เครียด-หงุดหงิด-ไม่มีสมาธิ! พฤติกรรมบั่นทอนคนวัยทำงาน กลายเป็น “ภาวะหมดไฟ” ที่ถูกจัดเป็น “ภาวะทางการแพทย์” รุนแรงที่สุดคือ พัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าจนอาจฆ่าตัวตายได้ จิตแพทย์ย้ำ อาการเช่นนี้มีหลายสาเหตุ สิ่งสำคัญองค์กรควรสร้างความสุขให้เพื่อนร่วมงานด้วย
อนามัยโลกรับรอง “ภาวะหมดไฟ” เป็นโรคชนิดหนึ่ง!!
“ภาวะหมดไฟ" กลายเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งไปแล้ว เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้โรคเบิร์นเอาต์ (burnout) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้ WHO ยังประกาศให้โรคเบิร์นเอาต์จัดอยู่ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ หรือ International Classification of Diseases หรือ ICD-11 ซึ่งเป็นคู่มือทางการแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อนส่งผลต่อสุขภาพของคนวัยทำงานในระยะยาว
ขณะเดียวกัน มตินี้มีขึ้นระหว่างประชุมใหญ่อนามัยโลก ครั้งที่ 72 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการให้คำจำกัดความของภาวะหมดไฟในการทำงาน ว่า เป็นอาการที่เป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานเรื้อรัง และยังได้รับการจัดการดูแล แบ่งลักษณะอาการได้ดังนี้
1.รู้สึกหมดพลัง หรือเหนื่อยล้า 2.รู้สึกว่าจิตใจห่างเหินจากงานมากขึ้น มีทัศนคติด้านลบต่องาน และ 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ เป็นการวินิจฉัยหลักที่องค์การอนามัยโลกรับรอง
หากจะพูดถึงเรื่องภาวะหมดไฟ หรือโรคเบิร์นเอาต์ นั้นเริ่มต้นมาได้อย่างไร ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายผ่านปลายสายว่า ภาวะหมดไฟ มีการศึกษามาค่อนข้างยาวนานประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว มีการศึกษามาเรื่อยๆ หลายร้อยงานวิจัย เช่น สาเหตุที่ทำให้คนหมดไฟ หรือผลกระทบที่เกิดจากภาวะที่คนหมดไฟ
แต่เนื่องจากบางครั้งยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับสาเหตุในสมัยก่อน ที่ยังต้องการงานวิจัยอยู่มาก จึงยังไม่ได้ประกาศเป็นโรค พอปัจจุบันงานวิจัยเพียงพอ มีสาเหตุชัดเจนหลายๆ อย่าง จึงมีการประกาศเป็นโรค ส่งผลทำให้คนรอบข้างเข้าใจภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิต และไม่มองข้ามเรื่องนี้ไป
“สาเหตุผู้มีภาวะหมดไฟในการทำงานจริงๆ แล้วมีได้หลายประการมากๆ ครับ โรคเบิร์นเอาต์มีตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับภาระงานที่บางครั้งก็หนักเกินไป ไม่สามารถจัดการงานที่ตัวเองมีอยู่ได้ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ปัญหาบุคลิกภาพในการทำงาน เช่น มีบุคลิกภาพที่ไม่สามารถจัดการกับงานได้ ไม่สามารถวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ปัญหาส่วนตัว เช่น มีปัญหาส่วนตัวที่อื่นมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ ก็มีความเครียดสะสม
สิ่งแวดล้อมในการทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนผูกพันในการทำงาน ปัจจัยเรื่องคนคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเอง ลูกน้องที่ทำงานเอง ก็มีส่วนอย่างมากว่า คนจะรักองค์กร รู้สึกดีต่อองค์กร อยากมาทำงานหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับคน สภาพแวดล้อม ถ้าที่ทำงานมันแออัด สภาพอากาศร้อนจัด อากาศไม่ถ่ายเท มีเสียงดังรบกวนตลอดเวลาการทำงาน ตรงนี้ก็ทำให้คนมีสิทธิที่จะรู้สึกไม่อยากมาทำงาน แล้วก็รู้สึกเบิร์นเอาต์ได้เหมือนกัน”
เช็กสัญญาณ-หาทางรักษาอาการ “หมดไฟในการทำงาน”
จากลักษณะอาการของโรคหมดไฟในการทำงาน ดร.นพ.วรตม์ ยังบอกถึงสิ่งที่รุนแรงมากที่สุดของโรคนี้ก็คือ การลาออก ซึ่งทำให้องค์กรแต่ละองค์กรของประเทศชาติที่รวมกันเป็นประเทศ ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ บุคลากรที่มีอยู่ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ผลผลิตที่ประเทศชาติควรจะได้ก็ลดลง
“รุนแรงมากที่สุดคือ ลาออก การออกจากงาน บางทีเราคิดว่ามันไม่มีอะไร การออกจากงานก็ออกจากงานเฉยๆ ไปทำงานใหม่ แต่จริงๆ แล้วถ้าไปดูตัวเลขการสูญเสียทางเศรษฐกิจ การที่คนเปลี่ยนงานบ่อยๆ หรือว่าออกจากงานบ่อยๆ ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศชาติมหาศาล มันสูญเสียมากนะ การที่คนเปลี่ยนงาน เพราะมันจะมีช่วงที่คนว่างงาน แล้วขาดบุคลากรที่จำเป็นไป
ความสูญเสียต่อตนเองอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเกิดปล่อยให้เป็นเรื้อรังนาน ก็อาจจะพัฒนาเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ แล้วความสูญเสียต่อองค์กร อันนี้เรื่องใหญ่นะครับ องค์กรหลายๆ องค์กรพยายามจะใช้ฝ่ายบุคคลในการประชาสัมพันธ์ที่จะทำให้คนอยู่กับองค์กรมากที่สุด องค์กรก็จะได้คนที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้อย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องหาบุคลากรใหม่เข้ามา เพื่อเริ่มงานกันใหม่”
ไม่เพียงเท่านี้ จิตแพทย์รายเดิมได้ชี้แจงว่า หากเป็นโรคเบิร์นเอาต์แล้วหาทางออกได้ จัดการความเครียดตัวเองได้ ทุกคนเข้าใจ ก็สามารถพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้ แต่หากมองจากคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ความเครียดหลักที่เกิดจากการทำงาน หลายคนอยู่ในสภาพเบิร์นเอาต์มาก่อนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนเริ่มพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องสังเกตตัวเองว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้นเบิร์นเอาต์เฉยๆ หรือพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าไปเรียบร้อยแล้ว
“เบิร์นเอาต์อาจจะไม่ทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเกิดอาการเบิร์นเอาต์ระยะเวลายาวนาน แล้วมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เข้ามาโดยที่เราไม่ยอมเคลียร์ปัญหาเบิร์นเอาต์เราสักทีก็อาจจะทำให้คนนั้นมีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางจิตเวชมากขึ้น หรืออาจจะถึงฆ่าตัวตายก็ได้ เพราะฉะนั้น ปัจจัยเบื้องหลังพวกนี้ ถ้าเราสามารถเคลียร์ได้เร็วที่สุดก็จะดี
เราสามารถดูแลตัวเองได้ ส่วนคนรอบข้างก็สามารถช่วยเป็นผู้รับฟังที่ดี ทำความเข้าใจ เพราะบางครั้งเราตัดสินไปก่อน มีคนมาปรึกษาว่างานเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ คนนั้น คนนี้ไม่ดี ไม่มีความสุขกับการทำงาน ทุกคนพูดว่าก็ต้องทำ ก็เจอเหมือนกันหมด คือ บางครั้งเราไม่ได้ฟัง แล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้ระบาย บางทีสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการรับฟัง ยอมรับฟังหน่อย ว่าเขาเบิร์นเอาต์จริงๆ ไม่มีความสุขจากการทำงานจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องให้เขาตัดสินใจ ถ้าเกิดไม่ไหวจริงๆ ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์
ภาวะหมดไฟ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจมากขึ้น แล้วสำรวจอารมณ์ตัวเอง ก่อนที่อาการจะรุนแรงไปมาก หรือสำรวจคนรอบข้างบ้าง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ถ้าเกิดเราอยู่ในองค์กรแล้วเราพยายามทำองค์กรนั้นให้เป็นองค์กรที่มีความสุข หน่วยงานนั้นก็เป็นหน่วยงานที่มีความสุข
สุดท้ายความสุขที่เพื่อนร่วมงานมีก็จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ซึ่งจะสะท้อนมาให้เรามีความสุขด้วย ไม่ใช่แค่เราทำให้ตัวเองมีความสุขอย่างเดียว ทุกคนไม่มีความสุข สุดท้ายความทุกข์คนอื่นมันก็จะสะท้อนกลับมาหาตัวเรา เพราะฉะนั้น เป้าหมายคือ เราช่วยกันทั้งองค์กร ให้ทั้งองค์กรมีคนที่เบิร์นเอาต์ตรงนั้นน้อยที่สุด แล้วทุกคนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **