xs
xsm
sm
md
lg

“สูญสิ้นศักดิ์ศรีชุดครุย” ฉะ! สถานศึกษาใช้เกลื่อนตั้งแต่อนุบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
นักวิชาการโพสต์ฉะ "เด็กไทยบ้าใบจบ" ทั้งอนุบาล-ประถม-มัธยม หันมาสวม "ชุดครุย" วันจบการศึกษา จนทำให้ความหมายของชุดแทบหมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปทันตา เสนอแนะกระทรวงศึกษาฯ จัดการ หยุดส่งเสริมให้เด็กๆ เสพติดใบจบ-โอ้อวดชุดครุยเสียที!!

หยุดปลูกฝังเด็กไทยให้ “บ้าปริญญา”
 
“สูญสิ้นศักดิ์ศรีชุดครุย” สัญลักษณ์ความสำเร็จทางการศึกษาทั้งชีวิตของว่าที่บัณฑิต แต่ปัจจุบัน “ชุดครุย” กลับถูกใช้เกลื่อน สำหรับพิธีเรียนจบของระดับ อนุบาล-ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา แต่เหตุใดนักเรียนไทยถึง “เห่อ!” ใส่ครุยในวันเรียนจบขนาดนี้?

“ครุยและพิธีการ บัณฑิตน้อย ลามจากอนุบาล ถึง ป.6 ม.3 ม.6 ลามจากโรงเรียนเอกชน เข้าสู่โรงเรียนรัฐเป็นมหกรรมแล้วครับ บ้าใบ มากไปมั้ย? การศึกษาไทย”

นี่คือคำพูดของ ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ประภาศ ปานเจี้ยง” โดยได้แสดงจุดยืนสะท้อนปัญหาสังคมทุกวันนี้ไว้ว่า เด็กไทยบ้าใบเรียนจบมากจนเกินไป

แสดงความคิดเห็นต่อการสวมใส่ชุดครุยตอนพิธีจบการศึกษาของเด็กๆ ซึ่งได้บอกว่า ชุดครุยที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สมควรเอามาใส่กันจนเกลื่อนขนาดนี้ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า เด็กไทยบ้าใบเรียนจบเกินไป

“การใส่ชุดครุยของบัณฑิตน้อย ที่มีอยู่แค่ระดับอนุบาล ก็ยังพอยินดี ดูความน่ารักของเด็กๆ คิดเสียว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวที่มีสถานศึกษาอำนวยการให้

 
แต่ยิ่งอยู่ครุยและพิธีการบัณฑิตน้อย ยิ่งลามถึง ป.6 ม.3 ม.6 ปวช. ปวส. ลามจากโรงเรียนเอกชน จนถึงโรงเรียนของรัฐบาล ลามจากพื้นที่น้อยๆ จนกินพื้นที่กว้างขึ้นๆ ครอบคลุมทั้งประเทศ
 
ก่อนเขียนโพสต์นี้ ผมลองสำรวจเล็กๆ จาก ผอ.สถานศึกษาที่เป็นกัลยาณมิตรกันจำนวนหนึ่ง ว่ากรณีครุยและพิธีการบัณฑิตน้อยของ ม.3 และ ม.6 นั้น เป็นความต้องการของใคร? สถานศึกษา ผู้ปกครอง หรือนักเรียน ซึ่งได้คำตอบว่า ส่วนใหญ่เป็นความประสงค์ของนักเรียน

ทั้งนี้ นักวิชาการคนเดิม ยังได้พูดถึงข้อเสียของการใส่ชุดครุยในวันจบการศึกษาของเหล่าเด็กๆ ไว้ 3 ข้อด้วยกันว่า มันทำให้สิ้นเปลืองเงิน ซึ่งพิธีการดังกล่าวไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น และงานนี้ยิ่งทำให้ “ครุย” ถูกลดคุณค่าลง

“1.สิ้นเปลือง สิ้นเปลืองเงินทองของผู้ปกครอง ไหนบ่นกันอุบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่? ไหนพูดกันว่าเราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง?

2.สร้างสังคมที่ยึดมั่น ‘พิธีการ’ และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นแก่นสารน้อยกว่า ซึ่งหลายสถานศึกษากำลังพันธนาการคุณภาพการศึกษาของเราให้อยู่กับที่ ฉุดขึ้นยากกว่าเดิม

3.ทำให้ ‘ครุย’ ไม่สมเกียรติ เกลื่อนเมือง ครุยระดับปริญญาของมหาวิทยาลัย ถูกลดคุณค่าและความหมายลง”

 
อย่างไรก็ตามทางทีมข่าว MGR Live ได้ค้นหาแบบสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพบว่าเว็บ Dek-D.com ได้ทำแบบสอบถามไว้ตั้งแต่ปี 2557 ในหัวข้อกระทู้ที่ชื่อว่า “เห็นด้วยหรือไม่? ที่ ร.ร.ประถม-มัธยม มีชุดครุย” ยิ่งแสดงให้เห็นว่าชุดครุยระบาดหนักมาตั้งนานแล้ว
 
โดยผลสรุปของแบบสอบถามมีคำตอบที่แตกต่างกันอย่างมาก โดย 92 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย เพราะชุดครุย เป็นชุดศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ใครจะใส่ก็ได้ และอีก 8 เปอร์เซนต์ เห็นด้วย เพราะไม่แปลกอะไร เป็นการเสริมกำลังใจให้เด็กๆ แถมชาวเน็ตยังคอมเมนต์ไปในทางเดียวกันว่า สำหรับเด็กอนุบาลยังพอยอมรับได้ แต่เด็กประถม มัธยม มันก็ไม่เหมาะสมจริงๆ

“เราก็ไม่เห็นด้วยนะ คือเด็กก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการใส่ชุดครุยมันสื่อถึงอะไร แล้วชุดครุยเป็นชุดที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่จะได้ใส่กันง่ายๆ หรือไม่งั้นก็ทำให้แตกต่างไปเลยจะดีกว่า”

กระทรวงฯ ไม่มีสิทธิห้าม เมื่อสถานศึกษาต้องการเอง

เด็กๆ ระดับประถม-มัธยม สวมชุดครุยในวันจบการศึกษามันเหมาะสมหรือไม่? เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับมุมมองของใครของมัน แต่จากการสำรวจพบว่า เสียงสังคมส่วนใหญ่มองว่าไม่เหมาะสม เพราะสิ้นเปลือง ทั้งยังฝากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการหันมาจัดการเรื่องนี้บ้าง

ทางทีมข่าว MGR Live จึงได้ต่อสายตรงหา ชลำ อรรถธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ (สช.) ให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ โดยได้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า การใส่ชุดครุยของเด็กๆ เหมาะสมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งทางกระทรวงฯ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการแต่งกายนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด

“การสวมชุดครุยเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม มันอยู่ที่มุมมองของคน ซึ่งความคิดเห็นตรงนี้มันหลากหลาย มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางเรามีระเบียบเรื่องชุดครุยอย่างเป็นทางการก็คือ สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น

โดยเริ่มบังคับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 จากที่ผมไปดูประวัติของชุดครุย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแรก ที่กำหนดการใส่ชุดครุยในวันจบปริญญาตรี ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีการกำหนดการแต่งกายให้เป็นพระราชกำหนดกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สอนปริญญาตรี ก็ได้ตั้งข้อบังคับการใส่ชุดครุยตามๆ กัน

แต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มันไม่มีแนวปฏิบัติหรือแนวทางที่กำหนดไว้ ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่มี เพราะผมคิดว่ากระทรวงฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ว่าเรามุ่งเน้นเรื่องจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพมากกว่า

เรื่องชุดครุยอันนี้ โรงเรียนเขาคิดและกำหนดขึ้นมากันเอง โดยแต่ละโรงเรียนจะมีองค์คณะบุคคล ที่ต้องกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ซึ่งกรรมการชุดนี้ต้องพิจารณาด้านความเหมาะสม ว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด
ชลำ อรรถธรรม
 
โดยสิ่งที่เราเป็นห่วง และให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การกำหนดที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครอง เรื่องค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรากำชับกับทางโรงเรียน”
 
เลขาธิการฯ ยังได้บอกอีกว่า ชุดครุยของเด็กๆ ไม่ได้ลดความศักดิ์สิทธิ์ของครุยวิทยฐานะเลย หากชุดของเด็กๆ ไม่ไปคล้ายคลึงกับครุยของระดับอุดมศึกษา และเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนเช่นกัน

“แต่ถามว่ามันจะลดความศักดิ์สิทธิ์ไหม มันก็เป็นมุมมองของแต่ละคน ผมพยายามที่จะไปดูความเห็น มีความคิดเห็นที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ว่าที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ก็คือ มันเป็นการเพิ่มภาระที่ไม่จำเป็น

และอีกเหตุผลคือ ไม่จำเป็นต้องใส่ก่อนก็ได้ รอรับในระดับปริญญาทีเดียวเลยดีกว่า จากมุมมองนี้จะได้เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ชุดครุยเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อดีของการสวมชุดครุยของเด็กๆ มันคือการเก็บความทรงจำ และเป็นเกียรติยศ เพื่อแสดงถึงระดับการศึกษา”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น