จากนักแข่งสายโกคาร์ทสู่รถซูเปอร์คาร์ “ท็อป - ธนาตย์ เสถียรถิระกุล” พร้อมโค้ชผู้รู้ใจคือคุณพ่อแชมป์เก่าระดับตำนาน ล่าสุด สร้างชื่อเสียงให้วงการนักแข่งไทย ขึ้นโพเดี้ยมคว้าแชมป์ “ซูเปอร์คาร์” ระดับโลก ถือเป็น “คนไทย” คนแรกที่ได้ชัยชนะมาครอง!!
ลูกไม้หล่นใต้ต้น “ครอบครัวนักซิ่ง”
“แต่ก่อนผมชอบไปซิ่งรถบนถนนนี่แหละ พี่ของผมก็บอกว่าจะไปขับแบบนี้ทำไม ไปแข่งโกคาร์ทสิ เขาก็เลยซื้อรถโกคาร์ทให้ผม ผมก็เริ่มลงสนามตั้งแต่ตอนนั้นมา
พอแข่งไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากมาแข่งบนถนนอีกเลย มันก็เหมือนกับนักมวย พออยู่บนเวทีเราก็ไม่อยากลงมาต่อยตีข้างล่าง เพราะนั่นคือนักเลง มันจะรู้สึกมีเกรดกว่า”
“มงคล เสถียรถิระกุล” เจ้าของแชมป์นักแข่งรุ่นเดอะ ทั้งยังเป็นพ่อของ “ท็อป - ธนาตย์ เสถียรถิระกุล” ผู้คว้าแชมป์ระดับโลกมาหมาดๆ ในการแข่งขันซูเปอร์คาร์ ทว่า โค้ชผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขาทั้งหมดคือคุณพ่อ ซึ่งเป็นนักแข่งรุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกการแข่งขันที่สนามในยุโรป
“ตั้งแต่ยุคผม ถ้าเทียบเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถือว่าไปแข่งเมืองนอกยากมาก ผมเคยไปแข่งรถโกคาร์ทที่ประเทศฮ่องกง ที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย ปาร์ค งานนั้นถือว่าเป็นการแข่งระดับโลกเลย เราไปแข่งก็สู้เขาไม่ได้ มันก็ฝังใจเรามาตลอด ตอนนั้นเราสู้ฝรั่งไม่ได้ก็อยากลองไปสู้กับเอเชียด้วยกัน
พอลูกชายผม (ท็อป - ธนาตย์) เริ่มโตมาถึงอายุ 9 ขวบ ผมก็เริ่มให้เขาหัดขับโกคาร์ท จากนั้นก็ขับในประเทศอยู่ 2-3 ปี ก็เริ่มที่จะไปเมืองนอกแล้ว เริ่มที่ประเทศมาเลเซียก่อนเลย ตอนนั้นมีสนามโกคาร์ท ต่อด้วยประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าพูดจริงๆ ที่ยุโรปถือว่าเป็นเซ็นเตอร์ของกีฬาหลายๆ อย่าง
เช่น กีฬาฟุตบอลก็ต้องไปเตะที่ยุโรป การแข่งรถก็เหมือนกัน เซ็นเตอร์ของมันอยู่ที่ยุโรป มือเก่ง มือแชมป์โลกก็ต้องอยู่ที่ยุโรปเท่านั้น เราก็เลยถือคติว่าถ้าอยากจะเก่งก็ต้องไปแข่งกับคนเก่ง เราจะได้ตามคนเก่งไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว โกคาร์ทมันคือจุดเริ่มต้นของการขับรถแข่ง และมันก็เป็นกีฬาของครอบครัวด้วยเหมือนกันนะ
ทุกวันนี้พ่อ แม่ ลูก ต้องไปด้วยกัน สำหรับผมชอบเรื่องเครื่องยนต์ก็ทำเองบ้าง เราจะไปกันทุกอาทิตย์ ยุคสมัยนี้กีฬาประเภทนี้มันไม่ได้อันตรายเหมือนเมื่อก่อนแล้วครับ เดี๋ยวนี้ทุกอย่างพัฒนาไปเยอะแล้ว ไม่ว่าเรื่องของตัวรถ หรือตัวสนามแข่งเอง มันปลอดภัยมาก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไหร่”
ย้อนไปถึงช่วงที่เคยพ่ายแพ้ในสนามต่างชาติ คุณพ่อเล่าว่าความโหดของสนามในต่างแดนคือการที่ตนไม่คุ้นชิน ทั้งนักแข่งต่างชาติก็มีความสามารถและคุ้นเคยกับสนามในระดับโลกมาแล้วทั้งนั้น
“สมัยก่อนสนามแข่งบ้านเราต้องไปแข่งที่สวนสามพรานที่จังหวัดนครปฐมเป็นสนามเล็กๆ เราเหมือนกบในกะลานะ ข่าวสารเมื่อก่อนมันก็ไม่มี ไปแข่งที่ฮ่องกงตอนนั้นก็ไปไม่ถึงไฟนอล ตอนนั้นที่ผมตัดสินใจไปเพราะอยากเอาธงชาติไทยไปปักให้ต่างชาติเขาเห็นก็เลยสานต่อมาถึงรุ่นลูก
อย่างที่บอกครับ ผมอยากให้ต่างชาติรู้จักว่านี่คือไทยแลนด์ ผมกลัวว่าถ้าเขาถามว่ามาจากที่ไหน พอเราบอกไทยแลนด์ เขาก็จะถามว่าไต้หวันเหรอ เวลาเราไปแข่งเขาก็จะมีการปักธงแต่ละประเทศ พอเห็นว่ามีธงของเราปักอยู่ ก็รู้สึกภูมิใจตรงนั้น”
จาก “โกคาร์ท” สู่ “ฟอร์มูล่า”
“ช่วงแรกๆ ก็รู้เหมือนโดนบังคับนะครับ (หัวเราะ) เหมือนเด็กทั่วๆ ไปครับที่อยากเล่นกับเพื่อน แต่เราต้องซ้อมบ่อยมากทั้งเสาร์-อาทิตย์เลย แต่พอมาวันนี้ก็รู้สึกขอบคุณครับที่ผมมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะครอบครัวสนับสนุน”
“ท็อป - ธนาตย์” เล่าย้อนความวัยเด็กให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการนักแข่งรถ แม้ภาพที่จดจำได้ในวัยเด็กจะดูเหมือนว่าถูกคุณพ่อบังคับให้ขับรถแข่ง แต่สุดท้ายเขาก็รู้สึกภูมิใจที่การเดินทางตลอด 20 ปีทำให้เขากลายเป็นแชมป์นักแข่งในวันนี้!
“คุณพ่อจะพาผมไปสนามตั้งแต่ตอน 5-6 ขวบ ให้ได้ไปคลุกคลีที่สนามแข่งตั้งแต่เล็กๆ ตอนแรกๆ ผมก็จะกลัวนิดหน่อยนะครับ เหมือนตอนเด็กเวลาที่เราได้ยินรถเสียงดัง เราก็จะกลัว จะตกใจเล็กน้อย พอเริ่มจากโกคาร์ทเสียงมันก็เบาลง และเราก็ได้สนุกกับการขับด้วย
ผมว่าการแข่งโกคาร์ท ยิ่งแข่งเยอะก็ยิ่งได้ประสบการณ์เยอะ เช่น เราต้องทำยังไงบ้างก็เรียนรู้มาจากตรงนั้น ซ้อมไปด้วย แข่งไปด้วยก็ทำให้มีประสบการณ์ ผมแข่งครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบครับที่ประเทศมาเลเซีย ตอนนั้นผลงานก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เหมือนเราเจอกับคนที่เขาซ้อมสนามต่างชาติมาบ่อย เขาน่าจะชำนาญกว่าเรา
หลังจากนั้น 2-3 ปีคุณพ่อก็พาไปยุโรป น่าจะอายุสักประมาณ 13-14 ปี ที่รู้สึกว่ารักมันจริงๆ เป็นช่วงที่ได้ไปแข่งที่ยุโรป ผมรู้สึกว่ามันสนุก ยิ่งเวลาที่ไปเจอคนที่เขาเก่งกว่าเราก็อยากพัฒนาตัวเอง
แต่ต้องบอกว่าตอนนั้นผลงานก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมเรียนที่ไทยด้วย พอถึงเวลาแข่งก็ต้องบินไปแข่ง มีไปประเทศฮอล์แลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมนี
ที่ยุโรปการแข่งขันจะเคี่ยวกว่าบ้านเรา อย่างที่คุณพ่อบอกมีนักแข่ง 100 เอาแค่ 34 คนสำหรับรอบไฟนอล ซึ่งมันยากมากในการแข่งก็จะเป็นมาตรฐานอินเตอร์อยู่แล้ว”
แน่นอนว่าแรกเริ่มเขาเริ่มมาจากรถโกคาร์ท ทว่า เติบโตขึ้นก็ได้เริ่มชิมลางการลงแข่งรถฟอร์มูล่า ขณะที่ความต่างระหว่างโกคาร์ทและฟอร์มูล่ามีความยาก-ง่ายไม่เหมือนกัน แม้การแข่งขันในระยะแรกจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือว่าได้เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์
“ตอนนั้นผมอายุ 18-19 ปี ผมเริ่มจากฟอร์มูล่าได้ไปแข่งที่ยุโรปและประสบความสำเร็จด้านโกคาร์ทส่วนหนึ่ง เช่น ยืนแป้นรายการ WSK เรียกว่าเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปตอนนั้น รายการ CIK under u18 ก็ชนะบ้าง ผมก็อยากพัฒนาตัวเอง
ความท้าทายคือการเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างรถฟอร์มูล่ากับโกคาร์ท ซึ่งมีความต่างกันค่อนข้างมาก อาจจะต่างในเรื่องการขับ แต่เบสิกเหมือนกันสามารถนำจากโกคาร์ทมาใช้กับฟอร์มูล่าได้ สำหรับฟอร์มูล่าผมซ้อมไม่กี่ครั้งก็ลงแข่งเลยเหมือนกันกับโกคาร์ท
ส่วนผลงานช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ แข่งฟอร์มูล่า 2 ปีแรกที่ยุโรปก็ไม่ได้รางวัลเลย แต่ปีที่ 2 เราจะติดท็อป 10 มากขึ้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ให้เราเอาข้อผิดพลาดและจุดอ่อนกลับมาแก้ไขในสนามต่อไปครับ”
คนไทยคนแรก แชมป์ “ซูเปอร์คาร์”
“ที่ผ่านมาอาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่มาชนะจริงจังเป็นแชมป์ก็ในปีนี้แหละครับ”
นักแข่งไทยคนแรกที่คว้าแชมป์แข่งรถซูเปอร์คาร์ทางเรียบระดับโลก เปิดใจถึงการแข่งขันที่ผ่านมาว่าแม้จะยังไม่ถึงฝัน แต่ความพยายามทำให้มีทุกวันนี้ ซึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่เขาเองได้ขยับมาใกล้เป้าหมายมากขึ้น จนกระทั่งล่าสุดในรายการ “บลองก์แปง จีที เอเชีย ซีรีย์ 2019” ที่คว้าแชมป์มาได้อย่างน่าดีใจ
“อย่างปีที่แล้วก็ได้ยืนแป้นบ้าง แต่ยังไม่เท่าปีนี้ ปีนี้ผมเพิ่งได้แชมป์ที่รายการ “บลองก์แปง จีที เอเชีย ซีรีย์ 2019” ผมก็รู้สึกภูมิใจครับ เพราะการแข่งก็ไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเรา ต่อไปผมก็คิดว่าจะพัฒนาตัวเองให้ได้แชมป์ในรายการอื่นๆ มากกว่านี้ครับ”
อย่างที่ทราบว่ารายการบลองก์แปงฯ ถือเป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระดับโลก โดยจะต้องใช้นักแข่ง 2 คนร่วมทีมกันแข่งขัน ซึ่งการคว้าแชมป์ในครั้งนี้คู่หูอีกคนที่พากันไปสู่ความสำเร็จ คือ “ฟิลิป ฮัมเพรชท์” นักแข่งชาวเยอรมันนั่นเอง
“การที่จะได้แชมป์แต่ละรายการ ถ้าจะชนะเป็นแชมป์ได้จะต้องจบการแข่งขันก่อน เช่น เราต้องจบ 1 ใน 5 เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ การแข่งขันรถมันไม่ใช่การแข่งสนามเดียวแล้วจบ แต่มันแข่งเป็นปีต่อปี ถ้าเราชนสนามหนึ่ง เราก็อาจจะเสียโอกาสนั้นไป ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด”
จากตรงนี้คุณพ่อของเขายังอธิบายเพิ่มเติมถึงการให้คะแนนในแต่ละสนามด้วยว่า หากเทียบกับตอนที่คุณพ่อลงแข่ง อาจไม่ได้สนใจเรื่องการเก็บแต้มในสนามเอเชียเท่าที่ควร แต่ถ้าเป็นปัจจุบันไม่ว่าในสนามเอเชียหรือยุโรป ถือว่าใช้มาตรฐานที่โหดพอๆ กัน
“ระหว่างแข่งแต่ละสนาม เขาจะมีการให้คะแนน สิ่งสำคัญคือเราต้องมีแต้ม เพื่อที่จะได้แต้มเยอะที่สุดไปวัดกันในสนามสุดท้าย อย่างสมัยก่อนในรายการเอเชีย ผมก็ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้มันต่างไปจากสมัยก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้มือดีๆ ของยุโรปก็มาเอเชียมากขึ้น
ฉะนั้น มาตรฐานของเอเชียในรายการที่เขาแข่งก็ไม่น่าจะด้อยกว่ายุโรปมากมายเท่าไหร่ อย่างในรายการ บลองก์แปง นักแข่งมือโรงงานก็มาแข่งเยอะเหมือนกัน ยอมรับว่าเก่งเลย เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโลกนี้มีนักแข่งรถเยอะมาก มีเป็นพันเป็นหมื่นคน ถ้ามีสัก 100 คนที่เก่ง คุณจะเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้หรือเปล่า”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬาแข่งรถต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ ซึ่งคุณพ่อเองก็ได้แชร์ประสบการณ์การชนทุกโค้งมาเล่าสู่ให้ฟัง ทั้งยังฝากถึงผู้ปกครองที่สนใจอยากให้ลูกลองลงสนามแข่งด้วยว่า ควรเริ่มจากรถโกคาร์ทก่อน
“ผมว่าในสนามพีระเซอร์กิต ผมเก็บมาทุกโค้งแล้วนะ (หัวเราะ) ชนมาทุกโค้งครับ ชนก็ซ่อม ผมว่ามันไม่ได้เป็นอะไรง่ายขนาดนั้นนะ เพราะมันมีเข็มขัดนิรภัย มีอุปกรณ์ที่ป้องกันเราอยู่แล้ว ยิ่งรถสมัยนี้เรื่องไฟก็ไม่น่ากังวลเท่าแต่ก่อน เช่น ถ้าไฟลุกมันก็ดับเอง ส่วนตัวรถก็แข็งแรงกว่าสมัยก่อนเยอะ
สำหรับสนามแข่งชั้นหนึ่งเรื่องระบบความปลอดภัยเขาดีหมดแล้วครับ ผมว่าแข่งรถนี่เจ็บตัวน้อยกว่ากีฬาฟุตบอลอีกนะ (ยิ้ม) เตะบอลบางทีเจ็บขา แข้งขาหักก็มี แต่แข่งรถมีน้อยที่จะเจอแบบนั้น
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ถ้าชอบให้เริ่มจากการแข่งโกคาร์ทก่อน และให้ดูว่าคุณลูกชอบไหม ถ้ารู้สึกชอบก็ให้ไปตามสเต็ป ความชอบจะพาลื่นไหลไปตามทางของมันเอง”
สัมภาษณ์ : รายการ “พระอาทิตย์ Live”
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ : FB Tanart Sathienthirakul
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **