“13 ครั้ง” คือจำนวนการพยายามฆ่าตัวตาย ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายคนนี้ ภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียว ท่ามกลางภาวะวิกฤตทางจิตใจที่สุดในชีวิต แต่เขาก็สามารถใช้ความสุขในวัยเด็ก ฉุดตัวเองขึ้นมาจากวังวนแห่งความทรมานเหล่านั้นได้ ด้วยการลุกขึ้นมาทำคลิป “ร้องเพลงพากย์การ์ตูน” จนประสบความสำเร็จ กลายมาเป็นยูทูบเบอร์ที่โด่งดังที่สุดบนเส้นทางสายนี้
“ประสบการณ์เฉียดตาย” ทำให้ค้นพบความหมายของความสุข
“ช่วงที่หนักสุด จนรู้สึกว่าเจอเรื่องราวรุมเร้าเยอะมาก ตอนนั้นคิดแค่ว่าไม่อยากอยู่แล้ว เราเป็นตัวปัญหาของเรื่องทั้งหมด เป็นคนไม่ดี ผมก็ตัดสินใจลงมือทำเลย ด้วยการเดินทางไปโรงแรมที่นึง นอนในอ่างอาบน้ำ เปิดน้ำให้เต็ม แล้วก็จุ่มไดร์เป่าผมลงไป กะจะให้ไฟช็อตตาย แต่ปรากฏว่าโดนช็อตอยู่ได้แป๊บเดียว แล้วไฟมันก็ตัดไป”
นั่นคือการพยายามฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายในชีวิตของ ฟุ ธีราพัฒน์ ยูทูบเบอร์ผู้โด่งดังจากการทำคลิปพากย์การ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งเป็นการคิดสั้นครั้งที่ 13 ที่ได้ลงมือทำมันจริงๆ และยังเป็นครั้งที่ช่วยให้ชายหนุ่มวัย 28 ปีคนนี้ ลืมตาตื่นขึ้นจากภาวะซึมเศร้าขั้นหนัก เพื่อลุกขึ้นมาค้นหา “ความสุข” และทำตาม “ความฝัน” หลังจมอยู่กับวังวนความคิดฆ่าตัวตายซ้ำๆ อยู่ตลอดปีที่ผ่านมา
“หลังจากที่ทำไม่สำเร็จวันนั้น มันก็ตลกดีเหมือนกันนะครับ ที่จู่ๆ ผมก็รู้สึกกลัวตายขึ้นมาเฉยๆ (ยิ้มบางๆ) แล้วก็มานั่งคิดว่า ตอนนี้มีใครบ้างที่ยังอยู่กับเรา มีแม่เรา พ่อเรา แฟนเรา คนที่เราไม่ได้นึกถึงเขา ณ วันนั้น วันที่เรามองว่าเราเป็นปัญหาสำหรับเขา
แต่พอเรามองให้ลึกลงไปอีกที ผมถึงเพิ่งมองเห็นว่า พวกเขาคือคนที่อยู่กับเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุด แย่ที่สุด หรือช่วงเวลาธรรมดาของชีวิตก็ตาม
จู่ๆ ผมก็คิดได้ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่อยากทำ แล้วเรายังไม่ได้ทำ มานั่งคิดว่าอะไรบ้างที่เคยทำให้เรามีความสุขมากๆ แต่เรายังไม่ได้มีโอกาสกลับไปทำมันอีก คำตอบในใจตอนนั้นก็คือ อ๋อ..มันคือการร้องเพลงนี่หว่า มันคือการที่เราเคยดูการ์ตูน แล้วรู้สึกขนลุกมากๆ ก็เลยคิดว่าโอเค งั้นเราก็ลุกขึ้นมาทำอะไรที่เรามีความสุขแล้วกัน”
จากที่เลิกร้องเพลงไปนานกว่า 10 ปี ฟุก็เริ่มลุกขึ้นมาทำมันอีกครั้ง โดยหยิบเอาเพลง “สุดฟ้าดิน (Go The Distance)” เพลงประกอบการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง “เฮอร์คิวลิส (Hercules)” ที่เขาเคยชื่นชอบ จนถึงขั้นนั่งดูซ้ำๆ ตั้งแต่ตอน 8-9 ขวบ ขึ้นมาคัฟเวอร์และพากย์มันใหม่อีกครั้ง ทั้งบทพูดและบทเพลง แล้วอัปโหลดไปยังแฟนเพจ “Forfuz” ของตัวเองที่เคยเปิดทิ้งไว้เพื่อโพสต์เรื่องราวจิปาถะ ส่งให้คลิปนั้นมียอดไลค์มากที่สุดตั้งแต่เคยเปิดแฟนเพจมา
[“เฮอร์คิวลิส” การ์ตูนในดวงใจเรื่องแรกที่หยิบมาพากย์]
“ผมเริ่มลุกขึ้นมาร้องเพลงดิสนีย์วันที่ 12 ม.ค. เวลา 5 โมงเย็น ผมจำได้เลย (ยิ้ม) ตอนที่ทำก็ไม่ได้คิดนะครับว่า ทำออกมาแล้วยอดวิวมันจะเยอะขนาดนั้น แต่พอมานั่งตัดคลิป มาดูหน้าตัวเองตอนร้องเพลง ก็รู้สึกว่า เอ้อ..เราไม่ได้ยิ้มแบบนี้มานานแล้วนี่หว่า เลยคิดว่านี่อาจจะเป็นทางที่ใช่ก็ได้
คลิปนั้นลงไปวันเดียวก็ได้ 1,000 กว่าไลค์ แล้วหลังจากนั้น ผมก็เริ่มคัฟเวอร์เพลงแนวดิสนีย์ตลอด คนที่ชอบแนวนี้ก็เข้ามากันมากขึ้น และมันก็เหมือนเป็นการสร้าง brand loyalty ไปในตัว จากเมื่อก่อนผมจะโพสต์ตามกระแส โพสต์เรื่องราวแบบจับจ่าย แต่พอมาครั้งนี้ผมรู้สึกได้เลยว่า มันเป็นการทำ content ที่ทำให้คนได้เห็นตัวตนของเรา ทำให้คนรักในความเป็นเราจริงๆ”
ฟังแล้วอาจดูเป็นเรื่องไม่ยากนัก ที่ใครคนนึงจะลุกขึ้นมาคว้าความสุขให้ชีวิตตัวเอง แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จนถึงขนาดจิตแพทย์ยังออกปากว่าเข้าขั้นวิกฤตอย่างฟุแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะฉุกตัวเองขึ้นมาจากโคลนตมแห่งความทุกข์ทรมานทางใจเหล่านั้น แต่เขาก็ทำสำเร็จได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดตัวเอง และตัดทิ้งทุกสิ่งที่เคยบั่นทอนจิตใจ
“แต่ก่อนจะเป็นคนอคติ คิดลบตลอด คิดลบทั้งกับตัวเองและคนอื่น เหมือนเราจะมีเส้นขีดคั่นระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ ในชีวิตอยู่อย่างชัดเจนว่า ผมมีเส้นตรงนี้นะ คุณต้องอยู่นอกเส้นตรงนี้ เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกัน แต่พอเราคิดแบบนี้ปุ๊บ เราก็จะปิดกั้นตัวเองจากคนอื่นไปโดยปริยาย
ปมความคิดแบบนี้ของผม มันมาจากตั้งแต่สมัย ม.ปลาย ที่ถูกเพื่อนๆ ล้อว่าเป็นเกย์ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็น ตอนแรกๆ ก็มองขำๆ แต่สักพักพอโดนล้อทุกวันก็เริ่มเซ็ง จากที่เคยเป็นคนร่าเริง ก็กลายเป็นคนไม่อยากมีเพื่อนไปเลย ทั้งที่เคยเป็นคนเพื่อนเยอะด้วยซ้ำ
หรืออย่างช่วงที่คิดฆ่าตัวตายอยู่ตลอด เราจะรู้สึกโทษตัวเองตลอด ไม่ว่าเรื่องอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สมมติว่าผมทำงานกับพี่ แล้วพี่ด่าผมทุกวัน สิ่งที่ผมจะคิดคือ ผมไม่ได้โทษพี่นะ แต่ผมจะโทษตัวเองว่า ทำไมเป็นคนไม่ได้เรื่องแบบนี้ แต่ถ้าเป็นทุกวันนี้ ผมจะคิดกลับกัน จะคิดไปอีกมุมนึงเลยว่า ที่เราทำอะไรก็ออกมาไม่ดี อาจจะเพราะเราไปอยู่ผิดที่ก็ได้นะ
เหมือนเราแค่ต้องเปลี่ยนบางอย่างในระบบความคิดเรา แต่ต้องย้ำเลยว่า ก่อนจะทำแบบนั้นได้ เราต้องตัดสิ่งที่รบกวนจิตใจออกไปให้หมดก่อน เช่น บางอย่างที่ทำแล้ว ทำให้รู้สึกเฟลกับตัวเอง หรือบางอย่างที่ทำแล้วรู้สึกบั่นทอน
ตอนนั้น พอผมคิดว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมก็เริ่มตัดความคิดลบๆ ทุกอย่างออกไปหมดเลย เลิกเอาตัวไปข้องเกี่ยวกับความรู้สึกแบบนั้น แล้วก็เริ่มเปลี่ยน mindset ตัวเองใหม่จากศูนย์เลย คือตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เลยว่า ผมจะเป็นฟุคนใหม่แล้ว”
หยุดคลิปเน้นยอดวิว มุ่งพากย์เพลงการ์ตูน
[นอกจากเสียงแล้ว ยังมีลีลาการพากย์ที่ดูเพลิน ดึงดูดผู้ชม]
ย้อนกลับไปก่อนช่วงที่จะค้นพบเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ ฟุเคย “หลงทาง” กับการผลิต content ตามกระแสบนโลกออนไลน์ ในฐานะ youtuber อยู่นานเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่เน้นทำคลิปล้อเลียนเพลงดังๆ ของเหล่าศิลปินไปเรื่อย หรือแม้กระทั่งคลิปแนวผู้ชายเกรงใจแฟน เขาก็เคยทำมาหมดแล้ว
“ช่วงแรกๆ เราอาศัยดูแนวตามสูตรสำเร็จว่า ทำแบบนี้แล้วคนดูเยอะนะ หรือทำแบบไหนแล้วคนจะไม่ดู แล้วเราก็ทำตามนั้น ต้องยอมรับว่าตอนนั้น เราเป็นคนนิสัยเสียประมาณนึงคือ เราจะชอบยึดติดกับยอดวิว ติดกับตัวเลข พอเห็นยอดเยอะๆ ถึงจะรู้สึกแฮปปี้
แต่พอทำตามสูตรไปสักระยะนึง มันก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเราละ เริ่มรู้สึกไม่แฮปปี้กับมัน ยกตัวอย่างช่วงนึง ที่จะมีกระแสผู้ชายกลัวเมียออกมา ผมก็เสนอแฟนว่าลองทำดูไหม แต่พอหลังๆ มาคุยกันแล้วก็รู้สึกว่า แฟนผมและตัวผมเองก็ไม่ใช่คนแบบนั้น ก็เลยรู้สึกว่าไม่เอาดีกว่า
สมัยก่อนที่ทำคลิปล้อเลียนกระแสใหม่ๆ ผมจะรู้สึกเครียดมากว่า แต่ละสัปดาห์จะทำอะไรออกมาดี จะทำยังไงให้มันสนุก ต้องทำแล้วให้ได้ยอดวิวเยอะๆ (ทำท่ากุมขมับ)
เทียบกับทุกวันนี้ ผมทำคลิปพากย์เพลงดิสนีย์ลงทุกสัปดาห์เลย แต่กลับไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเครียดอะไร เหมือนพอเราเจออะไรที่มันเป็น passion ปุ๊บ เราจะสามารถทำมันได้แบบไม่หยุดไม่หย่อน แล้วก็ยังมีแรงเหลือไปทำงานอย่างอื่นได้อีกหลายอย่างเลยครับ”
งานอีกหลายอย่างที่ฟุพูดถึง ก็มีทั้งการรับตัดต่อวิดีโอ โดยใช้ความถนัดในฐานะบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์เข้ามาช่วย รวมถึงการขี่ grab bike ที่เขาเลือกทำเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย ส่วนเวลานอกเหนือไปจากนั้น ฟุก็จะใช้มันไปกับการเติมแต่งพาร์ตดนตรีในเพลงประกอบการ์ตูน ก่อนนำมาอัดเสียงร้องและเสียงพากย์เสริมเข้าไปให้คลิปออกมาสมบูรณ์ที่สุด
“ปกติผมเล่นดนตรี เล่นกีตาร์อยู่แล้ว ถ้าเพลงไหนที่ไฟล์เสียงพวก instrumental ที่มีใน youtube ตัวดนตรีมันไม่ชัด หรือเป็นคีย์ผู้หญิง ผมก็จะเอามาปรับ เติมนั่นเพิ่มนี่เข้าไปก่อนเอามาพากย์ครับ
ส่วนตัวคลิปที่พากย์เสียง ผมไม่ได้ตั้งใจทำให้ดูเนี้ยบอะไรมาก เพราะอยากให้มันดู local ที่สุด ไม่ต้องหวือหวาอะไรมาก ให้ดูเป็นกันเองเหมือนที่เรานั่งคุยกันนี่แหละครับ แล้วก็จะเน้นอัดแบบ long take คืออัดยาวแบบสดๆ ไปเลย เพื่อความเป็นธรรมชาติที่สุด แม้ว่าบางคลิปต้องอัดเป็นสิบๆ รอบก็ตาม”
ที่ผ่านมา คลิปที่มียอดวิวและยอดแชร์เยอะที่สุด คือเพลง "ฮาคูนา มาทาท่า (Hakuna Matata)" ที่ใช้ประกอบเรื่อง “ไลออนคิง (The Lion King)” ด้วยจุดเด่นของการแบ่งจอภาพ ไปตามจำนวนตัวละครในเรื่อง ที่มีทั้งหมด 3 ตัวคือ พุมบ้า, ซิมบ้า และทีโมน รวมถึงการพากย์เสียงทั้ง 3 ตัวด้วยน้ำเสียงที่แตกต่างกัน จากความสามารถของคนคนเดียว จึงส่งให้คลิปนี้กลายเป็นคลิปยอดนิยมที่สุดในแฟนเพจของฟุ
“คลิปนั้น เสียงตัวละครมันจะแทรกกันไปมา ผมเลยอยากสื่อสารให้ดูเข้าใจง่ายๆ เผื่อว่าคนที่เคยดูจะได้คิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ แล้วอยากดูใหม่อีก หรืออย่างบางคนที่ไม่เคยดู อย่างเด็กยุคใหม่ๆ พอมาเห็นแล้วอาจจะสนใจว่า เอ๊ะ..นี่การ์ตูนเรื่องอะไร แล้วเขาจะได้กลับไปดู
ทุกครั้งที่เข้าไปอ่านคอมเมนต์หรือโพสต์ที่คนแชร์คลิปของผมออกไป เท่าที่สังเกตมาตลอด สิ่งที่คนเขาจะพูดเหมือนๆ กันก็คือ คิดถึงการ์ตูนเรื่องนี้จัง อยากดูอีก
บางคนก็บอกว่าเสียงผมเหมือน “ทีโมน” มาก ซึ่งคนที่พากย์ตัวนี้ พี่เขาเสียไปแล้ว ผมเลยคิดว่าการพากย์ของผม มันก็ถือเป็นการรำลึกถึง และขอบคุณพี่เขาเหมือนกันนะ ที่วันนึงพี่เขาเคยทำให้ผมและคอการ์ตูนคนอื่นๆ มีความสุขมากๆ ในตอนที่ได้ดูหนัง ได้ฟังเสียงพี่เขา”
บทเรียนจากการเคยทำคลิปแนวจับฉ่ายมาก่อน ทำให้ฟุเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่า “ยอดไลค์” และ “ยอดวิว” ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรยึดในการเป็น youtuber แต่คือ “ความสุข” และ “อินเนอร์” ที่จะส่งถึงคนดูได้จริงๆ
“ถ้าเราตั้งธงไว้ว่า วัตถุประสงค์หลักของการทำ content แบบนี้คือเงิน มันจะเป็นไปไม่ได้เลย ผมรู้นะครับว่าเงินคือปัจจัยสี่ แต่ถ้าเราไปยึดตัวเงิน โดยไม่อินกับมัน มันก็ยากที่จะส่งถึงคนดู
[“รอยยิ้ม” ที่เคยหายไป คืนกลับมาได้เพราะทำในสิ่งที่รัก]
ก่อนหน้านี้ผมอาจจะเคยแคร์เรื่องยอดต่างๆ แต่พอมาปีหลังๆ โดยเฉพาะปีนี้ ผมก็เปลี่ยน mindset ใหม่หมดเลย คิดเสียว่ายอดวิว-ยอดไลค์ มันเป็นแค่กำไร สิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีอินเนอร์กับมันก่อน ถ้ามี passion กับมัน เดี๋ยวก็จะส่งถึงคนดูได้เอง คือต้องมีความสุขในสิ่งที่เราทำก่อน
