xs
xsm
sm
md
lg

“มิจฉาชีพในคราบพนักงาน” เนียนถอนเงิน-โกย 4 ล้าน-ไว้ใจแบงก์ไม่ได้!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เราไว้วางใจอะไรไม่ได้เลย แม้แต่เงินที่นอนอยู่ในธนาคาร” เหยื่อพนักงานจอมฉ้อฉล 1 ใน 14 ผู้ถูกยักยอกเงินออกจากบัญชี ออกมาขอพื้นที่เตือนภัยสังคม โดยเฉพาะเหล่าลูกค้าผู้ฝากเงินหลายหลักไว้กับแบงก์ อาจตกอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยงล่อใจโจร” ยิ่งไม่ขยันเช็กยอด-ตรวจสอบบัญชี ยิ่งแล้วใหญ่

ด้านกูรูการเงินการธนาคารปลอบ อย่าเพิ่งแพนิคกันไป แค่หมั่นเช็กความเคลื่อนไหวในบัญชีบ่อยๆ และรู้จักบริหารความเสี่ยงในการฝากเงินอีกนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ต้องกลัวเงินหายแล้ว




จับได้โกง “14 ราย” แต่ที่จับไม่ได้ อีกไม่รู้เท่าไหร่?

[เงินที่เคยนอนอยู่ในบัญชี กลับอันตรธานหายไป 2.9 แสน]
คนคนเดียวเข้าไปเป็น “หนอนบ่อนไส้” ใช้เวลาคลุกวงในตัวเลขบัญชีธนาคารนาน 5 ปี จนสามารถฉ้อโกงลูกค้าสำเร็จรวม 14 ราย และดูดทรัพย์ไปได้ร่วม 4 ล้าน!! กระทั่งเรื่องแดงขึ้นมา เพราะมีเหยื่อรายหนึ่งไหวตัวทัน หยิบเอาสมุดบัญชีของคุณแม่ที่ทิ้งให้นิ่งมานาน ไปตรวจสอบยอดเงินโอนเข้าล่าสุด จนพบว่าเงินที่เคยเก็บหอมรอมริบเอาไว้ใช้ยามชราหายไปกว่า 2.9 แสนบาท!!

“พอดีวันนั้นพี่สาวฝากเงินให้แม่ 50,000 บาท เขาเลยบอกผมให้เอาสมุดบัญชีไปเช็กให้หน่อยว่า เงินที่โอนไป เข้าแล้วหรือยัง พอไปเช็กก็เลยรู้ว่าเงินหายไปจากบัญชีเยอะมาก เกิดเอะใจ เลยถามคุณแม่ว่าแม่ได้เคยถอนเงินออกมาไหม และแม่เขาก็จำได้ว่ายอดเดิมมันเท่าไหร่ ทำให้รู้ว่าเงินในบัญชีมันหายไป 290,000 บาท

จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ชา-กุนฑล ลิมป์ชยานันต์ หนุ่มวัย 34 รายนี้ ตัดสินใจโพสต์เรื่องราวเตือนภัยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “กุนฑล ลิมป์ชยานันต์” ฝากพี่น้องบนโลกออนไลน์ให้ได้ฉุกคิดถึงเรื่องความไว้วางใจในระบบธนาคาร เพื่อหักล้างความคิดเดิมๆ ของคนส่วนใหญ่ที่มักหวาดระแวงเพียงเหล่ามิจฉาชีพผู้แฮกผ่านช่องทางต่างๆ แต่อาจหลงลืมคิดถึง “มิจฉาชีพในคราบพนักงาน” ที่อันตรายไม่แพ้กัน

“ถึงจะไม่มี ATM ไม่มีแอปฯ ไม่มีเครดิต ไม่มีเดบิต ก็อย่าวางใจว่าเงินของคุณจะไม่หายนะครับ ใครมีเงินในบัญชีเงินฝากเยอะๆ ตรวจสอบกันด้วย



แม้ว่าล่าสุด ทางธนาคารชื่อดัง สาขาปาย จ.แม่ฮ่องสอน จะออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยการสั่งปลดพนักงานรายดังกล่าว พร้อมกับคืนเงินจำนวนที่หายไปทั้งหมด รวมดอกเบี้ยอีก 158 บาทแก่เหยื่อรายนี้แล้ว แต่ในฐานะผู้เสียหาย พูดกันตรงๆ ชามองว่าไม่อยากให้ทางธนาคารตัดจบแค่ไล่ออก หรือดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ควรมีหลักประกัน หรือกระบวนการบางอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่เดิม เพื่อไม่ให้ต้องมี “เหยื่อรายใหม่” เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ผมก็พอใจในระดับนึงที่เขาคืนเงินให้เร็วดี แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทางธนาคารอธิบายเหตุการณ์ทุกอย่างให้ชัดเจนไปเลยว่า พนักงานคนไหนที่โกง และโกงด้วยวิธีไหน รวมถึงเรื่องวิธีการจัดการดำเนินคดีด้วยว่าจะทำยังไง คนอื่นที่คิดจะโกงในอนาคตจะได้ไม่กล้าทำ

