xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลแห่แชร์ภาพล้อการเมือง แฮปปี้ตั้งพรรคเอง นักจิตฯ ชี้เป็นกลวิธีคลายเครียด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลือกตั้งไทยเคร่งเครียด แต่โซเชียลฯ กลับแฮปปี้ แห่ตั้งพรรคของตนเอง แชร์ว่อนเต็มโลกออนไลน์ นักจิตวิทยาชี้ ทำเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ขอเตือนอย่าล้อเล่นเกินงาม ระวังคุกคาม-ถูกฟ้องได้

การเมืองกำลังเข้มข้น หลายพรรคต่างก็ได้ลงพื้นที่หาเสียงอย่างดุเดือด แต่บนโลกออนไลน์กับมีเรื่องให้ตลก สร้างความผ่อนคลาย และแชร์กันให้ว่อนเน็ต กับป้ายล้อเลียนพรรคการเมือง โดยการตั้งชื่อพรรคและนโยบายของพรรคตามใจตัวเอง

เริ่มกันที่แฟนเพจ “หมอแล็บแพนด้า” ซึ่งมียอดผู้ติดตามเกือบ 2 ล้าน ที่ได้ออกมาโพสต์ภาพการตั้งพรรคของตนเองชื่อ “พรรคผ่อนไม่เพียงพอ” ซึ่งเน้นนโยบาย ทุกวันคือวันพักผ่อนของคนไทย ทั้งยังบอกอีกว่า “นอนน้อยแต่นอนนะ มานอนด้วยกันไหมล่ะ จะได้รู้ว่านอนไหม”



ส่วนอีกพรรคคือ “พรรคเพื่อผัว” ที่สร้างโดยนักแสดงชาย แทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม ได้โพสต์ผ่านอินตราแกรม @tack_pharunyoo ภายใต้สังกัดเหล่าพ่อบ้านใจกล้า ระบุชัดว่าสร้างไว้สำหรับปราบภรรยาดุ และต้องให้อิสระกับสามี อย่างนโยบายข้อที่ระบุว่า “เพิ่มกฎหมาย เมียห้ามเก็บเงินผัว ลดปัญหาผัวซ่อนเงินเมีย”



นอกจากคนดังแล้ว ยังมีบุคคลทั่วไป ได้ตั้งชื่อ “พรรคนี้มึงอ้วนขึ้นนะ” โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ปุ้มค่ะ มาทวงหนี้” ที่มีนโยบาย “กินหมูกระทะฟรีทุกเดือน ลดราคาบุฟเฟต์ให้ผู้มีรายได้น้อย และแจกยาเบาหวานฟรีไม่ต้องตรวจสุขภาพ” ซึ่งถูกตั้งคำถามไว้ว่า จงใจโพสต์เพื่อล้อเลียนป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 62 หรือกำลังแฝงนัยอะไรไว้หรือเปล่า?



[ภาพจากเฟซบุ๊ก Tossaporn Klunkaew]

ทั้งนี้ทางทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อ ดร.ชาญ รัตนะพิสิฐ อาจารย์ประจำหลักสูตร วท.บ.จิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของสังคมโซเชียล ที่กำลังติดกระแสความตลกการล้อเลียนป้ายหาเสียงนี้ โดยอาจารย์บอกว่า การเลียนแบบป้ายหาเสียงเป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องนี้กำลังเป็นกระแส ซึ่งคนทำอาจมีนัยยะเพื่อสร้างกระแสให้ตัวเอง หรือการทำเช่นนี้อาจช่วยลดความตึงเครียดจากการเมืองก็เป็นได้

“ในขณะนี้กำลังมีสถานการณ์ทางสังคมที่คนไทยบางส่วน โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ (Social Network) ออกมาทำป้ายหาเสียงในเชิงตลกขบขัน เลียนแบบพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งอาจมองได้ 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เป็นการสร้างเนื้อหา เพื่อให้ผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แสดงความคิดเห็น กดไลค์และแชร์ภาพ

[ภาพจากแฟนเพจ ใครฆ่าอารยา]

[ภาพจากแฟนเพจ บริษัทฮาไม่จำกัด]

โดยอาจทำเพื่อความสนุก เป็นการเพิ่มผู้ติดตาม หรือเพื่อสร้างแบรนด์ทางการตลาดให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปที่เห็นว่าเรื่องนี้สนุก ตลกขบขัน อาจจะอยากลดความตึงเครียด ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตหรือการเมืองก็ได้ จึงเกิดการเลียนแบบ

และมิติที่ 2 คือมีนัยยะทางการเมือง มีผลการศึกษาจากหลายสถาบัน ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งที่มีความถูกต้อง และเหมาะสมเกิดขึ้นในประเทศไทย

โดยบุคคลส่วนหนึ่งที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองและการเลือกตั้ง จึงได้ผลิตเนื้อหาภาพตัดต่อป้ายเลียนแบบนี้ออกมา และอาศัยพลังของสังคมออนไลน์ให้ช่วยดึงดูดความสนใจ ให้คนไทยกลับมาเห็นความสำคัญกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

[ภาพจากแฟนเพจ ใครฆ่าอารยา]

[ภาพจากเฟซบุ๊ก Jame'z Bond]

แต่การล้อเลียนในครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการสร้างกระแสที่จริงจัง หรือซีเรียสมากเกินไป จึงออกมาในเชิงของภาพกึ่งๆ ล้อเลียนตลกขบขัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ

แต่อย่างไรก็ตามในการสร้างป้ายหาเสียงในเชิงล้อเลียนนั้น ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และระมัดระวังเกี่ยวกับภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ที่มาในรูปแบบของการแสดงความคิดเห็น หรือการนำภาพของบุคคลมาล้อเลียนจนอาจก่อให้เกิดความเสียหาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น