นี่ “นายก” หรือ “ศิลปิน” แต่งเพลงเก่งเหลือเกิน ล่าสุดมีซิงเกิลที่ 8 ปล่อยออกมาอีก คอดนตรีขอลุกขึ้นมาวิจารณ์ผลงานการประพันธ์ บอกเลยจาก 8 มีดีแค่ 1 แต่ถึงยังไง หากวางขายจริงต้องเจ๊งแน่!
กูรูฟัน เจ๊งแน่! ถ้าวางตลาดจริง
5 ปี 8 ซิงเกิล ลุงตู่กำลังทำอะไรอยู่? ประชาชนเรียกร้องอยากเห็นการบริหารประเทศที่ดีขึ้น แต่คนไทยก็ได้แต่นั่งฟังเพลงของลุงไปเรื่อย แล้วไหนล่ะ “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโลกโซเชียลฯ กล่าวถึงลุงตู่ในด้านลบเสียมากกว่า โดยส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไว้ว่า แทนที่จะเอาเวลาไปบริหารประเทศ แต่กับนั่งแต่งเพลงได้ถึง 8 เพลง งั้นก็ไปแต่งเพลงไม่ต้องมาเป็นนายกแล้ว
“ว่างเหรอลุง มัวแต่มาแต่งเพลงเนี่ย ทำไมไม่เอาเวลาไปทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง”
“หมดวาระเมื่อไร ค่ายเพลงติดต่อไว้เลย ครูสลาก็ครูสลาเถอะ เจอครูยุทธเข้าไปดิสไลค์เยอะทุกเพลง555”
ขัดกับบางกลุ่มที่สนับสนุนลุงตู่ต่างให้กำลังใจ และโต้กลับฝ่ายค้านว่า ไม่เห็นผลงานการทำความดีของลุงตู่บ้างหรือ ลุงทำประโยชน์ให้ชาติตั้งมากมาย และยังชื่นชมบทเพลงอีกต่างหาก
“เพลงไพเราะ ขอบคุณครับ”
“ลุงตู่สุดยอด”
ทั้งนี้กระแสสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บทเพลงของลุงตู่หนักๆ เมื่อปี 61 โดยทางทีมข่าว MGR Live ได้สำรวจการกด Like และกด Dislike บทเพลงทั้ง 8 ซิงเกิลของลุงตู่ผ่าน Youtube พบว่าเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” (2557), เพลง “เพราะเธอคือ...ประเทศไทย” (2558), เพลง “ความหวังความศรัทธา” (2559) และเพลง “สะพาน” (2560) เป็นบทเพลงที่สังคมในช่อง Youtube กด Like มากถึง 90% กด Dislike เพียง 10%
แต่ซิงเกิลให้หลัง ในโลกโซเชียลฯ เริ่ม กด Dislike มากกว่า Like โดยเฉพาะเพลงใหม่ล่าสุด “วันใหม่” (2562) คนไม่ชอบหลักหมื่น แต่ไลค์หลักร้อย มันเกิดอะไรขึ้น?
ทางทีมข่าวจึงได้ติดต่อ มหาสมุทร บุปผา แอดมินเพจ “ดนตรีสาร Music Magazine” กูรูชำนาญด้านดนตรีกว่า 15 ปี เพื่อให้ช่วยวิจารณ์ 7 ซิงเกิลแรก ว่ามีความไพเราะสอดคล้องกับความงามด้านวรรณศิลป์หรือไม่
โดยเริ่มจากวิจารณ์ด้านดนตรี 7 ซิงเกิล ภาพรวมทั้งหมดไม่มีความโดดเด่น ไม่ทันสมัย ไม่น่าจดจำ เรียบง่าย ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนรุ่นใหม่สักเท่าไหร่ พบความไม่กลมกลืนกันระหว่าง คำร้อง เมโลดี้ ดนตรี และไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในหน้าเอของอัลบั้มได้
“คนทำดนตรีได้หยุดตัวเองไว้ในยุค 80 และห้องคาราโอเกะของเขากันแน่ แต่ก็ดีแล้วแหละ ยังพอจะน่าฟังกว่า แรพ Thailand 4.0 แบบนั้นเรียกพยายามมากเกินไป”
ในส่วนของภาคประพันธ์คำร้อง กูรูคนเดิมได้วิจารณ์ว่า เพลงทั้งหมดยังคงเอกลักษณ์ส่วนตัวของลุงตู่ไว้ชัดเจน ความตรงไปตรงมา ไร้ซึ่งการเปรียบเปรยซับซ้อน สะท้อนตัวตนของอดีตทหารที่กลายเป็นนักการเมืองแล้ว และเนื้อร้องของแต่ละเพลงค่อนข้างไม่สมเหตุสมผลกันหลายจุด
“อย่างเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ท่อนที่ร้องว่าเพื่อนำรักกลับมา ต้องใช้เวลาเท่าไร โปรดจงรอได้ไหม จะข้ามผ่านความบาดหมาง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ท่อนก่อนหน้า ยังไม่รู้เลยว่า การนำรักกลับมาต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน แต่ท่อนต่อมาดันสัญญาซะแล้วว่า จะใช้เวลาอีกไม่นาน”
สรุปฝีมือการแต่งเพลงของลุงตู่ ที่กูรูได้วิจารณ์ไว้ว่า หากจัดอันดับเพลงลงอัลบั้ม เพลงจะอยู่ตั้งแต่หน้าบีหรือต่ำกว่าหน้าบีลงไปเสียมากกว่า ส่วนเพลงที่จะอยู่หน้าเอของอัลบั้มแรก มีเพียงเพลงเดียวคือเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” เป็นเพลงที่คนไทยจำได้มากที่สุด พอๆ กับเพลง “คืนความสุขให้ประชาชน” ที่คนไทยจำเพลงเหล่านี้ได้ เกิดจากที่ผู้นำของประเทศเล่นเปิดให้ฟังทุกวัน เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน
“เพลงของพลเอกประยุทธ์ที่คนจำได้มากที่สุด ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความดีของเมโลดี้ หรืออานิสงส์ของการกระหน่ำเปิดกรอกหูผู้ฟัง”
อย่างไรก็ตาม กูรูคนเดิมบอกว่าเพลงของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีแต่เพลงแย่ๆ แต่ยังมีซิงเกิลที่ดีที่สุด และติดหูคนไทยคือเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” ถ้าเปรียบเทียบกับทั้ง 7 เพลง พบว่าดนตรีของเพลงนี้ทำได้ดีที่สุด มีความกลมกลืนของ เสียงร้อง เมโลดี้ และดนตรี คำร้องเข้ากันดีกับลูกเล่นย้อนยุค พูดได้เต็มปากว่า มาถูกทางแล้ว จาก 7 ซิงเกิล มีดีเพียงซิงเกิลเดียว ถ้าลุงวางขายแผ่นคงเจ๊งแน่!
“โดยรวมแล้ว ทั้ง 7 เพลงของพลเอกประยุทธ์ หากวางขายจริงเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว อาจจะพอไปได้สักเดือนสองเดือน แต่ถ้าวางขายในยุคเดียวกันกับที่มีแผ่นแวมไพร์ หรือประเทืองคงจะขาดทุนไม่น้อยก็น้อยมาก”
ส่วนซิงเกิลใหม่ล่าสุด เพลง “วันใหม่” ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อไม่นานนี้ จากสายตาของ คีตา วารินบุรี ครูสอนดนตรีโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ผู้คร่ำหวอดด้านดนตรีมากว่า 20 ปี มองว่า พาร์ตดนตรีของเพลงนี้ไม่มีความน่าสนใจ ไร้เอกลักษณ์ ทั้งยังสามารถหาฟังได้ทั่วไปตามท้องตลาดด้วย ดังนั้น ถ้าปล่อยเพลงนี้ออกมาวางขาย ต้องไปไม่รอดแน่นอน
“เพลงนี้ขายไม่ได้แน่นอน เพราะดนตรีไม่มีจังหวะตรงไหนเด่นเลย เรียบไปหมด ความแปลกใหม่ของดนตรีไม่มีเลย เพลงมันเหมือนหุ่นยนต์ไม่มีชีวิตชีวา ดนตรีเดิมๆ ไม่น่าติดตาม ถ้าผมเอาตัวเองเข้าไปเป็นนักแต่งเพลงผมจะไม่ทำแบบนี้”
“วีรบุรุษ” ตัวตนที่แฝงในเพลง
หลายคนคงสงสัยอะไรทำให้ลุงตู่แต่งออกมาได้ถึง 8 ซิงเกิล? ทั้งที่โดนประชาชนรุมวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาแต่งอยู่ หรือว่าที่ทำเช่นนี้ลุงมีนัยยะอะไรบางอย่างแฝงอยู่ในบทเพลงที่ปล่อยออกมา
เรื่องนี้ผู้เชียวชาญด้านเพลงรายเดิมวิเคราะห์เอาไว้ว่า บทเพลงสามารถถ่ายทอดทัศนคติของนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้ดีที่สุด ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก และเป็นตัวตนของตัวเอง นายกฯตู่ มักจะแฝง ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ความหวังและความร่วมมือกันของชาติไทยไว้ในเพลง
“พยายามพูดเรื่องนามธรรม เช่น ความสุข ความเชื่อ ความหวัง และความศรัทธา เวลาผ่านมาก็ราว 3 ปี ความสุข ที่เคยสัญญาไว้ก็ไม่รู้ว่า คืนมาได้จริงไหม เวลาที่ขออีกไม่นาน ก็เริ่มจะไม่สั้นลง พลเอกประยุทธ์ พยายามเปรียบตัวเองให้ดูต้อยต่ำ ให้ประชาชนได้เหยียบย่ำซะบ้างแล้ว”
กูรูจะพาไปเจาะความหมายและที่มาของเพลงทั้ง 8 แบบเพลงต่อเพลง เพื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ในบทเพลง โดยเริ่มจากซิงเกิลแรก
ซิงเกิลที่ 1 เพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย 2557 หลังจากคณะ คสช.รัฐประหารโค่นรัฐบาล ได้ 3 อาทิตย์ ใช้เวลาแต่งเพียง 1 ชั่วโมง ความหมายของเพลงเป็นคำมั่นสัญญาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะพาประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขให้ได้
“จะข้ามผ่านความบาดหมาง ถึงปัจจุบัน เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้ประพันธ์เพลง และคณะได้สร้างความบาดหมางเพิ่มขึ้น แทนที่จะก้าวข้ามพ้นผ่าน”
ซิงเกิลที่ 2 เพลง “เพราะเธอคือ...ประเทศไทย” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 ท่านประยุทธ์แต่งเพลงนี้เป็นของขวัญส่วนตัวที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน คำพูดลุงตู่ที่แต่งเพลงนี้ “เพื่อสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เนื้อเพลงที่มีคำว่า ฉัน นั้น ไม่ใช่ ฉันคนเดียว แต่หมายถึงสื่อมวลชนด้วย” จากกูรูเพลงนี้ลุงตู่วางบทตัวเองเป็น อัศวินม้าขาว ที่มาแก้ปัญหา แต่ปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวคนคนเดียว
“ถ้าจะบอกว่าเพลง คืนความสุขฯ เป็นเพลงที่คำร้องวางตัวพลเอกประยุทธ์ ไว้ในบทบาท อัศวินม้าขาว ที่มาแก้ปัญหา เพลงนี้คงคล้ายจะสื่อสารใหม่ว่า ตู่รู้แเล้วนะ ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยตัวคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว”
ซิงเกิลที่ 3 เพลง “ความหวังความศรัทธา” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2559 เพลงนี้แต่งเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือ ร่วมกันสร้างชาติไทย ปีนี้ลุงตู่อยู่ครบ 3 ปี และภาพลักษณ์ที่สื่อถ่ายทอดต่อสาธารณะของลุงไม่ค่อยน่ารัก ลุงจึงต้องเชื้อเชิญให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและร้องขอความหวังความศรัทธาให้กับตัวเอง
“ท่าทีโดยรวมของเพลงความหวังความศรัทธา ยังคงเป็นเหมือนเพลง เพราะเธอคือ…ประเทศไทย ยังพยายามเชื้อเชิญให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ยังคงร้องขอความหวังความศรัทธาให้กับตัวเองอยู่ในที”
ซิงเกิลที่ 4 เพลง “สะพาน” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2560 เพลงนี้นายกแต่งเพื่อให้กำลังใจคณะรัฐมนตรีเพื่อก้าวข้ามไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน น่าประหลาดใจยิ่งนักที่ไม่พูดถึงตัวเองและประชาชน นายกคงเห็น ครม. ทำงานหนักล่ะมั้ง แต่ด้านกูรูเห็นว่านายกฯ พยายามเปรียบตัวเองให้ดูต้อยต่ำ ให้ประชาชนได้เหยียบย่ำได้
“อาจจะนานที่สู้เพื่อเธอ เพื่อแผ่นดินที่แสนรักมั่น” เริ่มต้นเพลง ออกตัวเลยว่า นานแล้ว สงสัยกลัวโดนย้อนไปหาเพลงแรกที่ขอเวลาแค่ไม่นาน แต่ประโยคต่อมาดั๊นบอกว่า “นานแค่ไหนรู้ไว้ไม่หวั่น หัวใจ” นึกว่าจะขอเวลาเพิ่ม ที่ไหนได้ขอประชาชนเข้าใจความยากลำบากในการคืนความสุข กลับเอาดีเข้าตัวซะงั้น เซ็งเลย”
ซิงเกิลที่ 5 เพลง “ใจเพชร” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 ปีที่แล้วแต่งเพลงให้ ครม.ปีนี้ก็แต่งเพลงเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคคลที่เสียสละทำความดี ทำประโยชน์เพื่อสังคม และประเทศชาติ และให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย กูรูบอกว่าลุงตู่ยังอยากเรียกร้อง ความเชื่อและการร่วมมือจากประชาชน
“ความเชื่อ ความดี ยังเป็นแก่นแกน ของเพลง ความร่วมมือ ยังเป็นสิ่งที่ลุงเรียกร้องจากเธอ ซึ่งเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เธอนั้นคือใคร ประชาชน คณะรัฐมนตรี ฝ่ายตรงข้าม หรืออาจารย์น้อง ภรรยาของพลเอกประยุทธ์เอง”
ซิงเกิลที่ 6 เพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย 2561 ซึ่งทำนองดันคล้ายกับละครดังในปีนี้ “บุพเพสันนิวาส” สาเหตุที่ลุงแต่งเพลงนี้ “ก็เพื่ออยากให้ทราบว่าเราตั้งใจทำเพื่อประเทศชาติ” ด้านกูรูมองว่านายกเริ่มเจออุปสรรคหรือศัตรูตัวจริงเข้าแล้ว จึงมีความรู้สึกอยากแต่งเพลงนี้ไว้ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองกำลังจะเริ่มขึ้น
ซิงเกิลที่ 7 เพลง “ในความทรงจำ” ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 ฝากไว้ให้ชาวไทยฟังเพื่อคิดถึงวันที่ยากลำบากมาด้วยกัน เนื้อหาที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก และเป็นตัวตนที่สุดของลุง ทำให้คนอยากเลือกตั้งสบายใจ เพราะลุงตู่กำลังเรียกร้องให้ประชาชน “เลือกให้ถูก”
“อยากชี้ให้ได้สังเกตอีกเรื่องคือ ในทุกเพลงของพลเอกประยุทธ์ ท่านได้วางตำแหน่งของตัวท่านเองในฐานะ คนแก้ปัญหา ท่านไม่เคยนับรวมตัวเองเป็นปัญหา ซ้ำยังเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกับท่านและมีศรัทธามั่นคงในแนวทางแก้ปัญหาของท่าน”
และสุดท้าย มาถึงผลงานชิ้นใหม่ล่าสุด ซิงเกิลที่ 8 “วันใหม่” ที่เพิ่งคลอดออกมาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 เป็นเพลงอำลาก่อนลงจากเก้าอี้นายกฯ หลังจาก กกต. ให้สิทธิลุงตู่ลงไปหาเสียงอย่างเต็มตัว
ทันทีที่ปล่อยเพลงออกมา ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือเพจ “การเมืองไทย ในกะลา” ที่มียอดผู้ติดตามเกือบ 700,000 คน ที่ได้ออกมาโพสต์ภาพศพนอนตาย แล้วฟื้นตื่นขึ้นมา และมีแคปชันประกอบอย่างหยิกแกมหยอกว่า “เมื่อคุณตายแล้ว แต่ก็ยังต้องฟื้นขึ้นมา Dislike เพลงเพลงนึง” ซึ่งเรียกเสียงตอบรับจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม
จากเพจ “การเมืองไทย ในกะลา” ขอส่งต่อให้กับซิงเกิลที่ 8 ของลุงตู่
ทางทีมข่าวจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมไปยังแอดมินเพจดังกล่าว ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมากว่า 10 ปี ได้ฝากบทวิจารณ์เพลง ผ่านกลอนสุภาพอย่างมีชั้นเชิงไว้ว่า ประไทยควรจะมีวันใหม่ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ไม่ใช่อ้างแต่ความหวังจะพาไทยก้าวหน้า แต่ลุงเองกลับเป็นคนทำลาย ส่วนทำนองเพลงก็เป็นได้แค่เพลง หันมาดูผลงานการพัฒนาบ้านเมืองจะดีกว่า
“บอกวันใหม่ พูดอย่างดี วิธีเก่าที่สัญญา ไว้กับเขา ยังเสียหาย
อ้างความหวัง เข้ามาพัง มาทำลายควรจะมี วันใหม่ เมื่อห้าปี
ถ้าไม่ปล้น อำนาจ ประกาศแย่งอ้างเหลืองแดง อ้างแผ่นดิน ไม่สิ้นสี
คงจะได้ วันใหม่ ก่อนกลีคงจะไม่ มีเพลงนี้ ให้รำคาญ
สัมผัสนอก สัมผัสใน ไร้สัมผัสระหว่างบรรทัด ระหว่างบท ไม่ประสาน
คงจะยาก เกินใจ จะวิจารณ์ดูผลงาน ปากท้อง คงฟ้องเองฯ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **