เปิดปี 62 นี้ แท็กซี่ - รถเมล์ เตรียมขึ้นราคาค่าโดยสาร หลังจากทนกับค่าใช้จ่ายกันไม่ไหว ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทุกวันนี้มีแต่เสียกับเสีย บางรายเลิกขับรถโดยสารเพราะขาดทุน ด้านรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดใหม่ ชาวกรุงเตรียมเฮ เพราะปีนี้ได้ใช้แน่นอน!! ส่วนเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จับตามอง ต้องรอไปก่อนอีก 3 ปี ถึงได้ใช้!!
นี่หรือของขวัญปีใหม่ รถเมล์-รถบัส-แท็กซี่ ขึ้นราคา?
เรื่องของการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ของผู้คน กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาทันทีเลยว่า ในปีหมูนี้การใช้ชีวิตของคนในสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และนอกเหนือจากเศรษฐกิจที่คอยลุ้นว่าดี หรือไม่ดี ประชาชนยังต้องรับมือกับการเพิ่มราคาค่าโดยสารรถประจำทางที่สูงขึ้นเท่าตัว
อย่างไรก็ดี ทิศทางของคนกรุงในปีนี้ ต้องเจอกับค่าโดยสารที่มีอัตราสูงขึ้น และอาจทำให้หลายๆ คนได้รับผลกระทบ เพราะล่าสุดรถแท็กซี่ (Taxi) ประกาศเตรียมขึ้นค่าโดยสารปีใหม่นี้แน่นอน ซึ่งอัตราสูงสุดอาจเพิ่มถึง 10% เพราะข้อตกลงเดิมที่ให้ปรับ 5% คำนวณมาตั้งแต่ปี 57 ไม่สะท้อนต้นทุนแล้ว
ทั้งนี้ กมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เรียกประชุมคณะทำงานศึกษาอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าเซอร์ชาร์จ สำหรับรถยนต์รถจ้าง หรือรถแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งมีตัวแทนจากกรมการขนส่งฯ , สถาบันงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และตัวแทนแท็กซี่ร่วมเข้าประชุมด้วย
หลังจากประชุมเสร็จ วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่าที่ประชุมมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน ให้มีการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ทั้งระบบหลังปีใหม่พ.ศ. 2562 เพื่อบรรเทาผลกระทบช่วงปีใหม่ของประชาชน โดยเบื้องต้นคาดการณ์ต้องปรับค่าโดยสารมากกว่า 5% ซึ่งไม่ได้สรุปเป็นแน่ชัดว่าจากราคาเริ่มต้น 35 บาท จะมีการปรับเปลี่ยนสูงถึงเท่าไหร่
"คงต้องปรับค่าโดยสารให้แท็กซี่มากกว่า 5% โดยเห็นชอบกันว่าอาจจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารประมาณ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งกรมการขนส่งฯ สคบ. และผู้ขับขี่แท็กซี่ เพราะเป็นตัวเลขที่สะท้อนตันทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซนั้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่าน ค่าก๊าซมีอัตราที่สูงขึ้นถึงกิโลเมตรละ 4 บาท ทำให้แท็กซี่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นวันละ 100 บาทต่อวัน ขณะที่รายได้มีอัตราที่ต่ำลงด้วย"
ขณะที่ "รถเมล์" รถโดยสารประจำทางที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน เตรียมตัวขึ้นราคาหลังปีใหม่นี้เช่นกัน โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง มีมติอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ และรถร่วมบริการ 1 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท มีผลช่วงกลางเดือน ม.ค. 2562
พีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารได้รับผลกระทบถึงขั้นหยุดวิ่ง และเลิกกิจการ ซึ่งออกนอกระบบการให้บริการไปแล้ว 565 คัน จากทั้งหมด 3,712 คัน
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จึงมีมติปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. และรถร่วมบริการ ขสมก. เพิ่มขึ้นอีก 1 บาทโดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท ขณะที่รถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว
ในส่วนของรถร่วมบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปรับราคาขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 แบ่งเป็น 4 ช่วง คือระยะทาง 40 กิโลเมตรแรก ปรับขึ้น 0.53 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 40 - 100 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.48 บาทต่อกิโลเมตร ระยะทาง 100 - 200 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.44 บาทต่อกิโลเมตร และเกิน 200 กิโลเมตร ปรับขึ้น 0.39 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ทั้งหมดนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 62 เป็นต้นไป
ปัดฝุ่นเตรียมใช้ “รถเมล์ - รถไฟฟ้า” ดีกว่าเดิม?
ถึงแม้ว่ารถโดยสารประจำทาง จะมีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร แต่เรียกได้ว่าปีใหม่ปีนี้ก็มีเรื่องใหม่ๆ ให้ชาวไทยได้มีรอยยิ้มเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ ประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมพร้อมใช้รถเมล์ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้าตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ไว้คือ จะเน้นประกอบในประเทศ เนื่องจากบางบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 60% และมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ดังนั้นจะกระจายงานตามโรงประกอบต่างๆ ซึ่งจะจัดหาภายในปี 62 - 63 ให้ได้ใช้งานกัน
ขณะที่ไม่นานมานี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในช่วง 4 ปีระหว่าง พ.ศ. 2562 - 65 จะเร่งรัดขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางที่เหลือ รวมระยะทาง 2,164 กม. เพื่อเพิ่มความเร็วเฉลี่ยในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จาก 39 กม/ชม. เป็น 60 กม./ชม. ส่วนการขนส่งคนโดยสารเพิ่มจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม. และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจาก 2.5% เป็น 5%
สำหรับ 9 เส้นทางที่จะดำเนินการคือ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. ช่วงชุมทางจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กม. ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 326 กม. และช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ระยะทาง 355 กม.
นอกจากนี้ จะมีเพิ่มโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม. คือช่วงกรุงเทพ - หัวหิน ระยะทาง 211 กม. , ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 350 กม. , ช่วงกทม. - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และพิษณุโลก - เชียงใหม่ ระยะทาง 293 กม.
ส่วนในกรุงเทพฯ ยังมีโครงการรถสายสีน้ำเงิน ที่ทางBEM เร่งเปิดเดิน เพื่อเพิ่มผู้โดยสารรถไฟฟ้าเข้าระบบ MRT และให้ประชาชนทันใช้ภายในปี62 โดย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังลงพื้นตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร รวม 19 สถานี ขณะนี้งานโยธาดำเนินการเสร็จทั้งหมด เหลือเพียงแค่ระบบรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ภายในต้นปี 62 จะเริ่มทยอยส่งมอบขบวนรถเข้ามาทดสอบระบบ เพื่อเปิดให้บริการในโซนด้านทิศใต้จากหัวลำโพงจนถึงบางแคในช่วงวันที่ 30 ก.ย. 62 แต่ในส่วนอีก 4 สถานีแรก คือ สถานีวัดมังกรถึงสถานีอิสรภาพที่เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทยจะเร่งรัดเปิดให้บริการได้ก่อน หากแก้ไขระบบการจ่ายไฟฟ้าสำเร็จ
ไม่เพียงแต่โครงการรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค จะเปิดใช้ในปีนี้ โครงการทางด้านทิศเหนือช่วงบางซื่อ - ท่าพระ จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมีนาคมปี 63 โดยในระยะแรกจะมีขบวนรถให้บริการจำนวน 12 ขบวนและจะครบทั้ง 35 ขบวนหากเปิดให้บริการได้ครบทั้งเส้นทาง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 5 แสนคนต่อวัน และลดการรถติดของจราจรมากยิ่งขึ้น
ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณรูปภาพ: RenderThailand
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **