ดรามาร้อนแรง! เมื่อทางเทสโก้ โลตัสประกาศยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุผัก - ผลไม้ อ้างเพื่อช่วยลดขยะบนโลก กลุ่มแม่บ้านผวาไม่เห็นด้วยกลัวถูกเอาเปรียบ ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ไม่ต้องกลัว ถ้าเป็นอาหารที่ขออนุญาตกับทาง อย.จะยกเลิกไม่ได้!!
ยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุ เพราะช่วยโลก!?
ย้อนแย้งสุดๆ หลังจาก เทสโก้ โลตัส ประกาศยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ผัก และผลไม้ เพราะตั้งเป้าจะช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวดังกล่าวเป็นประเด็นออกไป ในด้านโซเชียลฯ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกตีพิมพ์ และตั้งข้อสงสัยไว้ว่า ที่ยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุ จะช่วยลดการทิ้งอาหารเกินความจำเป็นนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง จริงๆ แล้วจะเอาผักที่ขายไม่ออกมาวางขายแทนมากกว่า
“แต่ควรยังพิมพ์วันที่ผลิต หรือนำออกจำหน่ายไว้ จะซื้อหรือไม่ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินเอง”
“แล้วจะรู้ได้ไง ว่ากินได้มั้ย”
“ประกาศที่จะขาดความรับผิดชอบ”
“อ้าวอย่างนี้ซื้อไปก็ขาดทุนสิ ไม่รู้ว่าของสดไม่สดอายุกี่วัน กินแล้วท้องร่วงหรือเปล่า”
“อ้างเหตุผลเพื่อให้ตัวเองดูดี ที่แท้จะเอาของเหี่ยวมาขายต่อ สันดานพ่อค้า เผยไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภค”
“ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เป็นการลักไก่เอาของคุณภาพดีถึงต่ำมาขายในราคาปกติ ซี่งราคาก็สูงกว่าท้องตลาดอยู่แล้ว ปัจจุบันคุณก็เอาของใกล้หมดอายุมาลดราคาขายตามสภาพ ขึ้นอยู่พิจารณาของผู้ซื้อ บางครั้้งถูกแต่กินไม่ได้ก็มี ยิ่งถ้าไม่มีวันหมดอายุ คงไม่ซื้อของที่นี่แล้ว ถ้าไม่อยากทิ้งของควรจะบริจาคให้มูลนิธิหรือผู้ยากไร้ ได้ช่วยเหลือสังคม ”
ไม่เพียงแค่นั้นทางด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาแสดงถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊ก“Saree Aongsomwang” เช่นกัน โดยให้ความเห็นว่าการยกเลิกวันหมดอายุไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
“ยกเลิกวันหมดอายุไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ทางออกเรื่องทิ้งของสดควรมีทางออก ในฝรั่งเศสเขาบังคับห้างไม่ให้ทิ้งอาหาร แต่บ้านเราบังคับให้ผู้บริโภคซื้อ”
จากการตรวจสอบพบว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ“กินได้ไม่ทิ้งกัน” ซึ่งประกาศว่าจะยกเลิกระบุวันหมดอายุ บนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สด 251 รายการ เพื่อช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร หลังผลการวิจัยพบว่าผู้บริโภค 84% มักทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ เพียงเพราะวันหมดอายุที่ระบุบนฉลากและบรรจุภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ด้าน สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบริษัทเทสโก้ โลตัส ได้ชี้แจงถึงการเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้ไว้ว่า ทางกลุ่มเทสโก้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มภายในปีพ.ศ.2573
สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ(United Nations SustainableDevelopment Goals) และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดขยะคือ การสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์
"หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ในระดับครัวเรือนคือ ความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์
โดยจากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้บริโภค 84% มักจะทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานเพียงเพราะ วันหมดอายุที่ระบุเอาไว้ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถช่วยลดการทิ้งอาหาร โดยไม่จำเป็นของผู้บริโภคได้คือการระบุวันหมดอายุของสินค้าที่เข้าใจง่าย
และสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสำหรับสินค้าประเภทของสด เช่น ผักและผลไม้ ผู้บริโภคมักจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินว่า สินค้ายังสามารถรับประทานได้หรือไม่ จากการพิจารณารูปลักษณ์ภายนอกผ่านการมองด้วยสายตา จับและดมกลิ่นฉะนั้นวันหมดอายุบนสินค้าเหล่านี้ จึงไม่มีความจำเป็น และอาจทำให้ผู้บริโภคทิ้งสินค้าทั้งๆ ที่ยังสามารถรับประทานได้"
ผิดกฎหมาย ยกเลิกการติดป้ายหมดอายุไม่ได้!!
“ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็เห็นด้วยนะครับ แต่ถ้ามายกเลิกในอาหารที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมากผมไม่เห็นด้วย”
รังสรรค์ วงษ์บุญหนัก เภสัชกร และหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรปราการได้วิเคราะห์กรณีการยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุบนผักและผลไม้ เอาไว้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่สามารถทำได้หากรายการอาหารดังกล่าวอยู่ภายใต้การคุ้มครองกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
“อย่างน้อยที่สุดวันหมดอายุก็เป็นหลักให้ผู้บริโภคให้รู้ว่า ควรจะกิน หรือไม่ควรกิน มันก็เป็นมาตรฐานที่ควรจะเป็นแต่ถ้าเขายกอ้างในเรื่องของการรักษ์โลก และการที่ทำให้สูญเสียไป ผมว่าอันนั้นก็เห็นด้วยแต่ต้องทำเป็นบางกลุ่ม
ไม่ใช่ตัดสินใจยกเลิกมา 500 รายการอย่างนี้ไม่ใช่ เขาจะต้องยกเลิกเหมือนต่างประเทศเฉพาะบางตัวที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเพราะถ้าเขาทำแบบนี้ภายหลังเขาจะต้องโดนกฎหมาย และทางด้านผู้บริโภคเองก็จะไม่มีความเชื่อมั่นทั้ง 2 ส่วนก็ทำให้สะท้อนกลับมาทำให้นโยบายของเขาต้องมีกลไกเหมือนกัน
ถามว่าเห็นด้วยไหม คือบางตัวเห็นด้วย อย่างเช่นส้มทั้งลูก และคะน้าทั้งต้น เรามองออก สดหรือไม่สด แต่เขาเอาตรงนี้มาเพื่อที่จะลดราคาตามวันอย่างเช่น 3 วันไปแล้วลดราคาให้แก่ผู้บริโภคก็ถือว่ายังโอเค แต่ถ้าสมมุติขายแล้วเอาเปรียบผู้บริโภค ผมไม่เห็นด้วย
ถ้าเกิดเขาจะยกเลิกตามนโยบายของบริษัทแม่เขากำหนด เขาสามารถทำได้ในกลุ่มอาหารทั่วไปเท่านั้น ถ้าเป็นอาหารที่มาขออนุญาตกับทาง อย.จะยกเลิกไม่ได้อย่างเช่นส้ม ถ้านำมาใส่ถุงและขายหากไม่มีวันหมดอายุแบบนี้ไม่เป็นไร
แต่หากเป็นขนมปังมาขออนุญาตกับทาง อย.แล้ว ทาง อย.มีเลขให้ถ้ามีเลข 13ตัวแบบนี้ก็ต้องปฏิบัติตามทุกประการกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องของฉลากทุกตัวที่มีเลข อย.จะต้องมีวันหมดอายุแต่ถ้าตัวไหนไม่มีเลข อย.อันนั้นไม่มีได้”
อย่างไรก็ดี หากมองถึงอันตรายของการกินอาหารที่หมดอายุแล้วนั้น กลุ่มผักและผลไม้ถือว่า เป็นกลุ่มที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาว่าสิ่งที่เรากำลังจะรับประทานเข้าไปนั้นเหมาะสมหรือเปล่าที่จะรับประทานเข้าไป
“ถ้าเป็นผักผลไม้ทั่วไปเราสามารถดูได้ อย่างเช่นผักจะเหี่ยว สีซีดดูไม่สดถ้ามีเชื้อราเกิดขึ้นเราก็จะเห็นว่ามันมีเชื้อราเกิดขึ้นอย่างผลไม้พอเราทิ้งเอาไว้มันจะเริ่มเหี่ยวลงแบบนี้หมายถึงมันจะไม่สดเหมือนใหม่แต่ถ้าพูดถึงอันตรายกลุ่มนี้ดีตรงที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตา
ส่วนมากวันหมดอายุมันก็ไม่บอกอะไรมาก เพราะว่าวันหมดอายุมันสัมพันธ์กับวัตถุกันเสียด้วย สมมุติเขาไม่ใส่วัตถุกันเสียเลยมันจะอยู่ได้ 3 วัน แต่พอใส่วัตถุกันเสียเวลาจะกระโดดไป 7-14 วันได้เลย ตรงนี้ก็เป็นการคงสภาพแต่เราต้องกินวัตถุกันเสียนั้นเยอะขึ้นก็เป็นอันตรายอีกแบบหนึ่ง”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารยังทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ผลกระทบต่อประชาชนในกรณีนี้มีไม่มากแต่ถ้าสินค้าตัวไหนมีความเสี่ยงต่อประชาชนสูงกรณีนี้ทาง อย.บังคับให้ออกเลข อย.และต้องมีวันหมดอายุระบุอย่างชัดเจน
“ถ้าเป็นสินค้าเกษตรทั่วไป ปกติวันหมดอายุเราสามารถดูลักษณะกายภาพภายนอกได้อย่างเช่น ผักคะน้า คือลักษณะจะเหี่ยวอยู่ในสภาพที่มีคุณภาพลดลงไป
อย่างขนมปังมีการบังคับ เพราะว่าขนมปังมีโอกาสที่จะเกิดเชื้อราได้ มีเชื่อแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ อย.ก็จะบังคับให้ขอเลข อย.หากขอเลขทาง อย.จะมีการบังคับว่า ถ้าหากคุณใส่วัตถุกันเสียคุณจะต้องเขียนเลยว่าใส่วัตถุกันเสีย บนฉลากจะต้องเขียนด้วยว่าวันหมดอายุวันที่เท่าไหร่ ถ้าไม่ใส่ก็ต้องระบุด้วยว่าไม่ใส่ และต้องมีวันหมดอายุเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคทราบ เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภคซึ่งผมคิดว่าถ้ามีเลข อย.จะต้องมีวันหมดอายุ
แต่ถ้าเกิดเป็นสินค้าทั่วไป อันนี้ก็เป็นความสมัครใจของเขาที่ดำเนินการได้ แต่ความเสี่ยงคือขึ้นอยู่กับตามประเภทอาหารที่ขอยากอยู่แล้วระดับหนึ่ง อย่างเช่นกรณีของเครื่องดื่มที่เป็นขวดทั้งหลาย แบบนี้ต้องบังคับเลย ถ้าไม่ขอเลข อย.เท่ากับว่าผิดกฎหมายตามที่โลตัสผลิต ไม่ว่าจะเป็นเป็นขนมปังมีไส้อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขาไม่ได้มาขอเลข อย.ก็คือผิดกฎหมายถ้าขอเลข อย.แล้วแต่ไม่ใส่เลขให้ครบถ้วนก็ถือว่าผิดเหมือนกัน
แต่ตัวที่เขายกตัวอย่างมาจะเป็นพวกผักผลไม้ ทั้งผล หรือทั้งต้นที่ไม่มีการตัดแต่ง ถ้ากรณีนี้ถือว่าเป็นความสมัครใจของเขาเอง แต่ถ้าเป็นตัวที่ตัดแต่งจะถูกบังคับ ซึ่งตัวที่ถูกบังคับจะต้องเข้ามาขออนุญาตเมื่อได้เลข อย.ได้เลขก็ต้องมีการแสดงฉลากในทุกบรรจุภัณฑ์ ต้องมีเลขหมดอายุถ้าไม่มีเลขหมดอายุก็คือว่า ไม่มีการคุ้มครองประชาชนประชาชนเราจะไม่ทราบ”
ข่าวโดย : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **