เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปัญหาเพียบ! มาเลเซียคูหารองรับคนไม่พอ ต้องต่อลังกระดาษเพิ่ม ฟากผู้สมัครโวย เอกสารเลือกตั้งจัดหน้ามั่วโผล่ทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก-ซิดนีย์-ลอนดอน ชื่อคนกับชื่อพรรคอยู่คนละหน้าพาให้สับสน ส่วนในไทยพบชื่อผู้สมัครอยู่ผิดพรรค เร่ง กกต.รับผิดชอบ!
ใช้ “ลังกระดาษ” แทนคูหา แถมเอกสารเลือกตั้งยังพางง!
ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา แต่กลิ่นดรามายังไม่จางหายไป เพราะภาพของ “ลังกระดาษ” ที่ถูกนำมาใช้แทนคูหาในประเทศมาเลเซีย กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความ “ไม่เหมาะสมและไม่พร้อม” ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก
แชร์กันสนั่นโลกออนไลน์ กับเหตุการณ์การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่เกิดความวุ่นวายไม่น้อย เพราะมีคนไทยในต่างแดนเข้ามาใช้สิทธิกันเป็นจำนวนมากถึง 3,000 กว่าคน แต่คูหาที่มีไว้สำหรับกาพรรคที่ชอบ คนที่ใช่ กลับมีเพียงแค่ 3 คูหาเท่านั้น!
ทางสถานทูตเอกอัครราชทูตจึงจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยการนำ “ลังกระดาษ” มากั้นเป็นฉาก เพื่อที่จะให้ผู้มาใช้สิทธิสามารถลงคะแนนได้ทัน และในเวลาต่อมาก็ได้มีการเปิดให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงคะแนน สามารถมาใช้สิทธิได้อีกในวันถัดไป
หลังจากที่ภาพของ “คูหาเฉพาะกิจ” ถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์ ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ได้มีการเปิดเผยงบจัดทำคูหาลงคะแนน สำหรับใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีตัวเลขอยู่ที่ 18,000,000 บาท ทำให้โลกโซเชียลฯ ต่างพากันแสดงความคิดเห็นถึงความไม่เหมาะสมของคูหาและความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่มีเวลาในการเตรียมการนานและมีงบประมาณมาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงปัญหาการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ประเทศมาเลเซีย ที่ผู้มีสิทธิมีจำนวนมากจนต้องใช้ลังกระดาษมาทำเป็นคูหาแทน จนถูกพูดถึงในเรื่องความไม่เหมาะสมว่า สามารถทำได้ไม่มีปัญหา เพราะการลงคะแนนยังเป็นไปโดยตรงและลับตามที่กฎหมายกำหนด เพียงแต่อาจดูไม่สวยงาม ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่อย่างใด
ปัญหาวุ่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรยังไม่จบแค่นั้น เพราะในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกทั้ง นิวยอร์ก ซิดนีย์ และลอนดอน ก็พบว่าเอกสารการเลือกตั้งที่ระบุชื่อผู้สมัครและสังกัดพรรค ถูกแยกไปอยู่กระดาษคนละแผ่น สร้างความสับสนให้แก่ผู้ลงคะแนน และส่งผลกระทบต่อตัวผู้สมัครเป็นอย่างมาก
เพจเฟซบุ๊ก “พระเจ้า” โพสต์ภาพเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นภาพของ ณิชชา บุญลือ จากพรรคอนาคตใหม่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร แต่กลับมีชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ปรากฏอยู่ข้างบนภาพของเธอแทน
นอกจากนี้ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครที่อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ก็พบปัญหาในทำนองนี้ ที่ชื่อของผู้สมัครและพรรคการเมืองถูกแยกกันอยู่คนละหน้า เขาจึงออกมากระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “พริษฐ์ วัชรสินธุ ไอติม-Parit Wacharasindhu” ตามบรรทัดต่อจากนี้
“จากประเด็นการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กรณีความไม่เรียบร้อยของเอกสารประกาศเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เรื่องรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต เลือกตั้งที่ 13 เขตบางกะปิ-วังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา) เป็นเขตที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่
เอกสารที่ประกาศรายชื่อผู้สมัครนี้ มีการจัดหน้ากระดาษที่บกพร่อง ไม่ชัดเจน และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย (ชื่อผู้สมัครกับพรรคของบางคนถูกแยกอยู่คนละหน้า ตามรูปประกอบ) อาจส่งผลให้เกิดความสับสนต่อผู้ที่มาใช้สิทธิใช้เสียง เชียร์พรรคนี้ แต่กาผิดเบอร์
ความผิดพลาดนี้ไม่ได้มีผลแค่ตัวผมเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อผู้สมัครในพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย ทุกสิทธิทุกเสียงมีค่า ผมหวังว่าด้วยความบกพร่องนี้ ผมอยากให้ กกต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นครับ”
ไม่เพียงแค่ผู้สมัครทั้ง 2 รายเท่านั้นที่เจอกันปัญหาเอกสารจัดหน้าผิดรูปแบบ เพราะทางด้านของเพจ CSI LA ได้เผยภาพที่มีแฟนเพจส่งเข้ามาให้ เป็นเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเลือกตั้งล่วงหน้าในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นรายชื่อผู้สมัครในพื้นที่ จ.สระบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ถูกแยกชื่อออกจากพรรคเช่นกัน
“Thailand 4.0 จริงๆ กกต.ใช้ MS Word ไม่เป็นหรือไง ไม่มีการควบคุมดูแลคุณภาพของงานเลย ทำงานไม่เป็นมืออาชีพเลยแย่กว่าเด็กฝึกงานอีก กกต.ได้งบเป็นพันล้านแต่ทำงานพิมพ์แบบชุ่ยๆ อีกแล้ว ชื่อของพรรคหายไปอยู่อีกหน้าซึ่งอาจจะทำให้คนสับสนได้ มีแฟนเพจจาก Sydney ออสเตรเลียเข้ามาฟ้องครับ”
จากการตรวจสอบของ ทีมข่าว MGR Live พบว่า เอกสารที่ชวนสับสนนี้อาจไม่ได้มีการระบุข้อมูลผิดพลาด แต่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้เคาะเว้นบรรทัดเพื่อแยกรายชื่อผู้สมัครแต่ละพรรคให้ชัดเจน หรือไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนพิมพ์ออกมา
เจออีก ข้อมูลผิด กกต. หารือด่วน!!
ไม่ใช่แค่การจัดหน้ากระดาษเท่านั้นที่ทำให้ข้อมูลผู้สมัครชวนสับสน แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดจาก กกต.ยังผิดมหันต์ถึงขั้นบอกรายละเอียดสลับกันด้วย นั่นก็คือเอกสารการเลือกตั้งในราชอาณาจักรไทย ที่ชื่อผู้สมัครและชื่อพรรคไม่ตรงกัน และในบางพื้นที่ หมายเลขของผู้สมัครจากคนละพรรค ดันเป็นมีหมายเลขเดียวกัน!
เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ผ่านเพจ “พระเจ้า” รายเดิมที่ออกมาแฉไม่หยุด พร้อมกับนำหน้ารายชื่อในสมุดคู่มือการเลือกตั้งแนะนำผู้สมัครที่ กกต.จัดทำให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาเปิดเผย เป็นภาพของ นิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ จากพรรคเสรีรวมไทย เขต 16 กรุงเทพมหานคร
ทว่า...ในเอกสารดังกล่าว กลับใส่พรรคพลังธรรมใหม่มาแทน อีกทั้งประวัติการศึกษาดันถูกใส่เป็น ปริญญาตรีเอก เข้ามาอีกด้วย ล่าสุดเจ้าตัวจึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนำหลักฐานแจ้งความกับ สน.นิมิตรใหม่ พร้อมกับเตือนให้ผู้สมัครท่านอื่นๆ รีบตรวจความความถูกต้อง เพื่อที่จะได้รีบแจ้ง กกต. ให้แก้ไขได้ทันก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกจากนี้ในพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ เขต 8 ก็พบว่าผู้สมัครจากต่างพรรค แต่ดันมีหมายเลขเดียวกันคือ 35 อีกด้วย
ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เร่งนำปัญหาที่เกิดขึ้นของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทั้งคูหาเลือกตั้งไม่เพียงพอ และข้อมูลของผู้สมัครทั้งรายชื่อและสังกัดพรรคที่คลุมเครือ เข้าสู่ที่ประชุมด่วน เพื่อเร่งหาทางแก้ไขไม่ให้กระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง นำไปสู่การขุดคุ้ยและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำงานและงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ของ กกต.ว่าถูกนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์และเป็นธรรมหรือไม่
ทั้งนี้ การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 คาดว่าจะใช้งบจัดการเลือกตั้งประมาณ 4,006 ล้านบาทนั้น สูงกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 57 ที่ในครั้งนั้นใช้งบประมาณอยู่ที่ 3,885 ล้านบาท
และก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กกต.เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยพบว่า เป็นงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับวัสดุบางอย่าง เพื่อมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายรายการ เป็นเงินกว่า 55,000,000 บาท เป็นต้นว่า
โครงการทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป งบประมาณ 655,000 บาท
โครงการผลิตสื่อสัญลักษณ์ รด.จิตอาสา(ปลอกแขน) จำนวน 27,056 ชิ้น งบประมาณ 1,082,240 บาท
โครงการผลิตสื่อสัญลักษณ์ลูกเสืออาสา กกต. จำนวน 2 รายการ งบประมาณ 2,163,000 บาท
โครงการสื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส. งบประมาณ 6,000,000 บาท
โครงการผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง ส.ส. และผลิตสื่อเครือข่ายพลเมืองการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 7 รายการ งบประมาณ 9,425,000 บาท
โครงการพิมพ์หนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 งบประมาณ 12,000,000 บาท
โครงการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส.ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ งบประมาณ 5,000,000 บาท
โครงการตั้งศูนย์รับรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด งบประมาณ 1,314,000 บาท
และโครงการจ้างทำคูหาลงคะแนนสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. งบประมาณ 18,000,000 บาท โดยส่วนใหญ่วางกรอบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 และ ม.ค. 2562
นอกจากนี้ยังพบโครงการที่น่าสนใจ คือ โครงการซื้อรถประจำตำแหน่งประธาน กกต. 1 คัน กรรมการ กกต. 4 คัน และเลขาธิการ กกต. 1 คัน งบประมาณ 22,164,000 บาท
แน่นอนว่าการเปิดเผยงบประมาณในครั้งนั้นถูกตั้งคำถามไม่น้อย เพราะในบางโครงการดูจะไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ซึ่งเวลานั้น ทาง กกต.ก็รีบออกมาชี้แจงว่า การจัดซื้อรถประจำตำแหน่งไม่เกี่ยวกับงบฯ เลือกตั้ง ซึ่งรถมีอายุเกินใช้งาน ต้องซ่อมตลอด ไม่ได้ซื้อรถใหม่มา 7 ปีแล้ว เบื้องต้น กกต.ได้จัดซื้อมาแล้ว 2 คันตามงบประมาณปี 2561 เป็นรถเบนซ์รุ่นใหม่ E350e ส่วนงบเลือกตั้งใช้จ่ายประหยัดหลายรายการ และซื้อได้ต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้
เหลือเวลาอีกไม่ถึงสัปดาห์สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2562 หลังจากนี้ก็คงต้องได้แต่ดูกันต่อไปว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อันเป็นองค์กรอิสระ จะสามารถจัดการปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ให้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยได้หรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน ...
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **