“ถ้าแท็กซี่ไม่รับ ให้ตะโกนดังๆ ว่า คุณตำรวจคะ แท็กซี่คันนี้เลือกรับลูกค้าค่ะ แล้วทุกอย่างก็จะออกมาอย่างที่เห็น (เอาใบสั่งไปกิน)"
เห็นได้ชัดว่าวิธีปราบแท็กซี่ของเธอคนนี้ได้ผลแค่ไหน ยิ่งเมื่อโพสต์บอกเล่าเรื่องราว “กำราบโชเฟอร์ช่างเลือก” ถูกแชร์ต่อๆ กันไป ยิ่งทำให้ “ประชาชนขาโบก” ต่างมองเห็นทางสว่างจนอยากเอาเป็นแบบอย่างไปตามๆ กัน เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่าเหล่าผู้โดยสารตาดำๆ จะไม่ยอมก้มหน้ารับชะตากรรมการ “ถูกปฏิเสธ” อีกต่อไป!!
หมั่นไส้ “โชเฟอร์ช่างเลือก” ขอ “พี่ตำรวจ” จัดไป!!
[ถูกปรับไป 1,000 โทษฐานปฏิเสธผู้โดยสาร]
“ส่วนตัว หมั่นไส้แท็กซี่มานานละ จะกลับบ้านที เรียก10 ไป 1 เลือกรับลูกค้า ทั้งๆ ที่ตำรวจก็อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่ไปก็อยากให้ตอบดีๆ ยิ้มและปฏิเสธดีๆ ไม่ใช่ว่าบอก “พัฒนาการ 26” เอากระจกขึ้นแล้วไม่ตอบอะไร บางคนทำหน้าทำตาใส่ มารยาทแย่มาก... ตำรวจก็เห็นกับตาว่าไม่รับจริงๆ สุดท้ายก็ตามเนื้อผ้าค่ะ
แท็กซี่แพลทินัมระวังไว้ให้ดี รอบหน้าเลือกเอา เลือกลูกค้า หรือใบสั่ง กูขี้ฟ้องนะบอกเลย ไม่สนอะไรทั้งนั้นอะ #แท็กซี่แพลทินัมจะลุกเป็นไฟ รู้กันไหมคำว่า ซื่อสัตย์กับอาชีพของตัวเอง”
เมื่อโพสต์บนเฟซบุ๊ก "Kuptun Pamika" ถูกเผยแพร่ออกไป เจ้าของเรื่องราวกำราบโชเฟอร์คันสีเหลืองอย่าง กัปตัน-เปมิกา เนาว์แสง แม่ค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์วัย 24 ก็กลายมาเป็นประเด็นร้อน ให้ผู้คนได้ลุกขึ้นมาถกเถียงปัญหาเก่าที่ไม่เคยแก้ได้ อย่างเรื่อง “แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร” กันอีกระลอก
ทั้งยังส่งให้เจ้าหน้าที่ในชุดกากี ณ จุดตรวจแพลทินัมกลายเป็น “ฮีโร่” ส่วนเจ้าของโพสต์อย่างกัปตันก็กลายเป็น “ไอดอล” ด้านการปราบแท็กซี่ไปโดยปริยาย ถึงกับมีคนเข้ามาเรียกร้อง ขอให้เธอไปช่วยโบกแท็กซี่ตาม “จุดโบกยอดฮิต” อีกหลายแห่งที่ผู้คนถูกเทบ่อยที่สุด เพราะอยากให้เจ้าของรถรับจ้างสาธารณะเหล่านั้นเข็ดหลาบกับพฤติกรรมเลือกปฏิบัติเสียที
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หญิงสาวได้แต่ยกความดีความชอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้น ที่ใส่ใจในความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้สัมภาษณ์เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านปลายสายว่า ใจจริงก็สงสารแท็กซี่เหมือนกันที่ถูกปรับ เพราะรู้ว่ากว่าจะหาเงินมาได้แต่ละบาท ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ในเมื่อเลือกที่จะทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะเลือกรับผู้โดยสารไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเหตุผลใดๆ ก็ตาม
“จริงๆ แล้ว ครั้งนี้พี่ตำรวจก็ไม่ได้ช่วยหนูโบกนะคะ เพียงแค่ช่วยเข้ามาเคลียร์ ปกติหนูทำงานขายเสื้อผ้าออนไลน์ ทำให้ต้องไปแพลทินัมบ่อยมาก ไปวันเว้นวันเลย และเห็นเรื่องแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารจนเป็นเรื่องปกติไปแล้วด้วย แต่วันนั้นพอเห็นพี่ตำรวจอยู่ตรงนั้น เลยอยากรู้ว่าเขาจะจัดการกับเรื่องนี้ยังไงได้บ้าง ก็เลยตะโกนบอกพี่ตำรวจตรงนั้นไปค่ะ
บอกไปว่า "พี่คะ พี่แท็กซี่เขาเลือกรับค่ะ" แล้วหนูก็ชี้ให้พี่ตำรวจดู แต่ตอนแรกตำรวจยังไม่เห็นว่าปฏิเสธหรือเปล่า เขาเลยบอกให้หนูลองไปเรียกคันใหม่ให้ดู หนูเลยเรียกแล้วเขาก็ปฏิเสธ พอพี่ตำรวจเห็น เขาก็เลยเดินมาเคลียร์ให้ และเขาก็คุยกันอยู่นานมาก หนูก็เลยเดินมาโบกคันอื่นแถวนั้น และคันต่อมาก็ยอมรับหนู อาจจะเพราะเห็นแท็กซี่คันนั้นคุยกับพี่ตำรวจอยู่ด้วยมั้งคะ เลยไม่กล้าเลือกลูกค้าอีก
เท่าที่เห็น ตำรวจที่ประจำจุดนั้น เขาจะมีหนังสือบันทึกประจำวันเล่มนึง ที่หน้าปกเขียนไว้ว่า "เลือกรับลูกค้า" น่าจะมาจากที่ผู้โดยสารตรงนั้นเดินไปร้องเรียนกับตำรวจบ่อยๆ ซึ่งหนูมองว่าพี่ๆ ตำรวจตรงนั้นเขาใส่ใจประชาชนมากนะคะ
ถ้าเทียบกับตรง “ตลาดนัดรถไฟ” ที่หนูเคยขอความช่วยเหลือพี่ตำรวจ ตอนโบกแท็กซี่แล้วถูกปฏิเสธหลายครั้งมาก แต่เขาก็แค่บอกให้เราลองเรียกคันอื่นดู ทั้งๆ ที่ตำรวจเขากำลังตรวจจับหมวกกันน็อก อยู่ห่างจากตรงจุดที่เรียกแท็กซี่ไม่เท่าไหร่เอง แต่เขากลับไม่สนใจเรื่องที่เราร้องเรียน”
["กัปตัน-เปมิกา เนาว์แสง" ไอดอลปราบแท็กซี่ในวินาทีนี้]
ให้ลองมองปัญหาเรื่องการเลือกรับผู้โดยสาร ที่หยั่งรากลึกมานานและแก้ไม่หายสักที ในฐานะคนที่ถูกปฏิเสธมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วอย่างกัปตัน มองว่าต้นตอจริงๆ มาจาก “จิตสำนึก” ของคนขับแท็กซี่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากในการปรับเปลี่ยนให้ได้ทั้งหมด ทางออกที่น่าจะได้ผลที่สุดตอนนี้ก็คือ การสั่งสอนโดยบทลงโทษจากสังคม แม้จะเป็นวิธีแก้จากปลายเหตุไปหน่อย แต่คิดว่าน่าจะได้ผลในระยะยาว ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยให้ความร่วมมือ
“หนูว่าทางที่ดี ถ้าจุดไหนที่คนเรียกแท็กซี่กันเยอะๆ และเป็นช่วงรถติดด้วย การมีพี่ๆ ตำรวจมาประจำจุด มาช่วยตรวจสอบ หรือคอยรับเรื่องร้องเรียน ก็อาจจะแก้ปัญหาระยะยาวได้นะคะ ถ้าแท็กซี่เขาเห็นว่าโดนปรับกันเยอะจริงๆ เขาก็อาจจะเข็ดที่จะปฏิเสธผู้โดยสารก็ได้
แต่เอาจริงๆ ถ้าเราแก้ปัญหาได้ที่ต้นตอ แก้ที่ตัวแท็กซี่ได้ ถ้าแท็กซี่มีจิตสำนึกไม่ปฏิเสธผู้โดยสารตั้งแต่แรก ก็จะไม่มีใครเดือดร้อนเลย ทั้งคนเรียกอย่างพวกเรา ทั้งพี่ตำรวจที่ต้องทำงานเพิ่ม ต้องมาคอยตรวจจับกรณีนี้เพิ่มไปอีก ถ้าทุกคนซื่อสัตย์ในอาชีพของตัวเอง ถ้าแท็กซี่ไม่เอาแต่หวังรวยทางลัด คอยแต่จะให้คิดราคาเหมาอย่างเดียว”
แก้ได้แค่เฉพาะหน้า? “ตำรวจพร้อมโบก-แท็กซี่พร้อมเท”
“ความผิดฐานปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 จัตวา ประกอบกับ มาตรา 66/2 กำหนดให้ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งยังต้องถูกส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกและมาตรการ เป็นเวลานาน 3 ชั่วโมง พร้อมกับทำบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ
และหากตรวจสอบพบการกระทำผิดซ้ำ ได้รับการร้องเรียนปัญหาการให้บริการอีกในภายหลัง หรือความผิดที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แท็กซี่คันนั้นจะถูกดำเนินการลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด ถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถสาธารณะทันที”
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดบทลงโทษ ที่ทางกรมการขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก เป็นผู้ชี้แจงเอาไว้ ซึ่งเป็นบทลงโทษเดียวกับที่ “แท็กซี่คันเหลือง” ผู้ถูกหญิงสาวกำราบที่แพลทินัมได้รับ นั่นก็คือโทษปรับ 1,000 บาท, ให้เข้าอบรม และถูกยึดใบอนุญาตขับรถสาธารณะนาน 1 เดือน
[ภาพและข้อมูลของ "โชเฟอร์ช่างเลือก" จาก บริษัท สมาร์ท แท็กซี่ จำกัด]
นอกจากนี้ บริษัท สมาร์ท แท็กซี่ จำกัด เครือข่ายผู้รับผิดชอบแท็กซี่คันดังกล่าว ยังได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านแฟนเพจ “Smart Taxi.,Ltd” ให้สังคมได้เห็นแล้วว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งยังเป็นฝ่ายค้นหาข้อมูลแท็กซี่จากรายละเอียดข่าว ช่วยค้นจนพบตัวโชเฟอร์ผู้กระทำผิดจากฐานข้อมูล และนำส่งกรมการขนส่งทางบกให้ดำเนินการตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
“ที่อยากจะแจ้งคือเราไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะพยายามทำทุกๆ อย่างที่ทำได้เพื่อให้อาชีพนี้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง หวังว่าผู้ใช้บริการทุกคนจะให้โอกาสพวกเราได้พัฒนาแท็กซี่ให้ดีขึ้นต่อไป และต้องขออภัยแทนสมาชิกที่กระทำความผิดมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ”
ลองมองย้อนกลับไปดูเกี่ยวกับกรณีแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร จะพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และดูเหมือนจะไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้ ไม่เว้นแม้แต่กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดือน พ.ย. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็เคยมีเคสผู้โดยสารรายหนึ่ง ยืนโบกรถใต้รถไฟฟ้าอุดมสุข แต่ถูกปฏิเสธตลอด กระทั่งต้องถึงมือตำรวจช่วยโบกให้ บรรดารถรับจ้างเหล่านั้นจึงยอมรับคนไปส่งในที่สุด
[เคสตำรวจช่วยโบกแท็กซี่ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ณ รถไฟฟ้าอุดมสุข]
ตรงตามที่แฟนเพจการ์ตูนล้อเลียน "SquidMan.ExE" ที่ได้ออกมาวาดภาพเสียดสีสังคม เกี่ยวกับประเด็นแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารรายล่าสุด ที่ตั้งคำถามหยิกแกมหยอกเอาไว้ว่า ต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจต้องมี “หน่วยบริการเรียกแท็กซี่ให้บริการประชาชน” เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้
ทั้งนี้ เมื่อลองเข้าไปอ่านคอมเมนต์ของผู้คนดูจึงพบว่า มีผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมาก เพราะมองว่าการให้ตำรวจโบกแท็กซี่ให้ อาจช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จริง คือทำให้แท็กซี่ยินยอมรับผู้โดยสารขึ้นรถไปได้ แต่สุดท้ายก็อาจถูกเทลงกลางทางอยู่ดี อย่างที่ผู้โดยสารรายหนึ่งเคยถูกกระทำมาแล้ว
เมื่อทีมข่าวลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับ “เหยื่อแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร” เพิ่มเติม จึงพบว่าเหยื่อที่ผู้คนพูดถึง คือผู้หญิง 2 คนที่เรียกแท็กซี่ที่อนุสาวรีย์ชัยเพื่อไปลาดกระบัง ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง แต่ก็ถูกปฏิเสธตลอด โดยให้ข้ออ้างว่า “แก๊สหมด” ทั้งสองจึงเดินไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ วานให้ช่วยโบกแท็กซี่ให้
พอได้พิงหลังกับพนักเก้าอี้ภายในรถก็คิดว่าจะได้กลับบ้านแล้ว แต่กลายเป็นว่าต้องเจอเรื่องไม่คาดฝันหนักกว่าเดิม คือโชเฟอร์คนนั้นเอาผ้าขนหนูคลุมมิเตอร์ไว้ ก่อนขับไปอีก 200 เมตร แล้วก็พูดกับผู้โดยสารขึ้นมาว่า “คุณลงตรงนี้แหละ แก๊สผมหมด ทางบ้านผมกับทางบ้านคุณมันคนละทางกัน ผมเห็นตำรวจเลยรับ ขี้เกียจมีปัญหา”
[คลิปแท็กซี่แกล้งรับผู้โดยสารเพราะตำรวจโบก ก่อนปล่อยทิ้งหลังขับมาได้ 200 ม.]
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นอีกมุมว่า บางครั้งการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจไม่ใช่ทางออกที่ได้ผลเสมอไป ทางที่ดีที่สุดจึงควรเลือกวิธี “ร้องเรียน” เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย อย่างที่กรมการขนส่งทางบกได้ระบุเอาไว้
“กรณีพบรถโดยสารสาธารณะให้บริการไม่ปลอดภัย เอาเปรียบ ให้จดรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็น หมายเลขทะเบียนรถ, ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ, วัน-เวลา-สถานที่เกิดเหตุ แล้วส่งข้อมูลร้องเรียนไปที่สายด่วน 1584 หรือไลน์ไอดี 1584dlt แล้วทางกรมการขนส่งทางบก จะเร่งดำเนินการให้ในทันที”
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **