xs
xsm
sm
md
lg

ชี้หน้าด่า ไล่ลงเวที! ชะตากรรมหมอลำกะเทย สู่ปมเหยียดเพศสภาพ "ห้ามสาวสองรำหน้าไฟ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากดรามาห้ามสาวประเภทสองรำหน้าไฟเพราะจะทำให้คนตายไม่ได้ขึ้นสวรรค์ อ้างตำนานคัดเฉพาะสาวพรหมจรรย์เท่านั้น โซเชียลฯ ลุกฮือเหยียดเพศสภาพ ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปธ.ชมรมหมอลำกะเทยเศร้า หดหู่กับกรณีดังกล่าว เปิดอก! ชีวิตสาวสองโดนเหยียดตลอดชีวิต เคยถูกชี้หน้าด่า ไล่ลงเวทีขณะทำการแสดงมาแล้ว นักวิชาการประวัติศาสตร์ชี้มนุษย์ต่างกันที่ “กรรม” ไม่ใช่ “เพศ”

เล่าตำนาน จริงหรือหลอก?! ก่อดรามา 

"การรำหน้าไฟความจริงเป็นเช่นไรนั่นก็คงไม่มีใครทราบ แต่มีผู้รู้เขาเล่าไว้ว่า มีพระมหากษัตริย์ กรุงพาราณศรีสวรรคต แล้วจะผ่านด่านไปสวรรค์ ด่านแรกจะถามว่า เคยทำบุญอะไรมาบ้าง ถ้าทำมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในชีวิตก็จะให้ผ่านด่านแรก แล้วไปด่านที่ 2 ซึ่งจะต้องหาคนมารำหน้าไฟ เพื่อเป็นการเปิดทาง แต่มีกติกาอยู่ว่า ต้องเป็นสาวพรหมจรรย์มารำหน้าไฟ

ฉะนั้น “ห้ามกะเทยรำหน้าไฟเด็ดขาด” ถ้าหากกะเทยมารำ คนนั้นจะไม่ได้ไปสวรรค์เด็ดขาด เพราะฉะนั้นเขาจึงคัดเลือกเอาเฉพาะเด็กหญิงสาวๆ พรหมจรรย์มารำ และพึงสังวรณ์ไว้ว่าใครที่จะเอากะเทยมารำหน้าไฟไม่ได้เด็ดขาด”

ดราม่าสนั่น! พิธีกรงานฌาปนกิจศพเล่าตำนานรำหน้าไฟจนก่อดรามาใหญ่โตจากคลิปของ เฟซบุ๊ก Kaweesak Phaengdan ได้มีการเฟซบุ๊กไลฟ์งานฌาปนกิจศพ 3 นางรำกำลังแสดงการรำหน้าไฟเพื่อแสดงความไว้อาลัยผู้เสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นมีผู้ชายที่ใจเป็นหญิงรำอยู่ด้วย จึงได้ก่อให้เกิดประเด็นวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสาวประเภทสอง ที่เข้ามาแย้งว่า การที่จะขึ้นสวรรค์หรือไม่ขึ้นสวรรค์ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ ไม่ใช่เพศสภาพ การพูดแบบนี้ถือเป็นการทำลายจิตใจอย่างรุนแรง

เช่นเดียวกับหมอดูต๊อกแต๊ก A4 นักพยากรณ์ดวงชื่อดังสาวประเภทสองที่หลายคนต่างให้ความเชื่อถือ ในอดีตก็เคยรำหน้าไฟเช่นกัน รู้สึกแย่กับกรณีนี้

“นี่รำหน้าไฟบ่อยมาก จบนาฏศิลป์มา งานตาก็รำ เพราะตาอยากเห็น เป็นพิธีกร อยู่แถวไหนเนี่ย กะลาไหนคะ”

ด้าน สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ก็ขอแสดงความคิดเห็นกรณีนี้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Somrit Luechai” ชี้มนุษย์ต่างกันที่"กรรม"ไม่ใช่"เพศ"

“อคติที่เกิดจากอิทธิพล"ลังกาวาท" ที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน เรียงตามลำดับสูงต่ำ คือ ชาย หญิง กะเทย เดรัจฉานฯ ลังกาวาทจะสอนว่าชายมีความเป็นมนุษย์สูงสุด นี่คือรอยด่างที่ยังอยู่ในพุทธไทยๆ ซึ่งขัดกับหลักของพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง มนุษย์ต่างกันที่"กรรม"ไม่ใช่"เพศ" ตราบใดถ้ายังล้างอคตินี้ไม่หมด เรื่องแบบนี้ก็จะมีเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ในคลิปดราม่าดังกล่าวเกิดขึ้นใน จ.มหาสารคาม โดยเด็กๆที่มารำหน้าไฟนี้ เป็นผู้หญิง 2 คน และชายที่มีจิตใจเป็นหญิง 1 คน จากข้อมูลเปิดเผยว่า น้องๆ กลุ่มนี้ถูกพิธีกรคนเดิมพูดในลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง

อาจารย์พิทยา แข็งฤทธิ์ ครูสอนนาฏศิลป์ โรงเรียนบ้านหนองกุง จ.มหาสารคาม และผู้ควบคุมการแสดง เปิดเผยว่า เด็กๆ กลุ่มนี้ เป็นนักเรียนที่โรงเรียนและเป็นสาวประเภทสอง ที่มารวมกลุ่มกันแสดงออกความสามารถทางการฟ้อนรำแบบจิตอาสา เมื่อมีงานพิธีฌาปนกิจศพหรืองานพิธีต่างๆ ทางเจ้าภาพก็จะติดต่อขอให้ไปช่วยรำในงาน ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่ได้เรียกค่าใช้จ่ายแล้วแต่ทางเจ้าภาพจะสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่น้องๆ

นางรำกลุ่มนี้ได้ออกแสดงความสามารถทางการฟ้อนรำ ซึ่งก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไรโดยส่วนตัวมองว่าการรำหน้าไฟ ใครๆ ก็รำได้ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนรำมากกว่าเรื่องเพศ และรู้สึกไม่พอใจกับคำพูดของพิธีกร เพราะเป็นเหมือนการเหยียดเพศ ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ตำนานความเป็นมาของการรำหน้าไฟนั้น สันติ หอมยมณ์ หรือ วาทิน ศานติ์ สันติ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยเขียนบทความถึงการรำหน้าไฟไว้ว่า จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ตายไปสู่สุขคติ และลดความเศร้าของผู้มาร่วมงาน

“การรำในพิธีศพ เมื่อมีคนตายนั้น เจ้าภาพซึ่งมีฐานะดีจะจ้างคณะรำมารำในงานศพ ในช่วงที่พระสงฆ์พักสวดอธิธรรมยามค่ำคืน อาจจะจัดรำทุกคืนหรือคืนสุดท้ายก่อนวันเผา และจัดให้มีรำก่อนที่จะเผาศพเรียกว่า "รำหน้าไฟ"

เพลงที่ใช้รำก็จะมีหลากหลายเช่นเพลงรำมอญ มโนราห์ ฉุยฉาย ตาลีกีปัส หรือรำโบราณคดี แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพ จุดประสงค์คือต้องการให้ดวงวิญญาณผู้ตายพอใจจะได้ไปสู่สุขคติ อีกทั้งยังเป็นการลดความเศร้าโศกให้แขกผู้มาร่วมงานอีกด้วย”

เจ็บปวด! ผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมโดนเหยียด
ธีระเดช ศรีชัย (หมอลำเพชรา พระธาตุขามแก่น, จงอางครางซอดแจ้ง) ประธานชมรมหมอลำข้ามเพศ
สำหรับประเด็นการเหยียดเพศสภาพนี้ ธีระเดช ศรีชัย (หมอลำเพชรา พระธาตุขามแก่น, จงอางครางซอดแจ้ง) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้สืบสานงานศิลป์แผ่นดินอีสานหอศิลป์ ประธานชมรมหมอลำข้ามเพศ และเยาวชนดีเด่นแห่งชาติสาขาศิลปะวัฒนธรรมปี พ.ศ.2558ผู้คร่ำหวอดในการแสดงพื้นบ้านอีสาน เปิดอกกับทีมข่าว MGR Live ด้วยความเศร้าใจ หดหู่ และรู้สึกสงสารกลุ่มน้องๆ นางรำ ชี้ตนเองซึ่งเป็นหมอลำกะเทยรุ่นแรกเข้าใจความรู้สึดอย่างดี เหตุเคยโดนดูถูก ชี้หน้าด่า ไล่ลงเวทีมาแล้วขณะทำการแสดงหมอลำ ทว่า หากจะถามถึงงการพูดจาไม่ดีระหว่างการรำหน้าไฟนั้น จากประสบการณ์ที่รำหน้าไฟมากว่าสิบปีก็ยังไม่เคยเจอพิธีกรกล่าวเสียหายแบบนี้

“ในขณะที่น้องๆ กำลังจะปฏิบัติงาน กำลังรำ เขาเป็นลูกหลาน เยาวชนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วเขาไปด้วยจิตใจที่ดี แต่กลับมาโดนบั่นทอนจิตใจ ดูถูกเพศสภาพในขณะที่ทำการแสดงอยู่ โดยส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับเด็กๆ เชื่อว่าน้องๆ จะต้องน้ำตาตกใน ช้ำใจ แต่เขาก็ยังเก่ง มีความสามารถ ทำการแสดงรำหน้าไฟจนเสร็จสมบูรณ์แบบ ถือว่า น้องๆเก่งมาๆเลย”

ประธานชมรมหมอลำข้ามเพศ ชี้ความเชื่อที่พิธีกรพูดอาจจะผิดก็เป็นได้ เพราะตามหลักศาสนาแล้ว การที่จะได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่ได้ขึ้นสวรรค์ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนที่กระทำ คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมตกนรก

“บางงานเขาก็เอาผู้ชายมารำ ผู้หญิงแท้มารำ สาวประเภทสองมารำก็มี มันเป็นความสบายใจของเจ้าภาพมากกว่า ในการอยากจะทำให้ผู้ตาย ให้ผู้ตายรู้สึกว่าไม่ได้จากเขาไปเฉยๆ ตอบแทนโดยการรำหน้าไฟเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตไป อย่างน้อยๆก็มีบริวาร มีลูกมีหลานมารำ มาแสดงความเคารพ แสดงความอาลัยให้เขาหน้าเมรุ ก่อนที่จะทำการฌาปนกิจศพของเขา เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ค่อนข้างจะฟังแล้วหดหู่ใจ และเสียใจ แทนเด็กๆมากเลย

ท่านพิธีกรอาจจะนึกไม่ถึงว่าคำพูดนี้บั่นทอนเด็ก ถ้าเป็นตัวดิฉันเองจะพูดว่า ในการที่นำกะเทยมารำนี้ อาจจะผิดตามตำนานนะคะ เพราะปกติแล้วต้องใช้สาวพรหมจรรย์รำ แต่วันนี้เราใช้กะเทยรำ อาจจะผิดตามตำรา แต่กะเทยที่มารำนี้ ได้แสดงตัวเป็นเสมือนสาวพรหมจรรย์ เพราะยังเป็นเด็กอยู่ ส่วนการแต่งกาย ตั้งแต่ทรงผม เสื้อผ้า หน้าผม เป็นผู้หญิง และจิตใจของเขาเป็นผู้หญิง ถือว่าผ่านสำหรับด่านนี้ เปรียบเสมือนเป็นสาวพรหมจรรย์ หรือเป็นกุศโลบาย เนื่องจากว่า ผู้ที่ฝึกซ้อมหาผู้หญิงแท้ไม่ได้ หรือผู้หญิงแท้อาจจะไม่มีความสามารถที่จะแสดงออกทางการร่ายรำ ฟ้อนรำเหมือนกลุ่มกะเทยลูกหลานเหล่านี้ ฉะนั้นให้กลุ่มกะเทยลูกหลานเหล่านี้ ถือว่าผ่านด่านเจ้าภาพ รวมไปถึงงานนี้ ประสบผลสำเร็จ สมบูรณ์ทุกประการ

ถ้าพูดแบบนี้เขาจะไม่รู้สึกทำร้ายจิตใจเลย เขาจะรู้สึกว่า เป็นการปลอบใจ หรือไม่พิธีกรอาจจะไม่พูดเรื่องนี้ไปเลย ไม่ยกตำนานนี้ขึ้นมาเลย”

นอกจากนี้ หมอลำเพชรา ยังได้เปิดอกเรื่องราวของตนเองในฐานะเป็นหมอลำสาวประเภทสองรุ่นแรก ก็เจอสถานการณ์ที่รู้สึกแย่ เมื่อโดนเจ้าภาพ รวมถึงคนดู ไล่ลงจากเวที เหตุเพราะเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศ”

“เราเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ เลยทราบดีว่า เจ็บปวด เพราะตัวเราเองก็เคยไปแสดงงานๆหนึ่ง ในขณะที่กำลังแสดงอยู่ โดนผู้ชมบ้าง เจ้าภาพบ้างไล่ลงเวที บอกว่า “ไม่เอาหมอลำกะเทย ไม่ให้กะเทยแสดง” อยากจะฟังเฉพาะชายจริง หญิงแท้ ไม่ใช่แค่งานหนึ่ง หรือสองสามงาน แต่หลายๆงานเลย จนทำให้ต้องก่อตั้งชมรมศิลปะการแสดงหมอลำข้ามเพศขึ้นมา

เรามองว่าไม่ว่าจะเพศไหนๆเขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างเต็มกำลังความสามารถของเขานะ กะเทยจะเป็นอะไรที่เซนซิทีฟมากหากพูดเหยียดเพศสภาพ สังเกตมั้ยกะเทยจะกล้าแสดงออก หากครูถามในห้องว่าใครจะรำ กะเทยจะพูดเลยว่า รำค่ะ แต่ไม่ได้คิดหรอกว่าจะรำออกมาสวยหรือไม่สวย แต่รับปากไว้ก่อนเลยว่าจะทำ หรือใครมอบหมายงานให้ก็จะบอกว่าทำค่ะ มีโอกาสกะเทยจะรีบรับปาก กรณีนี้ครูผู้ฝึกสอนอาจจะนำเด็กผู้หญิงมารำไม่ได้ เลยต้องใช้กะเทย เพราะเขาชอบความสวยงามอ่อนช้อยอยู่แล้ว”

สุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้สืบสานงานศิลป์แผ่นดินอีสานหอศิลป์ ขอให้กำลังใจเด็กๆที่ตกเป็นประเด็นดังกล่าว

“พวกเด็กๆเขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เขาไปรำเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยผู้เสียชีวิต ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เป็นผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรม หากไม่มีผู้สืบสานอย่างพวกเราไว้ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การรำหน้าไฟ ก็จะค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา”
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก หมอลำเพชรา พระธาตุขามแก่น จงอางครางซอดแจ้ง

ข่าวโดยทีม MGR Live


 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น