xs
xsm
sm
md
lg

เหล้ามา-ลำโพงแน่น-โคโยตี้เต็ม ค่านิยม “งานบวช” ที่เป็น “งานบาป”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
งานบวชหรืองานอวด!? “เบิลเครื่อง-ลำโพงดังสนั่น-โคโยตี้จัดเต็ม” งานบุญ 4.0 ที่สังคมไทยต้องทำใจ สืบเนื่องจากกรณีกลุ่มวัยรุ่นงานบวชบุกสนามสอบ ไม่พอใจห้ามใช้เสียงดัง ล่าสุด สังคมตั้งคำถามบวชให้ได้บุญหรือให้ได้บาป!? ด้านนักวิชาการศาสนา เปิดใจ วิวัฒนาการเปลี่ยนไปแล้ว ย้ำ “บวชนาค-งานแต่ง-เผาศพ” เรียบง่ายก็ได้บุญ!

งานบุญยุค 4.0 ยิ่งจัดเต็มยิ่งได้บุญ!?

สืบเนื่องจากกรณีกลุ่มวัยรุ่นงานบวชถูกเตือนลดใช้เสียงซึ่งได้มีการเปิดเพลงเสียงดังในเขตพุทธาวาส แถมยังมีการจ้างโคโยตี้นุ่งน้อยห่มน้อยมาเต้น เนื่องจากว่าโรงเรียนวัดสิงห์มีการสอบระดับประเทศ แต่กลับไม่พอใจที่ถูกตักเตือนจึงยกพวกบุกทำร้ายครู-นักเรียนจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างร้อนระอุในสังคมขณะนี้!

ล่าสุด สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว การบวชตามหลักพระพุทธศาสนามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีความรื่นเริงที่เกินเหตุเช่นนี้อยู่ในพิธีธรรม ขณะที่อีกเสียงมองว่าการบวชที่แท้จริงคือการศึกษาธรรมะ และทดแทนบุญคุณพ่อ-แม่ ไม่จำเป็นต้องมีขบวนแห่อย่างอึกทึกครึกโครมก็บวชได้

“มันสะท้อนภาพความเสื่อม ความไร้วุฒิภาวะของสังคมไทยและความเขลาของกลุ่มคนที่อ้างศาสนาเป็นเครื่องมือในการบรรลุถึงความดีความชอบธรรมจอมปลอมให้ตัวเอง มี Background เป็นกิจกรรมที่อ้างเป็นงานบุญ งานวัดเมื่อไร อะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่สนใจว่าจะไปละเมิดหรือทำใครเดือดร้อน”

“พูดยากนะ มุมหนึ่งมันคือวิถีไทยๆ จัดงานอะไรต้องให้คนรู้ไป 3 บ้าน 8 บ้าน มีทุกเทศกาล คนชอบความเงียบสงบต้องทำใจ เพียงแต่กรณีอื่นๆ เขายังมีขอบเขตบ้าง ประนีประนอมกับคนที่มาเตือนบ้าง มันเลยไม่เกิดเรื่องแบบที่เป็นข่าวเช่นนี้”

“ทุกวันนี้ งานบวช คืองานบุญหรืองานบาปกันแน่ คนไทยบวชเพื่ออะไร เพื่อเข้าถึงธรรม หรือเพื่อทำตามจารีตประเพณี เพื่อเอาหน้า หรือเพื่อเอาทุนคืน หรือเพื่อพ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”
จาก FB: คนมีดี
พระมหาไพรวัลย์
 
หากย้อนกลับไปไม่นาน พบว่ากรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการประกอบพิธีทางศาสนาสำคัญของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานทอดกฐิน งานแต่งงาน หรือกระทั่งงานศพ ซึ่งจะมีการนำเอาความรื่นเริงที่เกินงามเข้ามาในพิธีธรรมด้วย ราวกับว่าเป็นแพกเกจที่ต้องมาคู่กันจนชินตา

แม้จะถูกอ้างว่าเป็นวิถีชาวบ้านที่ทำสืบต่อกันมานาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แถมยังสร้างความเดือดร้อนให้กับคนบางกลุ่ม ยกตัวอย่าง การเบิลเครื่องรถมอเตอร์ไซต์ในงานเผาศพที่มีให้เห็นอยู่ทุกปี โดยการบิดเร่งเครื่องเสียงดังสนั่น อ้างว่าเป็นการส่งผู้ตายไปสู่สวรรค์ เนื่องจากว่าผู้ตายชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซต์

เช่นเดียวกันกับ 'พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร' พระนักเทศน์แห่งวัดสร้อยทอง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจด้วยว่า ค่านิยมการจัดงานบุญ งานบวช กระทั่งงานศพในสังคมไทยเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยน ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่างานบุญแทบไม่ใช่งานบุญอีกต่อไป

“อาตมาคิดว่า ถึงเวลาแล้วนะที่ชาวพุทธเราต้องช่วยกันสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเสียที ก่อนที่วัฒนธรรมประเพณีของพวกเราจะเสื่อมถอยไปมากกว่านี้ โยมลองพิจารณาดู เดี๋ยวนี้เราจัดงานบุญกันแทบจะไม่เป็นงานบุญอยู่แล้ว ไม่ว่าผ้าป่า กฐิน บวชนาค หรืออะไรตาม เราเน้นความสนุกสนานและความสำราญกันจนเกินขอบเขตไปมาก

ที่จริงมันควรแยกกันให้ชัดนะ ถ้าเราออกตัวว่าเป็นคนพุทธที่มีความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง ก่อนอื่นเลย เขตพุทธาวาส ควรจะต้องเป็นสถานที่ที่ปลอดจากสิ่งเสพติดมึนเมาทุกชนิด เราจะจัดงานรื่นเริงสนุกสนานอะไรก็ได้


 
แต่ควรสนุกกันเสียให้พอแต่ที่บ้าน จะมีเหล้ายาปลาปิ้ง ก็ไม่มีใครว่า แต่มาอยู่ในวัดแล้ว อะไรที่ควรงด มันก็ควรต้องงด แบบนี้เรียกว่า รู้จักกาละเทศะ

มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ ที่เดี๋ยวนี้งานบวชบางงาน มีการจ้างโคโยตี้มาเต้นกันถึงในลานวัด เปิดเครื่องเสียงกันดังเหลือเกิน มีการนำเหล้า-เบียร์ไปดื่มกันถึงในเขตอุโบสถ เรื่องพวกนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว นี่ยังไม่รวมค่านิยมแปลกๆ เช่น การเบิ้ลรถเสียงดัง หรือการขับรถมอเตอร์ไซต์รอบเมรุเผาศพ และอื่นๆ

อาตมาอยากจะชวนให้เราหันกลับมาตั้งคำถาม แม้แต่พระเราเอง ถ้าเราไม่กล้าเตือนชาวบ้าน ไม่กล้าขัดใจในเรื่องที่ควรต้องขัดใจ คนเป็นผู้ใหญ่ ไม่เป็นแบบอย่างในเรื่องที่ควรเป็นแบบอย่าง แล้วต่อไปจะเหลืออะไรให้เราภูมิใจกันอยู่อีก”

งานบวช = งานอวด

“การจัดงานจะค่อยๆ เพิ่มงานมหรสพเข้ามาเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการของสังคม จากแค่มีสุรา มีดนตรี ต่อมาเริ่มมีคาราโอเกะ พอยุคหลังเพื่อความสนุกก็ต้องมีนางรำ มีหางเครื่อง แค่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะต้องทันสมัยจึงมาสู่การมีโคโยตี้เต้นตามงานบุญในที่สุด”

'ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์' นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ปรัชญาและจิตวิญญาณธรรม เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังต่อสายตรงเกี่ยวกับประเด็นงานบุญยุค 4.0 ที่นับวันยิ่งสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับพระพุทธศาสนาเข้าทุกที โดย ดร.ศิลป์ชัย บอกว่า 'งานบวช' ปัจจุบันนี้แทบไม่ต่างจาก 'งานอวด'

“ค่านิยมเรื่องของวิธีการจัดงานบวชแบบรื่นเริงและมีโคโยตี้ ถามว่ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันก็มาไม่นานหรอก ดั้งเดิมไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการจัดงานบวชในลักษณะงานรื่นเริง มีมานานแล้วในสังคมไทย เพราะในประเพณีครอบครัวในแต่ละบ้าน จะมีงานใหญ่หลักๆ 3 งานด้วยกัน

 
นั่นคือ งานบวช-งานแต่ง-งานศพ ซึ่งใน 3 งานนี้ งานบวชถือว่าเป็นงานที่ได้บุญสูงสุด เพราะคนไทยมีความเชื่อว่า บ้านไหนมีลูกชายจะทำให้พ่อแม่สามารถเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ได้ ในขณะที่งานแต่งงานหรืองานศพก็ตาม ไม่ได้มีแนวความเชื่อเหล่านี้

ฉะนั้น การที่ครอบครัวไทยมีลูกชายที่บวชให้ได้ การจัดงานบวชจึงต้องเป็นงานใหญ่ มีความยินดีปรีดา ต้องให้ใหญ่โตและสนุกสนาน ด้วยเหตุผลว่าคนที่บวชส่วนใหญ่อายุน้อย เป็นวัยหนุ่มอายุ 20 ต้นๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ส่งผลให้เพื่อนฝูงที่มาร่วมงานก็จะเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว แปลว่าต้องเน้นไปที่ความสนุก ความรื่นเริงเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน พ่อ-แม่ก็ต้องทำให้มันน้อยหน้าชาวบ้านไม่ได้ ในสังคมไทยมีค่านิยมที่ทำตามกัน กลัวว่าจะน้อยหน้าหรือเสียหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้งานบวชกลายเป็นงานที่เน้นความรื่นเริงเต็มที่ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องมีการดื่มสุรา มีดนตรี มีขบวนแห่ที่อึกทึกครึกโครม

ส่วนตัวนาคเองต้องทิ้งความสนุกสนานของคนหนุ่มไปสู่ความสงบเงียบเรียบร้อย อย่างน้อย 3 เดือน ฉะนั้นก็เลยรู้สึกว่าต้องเลี้ยงฉลองให้เต็มที่ก่อนไปสู่ความเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้จึงคล้ายๆ กับงานสละโสดของต่างประเทศที่มีปาร์ตี้นั่นเอง”

ด้วยพัฒนาการจัดงานบวชแต่ละสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนวิทยา ดร.ศิลป์ชัย ยังบอกอีกว่าอนาคตสังคมไทยอาจเห็นรูปแบบงานบวชลักษณะใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการบริการจัดงานบุญเชิงธุรกิจ

“งานลักษณะนี้ มันไม่มีอะไรจำเป็นหรอกครับ ไม่มีในพระไตรปิฎกหรือในจารีตดั้งเดิมเลย แต่เรียกว่าเป็นวิถีชาวบ้านมากกว่า เรื่องศาสนาก็เรื่องหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าพิธีกรรมทางศาสนาพอมันเข้าสู่การเป็นวิถีชาวบ้านด้วยแล้ว มันก็จะมีเรื่องของการทำเพื่อดึงดูดให้แขก-ชาวบ้านได้รับรู้ สนใจมาร่วมงาน

ตอนนี้ก็คิดว่าเยอะมากแล้วนะ ถ้าจะมีอีกก็คงเป็นลักษณะของการจัดงานบวชเชิงธุรกิจ หรือเรียกว่าผู้ให้บริการมหรสพที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น เช่น มีการจ้างออแกไนซ์เซอร์ มันจะเป็นธุรกิจแน่นอน มีวงดนตรีที่เป็นมืออาชีพ เครื่องเสียงระดับท็อป และคงมีการตั้งเวที มีแสง สี เสียง ทั้งกลางคืนและกลางวัน
เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
 
รวมถึงมีจอขนาดใหญ่ฉายภาพงานบรรยากาศพิธีให้คนข้างนอกเห็น มันจะเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าหากในอนาคตงานบวชจะอยู่ในลักษณะนี้จริงๆ ก็พูดยาก ผมคงต้องพูดด้วยความยุติธรรมว่าจริงๆ แล้ว เรื่องวิวัฒนาการในเชิงพิธีธรรมทางศาสนา มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

บางเรื่องก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีเสียทีเดียว มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ เช่น การกินเลี้ยง มีดนตรีทำให้คนไม่เบื่อ ทำให้คนอยากมาร่วมงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางอย่างมันก็เลยเถิด จนกระทั่งหมิ่นเหม่ไปในทางเสื่อมศีลธรรม

อย่างที่เห็นกันอยู่แล้วว่างานบวชทุกวันนี้คนมาก็เมาแหลก มันก็ผิดศีล 5 อยู่แล้ว แต่โดยธรรมชาติก็มองว่ามันเป็นความสนุกสนานของวิถีชาวบ้าน จนมันเลยขอบเขตของศาสนาไป หรือแม้แต่การโชว์โคโยตี้มาเต้นวาบหวิวเร้ากิเลส เร้าตัณหา แต่ก็เพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมงาน”

สุดท้าย นักวิชาการคนเดิม แนะทางออกเกี่ยวกับค่านิยมงานบุญในสังคมไทยว่า วัดมีสิทธิ์กล่าวข้อห้ามในการร่วมพิธีที่ไม่เหมาะสมของประชาชนได้ รวมถึงประชาชนเองต้องทำความเข้าใจด้วยว่าการจัดงานบวช ไม่จำเป็นต้องจัดงานอย่างอลังการเสมอไปถึงจะได้บุญ

“ผมมองว่าอะไรก็ตามที่อยู่ในเขตธรณีสงฆ์ เจ้าอาวาสย่อมมีสิทธิ์ห้าม จะห้ามด้วยหลักศาสนา หรือห้ามด้วยความคิดเห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของสถานที่ และผู้ที่เป็นเจ้าพิธี ก็ต้องยอมรับว่ามีกฎหมายอยู่แล้วในเขตวัด ไม่ใช่แค่วัดอย่างเดียว แต่หมายถึงศาสนสถานด้วย

แต่มันก็ไม่ได้ง่าย ยกตัวอย่าง ในอดีตวัดอาจมีอำนาจเหนือชุมชน แต่ทุกวันนี้ชุมชนมีอำนาจเหนือวัด ผมคิดว่าที่แก้ไขได้แน่นอน คือ เริ่มจากวัดก่อน ต้องห้ามเด็ดขาดไปเลยว่าห้ามกิน ดื่ม เต้น ในนี้ ห้ามเปิดเพลงเสียงดัง

ส่วนที่สอง คือ สื่อกระแสหลักต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ช่วยเผยแพร่ข้อมูลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง และสุดท้าย ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นมีความสำคัญไม่แพ้กันที่จะช่วยตักเตือนว่าแบบนี้ไม่เหมาะสม ค่านิยมเหล่านี้จึงจะค่อยๆ เปลี่ยนไป”

ข่าวโดย ทีมข่าว MGR Live



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น