xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบ ควันรถ – เผาหญ้า – โรงงาน – เผาศพ ต้นตอฝุ่นพิษ กทม.!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัญหาใหญ่คนกรุง!! กรมควบคุมมลพิษระบุ ฝุ่น PM2.5 ยังอยู่ต่อ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายพื้นที่ เหตุสภาพอากาศปิด ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นละอองชี้ 4 สาเหตุหลัก “ยานยนต์” หนักสุด เผย รัฐมีทางแก้แต่ไม่รีบ ต้องรออีก 3 - 5 ปีถึงทำได้!!

ควันรถ - เผาหญ้า - โรงงาน สาเหตุหลักฝุ่นพิษ!!

กลายเป็นปีหมูคลุกฝุ่นกันตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง เผยให้เห็นว่า ตั้งแต่ปลายปี 61 ลากยาวมาถึงต้นปี 62 บรรยากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังถูกฝุ่นละออง PM2.5 ปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ อันมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศและปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหมดช่วงวันหยุดยาว โดยไม่มีแนวโน้มว่าฝุ่นเหล่านี้จะหายไปเมื่อใด

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละอองไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นมา เพราะข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเจ้าเดิม เคยระบุไว้ตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปี 59 ว่า เมืองที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 สูงสุด 5 อันดับคือ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น กรุงเทพฯ และราชบุรี

และย้อนไปในปี 2557-2559 มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน 11 พื้นที่ใน 10 จังหวัด สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร!



ข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านมาหลายปี แต่ดูท่าทางปัญหานี้จะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซ้ำยังหนักขึ้นจากเมื่อก่อนอีกหลายเท่า ทีมข่าว MGR Live จึงได้พูดคุยประเด็นร้อนนี้ กับ ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงต้นเหตุที่ทำให้ฝุ่นพิษเหล่านี้ยังปะปนอยู่ในอากาศ คอยทำลายสุขภาพของคนเมืองหลวง อย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง!

“จากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ ปี 2543 และเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ ในปี 2544 เมื่อดูใน “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการ จัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล” โดยกรมควบคุมมลพิษ ฝุ่นละอองมันจะมีรูปแบบนี้ทุกปีนะคะถ้าเราดูที่ตัวเลขที่ผ่านมาหลายๆ ปี มันจะมาเป็นฤดู ซึ่งฤดูนี้มันแห้งแล้ง ไม่มีอากาศถ่ายเท


ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ

ปัญหาคือ มลพิษที่มันเกิดขึ้นมันไปไหนไม่ได้ มันก็จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมาจากหลายแห่ง โดยมีต้นเหตุมาจากการเผาไหม้หลักๆ 4 แหล่ง เริ่มจากอันดับที่ทำให้เกิดมากที่สุดก่อน คือ

1.ยานยนต์ ทุกปีก็มีปริมาณยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีมาตรการในการควบคุมควันที่มันออกมาจากการเผาไหม้ แต่ถ้ามีปริมาณรถมากขึ้น ปริมาณมลพิษมันก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับที่ว่ามันไม่มีการไหลเวียนของอากาศ ไม่มีลมเลย มันก็จะอยู่ในนี้ มลพิษมันก็ไม่ไปไหน



2.การเผาไหม้จากการเกษตพอเป็นฤดูเกษตรที่ว่าอาจจะมีการเก็บเกี่ยวเสร็จ แล้วเศษของพวกต้นไม้ หรือเศษของพืชที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ตอนนี้เราไม่มีระบบบริหารจัดการ เกษตรกรก็จะเผาอย่างเดียว ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่จะจัดการในเรื่องของเศษที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว

และอีกอย่างคือ การเผาหญ้า รอบนอกเมืองมีทุ่งหญ้ามากมาย ตัวดิฉันเองก็อยู่ธรรมศาสตร์รังสิต บางทีขับรถจากกรุงเทพฯ มาที่รังสิต ก็จะเห็นว่ามีการเผาไหม้ทุ่งหญ้ารอบๆ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีมาตรการในการห้ามไม่ให้เผา และมีคนเผาแล้วไม่ดับ บางทีมันลามไปเรื่อยๆ บางทีเผากันเป็นชั่วโมงถึงจะดับ

ฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ มันจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เราเรียกว่า 2.5 ต่ำกว่า 10 ไมครอน ซึ่งอันนี้มันเบามาก พอมันออกมาแล้วมันไม่สามารถไปไหน มันก็จะวนเวียนอยู่ในอากาศ ถ้ามันหนักมันก็จะตกลงบนพื้นดิน แต่ถ้ามันเบามันก็จะลอยไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าถ้าเราสังเกตดู มีการเผาไหม้จากแหล่งไหน มันจะกระจายไปไกลมากเลย เป็น 5 - 10 กิโลเมตรได้ค่ะ ซึ่งอันนี้มันทำให้เห็นว่ามลพิษมันสามารถลอยไปทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล



3.อุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ เองมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องที่จะกรองมลพิษได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีบางส่วนที่มันระเหยออกมาในอากาศ ซึ่งตรงนี้พอยิ่งเป็นฤดูที่มันไม่มีลมที่จะไหลเวียนของอากาศ มันก็จะยิ่งติดอยู่ในอากาศ

4.การเผาศพ ที่วัดในกรุงเทพฯ พยายามให้มีเครื่องกรองที่สามารถจะไปกรองที่ปล่องได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าขณะนี้มีกี่วัดที่มีเครื่องกรองฝุ่นพวกนี้ ซึ่งมันก็ต้องใช้งบประมาณในการมีเครื่องดักกรองฝุ่นขนาดเล็กที่มาจากการเผาไหม้”

ส่วนการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างรถไฟฟ้าหรือการทำถนนนั้น ศ.ดร.นันทวรรณ กล่าวว่า ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากฝุ่นจากการก่อสร้างมีขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่มันจะตกลงมาบนพื้นดิน แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กมันก็มีเช่นกัน เพียงแต่ว่ามีสัดส่วนที่น้อยกว่า

“ฝุ่นตอนนี้ที่มีปัญหาคือฝุ่นจากการเผาไหม้ เพราะฉะนั้นแหล่งที่ต้องให้ความสำคัญคือยานพาหนะ การเผาไหม้ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมค่ะ”



สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของค่าฝุ่นละออง PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า พื้นที่ริมถนน เกินมาตรฐาน 22 พื้นที่ และพื้นที่ทั่วไป เกินมาตรฐาน 18 พื้นที่ คาดว่าคุณภาพอากาศในวันต่อไปจะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามความสูงในระดับล่าง สภาพอากาศปิด

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ขอความร่วมมือประชาชน งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และงดการใช้รถยนต์ควันดำอย่างเด็ดขาด รวมถึงได้ประสานงานกับ กทม. เพื่อดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเข้มงวดขึ้น เช่น การกวาดล้างถนน การฉีดพ่นละอองน้ำ และจะประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดต่อไป

อากาศยิ่งแย่เพราะไม่รีบแก้?!

สำหรับปัญหาฝุ่นพิษนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้นที่ประสบ หากติดตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือตอนบนยิ่งหนักหนาสาหัส เพราะถึงแม้จะไม่มีมลพิษจากยานพาหนะเทียบเท่าเมืองหลวง แต่พอหลังฤดูเก็บเกี่ยว สิ่งที่ตามมาก็คือการเผาป่า ทำให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ถูกปกคลุมไปด้วยควันพิษ ชนิดที่ว่าไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันกันเลยทีเดียว

“ถ้าจำได้เราก็จะมีปัญหาทางภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ก็มีปัญหาในช่วงเดือนนี้ค่ะ ฤดูแล้ง ตั้งแต่พฤศจิกายนจนไปถึงเมษายน ซึ่งอันนี้เป็นการเผาทางการเกษตรหรือเผาป่าค่ะ ความจริงแล้วบางทีเรามีปัญหาเรื่องการเผาไหม้ข้ามแดนด้วย จากพม่าบ้าง จากที่อื่นบ้าง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ มันก็ลอยมาที่ประเทศไทย เพราะอากาศมันไม่มีกำแพง”



เมื่อถามถึงแนวโน้มของปัญหานี้ในปีต่อๆ ไป จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ศ.ดร.นันทวรรณ ได้ให้คำตอบว่า อาจจะหนักขึ้นในทุกปี เนื่องจากปริมาณของมลพิษในเมืองหลวงที่เพิ่มมากขึ้น

“น่าจะหนักทุกปีค่ะ เพราะมันมีปริมาณมลพิษมากขึ้น อย่างที่บอกค่ะ จำนวนรถในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ปีหนึ่งเป็นแสนคัน รถเมล์และรถบรรทุกก็มีส่วน ซึ่งขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษ ก็พยายามที่จะมีมาตรการ อย่างเช่น ใช้น้ำมันที่มีระดับซัลเฟอร์น้อยลง หรือใช้มาตรฐานยูโรที่เป็นยูโร 5 ยูโร 6

แต่ถ้าเราดูแผนของเขาแล้ว กว่าจะเริ่มมีมาตรการใช้ยูโร 5 หรือ 6 ก็อีกตั้งหลายปี คือไม่ใช่ปีนี้หรือปีหน้า รู้สึกจะ 3 - 5 ปีได้ ซึ่งตรงนี้ถ้าประชาชนตระหนักถึงปัญหาประเด็นนี้ น่าจะมีการผลักดันให้ใช้มาตรการนี้ยิ่งเร็วที่เท่าที่จะเร็วได้ เราคุมฝุ่นไม่ได้ถ้ามันออกมาแล้ว ฉะนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือป้องกันจากแหล่งกำเนิดนะคะ ก็คือรถยนต์ น้ำมัน หรือห้ามไม่ให้เผาทางการเกษตร มีมาตรการ ในการเก็บสิ่งที่เหลือจากการเกษตร โดยที่ไม่ได้ใช้การเผาค่ะ”



ส่วนการฉีดน้ำหรือละอองน้ำเพื่อแก้ปัญหานั้น ข้อมูลจาก “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการ จัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล” โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุไว้ว่า อาจช่วยลดฝุ่นขนาดใหญ่ในอากาศ แต่มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนน้อยมาก

สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นละออง ได้ฝากคำแนะนำถึงประชาชนในการเลือกใช้หน้ากากอนามัย เพราะหากเลือกแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นพิษชนิดนี้ ก็จะกลับกลายเป็นสร้างผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าป้องกัน เนื่องจากมันมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางผม รวมถึงฝากกระตุ้นไปยังภาครัฐ ให้มีมาตรการป้องกันโดยเร็ว ไม่ใช่เพียงแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุดังเช่นทุกวันนี้



“ตรงนี้มันเป็นปลายเหตุแล้ว หน้ากากที่เราใช้มันก็ไม่ได้กันฝุ่นที่มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพของหน้ากาก รวมถึงวิธีใช้ ถ้าปิดไม่มิดชิด ฝุ่นมันก็เข้าไปอยู่ได้ และที่ทำให้มันแย่คือฝุ่นที่มันสามารถเข้าไปในหน้ากากได้ มันก็จะวนเวียนอยู่ในนั้น ออกไม่ได้ เราไปทำเหมือนเป็นอุโมงค์ที่ทำให้ฝุ่นมันเข้าไปรวมอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นการซื้อหน้ากากก็อยากให้ประชาชนถามให้แน่ใจว่ามันกรองฝุ่นละอองขนาด 2.5 ได้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหาฝุ่นจะให้หมดไปก็ต้องรอให้ฝนตกค่ะ จะเห็นได้ว่าเมื่อตอนปีใหม่กรุงเทพฯ มีฝนตกนะคะ ตอนนั้นท้องฟ้าก็ใสขึ้นมา หรือว่ารอเข้าสู่ฤดูร้อน มันก็จะมีลมที่จะพัดพาฝุ่นไป และอยากฝากภาครัฐว่า ให้ไปควบคุมและมีมาตรการที่มีการวางแผนให้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอ เพราะจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นทุกปีค่ะ”



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น