ท่ามกลางการถกเถียงของวิกฤตฝุ่นพิษPM2.5 และการตื่นตระหนกของประชาชน เป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความสับสน ต้องเลือกว่าต้องใช้หน้ากากแบบไหนถึงจะได้ผลมากที่สุด ด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบ่งเป็น 3 ฝั่ง ชี้หากไม่มี ให้ใช้ผ้าขาวม้าปิดปาก-ปิดจมูกไปก่อน แต่อีกฟากซ้ำ ยิ่งใส่หน้ากากแบบธรรมดายิ่งอันตราย “เหยื่อฝุ่นพิษ”ตั้งคำถามยิ่งฟังยิ่งมึน ตกลงควรเชื่อฝั่งไหน ชีวิตถึงปลอดภัย!!?
"1 วัน" หรือ "14 วัน" กันฝุ่นซ้ำได้แค่ไหน?
สถานการณ์วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง หน้ากากกันฝุ่น กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของคนกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสู้ฝุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเช้านี้ ส่งผลให้ขณะนี้หน้ากากอนามัย N95 ขาดตลาดเป็นที่เรียบร้อย เพราะคนจำนวนมากกำลังหาซื้อมาใส่ป้องกันฝุ่นละอองจนหมดจากชั้นวางสินค้า
ทั้งนี้ เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง ทางเพจ "Yong Poovorawan” ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์การใช้หน้ากาก N95 ถึงความเชื่อผิดๆ ในการใช้ การแห่เข้าไปซื้อหน้ากาก N95 จนขายหมดอย่างรวดเร็ว
โดยให้ความเห็นว่า ในการที่จะเอาหน้ากาก N95 มาเดินตามถนน เพื่อปกป้องฝุ่นละอองขนาดเล็กคิดว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าหากใส่ถูกวิธี ดึงสายให้แน่น และไม่มีลมผ่านเข้าไปแม้แต่น้อย รับรองได้ผู้นั้นใส่ได้แค่ครึ่งชั่วโมงก็เก่ง แต่ถ้าใส่แล้วมีลมเข้าด้านข้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านบนจมูก หรือด้านข้างก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างไรเลย กับการใช้ถึง N95 ก็ยังคงหายใจเอาอากาศ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ดี
“ในทางปฏิบัติการใส่ดังกล่าว การหายใจจะต้องออกแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติงานเราจะไม่สามารถใส่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน อย่างที่เคยบอก ถ้าเกิน 1 ชั่วโมงก็เก่งแล้ว การใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ขนาดจิ๋ว และใส่ถูกวิธี ป้องกันได้แน่นอน แต่ผู้ที่ใส่ จะทนได้แค่ไหน แต่ถ้าใส่ไม่ถูกวิธี หรือมีลมออกข้างๆ ก็คงไม่ต่างอะไรกับใส่หน้ากากคาดที่หู คนป่วย คนที่ไม่แข็งแรง แล้วโดนใส่ N95 ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะทนได้หรือ
การใส่ N95 แล้วเดินตามถนน ลองเดินเร็วๆดู จะทนไหวไหม ก็คงขึ้นอยู่กับบุคคลโดยส่วนตัว ไม่ได้คัดค้านการใส่ N95 เป็นเรื่องส่วนบุคคล ถ้าจะใส่ก็ใส่ให้ถูกวิธี ในสังคม Social Media ทำให้ขณะนี้ หน้ากาก N95 ขาดตลาด ถ้าเกิดโรคระบาดจริงๆ ในช่วงนี้ ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ จะทำอย่างไร
[ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ]
ผมเข้าใจว่าทุกคนรักสุขภาพ เป็นห่วงสุขภาพ เรากำลังจะทำเกินไปหรือไม่ ฟังฝ่ายรัฐชี้แจงว่าบริเวณไหนที่เป็นสีแดง ก็พยายามหลีกเลี่ยง ไม่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดจิ๋วมาก งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง เรารู้ว่าการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษจะดีที่สุด มลพิษหลักมาจากรถที่ใช้ดีเซล เราจะลดการใช้น้ำมันดีเซลได้หรือไม่
ถ้าทุกคนช่วยกันลดการใช้รถยนต์ ในอนาคตถ้าใช้ไฟฟ้าได้จะยิ่งดี ผมเชื่อว่า ถ้ามีลมหนาวหรือลมแรงพัดเข้ามา ก็จะช่วยกระจายลดมลพิษออกไปได้ รวมทั้งฝนตกได้ยิ่งดีสิ่งสำคัญ เราทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเห็นกรุงเทพฯ ทุกคนใส่ N95 มาเดินตามท้องถนน ก็จะเป็นเมืองแรกของโลก ที่ใช้ N95 มากที่สุดในโลก”
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าฝั่งนี้จะให้คำตอบเอาไว้ว่าแค่ใช้หน้ากาก1ชม.ได้ก็เก่งแล้ว แต่ทางด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการแพทยสภา และเป็นเจ้าของเพจ "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ได้ให้คำตอบผ่านปลายสายแก่ ทีมข่าว MGR Live ไว้ว่าจากการทดลองของต่างประเทศได้มีการยืนยันหน้ากาก N95 สามารถใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 14 วัน และตอนนี้ยังไม่มีการผลิตหน้ากาก N95 ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้นหน้ากาก N95 ที่ประเทศไทยได้ใช้ไม่มีความแตกต่างกับทางต่างประเทศเลย
[ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา]
“หน้ากากของ N95 มันมีรุ่นของมัน เพราะฉะนั้นเวลาที่ซื้อต้องตรวจสอบว่าอันไหนกรองได้มากที่สุด น้อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจะมีเบอร์ของมัน อาจจะต้องสอบถามจากผู้ขายอีกทีหนึ่ง
เพียงแต่เมื่อใส่เข้าไปแล้วคอยเช็กให้มันแนบสนิทกับจมูก กับที่แก้ม แล้วก็ที่คาง แล้วก็เวลาที่เราจะใช้ซ้ำ หากเวลที่เราใช้มา5วัน ,10 วันหรือ 14 วัน เราต้องคอยเช็กที่ขดลวด ที่มันแนบกับที่จมูกและที่แก้มว่ามันไม่ได้หักไม่งอ จนกระทั่งไม่สามารถแนบติดกับแก้มได้ ถ้าหากว่ามันมีรูเผยอก็อาจจะแซมเป็นจุดๆ ใช้ผ้าก๊อซอุดตรงนี้ สอดไปด้านในได้
เท่าที่คุยกับทางองค์การทางเภสัช เมื่อสักครู่อาจารย์ก็ได้บอกว่าทางองค์การเภสัชนี้ไม่มีของ ไม่ได้มีการผลิต ทั้งหมดนี้หน้ากากมันต้องสั่ง และสั่งเข้าจากทางต่างประเทศอยู่ ณ ขณะนี้ไม่มีของในเมืองไทย ต้องสั่งจากนอกหมดเลย
ส่วนหน้ากาก N95 ตัวนี้ถึงแม้ว่ามันจะมีราคาแพง อาจจะราคา 100 - 110 บาท แต่ก็มีการทดลองเรียบร้อยว่าสามารถใส่ซ้ำได้ อย่างน้อยที่สุด14 วัน”
หน้ากากธรรมดา-ผ้าขาวม้า ยิ่งใช้แทน ยิ่งอันตราย!?
ท่ามกลางการขาดตลาดของหน้ากาก ตอนนี้ประชาชนก็มีการหาวิธีว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อนำมาใช้ทนแทนหน้ากาก N95 ได้
ล่าสุดทาง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าหน้ากากอนามัย N95 สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ แต่สามารถใช้ได้ครั้งเดียว และมีราคาแพง ฉะนั้นหากจำเป็นต้องเป็นในพื้นที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยปกติ แต่สวม 2 ชั้น ถ้าต้องการใช้หน้ากากแบบผ้า ก็แนะนำว่าเคยมีการทดลองใช้ผ้าขาวม้า 4 ชั้นมาเย็บ มีคุณภาพเทียบเท่า N95 และสามารถใช้ได้บ่อยมากกว่า
[รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล]
แต่ในขณะเดียวกันทีมข่าวได้ตรวจสอบพบผลงานวิจัยของ ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และดร.ขนิษฐา พันธุรี Thaneyhill นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำไว้เมื่อปี 2551 พบว่าหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ซ้อนทิชชู่ 2 ชั้นก็กันฝุ่นได้ใกล้เคียงกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุว่า หน้ากากชนิด N95 ช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เมื่ออยู่กลางแจ้งได้ 90.82% ขณะเดียวกันเมื่อใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกระดาษทิชชู่ 2 ชั้น ตัวเลขดังกล่าวสูงใกล้เคียงกันที่ 90.80% เท่ากับว่าใช้หน้ากากอนามัยชนิดทั่วไปซ้อนกระดาษทิชชู่ 2 ชั้นแทนหน้ากาก N95 ที่กำลังขาดตลาดได้
ผลจากการวิจัยครั้งนี้มีข้อแนะนำว่า อาจใช้หน้ากากชนิด 3M 8210 หรือ 3M 9002A หรือหน้ากากชนิดที่ใช้ทั่วไปในห้องผ่าตัด (Dura Mask) เพราะสามารถลดระดับของอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยไม่ได้มีการแนะนำให้ใช้ผ้าขาวม้า หรือหน้ากากผ้าที่ทำขึ้นมาเอง เนื่องจากช่องว่างระหว่างเส้นใยใหญ่เกิน ที่ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กเล็ดลอดเข้ามาได้
สอดคล้องกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าในกรณีที่เอาผ้าขาวม้า หรือผ้าต่างๆ มาใช้นั้น ไม่แนะนำให้ใช้ การนำผ้าขาวม้ามาใช้เหมือนการนำผ้าเช็ดหน้ามาปิดปาก ปิดจมูก วิธีแบบนี้เหมาะกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่ แต่ว่าไม่สามารถกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้
“คือถ้าใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดามันไม่ได้ผลอยู่แล้ว ถ้าใส่ควรใส่เป็นแบบหน้ากากอนามัย N95 ทีนี้ยิ่งใส่ N95 เนื่องจากว่ามันมิดชิด เพราะมันจะกันให้ฝุ่นขนาดเล็ก ขนาด2.5 ไมครอน เพราะฉะนั้นมันจะอึดอัดแน่ๆ ซึ่งตรงนี้มันมีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าหน้ากาก N95 สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ 95 % ก็มีการศึกษาหลายอย่างนะครับไปศึกษาใช้ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีภูเขาไฟระเบิด มีควัน และมีฝุ่นเยอะ เวลาใส่มันจะรู้สึกอึดอัดจริง เพราะว่ามันต้องครอบคลุมให้ได้รอบด้านจมูก ลงมาที่แก้ม และคาง
หน้ากากที่เราหามาได้นั้นจริงๆ แล้วกันได้น้อยมาก กันได้ 30-40% เท่านั้นเอง แต่ว่ามีผู้แนะนำเหมือนกัน ถ้าใช้กระดาษบางๆ ธรรมดาแต่ว่าใส่สัก 2 ชั้น แล้วก็ใช้ผ้าก๊อซ หรือว่าใช้ทิชชู่สอดรองเข้าไปด้านในอีกสัก 2 ผืน ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้เห็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยังไงก็ตามอาจจะใช้แก้ขัดไปได้ก่อน แต่ว่าผมไม่ยืนยัน
การนำผ้าขาวม้านำมาปิดปาก ก็เหมือนผ้าเช็ดหน้า ในกรณีนี้ก็คงจะกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่ แต่ว่าไม่สามารถกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กลัวมากคือมันสามารถไหลลงไปได้ถึงถุงลม ถุงลมเล็กๆ ก็คือเต็มปอด แล้วทีนี้ถุงเล็กๆ ตรงนี้สามารถซึมเข้าไปเข้าไปกระแสเลือด พอซึมเข้ากระแสเลือดก็หมายความว่าสามารถกระจายไปในอวัยวะในร่างกายได้ทุกส่วน คือเข้าไปสมองก็ได้ เข้าไปเด็กในทารก ในครรภ์ก็ได้ เข้าไปในหัวใจ ,ตับ ,ไต ,ไส้พุง ได้
เพราะฉะนั้น ฝุ่นเล็กๆ ฝุ่นพิษพวกนี้ มันก็ไม่ใช่แค่ฝุ่นเฉยๆ แต่ว่ามันอาจจะมีสารพิษต่างๆ ที่เราทราบกันดีมันก็เกาะเข้าไปทำลายอวัยวะของเราอีกทีหนึ่ง ส่วนผ้าอนามัย ชุดชั้นใน เท่าที่ดูในหลักฐานวิทยาศาสตร์ไม่ได้แนะนำเป็นเรื่องของผ้าปิดปาก ปิดจมูก ผมไม่มีความรู้ตรงนั้นตอบไม่ได้ว่ามันสามารถป้องกันได้เท่าไหร่”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **