xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสายเปย์!! แจกคนละ 1,500 กระตุ้นเที่ยว ข้อด้อยมี-ข้อดีคุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
'ยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง' เมื่อรัฐบาลสายเปย์ ผุดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว 'แจกเก่ง-จ่ายคล่อง' รับไปเลยคนละ 1,500 บาท! หวังกระจายรายได้สู่เมืองรอง แต่เกิดกระแสตีกลับวิจารณ์ขมโซเชียลฯ ซะงั้น! ด้านนักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์นโยบาย ข้อด้อยก็มี ข้อดีก็คุ้มค่า!!

แจกเก่ง-จ่ายคล่อง! นโยบายมีแต่ “ให้”

แจกต่อ..ไม่รอแล้วนะ! สังคมออนไลน์มอบตำแหน่ง 'รัฐบาลสายเปย์' หลังมีการเปิดเผยนโยบายด้านการท่องเที่ยวล่าสุด โดยจะมีการแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนคนละ 1,500 บาท เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะกับเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด

โดยนโยบายที่ว่านี้มีเงื่อนไขว่าต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น และต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จากนั้นจะมีการเติมเงินให้คนละ 1,500 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่มีการลงทะเบียนคิวอาร์โค้ดไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ลงทะเบียนและรับเงินไปใช้จ่ายราวๆ 10ล้านคน หรือรวมเป็นเงิน 15,000ล้านบาท!!

ด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ จึงนำมาสู่เสียงวิจารณ์และกระแสตีกลับ ซึ่งคงต้องยอมรับว่านโยบายที่มีการแจกจ่ายเงินลักษณะนี้ ย่อมตามมาซึ่งข้อถกเถียงและการตั้งคำถามของประชาชนอยู่เสมอ อย่างในกรณี 'บัตรสวัสดิการรัฐ' ที่มีกระแสดรามาเกิดขึ้นที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน
ภาพจาก เว็บไซต์ มหัศจรรย์55เมืองรอง

 
ขณะที่ความเห็นในโลกออนไลน์มีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างหนักหน่วง ส่วนใหญ่มีทิศทางไปในทางเดียวกันว่าควรนำเงินจำนวนสูงเช่นนี้ไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุปกรณ์การแพทย์ และการพัฒนาประเทศในด้านที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ

“เอางบไปพัฒนา ซื้อเครื่องมือทางแพทย์ ตามโรงพยาบาลรัฐที่ขาดแคลนเครืองมือดีกว่าไหม ไม่ใช่หวังพึ่งภาคเอกชนอย่างเดียว หรือนำเงินไปพัฒนาด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขเถอะครับ ครูกับบุคคลากรทางการแพทย์จะได้อยู่สบายๆ บ้าง หรือมีเครื่องมือดีๆ ใช้กัน”

“ส่วนตัวคิดว่าเอาไปใช้ผ่านช่องทางอีเปย์เม้นต์ก็เหมือนบัตรคนจนนั่นแหละ ต้องใช้ผ่านร้านที่เข้าร่วมโครงการมีที่รูดบัตรเท่านั้น จะไปใช้ในตลาดร้านข้าวแกงไม่ได้ สุดท้ายเอื้อนายทุนเหมือนเดิม อีกประเด็น แจกเงินโดยการใช้ QR Code ลงทะเบียน ป้าๆ ลุงๆ ใช้ไม่เป็นกันหรอก การกระจายรายได้ก็ไปไม่ถึงอยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าว MGR Live ได้ตรวจสอบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพิ่มเติม พบว่ามีการดำเนินนโยบายควบคู่กันทั้งหมด 3 มาตรการ นอกเหนือไปจากโครงการ 'ยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง' ที่แจกจ่ายเงิน 1,500 บาทต่อคนแล้ว

ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว และมาตรการขยายเวลาเปิดจุดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 6 เดือนด้วย ซึ่งสำหรับมาตรการทั้ง 3 นี้ จะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์ คาดว่าจะมีการเริ่มโครงการดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม

 
แจกฟรี “ 15,000 ล้านบาท” เยอะจริง แต่คุ้มค่า!!

“การกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็จะถูกมองว่าแจกเงินอยู่แล้ว เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจในที่นี่คือการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ไม่ว่าใครจะทำ ถ้าคนจะมองว่าเป็นการแจกเงิน ก็มองได้ แต่ให้มองว่าการแจกไป ใช้เงินไป ประโยชน์มันคุ้มค่าหรือเปล่า”

ผศ.เติมธรรม สิทธิเลิศ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้คำตอบกับทีมข่าว MGR Live หลังต่อสายตรงถึงประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างหนักในสังคม เกี่ยวกับโครงการ 'ยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง' เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรองที่กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์นโยบายที่เกิดขึ้นว่า ถือเป็นนโยบายที่น่าสนใจ เนื่องจากว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด

“การให้ตัวเงินเข้าไปช่วยเหลือ ถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ เพราะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และยังเป็นการเน้นพัฒนาเป็นจุดสำคัญ นั่นคือที่เมืองรอง ไม่ใช่การไปเที่ยวทั่วๆ ไป ฉะนั้น เป้าหมายของเม็ดเงินจะไปตกอยู่ที่เมืองรองใน 55 จังหวัดก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ชัดเจน

ถ้าถามว่าการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวไหม ตอนนี้การท่องเที่ยวของเราไม่ได้ซบเซา แต่การท่องเที่ยวในเมืองรองถือเป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่ใหม่ ซึ่งคนจะไม่คุ้น ประเด็นของรัฐบาลคือต้องการสนับสนุนให้คนไปเที่ยวเมืองรอง ยกตัวอย่าง เราเคยไปเที่ยว จ. เชียงใหม่ แต่เราจะไม่ไปเที่ยว จ.พะเยา เมืองพวกนี้จึงเหมือนถูกมองข้ามไป
 วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
 
เม็ดเงิน 15,000 ล้านบาท ถามว่าเป็นเงินเยอะไหม มันก็เยอะครับ แต่ถ้าตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว มันก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเราคิดว่าเงินก้อนนี้ให้ไปเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินก้อนนี้จะต้องคูณได้อีก 2-3 เท่าเป็นอย่างน้อย เพราะว่าเงินที่ถูกใช้ มันจะถูกใช้อีก 2-3 ครั้ง หมุนเวียนในระบบไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น ลักษณะคล้ายๆ กับเงินตั้งต้นให้เข้าไปในระบบแล้วระบบก็จะหมุนเวียน ส่งผลให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็จะมีการนำไปใช้กันต่อเอง มันสามารถสร้างมูลค่าได้เยอะครับ แต่ตรงนี้ต้องตั้งอยู่บนสมมุตฐานว่านำเงินไปใช้ท่องเที่ยวจริงๆ นะครับ”

ในทางกลับกัน แม้ในสายตาของนักวิชาการหลักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าเป็นนโยบายอันดีต่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด แต่อย่างไรแล้วสิ่งที่น่ากังวล หรือเป็นข้อด้อยของนโยบายนี้ก็ปฏิเสธเสียไม่ได้ว่าต้องมีตามมา

“ในกรณีเดียวกัน ปัญหาใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ การดำเนินนโยบาย ตรงนี้ต้องระวังนะครับว่าเราจะนำเงินไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างไร เท่าที่อ่านมาจะต้องมีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น กระทรวงการคลังจะโอนเงินไปให้และอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งทุกจุดจะต้องระวังหมดเลย อย่างการสมัครผ่านแอปฯ ตรงนี้พัฒนาขึ้นมาพร้อมหรือยัง ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้ไหม และการโอนเงินหรือการตรวจสอบว่าใครจะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์อย่างแท้จริง มีตัวตนจริงหรือไม่ ตรงนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง รวมไปถึงการโอนเข้ามาโดยระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมแล้วหรือยัง

ถ้าเทียบกับกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันจะมีปัญหาตรงที่เมื่อคนเยอะ แต่ระบบไม่พร้อม ดังนั้นจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ประเด็นคือต้องมีการบริหารจัดการที่ดีครับ”
เกาะกระดาน จ.ตรัง
 
จากตรงนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ นโยบายอัดฉีดเงินให้แก่ประชาชนจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้นได้จริงๆ หรือ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่กรุ่นสังคมออนไลน์ว่ารัฐบาลชุดนี้แจกเงินเก่งเสียจริง ด้าน ผศ.เติมธรรม ได้อธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วนโยบายลักษณะนี้มีให้เห็นอยู่ทุกรัฐบาล

“ไม่สามารถปฏิเสธได้นะครับว่านโยบายแบบนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นประชานิยม แต่ว่าโดยพื้นฐานของนโยบาย ผมมองว่าก็ปฏิบัติกันมาทุกรัฐบาลนะ เพียงแต่ว่ารูปแบบมันอาจจะเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างในรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคด้วยเหมือนกัน

ส่วนรัฐบาลนี้เองก็ใช้นโยบายลักษณะนี้ และใช้มาตรการอื่นควบคู่ เช่น การคืนภาษี หรือชอป ช่วย ชาติ เป็นกลุ่มนโยบายเดียวกันครับ เพียงแต่ว่าคนละรูปแบบเท่านั้นเอง

ขณะที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่านโยบายที่ผ่านมาอีก เพราะคนที่ได้รับประโยชน์ก็คือผู้ประกอบการในเมืองรอง จากเดิมชอป ช่วย ชาติ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือห้างสรรพสินค้า ตรงนี้รายได้จะถึงผู้ประกอบการที่ต่างจังหวัดจริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นการกระจายรายได้ที่น่าจะดีกว่า

ไม่ใช่แจกมั่ว ให้มั่ว ไม่ได้ให้เงินไปเปล่าๆ แต่ให้เงินไปโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อการท่องเที่ยวในเมืองรอง อย่างน้อยถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ 100% แต่มันก็น่าจะมีประโยชน์บ้าง ดีกว่าเอาเงินไปแจก ไปทำอย่างอื่น”

สุดท้าย นักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นนี้ด้วยว่าถึงแม้จะมีกระแสวิจารณ์เดือดโซเชียลฯ แต่ในทางกลับกันก็เป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักจังหวัดในเมืองรอง ถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีทั้งในเวลานี้และในอนาคตข้างหน้า

“จริงๆ มันก็เหมือนเป็นนโยบายที่ฉาบฉวยในระยะสั้นนะ แต่ที่ผมมองคือตอนนี้ไม่มีคนรู้จักเมืองรอง เหมือนเป็นการตลาดอย่างหนึ่งให้คนได้รู้จัก อีกหน่อยต่อไปเมื่อคนรู้จักเมืองรองแล้ว เราไม่ให้เงินเขา เขาก็ไปเที่ยวเองได้ เช่นเดียวกับเมืองหลัก แต่ตอนนี้เราไม่รู้จะไปทำอะไร พอมีตรงนี้ก็เป็นตัวเสริมให้เราอยากไปท่องเที่ยวเมืองรองนั่นเอง”

ข่าวโดย ทีมข่าว MGR Live
ภาพจาก เว็บไซต์ มหัศจรรย์55เมืองรอง



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น