ตอนแรกที่เราร้องเรียนไปว่า เงินในบัญชีมันหายไป แต่ทางธนาคารก็ยืนยันกลับมาว่า เงินไม่ได้หายไปไหน แค่ระบบมันไม่อัปเดตข้อมูล ผมก็ได้แต่คิดว่ามันดูแปลกๆ เพราะตัวเลขในบัญชีก็บอกอยู่ว่า เงินมันถูกถอนออกไปแล้ว

และถ้ามันเป็นเพราะเรื่องระบบอย่างที่ทางธนาคารกล่าวอ้างจริงๆ ในตอนแรก ผมคิดว่าทางธนาคารเขาจะต้องตรวจสอบเจอก่อนตัวลูกค้า โดยที่ไม่ต้องรอให้ทางเราร้องเรียนไปด้วยซ้ำ ถ้าระบบของทางธนาคารนั้นๆ สามารถไว้วางใจได้จริงๆ



[ตัวเลขในบัญชี หลังทางธนาคารโอนเงิน 2.9 แสน คืนกลับมาให้แล้ว]
ก่อนหน้านี้ เราเชื่อมั่นมาตลอดว่า ยังไงถ้าฝากเงินไว้กับทางธนาคาร มันก็จะอยู่อย่างนั้น คงไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรอก แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เราก็เพิ่งมาคิดได้ว่าตัวพนักงานเขาก็เบิกเงินเราไปใช้ได้ ถ้าเขาไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตัวเอง

และจริงๆ แล้ว ถ้าจำนวนเงินที่ถูกถอนออกไป มันไม่มากพอ อาจจะแค่เป็นหลักพัน เจ้าของบัญชีอาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำครับ แล้วคิดดูว่าถ้าเขาค่อยๆ เบิกเงินทีละ 1,000 - 2,000 ออกจากหลายๆ บัญชีที่ดูแลอยู่ โดยที่ไม่มีใครทันสงสัย เขาก็อาจจะโกงได้แบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกจับได้ก็ได้

ที่ผมติดใจสงสัยก็คือ พนักงานคนนี้ยักยอกเงินแบบเดียวกันนี้มาแล้วกับเหยื่อ 14 คน ซึ่งหมายถึงถอนเงินออกมาแล้วอย่างน้อย 14 บัญชี และเจ้าของบัญชีเหล่านั้นก็มารู้ตัวทีหลัง และเอาเรื่องเข้ามาร้องเรียนกับทางธนาคารแล้ว

ผมสงสัยว่าทำไมทางสาขาหรือแม้แต่ผู้จัดการธนาคารแห่งนั้น ถึงไม่ได้ลงรายละเอียดตรวจสอบพฤติกรรมพนักงานธนาคารคนนั้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ หรือจะเป็นเพราะที่ผ่านมา มันไม่ได้เป็นข่าวดัง เลยไม่ได้รับความสนใจ อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่สุดท้ายแล้ว ก็รู้สึกดีใจครับที่ทำให้หลายคนได้เงินคืน จากก่อนหน้านี้บางคนเขาก็ทราบมาเป็นเดือนแล้วว่า เงินในบัญชีของเขาหายไป แต่พอไปร้องเรียนกับทางธนาคารเสร็จ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามาก เพราะทางธนาคารบอกว่าให้แจ้งความเอาไว้ และรอการติดต่อกลับไป”



เท่าที่ตรวจสอบพบข้อมูลการทุจริตที่ผ่านมา มีผู้เดือดร้อนจากการถูกดูดทรัพย์ไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยฝีมือ “พนักงานรหัส 560887” รายเดียวกันอีก 13 ราย หนึ่งในนั้นคือ พงษ์ศักดิ์ จ่าเหว่ ที่เงินในบัญชีอันตรธานหายไปเป็นจำนวน 21,000.77 บาท ซึ่งตรวจสอบพบการถอนเงินออกอย่างมีพิรุธถึง 3 รายการด้วยกัน

ไม่ต่างไปจากกรณีที่เกิดขึ้นกับ กนกพร บุญถนอม ซึ่งสูญเงินจากบัญชีไปถึง 352,000 บาท ตั้งแต่เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว แต่กลับยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการชดใช้คืน เป็นเหตุให้เหยื่อรายนี้เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินที่ตั้งใจจะเก็บเอาไว้เพื่อส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ กระทั่งเกิดการโกงเงินขึ้นกับเคสล่าสุด เรื่องที่ร้องเรียนเอาไว้เนิ่นนานจึงเพิ่งมีทีท่าได้รับความสนใจ



อย่าแพนิค!! เช็กบัญชีบ่อยๆ บริหารความเสี่ยง กัน “เงินหาย”

คำถามที่ชา เหยื่อมิจฉาชีพในคราบพนักงานได้ฝากเอาไว้ก็คือ เหตุใดทางธนาคารจึงไม่มีระบบล็อกการถอนเงินโดยพนักงานหน้าเคาน์เตอร์โดยพลการ โดยให้ข้อเสนอแนะในฐานะลูกค้าไว้ว่า น่าจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมกว่านี้หรือเปล่า

ถ้าเป็นเงินหลักแสนขึ้นไป ผมว่าการจะถอนด้วยรหัสพนักงานเอง ควรจะต้องได้รับการเซ็นอนุมัติหรือยินยอมจากผู้จัดการสาขาก่อนดีกว่า ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าระบบธนาคารทุกวันนี้เป็นแบบนั้นอยู่แล้วหรือเปล่านะครับ ถ้าทำแบบนั้นได้ก็น่าจะช่วยเพิ่มการตรวจสอบพฤติกรรมของพนักงานได้อีกระดับนึง”

และเพื่อให้ลูกค้าธนาคารทุกคนได้หายหวาดระแวงเงินในบัญชีของตัวเอง ทางทีมข่าว MGR Live จึงขอต่อสายตรงไปยัง ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท Acis Professional Center ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบไซเบอร์ ให้ช่วยวิเคราะห์เรื่องความปลอดภัยของระบบธนาคาร และวิธีการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกฉกเงินไปจากบัญชีของตัวเอง โดยย้ำชัดว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปกับข่าวที่เกิดขึ้น


[ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบไซเบอร์]

“ไม่อยากให้ตีตนไปก่อนไข้ ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว เรื่องเงินของลูกค้าหายไปจากบัญชีเป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยมากในทุกปี เป็นเรื่องการทุจริตในวงการธนาคาร ซึ่งเกิดจากตัวพนักงาน

ส่วนประเด็นเรื่องที่พนักงานธนาคาร เป็นคนเซ็นถอนเงินเจ้าของบัญชีออกมานั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่าเป็นกระบวนการตามปกติที่จะสามารถทำได้ อาจจะมีเบื้องหลังอะไรมากกว่านั้น เพราะโดยทั่วไปแล้วพนักงานหน้าเคาน์เตอร์จะไม่สามารถถอนเงินในบัญชีของลูกค้าได้ ถ้าไม่มีสมุดบัญชีและใบเบิกเงินที่มีลายเซ็นของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ถ้าเงินในบัญชีของคุณหายไป ก็อยากให้รู้ว่ายังไงทางแบงก์ก็รับผิดชอบอยู่แล้ว หน้าที่ของคุณก็คือต้องหมั่นตรวจสอบบัญชีของตัวเอง ดูความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับตัวเลขในนั้นบ่อยๆ เพื่อให้สามารถสังเกตเห็นได้ ถ้ามีการเคลื่อนไหวของรายการฝาก-ถอนที่ไม่ชอบมาพากล

อย่างตัวผมเอง ผมเช็กวันละครั้งสำหรับบัญชีหลัก (Main Bank) แต่ถ้าเป็นคนอื่นๆ อาจจะไม่ต้องถี่ขนาดนั้นก็ได้ แนะนำให้เช็กอาทิตย์ละครั้ง สำหรับบัญชีที่เราใช้ประจำ เป็นบัญชีหลัก”



อีกหนึ่งฟีดแบ็กที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงของคนในสังคมก็คือ การกล่าวโทษธนาคารและเหมารวมว่าจะไม่ใช้บริการธนาคารที่ถูกกล่าวถึงจากกรณีที่เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบไซเบอร์รายนี้มองว่า ทุกธนาคารเคยมีคนโกง มีการทำผิดพลาดเหมือนๆ กันหมด ทางออกที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่การบริการความเสี่ยงของตัวลูกค้าเอง

อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ไม่ว่าจะแบงก์ไหนก็ล้วนแต่เคยมีพนักงานขโมยเงินหน้าเคาน์เตอร์กันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จักบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเอง ผมแนะนำให้คุณแยกเงินเก็บของคุณไว้หลายๆ ธนาคารเพื่อกระจายความเสี่ยง สมมติว่าคุณมีเงินเก็บเพื่อฝากธนาคารอยู่ 1 ล้าน คุณอาจจะกระจายไปไว้ใน 3 ธนาคาร

ระบบของสถาบันการเงินบนโลกใบนี้ที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าระบบจะดีขนาดไหน สุดท้ายแล้วมันก็จะขึ้นอยู่กับตัวคนที่ทำหน้าที่ ทั้งคนหน้าเคาน์เตอร์, คนระดับผู้จัดการ, คนที่ลำเลียงเงินไปเก็บในคลัง ฯลฯ ต้องผ่านหลายคน-หลายขั้นตอน ท่ามกลางเงินสดจำนวนมากในแต่ละวัน โอกาสที่จะเกิดปัญหามันย่อมมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คือตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ในระบบ มันย่อมมีช่องโหว่ให้กระทำการทุจริตได้เสมอ เพราะการตรวจสอบบัญชีโดยผู้ตรวจสอบไม่ได้เกิดขึ้นได้ถี่ทุกวัน ดังนั้น โอกาสที่จะผิดพลาดมันสามารถเกิดขึ้นได้”




สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “กุนฑล ลิมป์ชยานันต์”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น