xs
xsm
sm
md
lg

ครู-ตำรวจ-นักมายากล “พ่อพระ”ผู้เป็นทุกอย่างให้เด็กข้างถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชีวิตของเด็กเร่ร่อน กับเส้นขนานบนทางรถไฟ! เปิดเรื่องราวหลังเครื่องแบบ “ครูโจ่ย” ครูตำรวจข้างถนนที่อุทิศตัวดูแลเด็กเร่ร่อนเหมือนลูก! สอนหนังสือ-ให้โอกาส-ให้ความรัก มานานกว่า 20 ปี ไม่เพียงแค่นั้น เขายังยอมเรียนมายากล เพื่อสอนเด็กให้มีอาชีพ จนใครหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เขาทำยิ่งกว่าคำว่า "หน้าที่" อย่างแท้จริง



20
ปี อุทิศตนเพื่อ"เด็กเร่ร่อน"






“ตั้งแต่ปี 40 ช่วงปีนั้นเด็กด้อยโอกาสหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากเลยว่าเด็กข้างถนนเยอะมากๆ (มีสีหน้าและน้ำเสียงเศร้า)โดยเฉพาะพื้นที่หัวลำโพง สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เลยคิดว่า เราใช้วิธีจับอย่างเดียวมันไม่ได้ผลเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เดี๋ยวก็ออกมาก่อปัญหาอีก


เราเริ่มทดลองโครงการสักโครงการดีไหม โดยเอาตำรวจไปเป็นเพื่อนไปเป็นพี่ หรือว่าไปเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ เขาก็เลยตั้งชื่อว่าโครงการครูตำรวจข้างถนน เพื่อที่จะให้ตำรวจไปทำหน้าที่เปรียบเสมือนครูอบรมสอนเด็กเผื่อพฤติกรรมเขาจะดีขึ้นมา”

นี่คือคำพูดของ “ร...ชาติชาย โจ่ยสา” ผู้บังคับหมู่สถานีรถไฟตำรวจนพวงศ์กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจรถไฟหรือ “ครูโจ่ย” ครูตำรวจข้างถนนผู้ดูแลเด็กเร่ร่อนบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยการใช้ความรักเป็นตัวนำทางพาให้เด็กหลายคนที่เกือบจะหมดโอกาสในสังคมกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น

ด้วยบทบาทของตำรวจที่ต้องเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีมีหน้าที่รักษากฎหมายปราบปรามคนทำผิด บริการประชาชนดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย จนบางครั้งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานในแง่บวกและแง่ลบอยู่เสมอ

ครูโจ่ยหนึ่งในสมาชิก“โครงการครูตำรวจข้างถนน”ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ และกิจวัตรของเขาในแต่ละวันร่วม 20 ปีให้ฟังเอาไว้ว่า ในการเข้าร่วมโครงการนี้ต้องถามถึงความสมัครใจก่อน พอรู้ว่ามีโครงการนี้ก็รีบสมัครเข้าร่วมทันที เพราะการรับหน้าที่เป็นตำรวจรถไฟบริการพี่น้องคนไทยบริเวณหัวลำโพงมาตั้งแต่เริ่มได้เห็นความลำบาก และเด็กเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนมากบริเวณหัวลำโพง ซึ่งตอนเริ่มงานนั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะตำรวจกับเด็กเร่ร่อนมันคนละทางกัน

“ภารกิจทุกวันที่ทำคือ งานด้านบริการประชาชนที่ใช้รถไฟเป็นพาหนะ มาหัวลำโพงแล้วก็จะต้องต่อรถแท็กซี่ไป เราก็ช่วยอำนวยความสะดวกดูแล หลังจากนั้นก็จะมีงานเสริมขึ้นมาเป็นงานอุ่นไอรักฯ เวลาผู้โดยสารที่จะไปในงานอุ่นไอรักฯ เราก็จะมีรถบัสพิเศษสำหรับนำผู้โดยสารจากสถานีหัวลำโพงไปที่งานอุ่นไอรัก หลังจากจบงานอุ่นไอรักฯ แล้วดูแลผู้โดยสารเสร็จเรียบร้อยภารกิจอีกภารกิจคือ เด็กด้อยโอกาสหรือที่ชาวบ้านเรียกทั่วๆ ไป คือเด็กข้างถนนอาจจะหลงเข้ามาในพื้นที่เมื่อเจอเมื่อพบเราจะเข้าไปดูแลเด็กเหล่านั้นทันที

ตั้งแต่ที่เปิดโครงการมา เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่พบมีอายุ 5-10 ขวบ สายตรวจเขาก็มองสภาพเด็กแล้วเขาก็เรียกเราทันทีเลยว่า ครูน่าจะเป็นคนออกจากบ้านมาช่วยมารับไปดูหน่อย เราก็รีบเข้าไปเลยครับ เพื่อจะไม่ให้เด็กออกไปไกลมากถ้าเด็กไม่สามารถกลับบ้านได้ หรือไม่สามารถที่จะบอกพิกัดที่เขาอยู่ได้ เราก็จะมีองค์กรเครือข่ายของเรารับเด็กนี้ไป”

การเป็นอาสาสมัครครูตำรวจข้างถนนของครูโจ่ยนั้น ทำให้เขาต้องเรียนรู้การทำงานกับเด็กเร่ร่อนซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าการเป็นตำรวจเป็นหนึ่งอุปสรรคของเขาในช่วงแรก

ตอนแรกเราใส่เครื่องแบบไปทำงานเลยนะครับ เข้าไปถึงเด็กไม่ได้ หาเด็กไม่เจอ เด็กก็จะรู้ว่าตำรวจมาแล้วน่าจะมาจับเพื่อนเขา หรืออะไรเขาเข้าหาเด็กไม่ได้เลย

ราก็จะศึกษาก่อน ศึกษาจากองค์กรเอกชนที่เขาทำงานในท้องถนนนี้ก่อน เขาเรียกว่าครูข้างถนนขององค์กรเอ็นจีโอที่เขาทำอยู่แล้ว

เช่นศูนย์สร้างสรรค์เด็กศูนย์เมอร์ซี่
(MercyCentre: บ้านพักสำหรับเด็กเร่ร่อน) คลองเตย เขามีครูลงพื้นที่ก็จะเข้าไปถามเทคนิคการทำงาน พอเราเป็นเครือข่ายกันแล้ว เขาก็จะบอกว่าครูโจ่ยถ้ายังใส่เครื่องแบบอีก 2 ปีครูโจ่ยคงไม่เจอเด็กแน่ ครูโจ่ยต้องอย่างนี้ ต้องไม่แต่งเครื่องแบบแล้วเวลาครูโจ่ยเข้าหาเด็กกลุ่มนี้ อันดับแรกต้องมีขนมนมเนยก่อนมีเสื้อผ้าหลอกไปล่อเขาก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้บางที 4-5 วันไม่เคยมีเสื้อผ้าใส่เลย และสุดท้ายก็คือ ความรักครูโจ่ยจะต้องมีความรักไม่ใช่ครูโจ่ยจะไปทำเพื่อให้เด็กมาต้องมีความรักก่อน ครูโจ่ยต้องมีความรักให้เด็กกลุ่มนี้คือต้องมองเด็กกลุ่มนี้อย่างน้อยๆ ไม่เป็นลูกเราก็เป็นหลานเรา”

[มายากลซ่อนรัก นำพาเด็กมีชีวิตดี]
สำหรับวิธีการที่จะรับเด็กเข้ามาดูแลนั้น สิ่งที่ดูเป็นอันดับแรกคือ ความเป็นมาของเด็กว่ามีครอบครัว และความเป็นมาอย่างไรจึงจะส่งไปยังเครือข่ายที่ทำหน้าที่ดูแลส่วนนี้อยู่ ซึ่งรูปแบบการทำงานจะมีหลายรูปแบบทั้งนำไปส่งยังมูลนิธิฯ แต่บางคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตข้างถนนเหมือนเดิม

เด็กในมูลนิธิฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเรากำหนดเขาไม่ได้ครับ เพื่อนเขากำหนดได้เพื่อนของเขาที่ไปอยู่มูลนิธิฯ น่ะครับ เวลาเขามีค่าย เขาก็จะมารวมกันมีกิจกรรมร่วมกัน สมมุติว่าจัดค่ายที่เขาใหญ่ เขาก็จะเอาเด็กเร่ร่อนตามท้องถนนและเด็กมูลนิธิเครือข่ายไปรวมกันไปพูดคุยกัน ซึ่งเด็กเลือกเข้ามูลนิธิมากกว่า เพราะเขายังอยากมีอนาคตที่ดีอยู่

โดยที่เขาเลือกเข้ามายังมูลนิธิฯ เหตุผลเพราะว่ามีครูตำรวจข้างถนนมีองค์กรครูข้างถนนคอยบอกเขาคอยชักชวนเขาตลอดเวลา”

จาก “ครูตำรวจข้างถนน” สู่ “ครูตำรวจมายากล”

จากการที่เห็นชีวิตคนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัยนับไม่ถ้วน ชายผู้เป็นครูตำรวจข้างถนนรายนี้ เขาได้เห็นถึงปัญหาด้านความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนที่ส่วนใหญ่จะยากจน และด้อยโอกาสจึงได้คิดวิธีการต่างๆ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีอาชีพ และหล่อเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต

แม้ว่ามีสถานที่ให้เรียนพร้อม แต่ใช่ว่าเด็กเร่ร่อนจะยอมนั่งเรียนหนังสือได้โดยง่าย สิ่งสำคัญที่ครูโจ่ยทำคือ ไม่บังคับให้พวกเขาเรียนหนังสือ เพราะบางคนก็หัวแข็งต่อต้านเรื่องนี้ แค่มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พวกเขามีความคิดที่ดีไม่ไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้สังคมก็เพียงพอ

“เมื่อคืนผมไปท้องสนามหลวงมามันมีการโชว์ที่ดีมากเลยมีการโชว์มายากล เราก็แบบเฮ้ย! มันเป็นยังไงเขาก็จะบอกว่าพ่อมันเป็นแบบนี้ พ่อรู้จักสำลีไหมที่อยู่กับอาจารย์ฟิลิป(เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์)ตัวดำๆ ตัวเล็กๆ น่ะเขามาโชว์เมื่อคืน เล่นเก่งมากเลย พ่อรู้ไหมเจ้าสำลีเป็นแบบผมเลย เป็นเด็กเร่ร่อนแบบผม

อาจารย์ฟิลิป(นักมายากลชื่อดัง)เขาเก็บไปเลี้ยง แล้วเขาโคตรเก่งเลยพ่อ เอาอย่างนี้ผมไม่เรียนหนังสือแล้วพ่อ พ่อเอาแบบนี้ พ่อไปเรียนมายากลแล้วมาสอนผม ผมจะเป็นแบบเจ้าสำลีมันบ้าง

ผมได้ไอเดียเลยนะ ผมก็ถามไปว่าจะให้ผมทำยังไงเขาก็บอกว่าพ่อก็ไปเรียนมายากลกับอาจารย์ฟิลิปแล้วมาสอนผม ผมจะได้มีอาชีพ พอผมออกเวรเย็นนั้นปุ๊บผมไปที่โรงเรียนอาจารย์ฟิลิปเลยนะ”

ด้วยคำบอกเล่า และความมุ่งมั่นของเด็กที่อยากเรียนมายากล ทำให้ครูโจ่ยได้เห็นมุมมองและมีแนวคิดบางอย่างจึงตั้งใจเข้าไปศึกษาจากครูฟิลิป เพื่อนำกลับมาสอนให้เด็ก

เอารูปอะไรติดไปด้วยก็ไปหาอาจารย์ฟิลิป แล้วไปบอกอาจารย์ครับผมจะมาเรียนมายากล อาจารย์ฟิลิปก็ยังไม่รู้ข้อมูลของผมเขาก็บอกว่าการเรียนเป็นมายากลได้เนี่ยคุณจะขึ้นเวที ต้องมี 3 สเต็ป สเต็ปแรกต้องมีพื้นฐานก่อน 10,000 บาท สเต็ปที่2 เริ่มรู้อุปกรณ์อีก10,000 บาท สเต็ปที่3 ขึ้นเวทีเสกนก เสกอะไรอีก 10,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาท เรียนไหม

ผมเลยบอกเขาว่า อาจารย์ครับที่จริงแล้วผมเป็นครูสอนเด็กเร่ร่อนตามท้องถนน อาจารย์เขาก็ยังไม่เชื่อนะครับผมก็เลยเอารูปให้ดูเขาก็ดูว่าเป็นครูเหรออาจารย์ก็เชื่อครับ

อาจารย์ฟิลิปเขาก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ครูถ้าจะเรียนมายากลมันค่อนข้างจะแพง อุปกรณ์ก็แพงมากเอาอย่างนี้เดี๋ยวผมให้คนไปจัดอุปกรณ์เบื้องต้นมาให้ครูเรียนพื้นฐานก่อนนะ ครูไปเรียนเอาเองสมัยนั้นก็เป็นเทปคาสเซ็ตก็ใส่วิดีโอ อาจารย์ฟิลิปก็อนุเคราะห์ให้ชุดเบื้องต้นมาครูก็ไปเรียนเอาแล้วกันนะ ไปเปิดวีดีโอแล้วก็ศึกษาทำอุปกรณ์อย่างนี้ทำยังไง พอผมได้มาอย่างนั้นปุ๊บผมศึกษาดูเลยครับ”

ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการเรียนมีราคาค่อนข้างสูง และความตั้งใจที่จะเรียนแต่การแสดงมายากลนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครจะทำได้ เขาได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปแสดงให้เด็กดูครั้งแรกคิดว่าเด็กคงชอบ แต่สิ่งที่ได้พูดถึงครูโจ่ยก็ต้องนึกถึงมายากล


มันเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งพอเขาเริ่มสนใจ เราก็เริ่มสอนเขาบอกหนูมานี่ มันเรียนอย่างนี้นะถ้าเช้ามาไม่ได้ไปไหนไกลมาอยู่ตู้นะมาฝึกเรียน มาเริ่มเรียน

เวลาผมมีงานผมก็จะเอาเขาไปด้วย ให้เขาเรียนรู้ ให้ไปเป็นผู้ช่วยให้เขาช่วยยกของยกนู่นยกนี่ บอกเขาว่าเห็นไหมจะได้ใจกล้าขึ้นเวทีได้ เผื่อบางทีไม่มีพ่อ ไปเล่นคนเดียวพ่อส่งงานให้ก็จะได้มีวิชาติดตัว พอเขาได้ไปเล่นงานแรกเขาได้เงินมาน่าจะคนละ 500 บาท เขาดีใจมากเลย(ตอบด้วยความภาคภูมิใจ)

เขาบอกมายากลมันสร้างรายได้ให้เรา โดยที่เราแสดงให้เขาแล้วเขามีความสุข โดยเฉพาะน้องปิยะวัฒน์เขาก็เขียนหนังสือมาว่าพ่อผมได้มายากลของพ่อ เวลาผมทำงานมีงานมีตติ้งปีใหม่ ผมเอามายากลของพ่อไปโชว์เขาทึ่งมากเลย เราก็ดีใจครับที่ว่าอย่างน้อยๆ มีลูก 1 คน 2 คนที่เขาได้ติดตัวไป”

ทำด้วยใจทิ้งความดีให้คนข้างหลัง!!

“เราจะพาเขาเข้าไปให้เห็นเลยว่าพิษภัยมันเป็นยังไง แล้วคนที่ติดยาเสพติดมันจะเป็นยังไง เราจะพาเขาไปที่ถ้ำพระบาทน้ำพุเลย จะมีกลุ่มผู้เสพติดที่่เข้ามาบำบัดพาเข้าไปนอนที่นั่น เข้าค่ายที่นั่นเลยครับ



แล้วก็ให้เขาเห็นเลยว่า โรคเอดส์เป็นยังไง เราก็พาไปดู ซึ่งเขาก็ไปเห็นคุณลุงคนหนึ่งที่เป็นเอดส์ระยะสุดท้าย ก็เข้าไปคุยกัยเขา พอรุ่งขึ้นอีก 1 วัน คุณลุงแกนอนอยู่ในโลงแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตของเด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการก่ออาชญากรรม ครูโจ่ยเลือกที่จะทำให้เด็กเหล่านี้รู้จักยาเสพติดจากประสบการณ์ตรง โดยการให้เขาไปเห็นของจริงเองเพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตัวเอง ลำพังที่จะนั่งพูดนั่งสอนคงไร้ประโยชน์

“เขาก็คิดได้ช่วงหนึ่ง แต่ถ้าเขากลับมาลงพื้นที่อยู่ในสภาพเดิม เราก็จะต้องบอกเขาว่าทุกคนมีกรรมของตนเองอันไหนที่หนูคิดว่าทางเลือกที่มันดีหนูเดินไป พ่อ และแม่บอกได้เท่านี้ หนูจะเชื่อหรือไม่เชื่อแล้วแต่เขาล่ะครับ ส่วนใหญ่เราจะสอนการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไม่ไปเบียดเบียนใคร”


นอกจากดูแลเด็กเร่ร่อนให้เรียนหนังสือฝึกอาชีพ เพื่อเติบโตไปมีอนาคตที่ดีไม่เป็นภาระต่อสังคมแล้ว ครูโจ่ยยังเปรียบเสมือนพ่อที่ไม่เคยปฏิเสธที่จะช่วยเหลือยามลูกๆ ตกทุกข์ได้ยาก และกลับมาขอความช่วยเหลือ

น้องๆ ทุกคนก็จะมีโทรศัพท์ทุกคนจะมีเบอร์ผม มีไลน์ น้องเขาบางทีก็มีครอบครัวนะครับกับกลุ่มเร่ร่อนด้วยกันนี่แหละ ไลน์มาโทร.มาบ้างว่าพ่อตอนนี้ลูกหนูไม่ค่อยสบายพ่อพอจะมีเงิน 400-500 บาทไหม

เราก็เข้าใจว่าที่ลูกโทรมา จะจริงหรือไม่จริงเราก็ต้องช่วยเหลือไว้ก่อน เราก็บอกว่าอ่อเดี๋ยวพ่อโอนไปให้นะพ่อมี 500 บาทเดี๋ยวพ่อโอนไปสัก 300 บาทก่อนนะลูกนะ ก็ช่วยเขาไป

มีหลายเคสหลายอย่างบางรายก็โดนตำรวจจับ ตำรวจก็โทร.มาครูโจ่ยลูกครูไปลักขโมยของเขาอีกแล้วนะเอาไงดี เราก็บอกว่าเอาอย่างนี้ได้ไหมครับผู้กองถ้าไม่ได้มากอะไรช่วยเหลือเขาสักนิดเถอะ ผู้กองเขาก็บอกว่าครูโจ่ยต้องดูแลเขาหน่อยนะเดี๋ยวผมพูดคุยกับทางร้านเขาให้ว่ามันเป็นลูกครูโจ่ย เขาก็ช่วยในสิ่งที่เขาจะช่วยได้

เราได้รับการบริจาคจากองค์กรเอกชน แล้วเราก็ไปขอข้าวจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่อยู่ใกล้ๆ ครับ เขาก็จะบอกว่า ครูถ้าเด็กเยอะนะเอาไปเดือนละกระสอบ เราก็จะเอารถไปรับมา แล้วก็มีผู้ใจดีเขาบริจาคเสื้อผ้าเราก็จะมาคัดแยกว่าอันนี้เด็ก อันไหนลำดับไหนแล้วก็จะมีพวกอาหารแห้งบะหมี่แห้งอะไรพวกนี้ เพื่อที่จะปรุงให้เขากินตอนเช้า งบประมาณเราแทบจะไม่มี บางครั้งเราก็ต้องควักเงินของเราออกไปก่อนเราจะได้น้อยมาก”

สำหรับปัญหาเด็กเร่ร่อนออกมาใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากครอบครัว ครูตำรวจรายเดิมต้องใช้วิธีการเข้าไปคุยสร้างความเข้าใจ การรับรู้ทั้ง 2 ฝ่ายลดช่องว่าง สร้างกำแพงให้แก่ครอบครัวเมื่อครอบครัวเข้าใจกัน เด็กก็ไม่ออกจากบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่

ปัจจุบันสภาพสังคมมีการแปรเปลี่ยนประกอบกับการแก้ไขเด็กเร่ร่อนดีขึ้น ทำให้จำนวนเด็กกลุ่มนี้ในพื้นที่น้อยลงและเด็กๆ หลายคนที่ดูแลเติบโตเป็นผู้ใหญ่

แม้ชีวิตการทำงานของครูโจ่ยจะต้องเจออุปสรรค และแรงเสียดทานของกระแสข่าวลบของตำรวจไทย ในฐานะคนทำงานตรงนี้แล้วนั้นเขายังทิ้งท้ายอีกว่า หากพูดถึงในสิ่งที่เขาได้ทำลงไปรู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสช่วยเหลือ เพื่อนมนุษย์กลุ่มหนึ่งให้เติบโตไปในสังคมอย่างเข้มแข็งและการที่เด็กมีความสุขเด็กไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด ประชาชนจากที่มองเด็กเป็นแค่ขยะสังคมกลับเมตตาสงสารนั่นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับเขาแล้ว

เมื่อเรามีเหตุที่ต้องท้อแท้เราใช้ธรรมะเข้ามา 1.ความอดทน อดกลั้น 2.เรามีจิตใจที่ปกป้องอารีเราคิดว่าสิ่งที่เข้ามาเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป

ทุกคนเจอปัญหาทั้งนั้น แต่ทุกคนจะอยู่กับปัญหานั้นไห มคิดว่ามันผ่านมาแป๊ปเดียวเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ความทุกข์มันก็ทุกข์กันทุกคนแหละครับ แต่เราก็คิดว่ามันไม่อยู่กับเรา 3- 4 วันหรอกมันคงจะอยู่กับเราแค่วันเดียวเดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็ไปแล้ว เราจะมีความสุขแล้วช่างมัน ทุกข์แค่นี้เราแก้ปัญหาไปเขาอยู่กับเราแป๊ปเดียวก็ไป

เช่นเดียวกับความสุข ความสุขมันก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน เพราะฉะนั้นเราอย่าประมาทเราจะตั้งความไม่ประมาท แล้วการที่เรามีจิตใจที่โอบอ้อมอารีกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”


สัมภาษณ์ :รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง :ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง :ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์







** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น