ใครจะรู้บ้างว่า ธุรกิจ “พายหมูแดง” เจ้าดังของไทย ที่มียอดขายทะลุ 100 ล้านบาทต่อปี มีแฟรนไชส์กว่า 60 สาขาทั่วประเทศ จะแฝงเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยบาดแผลฉกรรจ์ โชกเลือดได้ขนาดนี้!!
กว่า 3 ปีที่ผู้บริหารสาว พ่วงดีกรีเชฟสมัครเล่น ยอมขาดทุนเพื่อยื้อลมหายใจ “ร้านเบเกอรี่” ในฝันเอาไว้ แลกกับการต้องวิ่งโร่ยืมเงินเพื่อน, ติดหนี้บัตรเครดิตมากมาย
หรือแม้กระทั่งเอาของรักของหวงต่างๆ ในบ้านออกมาขาย เก็บงำความยากลำบากโดยไม่ปริปากบอกใคร กระทั่งถึงวันที่เบื้องบนเห็นใจ เลิกสั่งให้โชคชะตาเล่นตลก เพราะยอมแพ้ต่อ “ความดื้อ” ของผู้หญิงคนนี้
จุดต่ำสุดของชีวิต “ขายของ-จำนำ” เพื่อให้ร้านรอด
“เชื่อไหมคะว่าตั้งแต่อรทำธุรกิจ “พายหมูแดง” มา อรขาดทุนมาตลอด 3 ปีเลยนะ คือไม่ใช่ว่าอรทำแล้วได้กำไร หรือทำแล้วมีคนรู้จักเลย แต่อรทำแล้วขาดทุนมาตลอด คือไม่มีคนซื้อเลยจริงๆ วันนึงขายได้แค่ 10 ชิ้น 20 ชิ้น แล้วนอกนั้นเราก็ต้องเอาไปทิ้งเป็นของเสีย ในขณะที่เราก็ต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่ให้ทางห้างฯ ทุกเดือนๆ
คิดดูว่าอรต้องเอารถไปรีไฟแนนซ์ ต้องเอาของที่เรามี ที่เคยซื้อไว้ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู สร้อย หรือแม้แต่กระเป๋า ออกมาขายหมด แต่ที่พีคสุดก็คือ ตอนที่ต้องเอาของไปเข้าโรงจำนำ อันนั้นรู้สึกอายมาก เพราะชีวิตนี้เราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย และเราก็เป็นลูกสาวของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างในนครสวรรค์ ซึ่งก็มีคนรู้จัก”
อร-ณธนพร เอื้อวันทนาคูณ เจ้าของร้าน April's Bakery ย้อนรอยบาดแผลจากการลงทุนเพื่อความฝันให้ผู้สัมภาษณ์ฟัง ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว กระทั่งวันนี้ ร้านที่เธอปลุกปั้น คิดสูตรขนมทุกอย่างเอง ได้โด่งดังจนติดอันดับขนมยอดฮิตไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ “พายหมูแดงสูตรฮ่องกง” ที่กลายมาเป็นขนมบุกเบิกความสำเร็จ เป็น signature ของทางร้าน จนส่งให้ธุรกิจกลิ่นหอมตัวนี้ สร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาทอยู่ทุกวันนี้
แน่นอนว่าแง่มุมอันหอมหวาน บนบัลลังก์แห่งความสำเร็จ ย่อมเป็นจุดดึงดูดให้ใครต่อใคร อยากส่องสปอตไลต์มาที่สาวแกร่งวัย 34 รายนี้ แต่สำหรับผู้สัมภาษณ์แล้ว ดูเหมือนว่า “แง่มุมแห่งความเจ็บปวด” จะมีพลานุภาพมากกว่า จนต้องขอให้คนที่แทบไม่เคยปริปากบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ของตัวเองบนเส้นทางสายธุรกิจมาตลอดหลายปี ช่วยแบ่งปันบทเรียนในวันวานให้ได้รับรู้ร่วมกัน
“ช่วงที่ท้อที่สุดสำหรับอร คงเป็นตอนที่เราต้องหอบของ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปปั๊มมือในโรงรับจำนำค่ะ (ยิ้มปลงๆ) ตอนนั้นอรอายมาก พอไปถึงก็บอกคนในนั้นไปตรงๆ เลยว่า พี่..หนูอายมากเลย ปกติมีคนอื่นเขามาทำอะไรแบบนี้ไหม เขาก็บอกเราว่า โอ๊ย..น้องไม่ต้องไปคิดมากหรอก นักธุรกิจเอานาฬิกาโรเล็กซ์ 10 เรือนมาจำนำยังมีเลย มันเลยทำให้เรารู้สึกโอเคมากขึ้น เพราะเราไม่ได้เอาไปเยอะขนาดนั้น
แต่ที่ปวดใจที่สุด น่าจะเป็นตอนที่ต้องเอา “สร้อยข้อมือของคุณแม่” ไปจำนำค่ะ (ถอนหายใจ) มันเป็นสร้อยข้อมือทองหนัก 3 บาท ซึ่งตอนนั้นมันเป็นสมบัติที่เหลือชิ้นสุดท้าย เป็นทางเดียวแล้วที่จะทำให้เราสามารถหาเงินก้อนมาได้
ตอนนั้นก็ชั่งใจอยู่นะคะว่าจะเอายังไงดี จะเอาสร้อยแม่ไปจำนำดีไหม แต่สุดท้ายก็คิดว่าเราแค่เอาไปจำนำ เราไม่ได้เอาไปขาย ยังไงเราก็สามารถไปไถ่ถอนคืนได้ และอรก็เชื่อว่าแม่อรจะเข้าใจอร เพราะแม่ก็เป็นผู้หญิงแกร่ง และสู้ทุกอย่างเองมาเหมือนกันตั้งแต่ตอนทำธุรกิจก่อสร้างที่บ้านเอง สุดท้ายอรก็เลยตัดใจ แล้วเอาไปจำนำ
แม้แต่ที่ทำงานเอง เราก็ต้องไปค้นหาพวกสร้อยคอ, แหวน, ต่างหูเพชรเม็ดเล็กๆ ที่เราเคยสะสมไว้ ฯลฯ เอาออกมา แล้วก็เรียกให้คนมาซื้อ อรจำได้เลยช่วงนึงที่อรไปเช่าอาคารพาณิชย์ทำงาน แต่เราไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง อรต้องนัดให้คนมาซื้อของเราที่ตึกตรงนั้นเลย ตอนนั้นรู้สึกอายพนักงานมาก แต่เขาก็ไม่รู้กันนะคะ เพราะเราเข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวในออฟฟิศแค่ 2 คน”
ไม่ใช่แค่พนักงานในบริษัทเท่านั้นที่อรพยายามปิดบังเรื่องราวน่าอายเหล่านี้ไม่ให้แพร่งพรายออกไป แม้แต่คนที่สนิทที่สุดในชีวิตอย่างครอบครัว หรือแม้แต่แฟนในตอนนั้น ก็ไม่เคยมีใครได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำหน้าที่ปลอบใจ จึงไม่เคยมีใครรู้เลยว่า เบื้องหลังธุรกิจที่ดูหอมหวาน มีหน้าร้านสวยงามตั้งอยู่กลางห้างฯ จะสร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับเจ้าของของมันได้มากมายถึงเพียงนี้
“ระหว่างนั้น คนรอบตัวอรทุกคนก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลยค่ะ แม้กระทั่งแฟน หรือว่าน้องสาวก็ไม่รู้ เพราะเราตั้งใจจะไม่บอกใครเลย จะมีก็แค่ที่ห้างฯ ที่รู้ว่ายอดขายเราเป็นยังไง
อย่างตอนที่ไปโรงรับจำนำมา พอกลับที่พัก แฟนเห็นมือเราที่มีรอยเปื้อนหมึกตอนปั๊มมือ เขาก็ถามว่าไปโดนอะไรมา แต่เราก็ไม่ได้บอกอะไรเขา เพราะตอนนั้นรู้สึกอย่างเดียวเลยคืออาย
หรืออย่างเวลาที่บ้านโทร.มา เวลาพี่ชายโทร.มาหาทีไร จะชอบถามว่าขายดีไหม เราก็จะบอกเขาตลอดนะว่า ขายดี ขายดีมาก (ยิ้มบางๆ) ทั้งที่วันนึงขายได้ 200 เองนะ เพราะเราไม่ต้องการให้เขาเสียใจ เป็นห่วง หรือรู้สึกแย่ไปกับเราด้วย
อรเลยจะบอกอะไรที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับความจริงตลอด ทำให้ที่บ้านไม่เคยรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราบ้าง จนกระทั่งถึงวันที่มันพลิก กลายเป็นขายดีไปแล้วจริงๆ (หัวเราะเบาๆ)
และหลังจากนั้น ก็มีหนังสือเล่มนึงมาสัมภาษณ์อร อรถึงได้ยอมเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้หนังสือเล่มนั้นฟัง และทุกคนที่รู้จักเราถึงจะมารู้ทีหลังว่า จริงๆ แล้วชีวิตอรเคยต้องเจอกับอะไรแบบนั้นมาก่อน”
แม้ในตอนนี้ ทุกถ้อยคำที่บอกเล่าออกมา จะแนบไปด้วยรอยยิ้มสบายๆ และเสียงหัวเราะตบท้ายเป็นบางครั้งบางคราว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันวาน กลับอัดแน่นไปด้วยบรรยากาศแห่งความหม่นเศร้าในหลายค่ำคืน ก่อนที่ภาพลบๆ เหล่านั้นจะค่อยๆ สลาย กลายเป็นรอยอดีตในเช้าวันใหม่ เมื่อเธอบังคับตัวเองให้สู้ต่อไปในทุกวัน
“คือเราเหนื่อยมากจนรู้สึกว่าท้อเลยนะตอนนั้น เพราะเราขาดทุนแบบที่มองหาเงินไม่ได้เลย มองไปทางไหนก็มีแต่ติดหนี้เขาไปหมด มีช่วงอยากเลิกทำเหมือนกัน อยากไปมีชีวิตแต่งงาน เลี้ยงลูกที่บ้าน (ยิ้มบางๆ) แต่ ณ จุดนั้นมันก็ยังไม่ใช่ดวงที่เราจะต้องมาแต่งงานไงคะ เราก็เลยต้องทำงานต่อไป ต้องบอกว่าเราพยายามสู้ทุกวันจริงๆ ค่ะ
บางคืนก็นั่งร้องไห้คนเดียว คิดไปว่า ทำไมชีวิตต้องเป็นแบบนี้ด้วยวะ แต่สุดท้ายก็คิดว่าช่างมันเถอะ พอตื่นเช้ามาเราก็หายแล้ว เพราะปกติจะไม่ใช่คนที่จมอยู่กับอะไรตรงนั้นนานๆ เพราะไม่ชอบความเศร้า ไม่ชอบอะไรที่ต้องคิดเยอะ และบางอย่างคิดเยอะไปก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา
เวลาอรเศร้า อรก็จะเศร้าแค่ประมาณ 10-15 นาที และหลังจากนั้นอรก็จะหาย หรืออย่างน้อยๆ พอตื่นวันใหม่อรก็จะหายเอง อรจะไม่มานั่งเศร้าต่อ และอรก็เป็นคนขี้ลืมด้วย โดยเฉพาะเรื่องเครียดๆ ที่มากระทบใจ เราจะลืมมันง่ายมากๆ
อรชอบมองว่าถ้าเรามัวแต่คิดวนๆ ว่า ทำไมเราขายไม่ได้เลย แล้วเงินมันจะไหลเข้ามาไหม มันก็ไม่มาใช่ไหม เพราะฉะนั้น ต้องเลิกคิด แล้วลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เอาสมองไปคิดดีกว่าว่าจะทำขนมยังไงให้ขายได้ ไปคิดสูตรขนมใหม่ๆ ไปหาของที่ไปจำนำเพิ่ม (หัวเราะ) หรือจะแต่งตัวสวยๆ ไปยืนเชียร์ลูกค้า ก็ยังมีโอกาสได้เงินมากกว่ามานั่งคิดอีก”
เจ้าแม่ขาเจ๊ง!! “10 สาขา” ขาดทุน-ปิดตัว
ถ้าให้นับ “รอยแผลจากการขาดทุน” กันจริงๆ คงไม่ใช่แค่ระยะเวลา “3 ปี” อย่างที่บอกเอาไว้ ในระหว่างปลุกปั้นพายหมูแดงสูตรดัง แต่กินเวลายาวนานมาตั้งแต่สมัยอรลาออกจากการเป็นแอร์โฮสเตส แล้วมาสานฝันตั้ง “ร้านกาแฟ” ธุรกิจที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีหน้าร้านแบบถาวรจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่สุดท้ายเงินทุน 700,000 บาทที่เก็บหอมรอมริบเอาไว้ กลับมลายหายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว
“เรามีเงินที่ได้จากการเป็นแอร์ฯ อยู่ก้อนนึง ก็ฝันหวานไปว่าอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองตามประสาผู้หญิงทั่วไป ก็เลยไปขอเช่าที่ของ CDC โดยที่เราไม่ได้หาข้อมูลอะไรไปก่อนเลย พอไปเปิดถึงได้รู้ว่า ร้านกาแฟในนั้นมีอยู่ 10 ร้าน (ยิ้มแห้งๆ) และเราก็เพิ่งไปเปิด เราสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว
ที่สำคัญ เราเป็นคนไม่ดื่มกาแฟ ไม่รู้เลยว่า tasteกาแฟเป็นยังไง แค่ทำตามสูตรกาแฟไป ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ดื่ม เราเลยไม่รู้ว่าคนที่ดื่มเขาชอบหอม ชอบหวานอะไรยังไง สุดท้ายร้านนั้นเลยต้องปิดไป ก็คือเจ๊งค่ะ กลายเป็นว่าเงินที่ได้มาจากการเป็นแอร์ฯ ก็หมดเลย
ถามว่าเราผิดพลาดตรงไหน คงจะเป็นเรื่องที่เราไม่ฟังคนอื่นเท่าไหร่ คิดอะไรแล้วก็ชอบทำเลย ถึงตอนนี้อรก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่นะคะ (ยิ้ม) ซึ่งมันก็มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีในตัวเอง คือเราเป็นคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
อย่างตอนทำร้านกาแฟ เราไม่ใช่คนกินกาแฟ แค่รู้สึกว่าอยากทำ อยากมีร้านสวยๆ ไว้ให้เพื่อนมานั่ง (ยิ้ม) แล้วก็ทำเลย พอทำไปปุ๊บ เจอตรงไหนไม่ดีก็เปลี่ยนอยู่นั่น เหมือนเราก็พยายามนะคะ อดทนเพื่อให้ร้านมันไปได้
อรทนแบบนั้นอยู่เกือบปี จนกลายเป็นเราค้างค่าเช่าเขาเยอะมาก เดือนละ 30,000 ไม่มีเงินจ่ายเลย เพราะว่าเราขายได้แค่วันละ 200 (หัวเราะ) ก็เลยต้องควักเนื้อตัวเอง”
[ร้านกาแฟแห่งแรกในชีวิต ที่ทำแล้ว "เจ๊ง" ไม่เป็นท่า]
สิ่งที่หลงเหลือเพียงอย่างเดียว จากการลงทุนในครั้งนั้นก็คือ ชื่อร้าน “April’s Bakery” ที่ใช้มาตั้งแต่ตอนทำคอฟฟี่ชอปในฝัน กระทั่งรวบรวมพลังใจ ลุกขึ้นมาเปิดร้านเบเกอรี่แห่งใหม่ในเซ็นทรัล พระราม 3 อีกครั้ง ชื่อเดิมชื่อนี้ก็ยังคงถูกนำมาใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “April” คือชื่อภาษาอังกฤษ ที่อรเอาไว้ใช้เรียกแทนตัว สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นนางฟ้าประจำสายการบินไต้หวัน “Eva Air” ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามชื่อเดือนเกิดของเธอเอง เดือน “เมษายน”
ผลตอบรับในช่วงแรกๆ ของการตั้งร้านเบเกอรี่แห่งใหม่แห่งนี้ เรียกได้ว่าดีเกินคาด มีคนถูกใจอย่างล้นหลาม จากการสลัดกาแฟ หันมาเอาดีทางการทำขนม โดยเน้นหนักไปทางความอร่อยสัญชาติตะวันตก ประเภทขนมปังผสมชีสรูปแบบต่างๆ รวมถึงพิซซ่าด้วย
ยอดขายประจำวันในตอนนั้นค่อนข้างหวือหวา คืออยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ขายดีจนกระทั่งทางห้างฯ ให้โอกาสเพิ่มพื้นที่ในอีกกว่า 10 สาขา และแน่นอนว่าเมื่อโอกาสดีๆ แบบนี้วิ่งเข้ามา คนที่ไม่เคยปล่อยให้ความก้าวหน้าหลุดมืออย่างอรจึงรีบรับข้อเสนอทันที จนนำไปสู่ข้อตกลงแห่งการขาดทุน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เจ๊ง” ในที่สุด
“ช่วงเริ่มขายขนมพวกพิซซ่าโรล พวกชีส ก็ขายดีมาก (เน้นเสียง) เพราะเราไปขายเอง เราก็จะแต่งตัวสวยทุกวัน (ยิ้ม) เราเป็นแอร์มาก่อนด้วยไงคะ เราก็ใช้ตรงนั้นมายืนเรียกลูกค้า คนเขาก็คิดว่าเราเป็นพริตตี้นะตอนแรก (หัวเราะ)
หลังจากไปยืนเรียกลูกค้า ไปยืนขายเอง วันนึงก็ขายได้ 2-3 หมื่น คิดดูว่าตู้เค้กขนาด 1 เมตร 50 ขายได้หมด ซึ่งถือว่าขายดีนะ และทางห้างฯ ก็เห็น เขาก็เลยเสนอพื้นที่มาให้อรอีก 10 กว่าสาขา และอรก็ขยายทั้งหมดนั้นภายในเดือนเดียว
แต่ตอนนั้นเงินทุนเราไม่เหลือให้หมุนแล้ว อรก็เลยต้องหาเงินเข้ามาเสริม ซึ่งเราใช้วิธีขอยืมเพื่อนเอาค่ะ แต่เป็นการทำสัญญากู้ยืมกันแบบจริงจังเลยนะ เพราะเราไม่อยากเสียเพื่อนเพราะเรื่องนี้ แล้วก็ให้ดอกเบี้ยเขาด้วยร้อยละ 5 ต่อเดือน เพื่อมาใช้เปิดให้ได้จำนวนสาขาที่ตกลงไว้
แต่ด้วยความที่เราเป็นคนตัดสินใจเร็ว คิดเร็ว ใจร้อน เราเปิด 10 กว่าสาขา โดยที่เราไม่ดูโลเกชันเลยว่า ทำเลมันดีไหม จะขายได้ไหม กลายเป็นจากที่คิดว่าจะขายได้วันละ 20,000 เรากลับขายได้แบบนั้นแค่อาทิตย์แรก หลังจากนั้นเราก็ขายได้วันละ 2,000 บ้าง 5,000 บ้าง บางวัน 800 ก็มี เหมือนคนเขาแค่เห่อกันช่วงแรกๆ เท่านั้นเองค่ะ
หลังจากนั้น เราก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันขายไม่ได้เลย เราก็เลยต้องปิดสาขาทั้งหมดที่ขยายออกไป เพราะมันขาดทุนทั้งหมด สุดท้ายก็เหลือเอาไว้สาขาเดียว คือเริ่มต้นปั้นร้าน April's Bakery ที่สาขาเซ็นทรัล พระราม 3 ที่เดียวเหมือนเดิม ตอนนั้นก็มีคิดเหมือนกันนะคะว่า ทำไมเราไม่กลับบ้าน หรือไม่กลับไปเป็นแอร์ฯ ต่อ เพราะเราขาดทุนมาเยอะจนเหนื่อยมากๆ แล้วจริงๆ”
บทเรียนที่ได้จาก “การพลาดท่าทางธุรกิจ” ครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิตคราวนั้น ทำให้อรรู้จักเข็ดหลาบกับอาการ “เห่อแค่ชั่วครู่ชั่วยาม” ของเหล่าลูกค้าผู้ชอบการลิ้มลอง และสั่งให้ตัวเองท่องจำเอาไว้เลยว่า ถ้าจะปล่อยขนมตัวใหม่ๆ หรือเปิดร้านอะไรสักแห่งหนึ่ง ต้องอย่าเพิ่งเชื่อกระแสตอบรับภายในช่วงระยะเวลา “3 เดือนแรก” ของการลองตลาด มิเช่นนั้นอาจนำมาสู่หายนะอีกครั้งได้
รวมถึงบทเรียนเรื่อง “การสำรวจตลาด” ทำความรู้จักกับผู้บริโภคให้ดีๆ ก่อนลงทุน ก็น่าจะช่วยให้ความผิดพลาดหลายๆ อย่างทุเลาลงได้ และหวังว่าจะไม่มีใครทำพลาดซ้ำรอยการลงทุน อย่างที่เธอเองเคยประสบมากับตัว
“ตอนแรกอรทำพวกผักขมอบชีสออกมา เพราะรู้สึกว่า เอ..ทำไมคนถึงไม่ทำพวกนี้ออกมาขาย ทั้งที่คนที่มีลูกเขาสามารถอุ่นให้ลูกทานตอนเช้า ก่อนไปโรงเรียนได้ เราก็เลยทำมาขาย ช่วงแรกก็ขายดี แต่พอดีเราไม่ได้สำรวจตลาด ทั้งๆ ที่คนแถวนั้นเป็นคนจีนทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่มีใครมานั่งกินพิซซ่าตอนเช้า
หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ เปลี่ยน product เพราะทางห้างฯ เขาก็เริ่มโทร.มาหาอรว่า ถ้าอรไม่เปลี่ยน เขาก็จะเอาร้านอรออกนะ จะยุบร้าน ซึ่งถ้าเราโดนยุบร้านแล้ว จะเข้าไปใหม่มันไม่ง่ายเลย คือเขาอาจจะไม่เอาเราแล้วก็ได้ เพราะมันเหมือนเราเคยเจ๊งไปแล้ว
เราก็เลยพยายามหา product อื่นเข้าไปขาย ไม่ว่าจะเป็นเค้ก, ขนมปัง, มัฟฟิน ฯลฯ เราขายทุกอย่างเลย แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างของเราก็สู้เขาไม่ได้เลย ทำให้ต้องปิดทุกสาขาไปหมดเลย จนเหลืออยู่ที่เดียว”
การดิ้นรนเฮือกสุดท้าย “พายหมูแดง” พลิกโชคชะตา
“ทริปฮ่องกงเปลี่ยนชีวิต” ถ้าจะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก เมื่อย้อนกลับไปราวๆ 7 ปีที่แล้ว ในช่วงร้านเบเกอรี่เพียงแห่งเดียวที่เธอมีอยู่ในมือ กำลังตกอยู่ในสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ต้อง “สร้างหนี้” เพื่อนำมาหมุนหน้าร้านให้กิจการไปต่อได้
โชคดีที่อรยังได้มีโอกาสเดินทางไปฮ่องกงกับเพื่อนคนนึง ผู้รับหน้าที่เป็นไกด์จำเป็น แนะนำให้เธอชิม “พายหมูแดงร้านดัง” ของเจ้าถิ่น กระทั่งกลายมาเป็น “แรงบันดาลใจโดยไม่ได้เจตนา” ในอีก 3-4 เดือนให้หลัง ด้วยการจุดประกายความคิดผ่านน้องสาวเธอเอง
“ที่ร้านนั้น คนต่อคิวกันเยอะมาก ขนาดว่าเขาขายชิ้นเล็กๆ แค่นี้ (หยิบขนาดพายที่หั่นจากชิ้นปกติของตัวเอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนแล้วขึ้นมาให้ดู) คิดราคา 80 บาทนะคะ แต่พอกินแล้วก็รู้สึกว่าอร่อยจริง ก็เลยซื้อกลับมาอีก 30 ชิ้น เอากลับมาฝากให้น้องสาวกิน
พอน้องกินแล้ว ก็บอกว่าอร่อยๆ เจ๊อรทำไมไม่ทำแบบนี้ขายบ้างล่ะ เพราะตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีเลย ถ้ามีก็จะเป็นพายหมูแดงที่ต้องไปกินในร้านติ่มซำของคนจีน
ตอนนั้นก็เลยตอบน้องไปแค่ว่า เฮ้ย..เราไม่ได้เรียนจบสถาบันทำอาหารมา ที่จู่ๆ คิดว่าจะทำอะไรก็ทำได้เลยนะ พายแบบนี้ คงไม่มีใครคิดหรอกค่ะว่าคนอายุเท่าอรจะทำได้ อาจจะต้องเป็นสูตรของคนรุ่นอากง-อาม่า เป็นสูตรบรรพบุรุษแน่ๆ (หัวเราะ) เราก็เลยไม่ได้ทำ
หลังจากนั้นเราก็ทำขนมขายแบบขาดทุนของเราต่อไป แล้วก็เป็นแบบนั้นต่อไปอีกประมาณ 3-4 เดือนที่เราพยายามทำขนมใหม่ๆ ออกไปลองขาย จนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปขายแล้ว เพราะขายอะไรก็ไม่ได้เลย
สุดท้ายก็มาถึงวันที่เราตัดสินใจว่า โอเค..ลองทำดูก็ได้ คิดว่าเฮือกสุดท้ายแล้วกัน ในเมื่อเราไม่คิดว่ามันจะทำได้ ก็มาลองกันดูว่าจะทำได้ไหม เอาจริงๆ ตอนนั้นถ้าทำพายไม่ได้ ก็คงเลิกทำขนมไปแล้ว เพราะไม่รู้จะขายอะไรแล้ว เพราะทำมาทุกอย่างแล้วจริงๆ ค่ะ
และเชื่อไหมคะว่า มันเป็นขนมตัวเดียวที่อรใช้เวลาทำนานมาก จากปกติเวลาอรคิดสูตรขนมอะไรออกมา อรจะใช้เวลาแป๊บเดียว แต่พอเป็นตัวนี้ อรใช้เวลาเป็นเดือนเลย อรใช้เวลา 3 เดือนในการทำแป้งกับไส้ พอทำออกมาปุ๊บ แล้วเอามาขาย ทุกคนกินแล้วก็บอกว่ามันอร่อย
แม้แต่ตัวอรเอง จากปกติเวลาทำขนมอะไรออกมา เราจะไม่ค่อยทาน อย่างพวกเค้ก (ยิ้มบางๆ) เพราะเรารู้ส่วนผสมค่ะว่า มันต้องใส่น้ำตาลทีนึง กิโลนึง-ครึ่งกิโล แล้วก็ใส่เนยทีนึงก้อนใหญ่ๆ (ส่ายหน้า) เราก็เลยเลือกที่จะไม่กิน แต่อย่างพาย เรารู้ว่าเราใส่อะไรลงไปบ้าง”
กลายเป็นว่า “เชฟสาวมือสมัครเล่น” รายนี้ ต้องกลับมานั่งระลึกชาติ นึกย้อนความรู้สึกเมื่อครั้งได้ลิ้มลองพายหมูแดงจากฮ่องกงเจ้านั้นขึ้นมาอีก ก่อนจะพบว่าจำอะไรแทบไม่ได้แล้ว เธอจึงใช้วิธีคิดค้นสูตรทุกอย่างเอง โดยยึดจากรสนิยมส่วนตัว บวกกับความชอบของคนไทย คือเลือกที่จะทำแบบไม่ใส่เนย-นม และตัด “ความมัน” แบบเดิมๆ ออกไปให้หมด
“จากปกติแล้วแป้งพายที่เคยกินแป้งพายของฝรั่ง เขาต้องเอาแป้งวาง 1 ชั้น เอาเนยวาง แล้วก็จะรีดซ้ำๆ อยู่แบบนั้น เพื่อให้มันเป็นชั้นๆ ขึ้นมาได้ แต่พายของเราไม่ได้ทำแบบนั้น เราไม่ได้ใช้เนยหรือนมเลย เราใช้วิธีการรีดอย่างเดียว คนแพ้เนย-แพ้นมจะได้ทานได้
ส่วนตัวไส้ ถ้าเทียบกับร้านที่ฮ่องกงร้านนั้นกับสูตรของเรา ทุกอย่างแตกต่างกันหมดเลยนะ เพราะของเขาจะมันจนน้ำมันไหลเลย ซึ่งเราก็ต้องมา adapt ให้เข้ากับคนไทยที่ไม่ชอบมัน, ชอบแป้งบาง, ไส้เยอะ ฯลฯ
สังเกตได้เลยว่า ตัวแป้งของเราจะไม่มันเหมือนพายฝรั่ง คือทำออกมาแล้วไม่ได้กรอบแบบนั้น แต่มันก็มีวิธีทำให้กรอบได้ตอนหลัง อย่างที่ลูกค้านิยมทำกันช่วงหลังๆ ก็คือ เอาไปอุ่นในเครื่องวัฟเฟิลพาย หรือไม่ก็เอาไปอบในเตาอบ มันก็จะออกมากรอบ หรือถ้าเอาไปใส่ไมโครเวฟ มันก็จะออกมานิ่มเอง”
กว่า 20 ไส้ในพายชื่อดัง ที่วางขายอยู่ตามตู้กระจกประจำสาขาต่างๆ ในห้างฯ ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ “เชฟอร” ทั้งสิ้น ยังไม่รวมขนมอบแห้งอีกหลากหลายชนิด ที่ผลิตเพิ่มขึ้นมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาจากหยาดเหงื่อและความพยายามของผู้หญิงคนนี้ กว่าจะได้มี-ได้เป็นอย่างที่เห็นกัน
“เชื่อไหมว่าตอนที่อรทำพายขายอยู่ช่วงแรกๆ แฟนอรเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราจะต้องมาคอยทำเองทุกอย่าง เพราะตอนนั้นอรก็ไปเที่ยวกับเขาตามปกติเลยค่ะ คือขายของตอนเช้า ตอนเย็นกินข้าว ดูหนังกับแฟน (พอถึงที่พัก) สัก 4 ทุ่ม อรถึงเริ่มทำขนม
ทำเสร็จตี 4 แล้วอรจะนอนประมาณ 3 ชั่วโมง ตื่นเช้าขึ้นมา ค่อยเอาขนมออกมาขาย ทำแบบนี้เป็นเดือนๆ เลยค่ะ โดยที่แฟนไม่รู้เลยว่าเราลำบาก เพราะแฟนก็อยู่กันคนละที่ เป็นแฟนกันแค่กินข้าว ดูหนัง และเราก็ไม่อยากให้เขารู้ เพราะเราเองก็ต้องการพิสูจน์ตัวเองด้วย
พอขายไปได้สักระยะ ก็มีอาเจ๊กคนนึงเดินเข้ามาที่ร้าน มาลองทาน แล้วเขาก็บอกว่า “หนูขายต่อไปนะ อันนี้มันจะทำให้หนูดัง” (ยิ้ม) อรก็รับปากว่าค่ะๆ แต่ตอนนั้นเราขายได้วันละ 10-20 ชิ้นนะคะ (หัวเราะ) เหนื่อยมากจริงๆ”
แต่ถึงจะบอกอย่างนั้น อรก็ยังคงยอมปาดเหงื่อ บุกตลาดขนมด้วยความเชื่อมั่นในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยมต่อไป แม้จะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อแลกกับการทำให้กิจการเพียงแห่งเดียวในขณะนั้น กลับมาอยู่ในสภาวะ “ไม่ขาดทุน” ได้ พร้อมกับการทำให้ “ขนมทางเลือก” ชนิดใหม่ในไทยตัวนี้ ค่อยๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นๆ จนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
["พายหมูแดงสูตรฮ่องกง" คิดค้นรสชาติลงตัวด้วยตัวเอง]
“ต้องบอกว่า “พายหมูแดง” เป็นอะไรที่ไม่บูมตั้งแต่แรกเลยนะคะ แต่อรแค่รู้สึกว่าขนมนี้อร่อย เราภูมิใจที่จะนำเสนอ เราภูมิใจที่จะเอาไปให้ทุกคน และเราก็กล้าบอกเลยว่า เฮ้ย..มันอร่อยมากนะ ต้องชิมนะ เราเลยเอาไปให้คนที่เรารู้จักทั้งหมดเลย และคนที่ได้ชิมเขาก็บอกต่อกันไปเรื่อยๆ
เรียกได้ว่าเราใช้วิธี word-of-mouth คือให้คนบอกต่อกันปากต่อปากอย่างเดียวเลย เพราะอรไม่ได้ใช้สื่อ ไม่ใช้โฆษณา ไม่ใช้อะไรเลย ตอนนั้นไม่มีเงินที่จะไปจ้าง ออนไลน์ก็ทำไม่เป็น และก็ยังไม่มีสื่อมาคุยกับอรตอนนั้นด้วย ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว (ที่โซเชียลฯ ก็ยังไม่บูมเท่าทุกวันนี้)
อรก็แค่เด็กนครสวรรค์คนนึงที่มาอยู่กรุงเทพฯ แล้วมาขายขนม ซึ่งเราก็ขายเอง มีเอาไปฝากคนรู้จัก เพราะเราทำเองและคิดว่ามันอร่อย เวลาเราไปไหน เราก็จะเอาของที่เราทำไปฝากทุกคน เจ้าของโรงงานที่ต่างๆ ก็สั่งเราเป็นพันๆ ชิ้นหลังจากนั้น เราใช้ word-of-mouth จริงๆ ค่ะ พอ 1,000 ชิ้นนั้นที่คนได้กิน เขาก็จะบอกต่อไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีคนรู้จักภายใน 3 ปี เริ่มไม่ขาดทุน
แล้วพอปีที่ 4 อยู่ดีๆ มันก็พลิกเลยค่ะ พลิกเพราะมีคนมาซื้อ “แฟรนไชส์” จากตอนแรกที่มีคนติดต่อมาคนนึง แล้วอรคิดว่าจะไม่ขาย เพราะอรกลัวจะคุมคุณภาพไม่ได้ แต่พอตกลงกันว่าเราต้องใช้เงิน เพราะไม่มีเงินมาหมุนแล้ว สุดท้ายก็เลยตัดสินใจขายแฟรนไชส์ไป
และหลังจากนั้นก็มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์กับอรทุกวัน วันละ 2 ที่ ตกเดือนนึงอรขายแฟรนไชส์ไปได้ 20-30 ที่เลยค่ะ (ยิ้มด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจ) ทุกวันนี้ก็มีแต่คนติดต่อมาขอซื้อแฟรนไชส์ เพราะอย่างแรกเลยคือขนมมันอร่อย และลูกค้าที่ซื้อไปเขาก็อยู่ได้ เขาเลยเอาไปขยายหลายๆ สาขาของเขาด้วย
กลายเป็นว่าจุดพลิกของเราคือ หลังจากที่เราขายแฟรนไชส์ไป มันก็ทำให้เราสบายขึ้น เรามีเงินหมุนมากขึ้น และเราก็อยู่ได้มากขึ้นด้วย แต่ถามว่ามันคืนทุนหรือยัง ก็คงยังค่ะ เพราะอรใช้เงินไปเยอะมากจริงๆ แต่มันก็ทำให้เราได้อยู่ในจุดที่สบายมากขึ้นแล้ว”
ขอบคุณ “ความรั้น” สำเร็จเพราะไม่ยอมแพ้
“รู้ไหมว่าคนที่ประสบความสำเร็จแต่ละคน ไม่ใช่ว่าจะทำ 3 เดือนหรือ 3 ปีแล้วรวยเลย บางคนทำเป็น 10-20 ปีก็มีค่ะ อรคิดว่าทุกอย่างต้องใช้ความอดทน และเราก็ต้องรักในสิ่งที่เราทำ มันถึงจะออกมาดี”
นี่คืออีกหนึ่งมุมมองที่แสนเด็ดเดี่ยว จากผู้บริหารสาวชาวเหนือคนนี้ เมื่อถามถึง “ระยะเวลาของความสำเร็จ” ที่นักลงทุนแต่ละรายต้องแลกไป เพื่อให้สามารถคว้าฝันได้อย่างที่ใจต้องการ เช่นเดียวกับตัวเธอเองที่ไม่เคยกำหนดเป้าหมายเอาไว้ด้วยกรอบของเวลา รู้แค่ว่าในเมื่อยังไม่ถึงฝั่งฝัน ก็ต้องพยายามต่อไป แม้บางครั้งอาจถูกมองว่า “ดื้อ” “รั้น” หรือ “ดันทุรัง” ก็ตามที
“จริงๆ การที่ดื้อแบบอรมันเหนื่อยนะคะ และตอนที่ทำไปตอนนั้น เราก็ยังไม่รู้อนาคตด้วยว่ามันจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ แต่อรแค่คิดว่าเราต้องทำให้ได้ ในเมื่อมีแต่คนชมว่าอร่อย แล้วทำไมขนมอร่อยถึงขายไม่ได้
อรแค่เชื่อว่าคนที่จะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง สมมติเขาทำเสื้อผ้าออกมาแล้ว cutting สวยจริงๆ หรือทำขนมออกมาแล้วมันอร่อยจริงๆ ถ้าของมันดีจริงๆ ยังไงคนก็ซื้อ แต่อาจจะต้องใช้เวลา อย่างอรก็ใช้เวลา 3 ปีเพื่อที่จะให้คนบอกกันปากต่อปาก ให้พวกเขาเริ่มรู้จักขนมของเรา
คืออรคิดว่าถ้าเราอดทน มันก็ทำสำเร็จนะ ดูอย่างพ่อแม่ของเรา หรืออากงอาม่าในสมัยก่อน การที่เขาจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจแต่ละอย่างได้ เขาก็เริ่มจากเก็บหอมรอมริบเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างมันคือการอดทนหมด
อย่างตอนนั้นอรก็คิดนะว่า อรจะทำไปทำไมขนาดนั้น เพราะบางคนเขาทำแค่ 3-4 เดือน ถ้าขาดทุนเขาก็เลิกทำแล้ว แต่นี่คือ 3 ปี ซึ่งโดยปกติแล้ว คนที่เขาทำธุรกิจ ถ้าไปถามพวกอาจารย์ ถ้าขาดทุนเกิน 6 เดือน เขาก็ไม่แนะนำให้ทำแล้ว แต่เราเป็นคนไม่อยากให้คนอื่นมองว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ชอบที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วย ก็เลยต้องพยายามทำให้สำเร็จ
แต่บางครั้งคนสมัยนี้อยู่กับอะไรที่มันเร็ว มันเลยอาจจะดูง่ายไปหมด ถ้าจะลุกขึ้นมาขายออนไลน์ ทำง่ายๆ ขายแค่ 3-4 อาทิตย์ ขายไม่ดีก็เลิกทำ แล้วไปขายอย่างอื่นก็มี ซึ่งบางครั้งเรายังไม่ได้ลองดูเลยว่า มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ในอนาคต แต่เราก็เลิกทำไปแล้ว”
อีกหนึ่งบททดสอบที่เจ้าของกิจการทุกคนต้องพบเจอ ก็คือการต้องชั่งน้ำหนักระหว่างฝั่ง “เชื่อตัวเอง” กับ “เชื่อคนอื่น” ซึ่งผู้บริหารสาวสวยรายนี้ ยืนยันที่จะเชื่อในเสียงหัวใจของตัวเองเป็นหลักมาโดยตลอด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็เทให้กับความเชื่อมั่นในตัวเองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 20 เปอร์เซ็นต์ถึงจะแบ่งพื้นที่ให้ฟีดแบ็กและคำคอมเมนต์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์จริงๆ
“อรเลือกที่จะเชื่อตัวเองเป็นหลักเลยค่ะ เพราะเราก็ผ่านอะไรมาเยอะ เจออะไรมาเยอะในเรื่องการขาย กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องรสชาติที่อรจะเชื่อลิ้นตัวเองเป็นหลัก เพราะขนมทุกๆ ที่ที่ทำออกมา มันก็เกิดมาจากตัวเชฟ เกิดจากคนที่เขาทำขนมตัวนั้นออกมา มันคือเป็น taste ของเขา ซึ่งอาจจะกลายมาเป็น taste ที่คนอื่นชื่นชอบได้ด้วยเหมือนกัน”
[พายหลากไส้ สูตรจากเจ้าของกิจการ]
ยิ่งถ้าอยากเป็น “เชฟนอกกรอบ” อย่างอร ยิ่งต้องกล้าที่จะเชื่อตัวเองเป็นสำคัญ เพราะถ้ามัวแต่ไปยึดติดในกฎเกณฑ์ หรือไขว้เขวไปตามคำวิจารณ์ของใครๆ ได้ง่ายๆ สุดท้ายก็จะไม่มีวันสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างแท้จริง
“เอาจริงๆ นะคะ อรเป็นคนไม่ชอบเรียน (หัวเราะ) เพราะไม่ชอบทำตามคนอื่น ไม่ชอบเดินตามใคร ไม่ชอบให้ใครมาบอกอะไร ชอบทำทุกอย่างตามความคิดของตัวเองหมดเลย แต่ช่วงหลังๆ ก็มีไปลงเรียนทำขนมอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ที่ไปเพราะแค่อยากจะรู้ว่าคนอื่นเขาทำยังไง แล้วหลังจากนั้นเราจะได้เอาไป adapt เอง
อย่างคนที่เป็นเชฟ เท่าที่อรเคยเห็น บางทีเขาจะมีกรอบความคิดของเขาอยู่ สมมติจะทำพาย ก็จะกำหนดเอาไว้เลยว่าพายต้องเป็นแบบนี้ๆ เท่านั้นนะ ต่างจากนี้ไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว อรว่าการทำพายอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้
แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นเชฟ เราก็จะคิดของเราไปเรื่อยแบบไม่มีกรอบ คิดว่าเอ..เราเอาไข่เค็มมาใส่ในคุ้กกี้ตัวนี้จะได้ไหมนะ หรือเอาเมล็ดเจียมาใส่ในพายสับปะรดดูซิ มันจะออกมาเป็นยังไง เราก็จะคิดนอกกรอบไปได้เรื่อยๆ
ต้องคิดว่าถ้าเราเลือกที่จะเหมือนคนอื่น แล้วเราจะขายอะไร เราเลยต้องคิดว่าเราต้องแตกต่างมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อย่างตอนนี้ ขนมของทางร้านก็มีคนทำตามนะคะ แต่ยังไงเราก็เชื่อว่า เราก็แตกต่างจากคนอื่น
[เข้าโรงงาน ตรวจกระบวนการผลิตด้วยตัวเอง]
ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยพื้นฐานของเราที่เป็นคนดื้อด้วยมั้งคะ เป็นคนไม่ชอบทำเหมือนใคร จะเรียกว่าสุดโต่งก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งหมดนะ แต่อรก็มานั่งคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าอรเลือกฟังคนอื่นตั้งแต่วันนั้น อรก็คงปิดร้านไปแล้ว”
ในฐานะ “คนต้นแบบ” คนหนึ่งซึ่งน่าจะสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้แก่สังคมได้ ลองให้เลือกเอาคุณสมบัติในตัวข้อไหนก็ได้มาข้อหนึ่ง ที่อยากให้คนอื่นๆ หยิบไปใช้มากที่สุด คำตอบของอรคือ “ความอดทน” ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เธอเป็น “ผู้หญิงแกร่ง” และหยัดยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้
“ที่ผ่านมา จริงๆ แล้วอรก็เคยตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองนะคะว่า ทำไมเราถึงต้องลำบากกว่าคนอื่น แม่ก็ต้องมาเสียไปก่อน ธุรกิจของตัวเองก็ไม่มี เป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องต่อสู้ ต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง ตอนนั้นจะเอาทุกอย่างมารวมกัน แล้วก็มองไปว่ามันแย่มาก ทำไมชีวิตต้องเป็นแบบนี้
แต่สุดท้าย พอมองกลับไป เราก็พบว่าทุกอย่างนั่นแหละ ที่มันหล่อหลอมให้เราเป็นเรา ทำให้เราสตรองจนเป็นอรได้อย่างทุกวันนี้ และต่อให้เจออะไรมา ต้องเจอเรื่องหนักกว่านี้ เราก็ยังเข้มแข็งอยู่ได้ เพราะที่อรมีทั้งหมดทุกวันนี้ ก็เพราะเราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเราเอง”
“เลือดสตรอง” มาจาก “หญิงแกร่งประจำบ้าน” อรคิดว่าเราได้ความสตรองมาจาก "คุณแม่" นี่แหละค่ะ เพราะเราจะเห็นมาตลอดว่าท่านทำเองมาหมดทุกอย่างเลย ทั้งเลี้ยงลูก 4 คน ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ที่คุณพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน จนมาตอน ม.ต้น ที่คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน เราเลยจะเห็นความแกร่งของเขามาตลอดว่า เขาทั้งเลี้ยงเรา ทั้งทำงานขายอุปกรณ์ก่อสร้าง แถมยังมีเวลาดูแลตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าเขาสตรองมาก หรืออย่างเวลาเห็นเขาร้องไห้ ก็จะเห็นแค่แป๊บๆ แล้ววันต่อมาเขาก็ดูแลลูกเหมือนเดิม อรเลยคิดว่าเราน่าจะได้จุดนี้มาจากคุณแม่ นอกนั้นก็คงเป็นเพราะชีวิตที่หล่อหลอมเรามา และเพราะวิธีการสอนของคุณแม่ด้วย ที่สอนให้เรารู้จักค้าขายมาตั้งแต่เด็ก เชื่อไหมว่าอรขี่จักรยานขายหวยมาตั้งแต่อายุ 12 แล้วนะ (หัวเราะ) เป็นหวยแบบฉีกเบอร์ ใบละ 10-20 บาท แล้วจับรางวัลแลกเหล้า-แลกทองอะไรแบบนั้น เรียกได้ว่าตั้งแต่อายุ 10 ขวบ อรก็เริ่มเป็นแม่ค้าแล้ว เริ่มจากขายคนงานในบ้าน แล้วก็ให้ฝ่ายบัญชีหักเงินพนักงาน ซึ่งก็ขายกำไรดีนะ จนคุณแม่บอกว่าให้เลิกทำ เพราะคนงานไม่มีเงินกินข้าวแล้ว (หัวเราะ) |
“1 ล้าน” ราคาบทเรียนจาก “คนโกง” อรเคยโดนโกง เป็นคนที่เราจ้างมาช่วยปั้น-ช่วยห่อขนมในร้านนั่นแหละค่ะ แล้วก็ช่วยดูแลบัญชีของร้านด้วย เราให้เขามาเป็นหัวหน้าคุมคนอื่น และเราก็ให้เงินเขาไปซื้อของที่ตลาดเพื่อเอามาทำ กลายเป็นว่าเขาก็โกงเงินตรงนั้นมาเป็นปีๆ โดยที่เราไม่รู้ ซึ่งรวมๆ แล้วก็เป็นล้าน (ยิ้มปลงๆ) พอรู้ตอนนั้นก็เป็นลมเลยค่ะ เครียด คิดดูว่าตอนนั้นก็ขาดทุนอยู่แล้ว แต่กลับมาโดนโกงอีก เพื่อนก็แซวนะคะว่า นี่แสดงว่าแกขายของได้กำไรนะ เพราะขนาดโดนโกงแล้วแกยังอยู่ได้เลย (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้ฟ้องร้องอะไรเขานะคะ เพราะถึงฟ้องไป เขาก็ไม่มีเงินมาจ่ายเรา ก็เลยแค่พาตัวไปลงบันทึกประจำวันไว้เฉยๆ ซึ่งบทเรียนที่ได้จากการโกงครั้งนั้นก็ทำให้เรารอบคอบมากขึ้น คิดเยอะขึ้นก่อนจะจ่ายอะไรในแต่ละที และทุกวันนี้อรก็คุมบัญชีเองหมดเลย |
“แม่ค้าตลาดนัด” จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ พอเรียนจบปุ๊บ เราก็กลับไปช่วยงานที่บ้านอยู่พักนึง ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่เราไม่ชอบเลย เพราะทุกครั้งที่กลับบ้าน พี่ชายเขาก็จะให้เราทำแค่ “นั่งทอนเงิน” แค่นั้น ทำให้เรารู้สึกเบื่อ แล้วก็ไปแอบสมัครแอร์ฯ ไว้ ระหว่างนั้นก็เสิร์ชหาสูตรทำขนมในกูเกิลไปด้วย บวกกับอ่านหนังสือทำขนมไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบทำอาหาร ชอบทำขนมอยู่แล้ว แล้วพอทำได้ปุ๊บ เราก็ลองเอาไปขายที่ตลาดนัดที่นครสวรรค์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเริ่มทำขนมของอร ช่วงนั้นคือพอเช้ามา เราก็จะตื่นมาช่วยงานที่บ้าน แล้วก็นอนตี 4 จากนั้นก็ตื่นมาตีขนมปัง ทำเค้ก พอตกเย็น เราก็จะขับรถกระบะ เอาขนมขึ้นหลังรถไปกับแม่บ้านคนนึง ไปขายกันที่ตลาดนัด ตอนนั้นขายได้วันละ 3,000 สำหรับค่าที่ 20 บาท ก็ถือ่วาเราก็ได้กำไรแล้วนะ [สมัยยังทำตามฝันการเป็น "นางฟ้า" ประจำสายการบิน Eva Air] ก็ทำมาเรื่อยๆ 8 เดือน จนทางสายการบินเขาเรียกตัว เราก็เลยตัดสินใจทิ้งตรงนั้นไปก่อน เพราะอยากมาทำตามความฝันการเป็นแอร์ฯ ที่อยากเป็นมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วค่ะ แต่พอเป็นแอร์ฯ ไปได้สักพัก เราก็รู้สึกว่าอาชีพนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะแอร์ฯ ต่างประเทศมันจะต่อสัญญาทุก 3 ปี แล้วถ้าถึงเวลาไม่ต่อสัญญาล่ะ เราเลยตัดสินใจว่าจะออกมาทำกิจการส่วนตัวดีกว่า |
[“ฮาน่า-ทัศนาวลัย จักรพงษ์, ได๋-ไดอานา จงจินตนาการ” แม้แต่คนดัง ยังตบเท้าเข้ามาขอชิม]
[มีพร้อมทุกอย่างแล้ววันนี้ ทั้งกิจการมั่นคง และครอบครัวอบอุ่น]
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิระ สายจำปา
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "April's Bakery" และอินสตาแกรม @ornapril
ขอบคุณสถานที่: ร้าน “April’s Bakery” สาขาไอคอนสยาม (ชั้น Ug โซน Siam Takashimaya)
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **