xs
xsm
sm
md
lg

ไทยร้อนสุดติด Top5 โลก!! เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง แพทย์เตือน "ครีมกันแดด" ห้ามขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
“แดดไทยไม่แพ้แดดชาติใดในโลก” ครองเจ้าแห่งความร้อนติด Top 5 แถมมีพื้นที่ร้อนที่สุดติดอันดับโลกถึง 6 แห่ง ถึง 6 อันดับ แพทย์เตือนให้ทาครีมกันแดด พร้อมแนะวิธีเลือกครีม เพื่อเลี่ยง “มะเร็งผิวหนัง”

แสงในบ้านอันตราย เท่าแดดนอกบ้าน
 
ร้อนจนตับจะแตก!! เห็นจะเป็นจริงก็คราวนี้ แดดประเทศไทยร้อนจนครองบัลลังก์ เห็นชัดเจนได้จาก สถิติอุณหภูมิของประเทศไทย วันที่ 22 เม.ย. 2562 จากเว็บไซต์ eldoradoweather.com ประกาศว่าไทยร้อนติดอันดับโลกถึง 6 แห่งจากทั้งหมด 15 อันดับ

โดยพื้นที่ที่ร้อนที่สุด อันดับ 5 คือ อ.เถิน จ.ลำปาง อุณหภูมิสูงถึง 43.5 องศา, อันดับ 7 จ.เลย อุณหภูมิ 43.4 องศา, อันดับ 9 จ.แม่ฮ่องสอน อุณหภูมิ 42.9 องศา, อันดับ 10 สถานีอากาศเกษตร (สกษ.) จ.เลย อุณหภูมิ 42.8 องศา, อันดับ 12 จ.หนองบัวลำภู 42.7 องศา และอันดับ 13 จ.ตาก อุณหภูมิ 42.7 องศา ถึงไทยจะร้อนอย่างหนัก แต่ก็ทิ้งห่างจากอันดับหนึ่งเพียงนิดเดียว คือประเทศเมียร์ม่า อุณหภูมิสูงถึง 44.7 องศา
ภาพจากเพจ Pleasehealth Books
 
ข้อดีของอากาศร้อนดั่งไฟนรก คงหนีไม่พ้นการตากผ้าที่แห้งภายในพริบตา แต่ผลเสียที่ตามมากระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก แพทย์ผิวหนังจึงออกมาเตือนคนไทยให้ระวังแดดที่ร้ายยิ่งกว่าบางโรคเสียอีก
 
โดยด้าน พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Pleasehealth Books” ที่มียอดผู้ติดตามเฉียดแสนโดยบอกว่า ครีมกันแดด คือสิ่งที่สำคัญต่อผิวอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะอยู่ในร่มหรือออกแดดก็ได้รับผลเสียเหมือนกัน
“ขอเริ่มต้นที่ความเข้าใจพื้นฐานก่อนนะคะ ว่าการที่หมอแนะนำให้ทาครีมกันแดดนั้น เหตุผลหลักคือรังสียูวี และผองเพื่อนที่มาด้วยกันกับแสงแดด และแสงไฟนั้น ส่งผลให้ผิวแก่ก่อนวัย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังได้

การปกป้องผิวจากแสงแดด จึงเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลสุขภาพที่พึงกระทำ ซึ่งแต่เดิมเรามักจะรณรงค์ในเรื่องการทาครีมกันแดด ในเวลาที่ต้องออกแดด แต่งานวิจัยในระยะหลังพบว่า แม้จะไม่ได้ออกแดด อยู่ในบ้าน อยู่ที่ออฟฟิศ หรืออยู่ในรถ ก็มีโอกาสถูกแดดทำร้ายได้

ในแสงแดดที่ผ่านพ้นมายังผิวโลก มีทั้งรังสียูวีบี และรังสียูวีเอ ซึ่งเจ้ายูวีเอนี้เอง เป็นรังสีที่ส่งผลให้เซลล์แก่ก่อนวัย แถมต่อให้นั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ มันก็ยังเสี่ยงต่อการถูกยูวีเอโลมเลีย และผู้ร้ายอีกหนึ่งรายคือ visible light หรือแสงที่มองเห็นได้ มีงานวิจัยพบว่า มันทำร้ายเซลล์ผิวและทำให้แก่เร็วขึ้นเหมือนกัน

 
แต่ Visible light ไม่ได้มาแค่จากแสงแดดอย่างเดียว แต่เป็นแสงไฟภายในบ้าน แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟน ก็เป็นแหล่งกำเนิดของ visible light เช่นกัน ดังนั้น แม้คุณจะอยู่ในบ้านที่ปิดหน้าต่างปิดม่านทึบ แต่แสงไฟจากภายในบ้านเอง ก็มีโอกาสส่งผลทำร้ายผิวได้เช่นกัน
 
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า การอยู่บ้านหน้าสดตลอดทั้งวัน อาจไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่ดีกับผิวนัก แต่ควรเลือกปกป้องผิวด้วย”

เลือกอย่างไร ไม่ให้เป็นมะเร็งผิวหนัง

แดดไทยร้อนระอุอย่างหนัก มีผลเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังอย่างมาก แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจถึงวิธีเลือกครีมกันแดดชนิดต่างๆ หากถ้าเลือกผิดก็คงปกปิดผิวไม่ได้

ดังนั้น พญ.ทักษอร อุบล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง โรงพยาบาลผิวหนังอโศก จึงออกมาแนะนำผ่านเว็บไซต์ของทาง “โรงพยาบาลผิวหนังอโศก” ถึงวิธีการปกป้องผิวและเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง
พญ.ทักษอร อุบล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
 
“ครีมกันแดดแบบ Physical จะสามารถป้องกันรังสี UV จากแสงแดด โดยการสะท้อนกลับ ซึ่งสารกันแดดชนิดนี้จะเคลือบบนผิว สามารถป้องกัน UVA, UVB, visible light และ infrared light ได้
 
โดยออกฤทธิ์ได้ทันทีหลังทา และอยู่ได้นานหากไม่หลุดลอก นอกจากนี้จะมีโอกาสแพ้น้อย จึงเหมาะกับผิวแพ้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือหลุดลอกได้ง่ายเมื่อถูกน้ำหรือโดนเหงื่อ รวมทั้งเกิดสีขาววอกบนใบหน้า
ส่วนครีมกันแดดแบบ Chemical จะมีสารที่ทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีและทำปฏิกิริยาทางเคมี โดยสารเหล่านี้มีอยู่หลายชนิด บางชนิดสามารถป้องกันได้เพียง UVA หรือ UVB เท่านั้น
แต่บางชนิดก็สามารถป้องกันได้ทั้งคู่ แต่ครีมกันแดดในกลุ่ม Chemical นี้พบปัญหา ได้มากกว่าทั้งในเรื่องของการแพ้ การไม่ทนต่อเหงื่อหรือน้ำ และปัญหาเรื่องความเสถียรของสารเมื่อถูกแสงแดด
สำหรับค่า SPF (Sun Protection Factor) คือค่าป้องกันแสงแดด จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดของแสง UVB เท่านั้น อย่างเช่นตากแดดนาน15 นาที จะเริ่มมีอาการแดง หากทาครีมกันแดดที่มี SPF10 ก็จะทำให้ผิวทนแดดได้นานขึ้น 10 เท่า
ส่วนความสามารถในการป้องกัน UVA ของครีมกันแดดจะดูจากระดับของ PA เป็นหลัก โดย PA+จะป้องกัน UVA ได้ 2-4 เท่า, PA++ จะป้องกัน UVA ได้ 4-8 เท่า, PA+++จะป้องกัน UVA ได้ 8-12 เท่า, PA++++ จะป้องกัน UVA ได้มากกว่า 12 เท่า
ภาพสถิติอุณหภูมิ จากเว็บ eldoradoweather.com
 
การเลือกใช้ครีมกันแดดจึงปรับตามการดำเนินชีวิตเป็นสำคัญ เช่น ถ้าในภาวะปกติทำงานในออฟฟิศไม่ถูกแสงแดดนอกตึกเลย ก็อาจจะเลือกใช้ SPF>15 PA++ ขึ้นไป เป็นต้น”
 
ทั้งนี้ พญ.ทักษอร ได้แนะนำวิธีการทาครีมกันแดดให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งบางคนเป็นนักประหยัด นึกจะเก็บไว้ใช้นานๆ จึงทาในปริมาณที่น้อย แต่หมอบอกว่า มันจะปกป้องผิวได้ไม่นาน
“การทาครีมกันแดดที่ถูกวิธี เราควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดทุกวันให้เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง และความถี่ของการทาก็ขึ้นอยู่กับโอกาสในการสัมผัสแสงแดด ว่ามากหรือน้อยขนาดไหน
โดยปริมาณของสารกันแดดที่ควรทา แนะนำให้ทาในปริมาณ 2 มิลลิกรัม ต่อตารางเซ็นติเมตรของผิวหนัง หรือเป็นปริมาณเต็มหนึ่งข้อนิ้วมือต่อการทาครีมบนใบหน้า จึงจะสามารถกันแดดได้ตามค่า SPF

อย่างไรก็ตามการเลือกครีมกันแดดต้องคำนึงถึงสภาพผิว และลักษณะการดำเนินชีวิต เช่น หากออกกำลังกาย เล่นกีฬากลางแจ้ง หรือกีฬาทางน้ำ ก็ควรจะใช้ครีมที่มีเนื้อที่ค่อนข้างเหนียว และกั้นน้ำเพื่อให้เกาะกับผิวหนังได้ดีขึ้น หรือถ้ามีผิวที่มัน ก็อาจจะเลือกเนื้อกันแดดเป็นประเภทเจล

นอกจากการใช้ครีมกันแดดแล้ว การป้องกันโดยการใช้ร่ม ใส่หมวก หรือใส่แว่นกันแดด เลือกใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนัง และเลี่ยงแสงแดดในช่วง เวลา 10.00-16.00 น. ก็ควรปฏิบัติร่วมด้วย”

ข่าวโดย MGR Live



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น