ฟินกันอย่างต่อเนื่อง! ไทยทีวีสีช่อง 3 ร่วมกับละครกรงกรรมพาแฟนๆตามรอยละคร โดย สมรักษ์ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ร่วมทริปตลอดเส้นทางกับกิจกรรม “จับรถไฟไปชุมแสงกับกรงกรรม”
โดยนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปจังหวัดนครสวรรค์ตามรอยละครกรงกรรม ไปพร้อมกับ 4 หนุ่มลูกชายบ้านแบ้จากละครกรงกรรม เพ็ชร ฐกฤต(อาใช้), แชมป์ ชนาธิป (อาตง), เจมส์ จิรายุ (อาซา) และ ออกัส วชิรวิชญ์ (อาสี่) ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 ผู้โชคดีทั้ง 30 คน ร่วมสนุกในกิจกรรม"จับรถไฟไปชุมแสงกับกรงกรรม" ตั้งแต่เกมตอบคำถามชิงรางวัล มีการแจกขนมแบบที่เรณูทำขายในละครอย่างตะโก้และขนมชั้น
เมื่อผ่านสถานีรถไฟต่างๆ เช่น บ้านตาคลี, สถานีหนองโพ, สถานีนครสวรรค์, สถานีปากน้ำโพ,และสถานีทับกฤชบรรดาแฟนคลับกรงกรรมได้พากันออกมารอต้อนรับคณะกันอย่างล้นหลาม การเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง จึงมาถึงสถานีชุมแสงสถานที่สำคัญในละครกรงกรรมที่จะพาผู้โชคดีมาตามรอยไปพร้อมกับลูกชายบ้านแบ้ จนทำให้บรรยากาศคึกคักอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านี้ ปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ศรชัย อธิปฏิเวช นายกเทศมนตรีเมืองชุมแสง และ กำพล สิริรัตตนนท์ นายอำเภอชุมแสงรวมถึงชาวบ้านที่มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมพาไปสัมผัสกับอาหารขึ้นชื่อของชุมแสงทั้งข้าวมันไก่ ก๊วยเตี๋ยว ผัดไท ไอติมน้ำตาลสด ขนมหวานตามรอยละคร พร้อมกับชมการแสดงท้องถิ่นอย่าง “เอ็งกอ" รำโบราณถวายเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง จากนั้นได้เดินทางไปสักการะศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงอายุเก่าแก่กว่า 115 ปี
และในการเดินทางครั้งนี้มีผู้ร่วมการเดินทางที่เป็นแขกกิตติมศักดิ์อย่าง จุฬามณี หรือ นิพนธ์ เที่ยงธรรม เจ้าของบทประพันธ์ที่มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้โดยบอกกับทีมข่าว MGRLive ว่าตนเองรู้สึกตื้นตันใจอย่างมากไม่คิดว่าละครเรื่องหนึ่งจะได้รับการตอบรับที่ดีขนาดนี้
“เราก็คิดเหมือนกันว่าเราจะทำยังไงให้บ้านเราไม่ใช่แค่เรื่องแรก ตั้งแต่สุดแค้นแสนรัก พอมาเรื่องกรงกรรมก่อนที่จะเขียนเราคิดไว้แล้วว่าเราจะไปที่ไหนดี เพราะว่าศักยภาพ หรือโลเกชันแต่ละที่อย่างชิงชังสมัยเขียนก็จะเป็นตำบลเล็กๆ ต่อมาสุดแค้นแสนรักก็เป็นเมืองที่มีตำบลเล็กๆ ไม่มีศักยภาพจะลองรับอะไรได้ แต่ชุมแสงเราตัดสินใจเลือกที่นี่เพราะว่าชุมแสงมีศักยภาพอยู่แล้วมีรถไฟ มีทั้งแม่น้ำน่านและมีตลาด 100 ปีที่ถือว่านครสวรรค์ไม่มีที่ไหนเท่าที่นี่”
นอกจากนี้เขายังคิดว่าการที่จะชุบชีวิต หรือปลุกชุมแสงกลับมาได้ยังไงจะต้องมีการคิดก่อนจะเขียนอยู่แล้ว ว่าจะเป็นไปได้ไหม ทั้งยังต้องการให้ชุมแสงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย
“ชุมแสงเรามั่นใจว่ามันน่าจะทดลองดูตอนนี้ชุมแสงกลายเป็นชุมแสงโมเดลไปแล้ว ถ้าเราทำเรื่องอย่างนี้ได้อีกหลายๆ อำเภอ จะทำให้นครสวรรค์เวลาคนผ่านมาแล้วจะต้องนึกถึงฉันเห็นเรื่องชิงชังที่ท่าน้ำอ้อย ฉันเห็นกรงกรรมที่ชุมแสงฉันเห็นตาคลีแล้วฉันนึกถึงเรณูแต่ว่าเราต้องใช้เวลาในการอดทนให้ถึงเป้าหมายของเรา
เรารู้พฤติกรรมของผู้บริโภคคือ แม้มีคำเดียวที่อยู่ในนั้นหน่อยหนึ่งเขาก็ดีใจ แล้วอย่างเรื่องหน้าอย่างเรื่องทุ่งเสน่หาก็มาถ่ายในนครสวรรค์หลายๆ ฉาก เลยอาจจะมีมิติเพิ่มขึ้นมาอย่างกรงกรรมเป็นเรื่องของชุมแสง แต่ไม่ได้มาถ่ายที่นี่ใช้ที่อื่น แต่คนก็มองเป็นชุมแสงได้ แต่เรื่องหน้าเป็นโลเกชั่นที่นครสวรรค์เลยเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะตามมาแต่คือการที่เราคิดไว้แล้วข้างต้นว่านครสวรรค์จะเป็นเมืองไม่ใช่แค่ผ่านไปหรือว่าผ่านมา”