รับเลือดบริจาค..มั่นใจได้แค่ไหน!? สังคมวิจารณ์กรุ่น หลังพบผู้ป่วยลูคีเมียรับเลือดบริจาค แต่กลับได้เชื้อเอดส์เป็นของแถมมาด้วย ด้านครอบครัวใจสลายลูกชายป่วยใกล้หาย แต่ต้องมาตรวจพบเชื้อร้าย ขณะที่ รพ.เอกชนชื่อดังไม่ดูแลต่อ-ไร้ความรับผิดชอบ ส่วนอดีตแพทย์ชื่อดัง เปิดใจ พบ 1 ในล้าน แม้คัดกรองดีแค่ไหนแต่ก็พลาดได้อยู่ดี!!
เชื่อใจได้แค่ไหน!? อุทาหรณ์ “เลือด” บริจาค
สะเทือนใจวงการบริจาคเลือด! หนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว เข้าคอร์สให้เกร็ดเลือดกับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ทั้งหมด 14 ครั้ง อีกอึดใจเดียวใกล้หายดีเป็นปกติ กลับพบเชื้อเอดส์ในครั้งที่ 12 ครอบครัวสลดใจสูญเงินค่ารักษา 7 ล้าน ไร้คนรับผิดชอบ!!
“น้องเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุ 9ขวบ ตอนนี้อายุ 24 ปี ใช้ค่ารักษาไปแล้วเกือบ 7 ล้าน เริ่มแรกก็ให้คีโมตามปกติ แต่น้องเม็ดเลือดขาวต่ำก็เลยต้องเพิ่มเลือด ต้องทำทั้งหมด 14 ครั้ง อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่พอถุงที่ 12 น้องมีอาการทรุด หมอบอกน้องมีวัณโรคแทรก ต้องรักษาวัณโรค 6 เดือนจนหาย
หลังจากนั้นหมอที่รักษาก็มาถามแม่ว่า พ่อ-แม่มีเชื้อ HIV หรือไม่ ทางเราไม่มีอยู่แล้ว ผลสรุปคือน้องติดเชื้อ HIV จากผู้ที่มาให้บริจาค ซึ่งตอนที่เกิดเรื่องไม่ได้เอาความ แต่อยากให้โรงพยาบาลดูแลลูกให้ดีเท่านั้น”
เสียงครวญจากผู้เป็นแม่สะท้อนความโศกเศร้าผ่านรายการหนึ่ง ทางช่อง GMM25 หลังจากที่พบว่าลูกชายตนติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือดครั้งที่ 12 ซึ่งหากย้อนกลับไปช่วงที่เกิดเหตุ
แม้ทางครอบครัวจะไม่ได้ติดใจเอาความกับทางโรงพยาบาล เนื่องจากว่าเป็นการตกลงพูดคุยระหว่างครอบครัวและโรงพยาบาลว่าจะดูแลรักษาลูกชายต่อไป
แต่กลับมามีปัญหาภายหลังจากที่ลูกชายไม่ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากว่าใช้วิธีรักษา HIVด้วยสมุนไพร เป็นเวลา 2-3 ปี เมื่อกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง โรงพยาบาลกลับเรียกร้องให้แสดงประวัติและเอกสาร โดยอ้างว่าขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังบอกให้ไปใช้สิทธิ์ 30 บาทแทนที่จะแสดงความรับผิดชอบอย่างที่ตกลงกันไว้
ขณะที่ล่าสุดมีการปล่อยคลิปฯ เสียงระหว่างแม่ของผู้ป่วยและแพทย์ที่รักษาออกมา โดยใจความสำคัญได้มีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์แจ้งว่าเลือดของผู้บริจาคอยู่ในช่วง Window Period (ช่วงได้รับเชื้อ HIV แต่ยังไม่แสดงผลจากการตรวจ) โดยไม่ทราบว่าผู้บริจาคได้รับความเสี่ยงมาก่อน
เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือการตั้งคำถามต่อการคัดกรองเลือดของสภากาชาดไทยว่ามีความแม่นยำเพียงใด
ทั้งยังโจมตีไปยังโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังอีกด้วยว่าขาดความรอบคอบและไร้ความรับผิดชอบ ถึงแม้โอกาสในการเกิดกรณีลักษณะนี้จะอยู่ที่ 1 ในล้าน แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้รับบริจาคพอสมควร
“โรงพยาบาลไม่มีการตรวจเลือดหรือว่าเป็นเลือดปกติหรือไม่ การรับบริจาคเลือดก็ต้องส่งตรวจก่อน ก่อนที่จะนำมาให้แก่ผู้ป่วย จะมาบอกว่าผู้บริจาคเขาไม่บอก มันไม่ได้นะ โรงพยาบาลต้องตรวจเอง แย่มากๆ แบบนี้ถูกเรียกค่าเสียหายแน่ๆ บกพร่องนะ ชีวิตคนนะนั่น”
“น่าสงสารน้องมาก โรงพยาบาลแย่มาก ไม่ควรปัดความรับผิดชอบและต้องรักษาด้วยยาที่ดีที่สุด เพื่อให้น้องหายป่วยอย่างเด็ดขาด และต้องชดใช้เงินเยียวยาอย่างเหมาะสมด้วย”
“จริงๆ โรงพยาบาลรับเลือดมาตรวจเช็กตามขั้นตอนอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าคนที่น่าตำหนิที่สุดคือผู้มาบริจาคเลือด ในเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่ควรบริจาคเลือด เพราะถ้าเพิ่งรับเชื้อมาก็จะตรวจไม่เจอ”
แน่นอนว่าประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมต่างต้องการคำตอบ ขณะที่ด้านโรงพยาบาลต้นเรื่องยังไม่ได้ออกมาแถลงการณ์หรือแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวผู้ป่วยใดๆ ซึ่งคงต้องรอให้ทางโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อไป
ไม่มีอะไร 100% ทางการแพทย์!!
“มันไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วครับ การตรวจ-การคัดกรองมันเป็นเพียงวิธีสกรีน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่จะไปถึงคนรับเลือดให้ได้น้อยที่สุดเท่านั้นเอง”
'จ่าพิชิต ขจัดพาลชน' อดีตแพทย์เจ้าของแฟนเพจดังสายดาร์ก ช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคำถามของสังคม ทันทีที่ทีมข่าว MGR Live ติดต่อไป จ่าพิชิตสะท้อนจุดอ่อนของเรื่องนี้ว่า แม้จะมีระบบการคัดกรองเลือดสำหรับการรับบริจาคอย่างถูกต้องตามขั้นตอนเพียงใด แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดช่องว่างพบกรณีลักษณะนี้อยู่ดี
“ปกติเวลาคนไปบริจาคเลือด ทางสภากาชาดไทยจะมีการตรวจอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่หาเชื้อ HIV อย่างเดียว แต่มีการหาเชื้อต่างๆ ด้วย แต่ประเด็นคือการตรวจทุกอย่างไม่ใช่ทำออกมาแล้วจะร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีโอกาสที่จะมีช่องโหว่ในการเกิดความผิดพลาดได้ด้วย
ยกตัวอย่าง กรณีที่คนที่มาบริจาคเลือด ซึ่งได้รับเชื้อมาหมาดๆ แต่ไม่กล้าไปตรวจเลือดกับทางคลีนิกหรือโรงพยาบาล ก็จะมีกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าถ้าไม่กล้าไปตรวจเลือดก็ให้ไปบริจาคเลือด ถ้าเลือดผิดปกติสภากาชาดก็จะส่งจดหมายมาเอง แต่วิธีนี้อันตรายมาก
เพราะระยะมีเชื้ออยู่ในตัวแต่ตรวจหาไม่เจอ เรียกว่า Window Period คือร่างกายยังไม่สามารถสร้างแอนตี้บอดี้ให้เพียงพอที่จะตรวจเจอได้ ซึ่งถ้าอยู่ในระยะนี้ก็จะทำให้เลือดเล็ดลอดการตรวจไปได้ ขณะที่ตามสถิติอาจมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้
ตามมาตรฐานประเทศอเมริกายอมรับว่ามีผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อ HIV จากการรับเลือดได้ประมาณ 1 ใน 1.5 ล้านคน สำหรับกรณีน้องที่เป็นข่าว เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าการตรวจคัดกรองในคลังเลือดยังไม่พัฒนาเหมือนในปัจจุบัน
ผมสมมติฐานว่าคนที่มาบริจาคเลือดอาจอยู่ในระยะ Window Period คือเลือดมีเชื้อแต่ไม่มีภูมิต้านทานมากพอที่จะตรวจสอบได้ในเวลานั้น มันอาจจะเล็ดลอดผ่านขั้นตอนการตรวจไปได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่พบได้ในหน่วยคัดกรองเหล่านี้อยู่แล้ว
ขณะที่ปัจจุบันนี้ได้พัฒนาด้านการตรวจใหม่ๆ เข้ามา เช่น วิธีตรวจแบบ NAT เป็นวิธีที่ใช้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งช่วยให้การคัดกรองเลือดมีความแม่นยำ และลดระยะ Window Period ให้น้อยลงได้ เช่น เมื่อก่อนเราอาจต้องใช้เวลา60-90 วันกว่าจะรู้ผล แต่วิธีนี้จะลดเหลือ 11 วันเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี จ่าพิชิตได้ทิ้งท้ายถึงประเด็นดราม่าสังคมว่าบทเรียนครั้งนี้คงต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เข้ามาให้บริจาคเลือด ซึ่งการให้ความรู้ต่อการบริจาคเลือดต้องทำให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญของแบบสอบถามที่สภากาชาดไทยกำหนด นั่นก็เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้
“อย่างที่ผมบอกว่ามันไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกวิธีที่สามารถทำได้คือการรณรงค์กับคนที่จะมาบริจาคเลือดว่า การที่คุณอยากตรวจเลือดก็ไปตรวจที่โรงพยาบาลสิ ไม่ใช่ไปทำแบบนี้ มันไม่ใช่การช่วยคน แต่เป็นคนยืมมือสภากาชาดไทยเพื่อเป็นเครื่องมือแค่นั้นเอง
เพราะเจตนาคุณไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้อยากช่วยคนแต่แรกอยู่แล้ว การบริจาคเลือด ผมอยากให้เป็นเรื่องของคนที่มีความพร้อม มีเจตนาที่อยากจะช่วยคน ซึ่งต้องประเมินตัวเองได้ว่าคุณได้ไปสัมผัสความเสี่ยงมาหรือเปล่า และบอกสภากาชาดไปตามตรงก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้มากที่สุด”
ข่าวโดย ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **