xs
xsm
sm
md
lg

แอบแต่งหญิงนอกบ้าน-ถูกเพื่อนชายรุมกลั่นแกล้ง กว่าจะเป็น “น้องเปเปอร์ นางฟ้าอัสสัมชัญ” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจาะชีวิต “นางฟ้าโรงเรียนชายล้วน” ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กลับอัดแน่นไปด้วยหนทางขรุขระแสนยากลำบาก ที่สาวน้อยในเพศชายรายนี้ต้องฟันฝ่า ทั้งเรื่องราวการเอาตัวรอดจากเพื่อนชายที่กลั่นแกล้ง, ทั้งการพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัว หลังเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง หรือแม้แต่การลองผิดลองถูกเทกฮอร์โมน เพื่อปูทางไปสู่การแปลงเพศ ให้ได้เป็น “ผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์” อย่างที่ฝันใฝ่มาตลอดทั้งชีวิต



“5 ปี” ที่ไม่เข้าห้องน้ำ เพราะถูกล้อ-ถูกกลั่นแกล้ง!!

[เซตภาพที่ส่งให้ โด่งดังเป็นพลุแตกเพียงข้ามคืน]
นาทีนี้คงแทบไม่เหลือใครที่เล่นโซเชียลฯ เป็น ไม่รู้จักเจ้าของฉายา “นางฟ้าอัสสัมชัญ” หลังเด็กสาววัย 17 รายนี้ลุกขึ้นมาโพสต์ภาพ “สาวสวยในชุดนักเรียนชาย” ช็อกความรู้สึกให้ผู้หญิงแท้ๆ รู้สึกพ่ายแพ้ต่อดีกรีความละมุน จนส่งให้ชื่อของ เปเปอร์-พีรดา นามวงศ์ ตกอยู่ในลิสต์เน็ตไอดอลสุดฮอต ที่โด่งดังเป็นพลุแตกเพียงข้ามคืน

จากยอด 28,000 ของผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก “Peerada Namwong” ที่ว่าสูงอยู่แล้ว ก็ยิ่งพุ่งขึ้นไปอีกอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จนตอนนี้แตะระดับอยู่ที่ยอด follow 60,000 กว่าเข้าไปแล้ว ไหนจะหลักฐานตามรายการดังและสื่อทุกแขนง ที่ติดต่อขอเชิญสาวน้อยคนนี้ไปโชว์ตัวอีกนับไม่ถ้วน คงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีแล้วว่า การถ่ายรูปเล่นๆ กับเพื่อน และอัปโหลดภาพบนเฟซบุ๊กของตัวเองตามปกติ มันให้ผลลัพธ์ที่ไม่เล่นได้ขนาดไหน

ตอนที่ลงภาพนั้น ไม่คิดเลยค่ะว่าจะมีคนแชร์เยอะขนาดนี้ค่ะ เพราะเราก็แค่ลงภาพเล่นๆ ตามปกติ ลงเพื่อเก็บภาพไว้ดูบนเฟซบุ๊กเฉยๆ เผื่อเมมฯ ในเครื่องเต็ม จะได้ทยอยลบภาพเก่าๆ ออกได้ แต่อาจจะเพราะวันนั้นเราใส่ชุดนักเรียนชาย แล้วผมยาวด้วยมั้งคะ คนเลยฮือฮากว่าปกติ

เป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมอยู่ค่ะ เราก็เลยไปต่อผมให้มันยาวได้ และพอดีวันนั้นมีไปดูงาน open house ที่จุฬาฯ แล้วมันต้องใส่ชุดนักเรียนไปดู ภาพก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น แล้วคนก็แชร์กันออกไป เรียกเราว่าเป็น “นางฟ้าอัสสัมชัญ” และด้วยความที่เป็นโรงเรียนชายล้วน พอคนเขาได้ยินฉายาแบบนั้น ก็คงแปลกใจนิดนึงว่า ทำไมถึงได้มีนางฟ้า”

ช่วยให้คู่สนทนาได้คลายสงสัยเสร็จ น้องเปเปอร์ก็ปิดประโยค ด้วยรอยยิ้มตาหยีดาเมจรุนแรง ที่ทำให้ใครๆ ต่างตกหลุมรักได้เห็นเป็นขวัญตา ก่อนเริ่มควักหัวใจออกมาแชร์กัน ถึงประเด็นที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้มากที่สุดคือ “ชีวิตสาวสวยในรั้วโรงเรียนชายล้วน” ว่า จะอัดแน่นด้วยสีสันแบบไหน



[ความยาวจริงของทรงผม “นางฟ้าอัสสัมชัญ” ในคราบนักเรียนชาย]
และหนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจก็คือ กว่าจะมีวันที่ยิ้มสดใสอย่างที่เห็นทุกวันนี้ได้ เธอต้องผ่านการถูกล้อถูกกลั่นแกล้งมาไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะชีวิตช่วงประถม ที่แทบจะเป็นเหมือนฝันร้ายเลยก็ว่าได้ สำหรับคนเป็นเพศทางเลือก ที่กล้าเปิดเผยตัวตนแท้จริงมาตั้งแต่วัยเด็กอย่างน้องเปเปอร์

“ครั้งแรกที่ถูกล้อ เป็นตอนที่ครูเช็กชื่อในห้องเรียน แล้วหนูตอบไปว่า “มาค่ะ” เพื่อนๆ ก็เลยเอามาล้อ ตอนนั้นเราเองก็ไม่รู้ว่า การที่เราเป็นอย่างนี้ มันจะโดนล้อ แต่ว่าเราก็พูดไปแล้ว ก็เลยโดนล้อมาเรื่อยๆ (หัวเราะเบาๆ) อาจจะเพราะเพื่อนคนอื่นๆ ที่เป็นแบบเรา เขายังไม่ได้ออกเท่าหนูด้วย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นแนวแอ๊บๆ มากกว่า แล้วค่อยมาออกกันชัดๆ อีกทีตอนมัธยม

ที่ถูกแกล้งหนักสุดก็คงเป็นถูกแอบดูตอนเข้าห้องน้ำค่ะ เพราะปกติเราจะไม่ไปยืนกับผู้ชาย แต่จะเข้าไปใช้แบบที่เป็นห้องๆ และใช้แบบนั่ง แล้วก็จะโดนเพื่อนผู้ชายแกล้งตลอด คือปีนขึ้นมาดูจากห้องข้างๆ หนูก็เลยต้องพยายามเลือกเข้าฝั่งติดกำแพง แต่อีกด้านนึงมันก็จะไม่ติดกำแพงอยู่ดี (ยิ้มเนือยๆ) แต่ก็ยังดีกว่าเวลาไปใช้ห้องที่ไม่ติดกำแพงทั้งสองด้าน

แต่พอโดนแกล้งมากๆ เข้า หลังๆ เราก็มีแกล้งกลับเหมือนกันนะคะ คือใช้สายฉีดน้ำ ฉีดใส่หน้าเพื่อนเลย อย่างเวลาเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง ก็ต้องพยายามสังเกต แล้วก็ฟังเสียงเอาค่ะ ถ้ามีใครกำลังจะปีนดู เราก็จะได้ยินเสียงก๊อกแก๊กๆ ข้างห้องก่อน ถ้าเริ่มมีเสียงปีน แล้วตามมาด้วยเสียงคุยกัน “เฮ้ย..มันอยู่นี่ๆ” เราก็จะเตรียมสายฉีดมาไว้ในมือละ (หัวเราะ)”



อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก เป็นสีสันในวัยเด็ก พอหยิบมาเล่าเคล้าเสียงหัวเราะแบบนี้ แต่สำหรับผู้ถูกกระทำอย่างน้องเปเปอร์ในตอนนั้น ถึงกับรู้สึกเข็ดขยาดกับวีรกรรมพิเรนทร์ของเพื่อนๆ เหล่าชายแท้ จนตัดสินใจไม่เข้าห้องน้ำที่โรงเรียนอีกเลย เป็นเวลานานถึง 5 ปีเต็มๆ!!

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนูเลยเลือกที่จะไม่เข้าห้องน้ำที่โรงเรียนอีกเลย ตั้งแต่ตอน ป.3 จนถึง ม.2 คือจะใช้วิธีไม่กินน้ำเลยระหว่างวัน ซึ่งมันไม่ดีนะคะ เพราะคนเราต้องกินน้ำ แล้วก็ต้องกินวันละหลายขวดด้วยถึงจะผิวสวย แต่ตอนนั้นเราไม่อยากโดนแกล้งไงคะ ทำไงได้ ก็เลยตัดสินใจไม่เข้าไปเลย ถึงจะไม่โดน แล้วค่อยเก็บมาเข้าที่บ้านแทน

แต่พอทุกคนโตขึ้น ความคิดก็โตขึ้นด้วย ก็เลยไม่ล้อไม่แกล้งกันแล้วค่ะ พอสัก ม.3 เริ่มเห็นว่าน่าจะปลอดภัยแล้ว หนูเลยกลับมาลองใช้ห้องน้ำดู อีกอย่างเป็นเพราะตึกที่เรียนตอน ม.3 มันจะมีห้องน้ำแยกเฉพาะแบบยืนด้วย ซึ่งผู้ชายก็จะไปเข้าตรงนั้นกันหมด หนูก็เลยลงมาเข้าห้องน้ำของสนามบาสฯ แทน ที่มันแบ่งเป็นห้องๆ และไม่ค่อยมีคนใช้ ก็เลยสามารถกลับมาเข้าห้องน้ำที่โรงเรียนได้ตามปกติแล้วค่ะ”



ถ้าเทียบกับรุ่นพี่นักเรียนชายใจสาว ที่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อนแล้ว ก็ถือว่าที่น้องเปเปอร์โดนเบากว่ามาก “เคยได้ยินรุ่นพี่เล่ากันว่า มีหนักถึงขั้นจับแก้ผ้าเลย” เจ้าตัวจึงมองว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่คนในสังคม “เปิดใจยอมรับเพศทางเลือก” อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย ทำให้ “วัฒนธรรมการกลั่นแกล้ง” ค่อยๆ ดีขึ้นๆ เรื่อยๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ยิ่งสังคมเปิดกว้างมากเท่าไหร่ และทำให้เรื่องแบบนี้มันดูเป็นเรื่องปกติ คนก็จะไม่มองว่าการเป็นแบบนี้มันแปลก และการแกล้งกันก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วก็จะไม่มีใครต้องเสี่ยง เสียสุขภาพอย่างที่เราเคยเป็น

และจริงๆ แล้วหนูกลับมองว่า คนที่ยังแกล้งคนอื่นอยู่ จะกลายเป็นคนที่แปลกแทนแล้วนะในสังคมสมัยนี้ ดูสิว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ทำไมนายยังแกล้งอยู่อีก เพราะถ้าโตๆ กันแล้ว มีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว เขาก็ไม่ทำแบบนั้นกันแล้ว



เปิดเผยตัวตน-พิสูจน์ตัวเอง ให้ “ครอบครัว” ยอมรับ

[เพราะครอบครัวเข้าใจ จึงทำให้มีวันนี้]
“เอาจริงๆ หนูไม่เคยมีช่วงสับสนในตัวเองเลยนะ เพราะหนูมั่นใจมาตั้งแต่เด็กเลยว่า เราไม่อยากเป็นผู้ชาย จนมาถึงตอนนี้ เราก็ยังมั่นใจอยู่ว่า เราต้องการเป็นผู้หญิง”

คำว่า “เด็ก” ที่น้องเปเปอร์หมายถึง คือการรู้ใจตัวเองมาตั้งแต่ตอนอนุบาล โดยเฉพาะคลาสเรียนว่ายน้ำ ซึ่งต้องเรียนต่อเนื่องทุกเย็นหลังเลิกเรียน ในช่วงอนุบาล 1 ถึงอนุบาล 3 ที่ทำให้เธอมีโอกาสแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมาเป็นครั้งแรกในชีวิต

“พ่อแม่น่าจะเริ่มสังเกตเห็นเราตั้งแต่ตอนอนุบาลแล้วล่ะค่ะ เพราะตอนนั้นคนอื่นเขาเลือกว่ายน้ำท่าแมนๆ กันหมด แต่หนูจะเลือกว่ายท่านางเงือกตลอด เพราะหนูอยากเป็นนางเงือก (หัวเราะ) มันมีที่มาจากการที่หนูรักตัวละคร Ariel ในการ์ตูนเรื่อง The Little Mermaid และอยากเป็นแบบนั้น

หรือแม้แต่ตอนที่เด็กผู้ชายคนอื่นเขาเล่นเตะบอลกัน เราก็เลือกที่จะเล่นขายขนมครกกับพี่สาวที่เป็นญาติ และความรู้สึกมันก็ยิ่งชัดขึ้นตอนเราขึ้นชั้นประถม ประมาณช่วง ป.3 จำได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เริ่มรู้สึกชอบเพื่อนผู้ชายแล้ว จะชอบไปนั่งข้างๆ เขา ไปขอลอกงาน พยายามทำตัวใกล้ชิดเขา ทั้งที่ตอนนั้นไม่รู้จักว่าอะไรคือความรักด้วยซ้ำ

เวลามีงานของทางโรงเรียน เราก็จะขอเต้นโชว์ด้วยทุกครั้ง เพราะคิดว่าถ้าเราเต้น อย่างน้อยเราก็จะได้แต่งหน้า ได้ใช้เครื่องสำอาง (ยิ้ม) แล้วก็ได้ใส่ชุดที่มันจะมีติดเลื่อมเพชรวิบวับๆ ตามประสาชุดของเด็กๆ ซึ่งคนอื่นอาจจะมองว่าเป็นชุดปกติ แต่เราชอบ ถึงจะเป็นการเต้นรวมกันแบบเด็กผู้ชายก็ตาม”



[เธอคือ เด็กสาวในร่างเด็กชาย]
เมื่อเห็นวี่แววแล้วว่า “ลูกชายคนเดียวของบ้าน” กำลังมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น “ลูกสาว” การเลือกแค่เฉพาะ “โรงเรียนชายล้วน” ให้น้องเปเปอร์เข้าสอบ จึงเป็นทางที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่า น่าจะช่วยโอบอุ้มความหวังที่หลงเหลืออยู่เอาไว้ได้ คือหวังว่าสภาพแวดล้อมแมนๆ รอบตัว จะช่วยกล่อมเกลาให้ “ด.ช.พลสิทธิ์” ห่างหายจากพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้ ซึ่งเจ้าตัวขอฟันธงจากประสบการณ์เลยว่า ความคิดเหล่านั้นเป็นเพียงความเชื่อที่ผิดๆ เท่านั้นเอง

ความคิดว่าให้ลูกเข้าโรงเรียนชายล้วน มีแต่เพื่อนผู้ชาย แล้วเราก็จะไม่เป็น มันเป็นความคิดที่ผิดนะคะหนูว่า เพราะถ้าเด็กเขาจะเป็น ต่อให้ไปอยู่โรงเรียนไหน เขาก็เป็น มันขึ้นอยู่กับฐานจิตใจของคนมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หรือไม่ได้เป็นโรคอะไรสักอย่าง ที่จะทำให้หายได้ เพราะอย่างหนูก็ชัดเจนมาตั้งแต่เลือกว่ายท่านางเงือกแล้ว

และตั้งแต่จำความได้ หนูก็ไม่เคยคิดอยากทำตัวแมนๆ เลย ที่เคยทำครั้งเดียวก็แค่ตอนถูกคุณครูบังคับ บอกว่าอย่าพูดคะในห้องเรียน อย่านั่งไขว้ห้าง ตอนยืน-ตอนเดินก็ห้ามบิดตูด ฯลฯ ไม่งั้นครูจะบอกพ่อแม่เธอ และทุกครั้งที่วันพบผู้ปกครองมาถึง เราก็จะกลัวมาก เพราะกลัวคุณครูบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าเราเป็น เพราะตอนอยู่ที่โรงเรียนเราไม่ได้ปิดบังอะไร

พอมองกลับไปตอนนี้ก็เข้าใจนะคะว่า คุณครูเขาคงหวังดี อยากให้เราเป็นเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป หรืออาจจะเป็นเพราะพ่อแม่บางคนที่มาขอคุณครูไว้ บอกว่าลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ๆ นะ ให้ฝากดูแลหน่อย อย่างเพื่อนหนูก็มีที่โดนแบบนี้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรนะคะ เพราะเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องของรสนิยมแต่ละคน



ให้ลองหมุนเวลาทวนเข็มนาฬิกา กลับไปวิเคราะห์ตัวเองดูว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กผู้ชายคนนึง อยากกลายเป็นเด็กผู้หญิงขึ้นมา จะเป็นเพราะเด็กสาวหน้าหวานคนนี้ ใช้เวลาอยู่กับคุณแม่มากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ภายในบ้าน อย่างที่คนอื่นๆ วิเคราะห์กันเอาไว้หรือเปล่านั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าตัวตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่น่าเกี่ยวและไม่ควรจะโทษใคร

“จะว่าไป คำถามนี้คือคำถามโลกแตกเหมือนกันนะ (ยิ้ม) ถามว่าทำไมเป็น สาเหตุมาจากอะไร อยู่กับผู้หญิงเยอะเหรอ แต่หนูว่าก็ไม่นะคะ เพราะแต่ก่อนญาติเราก็มีทั้งผู้ชาย ทั้งผู้หญิง แต่เราก็เป็นคนเลือกเองที่จะอยู่กับผู้หญิงเอง

หรืออย่างคุณพ่อก็มีกิจกรรมให้เราไปทำด้วยได้ อย่างการออกกำลังกาย แต่เรากลับเลือกไปอยู่กับคุณแม่ ตามเขาไปทำผม ทำเล็บ

ถ้าให้หนูตอบ หนูมองว่าเป็นเพราะตัวเองค่ะ เพราะเรื่องแบบนี้มันคือรสนิยม ถ้าเราเป็นแล้วก็ไม่ต้องโทษใคร โทษตัวเองดีกว่าที่อยู่ดีๆ ก็เป็น

อย่างหนูก็เลือกที่จะเล่นแต่กับผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก มีแอบเล่นตุ๊กตาบาร์บี้กับน้องที่เป็นญาติด้วย มีอยู่ครั้งนึง คุณพ่อเปิดประตูเข้ามาพอดี ด้วยความตกใจ จากที่เล่นๆ อยู่ก็หักหัวบาร์บี้ทิ้งเลย แล้วก็โยนทิ้ง พยายามทำตัวแมนๆ (หัวเราะ) พอพ่อออกไปก็ค่อยกลับมาขอโทษน้อง ค่อยมาสงสารตุ๊กตา พอคิดกลับไปตอนนั้น มันก็ขำดีเหมือนกัน”



จุดสิ้นสุดเรื่องราวความลับในใจของน้องเปเปอร์ คือตอน ม.1 หลังคุณพ่อจับได้คาหนังคาเขาว่า ลูกชายอยากเป็นลูกสาว จาก “สายเสื้อชั้นใน” ที่ใส่พรางไว้ใต้ชุดคอซอง

“ช่วงยังเป็นกะเทยเด็ก ด้วยความไม่รู้ เราก็ลองใส่เสื้อชั้นในไปโรงเรียน แล้วคุณพ่อก็มารับตามปกติ แต่วันนั้นเขาลูบหลังเรา แล้วรู้สึกเหมือนมีสายอะไรติดอยู่ที่หลัง พอลูบๆ ดูรู้ว่าเป็นสายเสื้อชั้นใน พ่อก็เลยไปบอกแม่ แล้วก็คุยกันคืนนั้นเลยค่ะ เปิดใจกันเลยว่าเราจะเป็นแบบนี้

ตอนแรกที่คุยกัน คุณพ่อก็แอนตี้มาก เพราะตอนเด็กๆ เขาเคยเจอเพศทางเลือกลวนลาม เขาก็เลยไม่ชอบ แต่เราก็บอกคุณพ่อไปว่า เราไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น แต่อยากเป็นผู้หญิงจริงๆ

คุณพ่อก็เลยบอกว่า ถ้าเลือกจะเป็นแบบนี้แล้ว ก็ต้องเป็นแบบไม่วี้ดว้าย ต้องทำกิริยามารยาทให้เหมือนผู้หญิงจริงๆ แล้วก็ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ต้องตั้งใจเรียน ซึ่งเราก็รับปากและยึดการวางตัวแบบนั้นมาตลอด คือถึงจะไม่ได้เกรดดีอะไรมาก แต่เกรดหนูก็ดีขึ้นทุกเทอมนะ

สุดท้ายแล้ว เรื่องการยอมรับของคนในครอบครัว หนูว่ามันอยู่ที่การเปิดใจคุยกันค่ะ ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มบอกยังไง ก็พูดออกไปตรงๆ เลยก็ได้ค่ะว่า พ่อ..หนูเป็นตุ๊ดนะ (ยิ้ม) แล้วหลังจากนั้น พ่อเขาก็จะมีคำถามอีกเยอะแยะขึ้นมาถามเองแหละว่า เป็นตั้งแต่ตอนไหน จะหายได้ไหม และจะเป็นถึงขนาดไหน ฯลฯ

โดยเฉพาะครอบครัวที่ต่อต้านการที่ลูกเป็นแบบนี้ ก็ต้องฝากว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญมากจริงๆ ค่ะ ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีการ support ที่ดี ถ้าครอบครัวเราเข้าใจกัน คนอื่นจะไม่มีสิทธิ์มายุ่งได้เลย คือคนอื่นจะมองยังไงก็เรื่องของเขา แต่ถ้าคนในครอบครัวไม่เข้าใจกันเองแล้ว คนอื่นก็คงไม่มีวันเข้าใจ



ถามใจให้ดี ก่อน “เทกฮอร์โมน-ผ่าแปลงเพศ” เปลี่ยนชีวิต!!

ทำไมน่ารักละมุนละไมได้ขนาดนี้ เผลอๆ จะสวยกว่าผู้หญิงจริงๆ อีกหลายคนด้วยซ้ำ... ยืนยันว่าคำชมที่ฝากไว้บนโลกออนไลน์เหล่านี้ ไม่เกินจริงเกินไปนัก หลังผู้สัมภาษณ์ได้พิสูจน์มาเองกับตา จากการพบเจอและพูดคุยกับเด็กหนุ่มเพียงในนามรายนี้

และถ้าจะให้ตอบคำถามจริงๆ ว่า เธอคนนี้สวยขนาดนี้ได้อย่างไร น้องเปเปอร์ก็ขอยอมรับตรงๆ เลยว่า มาจากความพยายามในการดูแลตัวเองอย่างหนัก โดยเฉพาะขั้นตอน “การเทกฮอร์โมน” ที่คลินิกเพศทางเลือก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างจริงจัง ส่งให้ความเป็นชายในตัวเธอลดน้อยลงไปจนแทบไม่เหลือเลย

ต้องบอกว่า ยิ่งผู้ปกครองดูลูกออกเร็ว หรือตัวลูกเองชัดเจนในตัวเองเร็ว ก็จะยิ่งดีนะคะ เพราะเราจะได้พาเขาไปเทกฮอร์โมนอย่างถูกต้อง อย่างทุกวันนี้ เปเปอร์ก็เลือกเทกฮอร์โมนที่โรงพยาบาล คุณแม่เป็นคนพาไปปรึกษาคุณหมอตั้งแต่ตอน ม.2 เพราะคิดว่ายังไงก็ปลอดภัยกว่า ให้เราไปหาซื้อยาตามอินเทอร์เน็ตมากินอย่างแน่นอน

ยาฮอร์โมนแต่ละตัว ให้ผลกับแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ถ้าอยากให้ปลอดภัย หรือเจาะจงยาที่เหมาะกับเราได้ เราก็ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อให้หมอเขาวัดระดับฮอร์โมน ตรวจเลือด เข้าเครื่องสแกนมวลกระดูกตามขั้นตอนอย่างจริงจัง ถ้าหมอบอกว่ากระดูกเรายังบาง ยังไม่พร้อมเทกฮอร์โมน เราก็จะได้รู้ตัว และรอคอยระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์สั่งค่ะ

เพราะถ้าเริ่มเทกยาตอนอายุยังน้อยไป มันก็คงไม่ดี เพราะร่างกายเราอาจจะยังไม่พร้อม ที่จะรับอะไรเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าค้นพบตัวเองเร็ว แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปปรึกษากับคุณหมอตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลยก็ได้ค่ะ แล้วเดี๋ยวเขาจะให้เราคุยกับจิตแพทย์ และต้องผ่านการทดสอบหลายๆ อย่าง จนมั่นใจว่าคนคนนั้น พร้อมจะเปลี่ยนเป็นทรานส์ฯ (transgender) เขาถึงจะส่งไปยังคลินิกเพศทางเลือก



แต่กว่าจะเดินมาได้ถูกทางอย่างทุกวันนี้ จริงๆ แล้วสาวหน้าหวานตรงหน้าก็เคยตัดสินใจเลือกเส้นทางผิดพลาดไปถึง 1 ปีเต็มๆ เหมือนกัน คือเลือกที่จะเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วหายามากินเอง ตัวไหนที่รุ่นพี่ร่างชายหัวใจสาวว่าดี เธอก็ไปซื้อมากินบ้าง ลองผิดชนิดที่เรียกได้ว่า แทบไม่เจอการลองถูก กระทั่งส่งผลให้ร่างกายแปรปรวน กลายเป็นเหมือนก้อนเนื้อเดินได้อยู่พักใหญ่ๆ

ช่วงหายาคุมมากินเองช่วงแรกๆ มึนหัวไปหมดเลยค่ะ เรียนก็ไม่รู้เรื่อง ตัวที่คนอื่นว่าดี พอเราเอามากิน ปรากฏว่ามีอาการมึน เหม่อลอย บางยี่ห้อกินแล้วแพ้ อ้วกออกมาเลยก็มี หรือบางตัว กินเข้าไปแล้วตัวใหญ่ขึ้น อ้วนขึ้นด้วย

ตอนแรกๆ ก็ดีใจนะคะ เพราะกินแล้วเริ่มมีหน้าอกขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นว่า มันเป็นหน้าอกไขมันจากความอ้วน เหมือนหน้าอกเด็กอ้วนน่ะค่ะ ไม่ใช่หน้าอกกล้ามเนื้อเหมือนอย่างตอนนี้ แล้วตัวก็บวมมาก แต่ก่อนหนูสูง 150 แต่หนัก 69 ซึ่งถือว่าตัวใหญ่มาก ขาหนูเท่าตัวหนูตอนนี้เลย (หัวเราะ) แน่นไปหมดเลย

หรืออย่างลูกกระเดือกของหนู จริงๆ แล้วถ้าเราเทกฮอร์โมนเร็วกว่านี้ มันก็จะไม่มีนะคะ แต่เป็นเพราะหนูเคยเทกฮอร์โมนผิดด้วย จากการหามากินเอง มันเลยทำให้ลูกกระเดือกเราขึ้นมาใหญ่โตเลย แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะมันแก้กันทีหลังได้ คิดว่าไม่เกินเดือนหน้า หนูคงไปผ่าตัดกรอลูกกระเดือกออกได้แล้วค่ะ

ก็ต้องบอกว่ากว่าจะมาถูกทาง หนูก็เทกฮอร์โมนแบบผิดๆ เองอยู่ปีนึงเลย จนพอช่วงหลังๆ คุณแม่เริ่มเห็นเราซื้อยาพวกนี้มากินเอง เขาก็รู้สึกว่ามันดูไม่ปลอดภัย ก็เลยบอกว่าถ้าจะเป็นแบบนี้จริงๆ เปลี่ยนไม่ได้แล้ว ก็ไปโรงพยาบาลและทำให้มันถูกต้องเลยดีกว่า

ยังไงซะ เรื่องความปลอดภัยก็ต้องมาเป็นอันดับ 1 คือถ้าอยากจะสวย ก็ต้องสวยอย่างปลอดภัยด้วย ไม่ใช่สวยแค่ภายนอก แต่ข้างในตัวเรา มีแต่สารอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด

และพอได้มาเทกฮอร์โมนตามการดูแลของแพทย์ อาการหนูก็ดีขึ้นค่ะ ตัวก็บางลงอย่างเห็นได้ชัด แขน-ขาก็เล็กลง ฮอร์โมนเพศชายได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี ทำให้ทั้งตัวไม่มีขนขึ้นอีกเลย หลังจากทำเลเซอร์ไปแค่ครั้งเดียว”



ทุกวันนี้ เหลือเพียงอีกหนึ่งเป้าหมายหลักข้อใหญ่ๆ เท่านั้น ที่เปเปอร์ยังไม่ได้รับการเติมเต็มในชีวิต นั่นก็คือ “การแปลงเพศ” เพื่อให้ได้เป็นผู้หญิงเต็มตัวอย่างที่เฝ้าใฝ่ฝันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล

“สำหรับหนูแล้ว หนูคิดว่ามันสำคัญนะคะ ที่ต้องทำให้ร่างกายของเรา ตรงกับความต้องการของจิตใจ เพราะหนูต้องการมากที่จะเปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นผู้หญิงธรรมดาคนนึง มันเป็นเรื่องที่หนูอยากเป็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คิดดูว่าหนูเคยแชร์คลิปวิดีโอแอนิเมชัน สาธิตการแปลงเพศลงในเฟซบุ๊กตัวเองตั้งแต่ตอน ป.6 และหนูก็เขียนบอกเลยว่า พร้อมแล้ว (ยิ้ม)

แต่การจะเป็นแบบนั้นได้มันก็ไม่ง่ายๆ เลยค่ะ เพราะมันต้องใช้เงิน (ยิ้มเนือยๆ) เพราะฉะนั้น เราก็ต้องทำงานหาเงินเก่งด้วย ถ้าเราจะเป็นแบบนี้ เพราะความสวยมันต้องใช้เงิน และทุกวันนี้ หนูก็พยายามเก็บเงินด้วยตัวเองอยู่เรื่อยๆ ค่ะ ทั้งรับงานถ่ายแบบ, โฆษณา, รีวิวต่างๆ ฯลฯ ที่ทำมาตั้งแต่ตอน ม.3

แต่เราก็มีใช้จิปาถะไปบ้าง เช่น เรื่องเสื้อผ้า เพราะหนูก็ไม่ได้ขอเงินพ่อแม่ซื้อนะคะ ใช้เงินเก็บตัวเอง เพราะคุณแม่บอกเลยว่า หม่าม๊าไม่มีเงินซื้อให้หรอกนะ ถ้าอยากได้ก็เก็บเงินซื้อเอง แต่เรื่องแปลงเพศคุณแม่บอกว่าจะช่วย support ให้นะคะ ถ้าหนูสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ



ในระหว่างการก้าวย่าง เพื่อไปสู่การเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ ถ้ายังมีคนเรียกว่า “ตุ๊ด” หรือ “กะเทย” เธอพร้อมยอมรับกับคำคำนี้ได้มากน้อยแค่ไหน คนถูกถามตอบได้ทันทีว่า เธอพร้อมยิ้มรับกับถ้อยคำที่ผู้คนเรียกขายจาก “เพศสภาพ” ของตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พยายามล้อเลียนให้ขุ่นข้องใจ

เพราะถ้าเรายิ่งโกรธ เวลาคนอื่นเรียกเราตามเพศสภาพของเรา เขาก็จะยิ่งเรียกค่ะ อย่างตอนนั้นหนูไปโรงเรียนเก่าตอนประถม เราก็เดินบิดๆ เหมือนเดินบนรันเวย์กับเพื่อนๆ ตามประสา

รุ่นน้องที่เตะบอลอยู่เขาเห็นเรา เขาก็ตะโกนล้อมาว่า “ตุ๊ดๆ” เราก็หันไปยิ้ม แล้วบอกว่าใช่ค่ะ (ยิ้ม) เพราะถ้าเรายิ่งด่า เขาก็จะยิ่งได้ใจ และพอเราพูดแบบนั้น กลายเป็นว่าเขาก็อึ้ง แล้วก็วิ่งไปเตะบอลต่อเลย

และอีกมุมนึง หนูก็คิดว่าจริงๆ แล้ว การที่เรายอมรับได้ ที่คนอื่นเขาจะเรียกเราแบบนี้ มันก็คือการยอมรับตัวเองอย่างนึงเหมือนกันนะ จุดสำคัญของการเป็นแบบนี้ก็คือ เราต้องยอมรับตัวเราเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นยอมรับ เพราะถ้าเราไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นกะเทย แล้วใครล่ะจะยอมรับ จริงไหมคะ




เหน็ดเหนื่อย-อึดอัด-ลำบาก... ชีวิต “ลูกผู้หญิงที่ต้องปิดบัง”

ช่วงที่ยังปิดบังตัวเองอยู่ แต่เราเริ่มอยากแต่งหญิงแล้ว เราก็จะมีแอบซื้อพวกวิก, เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องสำอาง ฯลฯ พอออกจากบ้านก็ต้องหอบออกไปเปลี่ยนตามห้องน้ำห้างฯ ซึ่งมันเหนื่อยมากนะคะ แล้วตอนก่อนจะกลับบ้าน ก็ต้องถอดชุด ลบเมกอัปทุกอย่างทิ้ง

เสร็จก็เอาชุดมาแอบไว้ใต้เตียง เพราะจะใส่ลิ้นชักเอาไว้ไม่ได้ กลัวพ่อมาเปิดเจอ เลยซุกไว้ใต้เตียง แถมไม่ได้ซักด้วย เพราะกลัวโดนจับได้ พอครั้งต่อไปออกจากบ้านอีก เราก็ต้องเอาตัวเดิมมาใส่ซ้ำ เพราะมีอยู่ไม่กี่ชุด ก็ถือเป็นช่วงที่อึดอัดมากเหมือนกันค่ะที่ต้องปิดบัง

ถ้าครอบครัวไหนมีลูกเป็นแบบนี้ หนูว่าก็อย่าห้ามเขาเลยค่ะ เพราะการต้องปิดบังมันเหนื่อยมากจริงๆ แต่ถ้าพ่อแม่ support ลูกก็จะไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นกลากเกลื้อน เพราะต้องใส่ชุดที่ไม่ได้ซักด้วยค่ะ (ยิ้ม)

แต่ก็เข้าใจค่ะว่าผู้ใหญ่บางครอบครัวอาจจะอาย ไม่อยากให้เพื่อนรู้ อย่างแม่หนูตอนแรกๆ เขาก็อายเหมือนกัน แต่พอหนูเริ่มมีชื่อเสียง มีคนเข้าหา ที่แม่เคยบอกว่าอายเพื่อน มันก็หายไปหมดเลย และเพื่อนแม่ก็กลับชมด้วยซ้ำว่า ลูกเก่งนะ ลูกสวยจัง และคุณแม่ก็เก่งจังที่ยอมรับได้ กลายเป็นว่าทุกอย่างเป็นคำชมไปหมดเลย

ล่าสุด ที่หนูไปออกรายการ คุณแม่ก็ได้ออกด้วย หลังจากพิธีกรเขาถามความคิดแม่ออกอากาศไป เพื่อนแม่ก็เข้ามาชมกันใหญ่เลยว่า คุณแม่เก่งจัง ยินดีด้วย มากกว่าจะมาตั้งคำถามว่า ลูกเป็นตุ๊ดเหรอ หนูก็เลยอยากบอกอีกหลายๆ ครอบครัวว่าไม่ต้องอายที่มีลูกเป็นแบบนี้นะคะ เพราะคนที่มีความคิดสมัยใหม่ เขาไม่แอนตี้กันแล้ว



เป็น “นางฟ้า” ไม่ผิดกฎ “โรงเรียนชายล้วน”

ส่วนใหญ่ครูในโรงเรียนจะเข้าใจนะคะ ที่เราเป็นแบบนี้ จะมีแค่ส่วนน้อยค่ะที่ไม่เข้าใจ ซึ่งเราก็จะพยายามไม่ทำตัวให้มีปัญหา ไม่แต่งตัวผิดกฎโรงเรียน อย่างเรื่องทรงผม เราก็ทำเรื่อง ยื่นผลงานให้ทางโรงเรียนดูว่า เราต้องใช้ผมในการทำงานหลายๆ อย่าง จนทุกวันนี้ก็ได้รับอนุญาตให้ไว้ผมได้ยาวประมาณนึงค่ะ เป็นทรงบ๊อบ ความยาวครึ่งคอได้

ส่วนเรื่องเสื้อชั้นใน จริงๆ แล้วกฎโรงเรียนเขาไม่ให้ใส่ แต่เนื่องจากเราเทกฮอร์โมน มันทำให้เรามีหน้าอกขึ้นมา พอมาใส่ชุดพละมันก็เป็นปัญหามาก เพราะชุดมันบาง เราก็เลยต้องใส่สปอร์ตบรากันไว้ ไม่งั้นมันก็จะดูอนาจาร ซึ่งก็สามารถทำได้นะคะ ไม่ได้ผิดกฎอะไร

แต่ถ้าเป็นไปได้ หนูก็อยากให้โรงเรียนไทย ไม่ต้องกำหนดเรื่องทรงผม เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศนิวซีแลนด์ หรืออังกฤษ หลายคนก็ย้อมหัวแดง-หัวฟ้าไปเรียน เรื่องแฟชันไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อเรื่องเรียน เพราะเขาเชื่อว่าเด็กๆ แยกแยะเองได้



เดินตาม “ไอดอล” ไม่สร้างภาพลบให้ “เพศทางเลือก”

หนูอยากเป็น “ผู้หญิง” ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา รวมถึงกิริยาท่าทางด้วย คือต้องวางตัวดีค่ะ แต่อาจจะไม่ได้ต้องสมบูรณ์แบบอะไรขนาดนั้น เพราะเวลาอยู่กับเพื่อน หนูก็มีเสียงดังบ้าง เฮฮาตามประสา เพียงแค่จะพยายามไม่วี้ดว้ายอะไรมากมาย

ไอดอลของหนูคือ พี่ปอย-ตรีชฎา (เพชรรัตน์) ค่ะ เพราะเขาไม่เคยทำให้เพศทางเลือกเสื่อมเสียเลย ทำแต่ความดี โกอินเตอร์ ทำหลายๆ อย่างที่ผู้ชายผู้หญิงจริงๆ ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ คือเขาเก่งมาก แถมยังทำให้คนทั่วไปยอมรับคนเป็นแบบนี้ได้ด้วย หนูเองก็อยากเป็นได้แบบนั้นค่ะ

ทุกวันนี้ เรื่องที่ทำให้รู้สึกกดดันมากที่สุดก็คงเป็น การคิดว่าจะทำตัวยังไงให้คนในสังคมยอมรับ เพราะถ้าเราเป็นแบบนี้ แล้วไปทำตัวแย่อีก คนจะยิ่งมองแย่ มองเหมารวมว่าคนที่เป็นแบบนี้ทำตัวแย่

แต่ถ้าเราเป็นแบบนี้ แล้วเราสามารถทำให้คนยอมรับได้ คนก็จะมองข้ามเรื่องเพศสภาพ หรือเพศแต่กำเนิดเราไป ความฝันของหนูคืออยากเป็นคนที่ทำให้คนทั่วไป ไม่มองเหยียดเพศแบบเรา

อย่างทุกวันนี้ที่มีคนเรียกหนูว่าเป็น “เน็ตไอดอล” เราก็ต้องพยายามวางตัวให้ดีค่ะ ไม่ทำให้เสื่อมเสีย เพราะคำว่าเน็ตไอดอลสำหรับหนู คือคนที่คนชื่นชม มีคนตามเยอะๆ และเป็นตัวอย่างให้คนทำตามในทางที่ดีได้ค่ะ









สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Peerada Namwong" และอินสตาแกรม @piggynoii
ขอบคุณสถานที่: สวนพักผ่อนเซ็นทรัล พาร์ค ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น