xs
xsm
sm
md
lg

แรงไปไหม? มาตรการขั้นเด็ดขาด!! ตำรวจประกาศ "ยิงขา" สกัด "แว้นทางเท้า"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ทางเดินเท้าของคนหรือทางวิ่งรถของใคร!? คนเดินหมดหวังฟุตปาธไทยแลนด์ “ตั้งวิน-ขับซิ่ง-ต้องหลบหลีก” ปัญหาหมักหมมเกินเยียวยา ล่าสุด มาตรการเด็ดขาดใครขัดขืน-ต่อสู้การจับกุม “ยิงขา” ป้องกันตัวได้ทันที! ประชาชนเสียงแตก “เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” ด้านนักกฎหมายดัง เปิดใจ นี่แค่ความผิดลหุโทษ เจ้าหน้าที่ยิงคนก็เกินไป!

“ฟุตปาธไทย” เป็นได้ทุกอย่างยกเว้น “ทางเท้า”

ผู้ขับขี่บนทางเท้า 100 รายต่อเดือน! ขณะที่โรงพักทั่วกรุงเทพฯ จับกุมไม่ต่ำกว่า 700 ราย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 61 มีผู้กระทำผิดไปแล้ว 14,000 ราย รวมเปรียบเทียบปรับทั้งสิ้น 50 เขต เป็นเงิน 1.7 ล้านบาท!!

นี่คือตัวเลขที่น่าตกใจจาก 'กองบังคับการตำรวจจราจร' ได้เปิดเผยไว้ หลังจากที่มีการบันทึกผลการจับกุมผู้ที่ขับขี่บนทางเท้าในกรุงเทพฯ หลายพื้นที่ จากตัวเลขค่าปรับที่สูงถึงหลักล้านเป็นผลสะท้อนให้เห็นว่าจิตใต้สำนึกการใช้ถนนร่วมกันของคนไทยอยู่ในขั้นวิกฤตเสียแล้ว!

ขณะที่กระแสการตื่นตัวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายห้ามผู้ขับขี่บนทางเท้ากำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ที่เห็นจะเป็นประเด็นขึ้นมาจนสังคมออนไลน์พูดถึงอย่างหนัก หนีไม่พ้นคำสัมภาษณ์จากผู้บังคับการตำรวจจราจร 'พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์' ที่พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายห้ามผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าว่าหากมีการขัดขืนต่อสู้ เจ้าหน้าที่ก็ป้องกันตัวได้ด้วยเช่นกัน

“ท่านอย่านึกว่า ต้องมาทำร้ายตำรวจให้เกิดบาดแผลแล้วถึงจะยิง ผมบอกไว้ก่อน ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของเทศกิจก็ดี ของทหารก็ดี ขนส่งก็ดี

ถ้ามีพฤติกรรมต่อต้านแล้วขัดขวาง ขัดขืนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ขณะจับกุม จะบอกว่าเกินกว่าเหตุ ผมก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ผมปลอดภัยไว้ก่อน จะยิงขา ยิงอะไรก็ยิงไป เพื่อสกัดกั้นการคุกคาม ก็จะใช้มาตรการรุนแรงไปด้วย”


 
หลังจากที่มาตรการดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป แน่นอนว่าสังคมออนไลน์มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึง โดยเสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คิดว่ามาตรการนี้อาจรุนแรงหรือทำเกินกว่าเหตุไปหรือไม่

“เอาเป็นว่าเจ้าหน้าที่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน เห็นเกลื่อนไป ตำรวจนี่แหละที่ทำผิดซะเอง”

“ใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้จริงจังและเด็ดขาดก่อนเถอะ ปรับหนักๆ ยึดรถไปเลย ไม่ใช้ยื่นให้ร้อยเดียวก็ปล่อย ยิงขาคนขับ กระสุนเลยไปถูกหัวคนอื่นจะรับผิดชอบไหวไหม”

“วิธีแก้ปัญหานี้ที่ได้ผลที่สุดสำหรับเมืองไทย คือ อนุญาตให้คนเดินเท้าสามารถทำร้ายร่างกายผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนฟุตบาทได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย รับรองเห็นผลรวดเร็ว”

“ใจเย็นนะ อันนี้คือกรณีไม่ยอมให้จับแล้วจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ เขาก็ให้ป้องกันตัวได้ แต่ถ้าโดนสอบเรื่องทำเกินกว่าเหตุทีหลัง ไม่รู้ท่าน ผบ.จะปกป้องลูกน้องยังไง แล้วตำรวจบ้านเรายิงแม่นขนาดนั้นเลยเหรอ ถ้ายิงพลาดแฉลบไปโดนคนอื่นจะทำยังไง เกลียดพวกขับรถบนทางเท้านะ จะขึ้นค่าปรับหรืออะไรก็ว่าไป แต่ก็ควรมีหลักการ”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการนี้จัดการกับผู้ขับขี่บนทางเท้าที่ขัดขืนการจับกุม หรือใช้กำลังคุกคามเจ้าหน้าที่มองว่า เห็นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอยากให้มีบทลงโทษที่หนักกว่าที่ผ่านมา สอดคล้องกับเหตุการณ์ล่าสุดที่มีลุงท่านหนึ่งถูกผู้ขี่รถมอเตอร์ไซค์วนกลับมาชนบนฟุตปาธจนได้รับบาดเจ็บ เพียงเพราะกล่าวตำหนิการขี่รถบนทางเท้าเท่านั้นเอง

ความผิดลหุโทษ อย่าทำเกินกว่าเหตุ!!

“มันเป็นแค่ความผิดลหุโทษจะอะไรหนักหนา ในขั้นตอนการจับกุมของตำรวจ หน้าที่ของคุณ คุณต้องรู้ว่าจะจับกุมข้อหาไหน ถ้าข้อหาค้ายา-พยายามฆ่า-ฆ่าคนตาย แล้วคุณจะยิงเขา ผมไม่ว่า แต่กรณีนี้โทษปรับไม่เกิน 400 บาท ตาม พรบ.จราจรทางบก คุณจะไปยิงเขา มันก็ไม่ใช่”

คำตอบดุดันจากปากนักกฎหมายชื่อดัง 'รณรงค์ แก้วเพ็ชร' เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังต่อสายตรงสอบถามถึงประเด็นมาตรการรับมือกับผู้ขัดขืนการปฏิบัติหน้าที่ขณะจับกุม ในกรณีฝ่าฝืนขับขี่รถมอเตอร์ไซต์บนทางเท้าที่สังคมพูดถึงอย่างกว้างขวางในเวลานี้

ด้านทนายความชื่อดังมองว่าแม้การฝ่าฝืนเพื่อขับขี่บนทางเท้าจะเป็นปัญหาที่หมักหมมในสังคมไทยมานาน แต่การที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีสกัดผู้ขัดขืนการจับกุมด้วยการใช้กำลังปะทะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยเพราะทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน แถมได้เสนอทางออกที่ลงตัวที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย

“ต้องกระทำการที่ควรแก่เหตุ ถ้าสมมติว่าคุณจับกุมแล้วมีการหลบหนีเกิดขึ้น ก็ให้นำโทรศัพท์มาบันทึกภาพไว้ว่าใครเป็นผู้ขับขี่ มีเลขทะเบียนรถอะไร จากนั้นนำไปส่งร้อยเวรให้ออกหมายเรียกมา ไม่ใช่กระทบกระทั่งกัน

ผมถามว่าระหว่างการถ่ายภาพกับการที่คุณเอาปืนไปยิง คุณจับคนร้ายได้เหมือนกัน แต่ต่างกันที่อย่างหนึ่งคุณถูกฟ้อง กับอีกอย่างหนึ่งคุณจบสวยและไม่ต้องไปตีกับใคร

 
การป้องกันตัวต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ถ้าทางฝ่ายประชาชนถือมีดขึ้นมาจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ป้องกันตัวได้อยู่แล้ว ถ้ามีปืนก็สามารถใช้ปืนยิงได้ โดยขั้นตอนในทางกฎหมายจะต้องยิงขู่เพื่อให้ถอยไปก่อน ถ้ายิงขู่แล้วไม่ถอยก็ให้ยิงที่ขา แขน แต่สำหรับกรณีนี้จะไม่ใช่การจับกุมแล้ว จะเป็นการป้องกันตัวต้องแยกกัน

แต่ถ้าพูดถึงการป้องกันตัว ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าผมแนะนำนะ ให้ใช้สมองคิดหน่อย ถ้าชาวบ้านไม่ยอมให้จับ คุณก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพและนำไปให้ร้อยเวรออกหมายเรียกจะได้ไม่ปะทะกัน ใช้สมองในการบริหารงานหน่อย เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะทำให้ประชาชนกับตำรวจมีเรื่องกัน จะทำไปทำไมก็ต้องใช้วิธีที่ลดแรงปะทะกันดีกว่า”

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายคนเดิมยังกล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น จากเดิมที่เสียค่าปรับเพียงไม่กี่ร้อยบาท ให้เพิ่มการกักขังเข้าไปด้วยเพื่อสร้างสามัญสำนึกและไม่กลับมากระทำผิดอีก

“การบังคับใช้กฎหมายมันไม่จริงจังไง คนก็เลยไม่กลัว จริงๆ กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว ส่วนพระราชบัญญัติจราจรทางบกมีมานานกว่านั้นอีก กฎหมายมีมาตั้ง 30-40 ปีแล้ว แต่เราเพิ่งมาตื่นตัวช่วงหลังจากที่เล่นโซเชียลฯ กัน
ภาพ FB: เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์
 
ส่วนการตั้งป้อมดักที่ทางเท้าก็ถือเป็นเรื่องดี ถ้ากำลังพลไม่พอก็ไปขอเทศกิจมาช่วย มันเป็นเรื่องความปลอดภัย เป็นเรื่องการใช้รถบนทางเท้า ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องช่วยกัน แต่ไม่ใช่ไปยิงเขา แค่นั้นเอง

สุดท้าย ผมอยากให้มีมาตรการอย่างเข้มข้นไปเลยว่า ใครที่ขี่รถบนฟุตปาธให้นำตัวไปกักขังไว้สัก 3-7 วัน จะได้สำนึก ไม่ควรมีแค่เสียค่าปรับ ปรับนี่จ่ายแค่เศษเงิน แต่ต้องนำตัวไปกักขังจะได้สำนึก คนจะได้กลัวกฎหมายมากขึ้น เพราะโทษมันเบาไป”

ในแง่บทลงโทษทางกฎหมายสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (7) มีโทษปรับ 400 - 1,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถบนทางเท้ายังกระทำผิด ในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 (2) ห้ามจอดหรือขับขี่บนทางเท้าปรับไม่เกิน 5,000 บาท นั่นเอง

ข่าวโดย MGR Live


กำลังโหลดความคิดเห็น