“3 ล้านครั้ง” คือจำนวนยอดวิวการอ่าน "นิยายชายรักชาย" ภายในปีเดียว สะท้อนความนิยมในกลุ่มนักอ่านวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้อ่านเพศหญิงที่เรียกกันว่า "สาววาย" ซึ่งกลายมาเป็นกลุ่มหลักๆ ที่พร้อมทุ่มเงินไปกับการจิ้นฉาก "ชายได้ชาย" ส่งให้นิยายประเภทนี้มาแรงสุดๆ ในช่วงหลังๆ
ท่ามกลางข้อครหาเรื่อง "ฉากเซ็กซ์" โจ๋งครึ่ม ที่ส่งให้สังคมตั้งคำถามอย่างหนักว่า "นิยายวาย" ก็แค่ "นิยายขายเซ็กซ์"!? และนี่คือคำตอบจากเจ้าของปลายปากกา ที่โด่งดังที่สุดคนนึงในสายชายจิ้นชาย
สร้างโลกอีกใบ!! ให้ “ผู้ชาย” ได้กันเอง
[หลากหลาย “นิยายวาย” ทำเงิน ของสำนักพิมพ์ EverY]
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสจิ้น “ชายรักชาย” ที่สร้างความฟิน ให้เหล่าเก้งกวางต่างจิกหมอนขาดกันไปหลายใบ มีจุดเริ่มต้นมาจาก หนังสือนิยายราคาหลักร้อย ที่ขายดิบขายดี ฟีเว่อร์ จนเติบโตไปสู่วงการโทรทัศน์ กลายเป็นทีวีซีรีส์ที่สร้างความนิยมให้ความ “วาย” ไม่ตายไปจากวงการบันเทิง
แต่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ที่เหล่าสาวกนิยาย “ชายรักชาย” ส่วนใหญ่ จะกลายเป็นกลุ่ม “หญิงสาว” หลากวัย หรือที่เรียกกันว่า “สาววาย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบ และคลั่งไคล้ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ชายกับผู้ชาย” อย่างมาก ไม่แพ้กลุ่มเก้งกวางน้อยใหญ่เลยทีเดียว
ความหลงใหลในความ “วาย” ของกลุ่ม “สาววาย” ช่วยพยุงให้วงการหนังสือนิยายวาย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อลองสังเกตดูก็จะพบว่า นักเขียนนิยายวายจำนวนไม่น้อยก็เป็น “ผู้หญิง” เช่นเดียวกัน
หนึ่งในนักเขียนนิยายวายที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ อย่าง น้ำฝน-จิตติณัฏฐ์ งามหนัก สาวเหนือวัย 25 เจ้าของนามปากกา “JittiRain” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกเธอว่า “จิตติ”
จากผลงานวายสุดฟินอย่าง “วิศวกรรมประสาท” ที่ขายดีเป็นอับดับ 1 ใน Top 10 Bestseller และ “ทฤษฎีจีบเธอ” ที่โด่งดังจนเข้าตาผู้จัดซีรีส์ และกำลังจะได้ลงจอในปีนี้ ได้มาพูดคุยถึงประเด็น “กระแสความวาย” ที่แทรกซึมอยู่ในกระแสเลือดของสาวๆ ให้ผู้สัมภาษณ์ได้กระจ่างในปรากฏการณ์นี้มากยิ่งขึ้น
“ผู้หญิงเราจะเป็นเพศสภาพที่จิตนาการเก่งมาก พอเวลาเราเห็นผู้ชายสองคนอยู่ด้วยกัน แล้วมันเกิดเคมีบางอย่างที่เรามองแล้วมันน่ารักดี เราก็จะชอบ เราก็จะฟิน มันเป็นอิทธิพลจากการอ่านนิยาย การเสพสื่อ ความชอบส่วนตัว รสนิยมส่วนตัว ทำให้ชอบเสพเรื่องราวของ ชายรักชาย
เราเคยอ่านบทความหนึ่งมา มีเนื้อความประมาณว่า ผู้หญิงจะรู้สึกดีเวลาที่ตัวเองไม่ถูกกดขี่ หรือถูกกระทำ ดังนั้น เมื่ออ่านนิยายวาย ที่ตัวละครผู้ชายกดขี่กันเอง หรือผู้เขียนสามารถที่จะควบคุมตัวละครผู้ชายได้ ก็จะเกิดความรู้สึกดีที่ตนไม่ถูกกระทำ ประมาณนั้น เรามองว่ามันคือการสร้างโลกอีกโลกหนึ่งไว้มากกว่า”
เธอเล่าเสริมว่า แรกเริ่มเดิมทีเธอเคยเขียนนิยายชายหญิงมาก่อน แต่สำนักพิมพ์กลับไม่ปลื้มเท่าไหร่นัก สาเหตุมาจากที่เธอไม่สามารถสื่ออารมณ์ความรักแบบชายหญิงให้คนอ่านอินและฟินได้
“เราไม่สามารถสื่ออารมณ์ความรักแบบชายหญิงให้คนอ่านเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง หลังจากที่ได้ลองเขียนหลายๆ แนวแล้ว เรามองว่ามันเป็นมิติใหม่ที่มันเข้าถึงเรา และเราเขียนได้ดีมากกว่าแนวอื่น
อาจจะด้วยความชอบส่วนตัวของเราด้วย และประเด็นของชายรักชาย มันตอบโจทย์ในเรื่องของความฟิน ในแบบที่นิยายอื่นไม่มี อธิบายไม่ได้ มันแอปสแตรกต์มากๆ (หัวเราะ)”
ถึงเธอจะไม่มีคำตอบที่แน่ชัดให้ คงต้องให้ผู้อ่านที่เคยเสพวายไปตีความกันเอาเองว่า ความฟินดังกล่าว เหนือกว่านิยายประเภทอื่นอย่างไร
แต่สิ่งที่ชัดเจนมากที่สุดในตอนนี้คือ ความชอบในเคมีที่เข้ากันของผู้ชายกับผู้ชาย ที่ผ่านสายตาอันคมกริบให้ได้คอยจับจิ้น ซึ่งเป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากความรัก ของนักเขียนสายวายอย่างเธอคนนี้มาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีของการเขียนนิยาย แม้ในช่วงที่เธอเป็น “นักศึกษาครู” เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
“เราเริ่มเขียนนิยายมาตั้งแต่มัธยมแล้ว พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ยังเขียนนิยายอยู่ แม้ว่าเราจะมาเรียนครูชีววิทยาก็ตาม แต่เรารักกับมันมาก เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อที่จะทำสิ่งนี้
เราเคยหยุดเขียนไปประมาณ 6 เดือน เราจึงได้คำตอบว่าเราไม่มีความสุขเลยที่เราไม่ได้เขียน หลังจากนั้นเราจึงเข้าใจว่าเราไม่สามารถหยุดเขียนมันได้ ดังนั้นงานเขียนจึงเป็นงานที่เรา จะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ทั้งปัจจุบันและในอนาคต
เรายังรักมันอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งก็มาจากกระแสฟีดแบกของผู้อ่าน และกระแสความนิยมของนิยาย แต่ถ้าวันหนึ่งกระแสมันลดลง เราจะถามตัวเองก่อนว่าเรายังรักมันอยู่หรือเปล่า ถ้าเรายังรักการเขียนอยู่ เราก็จะเขียนต่อ”
“นิยายวาย” ครองเมือง ยุครุ่งเรืองของ “ชายรักชาย”
นักเขียนสาวเหนือบอกกับผู้สัมภาษณ์ถึงที่มาของ “นิยายวาย” ว่ามีมานานแล้ว แต่กระแสนิยมที่เพิ่มขึ้น มาจากการเปิดกว้างเรื่องเพศสภาพที่หลากหลายของคนในสังคม และความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนอ่านนิยายที่ให้ความสนใจ และเปิดใจรับนิยายแนวใหม่มากยิ่งขึ้น
“กระแสนิยมมันเริ่มต้นมาจากหนังสือ เริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่งอ่านนิยายวาย แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งโลกเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มมีคนยอมรับในเรื่องเพศสภาพที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาอ่านนิยายแนวนี้มากยิ่งขึ้น
อีกส่วนหนึ่งก็มาจากกระแสคนอ่านที่เปลี่ยนไป อย่างตอนเด็กอ่านแนวหนึ่ง พอโตขึ้นก็อ่านอีกแนวหนึ่ง นิยายวายก็กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น เหมือนเป็นแนวทางใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ผู้อ่านก็จะให้ความสนใจมาอ่าน”
กระแสตอบรับนิยายวายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากผลสถิติผู้อ่านนิยายจากเว็บไซต์ Dek-D.com ในปี 2561 ซึ่งมีผู้อ่านนิยายวายมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนถึง 3 ล้านครั้ง บ่งบอกถึงกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนักอ่านหน้าใหม่ ได้เป็นอย่างดีว่า คนกลุ่มนี้กำลังหันมาให้ความสนใจนิยายวายอย่างจริงจัง
แน่นอนว่าการเปิดกว้างเรื่องเพศสภาพที่มากขึ้น เหล่านักอ่านและนักเขียนสายวายก็มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีช่องทางการในเสพนิยายที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
“การที่กระแสนิยายวายเติบโตได้มากขนาดนี้ เพราะปัจจุบันสามารถหาเสพนิยายวายได้ง่ายมาก ช่องทางในการอ่านนิยายวายในตอนนี้มีเยอะมาก จะมีคนอ่านหลายประเภท ส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านจากในเว็บก่อน โดยคนเขียนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มเขียนจากในเว็บไซต์ก่อน เช่น Dek-D.com, Thaiboyslove.com หรือเว็บไซต์นิยายอื่นๆ พออ่านแล้วชอบก็จะมีการซื้อหนังสือ เมื่อมีการตีพิมพ์วางขาย”
ทั้งสาววายรุ่นเล็กวัยมัธยมไปจนถึงสาววายรุ่นใหญ่วัยทำงาน ล้วนเป็นสาวกขาจิ้นชายรักชายทั้งสิ้น โดยนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ความรักใสๆ ของเด็กวัยมัธยมไปจนถึงวัยมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ตอบโจทย์ความฟินนี้ คือประสบการณ์ร่วมในแบบที่ทุกคนเคยสัมผัส และสามารถหยิบจับมาใช้ได้ง่าย
“เป็นเพราะว่ามันจะตอบโจทย์ทั้งเด็กที่เรียนมัธยม-มหาวิทยาลัย หรือคนที่ผ่านวัยนี้มาแล้ว และจำได้ว่าเคยผ่านช่วงนี้มา ก็จะอินกับแนวนี้มากๆ ในตลาดนิยายวายไทย
และนักเขียนส่วนใหญ่ก็จะชอบเขียนแนวนี้ ส่วนเรื่องที่เป็นดรามา มีความเข้มข้น เนื้อหาหนักๆ ก็จะได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่อายุมากขึ้น“
[ปรากฏการณ์คลั่งนิยายวาย ทลายบูทหนังสือ]
ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน นักเขียนนิยายเพศทางเลือกอย่างเธออาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่า สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ในปัจจุบัน การเติบโตของ “นิยายวาย” เป็นตัวบ่งบอกให้เห็นถึง การเปิดกว้างทางความคิดของคนในสังคมได้ชัดเจนมากที่สุด แม้จะยังมีคนที่รับไม่ได้อยู่บ้างก็ตาม
“เทียบกับเมื่อก่อนแล้วคนยอมรับในสายนี้น้อยมาก เวลาจะอ่านก็ต้องไปแอบซื้อ ไปแอบอ่าน ซีรีส์ก็มีน้อย แต่ตอนนี้มันเปิดกว้างมาก มีคนผลิตมากขึ้น มีคนอ่านมากขึ้น มีคนเขียนมากขึ้น มีคนยอมรับในจุดที่ตัวละครเพศเดียวกัน มีความรักกัน มีความสัมพันธ์ด้วยกัน
มันเป็นการเปิดกว้างทางความคิดของคนที่ไม่ได้ยึดติดในกรอบเดิมๆ ที่เราคาดหวังว่าจะต้องเป็น ชายกับหญิงเท่านั้น”
เปิดข้อครหา “นิยายขายฉากเซ็กซ์”
[2 ผลงานชื่อดังของ “จิตติ” ที่กำลังเป็นกระแส]
เมื่อมีกลุ่มคนที่ยอมรับ แน่นอนว่าต้องมีกลุ่มคนที่เห็นต่าง แม้การเปิดกว้างทางความคิด หรือการยอมรับความหลากหลายทางเพศมีมากขึ้น แต่ “นิยายวาย” ก็ยังถูกมองว่า มีเนื้อหาล่อแหลม ในการนำเสนอเรื่องเพศสัมพันธ์ และอาจส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดการเบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น ตอกย้ำคำพูดที่ว่า “นิยายวาย เป็นนิยายขายฉากเซ็กซ์”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าของผลงานการเขียนอันเผ็ดร้อน ได้ตอบประเด็นนี้กับผู้สัมภาษณ์ว่า ฉากเซ็กซ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติของนิยาย ที่จะต้องมี ไม่ว่าจะชายหญิง หรือชายชาย เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับงานเขียน
“ฉากเซ็กซ์ หรือที่นิยายจะเรียกว่า NC นั้น จะเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของความสัมพันธ์ ซึ่งมีเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเท่านั้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของตัวละคร และไม่ให้นิยายน่าเบื่อ ส่วนฉาก NC จะวาบหวิวขนาดไหน มีเรตประมาณไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของสำนักพิมพ์แต่ละสำนักพิมพ์”
แน่นอนว่าสำนักพิมพ์คู่บุญของเธอ อย่าง “EverY” ที่มีชื่อเสียงทางด้านนิยายวายเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ก็มีเรตในการแต่งแต้มเรื่องราวของนักเขียน อยู่ที่ 18+ ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้นักเขียนสามารถถ่ายทอดความสยิว ผ่านฉากรักอันเร่าร้อน ให้แฟนๆ นิยายสายวาย ได้จิกหมอนตัวเกร็งไปตามๆ กัน
ส่วนในประเด็นของความล่อแหลม ที่อาจจะส่งผลให้ผู้อ่านวัยเด็ก เบี่ยงเบนทางเพศ ไปจากเพศสภาพของตน นักเขียนสาว ไม่คิดว่าการอ่านนิยายวายจะมีผลให้เด็ก หันมาชอบเพศเดียวกัน อย่างที่เป็นข้อครหา “น่าจะเป็นที่สังคมของเด็กมาก่อนอยู่แล้ว หลังจากที่เด็กรู้ว่าความชอบของเขาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เขาถึงจะมาเริ่มอ่านนิยายวาย”
ที่น่าสนใจคือ การนำเสนอความสัมพันธ์เช่นนี้ ได้ถูกต่อยอดมากขึ้นเมื่อนิยายมีความโด่งดัง และถูกนำไปทำเป็นทีวีซีรีส์ ทำให้ภาพลักษณ์ของนิยายวาย ถูกมองว่า ไม่เหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม
“จริงๆ แล้วผู้สร้างทีวีซีรีส์ควรพิจารณาว่า ฉากล่อแหลมเหล่านั้นมันมีผลต่อความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องมากแค่ไหน ถ้าตัดออกจะส่งผลต่อเรื่องราวมากแค่ไหน เนื่องจากคนดูมีหลายกลุ่ม หลายช่วงวัย และผู้จัดเองควรมีความรับผิดชอบต่อคนดูทุกกลุ่ม เพราะสิ่งเหล่านี่มันส่งผลอย่างมาก ต่อภาพลักษณ์ของนิยายที่เราเขียน”
เธอกล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ยอมรับนิยายวายก็ยังมีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับในอดีตแล้ว ถือว่าน้อยลงมาก “เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ว่า เราได้คุยหรือได้เปิดใจกับคนบางกลุ่มหรือเปล่า ถึงแนวทางหรือจุดประสงค์ของความเป็นนิยายวาย” เพราะเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่เปิดใจเรื่องนี้กับครอบครัว หลังจากแอบเขียนนิยายมาเป็นระยเวลา 2 ปี!!
[ผลงานเขียนในช่วงเป็นนักศึกษาครู สู่การเป็นนักเขียนในปัจจุบัน]
“เราเขียนนิยายมา 2 ปี โดยที่เราไม่บอกพ่อแม่ว่าเราเขียนแนวไหน พอวันหนึ่งเราตัดสินใจจะบอกพ่อแม่ว่าเราเขียนนิยายเกย์ เรากลัวมาก กลัวว่าเขาจะยอมรับในสิ่งที่เราเขียนไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราเขียนมันก็บ่งบอกตัวตนของเรา
ตอนเราตัดสินใจบอก เราเลยอธิบายให้เขาฟัง แล้วเขาเริ่มทำความเข้าใจ และเปิดใจยอมรับ หลังจากนั้นเขาก็เสพงานแนวนี้เยอะมาก ซึ่งเรารู้สึกดีมากที่มีแม่เข้าใจ”
แม้ว่าครอบครัวเธอจะเข้าใจ แต่ก็ยังมีคนอีกมาก ที่ไม่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ไม่สะอิดสะเอียดกับฉากเหล่านั้น ถึงแม้มันจะเป็นจุดขายที่ขาดไม่ได้ แต่เธอก็อยากจะสร้างจุดเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงการที่เธอเติบโตมา
“ส่วนตัวคิดว่า ในวงการนิยายวายจะต้องเริ่มหันมาสร้างค่านิยมใหม่ๆ ได้แล้ว เราจะทำยังไงให้คนมองว่านิยายวายไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กซ์นะ เราต้องนำเสนอในมุมมองใหม่ๆ ซึ่งช่วงหลังผู้จัดทีวีซีรีส์ก็เริ่มเปลี่ยนแนวทางแล้วเหมือนกัน และเราอยากให้คนมองว่า นิยายวาย ก็เหมือนนิยายทั่วไปที่สร้างความบันเทิง และให้ข้อคิดดีๆ ได้เหมือนกัน”
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กฤษกร ธาราพิตร์
ภาพ: ศิริกร ชิระกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "JittiRain" และ “EverY”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **