ค่ารักษาดุมาก คนไข้ไหวเหรอ!? ท้องเสีย-อาเจียน 3 หมื่น!! ย้อนถาม รพ.เอกชนชื่อดัง “เกินจริงไปไหม” หลังพบรายการผิดปกติหลายจุด ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์เตรียมเอาผิด รพ.ต้นเรื่อง เป็นบทเรียนกรณีตัวอย่างขูดเลือดประชาชน!! ด้าน “เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” เปิดใจ ปัญหาหมักหมมแก้ไม่หาย รพ.เอกชนคือนักปล้นดีๆ นี่เอง!
“ท้องเสีย-อาเจียน” โขกค่ารักษาแพงเวอร์!
“โรงพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท ตกใจมาก ทำไมมันเยอะขนาดนั้น จึงสอบถามไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน เพราะปกติตามโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี ค่าตรวจปัสสาวะเพียงครั้งละ 189 บาท แต่ต้องจ่ายถึง 940 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตอบว่าใช้วิธีเดียวกันเก็บและห้องตรวจเดียวกัน แต่ทำไมราคาถึงสูงกว่ากัน
ส่วนค่าน้ำเกลือ รวม 4 ถุง ราคาถุงละ 1,000 บาท เป็นน้ำเกลือที่แพงมาก ดิฉันคิดว่าเหมือนเป็นการขโมยเงินคนไข้ชัดๆ เราไม่ได้โวยวายเพื่อไม่ยอมจ่าย แต่เราเรียกร้องความเป็นธรรม คนในสังคมจะได้รู้ว่าจะพบเจอค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง”
ใครจะไปคิดว่าแค่ท้องเสีย-อาเจียน กลับต้องเจอค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 3 หมื่นบาท! คนไข้เปิดใจทั้งน้ำตาผ่านสื่อแห่งหนึ่ง หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ย่านรามอินทรา โดยผู้ป่วยเล่าว่าตนมีอาการปวดท้อง เนื่องจากรับประทานอาหารที่ทำทานเอง จากนั้นได้ซื้อยาจากร้านขายยา แต่อาการกลับไม่ดีขึ้น
ผู้ป่วยรายนี้ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ ซึ่งระหว่างที่รอพบแพทย์ก็ได้อาเจียนซ้ำอีกรอบ พยาบาลจึงให้น้ำเกลือจำนวน 2 ถุง และได้แจ้งค่าห้องคืนละ 1,700 บาท รวมอาหาร 3 มื้อแล้ว 3,640 บาทต่อคืน จึงได้ตัดสินใจนอนค้างที่โรงพยาบาล 1 คืน
จากนั้นวันถัดมาแพทย์ได้มีการวินิจฉัยและสรุปว่าผู้ป่วยมีกรดในกระเพาะมากเกินไป เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ โดยแนะนำให้นอนที่โรงพยาบาลอีก 1 คืน ระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเข้ามาสอบถามเรื่องประกัน ตนจึงแจ้งไปว่าถือสัญชาติอเมริกันและมีประกันชีวิตอยู่แล้ว
กระทั่งถึงวันที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่กลับแจ้งค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นรวม 3 หมื่นบาท ตนรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงนำไปสู่การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบโรงพยาบาลแห่งนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนไข้รายอื่น
ขณะที่ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเอาผิดโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ จากประเด็นการคิดค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยอาการท้องเสียสูงถึง 3 หมื่นบาท พร้อมอยู่ระหว่างการเชิญโรงพยาบาลเอกชนบางส่วน ที่พบว่ามีการขายยาในราคาแพงเกินจริง มาชี้แจงเหตุผลด้วย
สำหรับกรณีการรักษาอาการท้องเสียของคนไข้ที่กล่าวมา พบว่าโรงพยาบาลมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจำนวนมาก และมีการรักษาเกินจริงในหลายรายการ ส่วนกรณียาแพง พบว่ามีการคิดราคาแพงกว่าราคาที่จำหน่ายในท้องตลาดจริง ซึ่งจะมีการเรียกให้โรงพยาบาลที่ถูกร้องเรียนมาชี้แจง
ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถชี้แจงได้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรณีค้ากำไรเกินควร จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อลองตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน พบว่าเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานและยังคงแก้ไม่ตก โดยมีผู้ร้องเรียนกรณีลักษณะนี้ผ่านทางสายด่วน 1569 อยู่เสมอ คงต้องรอดูว่าจะมีการลงโทษเอาผิดเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างการขูดเลือดขูดเนื้อผู้ป่วยให้เป็นบทเรียนแก่โรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ ได้หรือไม่
แก้ไม่ตรงจุด “บทลงโทษ” มีไปก็เท่านั้น!
“เรียกว่าเป็นการปล้นโดยถูกกฎหมายก็ได้นะ กรณีนี้ราคาแพง แต่ควรจะแพงอย่างสมเหตุสมผล ปัญหาคือไม่มีหน่วยงานกลางที่จะฟันธงว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า บิลค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเลย แต่ละแห่งสามารถออกแบบได้เอง มันก็ยากที่จะตรวจสอบ”
“ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” สะท้อนปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงเกินจริงกับทีมข่าว MGR Live ในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ผู้ที่ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากค่ารักษาที่แพงเกินจริงมาโดยตลอด
“การแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก หรืออาจจะแก้ไขไม่ได้เลย เพราะกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกุมอำนาจในระดับนโยบาย เป็นที่เกรงใจของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงกลายเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า เมื่อเรื่องเงียบปัญหาเดิมๆ ก็เกิดขึ้นอีก
สำหรับเคสปวดท้องที่ถูกเรียกเก็บค่ารักษา 3 หมื่นบาท จริงอยู่ที่ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ นั้นเข้าใจได้ว่า กกร.กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ แต่ค่าบริการเหล่านี้ เช่น ค่าตรวจวิเคราะห์โรค ค่าตรวจวินิจฉัยพยาธิวิทยา ค่าบริการทางการพยาบาล ค่าบริการเหมาจ่ายการรักษาพยาบาล ค่าบริการฉีดยา
รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยใน ค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ ค่าตรวจรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพ คำถามก็คือ กกร.มีอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบและลงโทษหรือไม่ เพราะโดยปกติจะเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพนั้นๆ อย่างแพทยสภาและสภาพยาบาล”
อย่างไรก็ตามนักต่อสู้สิทธิเพื่อผู้เสียหายได้ยกตัวอย่างกรณีการเรียกเก็บค่ารักษาเอกชนที่แพงเกินจริงซึ่งหลักๆ แล้วเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของโรงพยาบาลเอกชน
“ที่ผ่านมามีกรณีของโด่ง-โพธิบุตร เจ้าของร้านทองใน จ.ขอนแก่น ได้พาพี่ชายเข้ารักษาโรคถุงลมโป่งพอง แล้วช็อกใน รพ.จนนอนโคม่า ญาติผู้ป่วยก็สงสัยว่าค่ารักษาพี่ชายที่สูงนั้นน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของ รพ.เอกชน จึงจ่ายไปส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งไม่จ่ายจนกว่าจะพิสูจน์ได้ อีกทั้งในบิลค่ารักษามีค่าจัดฟัน ทั้งที่พี่ชายนอนโคม่า เมื่อทักท้วงก็ทำเพียงลบรายการออก”
จากตรงนี้นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยว่า ทางออกสำหรับปัญหาการคิดค่าใช้จ่ายสูงเกินจริงจะพอมีวี่แววให้กับคนไข้ที่ใช้บริการในสถานพยาบาลเอกชนได้หรือไม่นั้น ด้านนักรณรงค์เพื่อสิทธิ์ผู้ป่วยอธิบายถึงบทลงโทษตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลที่มีอยู่ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทลงโทษ แต่อยู่ที่ตัวคนใช้กฎหมายในการเอาผิดมากกว่า
“เรื่อง พ.ร.บ.สถานพยาบาลมีที่กำหนดบทลงโทษเอาไว้ แต่ปัญหาคือตัวคนใช้กฎหมายจะกล้าลงโทษหรือไม่ เนื่องจากหลายกรณีหน่วยงานยังให้คนไข้ และญาติไปทวงค่ารักษาคืนจาก รพ.เอง ขณะที่นโยบายออกประกาศว่าต้องแจ้งราคาซื้อขายยาให้ประชาชนทราบ ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ ส่วนตัวคิดว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ครบทุกจุด
เรียกง่ายๆ ก็คือถ้าเราเกาไม่ถูกที่ มันก็คันทุกจุดปัญหานั่นแหละค่ะ เพราะในบิลค่ารักษาที่แพงลิบลิ่วนั้น ไม่ได้มีเฉพาะค่ายา แต่มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าหมอ ค่าพยาบาล ค่าคิดเกินจริง ค่าตรวจเกินโรคและรายการซ้ำซ้อน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาผิดพลาดด้วย
ดังนั้น ทางออกคือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ที่เป็น One Stop Service ต้องประกอบไปด้วยบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทุกรายการที่ปรากฏในบิลค่ารักษา และมีอำนาจหน้าที่ลงโทษด้วย
ปัจจุบันทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ไม่มั่นใจว่า กกร. (คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ) มีอำนาจหน้าที่เพียงใดในการตรวจสอบ และลงโทษมากน้อยเพียงใด ต้องไม่ลืมว่าในบิลค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิ่วนั้น อาจจะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายปกติ แต่อาจเกิดจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดได้ด้วย
ดิฉันจึงเห็นว่ารัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ขึ้นโดยตรงที่เป็นอิสระจากทุกหน่วยงาน รวมไปถึงการมีอำนาจในการระงับการฟ้องผู้ป่วยและญาติที่ค้างจ่ายค่ารักษา ในกรณีที่การตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้นอีกด้วย”
ข่าวโดย : MGR Live
ขอบคุณภาพ : imperial.ac.uk
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **