xs
xsm
sm
md
lg

เจาะพื้นที่สีเทา ล่อซื้อ "ของผิดลิขสิทธิ์" วิธีหากิน จับ-ปรับ นอกชั้นศาล!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ถูกล่อซื้อ - รู้เท่าไม่ถึงการณ์”! เผยประสบการณ์ถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์หลายหมื่น เหตุเพราะถูกจ้างทำ “วุ้นโดราเอมอน” ฟากกูรูกฎหมายแฉมุมมืด ตำรวจนอกแถวบางคน ใช้เป็น “พื้นที่สีเทา” ในการหากินตามกฎหมาย พร้อมเผยข้อความจากปากคนขายผู้ละเมิด “โดนปรับยังคุ้มกว่าเอาตัวละครไม่ดังมาขาย”

ค่าวุ้นหลักร้อย ค่าปรับหลักหมื่น!

กลายเป็นอุทาหรณ์ให้พ่อค้าแม่ขายทั้งหลายได้ระวังไว้เกี่ยวกับการค้าของที่มีลิขสิทธิ์ เพราะหากไม่ได้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีได้ เช่นเดียวกับกรณีของร้านขายวุ้นออนไลน์แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ “ล่อซื้อ” และจับ “ฐานละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะทำวุ้นลายตัวการ์ตูนชื่อดัง บทเรียนครั้งนี้ทำให้ร้านวุ้นต้องแลกด้วยการเสียค่าปรับหลายหมื่นบาท!!!

เรื่องราวนี้ ถูกเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก “วุ้นละมุน เชียงใหม่” ที่บอกเล่าถึงประสบการณ์การถูกจับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หลังมีลูกค้าสั่งทำ “วุ้นโดราเอมอน” ตัวการ์ตูนแมวสีฟ้าชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น อ้างว่าจะนำไปเลี้ยงวันเกิดให้ลูกฝาแฝด ขนาด1ปอนด์ ราคา 290 บาท และขนาด 2 ปอนด์ ราคา 390 บาท โดยมีการนัดรับของใกล้กับ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

แต่เมื่อไปถึง ก็พบว่าตัวแทนลิขสิทธิ์โดราเอมอนและตำรวจมารอรับและแสดงตัว จากนั้นได้เชิญเจ้าของร้านวุ้นไปยังสถานีตำรวจเพื่อจะดำเนินคดี แต่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน จนตกลงกันได้ว่ายอมจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต้องไปหยิบยืมมาจ่ายในวันที่เกิดเรื่อง เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องไปเสียเวลาต่อสู้คดีในชั้นศาล



เจ้าของร้านกล่าวถึงเหตุการณ์นี้อีกด้วยว่า ตนเองเคยทำวุ้นลวดลายโดราเอมอนเพื่อมอบเป็นของขวัญให้เพื่อน และได้ถ่ายภาพโพสต์ลงในเพจของร้าน ซึ่งก็เคยมีลูกค้าสั่งบ้าง พร้อมยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิด เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
หลังจากที่ประเด็นดรามานี้ถูกส่งต่อกันไปบนโลกโซเชียลฯ ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก หลายคนให้กำลังใจเจ้าของร้านวุ้นแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน อีกหลายความคิดเห็นก็กล่าวว่า ในเมื่อร้านรับทำขาย ยังไงก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เพื่อความชัดเจนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง บริษัท อนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าคาแรกเตอร์การ์ตูนที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่นและจากยุโรปหลายตัว รวมถึงลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ โดราเอม่อน แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย


คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่ บริษัท อนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

“สำหรับคนที่ชอบคาแรกเตอร์นี้ไปทำกินเองในบ้านก็ไม่ผิดอะไร แต่ทำขายให้บุคคลอื่นในที่สาธารณะ มีผลประโยชน์ เก็บเงิน เราเรียกว่าเป็นมูลค่า ซึ่งตรงนี้มันก็จะผิด เป็นการละเมิด สินค้าทางการค้าทุกอย่างมันเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายที่มีให้ทำมากกว่า เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะไปทำให้เขาเดือดร้อน เราก็แค่ปกป้องผลประโยชน์ของทางเจ้าของลิขสิทธิ์ ในฐานะตัวแทนก็ต้องไปดูแลตรงนี้

ในส่วนของเราจะมีลูกค้าที่เข้ามาจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นพวกบริษัท หรือถ้าคนธรรมดาจะทำ ก็ต้องมาขออนุญาตทางบริษัทให้ถูกต้องเช่นกัน บริษัทเราก็ไม่ได้เป็นผู้อนุญาตโดยตรง ก็จะต้องทำเงื่อนไขในการใช้ส่งให้ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศพิจารณา เมื่อเขาอนุญาต เราถึงมาอนุญาตให้ลูกค้าในประเทศสามารถผลิตได้อีกทีนึง
และการคิดค่าลิขสิทธิ์มันขึ้นอยู่กับตัวสินค้าด้วยว่าเป็นประเภทไหน เพราะว่าการคิดค่าลิขสิทธิ์มันขึ้นอยู่กับหมวดหมู่ มันไม่ได้เหมือนกัน แต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสัญญารายปี

เราได้ดำเนินทางกฎหมายมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าข้อมูลบางเรื่องอาจไม่เป็นที่สนใจของคนภายนอก มันมีการทำแบบนี้มานานแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมาจับ ถ้าติดตามข่าว มีการปราบปรามและพยายามที่จะส่งข้อมูลถึงผู้ละเมิดให้รับรู้ แต่ก็ยังมีคนทำตลอด ไม่เว้นแม้แต่ตัวการ์ตูนหรืองานลิขสิทธิ์ตัวอื่นๆ ทุกคนก็ต้องเคารพในสิทธิ์ของคนที่เป็นเจ้าของ สินค้าทุกอย่าง สิทธิ์มันก็ยังเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ดี”



ทั้งนี้ ทางทีมข่าว ได้ตรวจสอบไปยังเพจเฟซบุ๊กของทางร้านต้นเรื่อง ก็พบว่า ร้านวุ้นแห่งนี้เคยมีการลงขายวุ้นที่เป็นคาแรกเตอร์โดราเอมอนมาก่อนแล้วด้วย

ของละเมิดสิทธิ = ช่องทางหากินของตำรวจนอกแถว?!

“อีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าคาแรกเตอร์พวกนี้มันขายง่ายกว่าตัวการ์ตูนที่ไม่มีชื่อเสียง ผมเคยไปเดินตรวจสอบกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็เคยถามแม่ค้าที่โดนจับบ่อยๆ เขาก็บอกตรงๆ ว่า ที่ขายแบบนี้ของมันปล่อยง่าย โดนจับ โดนปรับยังคุ้มกว่าเอาพวกไม่ดังมาขาย เวลาเราดูข้อเท็จจริงต้องดูทุกฝ่าย มันไม่มีใครที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ประเทศไทยมีของละเมิดวางขายเกลื่อนตลาดนัด ก็สะท้อนได้ว่าไทยเพิกเฉยต่อเรื่องลิขสิทธิ์”

หนึ่งในแอดมินจากเพจ “นักกฎหมายสายบันเทิง” เพจที่ให้ความรู้ด้านกฎหมาย โดยทนายที่มีประสบการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญามากว่า 10 ปี ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวฯ ถึงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น



“ส่วนกรณีล่าสุดที่เจ้าของร้านอ้างว่าล่อซื้อ อันนี้เราต้องฟังความทั้ง 2 ฝ่ายนะครับ ฝ่ายเจ้าของสิทธิ์เขาล่อซื้อจริงๆ หรือแม่ค้าทำขายอยู่แล้ว หากปกติแม่ค้าไม่เคยทำขาย แต่ทางตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ไปยุให้แม่ค้าทำ พอทำเสร็จก็มาจับ ในทางกฎหมายศาลอาจจะมองว่าแม่ค้าไม่มีเจตนาทำความผิด ก็อาจจะยกฟ้องได้ เพราะว่าความผิดลิขสิทธิ์มันเป็นทั้งทางแพ่งและอาญา ความผิดอาญาโดยหลักถ้าจะผิดได้ ต้องมีเจตนาก่อน เช่น เจตนาฆ่า เจตนาละเมิด

ส่วนถ้าเจ้าของสิทธิ์มาจ้างให้เราทำผิด เขาก็เป็นคนที่มีส่วนที่กระตุ้นให้เรากระทำความผิด คือตัวเขาก็เป็นคนทำความผิดด้วย แต่ในทางกฎหมายเราก็คงไม่ฟ้องเขา ซึ่งถ้าตัวแม่ค้าไม่เคยทำมาก่อนเลยจริงๆ แต่โดนขอให้ทำ มันเป็นการล่อซื้อ ก็ถือว่าขาดเจตนา ก็ต้องไปพิสูจน์กันในศาลว่าเขาไม่มีเจตนาแต่ต้น หรือว่าทำมาหลายครั้งจนเจ้าของสิทธิ์เขารู้ตัว

ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์มันผิดทั้งทางแพ่งและอาญา แพ่งคือเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงิน อาญาคืออาจจะเป็นโทษปรับหรือติดคุกเพื่อให้หลาบจำ แต่ในทางปฏิบัติ โอกาสติดคุกมันน้อยมาก อย่างมากก็สั่งปรับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 69 - 70 ในส่วนของอาญา ค่าปรับขึ้นอยู่กับจำนวนของกลางครับ กฎหมายเขาก็จะบอกว่า หนึ่งแสนถึงแปดแสน แต่ว่าปรับมากน้อยจะอยู่ที่จำนวนของกลาง ถ้าของกลางมากก็ปรับมาก แล้วของกลางก็ยึดไปเป็นของหลวง ถึงเวลาก็ทำลายเพราะเอาไปแจกจ่ายต่อไม่ได้”



ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้ายกฎหมายรายเดิม ยังให้ข้อมูลต่ออีกว่า งานลิขสิทธิ์มีหลายประเภท สำหรับคาแรกเตอร์โดราเอม่อนเริ่มจากการเป็นหนังสือการ์ตูนมาก่อน ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม มีอายุความคุ้มครองอยู่ที่ 50 ปี หลังจากผู้วาดเสียชีวิตก่อน จึงจะเป็นสมบัติสาธารณะ ทั้งนี้โดราเอม่อนมีคนวาด 2 คน ซึ่งอีกคนยังไม่เสียชีวิต จึงอาจกล่าวได้ว่า อายุความคุ้มครอง 50 ปี ยังไม่เริ่มนับด้วยซ้ำ ใครเอาไปใช้ก็เข้าข่ายละเมิดได้

แต่ก็จะมีงานลิขสิทธิ์บางประเภทที่ไม่ใช่งานศิลปกรรมโดยตรง คือมีการนำไปประยุกต์กับข้าวของเครื่องใช้ เช่น นาฬิกาปลุก ตุ๊กตา ผ้าห่ม หรือหน้าขนม เรียกว่า ศิลปะประยุกต์ ซึ่งอายุความคุ้มครองมันจะสั้นกว่าคือ 25 ปี นับจากโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรก กรณีของโดราเอม่อนนั้น เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2512 จึงเลย 25 ปีมานานแล้ว ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในฐานะงานศิลปะประยุกต์ จึงหมดไป หากมีฟ้องในข้อหานี้ ศาลก็จะยกฟ้อง แต่เหล่าคนค้าขายก็อย่าเพิ่งดีใจ เพราะถึงแม้การคุ้มครองศิลปะประยุกต์จะหมดไปแล้ว แต่ถ้ามี “เครื่องหมายการค้า” คุ้มครองอยู่ ก็ยังมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี

“คดีละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยถึงศาล อย่าว่าแต่ถึงศาล อัยการก็ยังไม่ถึงเลยครับ จบกันที่ชั้นพนักงานสอบสวน คนขายไม่อยากมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็ให้เจ้าของเรียกค่าเสียหายมา ต่อรองในจำนวนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็แยกย้าย แต่มันก็จะมีตำรวจนอกแถวบางคนที่มีนอกมีใน แบ่งเปอร์เซ็นต์กับทีมจับ แต่ตำรวจดีๆ ที่ทำตามหน้าที่ก็มีเยอะครับ มันก็เป็นพื้นที่สีเทาในการหากินตามกฎหมาย ผมก็อยากให้มีการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยนะ ควรจะเลิกเป็นคดีอาญาได้แล้ว และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งดีกว่า คดีอาญาควรจะเอาไปใช้ในเคสใหญ่จริงๆ”



สุดท้าย กูรูกฎหมาย ได้ฝากไปถึงคนค้าขายด้วยว่า หากมีการบุกจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ต้องมีสติและขอดูใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงฝากไปยังคนที่อยากขายของที่เกี่ยวกับตัวการ์ตูนดัง ให้ระลึกไว้เสนอว่าของทุกอย่างมีลิขสิทธิ์ ทางที่ดีควรขออนุญาตจากตัวแทน หรือไม่ก็สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาเอง เพื่อสร้างมูลค่าให้ตนเองและยังปลอดภัยจากการถูกจับดำเนินคดีอีกด้วย

“หนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจมาจากเจ้าของสิทธิ์ มอบมาให้บริษัทแม่ที่เมืองไทย แล้วบริษัทแม่ก็มอบให้คนที่ไปจับ มอบเป็นช่วงๆ วิธีป้องกันตามหลักการเลย หากคนขายโดนจับต้องขอดูใบอนุญาต ดูหนังสือมอบอำนาจว่าขาดช่วงมั้ยและหมดอายุหรือยัง บางทีหมดอายุไป 2 เดือนแล้วยังมาไล่จับอยู่เลย แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในทางปฏิบัติถึงเวลามันตกใจครับ ไม่มีสติ แล้วหนังสือมอบอำนาจก็มีประมาณ 25 หน้า มีทั้งภาษากฎหมายและภาษาอังกฤษอีก ถ้าไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ บางทีก็อ่านไม่รู้เรื่อง

เรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นขุมทรัพย์ครับ เขาคงไม่ยอมปล่อยให้ขุมทรัพย์เขาระเหยไปง่ายๆ ก็ต้องระวังไว้ว่าคาแรกเตอร์ตัวละคร ไม่ว่าจะดังหรือไม่ดัง ตามหลักมันมีลิขสิทธิ์หมด ถ้าเอาปลอดภัย สร้างคาแรกเตอร์ของตัวเองขึ้นมาดีกว่า ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายด้วย หรือไม่ก็ไม่รับทำสินค้ามีลิขสิทธิ์ไปเลย

ให้ระลึกไว้เสมอว่า การเอาทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ใช่ของเรามาใช้ เท้าข้างหนึ่งก็มีโอกาสก้าวเข้าไปอยู่ในโซนที่เข้าข่ายละเมิดได้ ก็อยากให้คนไทยเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นมากขึ้นนะครับ ถ้าคุณจะทำให้มันถูกต้อง ก็สมควรจะขออนุญาต จากตัวแทนที่ได้รับสิทธิ์อย่างเป็นทางการจากเจ้าของอีกที”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น