ลากเข้าบูท หว่านล้อมด้วยคำพูด!? ธุรกิจขายคอร์สเสริมความงาม ดักหน้าดักหลัง พร้อมพฤติกรรมแบบคุกคาม ที่กำลัง “ยัดเยียดขาย-ดูถูกด้วยคำรุนแรง” สังคมตั้งคำถาม นี่หรือกลยุทธ์การขาย กูรูด้านการตลาดชี้ ร้านต้องทำยอดเพื่อโกยเปอร์เซ็นต์ จึงเป็นที่มาของการขายแบบไร้จรรยาบรรณ!!
“ใจอ่อน-ขี้สงสาร” เหยื่อโอชะของคลินิกความงาม
ผู้หญิงเดินห้างฯ ต้องเคยเจอ! หรือผู้ชายเองก็ไม่เว้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คอร์สเสริมความงามเคยเกิดเหตุการณ์ตื๊อขายคอร์สให้ลูกค้า แต่นับวันยิ่งหักข้อขึ้น วิธีการของคลินิกทั้งหลายที่ใช้คำพูดไม่ให้เกียรติอีกฝ่าย อย่างเจ้าของเฟซบุ๊ก “Mini'Mo Pompom” ที่ไปเดินในห้างแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า แต่กลับเจอพนักงานที่มาตั้งบูทขายคอร์สทำหน้าพูดไม่ดีใส่
“โดนบูธคลินิคเสริมความงามเรียกไปคุย เบื้องต้นพยายามปฏิเสธแล้ว แต่เขาบอกว่า ใช้เวลาไม่นาน ขอแค่ชื่อก็ได้ เขาพาไปนั่งที่โต๊ะ พี่ผู้ชายมาแนะนำโปรฯ เราบอกไม่มีเงิน พี่เขาบอกว่า ไม่เป็นไรฟังก่อน ฟังเสร็จไม่เอา บอกไม่สะดวกก็ได้ ไม่ซื้อไม่เป็นไร แล้วอธิบายบลาๆ บทสรุป จะให้เรามัดจำคอร์ส 100-200 ก็ได้ จากราคาเต็ม 25,000 บาท เราคิดว่ายังไงก็ไม่ทำ”
หลังจากนั้นก็ได้มีพนักงานผู้หญิงอีกคน มาคุยเพิ่ม กระทั่งเริ่มมีการพูดจาแรงๆ ใส่เธอว่า อายุ 24 รูขุมขนกว้างขนาดนี้ ทำไมไม่ทำ ปล่อยไว้จะยิ่งแย่ ไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน ซึ่งเธอก็ยังปฏิเสธเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก แต่ทางร้านก็พูดว่าเงินหลักร้อยไม่กระทบค่าขนมหรอก ทั้งยังชวนให้มาผ่อนจนครบ แล้วค่อยมาทำในคอร์สที่เสนอขาย
ส่วนเหยื่อสาวคนเดิมยังคงยืนยันว่าไม่มีเงินจ่าย เพราะแฟนเป็นคนเก็บเงิน ไม่มีติดตัว หรือบัญชี จะซื้ออะไร ต้องบอกเขาก่อน ทำให้พนักงานตอบกลับด้วยคำด่ารุนแรงว่า "กินข้าวหรือกินหญ้า มีเงินเอาเงินให้ผู้ชายเก็บหมด เนี่ยมันไม่ให้ทำหรอก ถ้าทำแล้วเธอสวยขึ้น มันกลัวเธอจะมีผู้ชายคนอื่น แล้วตัวเงินตัวทองก็จะไม่อยู่กับมัน”
ไม่เพียงเท่านี้ ประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เคยเจอบูทเสริมความงามตามสถานที่ต่างๆ ต้องเจอคำพูดที่ดูถูกของพนักงานทั้งการบอกลูกค้าแบบแรงๆ ว่า ไม่กลัวหน้าเหี่ยวหรอ อายุแค่นี้แต่มีรอยคล้ำขนาดนี้, น้องไม่รักตัวเองหรอ ถ้ายังอ้วนแบบนี้โรคเยอะนะคะ, ผิวหน้าเหมือนคนอายุ 60-70 ต้องบำรุงด่วน
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้กรณีของผู้บริโภคอย่าง “ฉัตรธิดา โยประทุม” ก็ได้เล่าประสบการณ์ที่เคยเจอ จากการทำทรีทเม้นต์หน้าในครั้งแรกที่ไปทำ ได้ใช้บริการห้อง VIP ครั้งต่อมาได้เพียงห้องเล็กๆ ธรรมดา ทั้งยังมีพนักงานมาขายคอร์สต่อในห้องทรีทเม้นต์ และถามถึงบัตรเครดิต กระทั่งไปค้นกระเป๋านำบัตรไปเช็ควงเงินเอง ซึ่งมาทำแต่ละครั้งประมาณ 15,000 - 25,0000 บาท
“มันไม่ได้แตกต่างจากที่เราไปทำสปาข้างนอกครั้งละ 2-3พันบาทเลยนะ ข้างนอกดีกว่ามากด้วยซ้ำ ที่สำคัญไม่ได้ความสบายใจ ความผ่อนคลายอะไรเลย เราจ่ายเงินแพงขนาดนั้น ควรมีความสุขกว่านี้ นี่ต้องค่อยมาปฏิเสธเซลล์ทุกครั้งเลย และยังไม่เลิกเข้าไปตื๊อขายในห้องทรีทเม้นต์ มาตลอด ปฏิเสธทุกอย่าง บัตรเต็ม แฟนไม่ให้ซื้อ จนในที่สุด เราไม่ไหวล่ะ พี่ไม่โอเคค่ะน้อง ที่นี่บริการห่วยแตกมาก พี่ไม่มีความสุขหรือผ่อนคลายเลย พี่ยกเลิกค่ะ ไม่เอาแล้ว”
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีเพียงกรณีข้างต้นที่โดน อย่างคนในสังคมโซเชียลฯ ก็เคยเจอประสบการณ์โดยตรงที่ไม่ดีจากบูธ จ้องแต่จะยัดเยียดคอร์สต่างๆ ชักชวนให้กรอกรายละเอียดโดยใช้เวลาไม่นาน แต่หากปฏิเสธกลับถูกมองด้วยสีหน้าไม่ดีทั้งยังพูดจาดูถูกอีกด้วย จนทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการมาเดินห้างเพื่อเสพความสุขกลับไม่สุขอีกต่อไป เมื่อต้องคอยมาเดินหลบบูธเสริมความงามต่างๆ อยู่ตลอด
“เดินห้างทุกอาทิตย์ เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมาก ทางห้างควรมีมาตราการไม่ให้คลินิกเสริมความงามที่ออกมาตั้งบูธเหล่านี้ กระทำเช่นนี้กับลูกค้าที่เดินผ่านไปมา ถ้าเขาสนใจก็จะเดินเข้าไปสอบถามเอง นี่แค่เดินผ่านไปมาก็ยัดเยียดให้ทิ้งเบอร์โทร รับวอชเชอร์ นั่งคุยกรอกรายละเอียด คือต้อนให้จนมุมเพื่อจะขายของ บอกว่าไม่สนใจจนเดินผ่านไป ยังได้ยินเสียงพนักงานด่ากลับมา ทำแบบนี้ได้ด้วยหรอคะ ห้างควรคิดถึงภาพลักษณ์ของห้างให้มากกว่าการจะเอากำไรจากค่าเช่าพื้นที่นะคะ”
“ขอยืนยันอีกเสียง ผมไปทุกวันเพราะส่งของ ยืนยันเลยว่าบูทที่ห้างพวกนี้ชอบยัดเยียดและเบียดเบียนคอร์สต่างๆนาๆ ให้กับคนที่เกรงใจไม่กล้าพูด ไม่กล้าปฏิเสธ ผมไม่ได้คิดไปคนเดียวแน่ๆ ใครจะลองเชิญมาเดินดูได้เลย จะโดนแบบที่เจ้าของโพสต์โดนจริงๆ เวลาผ่านคนพวกนี้ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีทุกครั้ง สีหน้าแววตาที่ตอ... มาก เราจะต้องปฏิเสธไปเลยเสียงหนักแน่นแบบไม่ต้องเคอะเขิน ว่าไม่เอาครับ"
หลังจากที่เรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป ทางห้างสรรพสินค้าได้ดำเนินการยกเลิกสัญญากับเจ้าของบูทแล้ว ขณะที่ทางร้านเองก็ได้ดำเนินการขั้นสูงสุดให้พนักงานคนดังกล่าวพ้นจากหน้าที่ในความผิดร้ายแรงเช่นนี้
ชวนคุย-เดินตาม สารพัดเล่ห์เหลี่ยมการทำยอด!
เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดของสถานเสริมความงาม ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ได้อธิบายว่า บูทเสริมความงามทั้งหลายจะต้องมีการทำยอดเพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่น แต่ด้วยเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ดี ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะปฏิเสธสถานความงามดังกล่าวด้วยเช่นกัน
“พนักงานแบบนี้เขาจะได้เงินต่อวันน้อย แล้วจะได้เยอะต่อเมื่อหาลูกค้าได้แต่ละหัว ถ้าคุณชวนลูกค้าไปทำหน้าได้ ก็จะได้เงินต่อหัวครับ ก็อยู่ด้วยค่าคอมมิชชั่น ก็หาวิธีชวนคน ถ้าไม่ได้เลย รายได้คุณก็ได้แค่ค่าจ้างต่อวันซึ่งมันน้อยไง เขาก็หยุดไม่ได้ แบรนด์พวกนี้มันเกิดง่าย คุณดังขึ้นมานิดเดียวคุณก็เกิดได้ แต่ขณะเดียวกันคุณจะยืนยงคงกระพันมันลำบาก ธุรกิจมันเปลี่ยน อุตสาหกรรมมันเปลี่ยนจนปรับตัวไม่ทัน
ถ้าเทียบกับคนยุคก่อนทุกธุรกิจ หลายๆ ครั้งไม่ได้ถูกเทรนด์ถึงวิธีการเข้าหาลูกค้าต้องทำยังไง วิธีการพูดจากับลูกค้าทำยังไง วิธีการชักชวนลูกค้าทำยังไง แล้วคนพวกนี้จะมีเป้า แต่ตอนนี้ถ้าใครทำแบบนี้ ก็จะถูกนำลงในโลกโซเชียลฯ ก็จะทำให้แบรนด์นั้นเสียหาย ห้างก็จะต้องเข้มงวดกับแบรนด์พวกนี้เหมือนกันในการเข้าหาลูกค้า เพราะฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่า สร้างความรำคาญให้แก่ลูกค้า”
อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
ไม่เพียงเท่านี้ กลยุทธ์สำคัญของบูธเสริมความงามเป็นแบบฮาร์ดเซลล์ (การขายแบบยัดเยียด) แล้วชักชวนคนที่ค่อนข้างจะชักชวนได้ง่าย บางคนเวลาโดนเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลัง จึงไม่รู้จะปฏิเสธยังไง ซึ่งตัวผู้บริโภคเองก็จะต้องฝึกปรือเรื่องพวกนี้เหมือนกัน ถ้าหากไม่ใส่ใจก็ไม่ต้องหยุดคุย แล้วเดินหนีออกไป
แต่การจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนกุญแจสำคัญจะต้องวางไว้ว่า เป้าหมายของแบรนด์คืออะไร มองว่าแบรนด์ในอนาคตจะอยู่ตรงไหน จะทำยังไงให้แบรนด์เป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีองค์ประกอบของแบรนด์ว่าแบรนด์ที่ดีควรจะเป็นยังไง แบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมควรจะเป็นยังไง
“คือแบรนด์ที่จะยั่งยืนจะต้องเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างกรณีที่ห้างมีลักษณะแบบนี้เกิดมามากๆ คนก็ไม่อยากเข้าห้างนั้น หรือว่าพนักงานมามีพฤติกรรมแบบนี้กับลูกค้า คุณทำให้ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อแบรนด์นั้น พอลูกค้าไปพูด คนก็ไปโจมตี แบรนด์คุณก็เสียหาย แล้วถ้าคุณไม่ออกมาแก้ไข แบรนด์คุณก็จะกร่อนเรื่อยๆ จนคนไม่เอา แบรนด์คุณก็จะตายไป”
ทั้งนี้ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ เจ้าของเพจ “tanaiwirat.com ทนายวิรัช” ได้ให้คำตอบกรณีดังกล่าวว่า หากสอบถามข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย มีการกระทำจริง เช่น ด่าลูกค้า ก็อาจมีความผิดในเรื่องการดูหมิ่นซึ่งหน้า มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา ดูหมิ่นซึ่งหน้า มาตรา 393 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ทั้งนี้ต้องฟังความจากทั้งสองฝ่าย และพยานหลักฐานจากกล้องวงจร โดยผู้เสียหายต้องไปแจ้งความดำเนินคดี ที่โรงพักนั้นตั้งอยู่ และคดีลักษณะนี้เป็นคดีลหุโทษ ถ้าหากตำรวจสอบสวนว่าเป็นความผิด ตำรวจมีอำนาจลงโทษโดยการเปรียบเทียบปรับได้
“การดึงแขน ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าหากได้รับความเสียหาย ก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ หากลูกค้าปฏิเสธแล้วไม่ให้ไปถือเป็นการคุกคามหรือไม่ ก็อาจจะเข้าข่ายเรื่องความผิดต่ออิสรภาพ แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องดูเป็นกรณีไปและดูพยานหลักฐาน
หากตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ ควรปฏิเสธอย่างหนักแน่น และหากพนักงานยังคงตามตื้อ ก็มีความจำเป็นต้องร้องเรียนห้าง หากเจ้าของพื้นที่ไม่ทำอะไรให้ ก็ต้องไปแจ้งความที่โรงพัก
ส่วนคนที่ซื้อคอร์สไปแล้ว และใช้บัตรเครดิตจ่ายไป โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ลูกค้ามีอำนาจปฏิเสธการบริการได้ภายใน 45 วัน”
สุดท้ายอยากแนะนำไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ สามารถทำได้ดังนี้ 1.ไม่พูดคุยกับพนักงานขายลักษณะแบบนี้ 2.ไม่แสดงบัตรเครดิต หรือบัตรประชาชน และ 3. ถ้ายังตื้อควรแจ้งทางห้าง หรือ โรงพักทันที
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **