xs
xsm
sm
md
lg

“การุณยฆาต” ปิดฉากชีวิต ปลิดชีพหนีทุกข์ สังคมไทยพร้อมแค่ไหน!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุดเศร้า! กับเเรื่องราวของหนุ่มชาวไทยที่ป่วยเนื้องอกในสมอง ขอเข้ารับการการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ เหตุไม่ต้องการยื้อชีวิตหวั่นครอบครัวเดือดร้อนหากตนเองต้องเป็นอัมพาต สังคมตั้งคำถามเมืองไทยพร้อมเข้าถึงการการุณยฆาตอย่างถูกกฎหมายเพื่อปลดเปลื้องความทรมานของผู้ป่วยไร้เยียวยาแล้วหรือยัง? ผู้ชำนาญ สช.ชี้หากเมืองไทยมีการุณยฆาตจะส่งผลให้เกิดความตายที่ไม่ควรตายเป็นจำนวนมาก!

“ผมไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

โลกโซเชียลฯ แห่แชร์โพสต์สุดท้ายของหนุ่มไทยรายหนึ่งที่ ป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมอง โดยเขาต้องสู้กับโรคนี้มันมาเป็นระยะเวลานาน ผ่านการผ่าตัดรักษาหลายครั้ง ทว่า แนวโน้มการรักษาก็ไม่ดีขึ้นเลย

หนำซ้ำความเสี่ยงว่าการผ่าตัดครั้งต่อไปอาจจะทำให้เขาต้องเป็นอัมพาต -เจ้าชายนิทรา หวั่นครอบครัวเดือดร้อน พร้อมเปรยกับครูสอนกีตาร์ว่า “ผมไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” เขาจึงตัดสินใจ เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อขอรับการการุณยฆาต และพร้อมจากโลกนี้ไปอย่างมีสติสัมปชัญญะ พร้อมโพสต์ร่ำลาครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เป็นครั้งสุดท้าย

Oh! my beloved moon... Please tell my dad and mom I'm happy now And there is no need to cry I'm finally reunited with the universe Forever where I abide by หลังจากจบโพสต์นี้ ผมจะรับยาและจากไปอย่างถาวร ที่ผมมาทำการุณยฆาตนี้ เพราะไม่อยากให้ป๊ากับคุณแม่ ต้องมาคอยดูแลผม หากในการผ่าตัดครั้งต่อไป มันทำให้ผมต้องเป็นอัมพาต หรือเจ้าชายนิทรา

ผมรู้สึกมีความสุขมากในตอนนี้ ทั้งกับตัวเองที่จะไม่ต้องเจ็บปวดทรมานอีก และกับป๊าและแม่ที่จะไม่ต้องลำบาก ต้องมาดูแลคนที่นอนเป็นผัก ในเวลาที่ป๊ากับแม่ ควรจะต้องอยู่อย่างสบายกายแล้ว ลาก่อนครับป๊า ลาก่อนครับคุณแม่”

โดยสาเหตุที่เขาต้องเดินทางไปเข้ารับการการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เนื่องจากที่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายการการุณยฆาต แบบ Active Euthanasia หรือ การช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ เพราะปัจจุบันนี้มีเพียงแบบ Passive Euthanasia คือการปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ โดยแพทย์สามารถยกเลิกหรือระงับการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี การุณยฆาตยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นความผิดอาญาอยู่ในบางประเทศ อีกทั้งยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าคนชนิดนี้เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป


สิทธิขอตาย หรือ "การุณยฆาต" การเลือกจบชีวิตด้วยตัวเองอย่างถูกกฎหมาย ก่อให้เกิดกระแสทางโลกโซเชียลฯ ว่าในเมืองไทยควรจะมีการทำการุณยฆาตแบบถูกกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หาย มีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาณ และ สิทธิขอตาย ถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์พึงมีหรือไม่

นอกจากนี้ โลกโซเชียลฯ ยังตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นถึงการที่เมืองไทยยังไม่ควรมีการการุณยฆาตอย่างถูกกฎหมาย เพราะผลเสียน่าจะมากกว่าผลดี โดยความคิดเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

"เห็นด้วยกับกฏหมายที่ควรให้แพทย์ช่วยให้คนไข้ตายอย่างรวดเร็วและไม่ทุกข์ทรมาน.มากกว่าปล่อยให้ตายเองค่ะมันโหดร้ายมากๆค่ะ เพราะเชื่อว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องนอนรอความตายอย่างไร้หนทางรักษา การรอคอยคือความทุกข์ทรมานอย่างที่สุดทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและญาติ"

"ประเทศที่มี euthanasia หรือ PAS เป็นประเทศที่มี palliative care (การดูแลแบบประคับประคอง) เจริญมาก เป็นบริการมาตรฐานของรัฐที่เข้าถึงได้สะดวก แต่ประเทศไทยคงยังไม่พร้อม เอาง่ายๆ แค่จะเอายา fentanyl patch เข้าโรงพยาบาล บางโรงยังไม่ได้เลย เห็นความด้อยพัฒนาระดับนี้จะเอาปัญญามาเริ่ม euthanasia ยังไง กับบริการพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกยกให้เป็น “สิทธิมนุษยชน” ยังทำได้แค่นี้"

"ประเทศที่มีกฎหมายให้ทำ euthanasia เป็นประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาและมี autonomy สูง ประเทศไทยยังไม่ต้องพูดถึง คนไข้ระยะท้ายบางคนยังไม่รู้สภาวะโรคตัวเอง จากญาติไม่ให้บอกหรือหมอไม่บอกข้อมูลอย่างตรงจริง หรือบางครั้งหมอขาดการสื่อสาร"

“เห็นด้วยตรงที่ว่าการการุณยฆาตยังห่างไกล และในบ้านเราควรสร้างความเข้าใจให้กับครอบครัวหรือสังคมเรื่องการดูแลแบบประคับประคองนี้ให้อยู่รอดดีงามก่อนจะดีกว่ามากค่ะ ดีใจมากที่ทุกอย่างกำลังได้รับการสนับสนุนจริงจัง”

สิทธิการตายในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองในทางกฎหมาย พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน ผู้ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ชี้การที่ประเทศไทยจะข้ามขั้นไปสู่เรื่องการุณยฆาตนั้นเร็วไปมาก ขนาดการดูแลแบบประคับประคองยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเลย

“หากพิจารณากฎหมาย การุณยฆาต แบ่งออกเป็น 2 วิธี 1.การที่บุคคลที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้อาจจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ก็ได้ฉีดยาหรือสารพิษเพื่อให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย

2.การที่บุคคลที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ อาจจะเป็นแพทย์หรือไม่ก็ได้ เตรียมอุปกรณ์เเละเครื่องมือเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ฆ่าตัวตาย อันนี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Phycitian assisted suicide : PAS

สังเกตไหมว่าไม่มีคำว่า Passive หรือ Active เลย เพราะว่าการเเบ่งแบบ Passive หรือ Active นั้นเป็นแนวคิดในอดีตที่เค้าเเบ่งแบบนั้นจริงๆ แต่พอมาใช้ในกฎหมายมันไม่ชัดเจน ดังนั้นประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เลยกำหนดให้มันชัดๆเลยว่าว่ามันคืออะไร ไม่ต้องมาตีความกันให้ยุ่งยาก

ความแตกต่างของทั้งสองวิธีคือ “ความตายเกิดจากการกระทำของใคร” โดยวิธีเเรกเป็นการที่ผู้ป่วยอนุญาตให้ผู้อื่นกระทำแก่ร่างกายตนเองโดยตรงจนเสียชีวิต ดังนั้นความตายจึงเกิดจากการกระทำของผู้อื่น แต่ PAS คือการที่ผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ดังนั้นความตายจึงเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ป่วยเอง เหตุที่ทำให้มีการพัฒนาเรื่อง PAS ขึ้นมาก็เนื่องมาจากเหตุผลทางศีลธรรมและเหตุผลทางกฎหมาย

ส่วนเหตุผลทางศีลธรรมก็เนื่องจากแนวคิดทางมนุษย์นิยมที่กลุ่มผู้ที่สนับสนุนเรื่องการุณยฆาตที่เห็นว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในชีวิตร่างกายของตนเอง ดังนั้นจึงควรจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความตายแก่ตนโดยที่ตนเป็นผู้กระทำไม่ใช่ให้ผู้อื่นเป็นผู้กระทำ นัยว่าทำให้ตัวเองตายเองเท่กว่าสมศักดิ์ศรีกว่าไปยืมมือคนอื่นเพื่อทำให้ตนเองตาย นอกจากนั้นหากพิจารณาในความเป็นจริงการที่บุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยตรงย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีแก่ผู้ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ดังนั้นจึงควรให้ผู้ป่วยเป็นผู้ฆ่าตัวตายเองจะดีกว่าการให้ผู้อื่นมาทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

เหตุผลทางกฎหมายก็เนื่องมาจากหากมีการเอาผิดในกรณีการทำการุณยฆาตผู้ป่วย การทำ PAS มีโทษน้อยกว่าการทำให้ผู้ป่วยตายโดยตรง เพราะพิจารณาตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปพบว่า กรณีแรกเป็นกรณีที่บุคคลอื่นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจึงเป็นการฆ่าผู้อื่นตามกฎหมายซึ่งมีโทษทางกฎหมายมากกว่ากรณี PAS ซึ่งเป็นกรณีที่บุคคลอื่นเป็นผู้สนับสนุนเพื่อให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ดังนั้นจึงเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนผู้อื่นฆ่าตัวตายซึ่งมีโทษน้อยกว่าการฆ่าผู้อื่นตาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับในเมืองไทยเท่าที่ผ่านมามีแนวคิดที่อยากจะให้มีกฎหมายทำนองนี้ในประเทศไทยมากเพราะสารพัดเหตุผล เต่ถ้าเราสังเกตดีๆจากกฎหมายของฝรั่งจะพบว่ามีการกำหนดขั้นตอนป้องกันการมาฆ่าตัวตายอย่างเข้มงวดมาก ไม่ใช่อยู่ๆจะมาขอเข้ากระบวนการการุณยฆาตเเล้วจะได้เลย โดยจะต้องทอดระยะเวลาอย่างต่ำก็ 6 เดือนขึ้นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ขอเข้าสู่กระบวนการคิด ไตร่ตรองให้รอบคอบ รวมทั้งแพทย์ผู้สัมภาษณ์ผู้ป่วยจะเสนอทางเลือกในการรักษาแบบต่างๆให้ผู้ป่วยเลือก เช่น การดูแลแบบประคับประคอง การให้มอร์ฟีน กัญชา เพื่อให้ความตายเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานผู้ป่วยที่ผู้ป่วยได้รับ

แต่ในประเทศไทยนั้นเราเพิ่งก้าวเดินในการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองกันอย่างจริงๆจังๆก็ไม่น่าเกิน 10 ปีมานี้เอง เพราะกฎหมายเรื่อง Living will (ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) เพิ่งมีมาเมื่อ 2550 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มี service plan สาขาการดูแลแบบประคับประคองเมื่อปี 2559 ชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช ในเรื่องการดูแลแบบประคับประคองเพิ่งมีมาเมื่อ 2555-2556 นี้เอง

เเละเรื่องกัญชา กฎหมายเพิ่งออกมาสองสามวันนี้เอง ทุกๆปีเราจะพบเห็นข่าวผู้ป่วยฆ่าตัวตายเพื่อหนีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากโรคภัยที่ตนเองได้รับเพราะโรงพยาบาลไม่มีมอร์ฟีนจ่ายให้ผุ้ป่วย ดังนั้นหมายความว่า ระบบบริการทางการแพทย์ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้กระบวนการทางการแพทย์แบบปกติในการระงับ บรรเทาอาการ ความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ

ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะข้ามขั้นไปสู่เรื่องการุณยฆาตนั้นจึงเร็วไปมาก เพราะปัจจุบันระบบการดูแลแบบประคับประคองยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศได้เลย หากประเทศไทยมีกฎหมายการุณยฆาต จะส่งผลให้เกิดความตายที่ไม่ควรตายเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน!


 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น