xs
xsm
sm
md
lg

แสนระอา.. พยาบาลยุคออนไลน์? ติดหน้าจอ จน(ผู้ป่วย)ต้องร้องขอชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สังคมเดือด! คนจะเป็นจะตายไม่สนใจ ผู้ช่วยพยาบาลหญิงนั่งเล่นเกม มืออีกข้างปั๊มให้ผู้ป่วยหายใจ ล่าสุดทนายออกมาชี้ทำผู้ป่วยตายมีสิทธิ์ติดคุก 10 ปี แพทย์เตือนติดมือถือหนักขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตแน่นอน!!?




ตรรกะไหน มือหนึ่งเล่นเกม อีกมือถือเครื่องช่วยหายใจ?

 

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพขณะที่ผู้ช่วยพยาบาลหญิงนั่งเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ และมืออีกข้างถือเครื่องปั๊มช่วยหายใจ พร้อมระบุว่า เห็นมาเป็นชั่วโมงแล้ว นำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคมว่า ในห้องฉุกเฉินไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือมาใช้หรือเปล่า เพราะยิ่งมีมือถือ ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรค รบกวนสมาธิในการทำงาน

อย่างไรก็ดีล่าสุด นพ.นพดล พิษณุวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เบื้องต้นได้ส่งทีมผู้เกี่ยวข้อง นำกระเช้าไปเยี่ยมผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์แล้ว ซึ่งได้ปรับความเข้าใจ และผู้ที่โพสตรูปได้ทำการลบโพสต์ที่เผยแพร่ทางโซเชียลฯ เรียบร้อยแล้ว

 

[นพ.นพดล พิษณุวงศ์]

“เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมีความเป็นมาอย่างไร ทางรพ.ยังเน้นย้ำว่าจะบริการดูแลคนไข้ให้สุดความสามารถ ในส่วนของผู้เสียหายทางรพ.ก็ได้มีไปพูดคุยเพื่อให้กำลังใจเรียบร้อยแล้ว”

ทั้งนี้ เมื่อเรื่องราวดังกล่าวเป็นประเด็นออกไป ในด้านโซเชียลฯ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยไปทิศทางเดียวกันว่า ดูแลผู้ป่วยควรจดจ่อผู้ป่วยไม่ใช่หน้าจอมือถือ อีกทั้งมองถึงความเหมาะสมในการเอาโทรศัพท์มือถือมาเล่นเกมตอนปฎิบัติหน้าที่อยู่

“ยังมีเวลาเล่นเกมอีกเหรอ”

“ในเวลางานไม่ควรเล่นมือถือ”

“ตอนแรกก็ว่าจะถามว่า เขาคุยกับหมอหรือผู้เชี่ยวชาญผ่านทาง chat อยู่รึเปล่า อย่าเพิ่งอคติ แต่พอซูมภาพแล้วเห็นว่าเป็นเกม เออว่ะ มันสมควรมั้ยเนี่ย”



ถึงแม้ว่า ญาติผู้ป่วยและแพทย์จะปรับความเข้าใจกันแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับอุทาหรณ์ที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง เพราะยังมีคนออกมาแฉถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่เล่นโทรศัพท์ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่

“เคยเจอกับตัวเหมือนกันตอนปวดท้องรอคลอดอีกมือเล่นไลน์อีกมือล้วงปากมดลูกว่าเปิดกี่เซ็นต์ ”

ทว่าหลายๆ รพ.เริ่มมีประกาศเกี่ยวกับการห้ามถ่ายภาพภายในรพ.แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบเหตุการณ์ที่บุคลากรของโรงพยาบาลมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จากการเปิดโปงของผู้ที่แอบถ่าย




ทนายซัด!ผู้ป่วยตาย = ต้องจำคุก 10 ปี!

 

“การเล่นโทรศัพท์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน ในเวลาปฏิบัติหน้าที่ อาจทำให้นายจ้าง หรือเกิดความเสียหายต่อราชการได้ ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นเป็นหน่วยงานเอกชนหรือราชการ"

ทนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดังเจ้าของเพจสายตรงกฏหมาย ได้ไขข้อสงสัยผ่านการตั้งคำถามของสังคมว่า ในขณะที่อยู่ห้องฉุกเฉินกำลังดูแลผู้ป่วยนั้น ไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือหรือเปล่า เพราะกำลังรับผิดชอบหน้าที่อยู่ ซึ่งเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนไข้เลย รวมถึงการที่ทางรพ.ออกกฎเหล็กไม่ให้ถ่ายภาพในพื้นที่ เพียงต้องการปิดความผิดของตนเอง

โดยทนายรายนี้ได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเลขที่ 2564/2557 พิพากษาว่า ในหน่วยงานเอกชน ถ้าลูกจ้างแชตในเวลางานซึ่งทำให้นายจ้างเสียหายนั้น นายจ้างสามารถไล่ออกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ ก็อาจจะมีความผิดทางวินัยได้ 

“กรณีถ้าเป็นการดูแลผู้ป่วย ถ้าหากมัวแต่เล่นโทรศัพท์ ไม่ดูแลผู้ป่วยทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย อาจมีความผิดข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ส่วนการถ่ายรูปในรพ. หากภาพที่ปรากฏออกมาเป็นภาพของผู้ป่วยรายอื่นๆ และผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ก็อาจเป็นการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่มีหลักว่า ข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยโดยประการที่จะทำให้ผู้นั้นเสียหาย หากฝ่าฝืนจะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การจะถ่ายภาพในรพ. ไม่ควรจะติดภาพผู้อื่นด้วย ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด”





แพทย์ชี้ ติดมือถือหนักเดือดร้อนต่อตนเอง และผู้อื่น!!

“ถ้าเล่นไปด้วยจนเสียงาน ถือว่าติด คือถ้าติดจะต้องมีปัญหาต่อการทำงาน การใช้ชีวิต และก็เกิดผลกระทบต่อตัวเอง และคนรอบข้าง ทำตัวเองเดือดร้อน ชาวบ้านเดือดร้อน งานเดือดร้อน แต่ถ้าทำงานไปด้วยเล่นไปด้วย แล้วงานจะไม่เสีย ยังทำได้ดีอยู่ อันนี้ก็ไม่มีปัญหา”

นพ. โยธิน วิเชษฐวิชัย จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ ประจำรพ.สมิติเวช วิเคราะห์ภาพรวมของการติดโทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบัน โดยให้คำตอบ และเน้นย้ำผ่านปลายสายว่ายุคนี้เป็นยุคที่ติดหน้าจอมือถือมากเกินไป นอกเหนือจากการทำงาน ไม่ควรใช้มือถือเกิน 6 ชม.ส่วนในเด็กเล็กไม่ควรใช้ทุกกรณีตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ ไม่ควรใช้ทุกกรณี เพราะจะมีโอกาสที่จะติดมือถือง่ายขึ้น

“ถ้าเป็นอัตราการใช้ ค่อนข้างจะเยอะนะครับ แต่ส่วนใหญ่ต้องดูครับว่าเขาติดมือถือ หรือติดเกม เพราะมันต่างกันเยอะเลย
จริงๆ แล้วเกมเป็นเรื่องของการเอาชนะ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นลักษณะต้องแข่งขัน จริงๆ ก็คล้ายๆ กันอยู่ ถ้าติดโซเชียลฯ เราต้องใช้การยอมรับ หรือต้องการอยู่เหนือในการได้ข้อมูลใดต่างๆ ขณะที่ติดเกมเป็นการที่เอาชนะในอีกด้านหนึ่ง เหมือนการแข่งขันโดยตรง ไม่ได้เป็นทางอ้อมๆ

ในเรื่องหลักๆ ก็คือเกี่ยวกับการมีอำนาจ มีพลังแก่ผู้อื่น แต่ว่าวิธีการจะต่างกันแค่นั้นเอง เพราะเกมต้องมีการแข่งขันกัน ขณะที่โซเชียลฯ มันก็แค่เอาอะไรอย่างหนึ่ง แต่ให้คนยอมรับ ในลักษณะที่แข่งเป็นอ้อมๆ”

อะไรที่เป็นปัจจัยทำให้ปัจจุบันคนทุกวัย หันมาติดโทรศัพท์มือถือ และติดเกมนั้น ถ้าให้วิเคราห์ผ่านสายตาจิตแพทย์รายเดิมแล้ว นายแพทย์มองว่าสิ่งเหล่านี้มันเริ่มจากที่ คนเข้าไปโซเชียลฯมากขึ้น เพราะความต้องการในชีวิตจริงไม่ได้รับการตอบสนอง

อีกทั้งยังทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เมื่อไหร่ที่แยกขาดจากโทรศัพท์มือถือไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อารมณ์ที่แปรปรวน โกรธโมโห ควบคุมอารมณ์ลำบาก หรือมีอาการเศร้า

“ปกติถ้าเป็นผู้ใหญ่ แนะนำว่ายังไงก็ไม่ควรใช้เกิน 2 ชม. ทุกวันนี้คนใช้กันเยอะอยู่แล้ว โดยเฉลี่ย 4-6 ชม. ต่อวันซึ่งผลเสียก็ต้องมีปัญหาเรื่องรบกวนการทำงาน รบกวนเวลาสังคม รบกวนเรื่องของการทำสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น

ปัจจัยหลักๆ ที่คนเข้าไปโซเชียลฯมากขึ้น เพราะว่า 1 .ความต้องการในชีวิตจริงไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น ผู้สูงอายุอยู่บ้านไม่มีคนมาหาเลย ก็พยายามใช้โซเชียลฯ เพื่อจะลดความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะฉะนั้น ผู้สูงอายุบางทีติดโซเชียลฯ มากกว่าผู้ใหญ่

ถ้าวัยทำงานอาจมีเรื่องของสังคมเข้ามา ซึ่งปัจจัยการติดขึ้นอยู่กับวัยด้วย แต่ละวัยก็ไม่เหมือนกัน และอัตราการติดโซเชียลฯ เรตอยู่ตั้งแต่0-3.8 จึงไม่สามารถบอกชัดได้

เมื่อไหร่ที่แยกขาดไม่ได้ เช่นถ้าหยุดเล่นโซเชียลฯ หรือหยุดเล่นเกม ต้องมีผลกระทบเช่น อารมณ์แปรปรวน โกรธ โมโห ควบคุมอารมณ์ลำบาก หรือว่าเศร้า ซึ่งอันนี้ คือแยกจากสิ่งที่ติดพร้อมกับปัญหา เขาเรียกว่าอาการถอน (ถอนโซเชียลฯ ถอนเกม) แล้วเกิดปัญหาทางอารมณ์

2. ใช้จนมีปัญหาต่อการใช้ชีวิต มีปัญหาเดือดร้อนตัวเอง เดือดร้อนคนรอบข้าง เดือดร้อนงาน หรือการเรียนก็เสียหาย
ส่วนข้อที่ 3 ไม่ได้มีโรคความเจ็บป่วยอย่างอื่น บางคนเป็นออทิสติก เราก็ไม่นับว่าเป็นพวกติด เพราะบางทีคนเป็นออทิสติกทำอะไรซ้ำๆ อยู่กับสิ่งเดิมซ้ำๆ นานๆ ก็เขาเรียกเป็นโรคออทิสติกในความหมายของคนทั่วไป.”



ข่าวโดย :ทีมข่าว MGR Live


 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น