็นเงินเป็นทองคือ เอาตัวการ์ตูนไปคิดเกม

ถ้าฮิตขึ้นมาสักเกมนึง มันก็เป็นเงินเป็นทอง คุณก็ได้เงินเป็นก้อน หรือได้ค่าลิขสิทธิ์ตลอดอายุของเกมนั้นๆ มันต้องดัดแปลง-พลิกแพลง ถึงจะอยู่ได้ แต่จะให้มานั่งเขียนการ์ตูนรายวันอย่างเก่า คงไม่ได้แล้ว มันหมดยุคไปแล้ว



ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ “วัฏจักรการเมืองไทยน้ำเน่า” เป็นเวลานานถึง 40 ปี ก่อนจะโบกมือลาความวุ่นวายตรงนี้ ถามว่าอยากฝากอะไรถึง “นักการเมือง-คนการเมือง” บ้างไหม ผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าตอบกลับมาทันทีเลยว่า “ไม่” เพราะเขารู้สึกว่าการเมืองไทยมันเกินจะเยียวยาแล้วจริงๆ

ผมไม่หวังอะไรเลย ผมไม่หวังเลยว่าบ้านเมืองมันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือผมยังมีความคิดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนได้ เราต้องเริ่มต้นจากเด็กเลย เข้าอนุบาลเลย แล้วก็ฝึกจากสถาบันการศึกษา ให้เขาเคยชินกับระเบียบวินัย ความคิด

ผมดูคลิปที่เขาถ่ายเด็กญี่ปุ่น มีคนไปทดสอบ แกล้งยืนป้ายรถเมล์แล้วทำกระเป๋าสตางค์ตก เด็กเก็บมาคืนเจ้าของเลย หรือเจ้าของไม่อยู่แล้ว เขาก็ไปคืนตำรวจ ไปคืนให้ครู เขาจะไม่เก็บไว้เป็นของส่วนตัว

แต่ของเราผมคิดว่า 9 ใน 10 คน เม้มเข้ากระเป๋าส่วนตัว เพราะไม่มีเจ้าของแล้วนี่ หรืออย่างเก่งก็เอาไปให้พ่อแม่ ไอ้ที่จะมาตามหาเจ้าของ ยาก เพราะฉะนั้น มันต้องฝึกตั้งแต่เด็ก เรื่องระเบียบวินัย เรื่องแนวคิด แล้วมันถึงจะพัฒนาถึงการเมืองที่มันดีขึ้น รู้จักคิด รู้จักแยกแยะ อะไรถูก อะไรผิด อะไรมันชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม

ทุกวันนี้ บ้านเราเวลาเด็กเข้าอนุบาล เขายังต้องซื้อโต๊ะซื้อเก้าอี้กันเลย แล้วคิดดูว่าเด็กมันเห็นกับตา โตขึ้นมันก็ต้องถอนทุน เพราะมันจบมาจากการลงทุนน่ะ พอไปเล่นการเมือง มันก็เริ่มแย่งเก้าอี้กันแล้ว มันก็ซื้อโต๊ะซื้อเก้าอี้ เหมือนตอนมันเข้าอนุบาลนั่นแหละ (หัวเราะ)







เจาะเบื้องหลัง “พระมหาชนก” ชิ้นงานสุดภาคภูมิใจในชีวิต

[“พระมหาชนก” ฉบับการ์ตูน ขายดีทะลุ 3 ล้านฉบับ!!]
ตอนนั้นในหลวง (ร.๙) ทรงติดต่อผ่านทาง “อมรินทร์พริ้นติ้งฯ” เพราะเขาเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือในหลวงตลอดมา ทางอมรินทร์เขาก็มาทาบทามผมว่า เขียนไหวไหม หลังจากเขาปรึกษากรรมการที่ดูแลเรื่องนี้แล้ว เขาก็มองกันว่าผมเหมาะ

ที่มองว่าผมเหมาะก็เพราะว่า ในหลวงท่านรับสั่งว่า อยากได้การ์ตูนพระมหาชนกที่ใส่อารมณ์ขันเข้าไปด้วย แต่ตอนแรกผมก็ตีความผิด คิดว่าเขาติดต่อผมว่าอยากได้อารมณ์ขันสไตล์ผม ไม่ใช่การ์ตูนตลกทั่วไป คือจะมีการล้อเลียน-เสียดสี

ผมก็สเกตช์ไปให้เขาดู เขาดูเสร็จเขาก็บอกว่านี่ไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่พระราชนิพนธ์แล้ว นี่มันพระมหาชนกฉบับ ชัย ราชวัตร เพราะมีแต่เรื่องเสียดสี (หัวเราะ) ขึ้นมาฉากแรก ผมก็วาดตึกรามบ้านช่องที่เต็มไปด้วยอาบอบนวด บ่อน-ซ่อง คนเดินถนนก็เป็นบัณฑิตตกงาน เพราะสมัยนั้นฟองสบู่แตกพอดี (ยิ้ม)

พอเขาบอกว่าไม่ใช่ เราก็ร่างใหม่ พอไปใส่คำพูดตลกเข้าไป เขาก็บอกว่าไม่ได้อีก นี่เป็นร่างพระราชนิพนธ์ ห้ามตัดต่อแต่งเติมอะไร คือจะไม่มีคำเพิ่มขึ้นมาโดยเด็ดขาด สุดท้ายก็เลยต้องตลกเงียบ สอดแทรกบางช่วงบางตอนให้มีมุกใส่เข้าไปเท่านั้นเอง



[ตัวละครคล้าย "เอลวิส" มุกตลกเงียบ ที่แฝงไว้ใน "พระมหาชนก" สไตล์ "ชัย ราชวัตร"]
ตอนแรกที่ทางสำนักพิมพ์ติดต่อมา ผมก็ยังไม่ได้รับปากนะว่าเขียน ผมบ่ายเบี่ยงไปก่อน บอกว่าขอไปอังกฤษ 10 วัน แล้วกลับมาจะให้คำตอบ ซึ่งตลอดช่วงที่ไปก็คิดเรื่องนี้หนักเลยว่า จะปฏิเสธไปดีไหม แต่ก็คิดอีกว่าถ้าปฏิเสธ เขาถามเหตุผลว่าทำไม เราจะตอบเขาไปว่ายังไง แต่ถ้าไม่ปฏิเสธ รับเขียน เกิดไม่โปรดขึ้นมา เราก็แย่เลย

ตอนหลัง อมรินทร์เขารับปากว่าจะหาคนมาช่วย เพราะเรื่องพระมหาชนกเป็นชาดก แต่ถิ่นกำเนิดของเรื่องอยู่ที่เนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมเคยไปมาแล้ว และผมก็ชอบสถาปัตยกรรมแบบแขกๆ ผมก็เลยตัดสินใจรับปากเขียน โดยที่ทางอมรินทร์เขาก็ติดต่อคนที่เก่งเรื่องสถาปัตยกรรมไทยมาเป็นลูกมือผม



ตอนนั้นเขาติดต่อศิลปินแห่งชาติเลยคือ “อาจารย์ปรีชา เถาทอง” (ยิ้ม) เพราะตอนนั้นผมเขียนตึกรามบ้านช่องเป็นแขกเลย แล้วอาจารย์ปรีชาก็มาต่อเติมลายไทยให้ เพราะทางสำนักพิมพ์เขามองว่า ถ้าให้วาดลายเส้นเป็นแขกหมดเลย คนอ่านที่เป็นคนไทยเขาจะรู้สึกไม่สัมพันธ์กัน

ผลสุดท้ายก็เป็นชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ถ้าวัดจากจำนวนเล่มที่ตีพิมพ์ก็ทั้งหมด 3 ล้านฉบับ จากนั้นท่านก็รับสั่งมาอีกว่า ฉบับขาวดำมันขายดีก็จริง แต่มันสู้ฉบับสีไม่ได้ ท่านจึงรับสั่งให้ทำฉบับสีขึ้นตามมาอีกๆ



เอาชนะ “มะเร็งระยะที่ 3” ได้ เพราะ “คิดบวก”

ผมเคยเป็น “มะเร็งลำไส้ระยะที่ 3” เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เผอิญโชคดี ผมเจอหมอเก่ง บวกกับมะเร็งลำไส้ไม่ค่อยอันตรายเท่าไหร่ เพราะลำไส้คนเรามี 20 กว่าฟุต พอเขาตัดออกไปฟุตนึง มันเลยไม่ได้มีผลกระทบกับร่างกายของเรา

ช่วงรักษาก็ทำคีโมอยู่ 12 เข็ม แล้วก็ต้องคอยดูระยะติดตามผลไปอีก 5 ปี พอเลยจากนั้นได้ คุณหมอก็บอกว่าโอกาสที่จะกลับมาเป็นคงยากแล้ว เราพ้นขีดอันตรายแล้ว

แต่ของผมก็ถือว่าหวุดหวิดมาก เพราะผมขั้นที่ 3 แล้ว และมะเร็งมันก็เริ่มกินลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองแล้ว ซึ่งถ้าไปถึงต่อมน้ำเหลืองจะรักษายาก เพราะจะกระจายไปทั่วตัว

ตอนนั้นก็รักษาแค่คงอาการให้อยู่แค่นั้นแหละ ไม่ให้ลาม แต่ว่าให้หายนี่ยากแล้ว เพราะมันเริ่มลามแล้ว ตอนนั้นเราก็เศร้าว่าทำไมต้องเป็นเราวะ (ยิ้มบางๆ) เพราะเราไม่มีโรคประจำตัว แล้วก็เป็นคนที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬาตลอด



แต่ผมก็คิดแค่นั้น ไม่ได้รู้สึกท้อแท้ห่อเหี่ยวใจอะไร คือคนอื่นเขาอาจจะมีเหตุผลให้ต้องตกใจ แต่ผมคิดว่าเฮ้ย..ชีวิตเรานะ อยู่มาถึงป่านนี้แล้ว มันก็อยู่ได้อีกไม่นานแล้ว จะไปกลัวอีกทำไม นั่นประการแรกเลย

ประการที่สองคือ ชีวิตผมมันน่าจะตายไปตั้งนานแล้วนะ (ยิ้มบางๆ) ตอนหนุ่มๆ ผมกินเหล้าเมาทุกคืนเลย แล้วก็ไปเที่ยวบาร์เที่ยวผับ กลับตี 3 ตี 4 กินแล้วติดลม และเป็นคนที่ขับรถแล้วตีนหนัก คือเหยียบเต็มที่เลย บางทีกลับถึงบ้านมา ไม่รู้เลยว่ามาถึงได้ยังไง คือกลับมาโดยสัญชาติญาณ แต่ก็โชคดี รอดมาตลอด

คิดว่าที่อยู่ได้มาจนถึงป่านนี้ ก็ถือว่ากำไรแล้ว และอีกอย่าง พื้นเพดั้งเดิมเราไม่มีอะไรเลย มาจากบ้านนอก มาจากต่างจังหวัด แต่หางานทำก็ยากแล้ว และอยู่มาจนป่านนี้ ทุกอย่างเรามีหมดแล้ว ถือว่าเป็นกำไรแล้ว จะกินอะไรก็มีกิน จะเที่ยวไหนก็มีเที่ยว

ผมว่า “การคิดบวก” เนี่ย มันช่วยได้มากเลย เพราะทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิด หลายคนที่เป็นแล้วไม่รอดก็เพราะตกใจกลัว แล้วก็ท้อ ไม่สู้ กินอาหารไม่ลง ใจคอห่อเหี่ยว-หดหู่ ซึ่งอันนี้คืออันตรายที่สุดสำหรับคนเป็นมะเร็ง

เพราะพอเราไม่กินอาหาร เราจะไม่มีพลังงานที่จะไปต่อสู้กับโรค กับยาเคมีที่หมอให้ เพราะฉะนั้น กำลังใจคือสิ่งสำคัญเลย



ทำไมต้อง “ชัย ราชวัตร”

ผมชอบวาดรูปนะ แต่ตอนแรกก็ไม่คิดหรอกว่าจะยึดเป็นอาชีพ แต่ด้วยสถานการณ์มันหนุน สมัยนั้นผมทำงานแบงก์ และผมเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองมาตลอด อินกับการเมือง ช่วงนั้นยุค 14 ตุลา นักศึกษาออกมาเดินเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เราก็อินกับขบวนนักศึกษา เลยเกิดอารมณ์ร่วม

พอดีมีพรรคพวกทำหนังสือพิมพ์ เขาก็ชวนไปทำ ความที่รู้จักสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว เขาเห็นว่าเราเก่งทางศิลปะ เขาก็เอาเราไปช่วยทำฝ่ายศิลป์ ตีดัมมี่ เขียน layout เพราะสมัยก่อนมันไม่มีพิมพ์ font จากคอมพิวเตอร์ไง ต้องใช้มือเขียนเอา

คนเป็นฝ่ายศิลป์ในหนังสือพิมพ์ ต้องออกแบบตัวหนังสือเก่ง เพื่อนก็เลยชวนให้เราไปนั่งออกแบบหัวหนังสือ มีเขียนภาพประกอบบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตอนนั้นทำอยู่หนังสือรายสัปดาห์ชื่อ “มหาราษฎร์”

หลังจากนั้น บก.เขาก็ถามว่า เขียนการ์ตูนเป็นไหม เราบอกไม่รู้ ไม่แน่ใจเหมือนกัน เขาบอกลองเขียนมาดูซิ เราก็เลยเขียน พอดูเสร็จ เขาก็บอกใช้ได้เลย มีอยู่ครั้งนึงเขาบอก ไม่ต้องหารูปขึ้นปกแล้ว เอารูปการ์ตูนขึ้นได้เลย ก็เลยทำให้เราเริ่มเป็นที่รู้จักในวงแคบๆ ตอนนั้น

พอหลัง 14 ตุลา หนังสือพิมพ์ก็มีออกมาเยอะ ทำให้ “มหาราษฎร์” ต้องปิดตัวไป เพราะเขียนข่าวค่อนข้างรุนแรง ออกแนวซ้าย หาโฆษณาลำบาก พรรคพวกหลายคนเลยไปทำเดลินิวส์ และเขาก็ดึงเราไปด้วย

คือผมโชคดีตรงนี้แหละ ไม่ต้องค่อยๆ ไต่เต้า พอออกจากตรงนั้นก็ได้ไปอยู่หนังสือพิมพ์อันดับ 2 เลย ทำไปได้สักพัก มีปัญหาภายใน เราก็ออกมาอยู่หนังสือพิมพ์อันดับ 1 เลย เป็นเรื่องของโชคด้วย

อาชีพเขียนการ์ตูนการเมืองเนี่ย มันอาภัพอยู่อย่างตรงที่ว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนึงก็จะมีคนเขียนการ์ตูนอยู่แค่คนเดียว ถ้าคนเก่ายังไม่ออกหรือยังไม่ตาย เราก็จะเข้าไปแทนไม่ได้ (ยิ้ม) เขาจะไม่ให้ความสำคัญว่า เขียนดีนะ มาอยู่กันหลายๆ คน จะไม่เป็นแบบนั้นเลยสมัยนั้น เพราะฉะนั้น โอกาสเกิดมันยากสำหรับคนเขียนการ์ตูน

ทีแรกผมก็ใช้นามปากกว่าว่า “ชัย” เฉยๆ แต่ด้วยความที่ในโรงพิมพ์ มีคนชื่อชัยหลายคน เพราะเราชื่อโหล (ยิ้ม) ก็เลยใส่ “ราชวัตร” เข้าไปด้วย

ถามว่าทำไมต้อง “ราชวัตร” เพราะตอนนั้นผมอยู่ที่นั่น คือมันเป็นเทรนด์ในยุคนั้นนะว่า ใครอยู่ย่านไหนก็จะเอามาเป็นนามปากกา มีทั้ง “อิ๋ว บางซื่อ” “โก้ บางกอก” “นุ้ย บางขุนเทียน” ฯลฯ ผมเลยขอใช้ “ชัย ราชวัตร”



เบื้องหลังแรงบันดาลใจ “ประเทศไทย = ทุ่งหมาเมิน”

อันนี้ต้องเท้าความไปว่า ตอนเขียนการ์ตูนชุดนี้ เป็นยุค “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นนายกฯ และเป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ถึงแม้จะให้เสรีภาพบ้าง แต่ก็ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ จะเขียนอะไรก็ต้องระวังมาก

ก็เลยคิดว่าสมมติตัวละครขึ้นมาดีกว่า ให้ประเทศไทยเป็น “หมู่บ้าน” แห่งนึง หัวหน้าหมู่บ้านก็คือผู้ปกครอง ซึ่งผมได้ความคิดแบบนี้มาจาก “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่ท่านเคยเขียนเปรียบเทียบแบบนี้เอาไว้ ในอีกยุคนึง ซึ่งเป็นยุคของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” เป็นนายกฯ

สถานการณ์มันคล้ายๆ กัน คือจะเขียนวิจารณ์ตรงๆ ไม่ได้ เลยต้องสมมติหมู่บ้านขึ้นมาหมู่บ้านนึง แล้วแกก็เขียนจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ และใช้ชื่อตัวเองว่า “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งสมัยท่านเป็นเสรีไทย ส่วนนายกฯ ที่เขียนในจดหมาย ชื่อ “ทำนุ เกียรติก้อง” ซึ่งเป็นชื่อแผลงของ “ถนอม กิตติขจร” ผมก็เลยเอาไอเดียนี้แหละ มาตั้งเป็น “หมู่บ้านทุ่งหมาเมิน”



ส่วนที่มาที่ไปของ “ทุ่งหมาเมิน” มาจากตอนนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ออกมาประกาศว่า จะพยายามคลี่คลายสถานการณ์เผด็จการ โดยให้มีการเลือกตั้ง ก็เลยตั้งกรรมการชุดนึงขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ พอร่างเสร็จ นักการเมืองเขาก็ออกมาวิจารณ์ว่า “อ่านแล้วหมายังเมินเลย” ก็เลยเอามาตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ (ยิ้ม)

และผมก็ตั้งคอนเซ็ปต์ไว้ว่า ให้ตัวการ์ตูนแต่ละตัวเป็นตัวแทนกลุ่มคนในสังคม อย่าง “ผู้ใหญ่มา” เป็นตัวแทนฝ่ายปกครอง เปรียบได้กับนายกฯ หรือรัฐมนตรี ส่วน “ไอ้จ่อย” ก็เป็นลูกบ้านที่ยากจน เสื้อไม่มีใส่ ตัวแทนคนในสังคมภาคอีสาน อยู่ในอากาศร้อนๆ แห้งแล้ง ก็เลยต้องนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว



เผย “สัญญาลับ” ระหว่าง “ไทยรัฐ-เดลินิวส์”


ผมเคยวาด “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” ลงเดลินิวส์มาก่อน พอออกจากที่นั่น วันรุ่งขึ้นไทยรัฐก็ส่งคนมาทาบทามผมเลย เพราะสมัยก่อนเดลินิวส์กับไทยรัฐ เขาเป็นคู่แข่งกัน หลังจากเจรจาไปรอบ 2 รอบ สุดท้ายผมก็ย้ายมาเขียนลงไทยรัฐ

ตอนหลัง 2 สำนักข่าวนี้เขาก็ประกาศสงบศึกกัน โดยที่เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์กับไทยรัฐ จะมากินข้าวกันเดือนละหน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กัน เลิกเป็นคู่แข่งกัน แล้วก็มีข้อตกลงว่าใครออกจากเดลินิวส์ ไทยรัฐต้องไม่รับ ใครออกจากไทยรัฐ เดลินิวส์ต้องไม่รับ (ยิ้ม) เพราะไม่งั้น คอลัมนิสต์หรือนักข่าวมือดีๆ จะเล่นตัว




[“ทองแดง” อีกหนึ่งชิ้นงานแห่งความภาคภูมิใจ]






สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Chai Rachawat” และแฟนเพจ “ชัย ราชวัตร”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น