โย่ว What's up! มิติใหม่ “ครูสอนภาษาไทย” แร็ปกระจาย “สอนสะกดคำ-ฟังสนุก-จดจำง่าย” ผุดไอเดียทำสื่อการสอนรูปแบบใหม่ดึงดูดความสนใจเด็กไทย แต่งเอง-ร้องเอง ด้านครูคนเก่ง เปิดใจ ลบภาพวิชาภาษาไทยแสนน่าเบื่อ หันทำเพลงแร็ปซะเลย ล่าสุดคนแชร์คลิปฯ ไปแล้วมากกว่าหมื่นครั้ง แถมยังชื่นชมนี่แหละ คุณครูตัวอย่าง!
ครูไทยยุคใหม่! “แร็ปได้-เต้นได้”
“ผมรู้สึกว่าวิชาภาษาไทย ถ้าสอนบรรยายปกติมันค่อนข้างจะน่าเบื่อ ถ้าเรามีอาวุธรูปแบบใหม่ นั่นคือการแร็ปที่จะทำให้เด็กสนใจมากขึ้น จากที่ไม่ค่อยฟัง ไม่สนใจ ตอนนี้ก็ตั้งใจเรียน ผมว่ามันเป็นการติดอาวุธให้ตัวเองในการสอนด้วย”
“ท็อป - อานนท์ แซ่เต็ง” ครูสอนวิชาภาษาไทย จากโรงเรียนชายล้วนชื่อดัง “เซนต์คาเบรียล” เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังกลายเป็น “ครูไอดอล” จากการอัดคลิปสอนสะกดคำภาษาไทยผ่านโซเชียลฯ จนเป็นที่ฮือฮาพร้อมได้รับคำชื่นชมจำนวนมาก ขณะที่ล่าสุดคลิปฯ ดังกล่าวมีคนแชร์ไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นครั้ง!!
จากการที่ทีมข่าวได้เข้าไปรับชมคลิปวิดีโอของครูวิชาภาษาไทยคนนี้ พบว่าเนื้อหาคลิปค่อนข้างสนุกและชวนให้ติดตาม โดยมีการแร็ปสะกดคำภาษาไทยที่มักเขียนผิดอยู่บ่อยๆ เช่น “กะเพรา” “อนุญาต” “มัคคุเทศก์” และอื่นๆ ซึ่งครูท็อปเองได้มีการเขียนแสดงทั้งคำที่เขียนผิดและคำที่ควรเขียนให้ถูกต้องไว้ด้วย
สำหรับแรงบันดาลใจในการทำสื่อการสอนรูปแบบนี้ ครูท็อปเล่าว่าเริ่มจากเห็นว่าเด็กๆ มีความสนใจแนวเพลงแร็ปกันจำนวนมาก ซึ่งหากตนสามารถนำเพลงแร็ปมาเข้ากับการสอนวิชาภาษาไทยได้ก็คงน่าสนใจไม่น้อย
“ไอเดียของผมเกิดขึ้นมาจากการที่เด็กๆ สนใจเพลงแร็ป ซึ่งเราสอนมัธยมโรงเรียนชายล้วนด้วย มันเริ่มมาจากในห้องเรียนเราเคยให้เด็กแต่งกลอน เราก็เห็นว่าเขาเขียนเนื้อเพลงส่งเป็นกระดาษสื่อสารกันในห้อง เราก็เลยสงสัยว่ามันคืออะไรก็ไปศึกษาเพิ่มเติมว่ามันคือเพลงแร็ป และช่วงนี้เด็กเขาก็ชอบ
เรารู้สึกว่าวิชาภาษาไทย ถ้าสอนบรรยายปกติมันค่อนข้างจะน่าเบื่อ เด็กสามารถหาความรู้ได้เอง แค่เปิดกูเกิ้ลเองก็ได้แล้ว แต่เราจะทำยังไงให้เราอยากเรียนมากกว่า นี่คือแรงบันดาลใจที่อยากทำอะไรให้แตกต่างจากอย่างอื่นบ้าง อยากให้เขาอยากเรียนและไปหาความรู้เพิ่มเองได้ด้วย
ตอนนี้เพลงแร็ปมันอยู่ในกระแส มันก็อิงกับที่เราแต่งกลอนด้วย มันเป็นคำสัมพันธ์กันก็สามารถปรับได้ และทำให้สอนเด็กๆ ได้ด้วยว่าเรียนวิชาภาษาไทยก็สามารถทำได้หลายอย่างนะ ไม่ใช่ฟังบรรยายหลักภาษาอย่างเดียวแล้วไม่ได้ใช้อะไร แต่ตอนนี้เขาก็จะเห็นว่าครูยังใช้ตรงนี้มาสอนหนังสือได้เลย”
แน่นอนว่าการเขียนเนื้อเพลงหรือร้องเพลงแร็ปสำหรับหลายคน ถือเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร ทว่า ครูท็อปบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าสำหรับเขานั้นง่ายทีเดียว นั่นเพราะครูวิชาภาษาไทยมีความสามารถในการแต่งกลอนได้อยู่แล้ว
“ตอนเริ่มต้นช่วงแรกๆ บอกก่อนเลยว่าผมแร็ปไม่เป็น ต้องหาคลิปที่เป็นเพลงแร็ปหรือรายการฟังบ่อยๆ จากนั้นดูว่าเขาแต่งยังไงให้มันดูน่าสนใจ ส่วนเรื่องเตรียมตัวในการแต่งเพลงมันก็ไม่ได้ยาก เพราะผมมีความรู้อยู่แล้วก็แค่มาลงสัมผัสแต่งให้มันน่าสนใจนิดหน่อย ไม่นานมากเพราะเราแต่งกลอนได้อยู่แล้ว เราเป็นครูภาษาไทย
