xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งจบ-ปัญหาไม่จบ!! รัฐบาลไหนก็ล้มเหลว กูรูเตือน “อย่าฝากความหวังกับนักการเมือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแนะไทยไปไกลกว่าได้เลือกตั้ง ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา ก้าวทันให้ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน พร้อมวางนโยบายจัดการกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ เตือน! อย่าฝากความหวังไว้กับนักการเมือง ประชาชนต้องมีส่วนขับเคลื่อน ฝากรัฐบาลใหม่ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มคุณภาพชีวิต



เร่งแก้วิกฤติการศึกษา พาเศรษฐกิจไทยก้าวให้ทันโลก!!

ไม่ใช่แค่ตระหนักแต่ต้องตระหนกและตกใจ “มองเมืองไทยให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” เวทีสัมมนา ที่นำเสนอมุมมองครบทุกมิติเกี่ยวกับทิศทางของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง จากผู้เชี่ยวชาญทุกแขนง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย เกษตรกรรม การศึกษา พร้อมฟังผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยจากนิด้าโพล ในขณะที่การเมืองไทยยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งจัดขึ้นโดยหลักสูตร บสส. รุ่นที่8 สถาบันอิศรา
 
จากการสำรวจของนิด้าโพล สําหรับสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด หลังการเลือกตั้ง 2562 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.79 ระบุว่า ประเทศสงบสุข และประชาชนมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 22.11ระบุว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยร้อยละ 13.88 ระบุว่า ประเทศที่ปราศจาก การคอรัปชัน โปร่งใสตรวจสอบได้ร้อยละ 8.14 ระบุว่า

ประเทศกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียนร้อยละ 5.03 ระบุว่าประเทศที่ ปราศจากการรัฐประหารและประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียงไม่ว่าจะรวย หรือจนในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 4.79 ระบุว่าการศึกษาที่มี คุณภาพร้อยละ 4.07 ระบุว่าการบริการด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน (ค่ารักษาพยาบาลการบริการด้านสาธารณสุขฯลฯ) และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่คาดหวัง อะไร และไม่แน่ใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

ด้าน ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาด้านการศึกษา รวมถึงเป้าหมายและทิศทางในการจัดการศึกษาของประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งไว้ว่า ควรมีการกระจายโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งปัญหาในการศึกษาของประเทศไทยหลักๆ มี 4 ปัญหา 

คือ 1. คุณภาพการศึกษาต่ำ เพราะการศึกษาเน้นแต่เนื้อหา เน้นการท่องจำ 2. ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา คุณภาพการศึกษาไม่เท่ากัน มีเพียง 1-2% ที่มีคุณภาพสูง อีกกว่า 99% คุณภาพต่ำ 3.การศึกษาของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เลย ความสามารถในการแข่งขันเราอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 56 ของโลก 4. ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการลงทุนเพื่อการศึกษาของประเทศกว่า 350,000 ล้านบาท แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ

“สื่อคือตัวการสำคัญ การปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้สื่อต้องเข้ามาช่วยเอาข้อมูลต่างๆ ไปเผยแพร่ให้ประชาชน สังคมทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงปัญหาการศึกษา เห็นเป็นปัญหาเล็กน้อย ทั้งที่ปัญหาการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ทั้งหมด ถามว่าจะหวังให้ใครมาช่วยแก้ แน่นอนหน้าที่รัฐบาลก็มี หน้าที่นักการเมืองก็มี แต่อย่าหวังมาก เพราะทุกคนต้องช่วยกันแก้มันถึงจะสำเร็จ”

 
ไม่เพียงเท่านี้ รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กับมุมมองที่มีต่อบทบาทและกลไกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงทิศทางทางด้านเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการเลือกตั้ง

โดยมีมุมมองว่า หากประชาชนต้องการให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดี อยู่ดีกินดีหลังการเลือกตั้ง 2562 นักการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะต้องตอบคำถามในการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ คือ 1.รัฐบาลมีการเตรียมพร้อมในการปรับมาตรฐานสินค้าแล้วหรือยัง อีกทั้งมาตรฐานสินค้าควรที่จะต้องดีขึ้น 2.รัฐบาลต้องการเน้นมาตรฐานสินค้าหรือไม่ ซึ่งควรเน้นมาตรฐานสินค้าให้เทียบเท่ากับอาเซียนถึงจะปรับตัวได้ทัน แต่ก็อาจจะยังไปไม่รอด

“ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะในยุคดิจิตอล จะเกิดดิจิตอลดีไวซ์ (Digital Device) คนกลุ่มที่ฉลาดสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้จะรวยมากกว่า หากไม่มีการปรับในด้านเทคโนโลยีตั้งแต่วันนี้ เศรษฐกิจจะแย่ลงไปอีก เพราะเรากำลังเข้ายุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลง การเมืองในยุคนี้จึงต้องตอบคำถามของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ หากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน อนาคตข้างหน้าอาจเกิดวิกฤตได้

เทคโนโลยีในด้าน AI (Artificial Intelligence) ของประเทศเรายังด้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในยุทธศาสตร์แผนพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 ที่ผ่านมา มองเพียงแค่ว่าจะพัฒนาประเทศไปทางไหน แต่ไม่มีการสร้างเกราะคุ้มกันในด้านเทคโนโลยีเลยนยุคดิจิตอลนี้ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มระหว่างประเทศส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้ อาจารย์ยังบอกอีกว่าในอนาคตจะมีการตกงานเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาขึ้นของ AI และ Internet Of Thing(การที่อุปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกเชี่ยมโยงทุกสิ่งสู่โลกอินเตอร์เน็ต) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจำเป็นต้องพัฒนา ไม่อย่างนั้นความสามารถในการแข่งขันเราจะยิ่งแย่กว่าในยุคดิจิตอลแบบนี้”

รศ. ดร.สมชาย ยังเสริมอีกว่า หากถามว่าประเทศไทยมาถูกทางหรือไม่ในการบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ ก็ได้คำตอบว่า ในระดับประเทศมีการแก้ปัญหาแบบนี้อยู่ 2 รูปแบบคือ ประเภทที่เกิดปัญหาแล้วแก้ จะบอกได้แค่ว่า ปัญหาเกิดจากอะไร แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ส่วนอีกรูปแบบคือ แก้ตรงไหนก็แก้อยู่อย่างนั้น แต่บอกไม่ได้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร แสดงให้เห็นว่า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาให้ถูกวิธี ต้องแก้ที่สมมติฐานการปรับโครงสร้างที่กำลังเชื่อมกันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เป็นส่วนที่ท้าทายรัฐบาลในอนาคต




 

ลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิต-ส่งเสริมเกษตรกร

ลองมองจากทั้ง 2 กูรูไปแล้ว เขาเห็นถึงความสำคัญของเรื่องที่ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อีกทั้งต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ให้รู้เท่าทันสื่อยุค 4.0 เพื่อลดการเหลื่อมล้ำของประเทศ

 

ด้าน ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชียวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV(กัมพูชา,ลาว,เมียรมา,เวียดนาม) ได้กล่าวถึงเรื่องภาคเกษตรของไทยว่า 55% ของประชากรไทยทำการเกษตรและมีแนวโน้มลดลง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ศักยภาพด้านการเกษตรน้อยลง และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้
สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาของเกษตรไทยอีกอย่างคือ  เกษตรไทยได้รับผลกระทบจากทุกสถานการณ์ แต่ไม่มีใครเป็นคนกำหนดมาตราฐานของการเกษตรได้เลย และไม่มีใครคัดค้านหรือเรียกร้องได้มาก เพราะเสียงภาคการเกษตรมันเบา ไม่เหมือนด้านการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย ที่มีฝ่ายคัดค้านลุกขึ้นมาต่อต้านเพื่อผลประโยชน์ให้ตนเอง ดังนั้นอาจารย์วรชาติจึงอยากให้สร้างกลยุทธ์ที่มั่นคงให้กับภาคการเกษตรอย่างจริงจัง ลองเทียบภาพการเกษตรปัจจุบันของไทยจากแรงกิ้งการส่งออกของระดับโลก ไทยเริ่มตกอันดับสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรไทยกำลังเดินไปยังไง

“หากเทียบตารางอันดับการส่งออกอันดับโลก ข้าวหอมมะลิของไทยที่เคยอยู่อันดับ 1 แล้งกิ้งข้าวปี 2561 ที่ผ่านมาอันดับ 1 คือเวียดนาม อันดับ 2 หอมลำดวน ประเทศเขมร และอันดับ 3 คือข้าวหอมมะลิไทย แล้งกิ้งเราเริ่มเสียแล้ว”

เมื่อข้าวไทยตกอันดับการส่งออก ยังมีไม้ผลที่ส่งออกและทำรายได้ปีละ 2 หมื่นล้าน เกือบ 3 หมื่นล้าน คือทุเรียน ไทยส่งทุเรียนไปตลาดจีนเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าสังเกตประเทศเพื่อนบ้านเริ่มปลูกทุเรียนหมอนทองเหมือนกับไทยอย่างประเทศกัมพูชา ประเทศเมียรมาร์ และประเทศเวียดนาม อาจารย์วรชาติได้พูดว่ากังวลเกี่ยวกับทุเรียนหมอนทองของประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีพอและจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของทุเรียนไทย

“เมื่อทุเรียนไปถึงจีน คนจีนไม่รู้ว่าทุเรียนลูกนั้นมาจากประเทศไหน เพราะอีก 3 ประเทศก็ส่งไปจีนเหมือนกัน หากคนจีนกินโดนหมอนทองที่ไม่มีคุณภาพ เขาไม่รู้ว่าลูกนี้มาจากตรงไหน ตัวนี้แหละจะเป็นตัวทำร้ายประเทศอย่างใหญ่หลวง”

ขนาดนี้ไทยขายทุเรียนเป็นแบรนด์แล้ว ควรสร้างความโดดเด่นให้กับทุเรียนอย่างประเทศมาเลเซียที่มีการโฆษณาทุเรียนอยู่เกือบทุกที่ของประเทศ และเป็นที่จดจำได้ ในเมื่อทุเรียนไทยมีคุณภาพดีเพราะทรัพยากรของไทยดีควรควรสร้างชื่อให้เป็นแบบแผนมากกว่านี้

คุณภาพทุเรียนที่ดีของไทยมาจากทรัพยากรของไทยต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจารย์วรชาติกล่าวว่าถ้าเทียบเรื่องทรัพยากรไทยเราชนะเลิศแน่นอน แต่จะจัดการอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์ทรัพยากรมีมาก แต่ไทยตกเป็นรองเรื่องการเกษตรตลอดจะทำอย่างไร ไทยต้องทำความสัมพันธมิตรกับประเทศโดยรอบไม่ใช่บอกไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ไทยจะสร้างประโยชน์อะไรได้จากการเป็นศูนย์กลางและอาจารย์ฝากถึงหลังเลือกตั้งว่าควรมีกลยุทธ์ที่จริงจังสำหรับการเกษตรได้แล้ว

“ขอฝากไว้หลังเลือกตั้งน่าจะมีนโยบายในรูปกลยุทธ์ที่จริงจังไม่ใช่แค่ภาพฝันของภาคเกษตร นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ”

 
นอกจากนี้ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฏหมาย กับมุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 และกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่กับการบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ได้ตอบคำถามชัดเจนว่า ภายหลังการเลือกตั้งคนไทย “จะไม่ได้ประโยชน์อะไร” แม้ว่าจะเขียนกฏหมายได้ดีแค่ไหนก็ยังวนเวียนอยู่ที่เดิมคือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของนักกการเมือง

“ขนาดองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่คิดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ยังมีการเมืองแทรกซึมไปทุกองค์กรอยู่ดี และสิ่งที่ทำให้คนไทยล่มจมคือการยุยงให้คนไทยตีกันเอง ไม่เคยมีประเทศไหนทำร้ายประเทศไทย มีแต่เราทำร้ายกันเองหากไปย้อนดูประวัติศาสตร์

เพราะฉะนั้นภายหลังการเลือกตั้งต่อรัฐธรรมนูญท่านจะไม่ได้เห็นอะไร เพราะคำตอบของนิด้าโพลสะท้อนให้เห็นการเป็นประเทศกำลังพัฒนาชัดเจนเพราะพูด แต่เรื่องพื้นฐานปากท้อง ฉะนั้นเราทุกคนควรไม่ใช่แค่ตระหนักแต่ต้องตระหนกและตกใจ ท่านฝากความหวังไว้กับนักการเมืองไม่ได้ แต่ท่านฝากความหวังไว้กับตนเองได้ หลังหย่อนบัตรเลือกตั้งก็ไม่จบทางที่ดีประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ต่างคนต่างมียุทธศาสตร์การเมือง แต่ยังขาดคือยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ”

  

เช่นเดียวกับตัวแทนจากภาคประชาชน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่การแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่อย่างไรประเทศเราต้องมีการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งอยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เชื่อว่าระบบสวัสดิการจะลดความเหลื่อมล้ำได้

“จริงๆ ถ้าถามว่าตอนนี้ คาดหวังอะไร คาดหวังว่าจะเลือกตั้ง และอยากเห็นการเลือกตั้ง ไม่อยากให้ไม่มีความหวังการเลือกตั้ง อย่าคิดว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่ว่าเราต้องมีเลือกตั้ง และต้องเร็วที่สุด ยังไงก็ตามการเลือกตั้งก็เป็นความสำคัญ คนไทยต้องช่วยกันผลักดัน เพราะตอนนี้มันไม่เท่ากันมีหลายมาตรฐาน เช่น เรื่องรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง เราต้องตั้งคำถาม เป็นคนไทยยุคใหม่ต้องเป็นแบบนี้

แน่นอนตอนนี้ต้องลดความเหลื่อมล้ำ เราเป็นอันดับ 1 ประเทศที่เหลื่อมล้ำของโลก แต่เราจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร เราเชื่อว่าระบบสวัสดิการทำให้ลดความเหลื่อมล้ำลง แต่ตัวเราเองที่เป็นประกันสังคม พอเราแก่เรามีเงินแค่ 3,000 บาท เราแก่เราจะอยู่อย่างไร แล้วคนจนทั้ง 14 ล้านคน เขาจะอยู่ยังไง นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องคิด สิ่งที่เราต้องทำคือการจัดอันดับการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินของประเทศนี้”




 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น