เพราะสมัยนี้ก็มี youtuber หลายคนเกิดขึ้น มาแล้วก็ดับๆ และคนเหล่านั้นก็มีมาปรึกษาผม ผมก็จะบอกให้ไปหาสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมันไม่ฝืน มันไม่ต้องประดิษฐ์ อย่างที่ใครได้เห็นคลิปพากย์ของผม ก็น่าจะรู้ว่าผมไม่ได้ประดิษฐ์อะไรเลย เพราะนั่นคือตัวผมจริงๆ”
“เติมเต็มชีวิต” ด้วยการ “ช่วยชีวิต” เพื่อนมนุษย์
เพราะเคยผ่านการคิดสั้นถึง 13 ครั้ง และผ่านการฆ่าตัวตายจริงๆ มาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ฟุพูดได้เต็มปากว่าเขาเข้าใจหัวอกคนที่ตกอยู่ใน “ภาวะซึมเศร้า” มากแค่ไหน เมื่อถึงวันที่มีใครคนนึงซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความอ่อนแอทางจิตใจ เดินเข้ามาขอความช่วยเหลือหรือขอกำลังใจ ผู้ชายคนนี้จึงไม่คิดจะปฏิเสธ ทั้งยังพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ อย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้วครั้งนึงในชีวิต
“หลังจากผมเริ่มทำคลิปพากย์การ์ตูน และเริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว มีอยู่วันนึงก็มีพี่คนนึงทักเข้ามาในเพจ บอกว่าพี่ชอบคลิปหนูมากเลยนะคะ แต่พี่อยากตายค่ะ พี่กินยาไปในปริมาณนึงแล้ว ไม่รู้ว่าจะตายหรือเปล่า ถ้าพี่ตื่นมาได้ พี่ขอเป็นแฟนคลับน้องนะ
พอผมเห็นตอนแรก ผมก็ตกใจ แล้วก็บอกเขาว่า ผมเข้าใจพี่นะ เพราะพี่กับผมอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือเคยเป็นแบบเดียวกันมาก่อน และเท่าที่ลองคุยกับพี่เขาดู เขาก็ยังดูมีสติดี รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
ผมก็เลยบอกเขาไปว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าเกิดพรุ่งนี้พี่ตื่นขึ้นมาแล้ว อะไรก็ตามในชีวิตที่พี่ไม่เคยมีความสุข หรือมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำมัน ให้พี่ไปทำมันนะ แล้วพี่จะเห็นบางอย่าง เหมือนที่ผมเป็นอยู่ และเชื่อไหมครับว่าทุกวันนี้ ผมก็ยังเห็นเขามากดไลค์ในโพสต์ของผมอยู่เลยนะ (ยิ้ม)
จากเมื่อก่อน ผมเคยคิดว่าความสุขของผมมันคือเงิน เพราะถูกคนรอบข้างพูดกรอกหูมาโดยตลอด แต่พอใช้ชีวิตไปสักระยะนึง เราก็รู้สึกว่าความสุขของเราคือการให้ เพราะผมเคยทำเพื่อตัวเองอยู่หลายครั้งนะครับ ทำงานเยอะๆ เก็บเงินเยอะๆ ซื้อนั่นซื้อนี้ แต่ก็เติมไม่เต็มเลยสักครั้ง
แต่กับการได้ช่วยพี่คนนึงในวันนั้น ให้เขาได้รอดจากการฆ่าตัวตาย มันกลับเติมเต็มเราได้หมดเลย มันทำให้ผมยิ้มได้ทั้งวันเลย จนทุกวันนี้ ผมพยายามจะมองหาด้วยซ้ำว่า มีใครที่เราจะช่วยได้อีกไหม เพราะมันรู้สึกดีจริงๆ ที่ได้ช่วยชีวิตคนอื่น
ในกลางปีนี้ ผมตั้งใจจะทำเพลงของตัวเองขึ้นมา และถ้าเกิดเพลงพวกนี้ มันทำให้เราประสบความสำเร็จได้ หรือเป็นศิลปินอะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่ามันน่าจะช่วยคนได้อีกเยอะเลย ซึ่งมันกลายมาเป็นจุดประสงค์หลักในชีวิตของผมไปแล้ว คือผมต้องการแค่นี้เลย
ท้ายที่สุดแล้ว พอเราได้อยู่ในเส้นทางที่เป็นเป้าหมายของเรา ผมก็แค่อยากช่วยคนที่เป็นเหมือนผม หรืออย่างน้อยที่สุด แค่ได้ทำให้เด็กๆ ที่ได้ดูผม มีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันก็ช่วยเติมเต็มความรู้สึกหลายๆ อย่างในตัวผมได้แล้ว”
บอกตามตรงจากประสบการณ์จริง ในฐานะคนที่เคยตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและเคยพบจิตแพทย์มาก่อน ฟุมองว่าท้ายที่สุดแล้ว การขอคำปรึกษาจากคนอื่น อาจไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองด้วยซ้ำ
“ผมบอกทุกคนว่า จริงๆ แล้วต่อให้ปรึกษาหมอแค่ไหน มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากขนาดนั้น ถ้าเราไม่เปลี่ยนด้วยตัวของเราเองซะก่อน แต่มันก็ยากครับ เพราะแต่ละคนก็เจอเรื่องราวกระทบใจมาไม่เหมือนกัน
แต่ถ้าให้ผมไกด์ให้ก็คือ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มันมักจะอยู่กับเราอยู่แล้ว มันไม่ใช่สิ่งใหม่เลย แต่เป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเราอยู่แล้ว อาจจะตั้งแต่ตอนเด็กๆ หรือสมัยวัยรุ่น บางอย่างที่เราเคยทำแล้วมีความสุข หรือทำมันได้ดีมาก แต่แค่อาจจะไม่รู้ตัว
ลองถามตัวเองดูก็ได้ครับว่า คุณชอบอะไรมากที่สุด แล้วก็ทำมันซะ เพราะบางทีการที่คนอื่นบอกเราว่า อันนี้คือความสุขของเรา มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปฝืนทำมัน เพราะมันจะเสียเวลาเหมือนผม
แค่ต้องหามันให้เจอ ถ้าคุณรู้สึกขนลุกกับมัน คุณก็ทำมันเลย ผมเชื่อว่าถ้าคุณเจอมันแล้ว คุณจะทำโดยไม่มีข้อแม้กับมัน คุณจะทำมันอย่างบ้าคลั่งเลย นั่งคือ passion ของชีวิตเรา
ที่สำคัญ อย่าไปสนคำของคนอื่นครับ เพราะความทุกข์ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดจากคนรอบข้างเรามาคอยบอกเราว่า ความสุขคืออะไร เช่น ความสุขคือการมีบ้านหลังโตๆ, การมีรถ, การมีเงินทองมากมาย ฯลฯ ทั้งที่จริงๆ แล้วความสุขของเราอาจจะแค่การมีคอนโดห้องเล็กๆ ก็ได้
ผมไม่รู้หรอกนะครับว่า แต่ละคนมีปัญหากันเยอะแยะมากแค่ไหน แต่สิ่งที่จะต้องทำก็คือ อะไรก็ตามที่มันไม่จำเป็นกับชีวิต ให้ทิ้งมันไป แล้วเริ่มสิ่งใหม่ เปลี่ยน mindset ตัวเอง ถ้าทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ และมันหนักหนาสาหัสมาก ก็ลองทักมาที่เพจผมก็ได้ครับ เผื่อผมช่วยอะไรได้”
สัมภาษณ์: รายการ “พระอาทิตย์ Live”
เรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: แฟนเพจ “Forfuz”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **