“มันเจ๋งนะ ตอนแรกคนไข้เขา “นอน” มา แล้วเราทำให้เขา “เดิน” กลับไปได้” จากคนที่กลัว “เลือด” จนถึงขั้น “เป็นลม” สู่การเป็นแพทย์หญิงที่อัดแน่นไปด้วยอุดมการณ์
การปรากฏกายของ คุณหมอลี่ลี่ - พญ.สิริน ไตรวุฒิพิพัฒน์กุล ในฐานะ “แพทย์สนาม" เพื่อตรวจอาการบาดเจ็บของช้างศึกในสนาม AFF SUZUKI CUP 2018 นัดไทยคว่ำอิเหนา กลับทำให้ทั้งสนามราชมังคลาฯสดชื่นหัวใจชุ่มฉ่ำขึ้นทันตา
แพทย์หญิงมากความสามารถดีกรีนางสาวเชียงใหม่วัย 27 ที่ลงประกวดนางงามเพราะอยากช่วยเหลือคณะแพทย์ ไม่ใช่แค่เก่ง สวย มีสมอง งามทั้งหน้าและโปรไฟล์อย่างเดียว ความรู้เรื่องฟุตบอลยังเข้าขั้น "รู้ลึก รู้จริง” เจาะลึก วิเคราะห์ได้อย่างถึงแก่นอย่างมีกึ๋น! เชื่อบอลไทยไปบอลโลกได้!
รักฟุตบอล “เข้าเส้น”
Q : มาเป็นแพทย์สนามได้อย่างไร
A: ชอบดูบอล รู้สึกว่า 90 นาทีมันสั้นมากเลย คือเราเป็นเด็กกิจกรรมอยู่แล้ว และรู้สึกว่าการทำอะไรที่ช่วยคนอื่นไม่ได้มีผลเสียอะไร ปกติเราจะไม่คิดเยอะ อันนี้ชอบ น่าสนใจ ก็ไปเลย ดังนั้นที่มาเป็นแพทย์สนามเพราะชอบกีฬาฟุตบอล
นอกจากนี้ เรายังได้ดูบอล ตอนแข่งขันด้วย เราจะเห็นเลยว่าท่าล้มเป็นยังไง หรือนักเตะคนนี้เคยบาดเจ็บตรงไหนมาก่อน เราต้องระวังอะไรถ้าเขาเจ็บ เพื่อมีข้อมูลในการรักษาที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ
เพราะถ้าเราชอบอะไร เราจะศึกษา อย่างคนนี้เคยไปแมตช์นี้ พอจะรู้คร่าวๆ อย่างเมสซีเจ ก็จะเคยบาดเจ็บตรงเข่า ถ้าเป็นนักบอลเราจะพอรู้ว่าตำแหน่งไหนที่เจ็บบ่อย ต้องแก้อย่างไร
ตอนแรกเป็นแพทย์สนามอยู่ที่ฟุตบอลลีกก่อน เป็นบอลสโมสร พวกเมืองทอง บางกอกกล๊าส หลังจากนั้นทางสมาคมก็เห็นศักยภาพจึงดึงมาทำทีมชาติ ทำมาประมาณ 2 ปีกว่าแล้ว
หน้าที่เราก็จะเป็นหมอสนาม ดูแลนักบอลเป็นหลัก และดูผู้ชมด้วย คือดูตั้งแต่ก่อนแข่ง ตั้งแต่ตอนอบอุ่นร่างกาย ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนแข่ง และระหว่างที่แข่ง ก็ดูว่า หากนักบอลเจ็บจะรักษาที่สนามเลยได้มั้ย ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะส่งออกไปรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้นที่โรงพยาบาลหรือไม่ และหลังแข่งจนกว่าทุกคนจะออกจากสนามไปหมดแล้ว
Q : เกณฑ์การคัดเลือกแพทย์สนาม ต้องมีศักยภาพอย่างไรบ้าง
A: ก็ต้องมีการประสานงานค่อนข้างดี งานฉุกเฉิน สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ภาษาอังกฤษได้ เพราะต้องคุยกับหมอต่างชาติ อย่างบอลลีกที่มีหมอฟีฟ่า (FIFA)มาลง
ถ้าใครอยากเป็นแพทย์สนามก็ลองสมัครมา และคนที่มาเป็นแพทย์สนามอย่างน้อยก็ต้องชอบดูบอลเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นบอลโลก บอลลีก บอลไทย
Q : หน้าที่แพทย์สนามมีอะไรบ้าง
A: จริงๆแล้วทีมการรักษาไม่ได้มีแค่แพทย์ มีหลายหน้าที่เลย ทั้งนักกายภาพ คนนวด พยาบาล เวชกิจฉุกเฉิน ฉะนั้นเราไม่ได้ทำงานคนเดียว จะมีคนที่คอยโคกันคุยกันตลอดด้วยว่า ต้องยังไงต่อ
แต่เราจะเป็นคนที่ตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะบางทีนักเตะเอง เขาจะอยากลงแข่งต่อ เพราะเป็นนัดศักดิ์ศรี แต่เราก็ต้องประเมินว่าถ้านักเตะแข่งต่อไปแล้วจะอันตรายกับเขาหรือไม่
ถ้าเราเป็นคนบอกว่า ไม่ให้แข่ง เขาก็ไม่ได้แข่งนะ ดังนั้นเวลาคุยกับนักเตะ เราไม่ได้รักษาแต่ร่างกายของเรา แต่เราต้องดูจิตใจเขาด้วยว่า เขารู้สึกอย่างไร แต่ส่วนใหญ่หากเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงจริงๆ นักเตะเขาจะลุกขึ้นมาต่อรองเราไม่ค่อยได้หรอก เพราะเขาจะมึน หรือหลับไปแล้ว
แต่ถ้าเป็นเคสที่หักจริงๆ หลุดจริงๆ เราก็ต้องบอกเขาว่าจะมีผลเสียอย่างไร เขาจะไม่ได้แข่งในนัดต่อๆไปอีกเลยในซีซันนี้เขาอาจจะไม่ได้มาอีกเลยนะ ไปรักษาให้ดีขึ้นก่อนค่อยกลับมาดีกว่ามั้ย ก็อาจจะคุยกับเขาได้
แต่ก็ยังไม่เคยเจอเคสที่ดื้อไม่ฟังเราเลยนะ ส่วนใหญ่เขาจะค่อนข้างให้เกียรติกับทีมการรักษามากๆอยู่แล้ว หมอพูดอะไรยังไงก็จะฟัง ทำตาม คือหน้าที่ของเราต้องทำให้เขาเข้าใจในทุกๆอย่างที่เราพอจะบอกเขาได้ ข้อดี ข้อเสีย ของการแข่งต่อ
นอกจากต้องดูแลนักเตะในสนามแล้ว คนดูก็ต้องดูแลด้วย จะมีทั้งเป็นลมเพราะไม่ได้กินข้าวมา เชียร์บอลจนลืม หรือเป็นลมเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันขึ้นสูงเพราะเครียด ไม่ได้เครียดเพราะความคิดนะ แต่เพราะมาอยู่ในที่คนแออัดเยอะๆ หรือลืมกินยาโรคประจำตัว
Q:ความแตกต่างของเคสที่สนามกับโรงพยาบาล
A: เคสที่เจอที่โรงพยาบาล เวลาเราไปใช้ทุน เวลาที่เราปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลหนักกว่าเยอะ ถ้าเป็นห้องฉุกเฉิน ที่ต้องใช้ความเร็วมากกว่า เช่น รถชน จะมีเคสที่หลากหลาย
แต่ถ้าเป็นเคสของฟุตบอล ส่วนใหญ่จะเป็นการปะทะ ใช้พละกำลัง คนชนคน แค่นั้นเอง ถามว่าที่ไหนยากกว่ากัน หมอว่า ที่โรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน ยากกว่าเยอะมากๆ เคสที่เจอที่โรงพยาบาลจะหลากหลาย แต่การดูแลในสนามที่อาจจะต่างจากโรงพยาบาล ปกติถ้าคนไข้ต้องปั๊มหัวใจ เราต้องปั๊มเลยถ้าเป็นนอกสนาม ต้องปั๊มให้เร็วที่สุด หากคนไข้หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว
แต่ถ้าเป็นที่สนาม ตามกฎเราต้องย้ายคนไข้ออกมาริมสนามก่อน แล้วค่อยทำการปั๊ม เพราะการย้ายคนไข้ออกมาริมสนามใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง รวมถึงความปลอดภัยของคนไข้ และเรื่องการแข่งขันด้วย ซึ่งก็จะมีความต่างเล็กๆน้อยๆ
Q: เคยเจอเคสที่รุนแรงที่สุดมั้ยตั้งแต่เป็นแพทย์สนาม
A: ที่สุพรรณบุรี ที่ตรินิแดดแข่งกับทีมชาติไทย ตอนที่นักเตะของตรินิแดดเขาแบบเปิดบอลมายาวมากเลย ตรินิแดดเหมือนเทกตัวขึ้นไปเพื่อรับบอล แล้วฐิติพันธ์เหมือนไม่ได้ขึ้นด้วย ก็เลยหนุนให้ตรินิแดดร่วงลงมาหัวกระแทกพื้น
ก็สลบไปเลย ตอนนั้นใช้เวลาประเมินว่าเขาจะสามารถแข่งต่อได้มั้ยในสนามนานมาก น่าจะประมาณ 3-4 นาที นี่ถือว่าเป็นเคสที่รุนแรงที่สุดที่เคยเจอแล้ว ถามว่ากลัวมั้ยก็ไม่นะ ณ ตอนนั้นเราก็ตั้งสติ แล้วก็คิดว่าเราจะทำยังไงให้เขาปลอดภัยมากกว่า พอเขาสลบไป ก็ต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วก็ส่งออกไปยังโรงพยาบาลสุดท้ายก็ปลอดภัยดีค่ะ
Q: มีมั้ย?แกล้งเจ็บเพื่อให้อีกฝ่ายได้ใบเหลือง-แดง
A: ก็เป็นเทคนิคอีกอย่างหนึ่งของการเล่นบอล เพื่อทดเวลาบาดเจ็บ จริงๆก็มี เราก็ดูรู้แหละ อย่างท่าในการล้มลงไปเป็นอย่างไร ตรวจร่างกายเราจะพอรู้ ว่าทั้งประวัติตรวจร่างกายเข้าได้กับการบาดเจ็บจริงๆหรือเปล่า
ถ้าเรามีน้ำใจนักกีฬา เราต้องซื่อสัตย์กับอาชีพของเรา ต้องให้ใจแก่คนดูในระยะยาว มันน่าจะสนุกทั้งผู้เล่น และคนดูเองด้วย คือสมัยนี้ดูง่ายมากเลย มีกล้องอยู่แล้ว อย่างบอลโลกเห็นทุกมุมทุกมิติ
ทริกในการดู สังเกตดูว่า ท่าที่จะล้ม เวลาเราเห็นเราจะดูทั้งสนาม ท่าที่ล้มเวลาตรวจร่างกายว่าเจ็บไม่เจ็บ เราดูรู้อยู่แล้ว เหมือนเวลาไม่สบายขอใบรับรองแพทย์ เพื่อที่จะหยุดงานพรุ่งนี้ หมอก็จะดูรู้ว่าป่วยจริงมั้ย ต้องใช้ประสบการณ์มากกว่า ว่าเราเจอเคสมาเยอะแค่ไหน รวมทั้งทักษะที่เรามีอยู่ด้วย
Q:กดดันไหมเป็นแพทย์สนาม ต้องมีคนมาเพ่งเล็งทั้งสนามว่ารักษาได้มั้ย
A: ช่วงแรกก็อาจจะมีบ้าง ยังใหม่ตื่นสนาม เราถูกสอนมาให้ควบคุมสติของเราให้ดี และทำทุกอย่างให้ราบรื่น เพื่อความปลอดภัยของคนไข้เป็นอันดับหนึ่ง ทำทุกอย่างให้ดีเพื่อคนไข้ สำหรับตอนนี้ไม่ตื่นสนามแล้วค่ะ
Q:เริ่มชอบฟุตบอลตั้งแต่ตอนไหน
A: ที่บ้านชอบฟุตบอลกันอยู่แล้ว ชอบดูบอลโลก อยู่กับอาม่า อาม่าก็จะชอบดูบอลรัสเซีย บราซิล เป็นแฟนบอลเยอรมัน เชียร์ตั้งแต่เยอรมันได้แชมป์โลก ปี 1990 เชียร์มาเรื่อยๆจนเยอรมันได้แชมป์บอลโลกอีกรอบหนึ่งปี 2014
ส่วนตัวเองดูบอลตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนจะชอบดูบอลลีกอังกฤษ ก็ดูเชลชี ตอนหลังก็มาดูบอลสเปน เพราะรู้สึกว่าเขาเน้นสร้างคนมากกว่าธุรกิจ ดูแล้วดูสนุก นักบอลมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็เลยชอบ จริงๆก็ชอบเมสซีด้วย
Q:ทำไมชอบบอลอังกฤษและสเปน เสน่ห์ของพวกเขาอยู่ตรงไหน
A: อย่างบอลสเปนก็บาร์เซโลนา หรือบาร์ซา นักบอลเขาก็จะตัวเล็กหมดเลย เขาเลยจะเน้นการครองบอลที่เก่ง มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่เยอะมาก และส่งกันแบบไหลลื่นมากเลย ไม่หลุดไปให้ฝ่ายตรงข้าม และแต่ละคนมีความสามารถเก่งๆเฉพาะตัว อย่างเมสซีก็จะมีความสามารถพิเศษ สามารถเลี้ยงหลบบอลได้เก่งมากๆก่อนไปถึงประตู ส่วนบอลลีกอังกฤษ เชลชีค่อนข้างจะส่งบอลเร็ว เล่นเร็ว ไม่น่าเบื่อ ได้บอลแล้วก็ไปเลย ทำประตู
Q:นักเตะไทยชอบใคร
A: ชอบ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ เวลาดูบอลแล้วมีเขาอยู่ ก็จะรู้สึกสนุก เหมือนเขาเป็นกองกลางที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกมมีรสชาติมากขึ้น คิดอะไรไม่ออกส่งให้เมสซีเจ เขาเป็นคนที่เล่นได้เก่งมากเลย ก็เลยลองไปดูนอกเกมว่าเขาทำยังไง
จริงๆแล้วเท่าที่ทราบเหมือนเขามีวินัยในการฝึกซ้อมที่หนักมาก ถึงแม้ว่าพรสวรรค์เขาจะเยอะอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังเป็นคนที่มีความพยายาม อีกอย่างคือเขาใช้ชีวิตสมถะมาก เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เคยบวชด้วย ใช้ชีวิตไม่เหมือนนักบอลที่มีชื่อเสียงมากมาย ยังเป็นคนที่เป็นตัวเองอยู่
เขาทำให้ประเทศไทยไปอยู่ในเจลีก ทำให้เจลีกเข้มแข็งมากในเอเชีย และอย่างเวลาเขายิงเข้า เขาจะยกมือไหว้แฟนบอล เลยรู้สึกว่าเจ๋ง เท่มาก การไหว้ของไทยเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และทำให้ได้เห็นการไหว้อยู่ในเจลีก เหมือนกับเขาเอาชื่อประเทศเราไปด้วย
เคยไปขอถ่ายรูปด้วย ไม่หยิ่งเลย ยกมือไหว้คนนั้นคนนี้ จริงๆนักบอลหลายๆคนของไทยก็น่ารัก นิสัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งในเกมก็เล่นดี นอกเกมก็เก่ง
เวลาอยู่ในสนามเราจะได้เห็นเยอะเลยศักยภาพ ทุกมุมว่านักบอลเป็นยังไงเวลาเขาลงเล่น เหมือนเราเข้าไปอยู่ในสนามเลย การวางเกม เกมรุก เกมรับเป็นอย่างไร แบบฟูลเอชดี ด้วยตาตัวเอง เห็นเบื้องหลัง เบื้องหน้าทุกอย่าง เห็นกองเชียร์ เชียร์ขาดใจ เห็นนักฟุตบอลขอบคุณแฟนบอลจะชนะหรือไม่ชนะก็ตาม เห็นความสัมพันธ์ที่ดีๆภาพประทับใจที่เราได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง
Q: “บอลไทยไปบอลโลก” คุณหมอคิดว่าจะไปถึงมั้ย
A: จริงๆคิดว่าเป็นไปได้ ไม่ว่าชาติไหน อย่างเมสซีเจ เขาก็ไม่ได้พึ่งพรสวรรค์อย่างเดียว เขามีความพยายามเรื่อยๆ เสมอต้นเสมอปลาย ถ้าบอลไทยมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และคัดคนจากความสามารถจริงๆ
ชอบโครงการ Fox Hunt ของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ที่นำเด็กไทยไปต่างประเทศ เพื่อฝึกทักษะ แล้วกลับมารวมทีม เป็นสิ่งที่เวิร์กมาก เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีหรือความรู้ในด้านกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลของต่างประเทศ เขามีมานานมากแล้วจนอยู่ในระดับโลก เขาเก่งมากๆเลย
ดังนั้นการที่เขาเปิดให้เยาวชนไทยไปฝึกเป็นสิ่งที่ดีมาก บ้านเรามีข้อได้เปรียบเยอะเลย อย่างเด็กชนบทเขาเอาลูกมะพร้าวมาเตะได้ ซึ่งลูกมะพร้าวไม่กลมนะ ฉะนั้นการครองบอล การกำหนดทิศทางของลูก ต้องเก่งมากๆเลย ดังนั้นเราอย่าคิดว่าสิ่งที่เรามีเป็นสิ่งเสียเปรียบ เราต้องคิดว่าสิ่งที่เรามีได้เปรียบ อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
ทางผู้ใหญ่ก็ควรเลือกเด็กๆเลือกคนจากความสามารถ ดังนั้นไม่ยากเลยที่จะเป็นทีมเวิร์กแล้วเข้าบอลโลก คิดว่ามีโอกาสค่ะ เต็มที่เลย เราเป็นคนไทยเราต้องสู้
Q:คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของบอลไทย
A: ดูบอลไทยเพราะรู้สึกว่า มีความก้าวหน้าให้เห็นทุกๆครั้งที่เราดู ตัวนักเตะเอง ทางสมาคมเอง รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เริ่มที่จะพยายามทำให้ผลลัพธ์ดีที่สุด รวมถึงโค้ช ทำให้เราเห็นพัฒนาการทุกครั้งที่เราดู ไม่ได้เหมือนเดิมที่น่าเบื่อ เป็นขาลง
คือเมื่อก่อนเราสู้รบใช่มั้ย นักเตะเขาก็เหมือนทหารกล้าที่จะไปสู้กับชาติอื่นๆ เหมือนเขาถือเอาศักดิ์ศรีของคนไทยไปด้วย เลยรู้สึกว่าถ้ามีพัฒนาการที่ดีเราก็จะเชียร์เขา ถ้าเขาเต็มที่แล้ว คือเราไม่ได้สนผลลัพธ์เลย สนที่กระบวนการที่เกิดขึ้นมากกว่า
เป็นกำลังใจให้คนพยายาม มีความสามารถ การพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดอยู่กับที่ ไม่ว่าจะแพ้หรือจะชนะเราก็เชียร์ เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยกลับมาดูบอลไทย จริงๆตอนนี้คนไทยกลับมาดูบอลไทยมากขึ้นแล้ว ก็อยากให้แฟนบอลให้กำลังใจนักเตะ
บอลไทยค่อยๆแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราเป็นแฟนที่เราคอยเชียร์เขา ไม่ว่าเขาจะชนะหรือแพ้ ก็เป็นสิ่งเดียวที่เราจะทำได้สำหรับแฟนบอล ให้เชียร์นักเตะ ให้กำลังใจเขาอย่างดีที่สุด
ก้าวข้ามความกลัวเลือด อยากช่วยชีวิตคน
Q:ทำไมถึงเลือกเรียนแพทย์
A: เรียนจบแพทย์มาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง อนาคตก็อยากจะเรียนต่อคงต้องเป็นแบบ “ใช้มีด” ชอบผ่าตัด เพราะการผ่าตัดคือ ไม่ “หาย”ก็ “ตาย” ชอบความรู้สึกหลากหลาย ได้ตรวจคนไข้ปกติในโรงพยาบาลบ้าง ได้อยู่ในห้องผ่าตัด ได้ทำงานหลากหลาย หลายที่ อีกอย่างคือชอบ “เย็บ”
ตอนเราเรียนปีที่ 4-6 เราจะเรียนวนเฉพาะทางแต่ละอัน ให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร ตอนนั้นเราจะรู้เองว่าเราชอบอะไร เราชอบเข้าห้องผ่าตัดนะ ใส่เสื้อเขียว
ตอนแรกไม่ได้อยากเลือกเรียนแพทย์เลย เพราะที่บ้านทำธุรกิจทุกคนเลย หลายคนก็จะบอกว่า เป็นหมอต้องอยู่กับเชื้อโรคเยอะนะ และเราก็กลัวเลือดมากด้วย ครั้งแรกที่เจอเลือดก็เป็นลมไปเลย
แต่จุดที่เปลี่ยนก็คือตอนเราอยู่ในวัยช่วงมัธยมปลายคุณย่า หรืออาม่า ไม่สบายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ต้องผ่าตัด เราก็ไปเฝ้า ก็ตื่นเช้ามาก เจอคุณหมอคนหนึ่งเป็นหมอผู้หญิง หัวฟูมาก รู้เลยว่า ทั้งคืนคงไม่ได้นอนเลย แต่คุณหมอก็คุยกับอาม่าเราว่า “เป็นยังไงบ้าง”
เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นหมอน่าจะดูแลคนที่บ้าน และช่วยคนไข้อื่นๆได้ และนอกจากเขาดูแลอาม่าเราแล้ว เขายังดูแลคนไข้อีกเยอะเลย ที่นอนอยู่ในห้องเดียวกัน ก็เลยรู้สึกว่า เป็นอะไรที่น่าประทับใจ
ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยเลือกคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะตอนมัธยมปลายเราเรียนที่เชียงใหม่ ตอนเรียนปีแรกๆก็ไม่ได้ชอบการเป็นหมอมากเท่าไหร่เพราะเรียนในทฤษฎีเฉยๆ แต่พอเริ่มเข้าสู่ปีที่ 4-5 เริ่มเจอคนไข้ เรารู้สึกว่า คนไข้เขา “นอน” มา แล้วเราทำให้เขา “เดิน” กลับไป มันเจ๋งนะ
ส่วนเลือดเราก็ก้าวข้ามความกลัวไปได้ เพราะเลือดไม่ได้มาตู้มเดียวเหมือนโดนสาดทั้งถัง คือเราจะค่อยๆเจอ คือตอนแรกเราจะเจอแบบเล็กๆน้อยๆก่อน เห็นนิดหน่อยจนค่อยไปเจอแบบท่วม ฉะนั้นไม่ได้โหดร้ายมาก
ปกติเรามักมีดวงที่จะเจอเคสหนักๆเยอะเหมือนกัน อย่างขับรถแล้วมีรถชนข้างสนาม พอเราเห็นคนไข้ที่เลือดท่วมๆแทนที่เราจะรู้สึก ไม่อยากเข้าใกล้เหมือนเมื่อก่อน แต่ 6 ปีที่เราไปเรียน กลับกลายเป็นว่า เราจะทำยังไงให้เขาลุกขึ้นมาคุยกับเราใหม่ อย่าเพิ่งเห็นอะไรมากกว่า ไม่ได้กลัวอีกแล้ว ปัจจุบันนี้ไม่มีปัญหา
เคสที่เจอแล้วรู้สึกรุนแรงมากๆไม่ได้อยู่ในสนามบอล จะเป็นงานวิ่งมาราธอนของโรงพยาบาล เราก็วิ่งตามหลังเขาอยู่ดีๆ คือ นักวิ่งมาราธอนวิ่งอยู่ดีๆก็ หยุดหายใจไปเลย กำลังจะถึงเส้นชัยแล้ว ต้องปั๊มหัวใจ เป็นเคสที่เรารู้สึกว่า เขามาวิ่งมาราธอนได้เขาก็ต้องแข็งแรง แต่อยู่ดีๆเขาก็ร่วงลงไปเลย ก็เป็นเคสที่เราอยากเอาเขากลับมา อย่าเพิ่งตาย กลับมาก่อน สุดท้ายเขาก็รอด
Q: ระบบสาธารณสุขของเมืองไปกับต่างประเทศต่างกันมั้ย
A: สิทธิ์การรักษาของเมืองไทยที่ค่อนข้างดีมากที่จะรักษาทุกๆคนในบ้านเรา เช่น สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งหมอพยาบาลเขาพยายามที่จะทำเต็มที่ในจุดที่เข้าต้องทำแล้ว ซึ่งในต่างประเทศเขายังไม่มีสิทธิ์การรักษาที่ดีแบบนี้
อย่างอเมริกาต้องซื้อประกัน ต้องมีการจ่ายร่วมกัน ไม่ใช่เข้ามาโรงพยาบาลโดยไม่เสียอะไร และอัตราส่วนระหว่างหมอกับคนไข้ในต่างประเทศน้อยกว่ามาก หมอคนหนึ่งดูแลคนไข้ไม่กี่คนเอง เมื่อเทียบกับเมืองไทยหมอหนึ่งคนดูแลคนไข้ค่อนข้างเยอะ อยากให้มีความเชื่อมั่นในการรักษา หมอจะได้ไม่กดดันมาก
Q: เครียดมั้ย บุคลากรทางการแพทย์โดนคนไข้ฟ้องมากขึ้น
A: ถ้าพูดในมุมการเป็นญาติคนไข้ เราก็มีคนในบ้านป่วยหลายคน แล้วก็พูดในมุมของการเป็นหมอเองด้วย คือถ้ามีปัญหาอะไรอยากให้คุยกันเยอะๆ
ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่พอใจ อยากให้คุยกัน หมอก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถทำพลาดได้ ทำได้ดีหรือไม่ดี แต่ทักษะในการดูแลคนไข้ของหมอประเทศเราค่อนข้างเก่ง เพราะได้ทำเยอะมากๆ ทุกวัน
ถามว่ากดดันมั้ย ก็กดดันขึ้นจากเมื่อก่อน การที่เราฝึกงานอยู่ที่ต่างจังหวัด ความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ อยากให้คนไข้เข้าใจด้วยว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมออย่างเดียว ต้องขึ้นอยู่กับคนไข้ด้วยว่าเชื่อฟังหมอมั้ย ไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อทุกอย่างที่หมอบอก แต่มีอะไรก็ขอให้ใจเย็นๆ พูดคุยกันดีกว่า แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดีทั้งความรู้สึกของหมอและคนไข้ด้วย
รู้จักหน้าที่ แบ่งเวลา จัดตารางชีวิต
คุณหมอลี่ลี่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ยันไม่ใช่คนเก่ง แค่เป็นคนรู้จักหน้าที่
“จริงๆไม่ใช่คนเก่งหรอก เป็นคนในกลุ่มที่เหมือนกับเวลาเพื่อนพูดอะไร เพื่อนก็จะบอกว่า ลี่เข้าใจมั้ย ถ้าลี่เข้าใจก็จะเหมือนว่าเพื่อนในกลุ่มเข้าใจหมดแล้ว
เราไม่ใช่คนเรียนตลอดเวลา หรือขยันมากจนไม่ทำอย่างอื่น คือเป็นคนที่ทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก แบ่งเวลาเป็น รู้ว่าเวลานี้ ควรจะทำอะไร เช่น จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างอื่นก็ตัดทิ้ง ตอนนี้จะสอบแล้วนะ
ขณะเดียวกัน ก็มีการคลายเครียดไปด้วย คือการทำกิจกรรมมันทำให้เราตัวเล็กลง คือเราจะไม่รู้สึกว่าเราคือจุดสูงสุด ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เด่นที่สุด ยังมีคนมากมายที่เราจะได้เจอ ที่เราจะได้เรียนรู้จากเขา เพราะเวลาทำกิจกรรมเราจะได้เจอคนมากมาย ซึ่งทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ทำให้เราตัวเล็กลง
ดังนั้นต้องรู้จักว่า ตอนนี้หน้าที่เราคืออะไร แบ่งเวลาให้ได้ จัดตารางให้ดี แล้วในเวลา 24 ชั่วโมง เราจะทำได้เยอะกว่าคนอื่น จริงๆแล้วคนเก่งไม่กลัว กลัวคนขยัน อะไรที่ไม่จำเป็นในตอนนั้น เรายังเป็นนักเรียนอยู่ ก็ตัดมันทิ้งไป แต่อย่าลืมความเป็นลูกที่ดี พี่น้องที่ดีอีกด้วย เวลาผ่านไปทุกวันพ่อแม่เราก็แก่ลง
ส่วนการเป็นนักเรียนทุนคือสอบชิงทุนนักเรียนแพทย์ที่ มช.ได้ ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา แต่ไม่ได้ไปนาน ไปประมาณหลักเดือน ทางนั้นก็จะส่งนักเรียนหมอของเขามาที่เมืองไทย สลับกัน เพื่อจะเรียนรู้ว่า เรียนหมอที่นั่นเป็นยังไง เรียนที่นี่เป็นอย่างไร ได้ความรู้แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ทำให้รู้สึกว่าการเรียนไม่สายไป เพราะที่นั่นอายุมากกว่าเราเยอะ กว่าที่เขาจะได้เรียนหมอ จบหมอ ต้องอายุ 30 กว่า กว่าเขาจะได้เรียนต้องสอบ บางคนสอบหลายครั้ง ถ้าเราเจออะไรที่พลาดหรือร่วงลงมาก็ยังไม่สายที่จะแก้ไข ทำให้เราเปิดโลก ได้เห็นมุมมองของชาติอื่นๆ”
คว้ามงกุฎนางสาวเชียงใหม่ ด้วยจิตสาธารณะ
“ลงประกวดนางสาวเชียงใหม่ เพราะว่าตอนเรียนปี 3 ต้องเป็นแม่งาน ทำกีฬาสีให้กับคณะแพทย์ ซึ่งก็ต้องมีการคุมเงิน เราจะมีเงินจำกัด ต้องจัดการทุกอย่างให้ผ่านไปได้ สมัยนั้นพี่ออแกไนซ์ก็บอกว่า ถ้าลี่ไปประกวดให้ จะลดราคา หรือจะตัดบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก เขามาช่วยการเดินพาเหรด จัดชุด แต่งหน้า
เราก็รู้สึกว่าถ้าทำอะไรที่ช่วยลดราคาให้กับการทำกีฬาสีของคณะได้ ก็เลยประกวดให้ ไม่คิดว่าจะได้ แต่ก็ได้เป็นนางสาวเชียงใหม่ปี 2555 จากนั้นก็มาประกวดให้จังหวัด คือมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2012 ก็เข้ารอบ 12 คนสุดท้าย
ไม่ได้โฟกัสที่หน้าตาของตัวเองเลย อย่างตอนที่ได้นางสาวเชียงใหม่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ด้วย เพราะที่สองสวยมากเลย จับมือกัน “พี่ต้องได้แน่”
สำหรับใครที่มองเราเป็นไอดอล เราไม่ได้เป็นแค่นักศึกษาแพทย์ ไม่ได้เป็นแค่หมอ เราจะพยายามเป็นหลานที่ดี ลูกที่ดี พี่ที่ดี เพื่อนที่ดี ทำทุกหน้าที่ของเราให้ดี อยากให้ทุกคนนำไปใช้มากกว่า
ถ้าจะมองเรา ขอให้มองเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ไม่หยุดที่จะพยายาม ทำทุกอย่างให้ดีขึ้นเรื่อยๆดีกว่าค่ะ
เพราะสองสิ่งที่เราเอาคืนมาไม่ได้เลยคือ “เวลา” กับ “ความรู้สึก”
โดย MGR Live
เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊ก Sirin Triwutpipatkul
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **