xs
xsm
sm
md
lg

“เคยคิดตายยกครัว” เสาหลักวัย 60 ป่วยมะเร็ง หาเลี้ยง 6 ลมหายใจรวยริน [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กับการที่ “1 ชีวิต” ซึ่งค่อยๆ โรยรา ต้องแบกรับภาระเลี้ยงอีก “5 ชีวิตป่วยๆ” ให้มีลมหายใจต่อไปได้ ยอมดิ้นรนทุกวิถีทาง แม้เหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่กลับไม่เคยคิดแบมือขอใครกิน ทนต่อสู้กับจุดตกต่ำที่สุดของชีวิต จนหลุดพ้นจากความคิด “ฆ่าตัวตายยกครัว” มาได้ ความสุขในวันนี้ไม่มีอะไร นอกจากครอบครัวได้ กินอิ่ม-นอนหลับ เท่านั้นพอ



เกินแบกรับภาระไหว เคยเกือบ “ฆ่ายกครัว”

[6 ลมหายใจ อยู่ได้ด้วยเสาหลักวัย 60]
“ช่วงที่ป้าท้อ ป้าเหนื่อย ป้าเครียดมากๆ เชื่อไหมป้าเคยไปซื้อยาเบื่อหนูมานะ เอามาเคล้าอาหารแล้วแหละตอนนั้น กะให้ทุกคนในบ้านกินให้หมด ตอนแรกป้าจะมาผสมนมให้หลานคนที่พิการ ที่นอนป่วยอยู่กินก่อน

แต่พอป้าเดินเข้าไปใกล้เขา เขาก็ยิ้มให้ป้า เหมือนเขาดีใจจะได้กินอาหาร ป้าเห็นแบบนั้นก็เลยสะท้อนใจว่า เขาดีใจแบบนี้ แล้วเราจะมาฆ่าเขาลงได้ยังไง เท่านั้นแหละ ป้าก็กอดเขา แล้วก็ร้องไห้เลย เขาเองก็ไม่รู้นะตอนนั้นว่า ป้าร้องไห้เรื่องอะไร

ป้าณี-ปราณี หลักเพชร หญิงป่วยมะเร็งไทรอยด์วัย 60 เสาหลักหัวใจแกร่ง ผู้หาเลี้ยงอีก 5 ลมหายใจในครอบครัวอย่างสุดความสามารถมาตลอดทาง เปิดอกเล่าย้อนถึงช่วงชีวิตที่เคยคิดสั้นเอาไว้ ผ่านรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยความเศร้าอยู่เต็มเปี่ยม

ด้วยภาระอันหนักอึ้ง ที่จำต้องแบกไว้บนบ่าในตอนนั้น ทั้ง “สามี” ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ จนต้องผ่าตัดทำบอลลูนในตอนนั้น และหมอก็สั่งห้ามไม่ให้โหมงานหนัก จึงทำได้เพียงนอนพักอยู่เฉยๆ ทำให้ป้าณียิ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกว่าเดิม จนรู้สึกเกินจะรับไหว เพราะไม่เหลือกำลังสำคัญคอยช่วยผ่อนแรง ช่วยหารายได้มาเลี้ยงอีกหลายลมหายใจที่เหลืออีกแล้ว

ทั้ง “คุณแม่” ที่อายุปาเข้าไป 90 ปีแล้ว หลงๆ ลืมๆ ให้ต้องคอยดูแลเป็นกิจวัตร, ทั้ง “น้องสาว” ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช มีอาการทางสมองจนต้องพึ่งยาฉีดของหมอ คอยระงับอาการ, ทั้ง “หลานสาว” ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาตั้งแต่เกิด ทำให้เหนื่อยง่าย ทำงานหนักไม่ได้ จนต้องผ่าตัดขยายหลอดเลือดไม่ได้หยุดหย่อน



[หลานชายป่วยสมองฝ่อแต่กำเนิด ต้องให้อาหารชนิดพิเศษผ่านทางสายยาง]
แล้วไหนจะ “หลานชาย” อีกคนที่อาการหนักสุด ป่วยเป็นโรคสมองฝ่อมาแต่กำเนิด ต้องให้อาหารชนิดพิเศษผ่านทางสายยาง อย่างไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ สุดท้าย คนที่เคยดิ้นรนทุกวิถีทาง กลับมองไม่เห็นหนทางไป

ตอนนั้นคิดว่ารวมๆ กันตายไปเลยดีกว่า อยู่ไปมันก็ลำบาก ต้องเข้าโรงพยาบาลกันทุกคน ตายพร้อมๆ กัน จะได้หมดเวรไป แต่เพราะเห็นหลานชายยิ้มให้วันนั้น ป้าเลยเลิกล้มความคิดไป แล้วก็เพราะทุกคนให้กำลังใจป้า ยิ่งหลานคนพิการนี่ เขารักป้ามาก ป้าถึงได้สู้มาจนถึงทุกวันนี้”

ไม่ใช่ไม่เหนื่อย แค่วันนี้ไม่ท้อเหมือนเดิมแล้วเท่านั้นเอง ป้าณียิ้มบางๆ ก่อนบอกเหตุผลเบื้องหลังว่า เป็นเพราะ “รอยยิ้มของหลานๆ” เธอจึงยังหลงเหลือแรงผลักให้ต่อสู้กับโชคชะตาต่อไป



[ทนตากแดดเก็บผัก เพื่อแลกเงินประทังชีพ]
“ทุกวันนี้ ตื่นตี 4 ป้าก็จะรีบหาข้าวไว้ให้หลานไปโรงเรียน แล้วก็เตรียมไว้ให้แม่แก่ด้วย พอเสร็จ ประมาณเกือบๆ ตี 5 กว่าๆ ป้าก็จะไปไร่ ไปสวน แล้วแต่ใครเขาจะให้ทำอะไร ถ้าไม่มีใครจ้าง ป้าก็จะขึ้นเขา ไปเก็บใบขี้เหล็ก เอามาต้มขาย กิโลละ 40 บาท แล้วก็เก็บสะเดา เอามารวมเป็นกำๆ ไปขาย

โชคยังดีที่เธอยังมีญาติห่างๆ ทิ้งผืนดินรกร้างเอาไว้ให้ดูแล ด้วยความขยันเป็นทุนเดิม ป้าณีจึงขอใช้พื้นที่ตรงนั้น มาปลูกพืชผักสวนครัว แล้วเก็บผลผลิตไปขาย ทำให้มีหนทางในการประทังชีวิตเพิ่มขึ้นไปอีก

“2-3 วัน ป้าจะมาเก็บทีนึง ครั้งก่อนป้ามาเก็บผักปราง ก็ขายได้ 60 บาท แล้วก็มีบวบอีกที่พอขายได้ แต่ต้องค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ วาง ไม่งั้นพอมันเป็นรอยบุบ ก็ไม่มีใครซื้อ ตัดไปก็เอาไปขายได้กิโลละ 20 ส่วนมะขามเทศที่ปลูกเอาไว้ ก็มีเก็บไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ



ป้าก็อาศัยหากิน เลี้ยงครอบครัวแบบนี้แหละ มีอะไรที่พอจะหาขายได้ ป้าก็เอาทุกอย่าง เพราะถ้าป้าไม่ทำ มันก็ไม่ได้ ป้าไม่มีที่ทาง ไม่มีสวน ไม่มีไร่เป็นของตัวเอง ป้าก็เลยต้องทำ ไม่งั้นป้าจะเอาเงินตรงไหนมาเลี้ยงหลาน

ป้าก็ต้องทำ เพื่อให้ได้เงินให้หลานป้าทุกวัน โดยเฉพาะคนที่พิการ เพราะอาหารที่เขากิน มันใส่หลายอย่าง มีทั้งนมผง นมถั่วเหลือง ไข่ ขนมปัง ฯลฯ

ตัวป้าเอง ป้าไม่ค่อยได้กินเท่าไหร่ ส่วนมากไปทำงาน ได้เงินมา ป้าก็จะเก็บไว้ให้หลานคนนี้นี่แหละ กับหลานผู้หญิงอีกคน ถามว่าป้าเหนื่อยไหมเหรอ คำว่าเหนื่อยต้องตัดทิ้งไปเลย เพราะป้าเลิกเหนื่อยมานานแล้ว



ยอมเสี่ยงตาย กว่าจะได้ “ขนมตาล”

[เสี่ยงปีนต้นตาลสูงชะลูด แลกเงินประทังชีพ]
“เสน่ห์ปลายจวัก” คืออีกหนึ่งทางรอดที่ป้าณีหยิบมาใช้อย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะสูตรขนมไทยเฉพาะตัวอย่าง “ข้าวต้มมัด” และ “ขนมตาล” ที่หอบไปขายกี่ทีก็เป็นต้องเกลี้ยงทุกครั้ง โดยเฉพาะขนมตาลสูตรป้าณี ห่อใบตาลจากต้นแท้ๆ อย่างที่หาไม่ได้แล้วในยุคนี้

“ขนมป้าเนี่ย รับประกันความอร่อยเลยลูก ป้าจะเน้นคุณภาพ อย่างมะพร้าว เวลาป้าจะซื้อ ป้าจะไม่ซื้อมะพร้าวที่เขาขูดมาให้แล้ว มันแพง ป้าจะไปซื้อมะพร้าวต้นมา แล้วป้ากับตา 2 คนก็จะช่วยกันไปสอย เอามาขูดเอง

อย่าง “ขนมตาล” วิธีทำป้าก็จะไปเก็บลูกตาลมาเป็นลูกๆ เลย เลือกเอาที่มันสุกแล้ว เสร็จป้าก็จะเอามายีๆ เอามากรองให้มันสะอาด มาแขวนให้มันแห้ง ทับกับแป้ง แล้วแช่ตู้เย็นไว้

ใบที่ใช้ห่อ ป้าก็ใช้ใบตาลจากต้นจริงๆ ป้าต้องไปขึ้นต้นตาลที่สูงมาก แถมใบตาลมันก็จะมีหนามด้วย บางทีปีนๆ อยู่ เท้าก็เลือดซกเลย ขนาดใส่รองเท้าบูตแล้วนะ ถ้าไม่ใส่จะขึ้นไม่ได้เลย เพราะใบมันแหลมเหมือนเลื่อย ต้องปีนขึ้นไปข้างบนที่สูงๆ นั่นแหละ เพื่อไปเอาใบอ่อนมันมาใช้

เขาถึงไม่ค่อยมีคนห่อขนมตาลกันไง เพราะใบมันเอายาก เขาเลยใช้ใบตองกันแทน หรือไม่ก็นึ่งเป็นถ้วย แต่ถ้าห่อใบตาลแบบนี้ กลิ่นมันจะหอม ถึงว่าเวลาทำออกไปขาย เท่าไหร่ก็หมด เพราะมันหอม


[ขนมตาลพันธุ์หายากของป้าณี ห่อใบตาลแท้ๆ ให้กลิ่นหอม]

แล้วตาลแต่ละต้นก็ไม่ใช่ว่าจะห่อดีทุกต้นนะ ถ้าเคยปีนต้นไหนแล้วมันไม่ดี ใบกรอบแตกหมด ก็ต้องจำต้นนั้นด้วย ปีนเอาจากต้นแบบนี้ มันก็ทุ่นค่าใช้จ่ายเราไปได้เยอะ แต่มันก็เสี่ยงมากเหมือนกัน กว่าจะปีนขึ้นไปตัดได้ แล้วห่อทีนึง ก็ต้องใช้ถึง 3 ต้น ต้องตัด 3 ต้นเลย ต้นเดียวไม่พอ

คิดดูซิ กำไรจากที่ขายขนมแค่ 100 กว่าบาท แต่กว่าจะทำออกมาได้ ต้องทำหลายอย่างมาก ตั้งแต่วันแรกคือที่ต้องมาเอาใบตาล ก็เสียเวลาไป 1 วันแล้ว วันที่ 2 ต้องมานั่งขูดมะพร้าวตอนเช้า กับอีกครึ่งคืนที่ต้องมานั่งนวดแป้ง

คนเขาก็ถามนะว่า ทำไมไม่ทำมาเยอะๆ ล่ะยาย ยายก็บอกว่า แค่นี้ก็สุดแรงเกิดแล้ว (ยิ้มเนือยๆ) มากกว่านี้ก็เอาไม่ไหวแล้ว



[“ข้าวต้มมัด-ขนมตาล” จากน้ำพักน้ำแรงของหญิงสู้ชีวิต]
แลกกับเงินตอบแทนกล่องละ 20 บาท แต่ต้องเสี่ยงขนาดนี้ มันคุ้มกันไหม? เป็นคำถามที่แม้แต่คนที่ต้องปีนขึ้นไปเสี่ยงชีวิตบนต้นตาลสูงๆ แบบนั้นเอง ก็ยังตอบไม่ได้ มีเพียงรอยยิ้มปลงๆ คอยปลอบใจตัวเองกับความคิดที่ว่า “ถ้าวันนึงพลาดตกลงมา ก็คิดเสียว่า เราหมดกรรม”

แต่ในเมื่อวันนี้กรรมยังไม่สิ้น เสาหลักของครอบครัวคนนี้ ก็ยังคงต้องดิ้นรนเพื่อคนที่เธอรักต่อไป ไม่เว้นแม้แต่การนั่งรถข้ามจังหวัด จากบ้านเกิด จ.สุพรรณบุรี มาเข้าเมืองกรุง เพื่อต่อคิวรับบริจาค “ข้าวสาร-อาหารแห้ง” ที่ทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแจกอยู่ทุกๆ ปี

“มีรถที่เขาจัดไป ป้าก็ไปกับเขา เขาเก็บค่ารถคนละ 250 ป้าก็จะไป แล้วก็ไปนั่งตั้งแต่ประมาณ 9 โมงเช้า จนพ้นไปอีกวันนึง ถึงจะได้รับข้าว ไปถึงก็ไม่ได้นอน แล้วไปก็ไม่ได้นั่งดีๆ ด้วยนะ เพราะคนมันเบียดกันแน่นทุกปี ป้าก็ต้องไปนั่งอย่างนี้ (ทำท่านั่งกอดเข่าให้ดู) จนกว่าเขาจะเรียกให้ไปรับ

เรามีแรงเท่าไหร่ เขาก็จะให้เท่านั้น แค่เรามีทะเบียนบ้านไปแลก ซึ่งป้าจะเอาไปปีนึง 30 กว่าใบ แล้วก็วิ่งช่วยกัน 3 คน มีป้า ลุง แล้วก็หลานสาวผู้หญิง แล้วพวกอาหารแห้งที่ได้มา พวกมาม่า ป้าก็จะมาให้เป็นค่าทะเบียนบ้านเขา ที่เราขอยืมเขาไป


[ประสบการณ์การต่อแถวโต้รุ่ง เพื่อรับบริจาค "ข้าวสาร-อาหารแห้ง" จากป่อเต็กตึ๊ง]

คิดดูว่าป้าปราณีสู้ทุกวิถีทางขนาดไหน แม้แต่รายการ “ไมค์ปลดหนี้” ป้ายังเคยไปร้องเพลงแลกเงิน เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันมาแล้ว หลังจาก “น้องอาย-สุพิชญา ดลสถิต” หลานสาววัย 11 ขวบ เป็นคนกดโทรศัพท์เข้าไปสมัครให้ด้วยตัวเอง

“เขาให้ป้าร้องเพลงในโทรศัพท์ ส่งไปให้เขา เสร็จเขาก็นัดไปอัดรายการ พอป้าไปถึง เขาให้ป้าร้อง เขาบอกให้ฟังเสียงดนตรี แต่ใจป้ามันเต้นดังกว่าเสียงดนตรีอีก (ยิ้ม) จนไม่รู้ดนตรีมันเป็นยังไง ป้าเลยขอกลับ บอกป้าร้องไม่ได้ เพราะตอนอยู่ที่บ้าน มันมีเนื้อให้ดูไง แต่อยู่นู่น มันไม่มี แต่เขาก็ให้ป้ามา 2,000

พอป้ากลับ เขาก็โทร.มาอีก บอกว่ามาร้องเถอะป้าปราณี ป้าร้องไม่ได้ เดี๋ยวเขาสอน ถึงป้าไม่ชนะก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเผื่อมีคนช่วยเหลือ ป้าเลยกลับไปอีก

ป้าก็เลยตัดสินใจไปอัดใหม่ เพราะป้าอยากได้ตังค์มาปลดหนี้ ป้าจะได้หมดหนี้ ป้าคิดแค่นั้น หรือถ้าไม่หมดหนี้ หรือไม่ชนะ อย่างน้อยป้าก็ได้ 5,000 ซึ่งมันก็ยังดีนะ ป้าจะได้มาซื้ออาหารให้หลานอีกตั้งหลายวัน



“ยอมอด ให้หลานอิ่ม” ชีวิตนี้เพื่อครอบครัว

ถ้าไม่ถามถึงอาการป่วยของตัวเอง ผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าก็แทบไม่เคยปริปากบ่น และถึงจะถามแล้วก็ตาม ป้าก็ยังอัปเดตสั้นๆ ให้รู้แค่ว่า “ป้าเคยผ่ามะเร็งไทรอยด์ไป 2 ครั้ง ตอนนี้หมอเขาบอกว่า ผลเลือดกับแคลเซียมของป้าต่ำ เขาก็เพิ่มแคลเซียมมาให้ เพราะว่าป้าเหนื่อยมาก”

นอกเหนือไปจากนั้น ก็มีเพียงเรื่องราวความทรมานของหลานๆ ทั้ง 2 คน ที่พรั่งพรูออกมาจากปากคนเป็นยาย เริ่มจากหลานสาววัย 11 ขวบที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจ

“ป้าเป็นห่วงเขาค่ะ ถ้าเกิดต้องผ่าอีกหน เพราะตอนผ่าหนแรก ตอนอายุ 29 วัน หลอดเลือดมันยังเล็กอยู่ เพราะตัวเขาเล็ก พอหลังจากโตมาได้ 1 ขวบครึ่ง หลอดเลือดที่เคยต่อไว้ มันก็เล็กไปแล้ว ก็เลยต้องผ่าหนที่ 2

พอมาคราวนี้ เขาอายุ 11 แล้ว หลอดเลือดมันก็ขยายขึ้นอีก หลอดที่เคยใส่ไว้ มันก็ไม่พอ จะเห็นเลยว่านิ้วเขาเขียว เพราะเลือดมันไปเลี้ยงไม่พอ แล้วก็เหนื่อยง่าย หอบง่าย



[หลานสาวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกหนึ่งชีวิตที่ยายแสนห่วง]
หมอบอกก็ต้องผ่าอีก แล้วเปลี่ยนเป็นหลอดใหญ่ แต่ผ่าคราวนี้ก็เสี่ยง เพราะเขาโตแล้ว ตอนแรกหมอนัดผ่าตั้งแต่ตอนเขาปิดเทอม แต่แม่เขาบอกว่า ขอให้จบ ป.6 ก่อนได้ไหม

เพราะถ้าจะผ่า เราต้องนอนโรงพยาบาลเตรียมร่างกายก่อนเป็นเดือนเลยนะ กว่าจะผ่าตัดได้ พอผ่าเสร็จ ก็ต้องนอนอีกเป็นเดือน กว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้

ยังดีที่ค่าผ่าเราไม่ได้เสีย แต่ยังไงก็ต้องจ่ายค่ายานอกระบบ ซึ่งมันแพงมาก ตอนผ่าหนหลัง ใช้ยาไป 4 เข็ม เข็มละ 2,500 แต่ถ้าเราไม่ให้ยาตัวนี้ ร่างกายเขาก็จะไม่ฟื้น ยายเลยกลับมาบ้าน บอกเขาว่าจะหาตังค์มาให้ได้ แล้วเราก็หาไปเรื่อยๆ จนครบ 4 เข็ม”

เพื่อต่อลมหายใจให้คนเป็นหลาน ทุกวันนี้คุณป้าเก็บเงินฝากธนาคารเอาไว้แล้ว 20,000 บาท เผื่อเหลือเผื่อขาดเรื่องสุขภาพที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะหลานชายคนป่วยติดเตียง ที่ยังคงห่วงและกังวล แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำมาหากินมาเลี้ยงดู และภาวนากับฟ้าดินให้ได้โปรดเมตตา

“ป้าก็ยังบอกไม่ได้นะว่า บั้นปลายชีวิตป้าจะเป็นยังไง ป้าเองก็มีโรคประจำตัว ทุกวันนี้เวลากรวดน้ำ ทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวร ป้ายังขอเลยว่ายังไงก็อย่าให้ป้าตายก่อนหลานชายนะ



[อีกหนึ่งลมหายใจ ที่ทำให้ยังมีแรงสู้ชีวิตต่อ]
ป้าจะบอกตลอดว่า บุญกุศลที่ข้าพเจ้าทำในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอแผ่อุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวรของ ด.ช.อาทร หลักเพชร ที่เคยมีกรรมเก่าด้วยกันมา ขอให้อย่ามาทรมานเขา ถ้าอยู่กับป้า ก็ขออย่าให้เจ็บ ถ้าจะไป ก็ขออย่าให้ทรมาน และขออย่าให้ป้าไปก่อนเขา

เวลาเขาเจ็บนะ ตาเขาจะจุบธูป บนเจ้าที่ ยายจะจุดธูปไหว้ศาลพระภูมิ บอกทุกอย่างเลย ขอให้หาย อย่าเข้าโรงพยาบาล จะแก้บนอย่างนั้นอย่างนี้ สงสารเขานะ เวลาเขาเจ็บ คืนนึงไม่ได้นอนเลย แกก็จะร้องตลอด เพราะแกบอกไม่ได้ว่าแกเป็นยังไง



[2 ลุง-ป้า เข้าป่าไปเก็บผัก]
เมื่อถามว่ายังอยากได้รับความช่วยเหลือด้านไหนอีกไหม ป้าปราณีก็ตอบทันทีเลยว่า “อยากได้นมให้หลาน น้องมันต้องกินนมคาร์เนชั่นกับเอนชัวร์ แล้วก็มีอาหารเสริมที่นานๆ ยายจะซื้อให้เขาที กับแพมเพิร์สที่ต้องใช้อยู่ประจำ” ส่วนความต้องการของตัวคุณป้าเองนั้น ตอบได้ทันทีว่าไม่เหลืออะไรแล้ว

“ตัวป้าเองไม่มีอะไรที่จะต้องการแล้ว มีแต่อยากให้หลาน ให้เขามีความสุข ยายก็ดีใจ ป้าปฏิญาณกับตัวเองว่า ป้าจะไม่คิดทำร้ายเขาอีก เหมือนอย่างที่เคยคิดจะใส่ยาเบื่อให้เขากิน และป้าจะเลี้ยงเขาให้ดีที่สุด ป้าจะยอมอด เพื่อที่จะให้เขาอิ่ม


[นั่งขายจนตลาดวาย เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว]


[เชิญร่วมส่งกำลังใจที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ “ป้าณี” มีแรงสู้ต่อไป]

สัมภาษณ์: รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล





 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น