xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้ารูปร่างหน้าตาดึงคนให้มาสนใจได้ หนูก็จะใช้มัน” ไอเดียร์ นักการเมืองสายเซ็กซี่-ดีกรีดารา!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นี่ให้เลือก “ผู้สมัครฯ” หรือเลือก “นางงาม”!!? ไม่ใช่แค่คำชม แต่กลายมาเป็นคำสบประมาทที่มีต่อ “ว่าที่ ส.ส.สาวสวยสุดฮอต” สายเซ็กซี่-ดีกรีดาราคนนี้ ว่าจะมีดีแค่เรื่องหน้าตาโฉบเฉี่ยว-หุ่นเฟิร์มขยี้ใจหรือเปล่า ไหนจะข้อสงสัยเรื่อง “เด็กเส้น-เด็กใคร” ที่ทำให้หลากหลายสายตากำลังตัดสินนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง “ไอเดียร์” โดยที่เจ้าตัวก็ไม่คิดจะไปเปลี่ยนทัศนคติใคร แค่ขอเวลาอีกสักนิดให้ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงจากปากของเธอเอง



“ขายหน้าตา” เรียกคะแนนเสียงจากหนุ่มๆ!?

“หนูคงไม่ไปลบคำสบประมาทที่บอกว่า หนูไม่ได้สนใจด้านการเมือง หรือว่าหนูมีแค่เรื่องหน้าตา แต่สิ่งที่หนูจะทำก็คือ หนูจะแสดงให้เห็นว่าหนูสนใจมันจริงๆ

ไอเดียร์-สุชาดา แทนทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (party-list) จากพรรคประชาธิปัตย์ ตอบความรู้สึกผ่านน้ำเสียงนิ่งเรียบและแววตามุ่งมั่น ทันทีที่ถูกยิงคำถามเข้าประเด็นดรามาการเมืองที่เธอต้องประสบพบเจอ แต่ก็ถือว่าเป็นอันเข้าใจได้ ที่คนบางส่วนจะตัดสินกันไปจากภาพที่เห็น เนื่องจากเธอเองก็เคยทำงานวงการบันเทิง อาชีพที่ถูกมองว่า “ขายหน้าตา” มาก่อนหน้านั้นจริงๆ

“หนูเชื่อว่าคนเราไปเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรเขาไม่ได้หรอกค่ะ และจริงๆ เขาก็มีสิทธิจะคิดแบบนั้น จากภาพที่เขาเห็น และถ้าคนบอกว่าหน้าตาหรือรูปร่างของหนู ทำให้เป็นจุดสนใจ หนูก็ขอบคุณค่ะ แต่จริงๆ แล้ว หนูก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองหน้าตาดีนะ หนูเชื่อว่าทุกคนมีความหน้าตาดีเหมือนกันหมด และสามารถทำให้ดูดีได้ในแบบที่ตัวเองเป็น

แต่ถ้าเรื่องหน้าตามันจะสามารถทำให้คนหยุดฟังหนูได้ หนูก็อยากขอเวลาอีกสัก 10-15 นาที ช่วยฟังในสิ่งที่หนูต้องการจะสื่อ และต้องการจะผลักดันค่ะ อย่างน้อยๆ ทุกวันนี้ก็มีผู้ใหญ่ในพรรค แล้วก็เพื่อนๆ รอบตัวเราที่สนใจฟัง รวมถึงคนที่เรามีโอกาสได้พูดให้เขาฟัง

บอกตามตรง หนูไม่ได้คิดว่าใครปิดใจให้หนูนะคะ เพียงแค่เขาอาจจะยังไม่มีโอกาสฟังในสิ่งที่หนูพูด หรือยังไม่มีโอกาสได้เห็นในสิ่งที่หนูต้องการทำ และวันนึงหนูก็จะไปพูดให้เขาฟังค่ะ ถ้าหนูมีโอกาส



[สนิทกับ “เอ-ศุภชัย” ผู้ชักพาเข้าวงการเมื่อครั้งอดีต]
ตลกร้าย... เมื่อความสวยที่เคยให้ผลดีเมื่อครั้งทำอาชีพ “นักแสดง” กลับกลายคล้ายจะเป็นผลลบเมื่อหันมารับบทบาท “นักการเมือง” อย่างในวันนี้ ถึงแม้ไอเดียร์จะผ่านการพิสูจน์ตัว ด้วยการทำงานเบื้องหลัง ผลักดันนโยบายพรรคประชาธิปัตย์มา 1 ปีแล้ว แต่คนส่วนหนึ่งที่ติดกับความคิดเดิมๆ ก็ยังคงเลือกที่จะตัดสินจากความเคยชินอยู่ดี

เวลาผู้หญิงจะเข้ามาให้ความสนใจทางการเมืองทีนึง คนจะมองก่อนเลยว่า “เป็นเด็กใคร เป็นเมียน้อยใคร” (ยิ้มเนือยๆ) ซึ่งหนูรู้สึกว่ามันเชยมาก (เน้นเสียง) และหนูรู้สึกว่าคนที่มีทัศนคติแบบนั้น เราไม่สามารถไปลบคำสบประมาทเขาได้ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ สร้างความตั้งใจ แสดงให้เขาเห็นถึงความมุ่งมั่น

หนูชูนโยบายเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” มันเลยทำให้หนูทำ research พอสมควร และทำให้เห็นว่าพอมีผู้หญิงเริ่มก้าวเข้าไปเป็นซีอีโอ หรือก้าวขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ ได้ คนก็มักจะถามว่าเป็นเด็กใคร เด็กเส้นหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วคนทุกคนไม่ควรมองกันที่เพศสภาพ หรือคำนำหน้านามด้วยซ้ำ

หนูว่ามันเชยที่คนไทยบางคน ยังมองที่คำนำหน้า หรือเพศสภาพว่ามันเป็นยังไง หรือยังเลือกคนจากหน้าตาหรือรูปร่างกันอยู่ เพราะทุกคนมีศักยภาพที่จะสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม หรือแม้แต่คนที่เป็น transgender (คนข้ามเพศ) ก็ตาม

สิ่งที่หนูพยายามจะบอกตลอดก็คือ อย่าตัดสินคนจากภายนอก เพราะเราไม่สามารถบอกได้เลยว่า ใครเป็นยังไงจากการแต่งตัว หรือรูปลักษณ์ภายนอกของคนคนนั้น ดังนั้น ก็อยากให้ลองมองคนให้ลึก ก่อนจะตัดสินอะไรค่ะ เพราะหนูเองก็อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มา 1 ปี ถามว่าเป็นเพราะต้องการเรียกกระแสหรือเปล่า ก็ต้องขอให้ลองมองดูอีกนิดนึงว่า หนูมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงไหม



“เปิดวาร์ปว่าที่ ส.ส.หนุ่มหล่อ-สาวสวย” คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์แชร์สนั่น ที่เกิดขึ้นบนแฮชแท็ก #เลือกตั้ง62 โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เกาะติดเทรนด์เหล่านี้อย่างเอาเป็นเอาตาย จนส่งให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถึงกับนั่งไม่ติดเก้าอี้ หวั่นกันไปล่วงหน้าว่าคนรุ่นใหม่จะถูกล่อลวงให้เทคะแนนเสียง จากการนิยมชมชอบของสวยๆ งามๆ

จริงไหมที่แต่ละพรรคจงใจเลือกผู้สมัครฯ ขึ้นมาประชันหน้าตา เพื่อเรียกฐานเสียงจากวัยฮอร์โมน? ว่าที่ ส.ส.สาวสุดฮอต ผู้ติดโผในอันดับต้นๆ เรื่องความสวยในสมรภูมิการเมืองให้คำตอบว่า ไม่สามารถตอบแทนพรรคการเมืองรายอื่นๆ ได้ แต่ถ้าเป็นพรรคที่เธอสังกัดอยู่ ย้ำชัดว่าไม่มีแนวความคิดแบบนี้อย่างแน่นอน

“อย่างพรรคเรา ถ้าผู้สมัครคนนั้นไม่ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับทางพรรค หรือไม่เคยพิสูจน์ตัวเองในระดับนึงมาก่อน ก็จะไม่สามารถลงมาเป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ดังนั้น ทุกคนมีศักยภาพค่ะ



ส่วนเรื่องหน้าตาของผู้สมัครฯ ถึงมันอาจจะสร้างกระแสได้ก็จริง แต่หนูเชื่อว่าเวลาจะเลือกจริงๆ ประชาชนชาวไทยทุกคน สุดท้ายก็จะเลือกที่เหตุผลว่า ใครจะพาเราก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตศรัทธา วิกฤตความขัดแย้งไปได้ และหนูก็เชื่อว่าประชาธิปัตย์สามารถทำตรงนี้ได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้หนูเลือกเข้ามาอยู่ที่นี่ในฐานะคนรุ่นใหม่

ถามว่าเรื่องรูปร่างหน้าตา มันส่งผลดีหรือผลเสียต่อการเลือกของคนมากน้อยแค่ไหน บอกตรงๆ หนูไม่คิดว่ามันจะเอามาเป็นเกณฑ์ที่สามารถชี้วัดอะไรได้เลยค่ะ เพราะสุดท้ายแล้ว คนเขาก็จะมองเราที่ผลงาน ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจ และเขาจะฟังในสิ่งที่เราพูด หน้าตาไม่ได้มีผล เพศสภาพไม่ได้มีผลกับการดำเนินงาน กับการใช้ชีวิต หรือการทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้เลยค่ะสำหรับหนู”



ไม่ได้เพิ่งสนใจการเมือง แต่ฝังรากมาตั้งแต่ “รุ่นพ่อ”

[ลงพื้นที่ สื่อสารกับประชาชน]
ลองไล่ย้อนดูโพสต์บนอินสตาแกรม @ideasuchada23 ตั้งแต่ช่วงก่อนออกมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในมิติการเมือง เห็นได้ชัดว่าไอเดียร์ไม่เคยลงภาพสะท้อนมิติความคิดทางสังคม และแทบไม่มีตัวตนด้านการแสดงจุดยืนวิจารณ์เรื่องใดๆ มาก่อนเลย มีเพียงภาพไลฟ์สไตล์กิน-เที่ยว-ออกกำลังกายเท่านั้น ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่า จึงเกิดเป็นเสียงสะท้อนข้อสงสัยว่า หรือเธอเพิ่งมาสนใจในประเด็นสังคมและการเมือง หลังเข้ารับหน้าที่นี่เองหรือเปล่า

“มันเป็นเรื่องธรรมดาค่ะที่คนเราจะมองภาพแบบนั้น เพราะปกติการโพสต์ในไอจี หนูมองว่าเวลาคนเราดรามา เสียใจ หรือเวลาไปทำอะไรเป็นจริงเป็นจัง หน้าเราอาจจะไม่สวยก็ได้ ก็เลยทำให้ไม่อยากโพสต์

ทุกวันนี้ที่โพสต์ ส่วนใหญ่หนูก็โพสต์ในไลฟ์สไตล์ของหนู เพราะบางทีหนูออกกำลังกาย และรู้สึกว่าชอบตัวเองในมุมนี้ ฉันมี passion ฉันก็ลงไป แต่ถามว่าที่ผ่านมา เราไม่สนใจเรื่องสังคมเลยหรือเปล่า ไม่จริงเลยค่ะ เพราะที่ผ่านมาหนูก็ทำกิจกรรมร่วมกับทางมหาวิทยาลัยมาตลอด

ดูเหมือนคำว่า “ร่วมกิจกรรมทางสังคมมาโดยตลอด” ของไอเดียร์ จะไม่ได้กินความหมายแค่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรากฐานที่ปลูกฝังมาตั้งแต่ที่บ้านด้วย เพราะคุณพ่อของเธอก็เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี และเคยหนีบเจ้าตัวเล็กลงพื้นที่มาด้วยตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว

“จริงๆ ครอบครัวเป็นนักการเมืองท้องถิ่นค่ะ ทำให้ตอนเด็กๆ เรามีโอกาสได้คลุกคลี ลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชน ไปงานบวช ไปงานแต่ง ฯลฯ กับคุณพ่อตลอด

พอได้เข้ามาที่กรุงเทพฯ ช่วงหนูเรียนปริญญาโทอยู่ ก็มีรุ่นพี่ที่อยู่ที่พรรคชวนเราเข้ามา ตัวเราเองก็สนใจอยู่แล้ว ก็เลยขอเข้ามาศึกษางานทางการเมืองกับท่านเลขาธิการพรรค (จุติ ไกรฤกษ์) โดยตรง ทำงานกับทางทีมนโยบายเศรษฐกิจ ทีม R&D (Research and Development) ของพรรค

หลังจากนั้น ทางพรรคก็ได้มีการจัดโครงการ DYIP (โครงการฝึกงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์) ก็จะมีรุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งเกษตรศาสตร์, ธรรมศาสตร์, จุฬาฯ, เชียงใหม่ ฯลฯ มาจากทั่วประเทศเลย มาฝึกงานเป็นเวลา 2 เดือน



ยิ่งได้มีโอกาสมาคลุกคลีกับน้องๆ ตรงนี้ มันยิ่งเป็นการเพิ่ม passion ให้กับเราเข้าไปใหญ่ เพราะน้องๆ ทุกคนมีความตั้งใจในด้านการเมือง เราได้เห็นความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เขามาช่วยกัน brainstorm ว่าอยากจะแก้ปัญหาประเทศชาติไปในทางไหน หลังจากนั้นเดือน พ.ย.(61) ก็มีโอกาสได้ฟอร์มทีม เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “New Dem” กับเพื่อนๆ อีก 22 คนค่ะ

และพรรคก็ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่จริงๆ รวมถึงนโยบายที่หนูกับเพื่อน New Dem ร่วมกันทำ ก็สามารถผลักเข้าไปเป็นนโยบายของพรรคได้ทั้งหมด 20 อย่าง รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับความเท่าเทียม

ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และความเท่าเทียมทางเพศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง หรือแม้แต่ LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender) ซึ่งเป็นนโยบายที่หนูเป็นคนผลักดัน


สาเหตุที่เสนอนโยบายเรื่อง “ความเท่าเทียม” ให้เป็นประเด็นที่ต้องการเน้น เพราะนักการเมืองเลือดใหม่หน้าสวยคนนี้ รู้สึกอินกับมันมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยที่หนูไอเดียร์ยังเป็นแค่เด็กน้อยตามชนบท ใน อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เท่านั้นเอง



[ภาพสมัยวัยใส]
“หนูจะได้เห็นความด้อยโอกาสของเด็กต่างจังหวัดมาโดยตลอด แล้วพอมาเรียนที่โคราช รร.สุรนารีวิทยา ซึ่งจะเป็นหัวเมืองขึ้นมาหน่อย ความเจริญก็จะมีมากขึ้นหน่อย แต่พอได้มาอยู่กรุงเทพฯ เราก็เห็นเลยว่า ความเจริญมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน

เราก็พยายามมานั่งคิดว่า เพราะอะไรเราถึงอยากมาอยู่ตรงนี้ เพราะอะไรเราถึงอยากได้โอกาสตรงนี้ แต่ถ้าตอนอยู่ที่ต่างจังหวัด ความเหลื่อมล้ำมันสูง โอกาสที่จะทำอะไรมันน้อยมาก ทั้งโอกาสทางการศึกษา โอกาสทางอาชีพการงาน

คิดดูว่าบ้านหนูเพิ่งมีเซเว่นแห่งแรกตอนหนูอยู่มหาวิทยาลัย แล้วก็เพิ่งมีปั๊มน้ำมันเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เองค่ะ นอกนั้นคือขับผ่าน 5 นาทีก็หมดทั้งเมืองแล้ว (ยิ้ม) ก็เลยคิดว่ามันคงจะดี ถ้าเราสามารถเข้ามาทำอะไรในการเมือง อย่างน้อยได้เป็นจุดจุดหนึ่ง เพื่อสักวันนึงจะขยายออกไปได้กว้างกว่านั้น



กระดูกคนละเบอร์ ระวังเจอ “เสือ-สิงห์-กระทิง-แรด”

อ่อนวัย-บอบบาง... คือภาพที่คนรุ่นใหญ่อย่าง “น้าหงา คาราวาน” หรือ หงา-สุรชัย จันทิมาธร มองเห็นในตัวของ “ว่าที่ ส.ส.สาวสวย” ทุกคน ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยล่าสุดถึงกับออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หยิกแกมหยอกเอาไว้ว่า "สีสันการเมือง... ว่าไปแล้ว การเมืองก็ไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างที่ใครๆ เขาพูดกัน เป็นห่วงแต่ว่า น้องๆ จะหลุดเข้าไปในหมู่เสือสิงห์กระทิงแรด จะทนแรงเสียดทานได้ไหม?"

ในฐานะหนึ่งในคนที่ถูกหยิบเอาภาพไปโพสต์แสดงความห่วงใยเอาไว้แบบนั้น ไอเดียร์จึงได้แต่หัวเราะรับเบาๆ ถึงแม้จะไม่แน่ใจในประโยค “เสือสิงห์กระทิงแรด” ว่าหมายถึงอะไร แต่ถ้าให้ขยายความเรื่อง “จะทนแรงเสียดทานได้ไหม” นั้น เธอมั่นใจว่าตัวเองอึดและถึกพอที่จะพร้อมรับมัน

“สำหรับตัวหนู หนูเชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ และเราเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องการผลักดันให้มันเป็นจริง และโฟกัสอยู่ที่จุดนี้ สิ่งอื่นที่จะทำให้เราไขว้เขว เราก็ต้องจัดการกับมันให้ได้ เพราะหนูไม่มั่นใจจริงๆ ว่า “เสือสิงห์กระทิงแรด” ที่เขาบอก มันหมายถึงอะไร (ยิ้ม) อาจจะเป็นความกดดันหรือประสบการณ์ของเราที่ยังน้อยมั้งคะ

แต่จริงๆ แล้ว พอที่บ้านรู้ว่าเรามาทำงานด้านนี้ คุณพ่อก็มีเตือนมาเหมือนกัน บอกว่าให้ระวัง เพราะเราก็ยังอายุน้อย มาทำอะไรแบบนี้ก็มีแต่คนที่เขาอายุเยอะแล้ว เราอาจจะเด็กไป อาจจะไม่ทันเขาหรือเปล่า



[โพสต์หยิกแกมหยอกจาก "น้าหงา คาราวาน"]
ตอนนี้หนูอายุ 26 ถ้าเทียบกันแล้ว กระดูกหนูก็คงยังอ่อนอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ แต่ถ้าผ่านไปสัก 5 ปี หนูอายุเพิ่มขึ้นเป็น 31 กระดูกหนูก็คงแข็งขึ้นไปตามกาลเวลาและประสบการณ์ที่จะได้รับ หนูคิดว่าคนเราก่อนจะมีประสบการณ์ ก็ต้องมีความกล้าที่จะทำอะไรก่อน

และในเมื่อหนูตัดสินใจแล้วว่าหนูชอบตรงนี้ หนูเจอสิ่งที่หนูชอบ หนูก็อยากทำให้มันไปได้ไกลที่สุด เท่าที่หนูจะทำได้ หนูเข้ามาตรงนี้เพราะหนูพร้อมที่จะรับประสบการณ์ที่เข้ามาในชีวิต หนูตัดสินใจว่าหนูอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหนูสนใจด้านการเมือง ฉะนั้น อะไรที่จะเกิดหลังจากนี้ หนูก็จะเอามันมาเป็นบทเรียน และเป็นประสบการณ์ที่เราพร้อมจะรับค่ะ

อีกหนึ่งภาพที่ติดมากับนามสกุล “แทนทรัพย์” ก็คือคำว่า “รวยล้นฟ้า” หรือ “มหาเศรษฐี” เนื่องจากครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง เป็นเจ้าของกิจการหลากรูปแบบ

รวมถึงฉายา “ไอเดียร์-สวนน้ำ” ที่เธอถูกใครต่อใครเรียก ซึ่งเป็นชื่อที่สะท้อนความมั่งคั่งของเธอได้เป็นอย่างดี โดยมีที่มาที่ไปจากคำบ่นของไอเดียร์เมื่อครั้งอดีตว่า บ้านเกิดไม่มีทะเลที่เจ้าตัวแสนชื่นชอบให้เล่น สุดท้ายคุณพ่อจึงเนรมิตสวนน้ำส่วนตัวขึ้นมาเอาใจ แถมยังสร้างเสร็จภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนอีกต่างหาก

จากเรื่องเล่าและภาพลักษณ์ที่ผู้คนเคยได้รับรู้ ทำให้หลายคนตัดสินไปแล้วว่า ผู้หญิงตรงหน้าคงไม่ต่างไปจาก “ลูกคุณหนู” ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างไข่ในหิน แต่เมื่อปล่อยเวลาให้ค้นลึกถึงตัวตนของเธอจริงๆ กลับพบว่าไอเดียร์ยิ่งกว่าติดดินเสียอีก แถมยังมีมุมอึดและถึกอย่างที่ไม่คาดคิดว่าจะแอบซ่อนอยู่เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องเล่าจากความจริงตั้งแต่เคยทำงานร่วมกับเหล่าพี่ๆ กรรมกร ทั้งเก็บมัน, แบกข้าวโพด ไปจนถึงเป็นเด็กปั๊ม!!



[อาม่า ผู้ปลูกฝังวินัยให้ทุกคนในครอบครัว]
“ที่บ้านหนู อาม่าเหมือนเป็นเสาหลักของครอบครัวเลยค่ะ ท่านเป็นคนเก่ง ตื่นตี 4 มาทำกับข้าว และหลานๆ ทุกคนก็จะถูกเลี้ยงมาแบบค่อนข้างมีวินัย คือต้องตื่นก่อน 6 โมงเพื่อมากินข้าวกับอาม่า ถ้าวันไหนลงมาจากบ้านเกิน 6 โมงครึ่ง ป๊าจะบอกเลยว่างั้นไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว

หรืออย่างตอนช่วยทำงานที่บ้าน หนูก็ต้องเข้าลานมันก่อน 6 โมง ไม่อย่างนั้นอาม่าจะให้เราไปทำงานกับกรรมกรในการแบกข้าวโพด หลังจากที่เขาสีและโกยข้าวโพดแล้ว ซึ่งหนูเคยถูกทำโทษทีเดียวเองค่ะ ตอนนั้นอายุ 15 เป็นช่วงปิดเทอมตอน ม.3 แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยโดนอีกเลย เพราะหนูไม่เคยตื่นสายอีกเลย

คุณพ่อให้หนูทำงานในลานมันมาตั้งแต่เด็กๆ คนที่หนูเจอคือพี่ๆ กรรมกร หนูมีหน้าที่แบกผ้าใบคลุมมันกับเขา วัดตาชั่งข้าวโพด คุมความชื้นข้าวโพด หนูทำได้หมดเลย ฉะนั้น สิ่งที่หนูเห็นมาตลอดคือความเหลื่อมล้ำ ถามว่าหนูเข้าใจตรงจุดนี้ขนาดไหน หนูมั่นใจว่าหนูมีโอกาสได้เข้าถึงตรงนี้ และหนูก็เข้าใจเขาในระดับนึงเลยค่ะ

หนูเคยเป็นเด็กปั๊มตั้งแต่ตอน ป.4 ตั้งแต่ตอนเราเปิดปั๊มเล็กๆ แล้วมีอยู่วันนึง คุณลุงคนนึงมาเติมน้ำมัน และหนูก็ต้องเป็นคนเติมให้เขา ปรากฏว่าแรงดันของหัวฉีดมันก็แรง น้ำมันก็เลยราดตัวหนูเอง คุณลุงคนนั้นเขารู้ว่าคุณพ่อหนูดุมาก เขาเลยบอกหนูว่า ให้วิ่งไปอาบน้ำก่อนเลยลูก ค่อยออกมาเขียนบิลต่อ เพราะเขากลัวเราถูกดุ (ยิ้ม)



ตอนเด็กๆ ก็ไม่เข้าใจนะคะว่า ทำไมคุณพ่อถึงต้องให้ทำนู่นทำนี่ ทำไมไม่ให้ไปวิ่งเล่นเหมือนคนอื่น พอโตมาก็ขอบคุณเขาค่ะ เพราะรู้สึกว่าตัวเองถึกใช้ได้ (หัวเราะเบาๆ) คงเป็นเพราะเขาอยากจะฝึกเรา ให้ทำงาน เพราะถ้าไม่ทำงานก็จะไม่ได้เงินไปโรงเรียน แล้วก็ห้ามเซ็นค่าขนมที่โรงเรียนด้วย ให้เงินเราไปน้อยมาก แต่ก็ห้ามเซ็น ห้ามกินเกินกว่านี้

ที่บ้านจะสอนให้เห็นค่าของเงินเสมอ ไม่เคยเลี้ยงเราแบบไข่ในหินเลย และหนูก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอย่างที่คนอื่นพูดนะ แล้วก็ไม่เคยพูดด้วยว่าตัวเองรวย แต่อาจจะเป็นภาพต่างๆ ในอินสตาแกรมส่วนตัวที่เราลงไป ที่บางทีเราไปกับเพื่อน ไปกินข้าว หรือไปคุยงานตามร้านอาหาร เราถ่ายรูปลง มันอาจจะเป็นร้านที่มีราคา จนทำให้คนคิดและตัดสินใจจากตรงนั้น

ก็ถือเป็นประสบการณ์นึงที่ทำให้หนูรู้ว่า สิ่งที่เราโพสต์ไป มันทำให้คนไม่ได้รู้ว่าเราเป็นยังไง เพราะคนจะตัดสินเราจากภาพ แต่ตอนนี้หนูอยากบอกว่าหนูมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และตัวเราก็เป็นคนที่ติดดิน หรือไม่ต้องใช้คำว่าติดดินก็ได้ แต่เป็นคนธรรมดาคนนึงที่อยากจะผลักดันเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และถ้าเราแสดงความมุ่งมั่นออกไปจริงๆ หนูเชื่อว่าสักวันนึงก็ต้องมีคนเห็น




“นักการเมือง” ไม่จำเป็นต้องเก่ง “บริหาร”

“โปรไฟล์บริหารก็ไม่มี แล้วจะมาสร้างความน่าเชื่อถือในอาชีพนี้ได้ยังไง!?” คืออีกหนึ่งคำวิจารณ์ที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อรายนี้ถูกกระหน่ำถามซ้ำๆ ตามโซเชียลมีเดีย และถูกหยิบขึ้นมาถามซ้ำอีกทีเมื่อมีคู่กรณีนั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์ แต่แทนที่สาวหน้าคมจะแสดงความหวั่นไหว หรือท่าทีไม่พอใจ ตรงกันข้ามเธอกลับยิ้มรับเย็นๆ ด้วยความเข้าใจ ก่อนมอบแง่คิดอีกมิติผ่านสายตาของตัวเอง

“หนูมองว่านักการเมืองจำเป็นต้องมาจากทุกภาคฝ่ายค่ะ เพราะความต้องการของประชาชนไม่ได้มีเฉพาะคนที่จบบริหาร ประชาชนคนที่เรียนไม่จบก็มี เราก็ต้องเข้าใจ การที่จะมาเป็นผู้แทนของคนอื่นได้ก็คือ ต้องเข้าใจประชาชน ต้องฟังเสียงของประชาชน

ดังนั้น เราจะไม่สามารถเอาคนอาชีพเดียวมาเป็นนักการเมืองได้ เพราะความต้องการของคนเราไม่เท่ากัน คนอายุ 26-35 ปี เฉพาะผู้หญิงมีเป็น 10 ล้านคนนะคะ และหนูเชื่อว่าต้องมีคนที่มีความต้องการที่หนูเข้าใจเขา และหนูสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับสิ่งที่เขาต้องการได้

ตัวหนูเองก็มีโอกาสได้ทำงานกับที่บ้าน ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อนหน้านี้แล้วด้วย และการที่เราเข้ามาทำงานด้านการเมือง สิ่งที่เราต้องพูดถึงก็คือประวัติทางการเมือง หรือสิ่งที่เราเคยทำเพื่อสังคม เช่น เราเคยวิเคราะห์นโยบายอะไรบ้าง แบบนี้มากกว่า

ดังนั้น หนูไม่อยากให้คนไปโฟกัสว่า เราเคยผ่านบริหารอะไรมาบ้างที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว เพราะหนูก็ไม่กล้าพูดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในอายุ 26 ปีของหนู แต่การที่หนูตัดสินใจเข้ามาศึกษาและสนใจด้านการเมือง เพราะหนูต้องการทำในสิ่งที่หนูเชื่อ

“ความเท่าเทียมทางเพศ” คือนโยบายที่ไอเดียร์เชื่อและอยากผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ โดยมีการยื่น “ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต” สำหรับชาวเพศทางเลือกเข้าไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว แต่เธอยังคงมองว่ามันไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่กลับจะยิ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ รู้สึกแตกต่างและแปลกแยกจากคู่ชาย-หญิงมากขึ้นไปอีก



[มีประสบการณ์ช่วยดูแลงานด้านอสังหาริมทรัพย์กับครอบครัว]
“หนูเชื่อว่า LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender) แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นตัว L, G, B หรือ T และพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการสิ่งที่พิเศษหรือแปลกออกมา แต่สิ่งที่เขาต้องการคือความธรรมดา ฉะนั้น สิ่งที่พวกเราพูดถึงกัน และคิดว่าน่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงก็คือ การแก้กฎหมายแพ่ง แก้คำนำหน้า เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

จากที่กฎหมายระบุว่า หญิงแต่งงานกับชาย ถึงจะมีสิทธิในสมบัติหรือสินสมรส ก็ควรจะแก้เป็น คนที่รักคน 2 คนดีไหม คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม LGBT อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าพวกเขาลำบากยังไง

ทุกวันนี้ เวลาผู้หญิงกับผู้ชายแต่งงานกัน แล้วอีกคนตายไป สมบัติของคนอีกก็จะเป็นของคู่ชีวิตหรือคู่ที่แต่งงานด้วย แต่ชาย-ชายอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตเหมือนคู่ชาย-หญิงเหมือนกันทุกอย่าง แต่พออีกคนนึงตายไป อีกคนกลับไม่มีสิทธิในสินสมรสนั้นเลย

นี่คืออีกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิตยังไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ และจะยิ่งสร้างความแปลกและแตกต่างให้มีมากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ เขาต้องการแค่ความธรรมดา ต้องการแค่ความเท่าเทียมเท่านั้นเอง

เราต้องการให้มองพวกเขาบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ ในเมื่อเราอยู่ในประเทศเดียวกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน สิ่งที่เราควรได้รับก็ควรเหมือนๆ กัน เป็นสิ่งที่เท่าเทียมกัน ไม่ควรให้คำจำกัดความ “เพศสภาพ” มาบอกว่าเราจะทำอะไรได้หรือไม่ได้



[หุ่นแซ่บในชุดบิกินี สมคำร่ำลือ “ว่าที่ ส.ส.สาวสายเซ็กซี่”]
ทุกวันนี้มีหลายประเทศเลยค่ะที่เขาค่อนข้างเปิดรับเรื่องการจดทะเบียนคนเพศเดียวกัน แต่เราก็ต้องมาดูในบริบทประเทศไทยอีกที เพราะบ้านเมืองเรามีหลายศาสนา เราก็ต้องมาดูว่าขนาดไหนที่ประชาชนจะรับได้ และเหมาะสมที่จะให้ทุกคนดำเนินชีวิตได้บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนแต่ละคนพึงมี

ตัวหนูเองมีเพื่อนทุกเพศเลยค่ะ และเพื่อนๆ ทุกคนก็มีหน้าที่การงานที่ดี ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต ในอาชีพ ในการดูแลตัวเอง ไม่เป็นภาระสังคม และยังดูแลครอบครัวได้อีกด้วย

หนูคิดว่ามันอาจจะไม่ยุติธรรมหรือเปล่า มันเชยไปแล้วหรือเปล่า ในการที่จะตัดสินใครจากสิ่งที่เขาเป็น หรือจากรูปลักษณ์ภายนอก เรามาดูว่าสิ่งที่เขาสามารถทำประโยชน์ให้ตัวเอง ให้คนอื่น ให้สังคมได้เนี่ย มันมีค่ามากกว่าแค่ไหนดีกว่าไหม

อย่างเพื่อนๆ หนูหลายคนที่เป็นทรานส์ฯ (Transgender) เขาก็ต้องเจอกับอะไรแบบนี้กันบ่อยมาก ตอนที่ยื่นสมัครเข้าไปในองค์กร เขาได้รับเลือก แต่พอถึงรอบสัมภาษณ์ คนเห็นคำนำหน้าว่านาย แต่มีผมยาว เขาก็เปลี่ยนใจ บอกว่าไว้ติดต่อกลับ ทั้งๆ ที่ศักยภาพของคนคนนั้นสามารถเข้าไปทำงานได้แล้ว”



ท่ามกลางกระแสทั้งแง่ดีและลบที่เข้ามาพาดพิงถึงตัว คิดว่าคุ้มไหมที่ต้องแลกมันไปเพื่อให้ได้ทำงานด้านการเมือง? คนถูกถามได้แต่หัวเราะรับตอบกลับมาเบาๆ ก่อนทิ้งท้ายด้วยมิติ “ความคุ้มค่า” ผ่านสายตานักการเมืองเลือดใหม่วัย 26

ก็ต้องถามกลับไปว่า “คุ้ม” แบบไหน ถ้าคุ้มในแง่ที่หนูได้ทำในสิ่งที่หนูเชื่อ จุดเล็กๆ ที่หนูคิดว่าตัวเองสามารถผลักดันได้ หนูว่ายังไงก็คุ้ม เพราะมันเป็นสิ่งที่หนูต้องการทำ และหนูเชื่อในมัน เรื่องคนด่า เราไปห้ามความคิดใครไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นนักการเมือง

นักการเมืองที่ดีคือการสื่อสารให้คนเข้าใจ เมื่อไหร่ที่หนูมีโอกาสสื่อสารกับคนที่เขาอาจจะยังไม่ชอบหนูในตอนนี้ หนูก็จะสื่อสารกับเขาไปเรื่อยๆ

ความฝันตอนนี้ก็คือ หนูจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นได้มากขนาดไหน หนูจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และเพศสภาพ ได้มากขนาดไหน นโยบายที่หนูต้องการจะผลักดันมันสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากขนาดไหน นี่แหละค่ะที่ความฝันของหนู


“เปรี้ยว” อย่างถูกกาลเทศะ

เชื่อไหมคะว่าตอนเด็กๆ หนูแต่งตัวเปรี้ยวไม่ได้เลยนะ (ยิ้ม) นี่ที่มาแต่งตัวเปรี้ยวทุกวันนี้ พูดตรงๆ เพราะอยู่กรุงเทพฯ ตอนเด็กๆ แค่ใส่เสื้อแขนกุดก็โดนว่าแล้ว

ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย พอกลับบ้านไป หนูใส่เสื้อคุณพ่อ กางเกงคุณพ่อหมดเลยนะ เพราะถ้าใส่กางเกงยีนส์แล้วเห็นเป็นรูปร่างขึ้นมานิดนึง คุณพ่อก็จะบ่นละว่า “เนี่ย..แต่งตัวแบบเนี้ย (ทำน้ำเสียงขรึมๆ เลียนแบบ)” หนูก็เลยใส่กางเกงวอร์มกับเสื้อยืดละกัน (ยิ้ม)

ถามว่าเริ่มแต่งตัวเปรี้ยวเมื่อไหร่ น่าจะช่วงมหาวิทยาลัยค่ะ เพราะชอบออกกำลังกาย เราก็จะใส่ชุดออกกำลังกาย ใส่สปอร์ตบรา หลังจากออกกำลังกายเสร็จ ก็ไม่ค่อยมีเวลา แล้วก็ไปกินข้าวในชุดนั้น อาจจะใส่แค่เสื้อคลุม



แต่จริงๆ แล้ว จะใช้คำว่า “เริ่มแต่งตัวเปรี้ยว” มันก็อาจจะไม่ตรงสักเท่าไหร่ เพราะหนูมองว่ามันเป็นเรื่องของรสนิยม เป็นสิ่งที่เราชอบ รู้สึกว่าใส่อันนี้ออกมาแล้ว ฉันชอบตัวเองในแบบนี้

และเราก็ใส่ถูกกาลเทศะด้วย คือไปออกกำลังกายก็ใส่ชุดออกกำลังกาย ไปทะเลก็ใส่บิกินี นั่นคือสิ่งที่มันถูกต้องแล้วในมุมมองของหนูนะคะ (หัวเราะ)

แต่อาจจะมีภาพที่ออกมาแล้วดูเหมือนเราใส่บิกินีเยอะหรือเปล่า ซึ่งคงมาจากการที่หนูไปทะเลบ่อยเกินไปหน่อย (ยิ้ม) แต่ถ้าไปดูจริงๆ ภาพบิกินีหนูก็ใส่อยู่ที่ทะเลนะ หรืออย่างมาทำงาน หนูก็แต่งตัวแบบนี้ (ผายมือให้ดูเครื่องแต่งกายในชุดเรียบสีดำ ที่สวมอยู่ขณะนี้)

และจริงๆ แล้ว หนูก็มองว่าคนเราไม่ควรตัดสินใครจากภายนอก ไม่ควรตัดสินใครจากการแต่งตัว ภาพลักษณ์มันไม่ได้บอกทุกอย่าง คือเราดูว่าคนนั้นทำตัวถูกกาลเทศะไหมดีกว่า และหนูก็คิดว่าตัวเองทำตัวถูกกาลเทศะนะ ก็เลยไม่ได้คิดว่ามันควรจะเป็นเรื่องที่มาวิจารณ์กัน



สวยแซ่บ-หุ่นเฟิร์ม สะท้อน “วินัย” ในตัวเอง

คนเราจะชอบบอกว่าให้แบ่งเวลาในการทำงาน แบ่งเวลาในการออกกำลังกาย การกิน การเที่ยว ฯลฯ แต่หนูคิดว่าการที่เราเข้ามามีความสนใจทางด้านการเมือง เราอยากจะทำการเมือง

ฉะนั้น ทุกอย่างสำหรับหนู ไม่ว่าหนูจะทำอะไร หนูจะมุ่งมั่นและจริงจังกับมัน และทุกอย่างจะกลายเป็นงานหมด หรืออย่างการออกกำลังกาย หนูอยากได้หุ่นที่ดี อยากมีสุขภาพที่ดี เพราะตอนเด็กๆ หนูเป็นหอบหืด ดังนั้น ถ้าหนูทำงาน 8 โมง แต่อยากจะวิ่ง หนูก็จะตื่นตั้งแต่ตี 5 เพราะต้องเผื่อเวลาวิ่ง 1 ชั่วโมง เวลาอาบน้ำแต่งตัวอีก ก่อนจะออกมาทำงานได้

หรือถ้าวันไหนหนูทำงานถึงตอน 2 ทุ่ม หนูก็อาจจะวิ่งตอน 2 ทุ่มครึ่ง เสร็จ 3 ทุ่ม ถามว่า balance เวลายังไง ทุกอย่างมันอยู่ที่เราจัดตารางเวลามากกว่า ถ้าเราอยากจะได้สิ่งที่เราต้องการแบบนี้ เราก็จัดตารางเป็น plan สิภายใน 1 อาทิตย์ว่า ทำยังไงให้เราทำได้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แบบนี้ๆ นะ โดยที่เราไม่ต้องพลาดอะไรสักอย่างที่ไม่อยากพลาด

หนูไม่ได้รู้สึกว่าต้อง “แบ่งเวลา” แต่รู้สึกว่าต้อง “จัดเวลา” ต้องรู้จัก priority ว่าสิ่งไหนสำคัญสำหรับเรา ให้เรื่องงานมาก่อน แล้วเราก็มาดูว่าจะเลื่อนเวลาออกกำลังกายไปไว้ตรงไหนได้บ้าง

ก็พยายามจัดเวลาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ เพราะเมื่อก่อนหนูปวดหลัง พอไปเล่น weight training มันก็ช่วยได้ รุ่นพี่ที่เป็น trainer เขาก็ช่วยให้เราหายปวดหลังได้แล้วค่ะตอนนี้ หนูเชื่อว่าเวลาที่เราจะออกไปทำงาน ร่างกายเรา สุขภาพเรามันต้องพร้อมก่อน เพราะถ้าไม่พร้อม เราก็จะทำในสิ่งที่ต้องการออกมาได้ไม่ดี



ส่วนตัวจะคอยดูด้วยค่ะว่างานช่วงนั้นเป็นแบบไหน ถ้าเป็นงานที่มีความเครียดมาก เรานั่งอยู่ตลอด หรือต้องใช้คอมพ์ตลอด ก็อาจจะไปเล่น “พิลาทิส (Pilates)” เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ได้รู้สึกว่าฉันพร้อมแล้วในวันต่อไปที่จะไปทำงาน

ไม่ได้กำหนดตายตัวว่า ต้องออกกำลังกายกี่วันต่ออาทิตย์ แต่คิดว่าทำยังไงให้ร่างกายเราได้ผลดีจากการออกกำลังกายมากที่สุด เพื่อที่จะสามารถไปทำงานต่อได้ เพราะถ้าร่างกายไม่พร้อม ไปทำงานก็ไม่ productive

แต่ก็ต้องยอมรับค่ะว่า จะทำอย่างนี้ได้ บางทีเราก็ต้องมีวินัยด้วย เพราะบางครั้งหนูก็รู้สึกเหนื่อยนะ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นไปออกกำลังกายตลอดเวลา แต่ถ้าเราจัด priority ไว้แล้ว และบอกตัวเองว่าเราต้องมีวินัย พอถึงเวลาออกแล้ว ไปออก แล้วหลังจากทำไป เราก็จะรู้สึกดีมาก และขอบคุณตัวเองมากๆ



อย่างเช่น หนูวิ่งตี 5 วิ่งเสร็จ 6 โมง อาบน้ำ แต่งตัวไปทำงาน 8 โมง เราทำงานเช้านะคะ แต่เราก็สดใส และรู้สึกสดใสแบบนั้นไปทั้งวัน

หนูคิดว่าคนเราเนี่ย ก่อนที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จได้ เราต้องมี passion เราต้องมีเป้าหมาย พอรู้เป้าหมายและเราชอบมันจริงๆ เราต้องการมันจริงๆ สิ่งที่ตามมาคือวินัย เราเซตตาราง เรามีวินัย เราก็ไปถึงเป้าหมายได้

ถ้าเทียบกับเรื่องการใช้ชีวิตหรือวิธีคิดของหนูแล้ว อย่างการมาทำงานตรงนี้ หนูก็บอกว่าหนูมีเป้าหมายในการทำงานตรงนี้และหนูก็ต้องใจ ฉะนั้น ไม่ว่าจะยังไง หนูก็จะพยายามหาวิธีที่จะสร้างวินัยให้ตัวเอง ให้ไปถึงเป้าหมายตรงนั้นให้ได้



เจาะช่องโหว่ที่ “รัฐบาลลุงตู่” ให้ไม่ได้!!


เราจะไม่สามารถตัดสินอะไรในรัฐบาลนี้ได้เลย เพราะว่าเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ยิ้ม) หนูมองว่าการบริหารงานของรัฐบาลเก่าที่ผ่านมา 5 ปี เป็นอีกส่วนนึง แต่ส่วนที่หนูโฟกัสคือสิ่งใหม่ที่เราจะสามารถเข้าไปทำให้ประชาชนได้มากกว่า

จากนโยบายที่พวกเรามีประสบการณ์ แล้วก็มีการศึกษาอย่างดีว่าอะไรที่จะสามารถตอบโจทย์ แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความขัดแย้ง วิกฤตศรัทธาของประชาชนได้ หนูมั่นใจว่าประชาธิปัตย์น่าจะอุดช่องโหว่ต่างๆ ได้ แล้วก็ตอบโจทย์ในทุกๆ อย่าง

อย่างนโยบายเร่งด่วนที่เราจะทำก็คือ “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” ค่ะ เน้นนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ, การศึกษา และการรักษาพยาบาล

ด้านเศรษฐกิจเราจะมีการประกันรายได้ขั้นต่ำให้ 120,000 บาทต่อปี, การรักษาพยาบาลมีให้ฟรีโดยไม่ต้องใช้บัตรอะไรเลย ใช้แค่บัตรประชาชน หมายความว่าเกิดปุ๊บ ทุกคนมีสิทธิรับเงินแสน ก็จะเป็นสิ่งที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนได้ก่อน ถ้าถามว่าในระยะสั้นเราจะทำอะไร ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล



ถ้าให้พูดถึงปัญหาเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5” หนูมองว่าเป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลควรจัดการให้ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการก่อสร้าง หรือสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5 ทุกอย่าง ควรจะควบคุมให้ลดลง โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นจากการก่อสร้างที่มีมากเกินไปในกรุงเทพฯ

พอเราได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วเนี่ย เราสามารถรับฟังเสียงจากประชาชนได้ไหม สามารถจำกัดได้ไหมว่าบริเวณไหนมีเท่าไหร่ ในเรื่องของการก่อสร้างตึก-อาคาร-คอนโดต่างๆ ให้อยู่ในพื้นฐานของความพอดี เพื่อจะไม่ก่อ PM 2.5 แล้วเราต้องใส่หน้ากากกันอีก อย่างน้อยๆ ก็คิดว่าถ้าสามารถเป็นรัฐบาลได้ เราคงไม่ต้องรอให้ถึงขั้นฉีดน้ำค่ะ เราคงจะแก้ปัญหาโดยการป้องกันก่อน

หรืออย่างนโยบายเรื่อง “แอปฯ เรียกรถ” หนูก็มองว่าจำเป็นที่จะทำให้ถูกกฎหมายค่ะ เพราะอะไรที่สามารถสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนได้ และประชาชนมีสิทธิ มีทางเลือกในการที่จะใช้ หนูมองว่ามันเป็นผลดี

แต่ถามว่าควรจะดำเนินการยังไง ต้องให้รถที่มาเข้าร่วมเหล่านั้นเสียภาษีไหม ก็คงต้องเสียอยู่แล้ว แต่เราก็จะมาฟังเสียงของประชาชนอีกทีนึงว่า สมควรจะให้เป็นในทิศทางไหนที่ประชาชนจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด

เรายึดเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ค่ะ ตามนโยบายพรรคเลย “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” ฉะนั้น ถึงนโยบายนี้อาจจะถูกมองว่าไปกระทบฐานเสียงของแท็กซี่ แต่เรามองเสียงคนส่วนใหญ่เป็นหลักค่ะ เพื่อให้ประชาชนได้ผลประโยชน์มากที่สุด






สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @ideasuchada23
ขอบคุณสถานที่: ร้านกาแฟ “Blue Cloud” (สำนักงานใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์)



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น