xs
xsm
sm
md
lg

ดรามาทะเลเดือด! เปิบเมนู “ปลากระเบนพันธุ์หายาก” ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ควร!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โซเชียลฯระอุ เมื่อรายการ “มาสเตอร์เชฟ” นำ “ปลากระเบน” มาเป็นวัตถุดิบ คอมเมนต์ถล่มยับ “นี่มันกระเบนหายาก” ด้านรายการโร่ชี้แจง เป็นกระเบนค้างคาวหรืออีกชื่อปลายี่สน มีขายเกลื่อนตลาด รายการอื่นก็ใช้กัน ทั้งยังยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นหลัก ฟากนักวิชาการด้านทะเลเผย จะชื่อไหนก็อยู่กลุ่มเดียวกัน ติดสถานะอนุรักษ์ของทั้งโลก แม้กินได้ไม่ผิดกฎหมายไทยแต่ไม่ควร!

ซัดกันนัวเพราะ “ปลากระเบน”

“และวัตถุดิบสำหรับพวกคุณทั้ง 7 คนก็คือ ปลากระเบนครับ!!! วัตถุดิบชนิดนี้ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่เหมาะกับการกำจัดคู่แข่งเป็นอย่างดี เพราะปลากระเบนเป็นปลาที่มีเนื้อสัมผัสเฉพาะตัว หนังจะติดกับกระดูกอ่อน และเนื้อส่วนลำตัวค่อยข้างเหนียว ดังนั้นทุกคนควรใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะรังสรรค์เมนูปลากระเบนออกมาให้ดีที่สุด”


กลายเป็นประเด็นดรามาที่เรียกได้ว่าร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ อันเนื่องมาจากรายการ “มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย” รายการแข่งขันทำอาหารชื่อดัง ได้นำ “ปลากระเบน” ที่มีลายจุดสีขาวอยู่ทั่วตัว มาเป็นโจทย์วัตถุดิบให้ผู้เข้าแข่งขันทำกัน

แต่แล้ว...ทันทีที่ภาพของปลากระเบนนกจากรายการดังกล่าว ถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์ ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ในเรื่องของความเหมาะสม ในการนำสัตว์ทะเลที่นับวันยิ่งมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ อย่างปลากระเบนนกมาทำอาหารออกอากาศแบบนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องรายการออกมาชี้แจงให้ชัดเจน



รวมถึง “แนนซี่-นัยน์ภัค ภูมิภักดิ์” เจ้าของเพจ “Happy Nancy” หญิงสาวผู้หลงรักโลกใต้ท้องทะเลและการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า ตนเองในฐานะนักดำน้ำที่ดำน้ำมา 1,000 กว่า dives แต่มีโอกาสได้เห็น พบเจอปลากระเบนนกในน้ำ เพียงแค่ 5 dives ซึ่งแต่ละจุดที่เจอ คือสถานที่ที่ไปยากและราคาสูง และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มาก

“เพราะแนนซี่อยู่กับทะเล เห็นจริงๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด และทำเรื่องอนุรักษ์ ปลูกฝังจิตสำนึก ไม่ต้องพูดถึงข้อกฎหมายเลย เราเอาจิตสำนึกเช่น ไม่ทิ้งขยะ ลดการใช้หลอดพลาสติก ลดการใช้ถุงพลาสติก เลิกกินหูฉลาม เลิกล่าสัตว์ใหญ่ เป็นหูเป็นตา เราทำไปไม่เหนื่อย เราชอบ เรารักทะเล มันคือต้นกำเนิดชีวิต แต่ถ้าคุณไม่รัก ไม่หวงแหน ก็ตามสะดวก แต่ใครมารังแกเพื่อนเราใต้ทะเล เราก็ไม่ยอมนะ

ฝากถึงสื่อ ทุกสื่อ การปลูกฝังจิตสำนึกนั้นสำคัญ ควรมีกระบวนการต่างๆ ในการนำเสนอ ไม่ควรชุ่ย คิดก่อนเยอะๆ สัตว์ป่าหายากเลิกกินเถอะ ถึงไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้แปลว่าแ - กได้โว้ย”



แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ จำนวนกว่าครึ่ง มองว่า ปลากระเบนแบบนี้หาได้ตามท้องตลาดทั่วไป และทางรายการมีผู้เชี่ยวชาญด้วยวัตถุดิบในการทำอาหารที่ตระเวนชิมอาหารมาทั่วโลกอยู่หลายคน จึงไม่น่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ล่าสุด ทางผู้ผลิตรายการ “มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย” ได้ออกมาแถลง ยืนยัน ปลากระเบนที่ใช้ในการแข่งขัน คือ ปลากระเบนเนื้อดำ หรือปลายี่สน วัตถุดิบพื้นบ้านที่นำมาใช้ประกอบอาหารหลายเมนู ซึ่งเป็นปลาที่เคยนำมาประกอบรายการอาหารมาแล้วหลายช่อง และย้ำว่าไม่มีนโยบายนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบ จึงยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบทุกครั้ง ตามบรรทัดต่อจากนี้



“ในการนำเสนอวัตถุดิบปลากระเบน ในรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปลากระเบนดังกล่าวคือ ปลายี่สน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปลากระเบนเนื้อดำ หรือปลากระเบนค้างคาว ถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในหลากหลายเมนู อาทิ ปลายี่สนฟู ปลากระเบนดำแดดเดียว ต้มยำเนื้อปลากระเบนดำ และโดยเฉพาะปลากระเบนหวาน ซึ่งมีขายแพร่หลายตามท้องตลาด รวมทั้งใน Website Shopping Online ทั่วไป อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของอาหารไทย อาทิ ข้าวแช่โดยเป็นเครื่องข้าวแช่ที่เรียกว่า ปลายี่สนผัดหวาน ในปัจจุบันเมนูดังกล่าวยังติดอันดับ OTOP 5 ดาว ของจังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว ปลายี่สน หรือปลากระเบนเนื้อดำนี้ ได้ถูกนำเสนอในรายการอาหารทางโทรทัศน์หลากหลายช่องมาโดยตลอด รายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทยมิใช่รายการแรกที่นำเสนอวัตถุดิบชนิดนี้

ทางรายการฯ มีจุดยืนในการนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและให้ความรู้ด้านต่างๆ ในการประกอบอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ในการถ่ายทำแต่ละครั้งคือวัตถุดิบทั่วไปที่ใช้ในการประกอบอาหารจริงและหาซื้อได้ในท้องตลาด รายการฯ ไม่มีนโยบายในการนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ดังนั้นหากมีวัตถุดิบพิเศษ ทางรายการจึงยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบทุกครั้ง

สุดท้ายนี้ ทางรายการขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และจะนำข้อคิดต่างๆ ไปพัฒนารายการต่อไป
HELICONIA H GROUP ผู้ผลิตรายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย”



แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในโลกออนไลน์ยังได้มีการแชร์ภาพการสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน Line คาดว่าเป็นการพูดคุยกันระหว่าง ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือ คุณอิ๊งค์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการกับลูกสาว ที่ถามว่าเป็นปลากระเบนชนิดไหน ด้านคุณอิ๊งค์ก็ตอบว่า กระเบนนก เป็นกระเบนของไทยที่กินกันทั่วไป หาไม่ยากจ้ะ กระเบนนก หรือปลายี่สน หรือกระเบนค้างคาว ที่มหาชัย ท่าฉลอมเรียกว่า ปลายี่สน จะมีร้านที่ขายและคนมานั่งกินกันเหมือนปลาหมึกแห้ง จิ้มน้ำจิ้มเหมือนน้ำจิ้มปลาหมึก”

“กระเบนนก” โลกคุ้มครอง ไทยกินได้?!

“กระเบนนกมันเป็นชื่อเรียกของกลุ่มนี้มันมีหลายชนิด เพราะฉะนั้นมันเป็นกระเบนนกแน่ๆ ไม่ใช่จ้องม้อง ปลาวงอย่างที่เขาบอกกัน ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ ชนิดแรกพบในเมืองไทย คือ A.ocellatus อีกชนิดคือ A.narinari ไม่พบในเมืองไทย พบในแอตแลนติก 2 ชนิดนี้หน้าตาคล้ายกันมาก แต่ไม่ว่ามันจะเป็นกระเบนชนิดไหน มันมีสถานะอนุรักษ์อยู่ใน IUCN’s Red List

ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะว่า IUCN’s Red List ถือเป็นคัมภีร์ของการอนุรักษ์สัตว์ทั่วโลก มันแบ่งเป็นรายชื่อและสถานะของสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ทั่วโลก ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเล มีการพิจารณามาแล้วรอบด้านว่าหายากหรือหาง่าย โดนคุกคามขนาดไหน ซึ่งกระเบนทั้ง 2 ชนิดมีสถานะอยู่ใน Red List ที่มีปริมาณลดน้อยลงทั้งคู่”



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผู้ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเป็นคนแรกๆ หลังจากที่มีภาพของปลากระเบนในรายการถูกแชร์ออกมา อ.ธรณ์ ได้ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live ว่า ปลากระเบนนกมีหลายชนิด และยังไม่ใช่สัตว์คุ้มครองในไทย

“กระบวนการที่จะเสนอชื่อสัตว์สักตัวเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะสัตว์น้ำ มันไม่ใช่ง่ายเลย เราก็พยายามกันอยู่กว่าจะได้แต่ละตัวมันใช้เวลาหลายปี เอาง่ายๆ ว่าสัตว์สงวนยัง 3 ปีครึ่งยังไม่จบเลย เฉพาะฉะนั้นมันผิดกฎหมายเมืองไทยรึเปล่า ไม่ผิด เพราะมันยังไม่เป็นสัตว์คุ้มครองในประเทศไทย เพราะกระบวนการตามกฎหมายทำได้ยากมาก ต้องมองรอบด้าน

สำหรับกระเบนนกก็มีการพูดคุยกันครับเพราะผมเป็นคนพูดเอง แต่ก็ยังไม่มีการเสนอชื่อเป็นเรื่องเป็นราว เพราะต้องผ่านหลาย กรรมการนะครับ ต้องผ่านการพิจารณาจากกรมประมง , กรมทรัพยากรทางทะเล , กรมอุทยานฯ , ผู้เชี่ยวชาญ , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

จริงๆ สัตว์คุ้มครองในทะเลเมืองไทยเพิ่งโผล่มาชุดใหม่ ผมเพิ่งทำสำเร็จ 12 ตัว และ 1 ในนั้นคือปลาฉนาก ซึ่งสูญพันธุ์ไปนานแล้วแต่เพิ่งประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง แล้วมันเหลือให้คุ้มครองมั้ยก็ไม่เหลือแล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ มันเป็นสัตว์ที่ติดสถานะอนุรักษ์ของทั้งโลก แล้วก็มีปริมาณลงน้อยลงชัดเจน ดังนั้นคำถามก็คือ มีความจำเป็นถึงขั้นเอาสัตว์ที่ติดสถานะอนุรักษ์ทั้งโลกมากินมั้ย มันมีทางเลือกมากมาย ส่วนกระเบนชนิดอื่นก็ว่ากันไปเพราะมันไม่ได้ติดสถานะอนุรักษ์


ปลากระเบน วัตถุดิบหลักในรายการ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย

เมื่อถามถึงประเด็นภาพแชตไลน์ของคุณอิ๊งค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรายการ ที่บอกปลาชนิดนี้เป็น ปลากระเบนนก หรือปลายี่สนหรือปลากระเบนค้างคาวนั้น นักวิชาการด้านทะเลก็ได้ตอบว่า มีหลายชื่อแล้วแต่จะเรียกกัน

ไม่เพียงแค่นักวิชาการด้านทะเล ทางด้านของ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่าน ไทยพีบีเอสออนไลน์ ไว้ว่า การนำกระเบนนกมาทำอาหาร ไม่สามารถเอาผิดในแง่กฎหมายได้ แม้ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ของโลก แต่ในไทยยังไม่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครองในไทย และขอความร่วมมือจากประชาชนรวมถึงรายการอาหาร ว่าไม่ควรนำสัตว์ลักษณะนี้มาใช้ เพราะจะทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นอกจากนี้ อ.ธรณ์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลากระเบนนก และหากเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศก็อาจมีความผิดได้

“กระเบนนกมีเลี้ยงอยู่ในอะควาเรียมครับแต่ถ้าจับมาเสร็จแล้วเอามาเลี้ยงให้คนดู อาจจะมีออกลูกบ้าง แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงจนโตเป็นพ่อแม่ออกลูกใหม่ หรือไม่ได้เอามาขายในแง่ของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เท่าที่ผมเช็กมาก็ไม่เคยเจอขายกระเบนนกที่มาจากการเพาะเลี้ยง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเด็นการนำเข้ามาอันนี้น่าคิดครับ เพราะที่ผมโพสต์มีคนมาคอมเมนต์ว่า ใน พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร 2547 มีรายชื่อสัตว์ที่ห้ามนำเข้าซึ่งรวมกระเบนนกไว้หมดเลย เขาห้ามนำเข้าทั้งกลุ่ม ก็อยู่ที่ว่ารายการเอามาจากไหน”

สุดท้าย นักวิชาการด้านทะเล ได้ย้ำเตือนอีกครั้งถึงความสำคัญของกลุ่มปลากระเบนนก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีจำนวนน้อยลงทุกวัน แม้ใจประเทศไทยจะกินได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ควรกิน



“เพียงแต่ว่าผมจะชี้ให้เห็นว่ากลุ่มปลากระเบนนกมันเป็นสัตว์ที่ติดสถานะขององค์กรระดับโลก แล้วมันสมควรมั้ยที่จะนำมาประกอบอาหาร สัตว์หลายชนิดก็มีการกินกัน แต่ในมุมมองของผม มันเป็นรายการที่ออกทีวี ไม่อย่างนั้นเราจะรณรงค์หูฉลามกันทำไม ฉลามหลายชนิดที่เขารณรงค์กันอยู่ก็ไม่ใช่สัตว์คุ้มครองตามกฎหมายไทยครับ

ผมก็บอกในลักษณะเดียวกับการรณรงค์หูฉลาม มันเป็นสัตว์ที่ติดสถานะอนุรักษ์ ใครจะกินไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ผมก็บอกในมุมนักอนุรักษ์ทางทะเลว่าโลกอยากคุ้มครองมัน ส่วนตัวผมก็จะบอกว่ามันไม่ควรทำ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ในฐานะนักอนุรักษ์ทะเล ผมก็คงทำไม่ได้ ผมก็คงแค่อธิบายไปว่ามันเป็นแบบนี้

ในมุมมองของผม มันทำให้รู้สึกว่า ประเทศที่กำลังดีใจกับเต่ามะเฟืองออกไข่ ดีใจกับฉลามที่มาหยา มันรู้สึกเป็นภาพที่ทำให้ขัดต่อความรู้สึกในแง่ที่ทะเลไทยกำลังสมบูรณ์ขึ้น ก็พยายามช่วยๆ กันรักทะเลนะครับ”




 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น