xs
xsm
sm
md
lg

นักประวัติศาสตร์โต้กระแส คืนศักดิ์ศรีให้ซีอุย “ฆาตกรคงเป็นแน่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ขอความเป็นธรรมให้ซีอุย หลังมีข้อถกเถียงว่า มนุษย์ผีดิบ ในตำนาน เป็น “ฆาตกร” ชำแหละศพ-กินอวัยวะจริง หรือเป็นเพียง “แพะรับบาป” ล่าสุดมีการล่ารายชื่อไปแล้วเกือบหมื่น ให้ย้ายร่างไร้วิญญาณของซีอุย ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช เพื่อทวงคืนความยุติธรรม ขณะที่นักประวัติศาสตร์เปิดใจ คดีความมีความคลุมเครือ เชื่อมีส่วนฆาตกรรม..แต่ไม่ใช่ทุกคดี!

กูรูวิเคราะห์ตำนาน “มนุษย์กินคน” หรือ “แพะรับบาป” !?

“ฆาตกรเขาคงเป็นแน่ แต่เป็นทั้งหมดหรือเปล่า อาจมีคดีที่ไม่สามารถปิดได้ก็โยนให้เขาด้วยก็เป็นไปได้ เขาไม่รู้เรื่องเขาก็รับไป เวลานั้นผมคิดว่ามันก็ไม่ค่อยกระจ่างเท่าไหร่”

'โรม บุญนาค' อดีตนักข่าว ซึ่งปัจจุบันเป็นนักคอลัมน์นิสต์ประจำคอลัมน์ประวัติศาสตร์ไทย เปิดมุมมองต่อเรื่องมนุษย์กินคน 'ซีอุย' ที่กำลังถูกหยิบกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาไปนานกว่า 60 ปี

แน่นอนว่าข้อถกเถียงเรื่องความเป็นฆาตกรตัวจริง-ตัวปลอม ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกพูดถึง ทว่า มีผู้จุดประเด็นเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ล่าสุดเรื่องราวของมนุษย์ผีดิบถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่มีการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในการจัดแสดงร่างไร้ลมหายใจของฆาตกรดังในตำนานไว้ในพิพิธภัณฑ์ ณ โรงพยาบาลศิริราช

“ผมเคยลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลที่เกิดเหตุในพื้นที่ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นถ้ำที่มีการพูดถึงว่าเขาได้พาเด็กเข้ามาชำแหละในถ้ำบนลานพระปฐมเจดีย์ ผมไปลงพื้นที่หลังจากที่เกิดเหตุไปแล้ว ฉะนั้น หลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุก็ถูกเก็บไปพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว

 
แต่ถามว่าจริง ไม่จริง เราไม่สามารถสรุปได้ หลังจากนั้นก็เกิดข้อโต้แย้งกันขึ้นมา แต่มันก็ค่อนข้างเลื่อนลอยว่าคดีนี้มันมีเรื่องคลุมเครือนิดหน่อย เนื่องจากว่าซีอุยพูดภาษาไทยไม่ได้เท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ว่าพูดอะไรมา เขาก็รับไว้หมด รวมไปถึงตำรวจสมัยนั้นถ้าปิดคดีได้เร็วมันก็ดี และมันก็หาหลักฐานอะไรมายืนยันชัดเจนไม่ได้ค่อยได้ด้วย

ส่วนตัวผมว่าเขาทำบางเรื่อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันไม่สามารถพิสูจน์ได้ บางคดีมีหลักฐาน เขาก็ยอมรับว่าเป็นเขา แต่การยอมรับของเขา ที่ตั้งข้อสงสัยคือเพราะเขาไม่รู้เรื่องหรือเปล่า มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”

เมื่อลองย้อนดูประวัติของซีอุยตามเรื่องราวที่ถ่ายทอดกันมา เขามีชื่อว่า 'หลีอุย แซ่อึ้ง' แต่ชื่อเรียกได้ผิดเพี้ยนไปเป็น 'ซีอุย' ตัวเขาเองเป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งได้ลักลอบเข้ามาเมืองไทยเมื่อปี 2489 โดยรับจ้างทำงานในสวนอยู่หลายแห่ง ก่อนก่อเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญด้วยการชำแหละร่างเด็กและควักอวัยวะภายในออกมากิน

ขณะที่สาเหตุการก่อเหตุมีการพูดถึงตั้งแต่การเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งความอดอยากและความโหดร้ายของสงครามนำมาสู่การเกิดภาวะจิตใจที่ผิดปกติไป บ้างบอกว่าซีอุยเกิดในครอบครัวเกษตกร ตอนเด็กมักถูกรังแกเนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก จนมีนักบวชแนะนำว่าถ้าอยากแข็งแรงกำยำต้องกินอวัยวะมนุษย์!

โดยการฆาตกรรมเหยื่อรายแรกเกิดขึ้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบฯ นั่นคือ 'ด.ญ.บังอร ภมรสูตร' อายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นเหยื่อรายแรกและรายเดียวที่รอดชีวิต ส่วนเหยื่ออีก 2 รายต่อมาเกิดเหตุขึ้นในพื้นที่ อ.ทับสะแกเช่นเดียวกัน

นั่นคือ 'ด.ญ.นิด แซ่ภู่' อายุ 10 ขวบ ถูกคนร้ายหลอกจากงานวัด พาไปฆ่าชำแหละศพใต้สะพานข้ามทางรถไฟ ถูกผ่าท้อง ตับ หัวใจหายไป และรายที่ 3 'ด.ญ.ลิ้มเฮียง แซ่เล้า' อายุ 7ขวบ ถูกเชือดคอจนถึงแก่ความตาย ต่อมาที่ อ.สามร้อยยอดในจังหวัดเดียวกัน คือเหยื่อรายที่ 4 'ด.ญ.กำหงัน แซ่ลี้' อายุ 10 ขวบ

 
ขณะที่เหยื่อรายที่ 5 เหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.กรุงเทพ นั่นคือ 'ด.ญ.ลี่จู แซ่ตั้ง' ในวัยเพียง 4 ขวบเท่านั้น สภาพถูกผ่าท้องเช่นเดียวกัน จากนั้นย้ายไปก่อเหตุฆาตกรรมเหยื่อรายที่ 6 'ด.ญ.ซิ่วจู แซ่ตั้ง' วัย 5 ขวบ ที่ จ.นครปฐม โดยการฆ่าชำแหละศพในถ้ำบนลานพระปฐมเจดีย์

กระทั่งเหยื่อรายที่ 7 คือเหยื่อรายสุดท้าย เป็น 'ด.ช.สมบุญ บุญยกาญจน์' ที่ฆาตกรรมใน อ.เมือง จ.ระยอง ก่อนที่ฆาตกรจะถูกจับได้พร้อมหลักฐานอวัยวะในถ้วยชาม แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใช่ของมนุษย์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของซีอุยกลายเป็นเรื่องราวที่ช่วงชิงพื้นที่หน้าหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับในเวลานั้น พร้อมกับภาพหาวอ้าปากกว้างซึ่งเป็นอาการที่เขามักทำเป็นประจำ สร้างความสยดสยองไปทั่วประเทศ

จนเมื่อการดำเนินคดีมาถึงจุดสิ้นสุด ซีอุยยอมรับสารภาพทั้ง 7 คดี ศาลชั้นต้นจึงปราณีลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่อัยการอุทธรณ์ คดีจบที่ศาลอุทธรณ์ซึ่งตัดสินให้ประหารชีวิต ซีอุยถูกนำตัวเข้าหลักประหารในวันที่ 16 กันยายน 2501ส่วนศพถูกนำไปดองไว้ในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ที่ รพ.ศิริราชในปีเดียวกัน

เห็นด้วย “สตาฟศพศึกษา” แย้งล่ารายชื่อถอนจากพิพิธภัณฑ์

เมื่อตำนานมนุษย์กินคน ในปี 2500 ถูกนำกลับมาพูดถึงใหม่ในปี 2562 ผ่านการล่ารายชื่อในเว็บไซต์ชื่อดัง 'change.org' โดยมีหัวข้อถกเถียงแสนดุเดือด คือ 'นำร่างซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน' โดยมีผู้สนับสนุนโครงการนี้ไปแล้วเกือบ 8,000 คน

เพื่อยืนยันคำตอบของเรื่องนี้ ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง 'วัลลี นวลหอม' อาจารย์ประจำวิชาประวัติศาสตร์ไทย สาขาสังคมศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเล่ากล่าวขานของซีอุยในที่ผ่านมา

โดยคำตอบของอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ไทยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับโรม บุญนาค ในเหตุผลที่ว่าซีอุยมีข้อบกพร่องเรื่องการสื่อสารภาษาไทย นี่อาจเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่ทำให้คำรับสารภาพมีการบิดเบือนไปด้วยเช่นกัน

“ความจริงทางประวัติศาสตร์พิสูจน์ยากมากเลยนะ เพราะซีอุยรับสารภาพหมดเลย ซีอุยไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย เพราะเขาเป็นคนจีนที่พูดไทยไม่ได้ ถ้าสังเกตจริงๆ เหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีเชื้อสายจีน อาจเพราะพอจะคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่า เรื่องนี้ก็พอจะเป็นไปได้

 
สำหรับจุดด้อยเรื่องภาษานี่สำคัญ ตอนสอบสวนต้องใช้ล่ามทั้งกระบวนการเลย ทุกอย่างผ่านล่ามหมด เขาเองก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้อุทธรณ์ ไม่ได้ต่อสู้อะไรเลยก็เป็นไปได้ว่ารับสารภาพทั้งหมด เนื่องจากไม่รู้ภาษา

เท่าที่เคยอ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น มันมีความขัดแย้งกัน แรกๆ ข่าวก็เล่นไปในทางเดียวกัน แต่หลังๆ ก็จะมีประเด็นว่าตับของเหยื่อบางคนไม่ได้หายไป และมีเรื่องของสถานที่ที่เกิดคดีที่ซีอุยเองอาจจะไม่ได้อยู่ละแวกนั้นซะทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาก็เดินทางไปในหลายๆ ที่เหมือนกัน”

นอกจากนี้ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ช่วยวิเคราะห์หลักฐานการย้ายที่อยู่บ่อยครั้งของซีอุยด้วยว่า เนื่องจากซีอุยเป็นคนจีน ด้วยความที่ชาวจีนเมื่อมีนามสกุลเดียวกันก็จะมีการนับเป็นญาติกัน นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขามีช่องทางในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้ด้วย

“หนึ่งในคำรับสารภาพในตอนแรกคือเขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ อ้างว่าอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเรื่องก็จริง แต่ไม่ได้ไปดูที่เกิดเหตุ ซึ่งตอนหลังกลับมารับสารภาพ ตรงนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่สารภาพคือความจริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่บ่งชี้ได้คือเขาอยู่ในทุกที่ในจังหวะที่มีการเกิดเหตุ เท่ากับว่าเขาก็เดินทางไปหลายที่อยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าให้ฟันธงเลยคิดว่าลำบากอยู่นะคะ เพราะส่วนตัวก็ยังไม่มั่นใจว่าซีอุยจะทำทั้งหมด แต่มีคดีสุดท้ายนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพบหลักฐานมัดตัว
ซึ่งถ้ากระทำจริงก็ยังไม่ได้กินชิ้นส่วนอวัยวะ เพราะจากหลักฐานพบอวัยวะในถ้วย แต่ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นของมนุษย์หรือของสัตว์ จะใช่ประเด็นว่าเขาเป็นแพะรับบาปไหม มันก็เป็นไปได้”

 
ขณะที่ข้อเรียกร้องคืนความยุติธรรมให้ซีอุยจากประเด็นการคงร่างไว้ในพิพิธภัณฑ์นิติวิทยาศาสตร์ของทางศิริราช ยังคงดำเนินต่อไป ด้านอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์กลับมองว่าเรื่องนี้มีข้อดีในแง่ของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ แต่ก็มีเรื่องความอ่อนไหวในประเด็นความเป็นสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“การที่คนออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับซีอุย เพราะในยุคนี้เป็นยุคที่กระแสของสิทธิมนุษยชนค่อนข้างตื่นตัว ถามว่าการทวงความยุติธรรมให้ซีอุยเป็นเรื่องที่ดีไหม ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน เพราะในมุมมองของความเป็นมนุษย์ก็สงสารเขาอยู่เหมือนกัน การที่เขาต้องอยู่อย่างนั้นมา 60 กว่าปีได้แล้ว

แต่ในทางกลับกันซีอุยเองก็เป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งเหมือนกันนะ สำหรับเรื่องของศีลธรรมมนุษย์ ถือว่าเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่พูดถึงเรื่องศีลธรรมและสอนคนได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จักพิพิธภัณฑ์นิติวิทยาศาสตร์ของศิริราช แต่ทุกคนเรียกตรงกันว่าคือพิพิธภัณฑ์ซีอุย

คนก็จะมาดูซีอุยว่าก่อคดีลักษณะนี้ หรือมีความผิดปกติของจิตใจหรือศีลธรรมยังไงบ้าง ในแง่การเรียนรู้ ถือว่าเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่พูดถึงเรื่องศีลธรรมและสอนคนได้ โดยเฉพาะถ้ามองในเรื่องของบุญบาป เขาอาจจะได้บุญที่มีส่วนในการสอนผู้คน ตัวของเขาเป็นกรณีตัวอย่างที่สอนเรื่องศีลธรรมให้กับคนรุ่นหลัง”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


ข่าวโดย MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น