xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์ “ค่าน้ำมหาโหด” หลักหมื่น-หลักแสน!! ความผิดใคร “คนใช้-การประปา”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โอ้โห..นี่ค่าน้ำ หรือค่าผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน!? เป็นไปได้ไง ใช้แค่เดือนเดียว ยอดพุ่งไปหลักหมื่น บางรายซวยหนัก บิลเรียกเก็บทะลุหลักแสน!! เล่นเอาเจ้าของบ้านถึงกับลมจับ หลายรายจนก็จน แต่เจ้าหน้าที่ยังยืนยัน “ยังไงก็ต้องจ่าย!!” ตรวจสอบพบ “ท่อรั่ว-มิเตอร์รวน” เป็นส่วนใหญ่ สังคมตั้งคำถามตกลงมันความผิดใคร? มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะ ถ้าไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ให้ยืนกราน “ยังไม่จ่าย” เอาไว้ก่อน ดีที่สุด!!



“เหยื่อค่าน้ำแพงเวอร์” ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย!!

[คุณลุง-คุณป้า ครอบครัว "เอี่ยมสะอาด" เหยื่อค่าน้ำแพงรายล่าสุด]
"ใช้น้ำมา 5 ปีแล้ว ก็จ่ายเดือนละ 100 กว่ามาตลอด แล้วจู่ๆ มาเป็น 32,000 ตรวจสอบในบ้านก็ไม่มีรอยรั่ว ไม่มีน้ำออกมาเลย ธรรมดาก็ใช้น้ำแค่ตอนเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ 2 อย่างเท่านั้นแหละ"

มณฑา เอี่ยมสะอาด คุณป้าขายผักใน อ.ละแม จ.ชุมพร บอกเล่าเรื่องราวร้องเรียนต่อสื่อ พร้อมโชว์ใบเรียกเก็บค่าน้ำเดือนก่อนๆ ว่าอยู่ที่จำนวน 100 กว่าบาทมาตลอด กระทั่งเดือน ต.ค.ที่ผ่านมานี่แหละ ที่ตัวเลขกระโดดไปอยู่ที่ “32,251.08 บาท” จากการใช้น้ำเพียงเดือนเดียว โดยระบุเอาไว้ว่าบ้านของคุณป้าใช้น้ำไปถึง 1,394 หน่วย หรือเท่ากับ 139,400 ลิตร ซึ่งเทียบได้กับปริมาณการใช้ของโรงงานเลยทีเดียว

ตรวจสอบเบื้องต้น หลังปิดก๊อกน้ำทุกตัวในบ้าน ไม่พบการทำงานของมิเตอร์แต่อย่างใด จึงได้แต่สันนิษฐานว่าไม่น่าจะเกิดจากน้ำรั่วภายใน เมื่อเดินทางไปแจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่การประปาส่วนภูมิภาค อ.หลังสวน จ.ชุมพร ก็ได้คำตอบกลับมาว่ายังไงก็ต้องจ่าย ถ้าไม่ทำตามจะถูกตัดน้ำทิ้ง

เพียงแต่ให้สิทธิจ่ายแบบผ่อนชำระได้เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งวัดกันตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับครอบครัวนี้ เนื่องจากรายได้ของคุณป้าได้ไม่ถึง 200 บาทต่อวัน แถมยังมีรายรับไม่แน่นอนอีกต่างหาก


[ค่าน้ำพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด จากหลักร้อยเป็นหลักหมื่น]

อย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องราวในครั้งนี้ ไปถึงศูนย์ดำรงธรรม ประจำ อ.ละแม จ.ชุมพร จนกลายเป็นข่าววิจารณ์กันอย่างครึกโครม ล่าสุด นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้สั่งให้การประปาภูมิภาคหลังสวน จ.ชุมพร ยกเลิกการเก็บเงินกับกรณีนี้เรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้จะตรวจสอบพบความผิดพลาด จนได้ผลออกมาแล้วว่า เหตุทั้งหมดนี้เกิดจากรอยร้าวของท่อประปา ภายในบริเวณบ้านชั้นใต้ดินของคุณลุงคุณป้าเองก็ตาม และทางการประปาได้เข้าไปช่วยซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากมุมมองของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้สั่งการลงไปอีกทอดหนึ่งนั้น มองว่าเป็นโชคดีของ “เหยื่อค่าน้ำ” รายนี้ ที่ได้รับความเห็นใจ ไม่ถูกเรียกเก็บตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น


[ใบเสร็จเดือนก่อนๆ ที่คุณลุงคุณป้า หยิบมาเทียบ]
“เห็นว่าสังคมมองกรณีนี้อย่างให้ความเห็นใจ เพราะคนไทยมักจะให้ความสงสารคนจน จึงได้ให้นโยบายไปว่า จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีความยากลำบาก ซึ่งถ้าวัดกันตามกฎหมายแล้ว คุณตาคุณยายต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด



[สาคร และมะลัยพร ไชยช่วง แม่ค้าขายผัก เมืองชลบุรี หนึ่งในเหยื่อค่าน้ำแพง]
เมื่อทางทีมข่าว MGR Live ลองย้อนรอยกลับไปค้นหา “เหยื่อค่าน้ำมหาโหด” ที่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงพบว่ากรณีล่าสุด ไม่ใช่เหยื่อรายแรกที่ต้องเจอกับ “บิลหลักหมื่น” แต่เคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ปี 59 เกิดขึ้นกับ “แม่ค้าขายผัก เมืองชลบุรี” ที่ถูกบิลเรียกเก็บเงินจำนวน 15,284.68 บาท จากปกติเคยใช้อยู่ที่ 400-900 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง


[โชว์ให้เห็นจะจะ บิลที่เรียกเก็บเงิน]
ในครั้งนั้น หลังการร้องเรียนของ 2 สามี-ภรรยา สาคร และมะลัยพร ไชยช่วง ทางการประปาส่วนภูมิภาค สาขาชลบุรี ก็ออกมาชี้แจงว่า ความผิดพลาดเกิดจาก “มิเตอร์เดินเร็วกว่าปกติ 9 เปอร์เซ็นต์”

รวมถึงเรื่อง “การจดมิเตอร์” ที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จดจากตัวเลข แต่ใช้การคาดคะเนเอา โดยให้เหตุผลว่า มีร้านขายของตั้งกีดขวางอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจดตัวเลขเลือกใช้วิธีดังกล่าว




[สุธิรา แม่ค้าน้ำผลไม้ เมืองชลบุรี เหยื่ออีกรายที่เคยเจอแจ๊กพอต]
ใกล้เคียงกับกรณีที่เกิดขึ้นกับ สุธิรา ทองคำพล “แม่ค้าน้ำผลไม้ เมืองชลบุรี” ที่ถูกบิลเรียกเก็บค่าน้ำ 2 เดือน รวมแล้วร่วมแสน คือเดือนพ.ย.59 เป็นเงิน 65,531.94 บาท และเดือน ธ.ค.59 อีก 6,941.52 บาท แล้วตรวจสอบภายหลังว่า ไม่พบการรั่วซึมของน้ำประปาแต่อย่างใด

จึงเป็นปัญหาที่เกิดจาก “มิเตอร์เสื่อมสภาพ” เช่นเดียวกับกรณีก่อนหน้า และแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาตรวัดน้ำให้ใหม่ แล้วขอเก็บเงินย้อนหลังกับเจ้าของบ้านนาน 3 เดือน นับจากเดือนก่อนชำรุด ตามอัตราปกติที่เคยจ่ายแทน



[วิทยะ พ่อค้าขายอาหารตามสั่ง เมืองอยุธยา ที่โดนเรียกเก็บหลักแสน]
อีกหนึ่งกรณีที่น่าตกใจ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “พ่อค้าขายอาหารตามสั่ง เมืองอยุธยา” วัย 53 อย่าง วิทยะ แสนใหม่ ที่ค่าน้ำสูงกว่าอัตราที่เคยจ่ายถึง 1,000 เท่า คือจากปกติเคยใช้ไม่เกินเดือนละ 200 กลับถูกเรียกเก็บสูงถึง 233,647 บาท ทั้งที่มีคนอยู่ในบ้านแค่ 3 คน

[หลักฐานบิลค่าน้ำมหาโหด เรียกเก็บ 2 แสน!!]
หลังตรวจสอบแล้วพบว่า กรณีนี้เกิดจากความผิดพลาดของ “มิเตอร์” ที่เสียเพราะแรงดันน้ำบาดาลของหมู่บ้าน ดันให้มาตรไปเริ่มต้นที่เลข 9999 แล้วไหลย้อนกลับ จนได้ค่าออกมาว่าใช้น้ำไป “9,990 หน่วย” นั่นเอง



[ตัวแทนเหยื่อชาวราชบุรี ที่มารวมตัวกัน 170 ราย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม]
หรือแม้แต่กรณี “เหยื่อหลายร้อยราย” ภายในครั้งเดียว ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ “ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี” จำนวน 170 ราย ยอดรวม 1,900,000 กว่าบาท โดยรายที่ถูกเรียกเก็บมากที่สุดอยู่ที่ 43,623.30 บาท


[หลักหมื่น คือจำนวนเงินที่แต่ละบ้านถูกเรียกเก็บ ทั้งหมด 170 ราย ยอดรวม 1,900,000 กว่าบาท]

เล่นเอาชาวบ้านหลายชุมชนทนไม่ไหว ต้องจับมือกันออกมาร้องเรียนต่อนายกเทศบาล หลังเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า น่าจะเป็นเพราะ “มีน้ำค้างมาตรวัด” ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่ไม่สมเหตุสมผลในสายตาของผู้เสียหาย




แฉช่องโหว่ “การประปา” อย่าปัดความรับผิดชอบให้ “ผู้บริโภค”!!

เท่ากับว่า “ประชาชนทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อค่าน้ำมหาโหดได้” ใช่หรือไม่? ถ้าวัดจากเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ย้อนรอยเอาไว้ คงต้องให้คำตอบว่าใช่ แล้วถามว่าทุกคนจะรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร ให้ได้รับความเป็นธรรมที่สุด หากวันใดวันหนึ่งเกิดเป็นเราที่ซวย ถูกเรียกเก็บ “ค่าน้ำหลักหมื่น-หลักแสน” ขึ้นมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยคลายความกังวลเอาไว้ให้ว่า ให้เหยื่อทั้งหลายเริ่มต้นง่ายๆ จากการตรวจสอบความผิดพลาดภายในบ้านของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

“เบื้องต้นเลยก็ต้องพิสูจน์ก่อนค่ะว่า ค่าน้ำที่แพงขึ้นนั้นมันเกิดจากอะไร ซึ่งต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนหน้ามิเตอร์ และ 2.ส่วนหลังมิเตอร์

ถ้าความผิดพลาดเกิดจาก "ส่วนหลังมิเตอร์" หรือเกิดจากท่อส่วนหลังมิเตอร์ จนมาถึงส่วนที่ต่อท่อเข้าบ้าน จะถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในตัวบ้าน ที่ทางเจ้าบ้านควรจะต้องตรวจสอบและรับผิดชอบ



[มิเตอร์น้ำ บ้านคุณลุงคุณป้า "คำภา" และ "มณฑา เอี่ยมสะอาด"]
แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดที่เกิดจาก "ส่วนหน้ามิเตอร์" คือวัดจากตรงมิเตอร์ ออกไปจากตัวบ้าน ไปจนถึงท่อประปาหลัก ตรงส่วนนั้นควรจะเป็นความรับผิดชอบ เป็นส่วนที่ทางการประปาจะต้องน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ถ้าเป็นกรณีที่ลองปิดระบบน้ำทุกอย่าง ปิดเครื่องปั๊มน้ำแล้ว พบว่าตัวมิเตอร์ยังหมุนอยู่ อย่างเคสนึงที่เคยมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิของเรา ซึ่งพอไปตรวจสอบแล้วพบว่า ตัวลูกลอยของชักโครกมีปัญหา ทำให้ระบบไม่ตัดน้ำ ผลออกมาก็คือทางเจ้าของบ้านต้องรับผิดชอบค่าน้ำด้วยตัวเอง

แต่ถ้าค่าน้ำที่ต้องจ่าย มันมีราคาสูงเกินไป และจ่ายไม่ไหวภายในเดือนนั้น ก็สามารถไปทำเรื่องผ่อนผันกับทางการประปาได้ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะการรั่วภายในตัวบ้าน ค่าน้ำก็จะไม่สูงมากถึงขนาดขึ้นหลักหมื่นหรอกค่ะ ส่วนใหญ่ถ้าสูงขนาดนั้น ให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เลยว่า น่าจะเกิดจากความผิดปกติที่เกิดจากตัวท่อใหญ่ของการประปาเองมากกว่า



[นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค]
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าได้คำตอบว่าระบบภายในบ้านของเราเองไม่ได้ผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ทางการประปายังคงยืนยันจะให้เจ้าของบ้านรับผิดชอบค่าใช้จ่าย หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขอแนะนำให้สู้ให้ถึงที่สุดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

“แนะนำให้ผู้บริโภคทำหนังสือร้องเรียนถึงการประปา เพื่อขอตรวจสอบระบบน้ำได้เลยค่ะ เพราะถ้าดำเนินการไปตามคำบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน ส่วนใหญ่แล้วเขาก็มักจะบอกว่า ยังไงเราก็ต้องจ่ายให้การประปา

แต่ถ้าตัวผู้บริโภครู้สึกว่า มันเป็นการจ่ายโดยไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่า ค่าน้ำที่ต้องเสียเป็นหลักหมื่นนั้น มันมีการใช้จริงหรือไม่ เราก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบก่อน

ที่สำคัญคือ ทางการประปาไม่ควรผลักภาระให้แก่ผู้บริโภค หรือบอกให้เขาต้องรับผิดชอบจ่ายเงินจำนวนนั้น ตามที่ระบุเอาไว้เลยโดยไร้การตรวจสอบ เพราะมันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม



[หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน 170 ราย เหยื่อค่าน้ำแพงจาก จ.ราชบุรี]
ดังนั้น มันเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะสามารถทักท้วง หรือร้องเรียนขอตรวจสอบ หากพบข้อสงสัยว่า ค่าใช้จ่ายมีการเรียกเก็บสูงกว่าอัตราปกติ และทางการประปาก็ควรมีนโยบายช่วยเหลือผู้บริโภคเหล่านั้นด้วย เพราะบางทีมันเป็นเหตุสุดวิสัย

บางกรณีอาจไม่ได้เกิดจากการชำรุดบกพร่องของตัวอุปกรณ์ภายในบ้านของผู้บริโภคเอง ทางการประปาก็ควรจะมีการตั้งมิเตอร์เทียบ เพื่อตรวจสอบแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นโดยทันที เพื่อช่วยลดภาระของผู้บริโภค ไม่ใช่มาตั้งวงเถียงกับผู้บริโภคว่า คุณต้องจ่าย



ที่ผ่านมา เราพบเจอเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคมาค่อนข้างเยอะว่า เวลาที่ไปการประปา จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเรื่องการตรวจสอบแต่ละกรณีสักเท่าไหร่ ดังนั้น เราจึงอยากฝากถึงตัวองค์กรหรือหน่วยงานรัฐในจุดนี้เอาไว้ด้วย

รวมถึงกระบวนการตรวจสอบในแต่ละครั้งของทางการประปา ที่ควรให้มีผู้บริโภคอยู่รับทราบข้อเท็จจริงด้วย ไม่ใช่เลือกไปในช่วงที่คู่กรณีหรือเจ้าของบ้านไม่อยู่ และถ้าจะให้ดีก็ควรจะมีคนกลางที่เกี่ยวข้อง ถ้าตัวผู้บริโภคมีวิศวกรหรือทีมงานที่อยากตรวจสอบร่วม ก็ควรจะให้สิทธิตรงนั้นด้วย เพื่อให้ผลที่ออกมา มีความโปร่งใสและชัดเจน ยอมรับได้จากทุกฝ่าย

สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live



 
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น