xs
xsm
sm
md
lg

ถล่มยับ! ตีเส้นแดง-เพิ่มช่องรถฉุกเฉิน ทฤษฎีเจ๋ง-ปฏิบัติจริงล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


งงกันไปใหญ่!! ผู้ใช้รถบนถนนสีลมสับสนในช่องทางเดินรถที่กทม.ตีเส้นใหม่โดยใช้สีแดง และยังใช้ช่องทางสลับกันไปมา จนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ด้านกทม.เผยผู้ใช้รถสามารถใช้ช่องทางเดิมในเส้นสีขาวทับเส้นสีแดงได้ตามปกติ แต่หากได้ยินเสียงไซเรนให้รีบขับเบี่ยงออกจากเส้นสีแดง หน่วยกู้ชีพสับเละถนนประเทศไทยใช้ไม่ได้จริง สังคมสวดแหลกทางที่ดีเปลี่ยนเรื่องจิตสำนึกดีกว่า

สังคมสับเละ เส้นแดงกลายเป็นขับคร่อมเลน?

ตีเส้นถนนทำคนงง หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก Spwwsr Strong โพสต์คลิป รถคันหนึ่งซึ่งสับสนการตีเส้น กลายเป็นขับตามเส้นสีแดง คร่อมเลนสีขาว หลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศสร้างเลนขึ้นมาใหม่

ถนนสีลม มีการตีเส้นปะสีแดง เพื่อความสะดวกให้เดินรถพยาบาลและรถฉุกเฉินในการส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์
จากที่กทม.ได้ตีเส้นแดงบนถนนสีลมเพื่อแบ่งช่องทางสำหรับรถฉุกเฉิน โดยเส้นดังกล่าวนั้นจะคร่อมกับเลนปกติ ผู้ใช้รถบนถนนสีลมสับสนในช่องทางเดินรถที่กทม.ตีเส้นใหม่โดยใช้สีแดง และยังใช้ช่องทางสลับกันไปมา จนอาจเกิดอุบัติเหตุ
 

พบว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนเข้าใจและไม่ขับรถเข้าไปในเส้นปะ แต่บางส่วนก็ยังสับสนว่า เส้นปะนี้หมายถึงอะไร การตีเส้นจราจรสีแดงของกทม. ในครั้งนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าจะสามารถแก้ปัญหาหรือทำให้เกิดความสับสนมากกว่าเดิมและสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วนกลับมองว่าควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพราะบางคนอาจไม่ชินเส้นทาง

/center>
“จริงๆแล้วจะตีเส้นแดงหรือไม่ตีเส้น มันขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของคนมากกว่า ถ้ารู้ว่ามีรถฉุกเฉินมาต้องหลีกทางให้เร็วที่สุดประชาชนทั่วโลกเขาทำกันทั้งนั้น กทม.น่าให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้มากกว่าเสียงบตีเส้น ถ้าใครไม่ทำจับปรับไปเลย”

“เอาอะไรคิด บางคนไม่ได้ตามข่าวจะรู้ไหม คิดว่าใช้งบประมาณคือดีที่สุด ไม่น่ามีเลยครับ แทนที่จะสร้างถนนใหม่ไปเลยให้รถพยาบาลวิ่งอย่างเดียว นึกอะไรไม่ออกก็ตีเส้นสีใหม่ไปเรื่อยๆ ทางขวาสีแดงรถฉุกเฉิน ทางซ้ายสีฟ้ารถจักรยาน ต่อไปตรงกลางสีเขียวรถถัง”

“เพิ่งเคยเห็นเลย กลายเป็นขับคร่อมเลนเลยทีนี้ วินัยคนไทยมันยากมากนะครับกว่าเข้าใจอะไร ที่จริงเส้นที่มีมันเพียงพอ แค่วินัยเท่านั้นเองที่ไม่มี ถ้ารถฉุกเฉินจะวิ่งไม่ว่าช่องไหนเราก็ควรหลบครับ ไม่ต้องมีเส้นโง่ๆ มาตี แม้แต่น้อย คนส่วนมากยินดีหลบให้อยู่แล้ว คนส่วนน้อยเท่านั้นที่เกเร เราก็ต้องช่วยกันลงโทษทางสังคมต่อไป”


นอกจากนี้ ภานุเดช เลิศเจริญสวัสดิ์ หนึ่งในหน่วยกู้ชีพป่อเต็กตึ้งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า การตีเส้นปะสีแดงบนท้องถนนเพื่อให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินขับผ่านได้สะดวกนับเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับถนนของประเทศไทยบางครั้งก็อาจใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากปริมาณรถบนท้องถนนหลายสายที่มีอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้รถไม่สามารถขยับหลบหลีกออกจากเส้นปะสีแดงเพื่อให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินวิ่งผ่านได้

“ต้องบอกก่อนว่าประเทศเราเป็นประเทศที่รถเยอะ และการจราจรต้องบอกว่ารถติดมาก แล้วบางคนเขาไม่รู้เทคนิคการหลบรถพยาบาล ฝากไปตั้งแต่การอบรมเรื่องการขับขี่ เรื่องทริกการหลบรถพยาบาลควรเพิ่มตรงนี้เข้าไปด้วย ว่าการหลบรถพยาบาลควรทำอย่างไร”

 
จากการค้นข้อมูลพบว่าในต่างประเทศไม่มีเลนช่องรถฉุกเฉินแบบประเทศไทย เมื่อได้ยินเสียงไซเรนของรถพยาบาลจะหลบข้างทางทันที แม้ในขณะนั้นจราจรจะติดขัดมากเพียงใดก็ตาม

เห็นแล้วไม่หลบ มีโทษปรับ 500 บาท!!

ด้าน ประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า กทม.ทยอยตีเส้นจราจรสีแดงบนพื้นถนนตามระเบียบเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นช่องทางเดินรถสำหรับ รถพยาบาลและรถฉุกเฉินต่างๆ ให้เดินทางไปถึงโรงพยาบาลด้วยความสะดวก

“หลังจากตีเส้นจราจรแล้วจะมีการติดตั้งป้ายแนะนำ และตีเครื่องหมายกากบาทบนพื้นถนน เพื่อให้ผู้ใช้รถได้ทราบ สำหรับบนถนนสีลมที่ได้ตีเส้นไปแล้วกำลังอยู่ระหว่างการตีเส้นกากบาทบนพื้นถนนและการติดป้ายสัญลักษณ์ในต่อๆไป จึงทำให้ผู้ใช้รถสับสนและไม่ทราบว่าต้องขับในช่องทางใด

สำหรับการใช้ถนนที่มีการตีเส้นแบ่งช่องทางให้รถฉุกเฉินนั้น ผู้ใช้รถสามารถใช้ช่องทางเดิมในเส้นสีขาวทับเส้นสีแดงได้ตามปกติ แต่หากได้ยินเสียงไซเรนให้รีบขับเบี่ยงออกจากเส้นสีแดง เพื่อชิดซ้ายหรือชิดขวาเพื่อหลบทางให้รถฉุกเฉินที่จะวิ่งมาจากด้านหลังในช่องสีแดง หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่หลบทางให้รถฉุกเฉินจะมีความผิดตามพรบ.จราจร ถูกปรับ 500 บาท”

 
ไม่เพียงเท่านี้ ผอ.สำนักงานวิศวกรรมจราจร ยังเผยอีกว่าจากที่เริ่มตีเส้นจราจรสีแดงบนถนนสีลม ตั้งแต่แยกนราลมจนถึงโรงพยาบาลเลิดสิน โดยเส้นจะอยู่ตรงกลางระหว่างช่องทางที่ 2-3 มีความกว้างประมาณ 1.60 ม. เหมือนเส้นทางบนสะพานข้ามแยกดินแดงที่มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลรพ.ราชวิถี ที่ได้ตีเส้นจราจรไปก่อนหน้านี้
หลังจากนี้กทม.จะทยอยตีเส้นจราจรช่องทางฉุกเฉินอีก 2 โรงพยาบาลคือโรงพยาบาลกลาง บนถนนเสือป่าตั้งแต่แยกเสือป่าจนถึงรพ.กลาง และถนนยุคล 2 ตั้งแต่ถนนบำรุงเมือง ถึงโรงพยาบาลกลาง และรพ.เจริญกรุงประชารักษ์ จะตีเส้นบนถนนตกตั้งแต่แยกถนนตก จนถึง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งทั้ง 2 โรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงถนน
ปัญหาซ้ำซากเรื่องการขอทางของรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสักที มีการแชร์คลิปภาพเหตุการณ์รถฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลที่กำลังนำผู้ป่วยฝ่าวิกฤตส่งต่อไปยังโรงพยาบาล แต่ก็พบว่ามีรถหลายต่อหลายคันไม่ยอมให้รถฉุกเฉินผ่านไปได้ โดยเรื่องราวดังกล่าวก็ได้ถูกแชร์กันอยู่เรื่อยๆ บางทีรถฉุกเฉินต้องเบี่ยงหลบไปเองด้วยซ้ำ
ซึ่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 76 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่หลบรถพยาบาลไว้ว่า เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือ ผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน
สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทางหรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถและจอดรถ ให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง
ส่วนผู้ขับขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วม ทางแยก ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ 
ขอบคุณภาพ : จส.100


กำลังโหลดความคิดเห็น