ย้อนรอยโศกนาฏกรรม 'แหลมตะลุมพุก' พายุโซนร้อนแฮเรียต 'คลื่นสูง-กวาดเรียบ-คนตายอื้อ' หลังล่าสุด นักวิชาการเตือนความรุนแรงพายุ 'ปาบึก' เทียบเท่า 'พายุแฮเรียต' ที่แหลมตะลุมพุก ทีมข่าวเจาะเหตุการณ์ 57 ปี สะเทือนใจไม่ลืม พายุมฤตยูถล่มตะลุมพุก โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์!!
1.“พายุโซนร้อน” ที่ร้ายแรงสุดในรอบศตวรรษ!
ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวต่อการเคลื่อนไหวของพายุ 'ปาบึก' ที่กำลังเข้าสู่ภาคใต้ของไทยในเร็ววันนี้ ล่าสุด ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้วิตกกังวัล 'เริ่มกักตุนอาหาร-ไม่ออกนอกพื้นที่' ทั้งบรรยากาศริมชายฝั่งก็ยังอึมครึมเงียบเชียบตลอดแนว ชาวใต้หวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 'พายุแฮเรียต' ที่ตะลุมพุก!
ทีมข่าว MGR Live ตรวจสอบประวัติการเกิดขึ้นของพายุแฮเรียต พบว่า พายุนี้เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็น 'พายุดีเปรสชั่น 78W' ถูกเรียกตามลำดับการตั้งชื่อนานาชาติของอุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น โดยก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งของประเทศเวียดนามตอนใต้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2505
จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนตัวมาทางตะวันตกในอ่าวไทย ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็น 'พายุโซนร้อน' นอกชายฝั่ง จ.สงขลา แล้วค่อยเปลี่ยนทิศทางมายัง จ.นครศรีธรรมราช โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในช่วงค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ที่แหลมตะลุมพุก ด้วยความเร็วสูงสุดที่สถานีตรวจอากาศวัดได้อยู่ที่ 95 กม. ต่อชม.
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินด้วยว่า พายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อให้เกิดปรากฎการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือที่เรียกว่า 'สตอร์มเสิร์จ' ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง โดยเกิดคลื่นสูงใหญ่กว่า 4 เมตร ซัดกระหน่ำอีกหลายหมู่บ้านริมฝั่งทะเล!
จากข้อสังเกตเรื่องพายุแฮเรียดขึ้นฝั่งที่แหลมตะลุมพุกว่าเหตุใดพื้นที่นี้จึงเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดพายุดังกล่าว พบว่าลักษณะพื้นที่ของแหลมตะลุมพุก ถือเป็นแผ่นดินเล็กๆ ที่ยื่นออกไปในทะเล เมื่อถูกพายุซัดเข้าใส่ จะมีความรุนแรง มากกว่าพื้นแผ่นดินริมทะเลทั่วๆ ไปหลายเท่าตัวนั่นเอง!
2.จาก 100 หลังคาเรือน ซัดเกลี้ยง เหลือ 5 หลัง!
“ท้องฟ้าแดงฉาน คลื่นสูงเท่ายอดสน เสียงดังเหมือนเครื่องบินไอพ่น น้ำทะเลม้วนตัวสูง สูงกว่าต้นตาลหลายสิบเท่า ถล่มใส่แหลมตะลุมพุก บ้านเรือนและผู้คนถูกกวาดเรียบเป็นหน้ากลอง ทุกชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ถูกคลื่นม้วนหายลงไปในทะเลหมด”
คำบอกเล่าของคนในพื้นที่ถึงเหตุการณ์ก่อนพายุเริ่มซัดฝั่งที่แหลมตะลุมพุก ผ่านการตั้งกระทู้ “ข้อมูลจริงเหตุการณ์ มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก” โดยมีการพูดถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นว่ามีความรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ครั้งไหนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
สอดคล้องกับเรื่องเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเกิดพายุขึ้นที่แหลมตะลุมพุกว่า เกิดลมงวงช้างขึ้นหลายเกลียว ตั้งแต่ช่วงเย็น ราว 16.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2505 แรงลมพัดบ้านจนโยกคลอน ทำให้หลังคาหลุดปลิวไปทั่วเมือง คลื่นยักษ์พัดใส่แหลมตะลุมพุก จนหมู่บ้านที่มีอยู่กว่า 100 หลังคา เหลืออยู่แค่ 5 หลังเท่านั้น
จากนั้นพายุได้สงบลง แต่หลังจากนั้นก็เกิดลมพัดแรงอีกจนบ้านเรือนพังทลายลงจนหมด ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดคลื่นสูงใหญ่กว่าระลอกแรก โดยมีความสูงเท่าต้นมะพร้าวกวาดชีวิตและผู้คนหายลงทะเลในไม่กี่นาที!
3.“ตาย-สูญหาย-บาดเจ็บ” 1,300 คน!
ด้วยความที่ 'พายุแฮเรียต' เป็นพายุที่มีขนาดศูนย์กลางใหญ่มาก ซึ่งขณะขึ้นฝั่ง พายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 300 กิโลเมตร! แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก่อให้เกิด 'ฝนตกหนัก-คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง-ลมกระโชกแรง-น้ำท่วมอย่างฉับพลัน'
ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น คือ ความรุนแรงของพายุแฮเรียตได้ส่งผลกระทบอย่างจังกับ 12 จังหวัดภาคใต้ของไทย ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึง จ.นราธิวาส โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 911 คน! สูญหาย 142 คน และบาดเจ็บสาหัสกว่า 252 คน
ส่วนจำนวนความเสียหายของหลังคาเรือนก็เป็นที่น่าตกใจ เพราะอาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดที่พังทั้งหลังมีมากกว่า 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางและสวนผลไม้เสียหายไปแล้วกว่า 791 ล้านตัน
เช่นเดียวกับสถานที่ราชการ วัด การไฟฟ้า สถานีวิทยุก็เสียหายอย่างหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร ขณะที่รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดวิ่งรถ เนื่องจากภูเขาดินพังทลายทับราง ระหว่างสถานีช่องเขาและสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ โดยมีการประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมากถึง 377-1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว!
4. “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” ก่อตั้งเป็นครั้งแรก
จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง กวาดชีวิตผู้คนและทรัพย์สินเสียหายไปมากกว่าพันล้านบาท! ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาซึ่งการก่อตั้ง 'มูลนิธิราชประชานุเคราะห์' ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชานุเคราะห์แก่ผู้ประสบภัยอย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เพื่อเชิญชวนประชาชนให้ร่วมบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม โดยนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัย
ทั้งนี้ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.ส.พ. รถไฟ (องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์) รวมถึงเครื่องบินของกองทัพอากาศ, เรือของกองทัพเรือ รวมไปถึงรถยนต์ของหน่วยราชการ ระดมกันช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเป็นการด่วน ทำให้ช่วยวิกฤติในเวลานั้นมีทานน้ำใจหลั่งใหลเข้ามาทั่วทุกสารทิศ
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ จดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2506 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า 'โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3,4,5 ถึง 12' ตามลำดับ ปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้งหมด 68 โรงเรียนทั่วประเทศ
5.“วาตภัยล้างแผ่นดิน” สู่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์!
จากโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ นำมาสู่ภาพยนตร์แนวดรามา-ระทึกขวัญ เชิงประวัติศาสตร์ 'ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน' ซึ่งได้เข้าฉายครั้งแรกในปี 2545 เพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตความสูญสิ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 หลังเกิดเหตุการณ์ในปี 2505 โดยสายตาของผู้กำกับ 'ปิติ จตุรภัทร์'
ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นักแสดงชื่อดังมาร่วมแสดงด้วย ทั้ง ฉัตรชัย เปล่งพานิช, พรหมพร ยูวะเวส, ธันญ์ ธนากร, ม.ร.ว. มงคลชาย ยุคล รวมไปถึง อ.เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ และผู้แสดงอีกมากมาย โดยเล่าเรื่องผ่านวิถีชีวิตและความสวยงามของแหลมตะลุมพุก ก่อนภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมาพรากลมหายใจของชาวตะลุมพุกไป
ล่าสุด กระแสในสังคมออนไลน์ต่างพากันพูดถึง ภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างล้นหลาม โดยมีการนำมาออกอากาศให้รับชมผ่านทางช่องโทรทัศน์อีกด้วย ต่อเนื่องจากกรณีการเฝ้าระวังพายุโซนร้อนปาบึกที่กำลังเข้าภาคใต้ของไทย ทำให้ผู้คนเข้าไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ข่าวโดย ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **