xs
xsm
sm
md
lg

“ผมเคยถูกยิง 3 ครั้งเพราะไปช่วยเด็ก” จากเด็กสลัม สู่ผู้ปกป้อง “เหยื่อความรุนแรงวัยเยาว์” [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ยิ่งทำงานตรงนี้ ยิ่งได้เห็นเด็กๆ เหล่านี้ตายเป็นว่าเล่น เหยื่อบางรายถูกละเมิด แต่ครอบครัวกลับถูกจ้างให้ล้มคดี” เจาะมุมมืดในสังคม ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย จาก “ความรุนแรง” ที่แฝงตัวอยู่อย่างแนบเนียนในครอบครัวและชุมชนอย่างน่าใจหาย

จนทำให้ผู้ชายคนนี้ไม่สามารถสะบัดหน้าหนีความจริงไปได้ เป็นเหตุให้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องเหล่า “ผ้าขาว” ในวัยเยาว์ ไม่ให้ต้องแปดเปื้อนจากน้ำมือคนโฉดไปมากกว่าที่เป็นอยู่




อนิจฉา... “โรคจิตในคราบพ่อพระ”

[“โรคจิตในคราบพ่อพระ” กลุ่มล่อลวง-ละเมิดเด็]
“ทุกวันนี้ กลุ่มที่ชอบล่วงละเมิดทางเพศเด็ก มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่เราพบ คือกลุ่มแรก “กลุ่มพ่อพระ” ทำตัวดี ช่วยเหลือ เข้ามาสนับสนุนนู่นนี่ให้ แต่สุดท้ายก็ละเมิดเด็ก

กลุ่มที่สองคือ “กลุ่มซาดิสต์” มีรสนิยมทางเพศรุนแรง เช่น ต้องตบตีก้นเด็กก่อน จับเด็กทุ่มลงบนเตียง เอาปืนบีบีกันยิงเด็ก คือใช้ความรุนแรงก่อนละเมิด ฯลฯ

และกลุ่มสุดท้ายคือ “กลุ่มแนบเนียน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำมาเยอะ มีประวัติมามาก เวลาจะล่วงละเมิดเด็ก เขาจะทำแบบแทบไม่ให้มีใครรู้เลย

แต่ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่เป็นโรค “Pedophilia (โรคใคร่เด็ก)” จะชอบละเมิดเด็กผู้ชายมากกว่า ส่วนเด็กผู้หญิงที่ถูกละเมิดส่วนใหญ่นั้น มักจะถูกละเมิดจากกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่ชอบเด็ก, ไม่ก็เป็นคนที่มีหน้าที่เป็นธุระจัดหาเหยื่อ หรือมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของเด็กเป็นพิเศษ”

ครูจา-ศุภกร โนจา ผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิพัฒนาการเด็กบ้านครูจา” สถานที่รับดูแลเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากผู้ปกครอง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ บอกเล่ามุมมืดจากเรื่องจริง ผ่านแววตาที่คล้ายแอบซ่อนอารมณ์โกรธเกรี้ยวเอาไว้ ก่อนขยายความให้คู่สนทนาเห็นภาพชัดเข้าไปยิ่งกว่าเดิม ด้วยการยกเคสของโรคจิตชาวสวิตเซอร์แลนด์รายหนึ่ง ที่เข้ามาอยู่อาศัยในไทยนานถึง 17 ปี เพื่อตก “เหยื่อเด็ก” ไปใช้ประโยชน์


[บรรยากาศการอยู่ร่วมกันของเด็กๆ ใน "มูลนิธิพัฒนาการเด็กบ้านครูจา"]

“เคสนี้ละเมิดเด็กเยอะมาก หลายร้อยคนเลย พอไปดูประวัติพบว่า เขาเคยอยู่กัมพูชา 5 ปี และก่อนนั้นก็เคยเป็นครูที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยละเมิดเด็กมาแล้ว จนติดคุก 2 ปี พอออกมาอยู่เมืองไทย เขาก็ใช้วิธีเป็นพ่อพระเข้าหาเด็ก บ้านไหนยากจนก็เข้าไปสร้างบ้านให้ บ้านไหนไม่มีน้ำประปา ผ่านไปเจาะบ่อบาดาลให้ บ้านไหนไม่มีไฟฟ้า เขาก็เข้าไปต่อขยาย ช่วยเหลือสารพัดรูปแบบ

ด้วยความที่เป็นครูมาก่อน เขาก็เอาวิชาความรู้ที่มีสอนพิเศษให้เด็กๆ พอช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็ชวนเด็กๆ มาเล่นที่บ้าน เพราะบ้านของเขามีทั้งสระว่ายน้ำ ทั้งบ่อตกปลา พอลับหลัง เขาก็แอบเก็บภาพโป๊ของเด็กๆ ถ่ายเอาไปส่งขายในต่างประเทศ แถวอังกฤษ, เบลเยียม, ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์

พอได้เงินตอบแทนจากตรงนั้นกลับมาเป็นกอบเป็นกำ เขาก็เอามาเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ กลายเป็นทุกคนในชุมชนยกย่องว่าเขาเป็นพ่อพระ ทั้งที่ความจริงเขาคือคนที่คอยเก็บภาพอนาจารของเด็กๆ ไปขาย ซึ่งก็ถือเป็นการค้ามนุษย์อีกรูปแบบนึงเหมือนกัน



จากรายงานประจำปี “Ending Violence In Childhood Global Report 2017” โดยองค์กรระหว่างประเทศผู้เคลื่อนไหวเรื่องความรุนแรงในเด็กอย่าง “No Violence In Childhood” พบกว่าตลอดช่วง 3 ปีที่แล้ว มีเด็กและเยาวชนถึง 1,700 ล้านคน หรือคิดเป็น 3 ใน 4 จากทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในทุกปี ทั้งในประเทศยากจนและประเทศที่พัฒนาแล้ว

หรือแม้แต่สถิติในประเทศไทยเอง จากข้อมูลปี 2558 ศูนย์ช่วยเหลือสังคมออกมาเปิดเผยว่า มีเด็กกว่า 10,000 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากความรุนแรง โดยประมาณ 2 ใน 3 ของเด็กเหล่านี้ ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการล่วงละเมิดต่อเด็กหญิง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

และที่น่าหนักใจไปกว่านั้นก็คือ แม้แต่คนในครอบครัวยังพร้อมยอมความได้ง่ายๆ เมื่อถูกเงินซื้อแลกศักดิ์ศรีลูกหลานตัวเอง

“พอไปทำงานจริงๆ ก็พบว่าเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ เขาไม่มีที่พักอาศัยเป็นกิจจะลักษณะ พอส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ในหลายๆ ที่ ก็มีกระบวนการตามหาเด็กตามสถานที่ต่างๆ เพื่อรับกลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มคนที่พยายามเอาเด็กกลับไปเพื่อล้มคดี



วิธีการล้มคดีของเขาก็คือ ฝรั่งจะจ้างทนายเพื่อหาตัวเด็กผู้เสียหาย คนที่ถูกละเมิด แล้วถ้าเจอตัวเด็กปุ๊บ เขาก็จะทำทีไปคุยกับครอบครัว เพื่อให้รับเด็กออกมาจากสถานสงเคราะห์หรือที่ไหนก็ตาม แล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว หลังจากนั้นทนายจะใช้วิธีการว่า ส่งหมายศาลไปที่สถานสงเคราะห์ที่เด็กเคยอยู่ แล้วเด็กก็ไม่ได้รับหมายศาล

ทนายบางคนก็ยอมจ่ายเงินให้ทางครอบครัว ให้ครอบครัวย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดสักพักนึง เพื่อจะได้ไม่ต้องรับหมายศาล จนกลายเป็นกรณีการล้มคดีหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น

ทางมูลนิธิของเราก็เลยเน้นรับดูแลเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะกฎหมายระบุเอาไว้เลยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุเท่านี้ ไม่ว่าเขาจะยิมยอมหรือไม่ก็ตาม คดีความจะไม่สามารถยอมความกันได้ จึงทำให้ผลสำเร็จทางคดีมีแนวโน้มสูงขึ้น และทำให้เรามีสิทธิเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างสัมฤทธิผลมากขึ้นด้วย”



“ปกป้องเหยื่อ-มอบโอกาส” ความตั้งใจของ “อดีตเด็กสลัม”

“ความตั้งใจในการตั้งมูลนิธิเกิดขึ้นมาจากตัวผมเอง เนื่องจากสมัยผมเป็นเด็กก็ยากจน ต้องปั่นจักรยานไป-กลับโรงเรียน วันละกว่า 50 กม. ต้องทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาโดยตลอด การที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เป็นปากเป็นเสียงให้เด็กคนอื่นๆ ก็ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ผมมองตัวผมเองว่าไม่แตกต่างจากเด็กเหล่านี้เลย เป็นเด็กที่อยู่ในสลัม ไม่แตกต่างจากเด็กที่ยากจน ลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ และเมื่อมีโอกาสที่สามารถให้เด็กคนอื่นๆ ได้แล้ว ผมคิดว่าถ้าเราไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยตรงนี้ ก็จะมีเด็กๆ ที่ตกหล่นจากความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ และถูกทอดทิ้งอีกเยอะมาก

ด้วยแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังในจุดนี้เอง ที่ทำให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สอบเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับทำงานเลี้ยงชีพตัวเองไปด้วย ซึ่งก็คือการทำงานร่วมกับ “มูลนิธิคุณพ่อเรย์ (Welcome Center)” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งดูแลเด็กพิการ เร่ร่อน ด้อยโอกาส จนจุดประกายให้ครูจาค้นพบตัวเองในเวลาต่อมาว่า ต้องการเข้ามากำจัดปัญหาเรื่อง “เด็กที่ถูกกระทำรุนแรง-ถูกล่วงละเมิดทางเพศ” อย่างจริงจัง



“ระหว่างที่ทำงานตรงนี้ ทำให้ได้เห็นเด็กๆ ในกลุ่มเหล่านี้ตายเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่ติดยา หรือถูกบังคับให้ส่งยา พอเราลงไปช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้ได้พบเห็นปัญหาที่เยอะขึ้น เราก็เห็นว่าถ้าไม่มีใครลงไปช่วยเหลือ ไปคุ้มครองพวกเขา เด็กกลุ่มนี้ก็จะถูกทำให้ตกเป็นเหยื่อแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

และถ้าพวกเขาไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ดี สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ จากเด็กที่เคยขายบริการทางเพศ พอโตขึ้นมา เขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจเหล่านี้แทน เช่น การรับหน้าที่เป็นธุระจัดหาคนให้ นอกจากนี้ เด็กที่ถูกกระทำ หากไม่ได้รับการบำบัดที่ดี ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็ก และอาจส่งผลต่อสภาพทางจิตของเด็กได้สูงมาก

อย่างตอนลงพื้นที่ที่ “พระยาไกร” ก็เป็นชุมชนที่ทำให้ผมถูกยิงครั้งแรกในชีวิต จากทั้งหมด 3 ครั้งที่ถูกยิงจากการเข้าไปช่วยเหลือเด็ก ส่วนอีก 2 ครั้งเกิดขึ้นที่พัทยา

ส่วนตอนลงพื้นที่ที่ “พัทยา” ก็ทำให้พบกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่มาหางานเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยความไม่รู้เรื่อง และถูกเพื่อนที่เคยขายบริการทางเพศมาชักชวนว่าให้ไปกับแขก ไปกับฝรั่งแล้วได้เงินดี พอเขาไปแล้วได้เงินกลับมาใช้ กลับมาเล่นเกมได้จริงๆ หลังจากนั้นก็ไม่ต้องมีใครมาชวนแล้ว เด็กจะสมัครใจไปเองเลย



[“เหยื่อเด็ก” ผู้เสียหายจากความรุนแรง]
จากช่วงแรกๆ ที่พบปัญหาเด็กเร่ร่อน เราพบว่ามันมักจะเกิดจากปัญหาครอบครัวแตกแยก-ล่มสลาย ทำให้เด็กออกมาเร่ร่อนจนตกเป็นเหยื่อ แต่พอช่วงหลังๆ กลับพบว่าสาเหตุที่เด็กเร่ร่อน ไม่ใช่เพราะครอบครัวแตกแยก แต่เป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล เนื่องจากต้องทำงานหนักตลอดเวลา

ดังนั้น ก็อยากจะเตือนหลายๆ ครอบครัวเหมือนกันว่า เด็กที่ไม่ค่อยได้เจอพ่อแม่ผู้ปกครอง และใช้เพื่อนเป็นที่ปรึกษาในชีวิต ก็เป็นเคสที่น่าห่วงมาก เพราะถ้าเพื่อนให้คำปรึกษาดีๆ ก็ดีไป แต่ถ้าเพื่อนชักจูงไปในทางลบก็มีผลกระทบต่อเด็กทันที




ดูแลเด็กด้วยหัวใจ สอนทั้งบทบาท “ผู้รับ-ผู้ให้”

[วิธีเยียวยาของ “ปฏิญญา” นักจิตวิทยาสาว]
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “เด็กที่ถูกทำร้าย” ย่อมได้รับความบอบช้ำทั้งทางใจและทางกาย เมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลทางกายอาจเลือนหาย แต่ผลกระทบทางใจกลับติดตรึงฝังลึกกว่าที่คนทั่วๆ ไปจะสามารถเข้ามาแก้ปมได้ จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาอย่าง ปฏิญญา อินทสมบัติ ที่จะคอยเข้ามาช่วยเยียวยาเด็กๆ ทุกคน ภายใต้บ้านอันแสนอบอุ่นของครอบครัวครูจา


“จะมีกลุ่มที่ถูกทำร้ายร่างกาย เป็นที่ระบายของคุณพ่อคุณแม่ของเขา หรือไม่ว่าเขาจะทำอะไรผิดก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ส่วนมากจะมาทำกับคนที่อ่อนแอกว่าที่นี่ พอโมโหปุ๊บก็มีตบเพื่อน ทำร้ายเพื่อนก็มี แล้วก็มีกลุ่มที่เป็นเด็กเร่ร่อน ขอทาน พอไปโรงเรียน เขาก็จะไปคอยขอเงินของผู้ปกครองคนอื่น หรือขอของแขกเวลาเขามาบริจาค เหมือนกับติดนิสัยขอมา แล้วก็มีนิสัยพูดโกหกติดมาด้วย

ในแต่ละกลุ่มที่ต้องรับมือกับเด็กๆ เราก็ต้องใช้วิธีต่างกันค่ะ แต่ที่สำคัญคือหนูพยายามเข้าใจเขาให้มากกว่าอย่างอื่น เราต้องฟังเขาให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะเด็กบางคนเขาก้าวร้าวก็จริง แต่พอคุยแล้วลึกๆ เขาก็ไม่ได้อยากจะทำแบบนี้ เขาก็มีส่วนที่ดีของเขา ถึงแม้เขาจะไปต่อยเพื่อน แต่ในบางเรื่องเขาก็จิตใจดีมาก


[“เหยื่อเด็ก” ผู้เสียหายจากความรุนแรง]

หลักๆ หนูใช้ใจ ใช้ความรักเข้าแลกกับเขามากกว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กพวกนี้เป็น “เด็กที่ขาด” เขาขาดที่พึ่งทางใจ หนูก็พยายามจะเป็นที่พึ่งทางใจ ให้เขาไว้ใจหนู ถ้าเขาไว้ใจหนูได้เมื่อไหร่ เขาจะร่วมมือกับหนูทุกอย่าง เขาจะฟัง พอเขาเห็นว่าเราเข้าใจเขา เขาก็พร้อมจะระบายออกมา

เราก็ต้องรับมือด้วยการพูดดีๆ กับเขา ชื่นชมเขา บางทีก็แสดงความรักให้เขาเห็น ให้เขารู้สึกด้วยการกอด ถ้าเราเป็นตัวอย่างการมอบความรักที่ดีให้เขาได้ เขาจะเห็นว่าได้รับตรงนี้แล้วรู้สึกดี และจะเอาความรู้สึกนี้ไปใช้กับคนอื่นต่อๆ ไปเรื่อยๆ แต่ถามว่าในระยะยาว ปม “ขาดความรัก” ในใจพวกเขามันจะหายไปไหม มันก็ขึ้นอยู่กับเวลา และจิตใจของเด็กแต่ละคนอีกทีนึงด้วยค่ะ



[“พิชญ์ภูมิ” นักสังคมสงเคราะห์หนุ่ม คอยสังเกตเด็กๆ]
อีกมิติหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กๆ ออกไปเผชิญกับโลกภายนอกได้เหมือนเด็กปกติทั่วไปอีกครั้ง ในสายตาของนักสังคมสงเคราะห์หนุ่มแล้ว พิชญ์ภูมิ สนิทชน เจ้าหน้าที่ในมูลนิธิมองว่า การคอยมองหาพรสวรรค์และพรแสวงของเด็กๆ แต่ละคน รวมถึงคอยผลักดันให้เข้าที่เข้าทาง คืออีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“เด็กบางคนถูกกระทำมานานมาก จนอายุเกินเกณฑ์ที่ต้องเรียนแล้ว เราก็ต้องสอนหนังสือให้เขาอ่านออกเขียนได้ก่อน หลังจากนั้นเราถึงมาเริ่มทำงานเชิงรุกต่อ โดยการประสานงานกับนักจิตวิทยาที่มีอยู่ วิเคราะห์ว่าเด็กคนนี้ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนหรือเปล่า เขามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

จากนั้นก็พาเขาไปพบจิตแพทย์ และลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของเขาด้วย เพราะนอกจากเราต้องฟื้นฟูจิตใจของเด็กแล้ว การจะส่งเด็กกลับไปที่บ้าน เราก็ต้องฟื้นฟูพ่อแม่เขาด้วย ไม่ใช่ว่าส่งเด็กกลับไปให้อยู่กับสภาพแวดล้อมแบบเดิม ถูกกระทำเหมือนเดิม



ดังนั้น ในแต่ละวันเราต้องมานั่งวิเคราะห์เด็กแต่ละคนว่า เขาเป็นยังไงบ้าง เจออะไรมา และควรแก้ไขยังไง โดยแก้ไขเป็นรายคนไป เราจะไม่เอาปัญหาของเด็กทั้งหมดมามัดรวมกัน แล้วแก้ทีเดียว แต่จะต้องแก้ปัญหาไปทีละคนๆ จนกว่าเด็กจะมีศักยภาพที่ดีขึ้น

พอเราแก้ปัญหาไปได้ช่วงนึง เราก็ต้องรู้แล้วว่าในอนาคตเด็กควรจะประกอบอาชีพอะไร เราต้องคอยสังเกตว่าเขาชอบอะไร แล้วเอาความชอบนั้นมาทำให้เป็นอาชีพของเขาก็ได้ เช่น เด็กบางคนชอบปลูกผัก รู้หมดว่าผักชนิดนี้เป็นยังไง ไก่ชนิดไหนกินได้-กินไม่ได้ เราก็ต้องเสริมศักยภาพให้เขาตรงนั้น เพื่อให้เขาโตไปมีอาชีพและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข



[ขับรถไปเยี่ยมพื้นที่ผู้ยากไร้ เดินทางไปบริจาคของใช้จำเป็นให้เป็นประจำ]
อีกหนึ่งสิ่งที่จะลืมปลูกฝังไปไม่ได้เลยสำหรับครูจา นั่นก็คือการมอบบทบาท “ผู้ให้” ให้แก่เด็กๆ ทุกคน โดยครูจาจะพาพวกเขาออกไปบริจาคสิ่งของให้แก่คนยากไร้ตามแต่ละชุมชนด้วยกันอยู่เสมอๆ

“ของที่เราเอามาแบ่งให้ชุมชนคนเร่ร่อน ก็ได้มาจากสิ่งของที่คนมาบริจาคให้เด็กๆ ของมูลนิธินั่นแหละครับ เพราะเรามองว่าในเมื่อเด็กของเรามีเพียงพอแล้ว เราก็ควรจะต้องเอามาแบ่งปันให้กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

และทุกครั้งที่เอาของมาให้ที่นี่ เราจะพาเด็กๆ ในมูลนิธิมาช่วยกันแบก ช่วยกันแจกได้ เพราะเราต้องการปลูกฝังเรื่องการให้ให้กับเขา เนื่องจากเราไม่ต้องการให้เด็กเป็น “ผู้รับ” อย่างเดียว เพื่อให้เขาเข้าใจถึงการเป็น “ผู้ให้” หลังจากที่เด็กออกจากศูนย์ไปแล้ว ไปเติบโตที่ไหนก็ตาม เขาจะได้รู้จักการให้ในอนาคต”

[ลงพื้นที่บริจาคของให้คนยากไร้ ปลูกฝัง “การให้” แก่เด็กๆ]






สัมภาษณ์: รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น