xs
xsm
sm
md
lg

ยอดป่วยพุ่ง 3 เท่า!! แพทย์แฉรัฐ เลิกลวงข้อมูล "ฝุ่นมรณะ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


องค์การอนามัยโลกยืนยัน 91% การตายเกิดจาก “ฝุ่นพิษ” สถิติคนไข้ป่วยเพิ่ม 3 เท่า แถมส่วนใหญ่เป็นเด็ก แพทย์แฉหน่วยงานรัฐ เลิกลวงข้อมูลประชาชน แล้วหันมาตั้งค่าวัด PM 2.5 ตามมาตรฐานโลก และแก้ปัญหาให้จริงจังเสียที




เด็กท่วมคลินิก วิกฤตจนแพทย์ห่วง

เชื่อไหมว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตฝุ่น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า วัดจากคลินิก 10 แห่ง เป็นสิ่งที่แพทย์ยืนยันมา และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ องค์การอนามัยโลกยืนยันแล้วว่า คนตายจากฝุ่นละอองพิษสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์

นี่คือคำพูดจาก ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้พูดเตือนเอาไว้ผ่านงาน “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” ซึ่งจัดโดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญเรื่องสุขภาพคนไทยให้เห็นว่า กำลังเข้าขั้นวิกฤตอย่างไม่อาจปล่อยปละละเลยได้อีกต่อไป



[ศ.นพ.รณชัย นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์]
“ขณะนี้ทุกคนตื่นตระหนกจากฝุ่นจิ๋วนี้ ถ้ามองจากภาพดามเทียมขนาดนี้ มันกระจายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก ทุกคนคงรู้ว่ามันเล็กเป็นแค่ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผมเท่านั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมันสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในลมหายใจ ซึมเข้าไปจนถึงเส้นเลือดได้ จึงเป็นปัญหาจากการเจ็บป่วย

ผมได้ถามคลินิกกว่า 10 แห่งถึงเรื่องสถิติการรักษา ได้รับคำตอบว่า ช่วงนี้คนป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าและส่วนใหญ่เป็นเด็ก ความเจ็บป่วยเหล่านี้นำไปสู่ปัญหากองทุนสุขภาพ ที่ค่ารักษาเพิ่มเป็นแสนกว่าล้านต่อปีแล้ว

และถ้าฝุ่นละอองจิ๋วนี้เพิ่มประมาณขึ้นอีก ตัวเลขตรงนี้ไม่หยุดแน่ๆ ถ้าวันนี้สังคมไทย รัฐบาลไทยไม่ตระหนักถึงปัญหา


องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า 91 เปอร์เซ็นต์ ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุเกิดจากฝุ่นละอองพิษ โดยแนะว่าถ้าทุกประเทศทำให้อากาศอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 15 ไมโครกรัม(มคก.)/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คนในพื้นที่นั้นจะมีอายุยืนขึ้น 20 เดือน เราห่วงใยสุขภาพคนไทย จึงได้ออกมาพูดเพื่อให้รัฐมีมาตราการที่เข้มงวดกว่านี้และเพื่อลดงบประมาณค่ารักษาด้วย”



คนไทยตายผ่อนส่ง ข้อมูลกรมมลพิษฯ ลวงประชาชน

ฝุ่นเมืองกรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่แรกของแหล่งกำเนิด PM 2.5 แต่ภาคเหนือของไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษจิ๋วนี้มานานแล้ว

ด้าน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ได้พูดถึงผลกระทบที่ได้รับจากฝุ่นพิษที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯ เจอเหมือนกันนี้ไว้ 3 ประเด็นคือ1.ฝุ่นกระทบต่อชีวิตขั้นรุนแรง 2.การกำหนดค่ามาตรฐาน และ 3.การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน

โดยประเด็นแรกได้วิเคราะห์ถึงเรื่อง “ฝุ่นกระทบต่อชีวิตขั้นรุนแรง” จนทำให้อายุขัยของคนไทยลดลงทุกครั้งเมื่อสูดดมฝุ่นพิษที่มีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และสะสมโรคภายไว้ในร่างกายเพื่อรอตายผ่อนส่งหรืออาจตายเฉียบพลัน

พบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. ของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น อายุขัยจะสั้นลงเกือบปี ซึ่งโรคที่คนไทยตายมากที่สุด 1 ใน 5 โรคนั้นเกิดจากฝุ่นพิษ เราจะนิ่งนอนใจไม่ได้เพราะไม่เห็นว่าจะมีใครออกมารับผิดชอบเลย PM 2.5 ทำให้เป็นมะเร็งปอดในระยะยาวได้ คนไทยมีตายสดและตายผ่อนส่งจากไอ้เจ้าฝุ่นจิ๋วนี้”

สำหรับประเด็นที่ 2 เรื่อง “การกำหนดค่ามาตรฐานการวัดค่าของฝุ่นพิษของไทย” ซึ่งที่ไม่เป็นไปตามมาตราฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม. แต่กรมมลพิษกำหนดไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ทำอย่างนี้เหมือนหมกเม็ดปัญหา ทางที่ดีควรทำตามค่ามาตรฐานโลก และควรวางแผนการลด ฝุ่นPM 2.5 อย่างจริงจังได้แล้ว



[ศ.นพ.ชายชาญ อายุรแพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่]
ค่าเฉลี่ยที่กรมมลพิษกำหนดเป็นการหมกปัญหา ซุกฝุ่นไว้ใต้พรม ค่าเฉลี่ยที่เชื่อถือได้คือขององค์การอนามัยโลกได้ศึกษาเป็นอย่างดี สำหรับค่าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชนค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 25 และค่าเฉลี่ยรายปี ไม่ควรเกิน 10

ถ้าเราสามารถลดจากค่าฝุ่นจากสีแดงให้มันเหลือสีเขียว โดยค่อยๆ ลดตามที่ WHO แนะนำเป็นลำดับขั้น เราจะลดการศูนย์เสียจากการตายก่อนวัยอันควรจากโรคถุงลมโปร่งพอง หลอดเลือดสองและมะเร็งปอด ฯลฯ ทั้งหมดได้”

และประเด็นสุดท้ายสำคัญเช่นกันคือเรื่อง “การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน” ซึ่งทุกวันนี้การรายงานค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษของกรุงเทพฯ มีรายงานแค่รายวันกับรายปี แต่ทางภาคเหนือที่เจอฝุ่น PM 2.5 ก่อน มีการรายงานรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการตัดสินใจทำกิจกรรมของประชาชนได้ด้วย กรุงเทพฯ ควรมีรายงานค่าฝุ่นรายชั่วโมง

“ค่าเฉลี่ยรายวันและรายปีของไทย ตั้งค่าเฉลี่ยไว้สูงไป เมื่อสูงมากแล้วค่อยมาเริ่มเตือนเหมือนเป็นการลวงประชาชน ดัชนีอากาศของไทยไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ การที่กรมมลพิษตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นไว้สูงเหมือนกับจะเอาใจภาคเศรษฐกิจหรือภาคนโยบายบริหารจัดการของภาครัฐมากกว่าคำนึงถึงสุขภาพของประขาชน

ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศของไทยจะเป็นกลุ่มเพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการมลพิษ ตามมุมมองการบริหารและเศรษฐกิจเป็นหลัก เสริมด้วยเพื่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนและ คือเห็นภาคเศรษฐกิจดีกว่าประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนก็คือทรัพยากรของประเทศ ถ้าเราลดค่าฝุ่นของไทยมาอยู่ที่ 15 จะเพิ่มอายุขัยได้ 3 เปอร์เซ็นต์



มีบ้างไหม? “พรรคการเมือง” ที่ตระหนักเรื่อง “ฝุ่นพิษ”

เจอวิกฤตฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯ คนเมืองต่างตระหนกเช็คข้อมูลระดับความอันตรายของฝุ่น แต่แน่ใจได้อย่างไรว่า ข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ว่า

ก่อนจะจัดการกับฝุ่น ต้องเริ่มจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือก่อน เพราะข้อมูลที่ตรงไปตรงมาจะสามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่แพทย์ออกมาพูดเพราะเป็นห่วงสุขภาพของคนไทยในระยะยาว แต่เศรษฐกิจที่ผู้บริหารกำลังห่วงมันอายุสั้น

“อนาคตกับฝุ่นจิ๋ว เราต้องเริ่มต้นจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ องค์ประกอบของฝุ่นจิ๋วมีเยอะ ทั้งควันรถ การเผ่าไหม้และอื่นๆ อีกมากมาย ไทยต้องหาต้นต่อของฝุ่นนี้ให้ได้ว่าเกิดจากอะไร และต้องมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้ทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกัน และนำมาซึ่งการแก้ปัญหาจะดีกว่าข้อมูลจาก google ที่ไม่รู้ว่าข้อมูลมาจากไหน


[รศ.นพ.ฉันชาย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]

ฤทธิ์ของฝุ่นจิ๋ว มี 2 รูปแบบคือ “แบบเฉียบพลัน” ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ซึ่งมีโอกาสเกิดหัวใจขาดเลือดได้ และอีกแบบคือ “โรคเรื้อรัง” ที่เรามองข้าม การวัดค่าเฉลี่ยรายปีที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีฝุ่นนี้อยู่ ผลจากการสูดดมฝุ่นพิษในระยะยาวทำให้เป็นโรคมะเร็ง ถุงลมโปร่งพอง สมองเสื่อมและพัฒนาการของเด็กแย่ลง

ในมุมมองของแพทย์ เราควรมีนโยบายให้ชัดเจนจะทำยังไงให้ค่าเฉลี่ยรายปีลดลง เพื่อทวงอากาศที่หายใจอยู่ทุกวันให้มีค่าตามมาตราฐานโลก อันนี้เป็นการป้องกันในระยะยาว เรามีกฎหมายอยู่ก็ควรต้องกล้าบังคับใช้เพื่อสุขภาพของประชาชน เป้าหมายของแพทย์คือสุขภาพต้องมาก่อน เพราะสุขภาพมันระยะยาว ถ้าจะเอาระยะสั้นไปเอาเศรษฐกิจเลย เพราะอีกหน่อยก็เจ๊ง

ผมคิดว่าการแก้ปัญหามีอยู่ 3 ขั้นตอน คือเราต้องมีเป้าหมายให้ชัด วัดผลให้ได้และต้องมีโครงการที่ต้องไปให้ถึง คือเป้าหมายสุขภาพมักขัดแย้งกับเป้าเศรษฐกิจ ในบางประเด็น ลองไปดูบอร์ดกรรมการของสุขภาพ จะเห็นว่ามีกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งเขาก็มีเป้าหมายของเขา มีนักการเมืองพรรคไหนไหมที่จะเอา PM 2.5 นี้ลงบ้าง



[รศ.นพ.สุทัศน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ]
ก่อนปิดการเสวนา ด้วยความรู้ใหม่จาก รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ที่ออกมาเตือนว่า บุหรี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของฝุ่นพิษที่ควรระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะสูบเองหรืออยู่ใกล้ก็เป็นอันตราย ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงกว่า PM 2.5 อีกด้วย

“ฟังดูแล้วเรื่องบุหรี่ไม่น่าจะเกี่ยวกับ PM 2.5 สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ทุกคนสามารถปฏิบัติเองได้และไปผลักดันคนรอบข้างได้ด้วย โดยไม่ต้องรอนโยบายจากรัฐ สาเหตุของฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ทุกคนรู้ว่าเกิดจากการเผาไหม้ การก่อสร้างและควันดำของรถ และคิดว่าควันสีขาวของบุหรี่อันตรายไหม

มีงานวิจัยเขาทำไว้เทียบการสูบบุหรี่ 3 มวล กับควันไอเสียรถยนต์ดีเซล พบว่าค่า PM 2.5 ของบุหรี่สูงกว่าควันรถยนต์ โดยค่าของรถยนต์อยู่ที่ 250.8 แต่ค่าของควันบุหรี่สูงถึง 591.8 แต่สิ่งใกล้ตัวที่เราคิดไม่ถึงเป็นสาเหตุของฝุ่นพิษ และทราบไหมว่าคนไทยเราสูบบุหรี่ประมาณ 10.9 ล้านคน สูบบุหรี่แล้วอย่าคิดว่าควันมันจะหายไป ควันมันยังตกค้างอยู่ในพื้นที่นั้น แล้วอย่างนี้ฝุ่นจิ๋วมันจะไปไหนได้

เพราะฉะนั้น คนคนหนึ่งที่กำลังสูบบุหรี่อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเราสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมของเราได้หรือแม้แต่ช่วยสุขภาพของเราเองให้ดีขึ้นด้วย โดยไม่เพิ่มปริมาณของฝุ่นจิ๋วและ PM 2.5 จากควันบุหรี่ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าเข้าร่างกาย



[งาน “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” ซึ่งจัดโดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์]

สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: irishtimes.com, home.bt.com



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น