ในคลาสเรามีเพลงให้นักเรียนร้องเป็นการสอนด้วยเพลงครับ ตอนนี้ผมสอนอยู่ชั้น ป.1 เด็กก็จะสนใจมากเวลาที่เราร้องเป็นเพลง ส่วนการอัดคลิปคืองานอดิเรกเป็นการอัดคลิปขำๆ แต่ก็ไม่คิดว่าคนจะแชร์เยอะขนาดนี้ (หัวเราะ) ปกติเวลาเรามีอัดอั้นตันใจหรือมีเรื่องราวที่อยากจะสื่อสาร
เช่น เรื่องลดโลกร้อน หรือช่วงนั้นที่มีหนังอเวนเจอร์เข้ามาแล้วคนสปอยด์กันเยอะมาก พอเราจะไปดูก็อยากให้คนเลิกสปอยด์ เราก็เลยร้องมาเป็นเพลงแร็ป ผมก็ลงไปขำๆ ในหมู่เพื่อน ซึ่งคลิปที่ลงในเฟซบุ๊กผมเป็นทำนองแร็ปหมดเลย ผมก็ไปหาบีทจากยูทูปที่เป็นบีทฟรี และนำมาแต่ง มาร้องเป็นแร็ปนั่นเอง”
เห็นได้ชัดเจนเลยว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากมีการใช้สื่อการสอนรูปแบบเพลงเข้ามาในคลาส ถือเป็นวิธีที่ช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกเหนือไปกว่านั้นคือความสุขที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และช่องว่างที่ถูกทำให้ลดน้อยลงระหว่างลูกศิษย์และคุณครู
“พอเราเริ่มทำเพลงแร็ปแล้วเขาสนใจ เขาสนุกเราก็ดีใจอยากสอนต่อ ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูว่าเหนื่อยขึ้น เพราะเราต้องเตรียมตัว ต้องร้องเพลง ต้องเต้น แต่ไม่เหนื่อยเลยครับ ผมสนุกขึ้นกว่าเดิม เด็กก็แฮปปี้กว่าเดิม อยากเรียนมากกว่าเดิม
ส่วนเราเองก็ไม่เหนื่อย ไม่ต้องมานั่งดุเด็กแล้ว ปกติถ้าเราดุ เขาก็จะก้มหน้าไม่สนใจ เคยสังเกตจากประสบการณ์ที่สอนมากว่า 5 ปี แต่ตอนนี้เหมือนเรามีอาวุธรูปแบบใหม่ นั่นคือการแร็ปที่จะทำให้เด็กสนใจมากขึ้น ทั้งเป็นการติดอาวุธให้ตัวเองในการสอนด้วย มันก็ท้าทายดีเหมือนกันนะครับ”
เด็กไทย “ไม่ตั้งใจเรียน” โทษที่ครูก่อนไปลงที่เด็ก
“เวลาเราสอนแล้วเด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่สนใจการเรียน เราจะรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ได้นะ เพราะเราคาดหวังให้เขาเรียนหนังสือ พอเขาไม่ตั้งใจเรียนเราก็รู้สึกโมโหหรือคิดว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน แต่พอมาคิดดีๆ ความผิดส่วนหนึ่งมันก็อยู่ที่เรา เราอาจจะสอนหนังสือน่าเบื่อ ผมก็จะเริ่มกลับมาโทษตัวเองมากกว่าที่จะไปโทษเด็ก”
ครูท็อปบอกเล่าปัญหาในห้องเรียนที่เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์การเป็นผู้สอนมากว่า 5 ปี โดยสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการที่เด็กนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในห้องว่าคนเป็นครูต้องย้อนกลับมามองการสอนของตัวเองก่อนเสมอ
“เท่าที่ผมสอนมา เวลาที่เด็กไม่ตั้งใจเรียน เราจะโทษตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกเลย เราจะคิดว่าวันนี้เราสอนไม่ดีเลย เราต้องปรับปรุงในครั้งหน้าว่าจะทำอะไรดี บางทีที่เด็กไม่ตั้งใจเรียนอาจเป็นเพราะเขาเบื่อ เขาไม่ได้เล่น เขาไม่ได้ปลดปล่อย เรามาทำให้คลาสเรียนมันสนุกดีกว่า
ยกตัวอย่าง เวลาเราเปิดการ์ตูนให้เด็กดู ทำไมเขาสนใจจังเลย ไม่พูด ไม่คุยกันเลย แต่ทำไมเราสอนแล้วเขาคุยกัน แสดงว่ามันไม่น่าสนุกไงครับ เราก็แค่ทำให้มันสนุกขึ้นและทำให้เขารู้สึกว่าอยากเรียน ผมก็ไม่เหนื่อยและมีความสุขมากเวลาสอน เขาเปลี่ยนจากคุยกับเพื่อน มาคุยกับเราแทน”
นอกจากนี้ครูท็อปก็ได้ช่วยสะท้อนปัญหาการที่เด็กไทยที่มักสะกดคำผิดอยูบ่อยๆ ซึ่งในฐานะที่เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยก็ได้ช่วยแนะนำการแก้ปัญหาให้กับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
“ผมว่าก็ประมาณหนึ่งนะครับ แต่คงไม่ถึงขั้นวิกฤติ ผมว่าแล้วแต่คนมากกว่า แต่สังเกตว่าเด็กที่อ่านหนังสือเยอะหน่อยก็จะสะกดไม่ผิด ปัญหาคือเด็กไม่ค่อยอ่านหนังสือก็จะสะกดผิด มันไม่ใช่ว่าคุณครูไม่สอน ปัญหาจริงๆ แล้วคือเด็กไม่ค่อยอ่านหนังสือก็เลยไม่รู้ว่าต้องสะกดยังไง
แต่คำที่เราแร็ปไปก็เป็นคำที่ผิดกันบ่อยเพราะเขาเข้าใจผิด ถามว่าเขาสะกดผิดเยอะไหมก็ไม่ได้เยอะนะครับ ในคำง่ายๆ ไม่ผิดอยู่แล้ว แต่คำว่า “อนุญาต” ที่ผมแร็ปไปจะผิดกันเยอะเลย หรือคำว่า “กะเพรา” หรือ “กระทะ” เขาจะรู้สึกว่ามันสับสน เราก็นำคำที่มันจำยากมาแร็ปให้เข้าใจง่ายๆ
หลังจากที่สอนสะกดคำไปก็มีฟีดแบ็กมาเหมือนกันนะครับว่า เขาจำง่ายขึ้น มันน่าเรียนและจำได้ ส่วนคลิปแร็ปในโซเชียลฯ ก็สามารถบอกคนทั่วไปได้ครับ เช่นคำว่า “ค่ะ” “คะ” “นะคะ” ที่เห็นบ่อยมากเลย ก่อนหน้านี้ก็มีแร็ปการใช้ “นะคะ” ไปด้วย คนก็แชร์เยอะเหมือนกัน
ส่วนตอนนี้ผมก็มีสอนวิชา Social Study คือการสอนวิชาสังคมเป็นภาษาอังกฤษ ปัญหาของเด็กก็คือจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมก็เลยแต่งแร็ปเป็นเนื้อหาที่มีคำภาษาอังกฤษและคำไทยปนไปด้วย เด็กเขาก็สนุก พอเอาคำตลกๆ มาให้เด็กร้อง เด็กสนุก เด็กก็จะจำคำศัพท์ได้”
สุดท้าย ครูท็อปได้กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนไว้ด้วยว่า การร้องเพลงแร็ปสะกดคำของตนเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการสอนสนุกๆ ที่ช่วยให้เด็กสนใจการเรียนมากขึ้น อย่างไรแล้วตนเชื่อว่าครูทุกคนมีการสอนตามแบบฉบับของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะหยิบความสนใจส่วนตัวมาใช้กับการสอนด้วยหรือไม่
“ปกติเวลาเห็นผมก็จะคิดว่าเป็นครูยุคใหม่ ครูแบบใหม่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสไตล์ไหน แต่เราจะไม่ค่อยซีเรียสกับเด็ก ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องฟังเราอย่างเดียว หรือตั้งใจตลอดเวลา ผมจะสบายๆ
แต่เน้นย้ำเรื่องระเบียบวินัยอยู่ตลอด เวลาที่เด็กทำอะไรที่เหลือเกิน ไม่มีมารยาท ตะโกน โวยวาย ปีนโต๊ะ เราก็จะเตือนเขาว่าแบบนี้ไม่ได้
ส่วนเรื่องของการสอน ผมว่าครูทุกคนมีสิ่งที่ชอบ-สิ่งที่ถนัดและความสามารถหลายๆ อย่าง แต่บางทีเราอาจไม่ได้นำมาใช้กับการสอน บางสิ่งที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะสอนได้ มันไม่น่าจะนำไปใช้ในห้องเรียนได้ แต่ถ้าเราลองมาประยุกต์ให้คลาสเรียนมันสนุก ผมว่าก็น่าจะทำให้เด็กไทยหรือการศึกษาไทยไปได้ไกล”
ข่าวโดย MGR Live
ขอบคุณภาพ FB : Arnon Saeteng
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **